เนื้อหาวันที่ : 2013-05-03 15:50:25 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 4257 views

ลอจิสติกส์ฟุตบอลโลก: ส่งของแล้วส่งบอล

ก่อนที่เสียงนกหวีดให้สัญญาณเริ่มการแข่งขันฟุตบอลโลก 2006 ที่มีผู้ชมกว่า 3,000 พันล้านคนทั่วโลกกำลังเฝ้าจับตาชมการแข่งขันและเชียร์ทีมชาติต่าง ๆ ด้วยใจระทึกนั้น เบื้องหลังงานมหกรรมกีฬาใหญ่ระดับโลกอย่างนี้ ยังมีทีมลอจิสติกส์มืออาชีพกว่า 300 คนจากบริษัท Schenker ได้ดำเนินงานล่วงหน้ามาก่อนแล้วเป็นเวลาหลายเดือนในฐานะเป็นผู้ให้บริการลอจิสติกส์สำหรับมหกรรมกีฬาฟุตบอลโลก 2006 อย่างเป็นทางการ สำหรับมหกรรมกีฬาใหญ่ ๆ ขนาดนี้จะสำเร็จได้ตามเป้าหมายนั้นจำเป็นต้องมีการจัดการลอจิสติกส์สำหรับการเคลื่อนย้ายอุปกรณ์และทรัพยากรต่าง ๆ

ลอจิสติกส์ฟุตบอลโลก: ส่งของแล้วส่งบอล


ดร.วิทยา สุหฤทดำรง
 ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

          ก่อนที่เสียงนกหวีดให้สัญญาณเริ่มการแข่งขันฟุตบอลโลก 2006 ที่มีผู้ชมกว่า 3,000 พันล้านคนทั่วโลกกำลังเฝ้าจับตาชมการแข่งขันและเชียร์ทีมชาติต่าง ๆ ด้วยใจระทึกนั้น เบื้องหลังงานมหกรรมกีฬาใหญ่ระดับโลกอย่างนี้ ยังมีทีมลอจิสติกส์มืออาชีพกว่า 300 คนจากบริษัท Schenker ได้ดำเนินงานล่วงหน้ามาก่อนแล้วเป็นเวลาหลายเดือนในฐานะเป็นผู้ให้บริการลอจิสติกส์สำหรับมหกรรมกีฬาฟุตบอลโลก 2006 อย่างเป็นทางการ

สำหรับมหกรรมกีฬาใหญ่ ๆ ขนาดนี้จะสำเร็จได้ตามเป้าหมายนั้นจำเป็นต้องมีการจัดการลอจิสติกส์สำหรับการเคลื่อนย้ายอุปกรณ์และทรัพยากรต่าง ๆ ของงานมหกรรมกีฬานี้ซึ่งหมายถึงการรวมตัวนักกีฬาด้วย มหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่เราได้รอคอยกันมานานเป็นเวลาทุก ๆ 4 ปี จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าไม่ได้มีการจัดการทรัพยากรอย่างถูกเวลาและถูกสถานที่ตามวิถีแห่งลอจิสติกส์และโซ่อุปทาน

สนามกีฬากลางโอลิมปิกเบอร์ลิน

 จุดศูนย์กลางของการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งนี้อยู่ที่สนามกีฬาโอลิมปิกเบอร์ลินซึ่งเป็นจุดรวมทุกสายตาจากผู้เข้าชมในสนาม เป็นที่รวมเฟอร์นิเจอร์และอุปกรณ์ที่ใช้ในการแข่งขัน อุปกรณ์การสื่อสารในการถ่ายทอดสดการแข่งขัน หรือแม้แต่ไส้กรอกเยอรมันอันเลิศรสพร้อมเบียร์เยอรมันกับฟองรสนุ่ม

รวมทั้งสายตาทุกคู่ที่จับจ้องการแข่งขันจากทั่วทุกมุมโลก แต่ใครจะไปรู้ว่ามีแค่เส้นทางเดียวที่จะนำเอาอุปกรณ์ต่าง ๆ ในการจัดการแข่งขันเข้าไปสู่ภายในสนามกีฬาโอลิมปิกเบอร์ลินโดยมีประตูทางเข้าสูงเพียง 4.2 เมตร แต่ก่อนที่รถเทรลเลอร์ที่ขนอุปกรณ์การจัดฟุตบอลโลกจะที่มาจากสถานที่ต่าง ๆ ต้องขนย้ายผ่านทางลอดอุโมงค์ใต้สนามกีฬา และจะต้องผ่านจุดตรวจ (Log Point) เพื่อลงทะเบียนรักษาความปลอดภัย ที่จุดตรวจนี้เองทำให้อุปกรณ์และสิ่งของทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นบริษัทจัดเลี้ยงสำหรับแขก VIP บริษัทเบียร์และผู้จัดหาอุปกรณ์ (Suppliers) ทั้งหลายจะต้องเข้ามาติดต่อกับเครือข่ายลอจิสติกส์ (Logistics Network) ของมหกรรมกีฬาฟุตบอลโลก 2006 


 ความปลอดภัยหรือการป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับสิ่งของที่ขนย้ายสำหรับงานฟุตบอลโลก 2006 เป็นวัตถุประสงค์อันดับต้น ๆ ของการจัดการลอจิสติกส์ โดยเฉพาะความปลอดภัยที่จะต้องรักษาไว้อย่างแน่นหนาสำหรับงานมหกรรมกีฬาที่มีผู้ชมเข้าร่วมมากมาย บริษัท Schenker ผู้รับผิดชอบได้จัดเตรียมแผนงานและขั้นตอนการดำเนินงานต่าง ๆ และได้ทดสอบแผนการดำเนินงานต่าง ๆ นั้นแล้วในการแข่งขันฟุตบอล FIFA Confederation Cup ที่เยอรมันเมื่อฤดูร้อนปีที่แล้ว สำหรับการแข่งขันฟุตบอลโลก 2006 ครั้งนี้ บริษัท Schenker จะเป็นผู้รับผิดชอบการปฏิบัติการเชิงลอจิสติกส์กีฬา (Sport Logistics) ประมาณ 80-90 เปอร์เซ็นต์ของการดำเนินงาน บริษัท Schenker จะการควบคุมและประสานงานให้เกิดการไหลหรือการเคลื่อนย้ายของอุปกรณ์

และทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันฟุตบอลให้เสร็จสมบูรณ์ในแต่ละสนามกีฬา จากวันที่ 9 มิถุนายน 2006 ทีมงานของบริษัท Schenker จะทำให้สนามกีฬาที่ใช้แข่งขันทั้ง 12 แห่งมีความพร้อมทั้งการแข่งขันและการลำเลียงเบียร์และแชมเปญ การขนย้ายอุปกรณ์กล้องและการถ่ายทอดสดทั้งวิทยุและโทรทัศน์ได้ถูเวลาและสถานที่ นั่นยังหมายถึงว่ากระเป๋าสัมภาระของโรนัลดินโญจะไม่ได้ถูกวางผิดที่หรือหยิบผิดไปเป็นอันขาด

ประสานงาน คือ หัวใจของลอจิสติกส์  

 เมื่อคณะกรรมการจัดการแข่งขันของ FIFA ให้ความไว้วางใจบริษัท Schenker ให้รับผิดชอบกิจกรรมลอจิสติกส์ของมหกรรมฟุตบอลโลก 2006 บริษัท Schenker ได้แต่งตั้ง Liaison Manager ซึ่งจะทำการประสานงานการติดต่อระหว่างบริษัท Schenker และคณะกรรมการจัดการแข่งขัน Liaison Manager จะจัดการและประสานงานความเชื่อมโยงที่เกี่ยวข้องทั้งหมดของกิจกรรมลอจิสติกส์ในมหกรรมกีฬาฟุตบอลโลก ทีมงานของบริษัท Schenker ยังประสานงานกับขั้นตอนการปฏิบัติงานกับคลังอุปกรณ์ของงานฟุตบอลโลกที่ แฟรงค์เฟิร์ต เนิร์นเบิร์ก และฮันโนเวอร์ และในส่วนที่เป็นคลังจัดเก็บอุปกรณ์ (Depot) ที่ต้องการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดสำหรับอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และเครื่องมือเทคโนโลยีชั้นสูงทั้งหลาย 


การประสานงานกิจกรรมลอจิสติกส์ในฟุตบอลโลกนั้นมีความต้องการในการจัดส่งแบบทันเวลาพอดี (Just in Time Delivery) จึงต้องใช้แรงงานเป็นจำนวนมาก ตัวอย่างเช่น บริษัท Fuji ได้ส่งแถบบัตรที่ใช้ในการรับรองสำหรับแขกเชิญ ทีมงานและนักหนังสือพิมพ์จากญี่ปุ่นโดยตรงมายังเยอรมันนี ในขณะที่คนอื่น ๆ หรือบริษัทอื่น ๆ ยังมั่วแต่ยุ่งกับการจองเวลาในการขนย้ายอุปกรณ์อยู่ ทำให้ยิ่งดูเหมือนกับกิจกรรมในสนามบินไม่ผิดเลย ที่จริงแล้วการขนส่งหรือขนย้ายสินค้ามายังสนามแข่งนั้นถูกวางแผนและจัดการเป็นอย่างดีตรงที่สนามบินนี่เอง  แล้วแต่ใครจะมีเวลาเหลือมากพอแค่ไหน แต่การจัดตารางการจัดส่งหลักได้ให้เวลาสำหรับแผนการจัดส่งไว้ 48 ช.ม. ก่อนการแข่งขันเท่านั้น


 ฟุตบอลโลก 2006 เป็นมหกรรมกีฬาที่ไม่ใช่ธรรมดาอย่างแน่นอน บริษัท Schenker คงไม่สามารถใช้แค่มืออาชีพในด้านลอจิสติกส์เท่านั้น แต่ยังต้องอาศัยอาสาสมัครอีกเป็นกองทัพ โดยเฉพาะอาสาสมัครที่เข้ามาอยู่ในหน่วยงานด้านลอจิสติกส์ เมื่ออาสาสมัครได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมงานกับบริษัท Schenker แล้ว พวกเขาจะได้รับการฝึกอบรมก่อนการปฏิบัติงานจริง

 อาสาสมัครบางคนสามารถทำงานได้ดีจากงานที่ผ่านมาก่อนหน้านี้ก็อาจจะได้ร่วมงานกับบริษัท Schenker ในเวลาต่อมา ดังจะเห็นได้จากหลังจากกีฬาฟุตบอล FIFA Confederation Cup ก็มีอาสาสมัครบางคนได้เข้าร่วมงานกับบริษัท การเข้ามาร่วมงานฟุตบอลโลกครั้งนี้ของทีมงานและอาสาสมัครก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะต้องคลั่งไคล้ในเกมกีฬาฟุตบอลอย่างคนอื่น ๆ แต่พวกเขากลับมองว่ามหกรรมกีฬาฟุตบอลโลก 2006 ก็เป็นเหมือนมหกรรมกีฬาอื่น ๆ ที่จะต้องมีกิจกรรมลอจิสติกส์ในการสนับสนุนการปฏิบัติงานให้เป็นผลสำเร็จ


 ลอจิสติกส์กีฬาหรือการจัดงานมหกรรม (Events) ต่าง ๆ นั้นไม่เหมือนกับการจัดส่งสินค้าในอุตสาหกรรมหรือการค้าอื่น ๆ ลองนึกภาพดูว่าในขณะการแข่งขันนัดเปิดสนามระหว่างทีมเยอรมันกับทีมคอสตาริกา แล้วพบว่าเบียร์เกิดหมดไม่มีจำหน่ายให้ผู้เข้าชมการแข่งขันแล้วจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าฟุตบอลมาแข่งที่เมืองเบียร์แต่เบียร์ไม่พอ แต่ทีมลอจิสติกส์กีฬาที่ไม่ได้รับผิดชอบแค่นักกีฬาและอุปกรณ์กีฬาเท่านั้น ยังต้องคำนึงการให้บริการต่อแฟนบอลที่เข้ามาชมในสนามด้วย นั่นเป็นมุมมองในองค์รวมของลอจิสติกส์ของการจัดการแข่งขันกีฬา

ทุกคนทุกฝ่ายพร้อมที่สนามแข่งขัน

 สถานการณ์ต่าง ๆ ในมหกรรมฟุตบอลโลกดูจะไม่ใช่ธรรมดาเพราะงานอย่างนี้ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้งนัก แต่แผนกลยุทธ์สำหรับการจัดการลอจิสติกส์ในฟุตบอลโลก 2006 ก็ได้ผ่านการทดสอบมาแล้วในการแข่งขันฟุตบอล Confederation Cup และหลังจากนั้นก็ได้มีการพัฒนาและปรับปรุงกันมาตลอดในการประสานงานกับทางตำรวจและคณะกรรมการจัดการแข่งขัน สิ่งหนึ่งที่เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก คือ จุดตรวจสอบ (Log Point) ซึ่งควบคุมการไหลหรือการขนย้ายของอุปกรณ์ไปยังสนามแข่งขัน บริษัท Schenker ได้แต่งตั้งผู้จัดการลอจิสติกส์ประจำสนามทั้ง 12 สนาม และที่ศูนย์การถ่ายทอดสดนานาชาติ (International Broadcasting Center: IBC) อีกหนึ่งคน รวมเป็น 13 คนในการประสานงานในการจัดการลอจิสติกส์กีฬาในแต่ละสนาม  


ผู้จัดการลอจิสติกส์ประจำสนามแต่ละคนและทีมงานของบริษัท Schenker ส่วนมากจะมีประสบการณ์การทำงานในธุรกิจลอจิสติกส์ด้านส่งสินค้าออกและนำเข้ามาก่อน ไม่ว่าทีมชาติใดจะได้ครองบอลในเกมการแข่งขันในสนามไหนก็ตาม ลูกฟุตบอลในความรับผิดชอบของผู้จัดการลอจิสติกส์ในแต่ละสนามแข่งขัน คือ กิจกรรมการเคลื่อนย้ายสิ่งของต่าง ๆ ในมหกรรมกีฬาให้อยู่อย่างถูกสถานที่และถูกเวลาเพื่อให้การแข่งขันดำเนินไปตามเป้าหมาย


 ฟิลิปส์ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนอย่างเป็นทางการในการแข่งขันฟุตบอลโลก 2006 จะต้องติดตั้งจอภาพทั้งหมด 8000 จอ เมื่อทีมงานบริษัท Schenker ได้จัดส่งจอภาพและอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับในการแข่งขันถึงสนามแข่งขัน ผู้จัดการลอจิสติกส์ประจำสนามแข่งขันและทีมงานของเขาก็จะแกะกล่องจอภาพ ต่อสายเข้าด้วยกันและทำการติดตั้งตามตำแหน่งต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ จากนั้นจึงนำเอากล่องบรรจุภัณฑ์ทั้งหลายไปจัดเก็บไว้ไม่ให้สูญหาย ทีมงานของพวกเขาก็จะต้องควบคุมการปฏิบัติการในการนำอุปกรณ์และสิ่งของต่าง ๆ ของผู้จัดหา (Suppliers) ทั้งหมดเข้าสู่สนามแข่งขันและการกระจายอุปกรณ์และสิ่งของไปยังจุดที่ต้องการใช้งาน ตั้งแต่เบียร์ไปจนถึงโบชัวร์กิจกรรมงานต่าง ๆ


 ทีมงานบริษัท Schenker ที่จุดตรวจสอบต่าง ๆ จะตรวจสอบรายละเอียดของผู้จัดหาตามตารางการจัดส่งหลัก (Master Delivery Schedule) และตรวจสอบสิ่งของหรืออุปกรณ์ที่จะจัดส่งและพร้อมเอกสารกำกับ ใครไม่มีเอกสารหรือบัตรผ่านก็จะไม่อนุญาตให้ผ่าน นั่นถือว่าเป็นความปลอดภัยสูงสุด กลุ่มหรือบุคคลใดมีพิรุธหรือเป็นที่สงสัยจะถูกรายงานต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจทันที


 นอกจากที่จุดตรวจสอบแล้วแผนลอจิสติกส์ต่าง ๆ ยังถูกออกแบบมาเพื่อไม่ให้เกิดการปิดกั้นหรือการเป็นคอขวด (Bottleneck) ในกระบวนการและลำดับการจัดส่ง ในแต่ละสนามบุคคลที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการเติมเต็มสิ่งของและอุปกรณ์จะต้องติดตามสถานะของการจราจรทั้งยานพาหนะและผู้ชมการแข่งขัน ไม่เพียงแค่บริเวณรอบ ๆ สนามแข่งขัน แต่บริเวณรอบเมืองออกไปที่มีจอแสดงภาพขนาดใหญ่ซึ่งจะทำให้เกิดการปิดกั้นการจราจรได้อันจะทำให้มีผลต่อการขนส่งและลำเลียงสิ่งของหรืออุปกรณ์มายังสนามแข่งขันได้

คนกว่าสามพันล้านทั่วโลกได้ชมผ่านทางทีวี

 ภายนอกสนามแข่งขันก็ยังมีจอแสดงภาพขนาดใหญ่ติดตั้งไว้ให้ผู้ชมที่ไม่มีโอกาสได้เข้าชมในสนามแข่งขัน ในขณะที่ ปี 1974 ฟุตบอลโลกมีนักข่าวประมาณ 4,000 คน แต่ในครั้งนี้จะมีนักข่าวประมาณ 15,000 คนมาทำข่าวในฟุตบอลโลกครั้งนี้ ดังนั้นจุดที่สำคัญของนักข่าว คือ ศูนย์ถ่ายทอดนานาชาติ (IBC) ที่จัดไว้ที่ Munich Trade Fair ซึ่งมีภัตตาคารที่รองรับคนได้ครั้งละ 5000 คน สำหรับศูนย์ถ่ายทอดนานาชาตินี้มีพื้นที่ 35,000 ตารางเมตร และยังมีพื้นที่ด้านนอกอีก 10,000 ตารางเมตร คาดว่าของอุปกรณ์ในการถ่ายทอดและอุปกรณ์สื่อสารต่าง ๆ ทั้งหมดจะน้ำหนักกว่า 1,000 ตัน และยังมีราคาแพงรวมทั้งง่ายต่อการเกิดความเสียหายจะถูกขนส่งมายังที่ IBC แม้ว่าชิ้นส่วนเล็ก ๆ ได้หายไปก็อาจจะทำให้ดำเนินการถ่ายทอดสดไม่ได้


 บริษัท Schenker มีประสบการณ์ในการสนับสนุนการถ่ายทอดการแข่งขันตั้งแต่การแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2004 ที่กรุงเอเธนส์ การถ่ายทอดการแข่งขันนั้นจะขึ้นอยู่กับประเทศต่าง ๆ ที่จะรับสัญญาณถ่ายทอดไป สำหรับที่ IBC ที่เมืองมิวนิค บริษัท Schenker ได้จัดการส่งอุปกรณ์เครื่องมือสำหรับการถ่ายทอด TV ไปยังศูนย์ควบคุมและห้องส่งของ IBC ไม่ว่าจะมาจากคลังจัดเก็บ (Depot) หรือจากจุดควบคุม (Log Point)

บริษัทที่มีจัดการมาเป็นอย่างดีอย่างเช่นบริษัทที่มาจากญี่ปุ่นได้ส่งเครื่องมือทางเทคนิคมาล่วงหน้าก่อนเป็นเดือน กล้องจะต้องไปถึงสนามแข่งขันก่อนเสียงนกหวีดเป่าเริ่มการแข่งขันอย่างแน่นอน ในแต่ละสนามแข่งขันทั้ง 12 สนามจะมีกล้องอย่างน้อย 20 กล้องติดตั้งอยู่ และส่งสัญญาณมายังรถถ่ายทอดและส่งสัญญาณต่อมายัง IBC จากนั้นก็จะถูกถ่ายทอดออกไปยังผู้ชมการแข่งขันกว่า 3,000 พันล้านคนทั่วโลกจาก 210 ประเทศ

ขนกระเป๋า ขนนักเตะด้วย

 หลังจากกล้องทีวีได้ติดตั้งเสร็จเรียบร้อยแล้ว เคาน์เตอร์เบียร์ก็ต้องพร้อมเสิร์ฟ ทุกอย่างต้องพร้อมทั้งสนามแข่งขันและผู้ชมการแข่งขัน แต่ยังขาดองค์ประกอบที่สำคัญที่เป็นจุดสนใจของการแข่งขันในแต่ละนัด นั่นคือ นักกีฬา โดยเฉพาะการขนสัมภาระของนักกีฬาของแต่ละคนที่บรรจุเสื้อผ้า ชุดกีฬา ถุงเท้า และรองเท้าฟุตบอลที่ใช้เตะลูกบอลในการแข่งขัน ทีมบริษัท Schenker ได้รับผิดชอบในกิจกรรมลอจิสติกส์ที่เกี่ยวข้องกับการขนย้ายสัมภาระของทีม ซึ่งไม่ใช่แค่การมาถึงโรงแรมที่พักหรือการออกเดินทางจากที่พักไปยังสนามแข่งขัน แต่หมายถึงการเดินทางไปในทุก ๆ สถานที่ของทีม  

 ทักษะที่พิเศษของทีมงานจะต้องรับผิดชอบในการจัดการให้สัมภาระถึงสถานที่ต่าง ๆ ที่ทีมไปแข่งขันหรือไปพัก การจัดการประสานงานให้กับทีมฟุตบอล 32 ชาติที่มีบุคลากรประมาณ 45 คนต่อทีมคงไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ และแต่ละทีมจะมีสัมภาระติดตัวมาทีมละประมาณ 7 ตันโดยเฉลี่ย ทีมงานบริษัท Schenker จะต้องวุ่นตั้งแต่ก่อนการแข่งขันจะเริ่มด้วยการรวบรวมข้อมูลการเดินทางของนักเตะทั้ง 736 คน และผู้ร่วมติดตามอีก 704 คน โดยการเช็คข้อมูลความเคลื่อนไหวกับคณะกรรมการจัดงานอยู่ตลอดเวลา จากการประกาศตารางการแข่งขันในรอบแรก ทีมงานก็สามารถที่จะรู้ได้โดยประมาณว่ากระเป๋าสัมภาระของนักกีฬาแต่ละคนควรจะไปอยู่ที่ไหนในเวลาใด

วิญญาณแห่งลอจิสติกส์อยู่เบื้องหลังการแข่งขัน

 มหกรรมการแข่งขันฟุตบอลโลกในแต่ละครั้งก็เพื่อค้นหาทีมผู้ชนะเลิศระดับโลกคงจะไม่ใช่สิ่งท้าทายที่สุดในการแข่งขันระหว่างทีมฟุตบอลแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีกิจกรรมลอจิสติกส์ที่ดำเนินการอยู่เบื้องหลัง ยิ่งเป็นการแข่งขันระดับโลกที่มีทีมที่มาจากทั่วโลกและยังมีการถ่ายทอดออกไปทั่วโลกด้วยแล้ว คงจะไม่ใช่เรื่องเล็กเสียแล้ว บริษัทที่มารับผิดชอบกิจกรรมลอจิสติกส์นี้จะต้องมีเครือข่ายระดับโลกและสามารถสร้างความมั่นใจในบริการด้วยโซ่อุปทานระดับโลกในการจัดส่งที่มีประสิทธิภาพ


 ลองมาดูกิจกรรมการจัดงานหรือมหกรรมกีฬาต่าง ๆ ในเมืองไทยบ้าง นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเราไม่เคยมีประสบการณ์ในการจัดการแข่งขันในลักษณะเช่นนี้ ประเทศไทยนั้นได้เป็นเจ้าภาพในการจัดการมหกรรมกีฬาในระดับนานาชาติหลายครั้ง เราได้เป็นเจ้าภาพในการแข่งขันกีฬาในระดับทวีปเอเชีย แต่ยังไม่เคยมีการจัดการแข่งขันในงานใหญ่ระดับโลกมาก่อน แต่ประเทศไทยก็เคยมีการเสนอตัวในการเป็นเจ้าภาพในการจัดการแข่งขันโอลิมปิกมาก่อน แต่ก็ไม่ได้รับการคัดเลือก อาจจะเป็นไปได้ว่าเราอาจจะขาดมุมมองหรือความพร้อมด้านกิจกรรมลอจิสติกส์กีฬาดังที่กล่าวมาแล้วนั้นก็เป็นไปได้


แต่สิ่งที่น่าสนใจในการจัดการลอจิสติกส์กีฬาในระดับโลกอย่างกีฬาโอลิมปิกตั้งแต่ที่ซิดนีย์ ปี 2000 ที่เอเธนส์ 2004  และยังรวมไปถึง ที่ปักกิ่ง 2008 คือ มีการจัดองค์กรหรือทีมลอจิสติกส์กีฬาและแผนกลยุทธ์รองรับกิจกรรมลอจิสติกส์ของมหกรรมกีฬาขนาดใหญ่เพื่อที่จะทำให้การดำเนินการจัดการแข่งขันได้ถึงเป้าหมายท่ามกลางความไม่แน่นอนของเหตุการณ์ต่าง ๆ รอบ ๆ การแข่งขัน

แนวคิดในการจัดงานมหกรรมใหญ่ ๆ ระดับโลกนั้นมีความซับซ้อนมากอยู่ในตัว จึงจำเป็นที่จะต้องใช้แนวคิดและเทคนิคในการจัดการลอจิสติกส์และยังรวมถึงโซ่อุปทานในการบูรณาการทุกองค์ประกอบให้เกิดขึ้นได้ตามตารางที่กำหนดโดยไม่ให้มีข้อผิดพลาด กิจกรรมการจัดงานมหกรรมกีฬาอย่างนี้ไม่เหมือนกับการผลิตซึ่งถ้ามีของเสีย ก็สามารถผลิตใหม่ได้ แต่งานมหกรรมกีฬาอย่างนี้พลาดไม่ได้เพราะผู้ชมหรือลูกค้าอีก 3 พันล้านคนกำลังชมการแข่งขันอยู่ พลาดแค่ครั้งเดียวสูญเสียไปกับลูกค้าทั้งหมด

นั่นคือ ความสำคัญอย่างยิ่งยวดของการจัดสรรองค์ประกอบของการจัดงานมหกรรมกีฬาให้ประสบผลสำเร็จด้วยแนวคิดลอจิสติกส์และโซ่อุปทาน ผมเชื่อว่าในอนาคตประเทศไทยอาจจะมีโอกาสได้จัดงานใหญ่ระดับโลกอย่างนี้ได้ เพียงแต่ปรับแนวคิดด้านลอจิสติกส์โดยการทำความเข้าใจและนำไปใช้อย่างเป็นระบบมากขึ้น ผมเชื่อว่าเราทำได้แน่นอน เพราะเรามีประสบการณ์ประเภทนี้มามากแล้ว ขาดแต่วิสัยทัศน์และการมองแบบองค์รวมในการดำเนินงานเท่านั้นเอง แต่ถ้าเราพัฒนาแนวคิดเชิงลอจิสติกส์กีฬาได้ดี ผมว่าประเทศไทยได้ไปบอลโลกแน่นอน! ถ้าเราได้เป็นเจ้าภาพจัดบอลโลกเมื่อไหร่ นั่นหมายความว่า เราส่งของได้ดีก

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด