อันตรายที่เกิดจากไฟฟ้ามีโอกาสเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาเมื่อต้องทำงานกับอุปกรณ์ไฟฟ้าหรือระบบไฟฟ้า อันตรายจากไฟฟ้ากำลังงานสูง (HighPower Circuits) แบ่งได้เป็น อันตรายจากไฟฟ้าดูด (Electrical Shock) อันตรายจากการเกิดอาร์คไฟฟ้าและการระเบิดจากไฟฟ้า (Electrical Arc and Blast) และอันตรายจากการขาดอากาศหายใจและสารพิษ (Suffocation and Poisoning) เมื่อมีความเข้าใจถึงสาเหตุและอันตรายที่จะเกิดขึ้น ก็จะช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานทำงานด้วยความระมัดระวังมากขึ้น
การป้องกันอันตรายเมื่อต้องทำงานกับวงจรไฟฟ้ากำลังงานสูง
ขวัญชัย กุลสันติธำรงค์
kwanchai2002@hotmail.com
อันตรายที่เกิดจากไฟฟ้ามีโอกาสเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาเมื่อต้องทำงานกับอุปกรณ์ไฟฟ้าหรือระบบไฟฟ้า อันตรายจากไฟฟ้ากำลังงานสูง (High–Power Circuits) แบ่งได้เป็น อันตรายจากไฟฟ้าดูด (Electrical Shock) อันตรายจากการเกิดอาร์คไฟฟ้าและการระเบิดจากไฟฟ้า (Electrical Arc and Blast) และอันตรายจากการขาดอากาศหายใจและสารพิษ (Suffocation and Poisoning) เมื่อมีความเข้าใจถึงสาเหตุและอันตรายที่จะเกิดขึ้น ก็จะช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานทำงานด้วยความระมัดระวังมากขึ้น อุบัติภัยที่จะเกิดขึ้นก็จะลดน้อยลง ทำให้ความเสียหายในชีวิตและทรัพย์สินจากอุบัติภัยดังกล่าวก็จะลดลงตามไปด้วย ขอเชิญท่านผู้อ่านติดตามรายละเอียดในบทความฉบับนี้ได้เลยครับ
อันตรายจากไฟฟ้าดูด (Electrical Shock)
การเสียชีวิตด้วยกระแสไฟฟ้า (Electrocution) ในโรงงานอุตสาหกรรมส่วนใหญ่เกิดจากผู้ปฏิบัติงานสัมผัสกับวัตถุที่มีไฟฟ้า ณ ระดับแรงดันไฟฟ้าค่าหนึ่งทำให้เกิดไฟฟ้าดูดขึ้น ไฟฟ้าดูด คือ ปรากฏการณ์ที่กระแสไฟฟ้าไหลผ่านร่างกาย ก่อให้เกิดการบาดเจ็บและอาจจะได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ข้อควรรู้ของอันตรายจากไฟฟ้าดูดประกอบด้วยรายละเอียดดังต่อไปนี้
- เกิดอะไรขึ้นเมื่อถูกไฟฟ้าดูด โดยปกติความต้านทานของผิวหนังเปลี่ยนแปลงได้โดยขึ้นอยู่กับความชื้นในเนื้อเยื่อ อุณหภูมิโดยรอบ ความกลัว ความวิตกกังวล เป็นต้น ซึ่งค่าความต้านทานของผิวหนังเปลี่ยนแปลงได้ระหว่าง 500 โอห์มในสภาวะที่เปียกชื้น จนถึง 600,000 โอห์ม ในสภาวะที่แห้ง เมื่อถูกไฟฟ้าดูดเนื้อเยื่อ กระดูก อวัยวะที่สำคัญ และระบบประสาททั้งหมดจะนำไฟฟ้าทำให้ความต้านทานของผิวหนังลดลง และกระแสไฟฟ้าที่ไหลผ่านร่างกายจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ก่อให้เกิดการลุกไหม้จากภายในร่างกายสู่ภายนอกร่างกาย เกิดอาการบาดเจ็บอย่างรุนแรงจนถึงแก่ชีวิตได้
- ความรุนแรงของไฟฟ้าดูดเกิดจากอะไรบ้าง ปัจจัยที่มีผลต่อความรุนแรงของไฟฟ้าดูด ได้แก่ ระยะเวลาที่ถูกไฟฟ้าดูด ความเส้นทางที่กระแสไฟฟ้าไหลผ่านร่างกาย และลักษณะส่วนบุคคล ได้แก่ อายุ ลักษณะทางกายภาพ และขนาดของร่างกาย
- ระยะเวลาที่ถูกไฟฟ้าดูดเป็นจุดวิกฤต (Critical Factor) เมื่อถูกไฟฟ้าดูดเป็นระยะเวลานาน ผู้เคราะห์ร้ายมีโอกาสสูงมากที่จะเสียชีวิต เนื่องจากเนื้อเยื่อและอวัยวะภายในที่สำคัญถูกทำลาย เนื้อเยื่อทั่วไปจะถูกทำลายที่อุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียส ส่วนเนื้อเยื่อที่ประกอบเป็นผนังหลอดเลือดที่ไปหล่อเลี้ยงระบบประสาทจะถูกทำลายที่อุณหภูมิน้อยกว่านั้นมาก
จากการทดลองวัดอุณหภูมิที่เกิดจากไฟฟ้าดูดของวงจรไฟฟ้าที่แรงดันไฟฟ้า 220 VAC, 15 A, 50 Hz เป็นระยะเวลาสั้น (หน่วยเป็นมิลลิวินาที) อุณหภูมิที่วัดได้จะมากกว่าอุณหภูมิข้างต้นถึง 10 เท่า หรือเท่ากับอุณหภูมิสูงถึง 500 องศาเซลเซียส ซึ่งเนื้อเยื่อและอวัยวะภายในที่สำคัญถูกทำลายหมดแล้ว ระยะเวลาที่ถูกไฟฟ้าดูด มีผลต่อการทำงานผิดปกติของหัวใจ ถ้าความผิดปกติดังกล่าวไม่หยุดลงในระยะเวลาอันสั้น ก็จะทำให้ผู้เคราะห์ร้ายเสียชีวิตได้
รูปที่ 1 เป็นกราฟแสดงความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ทำให้หัวใจทำงานผิดปกติ กับระยะเวลาที่ถูกไฟฟ้าดูดด้วยไฟฟ้ากระแสสลับ (AC) และกระแสไฟฟ้าตรง (DC)
- ผลของไฟฟ้ากระแสสลับและไฟฟ้ากระแสตรงในกรณีไฟฟ้าดูด จากตารางที่ 1 เป็นผลของไฟฟ้ากระแสสลับและไฟฟ้ากระแสตรงไหลผ่านร่างกาย โดยทดลองกับผู้ใหญ่เพศชายน้ำหนัก 70 กิโลกรัม ปริมาณกระแสไฟฟ้าที่แสดงไว้ในตารางที่ 1 เป็นค่าโดยประมาณเนื่องจากมีปัจจัยอีกหลายประการที่มีผลต่อความรุนแรงของไฟฟ้าดูด คำถามที่ถามกันเสมอๆ ว่า ไฟฟ้าดูดจากไฟฟ้ากระแสสลับและไฟฟ้ากระแสตรงมีความแตกต่างกันอย่างไร ไฟฟ้ากระแสสลับ 50 Hz ทำให้มีความรู้สึกชาเพียงเล็กน้อยจนถึงรุนแรง ในขณะที่ไฟฟ้ากระแสตรงจะทำให้รู้สึกอุ่น ๆ จนถึงร้อน
ตารางที่ 1 แสดงความแตกต่างระหว่าไฟฟ้าดูดจากกระแสไฟสลับ กับไฟฟ้ากระแสตรง ระดับกระแสไฟฟ้าที่ทำให้กล้ามเนื้อควบคุมไม่ได้ของกระแสไฟสลับเพียง 15 มิลลิแอมแปร์ ในขณะที่ไฟฟ้ากระแสตรงมีค่าถึง 300 มิลลิแอมแปร์
- ระดับกระแสไฟฟ้าที่ทำให้กล้ามเนื้อควบคุมไม่ได้ (Let go Current) คือ ปริมาณกระแสไฟฟ้าน้อยที่สุดที่ผู้ถูกไฟฟ้าดูดไม่สามารถปล่อยมือจากวัตถุที่มีไฟฟ้าหรือมีสามารถหนีจากถูกไฟฟ้าดูด นั่นคือไม่สามารถควบคุมกล้ามเนื้อได้นั่นเอง การที่ควบคุมกล้ามเนื้อไม่ได้ขึ้นอยู่กับปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ไหลผ่านร่างกาย ยิ่งกระแสไฟฟ้าที่ไหลผ่านร่างกายมากขึ้นเท่าไรโอกาสที่ผู้เคราะห์ร้ายจะหนีจากการถูกไฟฟ้าดูดจะยิ่งน้อยลง นอกจากนี้ระดับกระแสไฟฟ้าที่ทำให้ควบคุมกล้ามเนื้อไม่ได้จะแปรผันตรงกับความถี่ไฟฟ้า ซึ่งกระแสไฟฟ้าที่จะทำให้ควบคุมกล้ามเนื้อไม่ได้จะมากขึ้นเมื่อความถี่สูงขึ้นตามกราฟรูปที่ 2
รูปที่ 2 กราฟแสดงความสัมพันธ์ระหว่างระดับกระแสที่ทำให้กล้ามเนื้อควบคุมไม่ได้กับความถี่ไฟฟ้า เช่นที่ความถี่ไฟฟ้า 50 Hz กระแสไฟฟ้าที่มากกว่า 10 มิลลิแอมแปร์ จะทำให้กล้ามเนื้อควบคุมไม่ได้
- ผลของกระแสไฟฟ้าที่ไหลผ่านส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ปัจจัยที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่มีผลต่อความรุนแรงของไฟฟ้าดูด คือ เส้นทางที่กระแสไฟฟ้าไหลผ่านร่างกาย ซึ่งสามารถใช้ตรวจสอบได้ว่าเนื้อเยื่อหรืออวัยวะส่วนใดบ้างที่บาดเจ็บหรือถูกทำลายลงไป จากรูปที่ 3 เส้นทางที่กระแสไฟฟ้าไหลผ่านร่างกายได้เป็น3 ลักษณะตามชนิดของแรงดันไฟฟ้าที่เกิดขึ้นจากการสัมผัสส่วนที่มีไฟฟ้า ได้แก่
(1) แรงดันสัมผัส (Touch Potential)
(2) แรงดันช่วงก้าว (Step Potential) และ
(3) แรงดันสัมผัส/แรงดันช่วงก้าว (Touch/Step Potential)
ผู้เคราะห์ร้ายส่วนใหญ่ที่รอดชีวิตได้เนื่องจากกระแสไฟฟ้าไม่ได้ไหลผ่านอวัยวะสำคัญ เช่น กระแสไฟฟ้าไหลผ่านจากมือขวาไปยังเท้าขวาจะทำให้หัวใจทำงานผิดปกติน้อยกว่าในกรณีที่กระแสไฟฟ้าไหลผ่านจากมือจากมือซ้ายไปยังเท้าซ้าย ซึ่งกระแสไฟฟ้าจะไหลผ่านหัวใจโดยตรงนั่นเอง
รูปที่ 3 แสดงเส้นทางที่กระแสไฟฟ้าไหลผ่านร่างกายมนุษย์ ซึ่งแบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ แรงดันสัมผัส (A) แรงดันช่วงก้าว (B) แรงดันสัมผัส/แรงดันช่วงก้าว (C) & (D)
- การป้องกันอันตรายจากไฟฟ้าดูด มีวิธีป้องกันไฟฟ้าดูดที่ได้ผล 2 วิธี คือ
1. การเข้าไปปฏิบัติงานเมื่อวงจรไฟกาฟ้านั้นไม่มีไฟฟ้าแล้ว แต่กลับพบข้อเท็จจริงที่น่ากลัวว่า ผู้ปฏิบัติงานส่วนใหญ่ที่เสียชีวิตเกิดจากการเข้าไปปฏิบัติงานกับวงจรไฟฟ้าหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าที่เขาคิดว่าไม่มีไฟฟ้าแล้ว ดังนั้น ผู้ปฏิบัติงานต้องทดสอบก่อนเข้าไปปฏิบัติงานว่าวงจรไฟฟ้าหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าดังกล่าวว่ายังมีแรงดันไฟฟ้าหรือไม่ภายหลังจากได้ปลดวงจรและล็อค/พร้อมติดป้ายห้าม (lockout / tag-out) และได้ต่อลงดินอย่างปลอดภัยแล้วก็ตาม
2. การใช้เครื่องอุปกรณ์และและขั้นตอนเพื่อความปลอดภัยที่เหมาะสม เมื่อต้องทำงานกับหรือใกล้กับวงจรไฟฟ้าที่มีไฟฟ้าอยู่ การใช้อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (Personal Protective Equipment, PPE) เช่น ถุงมือ ผ้าคลุม ถุงเท้า รองเท้า ฯลฯ ตลอดเวลาด้วยความระมัดระวัง ซึ่งสามารถเพิ่มความปลอดภัยในขณะปฏิบัติงานได้
การเกิดอาร์คไฟฟ้าและการระเบิดจากไฟฟ้า (Electric Arc and Blast)
เมื่อท่านผู้อ่านได้ติดตามในรายละเอียดมาจนถึงตอนนี้ ผมก็เชื่อว่าท่านผู้อ่านก็คงจะมีความเข้าใจในอันตรายที่เกิดจากกระแสไฟฟ้าไหลผ่านส่วนต่าง ๆ ของร่างกายแล้ว แต่ก็ยังมีอันตรายที่เกิดจากอาร์คไฟฟ้าและการระเบิดจากไฟฟ้าที่เกิดขึ้นเมื่อเกิดกระแสไฟฟ้าลัดวงจรในวงจรไฟฟ้ากำลังงานสูง ซึ่งเป็นอันตรายที่ร้ายแรงและสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่อชีวิตและทรัพย์สิน
เมื่อเกิดกระแสไฟฟ้าลัดวงจร พลังงานไฟฟ้า ณ จุดที่เกิดการลัดวงจรจะเปลี่ยนเป็นพลังงานความร้อนเนื่องจากเกิดอาร์คไฟฟ้าซึ่งมีพลังงานสูง ก่อให้เกิดการแผ่รังสีพลังงานความร้อน เกิดเสียงดังอากาศโดยรอบขยายตัวอย่างรุนแรง ตัวนำไฟฟ้าหรือส่วนประกอบที่เป็นโลหะของอุปกรณ์ไฟฟ้าหลอมละลายระเหยกลายเป็นไอและกระจายไปทั่ว ข้อควรรู้เกี่ยวกับอันตรายจากการเกิดอาร์คไฟฟ้าและการระเบิดจากไฟฟ้าได้แก่
- การแผ่รังสีความร้อน (Thermal Radiation) ความร้อนที่เกิดจากอาร์คไฟฟ้าสามารถทำให้เกิดบาดแผลไฟไหม้ที่รุนแรงและอาจจะถึงแก่ชีวิตได้ อาร์คไฟฟ้าที่เกิดขึ้นมีอุณหภูมิตั้งแต่ 10,000 ๐C จนถึงอุณหภูมิสูงถึง 4 เท่าของอุณหภูมิที่พื้นผิวของดวงอาทิตย์ โดยทั่วไปอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นที่ผิวหนังที่ไม่เกิน 46 ๐C ต่อ 0.1 วินาที จะทำให้บาดแผลที่เกิดขึ้นสามารถรักษาได้หรือคิดเป็นค่าพลังงานความร้อนเท่ากับ 0.09 kW ต่อตารางนิ้ว ตัวเลขนี้ใช้คำนวณหาระยะห่างจากจุดระเบิดที่แผลไฟไหม้ที่เกิดขึ้นยังรักษาให้หายได้
- คลื่นความดันกับการระเบิดทางไฟฟ้า (Pressure Wave Aspects of a Blast) คลื่นความดันขณะที่เกิดอาร์คไฟฟ้าเกิดจากการขยายตัวของไอโลหะที่มีประจุไฟฟ้าที่จุดเดือดอย่างรวดเร็ว เกิดแรงดันที่สูงมาก การขยายตัวอย่างรวดเร็วนี้ทำให้ชิ้นส่วนโลหะที่หลอมละลายกระจัดกระจายด้วยความเร็วสูงมากจนใกล้ความเร็วเสียงในบางครั้งอาจจะกระจายไปไกลกว่า 30 เมตร คลื่นความดันที่เกิดจากอาร์คไฟฟ้าพลังงานสูงได้ช่วยชีวิตผู้เคราะห์ร้ายจำนวนมาก
โดยพัดพาร่างของผู้เคราะห์ร้ายลอยห่างจากแหล่งความร้อน แต่ขณะเดียวกันแรงดันที่เกิดขึ้นดังกล่าวก็เป็นสาเหตุทำให้ผู้เคราะห์ร้ายบาดเจ็บจากการกระแทกกับของแข็ง การสูญเสียการได้ยินและสมองอาจจะได้รับความกระทบกระเทือนได้ นอกจากนี้อาจจะได้รับบาดเจ็บจากชิ้นส่วนทางกลของเครื่องห่อหุ้มของวัสดุและอุปกรณ์ไฟฟ้าลอยมากระแทก หรือโลหะหลอมละลายตกกระทบเสื้อผ้าหรือร่างกายทำให้เกิดแผลไฟไหม้
- ระยะป้องกันอันตรายจากประกายไฟ (Flash Protection Boundary) ระยะปลอดภัยจากประกายไฟและการระเบิดเมื่อเกิดอาร์คไฟฟ้า ระบุไว้ใน NFPA 70E-1995, Standard for Electrical Safety Requirements for Employee Workspaces, Part II, Safety–Related Work Practice ในบทที่ 2 และ 3 ซึ่งครอบคลุมถึงการทำงานบนหรือใกล้เคียงกับตัวนำหรือวงจรไฟฟ้ารวมถึงอุปกรณ์ป้องกันอื่นๆ
- อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (Personal Protective Equipment) จากบทที่ 3 ของ NFPA 70E ได้กำหนดมาตรฐานของอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล ให้สอดคล้องกับมาตรฐาน American National Standard Institute (ANS) และมาตรฐาน American Society for Testing and Material (ASTM) โดยกำหนดให้อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลต้องป้องกันส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ ดังนี้
1. การป้องกันศีรษะ ใบหน้า ลำคอและคาง
2. การป้องกันดวงตา
3. การป้องกันแขนและมือ
4. การป้องกันขาและเท้า
นอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์อื่น ๆ อีกได้แก่ อุปกรณ์ที่ใช้งานด้วยมือที่หุ้มด้วยฉนวน อุปกรณ์ต่อลงดินที่ปลอดภัย บันไดที่ไม่นำไฟฟ้า รั้ว เครื่องหมายแสดงความปลอดภัย ป้ายต่าง ๆ เป็นต้น ก็เป็นอุปกรณ์ที่มีความจำเป็นเช่นเดียวกัน
เมื่อต้องทำงานในสถานที่ที่มีโอกาสเกิดอาร์คไฟฟ้า ผู้ปฏิบัติงานต้องสวมใส่ชุดป้องกันที่ได้รับการออกแบบให้ทนต่อประกายไฟ โดยปกติชุดดังกล่าวจะติดไฟที่อุณหภูมิ 400 ๐C ถึง 800 ๐C ทั้งนี้ขึ้นกับชนิดของวัสดุและความหนา มีข้อควรจำว่า อาร์คไฟฟ้าทำให้โลหะหลอมละลายกระจายทั่วไปในพื้นที่อย่างรวดเร็ว โลหะหลอมละลายชิ้นเล็กชิ้นน้อยนี้มีอุณหภูมิประมาณ 1,000 ๐C หรือมากกว่า สามารถทำให้ชุดป้องกันลุกติดไฟและเกิดแผลไฟไหม้ได้ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องออกแบบและเลือกใช้วัสดุในการผลิตชุดป้องกันให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด
การขาดอากาศหายใจและการได้รับสารพิษ (Suffocation and Poisoning)
ในบางครั้งผู้ปฏิบัติงานจำเป็นต้องเข้าไปปฏิบัติงานในเครื่องห่อหุ้ม (Enclosure) หรือพื้นที่ปิดมิดชิดที่เต็มไปด้วยอันตราย เช่น บ่อพักสาย (Manholes), ห้องเครื่องกลไฟฟ้าที่อยู่ชั้นใต้ดิน, อุโมงค์เดินสาย (Power Cable Tunnels) มีอันตรายที่พบได้ดังนี้
1. ก๊าซที่ติดไฟได้ (Combustible Gas) อาจจะพบก๊าซที่ติดไฟได้สะสมในพื้นที่ว่าง ซึ่งอาจจะเกิดเพลิงไหม้ได้
2. ก๊าซออกซิเจนไม่เพียงพอ (Inadequate Oxygen Supply) ในพื้นที่ที่ปิดมิดชิดจะมีก๊าซที่หนักกว่าอากาศสะสมอยู่มาก เช่น ไนโตรเจน หรือคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเข้ามาแทนที่ก๊าซออกซิเจน
3. ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Dioxide) เกิดจากการไฟฟ้าลัดวงจร สายไฟฟ้าลุกติดไฟ หรือการเผาไหม้ของเครื่องยนต์
4. ก๊าซไฮโดรเจนคลอไรด์ (Hydrogen Chloride) เกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร สายไฟฟ้าลุกติดไฟหรือไฟไหม้ท่อร้อยสายชนิดโพลีไวนิลคลอไรด์ (PVC) น้ำมันที่เป็นฉนวนชนิด Polychlorinated Biphenyl (PCB) ลุกติดไฟ
5. อันตรายจากสาร Polychlorinated Biphenyl (PCB) อาจจะได้รับอันตรายจากการสัมผัสน้ำมันที่เป็นฉนวนชนิด Polychlorinated Biphenyl (PCB) ส่วนใหญ่จะพบในตัวเก็บประจุไฟฟ้ารุ่นเก่า บัลลาสต์ หรือหม้อแปลงไฟฟ้าที่ใช้น้ำมันเป็นฉนวน
6. อันตรายจากสารแอสเบสตอส (Asbestos) พบในอุปกรณ์ไฟฟ้ารุ่นเก่าที่ใช้แอสเบสตอสเป็นฉนวน เช่น สายเคเบิลที่หุ้มด้วยเทปทนไฟ ตัวดับอาร์ก (Arc Chutes) ในสวิตซ์อัตโนมัติที่ใช้อากาศเป็นฉนวน Duct Bank และแผงวงจรย่อย ซึ่งจะมีโอกาสเป็นโรคร้ายต่าง ๆ จากการหายใจเอา สารชนิดนี้เข้าไปในร่างกาย
ผู้ปฏิบัติงานสามารถหลีกเลี่ยงอันตรายจากการขาดอากาศหายใจและการได้รับสารพิษต่าง ๆ โดยการทดสอบอากาศโดยรอบ การใช้ถังออกซิเจนสำรอง และปฏิบัติตามข้อปฏิบัติเกี่ยวกับความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน
เอกสารอ้างอิง
1. EC&M May 1997 Volume 96 no. 5: Protecting yourself when working on high–power circuits page 33–46
2. NFPA 70E–1995 , Standard for Electrical Safety Requirements for Employee Workplaces
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด