จากบทความที่ผ่านมาสำหรับระบบสถานีย่อยอัตโนมัติ (Substation Automation: SAS) ได้กล่าวเกี่ยวกับฟังก์ชั่นของชุดรับส่งสัญญาณอะนาลอก (Analog Input/Output: Analog I/O) รวมทั้งฟังก์ชั่นของชุดรับส่งสัญญาณดิจิตอล (Digital Input/Output: Digital I/O) ค่าหรือสัญญาณที่ได้รับจากระดับโปรเซส (Process Level) หรือระดับกระบวนการของการทำงานของอุปกรณ์ไฟฟ้าหรือเครื่องจักรจริงซึ่งจะถูกนำมาประมวลผล และแสดงผลในรูปแบบกราฟิก (Graphical Display)
ฟังก์ชั่นการตรวจสอบและเฝ้าระวังในระบบสถานีย่อยอัตโนมัติ
พิชิต จินตโกศลวิทย์
จากบทความที่ผ่านมาสำหรับระบบสถานีย่อยอัตโนมัติ (Substation Automation: SAS) ได้กล่าวเกี่ยวกับฟังก์ชั่นของชุดรับส่งสัญญาณอะนาลอก (Analog Input/Output: Analog I/O) รวมทั้งฟังก์ชั่นของชุดรับส่งสัญญาณดิจิตอล (Digital Input/Output: Digital I/O) ค่าหรือสัญญาณที่ได้รับจากระดับโปรเซส (Process Level) หรือระดับกระบวนการของการทำงานของอุปกรณ์ไฟฟ้าหรือเครื่องจักรจริงซึ่งจะถูกนำมาประมวลผล
และแสดงผลในรูปแบบกราฟิก (Graphical Display) เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานหรือช่างไฟฟ้าสามารถตรวจสอบและเฝ้าระบบได้อย่างสะดวกและง่าย โดยทั่วไปอุปกรณ์แสดงผลจะเป็นหน้าจอแสดงผลของคอมพิวเตอร์ ซึ่งเมื่อรวมกับฟังก์ชั่นการแสดงผลแล้วจะถูกเรียกว่า Man Machine Interface: MMI หรือมีอีกชื่อหนึ่งที่มีความหมายเหมือนกันคือ Human Machine Interface: HMI แล้วแต่ความถนัดหรือความเคยชินของผู้ปฏิบัติงาน อย่างก็ตามจุดประสงค์หลักของการติดตั้งฟังก์ชั่นการตรวจสอบและเฝ้าระวังโดยทั่วไปมีดังนี้
- แสดงสถานะหรือตำแหน่งอุปกรณ์ไฟฟ้าในระดับกระบวนการ หรือ แม้แต่ในระดับเบย์ หรือระดับสถานี เช่นตัวอุปกรณ์ของระบบสถานีย่อยอัตโนมัติเอง
- แจ้งสถานการณ์หรือเหตุการณ์ที่อาจจะก่อความเสียหายหรืออันตรายต่อเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ไฟฟ้ารวมทั้งต่อผู้ปฏิบัติงาน
- บันทึกข้อมูลหรือเหตุการณ์สำหรับการประเมินหรือวิเคราะห์ในภายหลัง ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์ประสิทธิภาพของระบบไฟฟ้า หรือวิเคราะห์หาสาเหตุที่ทำให้เกิดความล้มเหลวหรือเกิดเหตุขัดข้องของระบบไฟฟ้า หรือสาเหตุที่ก่ออันตรายต่อผู้ปฏิบัติงาน
จุดประสงค์ที่กล่าวมานั้นสามารถหาได้ทั้งในระบบ SAS และระบบ SCADA (Supervisory Control and Data Acquisition) หรือศูนย์สั่งการ ยกเว้นฟังก์ชั่นในการบันทึกเหตุการณ์แปรปรวน (Disturbance Recording) ในระบบไฟฟ้าซึ่งส่วนใหญ่จะไม่มีในระบบ SCADA เพราะข้อมูลนั้นใช้สำหรับวิศวกรที่ดูแลระบบป้องกัน ฟังก์ชั่นการตรวจสอบและเฝ้าระวังโดยทั่วไปมีความสามารถดังนี้
- จัดการเหตุการณ์ในระบบไฟฟ้า
- จัดการสัญญาณเตือน
- จัดเก็บข้อมูลและสำรองข้อมูล
- บันทึกเหตุการณ์แปรปรวนในระบบไฟฟ้ารวมทั้งการดึงข้อมูลเกี่ยวกับความผิดพร่องของระบบไฟฟ้า
- จัดการปูมประวัติการใช้งานของระบบ
การแสดงสถานะของกระบวนการ (Process State Display)
มีวิธีหลายวิธีในการเข้าตรวจสอบสถานะในระดับกระบวนการหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าโดยระบบ SAS โดยวิธีการเข้าถึงข้อมูลโดยทั่วไปมีดังนี้
- ซูมและแพน (Zoom and Pan) ซูมคือการขยายเข้าออกของหน้าจอแสดงผลเพื่อดูรายละเอียดปลีกย่อยหรือดูภาพรวมของระบบ ส่วนแพนคือการเคลื่อนย้ายหน้าจอแสดงผลไปยังตำแหน่งที่ต้องการโดยเฉพาะกรณีที่ภาพรวมของระบบมีขนาดใหญ่กว่าความสามารถในการแสดงผลของอุปกรณ์แสดงผล ซึ่งที่จริงแล้วคุณสมบัตินี้ถูกใช้มากในระบบงานแผนที่
- การแสดงผลแบบลำดับชั้น (Hierarchical Windows) โดยทั่วไปการแสดงผลแบบลำดับชั้นจะเริ่มต้นโดยการแสดงภาพรวมของระบบโดยการแสดงภาพรวมจะแสดงตำแหน่งอุปกรณ์แต่ไม่มีรายละเอียดปลีกย่อยมีแต่ภาพรวมโครงสร้างของระบบหรือบางระบบ SAS อาจจะแสดงรายการปุ่ม Button ตามหมวดหมู่ของข้อมูล บนหน้าจอการแสดงภาพรวมโดยทั่วไปแล้วสามารถใช้เมาส์คลิกที่ตำแหน่งที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม
ซึ่งระบบอาจจะเรียกหน้าต่างแสดงผลใหม่ซ้อนหน้าต่างเดิม หรือเปลี่ยนหน้าต่างแสดงผลไปเลยก็ได้ ขึ้นอยู่กับการออกแบบ ข้อดีของการแสดงผลแบบลำดับชั้นคือสามารถเข้าถึงข้อมูลอย่างรวดเร็ว โดยข้อมูลจะเริ่มมีรายละเอียดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในเชิงลึก ตัวอย่างการใช้การแสดงผลแบบลำดับชั้นคือสถานะอุปกรณ์ไฟฟ้าในลานไก (Switch Yard) หน้าต่างแสดงผลลำดับบนสุดหรือหน้าต่างแรกจะแสดงรายละเอียดโดยรวมของระบบ เช่น การเชื่อมต่ออุปกรณ์ ตำแหน่งอุปกรณ์ แต่อาจจะไม่แสดงค่าวัด หรือแม้แต่รายละเอียดอื่น ๆ เช่น ขนาดของหม้อแปลง
ถ้าผู้ปฏิบัติงานต้องการข้อมูลเพิ่มเติมของแต่ละอุปกรณ์นั้นต้องคลิกเข้าไปในลำดับชั้นถัดไป โดยทั่วไปแล้วการแสดงรายละเอียดโดยรวมของระบบไฟฟ้าจะใช้ไดอะแกรมเส้นเดี่ยว หรือ ซิงเกิลไลน์ไดอะแกรม (Single Line Diagram) ซึ่งจะใช้เส้นแบบกราฟิกหนึ่งเส้นแทนตัวนำไฟฟ้าและอุปกรณ์ทั้ง 3 เฟส ทำให้ระบบสามารถดูได้โดยง่ายไม่ละลานตา โดยที่ซิงเกิลไลน์ไดอะแกรมจะแสดงข้อมูลทั่วไปดังนี้
- ตำแหน่งอุปกรณ์ตัดตอนทางไฟฟ้า เช่น เซอร์กิตเบรกเกอร์, ใบมีดดิสคอนเน็กติ้ง, ใบมีดกราวด์
- ระดับแรงดันไฟฟ้า (kV) และกระแสไฟฟ้า ที่แท่งตัวนำบัสบาร์, สายเคเบิลไฟฟ้าแรงสูง, หม้อแปลงไฟฟ้า
- กำลังไฟฟ้าจริง (MW) และ กำลังไฟฟ้าเสมือน (MVar)
ซิงเกิลไลน์ไดอะแกรมสามารถเพิ่มขยายความสามารถในการแสดงผลได้นั้นคือการเพิ่มฟังก์ชั่นบัสบาร์คัลเลอริ่ง (Busbar Coloring) ซึ่งตัวฟังก์ชั่นจะแสดงสีตามเส้นซิงเกิลไลน์ไดอะแกรมเปลี่ยนแปลงตามระดับแรงดันไฟฟ้าที่ขึ้นบัสบาร์นั้น ๆ รวมทั้งสามารถบ่งบอกว่าบัสบาร์นั้นกำลังต่อกราวด์หรือเปล่า หรือบ่งบอกว่าเกิดแรงดันผิดปกติขึ้นหรือเปล่า เช่น แรงดันต่ำผิดปกติ (Undervoltage)
รูปที่ 1 ซิงเกิลไลน์ไดอะแกรมแสดงภาพรวมของระบบ
รูปที่ 2 การแสดงรายละเอียดของอุปกรณ์ไฟฟ้าในรูปแบบการแสดงผลแบบลำดับชั้น
การแสดงผลโดยรวมในระดับโปรเซส (Process Overview Display)
เป็นการแสดงรูปแบบการเชื่อมต่อของแต่ละอุปกรณ์ไฟฟ้าและตัวนำไฟฟ้า เช่น บัสบาร์ หรือ สายเคเบิลไฟฟ้า การแสดงรูปแบบการเชื่อมต่อสามารถบอกสถานะ และการไหลของพลังงานไฟฟ้าของแหล่งจ่ายไฟฟ้า (Power Source), โหลด (Load) รวมทั้งอุปกรณ์สวิตช์ตัดตอนไฟฟ้า เพื่อความง่ายของการวิเคราะห์ การใช้งานร่วมกับฟังก์ชั่นบัสบาร์คัลเลอริ่งจะมีประโยชน์มาก สำหรับระบบไฟฟ้าขนาดใหญ่การมีฟังก์ชั่น ซูมและแพน จะอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูลยิ่งขึ้น
รูปที่ 3 การแสดงผลโดยรวมของระบบร่วมด้วยฟังก์ชั่นบัสบาร์คัลเลอริ่ง
การแสดงรูปแบบการติดตั้งของระบบ SAS (System Configuration Display)
การแสดงรูปแบบการติดตั้งของระบบ SAS จะแสดงสถานะการทำงานของ IED (Intelligence Electronic Device) ของระบบ SAS เช่น BCU (Bay Control Unit) และ CU (Substation Control Unit) รวมถึงสถานะของสื่อในการส่งข้อมูล ในกรณีที่ไม่สามารถอ่านข้อมูลทางระบบไฟฟ้าบางส่วนหรือทั้งหมด การตรวจสอบสถานะการทำงานของอุปกรณ์ของระบบ SAS จะทำให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถหาสาเหตุของปัญหานั้น ๆ ได้ เช่น มีความผิดปกติของ IED หรือสายสัญญาณสื่อสารโดยตรวจสอบเปอร์เซ็นต์ของเฟรมสื่อสารที่เสียหายหรือไม่สามารถนำไปประมวลผลต่อได้
รูปที่ 4 รูปแบบการเชื่อมต่อของ substation Control Unit
รูปที่ 5 รูปแบบการเชื่อมต่อ Bay Control Unit
รูปที่ 6 การตรวจสอบสถานะของ I/O Card ใน Bay Control Unit
รูปที่ 7 การตรวจสอบสภาพการสื่อสารในแต่ละ Bay Control Unit
รายการเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงและการจัดการ (Event List & Handling)
รายการเหตุการณ์เปลี่ยนแปลง หรือ อีเวนต์ลิสต์ จะประกอบด้วยเวลาที่เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นในระบบไฟฟ้ารวมทั้งเหตุการณ์ของอุปกรณ์ในระบบ SAS ซึ่งโดยปกติจะถูกเรียงตามปฏิทินเวลา (Chronological) โดยทั่วไปเหตุการณ์ในระบบจะเกิดตามลักษณะดังนี้
- การเปลี่ยนแปลงสถานะหรือตำแหน่ง (State Change)
- การเกิดและหายไปของสัญญาณเตือน (Alarm Appearing and Disappearing)
- ค่าวัดไม่อยู่ในช่วงที่จำกัด (Limit Violation)
- การปฏิบัติงานของผู้ปฏิบัติงาน (Operator’s Action) เช่น การควบคุมอุปกรณ์ และการรับทราบสัญญาณเตือน
แต่ละอีเวนต์โดยปกติควรสามารถถูกพิมพ์ออกเครื่องพิมพ์ ซึ่งสามารถบันทึกรายละเอียดและเวลาที่เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นและสามารถแยกแยะว่าเหตุการณ์นั้นเกิดอุปกรณ์ไฟฟ้าใดหรือฟังก์ชั่นใด (Identification) ในบางระบบอาจจะมีเครื่องพิมพ์ 2 ตัว สำหรับพิมพ์งานของระบบ SAS และเหตุการณ์ของระบบไฟฟ้าแยกกัน หรือแม้กระทั้งแยกพิมพ์เหตุการณ์ระบบไฟฟ้าเป็นส่วน ๆ เช่นตามระดับแรงดันไฟฟ้า
อย่างไรก็ตามในระบบ SAS สมัยใหม่คุณสมบัติการพิมพ์ออกเครื่องพิมพ์มักจะไม่ถูกใช้ เนื่องจากปัจจุบันฮาร์ดดิสก์ (Hard Disk) มีความเชื่อถือได้สูงและสามารถบันทึกข้อมูลได้เป็นจำนวนมาก ยิ่งกว่านั้นการใช้ฮาร์ดดิสก์ในการบันทึกเหตุการณ์ระบบไฟฟ้ายังสามารถแก้ไขปัญหาของเครื่องพิมพ์ในกรณีกระดาษพิมพ์หมด
อย่างไรก็ตามฮาร์ดดิสก์มีข้อจำกัดในการจัดเก็บข้อมูลเช่นกันซึ่งขึ้นอยู่กับขนาดของฮาร์ดดิสก์ ดังนั้นเหตุการณ์หรืออีเวนต์จะถูกจัดเก็บบนโครงสร้างข้อมูลแบบวงแหวน (Ring) ถ้าหน่วยจัดเก็บข้อมูลเต็ม ข้อมูลเหตุการณ์ที่เก่าที่สุดจะถูกเขียนทับ ในกรณีที่ต้องการเก็บรักษาเหตุการณ์ระบบไฟฟ้าแม้ว่าไฟเลี้ยงระบบ SAS นั้นมีปัญหา การเลือกประเภทหน่วยจัดเก็บข้อมูลแบบนอน-โวลาไทล์ (Non-volatile) เช่น ฮาร์ดดิสก์หรือคอมแพกต์แฟลช (Compact Flash) สามารถสนับสนุนความต้องการนั้นได้ แต่อย่างไรก็ตามก็ยังมีผู้ใช้หรือผู้ปฏิบัติงานต้องการสำรองข้อมูลรายเหตุการณ์ระบบไฟฟ้าเพื่อป้องกันปัญหาเนื่องจากข้อมูลเต็ม
โดยส่วนมากจะสำรองข้อมูลอย่างน้อยปีละ 1 ครั้งลงบนเทปสำรองข้อมูลหรือดีวีดี การสำรองข้อมูลลงบนเทปและดีวีดี ยังสามารถนำข้อมูลไปใช้ในระบบอื่นหรือโปรแกรมประยุกต์อื่นเพื่อวิเคราะห์ข้อมูล เช่นเพื่อจุดประสงค์ในการบำรุงรักษาและการวางแผนเป็นต้น ฟังก์ชั่นในการแสดงผลรายการเหตุการณ์ไฟฟ้าส่วนใหญ่จะมีความสามารถในการกรองข้อมูลที่ต้องการ (Filtering) ในกรณีระบบไฟฟ้ามีความขัดข้อง ระบบ SAS สามารถกรองเฉพาะเหตุการณ์หรืออีเวนต์ที่เกี่ยวกับเหตุขัดข้องนั้น ๆ
สำหรับการวิเคราะห์เหตุการณ์ขัดข้องระบบไฟฟ้าความละเอียดและความแม่นยำในการประทับเวลาบนอีเวนต์เป็นเรื่องสำคัญ ในการเรียงเหตุการณ์โดยทั่วไปความละเอียดของเวลาจะอยู่ที่ระดับ 1 mSec สำหรับระบบเครือข่ายระบบไฟฟ้า (Power Network) ความแม่นยำของเวลาระหว่างสถานีย่อยมีความสำคัญในการวิเคราะห์ ดังนั้นการเข้าจังหวะเวลาระหว่างสถานีย่อยจึงเป็นที่ต้องการ เช่นการเข้าจังหวะเวลาโดยระบบ GPS
รูปที่ 8 การสัมพันธ์ของการเปลี่ยนสถานะของสัญญาณเตือน
ตัวส่งสัญญาณเตือนและจัดการ (Alarm Annunciation & Handling)
สัญญาณเตือนจะถูกสร้าง ถ้าสถานะของอุปกรณ์นั้นถูกตั้งค่าตรวจสอบโดยผู้ปฏิบัติงาน ผู้ปฏิบัติงานต้องทำการยืนยันการรับทราบการเกิดสัญญาณเตือนนั้น เพื่อให้แน่ใจว่าเขารับทราบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นแล้ว
สัญญาณเตือนมีหลายประเภทดังนี้
- สัญญาณระดับปกติ, ต้องการการยืนยัน (Normal, Acknowledged)
- สัญญาณเตือนระดับไม่ปกติ,ไม่ต้องการการยืนยัน (Alarm, Unacknowledged)
- สัญญาณเตือนระดับไม่ปกติ,ต้องการการยืนยัน (Alarm, Acknowledged)
- สัญญาณระดับปกติ, ไม่ต้องการการยืนยัน (Normal, Unacknowledged) สัญญาณเตือนระดับไม่ปกติเกิดแล้วหายไป
ประเภทสัญญาณเตือนลำดับสุดท้าย สามารถถูกเรียกว่า ทรานเชียนต์ หรือ ฟลีตติ้ง (Transient/Fleeting) หมายความว่าสัญญาณเตือนเกิดขึ้นแล้วหายไปก่อนที่จะยืนยันรับทราบ จุดประสงค์ของสัญญาณเตือนคือเตือนหรือแจ้งสถานะเหตุการณ์ต่อผู้ปฏิบัติงานไม่ว่าจะโดย ฮอร์น ,ไฟกระพริบ หรือแม้กระทั้งบนจอแสดงผลคอมพิวเตอร์ ถ้าเกิดสัญญาณเตือนเป็นแบบเสียง (Acoustic Alarm) ระบบควรสามารถให้ผู้ปฏิบัติงานยกเลิกเสียงสัญญาณเตือนได้
แต่ยังคงต้องให้ผู้ปฏิบัติงานต้องทำการยืนยันการเกิดเหตุการณ์ ในกรณีที่สถานีย่อยเป็นสถานีย่อยอันแมน (Unmanned) คือสถานีย่อยที่ไม่มีช่างไฟฟ้าหรือผู้ปฏิบัติงานประจำ สัญญาณเตือนควรสามารถถูกส่งโดยอีเมล์ (E-mail) หรือ เอสเอ็มเอส (SMS: Short Message System) แจ้งผู้ปฏิบัติงานหรือผู้เกี่ยวข้อง แต่ถ้าระบบ SAS มีศูนย์สั่งการ สัญญาณเตือนต้องถูกส่งไปยังศูนย์สั่งการผ่านระบบสื่อสารข้อมูล
รูปที่ 9 สัญญาณเตือนแบบ Fleeting
เพื่อประโยชน์ในการแยกแยะเหตุการณ์ในกรณีที่มีหลายสัญญาณเตือนมาในคราวเดียวกัน ฟังก์ชั่นการแสดงรายการเหตุการณ์หรือสัญญาณเตือนควรมีข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อความสะดวกในการแยกแยะ รูปแบบสัญญาณเตือนมาตรฐานนั้นในแต่ละรายการอย่างน้อยต้องมีเวลา ณ เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้น คำบรรยายรายละเอียดของเหตุการณ์ และสถานะปัจจุบันของสัญญาณเตือน คุณสมบัติเพิ่มเติมของสัญญาณเตือนก็คือ คลาส หรือ กลุ่มของสัญญาณ, ลำดับความสำคัญ ซึ่งเหล่านี้จะเพิ่มความสามารถในการกรองสัญญาณเตือนเพื่อความง่ายในการตรวจสอบในกรณีมีสัญญาณเตือนจำนวนมากเกิดขึ้นพร้อมกัน
รูปที่ 10 การกรองสัญญาณเตือน
ค่าวัดเมเชอริ่งและมิเตอริ่ง (Measuring and Metering)
จุดประสงค์สูงสุดของการดำเนินงานในระบบไฟฟ้า คือ การจ่ายไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพมากที่สุดทั้งในเรื่องพลังงานและค่าใช้จ่าย ข้อมูลเกี่ยวกับค่าอะนาลอกหรือค่าวัด ไม่ใช่แค่แสดงค่าสถานะปัจจุบันของระบบไฟฟ้าเท่านั้น แต่ยังใช้สำหรับเป็นข้อมูลเข้า (Input) สำหรับงานวิเคราะห์การใช้ไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าสำหรับระบบงานบิลลิ่งหรือการคิดค่าใช้พลังงานไฟฟ้า ฟังก์ชั่นในการวัดจำนวนพลังงานไฟฟ้าที่ส่งไปให้ลูกค้า ฟังก์ชั่นนั้นถูกเรียกว่ามิเตอริ่ง
แตกต่างจากเมเชอริ่ง ที่มีจุดประสงค์หลักคือการให้ข้อมูลกับผู้ปฏิบัติงาน สำหรับอุปกรณ์วัดค่าสำหรับมิเตอริ่งเพื่อออกบิลค่าไฟฟ้าจะต้องมีความแม่นยำสูงเพื่อมั่นใจว่าค่าวัดที่ได้ถูกต้องและต้องมีระบบป้องกันการปรับแต่งเพื่อจุดประสงค์ที่ไม่สุจริต อีกหนึ่งอย่างที่สามารถตรวจสอบความถูกต้องของค่าวัดมิเตอริ่งคือการเก็บบันทึกค่ามิเตอริ่งตลอดหนึ่งปีหรือหลายปีและวิเคราะห์ค่าเบี่ยงเบนของการใช้ไฟฟ้า สำหรับการป้องกันการปรับแต่งเครื่องวัดพลังงานไฟฟ้านั้นส่วนใหญ่จะใช้วิธีการซีล แต่เทคโนโลยีใหม่นั้นจะใช้เครื่องวัดพลังงานไฟฟ้าที่เป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์และส่งค่าวัดผ่านระบบสื่อสารหรือเรียกอีกอย่างว่า เอเอ็มอาร์ (AMR: Automatic Meter Reading)
รูปที่ 11 ค่าวัดของแต่ละอุปกรณ์ในรูปแบบซิงเกิลไลน์ไดอะแกรม
รูปที่ 12 ค่าวัดของแต่ละอุปกรณ์ที่ถูกแสดงในรูปกราฟแท่ง
รายการบล็อกกิ้งลิสต์ (Blocking List)
มีหลากหลายสถานการณ์ในระหว่างการปฏิบัติงานที่ต้องระงับหรือหยุดการทำงานบางส่วนหรือบางฟังก์ชั่นหรือแม้กระทั้งการทำงานทั้งหมดของระบบ SAS เช่น
- สำหรับงานบำรุงรักษา บางครั้งจำเป็นต้องหยุดหรือระงับการส่งคำสั่งควบคุมอุปกรณ์ไฟฟ้าเพื่อป้องกันไม่ให้มีการทำงานของอุปกรณ์ไฟฟ้าในขณะที่ช่างไฟฟ้ากำลังทำการบำรุงรักษา
- สำหรับการขัดข้องบางอย่างต้องระงับการส่งสัญญาณไม่ว่าจะเป็นสัญญาณดิจิตอลหรือค่าวัดเพื่อป้องกันการทำงานของระบบอัตโนมัติ หรือ ระงับการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้านั้นทั้งหมด
- สำหรับงานพิมพ์ ถ้าเครื่องพิมพ์ชำรุดอาจจะพิมพ์ผิดพลาด สูญเสียกระดาษและน้ำหมึกพิมพ์โดยเปล่าประโยชน์ ความสามารถในการระงับฟังก์ชั่นการส่งค่าพิมพ์จึงเป็นที่ต้องการอีกอย่างหนึ่ง
- สำหรับงานบำรุงรักษาบางประเภท ต้องระงับฟังก์ชั่นการส่งข้อมูลให้ศูนย์สั่งการ หรือ SCADA เนื่องจากมีข้อมูลส่งให้ศูนย์สั่งการมากเกินไปแบบเปล่าประโยชน์ และอาจจะไปรบกวนระบบอื่นได้อีกด้วย
รูปที่ 13 การบล็อกกิ้งฟังก์ชั่นของเซอร์กิตเบรกเกอร์
ฟังก์ชั่นที่ถูกระงับหรือบล็อกควรถูกแจ้งให้ผู้ปฏิบัติงานหรือผู้เกี่ยวข้องทราบทั้งในรูปแบบตารางสรุป หรือบนตัวซิงเกิลไลน์ของอุปกรณ์ที่ถูกบล็อกนั้น กรณีที่เป็นตารางสรุปรายการฟังก์ชั่น ระบบ SAS ควรสามารถที่จะกรองรายการที่ต้องการได้ สำหรับการบล็อกจากเงื่อนไขกระบวนการทำงาน เช่น การเกิดสัญญาณระดับ SF6 ใน GIS ต่ำ ระบบก็จะทำการบล็อกการทำงานของสวิตช์เกียร์โดยอัตโนมัติ ระบบ SAS ต้องแจ้งการบล็อกนั้นโดยสัญญาณเตือนด้วย
การบันทึกดิสเทอร์บานซ์ (Disturbance Recording)
การบันทึกดิสเทอร์บานซ์จะบันทึกค่าวัดแบบชั่วขณะใดขณะหนึ่งของค่ากระแสไฟฟ้าและแรงดันไฟฟ้าในระบบ เพื่อตรวจสอบความเปลี่ยนแปลงในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ขัดข้องทางไฟฟ้าสำหรับวิเคราะห์ปัญหาในระบบเครือข่ายไฟฟ้า วิธีการคือการบันทึกค่าวัดอะนาลอกในรูปแบบดิจิตอลซึ่งอัตราการบันทึกจะอยู่ในอัตรา 600-20,000 ค่าต่อวินาที ขึ้นอยู่กับความละเอียดที่ระบบต้องการ เนื่องจากความต้องการการตอบสนองที่เร็วรวมทั้งข้อมูลอาจมีปริมาณมาก
ดังนั้นขั้นตอนการบันทึกต้องบันทึกค่าที่ใกล้กับสัญญาณที่ต้องการวัดมากที่สุดหรือรับค่าตรงจาก เอทูดีคอนเวอร์เตอร์ (A/D Converter) ข้อมูลเพิ่มเติมค่าสัญญาณดิจิตอลอินพุตบางครั้งอาจจะถูกบันทึกด้วยเพื่อเป็นจุดอ้างอิงในการวิเคราะห์ระบบไฟฟ้า ค่าอะนาลอกอินพุตและดิจิตอลอินพุตจะถูกสุ่มด้วยอัตราคงที่และถูกบันทึกลงหน่วยความจำชั่วคราวหรือบัฟเฟอร์แบบวงแหวน (Ring Buffer) การบันทึกค่าดิสเทอร์บานซ์นั้นอาจจะถูกตั้งให้ทำงานสอดคล้องกับสัญญาณดิจิตอลอินพุต
ซึ่งอาจเรียกการทำงานนี้ว่าการบันทึกโดยทริกเกอร์ (Trigger) สัญญาณทริกเกอร์อาจจะเป็นคำสั่งปลดหรือทริปของรีเลย์ระบบป้องกัน ค่าที่ได้ถูกบันทึกจะต้องอยู่ในช่วงเหตุการณ์สัญญาณทริกเกอร์และจะถูกแช่แข็ง (Frozen) ไว้ ข้อดีของค่าที่ถูกแช่แข็งคือจะไม่สามารถถูกเขียนทับด้วยค่าสุ่มใหม่กรณีที่บัฟเฟอร์ไม่เพียงพอ ในความเป็นจริงแล้วระบบ SAS มีบัฟเฟอร์สำหรับการบันทึกดิสเทอร์บานซ์หลายชุดซึ่งค่าสุ่มวัดใหม่จะถูกบันทึกในบัฟเฟอร์ตัวอื่น ๆ แต่อย่างไรก็ตามการบันทึกอย่างต่อเนื่องอาจจะทำให้บัฟเฟอร์เต็มทั้งหมดได้ เพื่อการป้องกันข้อมูลบันทึกสูญหายการบันทึกบนไฟล์เป็นวิธีหนึ่งที่ดีไม่ว่าจะบันทึกที่ระดับสถานีหรือระดับศูนย์สั่งการ สำหรับมาตรฐานของการบันทึกข้อมูลดิสเทอร์บานซ์ในรูปไฟล์คือ COMTRADE Format (IEC 60255-24)
การสำรองข้อมูล (Archiving)
การบันทึกปูมเหตุการณ์และดิสเทอร์บานซ์จะถูกสำรองเพื่อเก็บเป็นประวัติการทำงานของระบบสำหรับการวินิจฉัยเหตุการณ์ รวมแม้กระทั้งการวิเคราะห์ในสภาวะการทำงานปกติ เช่น เพื่อวิเคราะห์ประสิทธิภาพของระบบจ่ายไฟฟ้าหรือเพื่อการวางแผน โดยทั่วไปข้อมูลเพื่อการวิเคราะห์จะใช้เนื้อที่ในการจัดเก็บจำนวนมาก ดังนั้นการสำรองข้อมูลจะสำรองแบบทั่วไปไม่ได้ต้องมีการบีบอัดเพื่อเพิ่มโอกาสในการจัดเก็บมากยิ่งขึ้น
สรุป
การเข้าใจในฟังก์ชั่นตรวจสอบและเฝ้าระวังในระบบ SAS สามารถทำช่างไฟฟ้า, วิศวกรไฟฟ้าเข้าถึงข้อมูลของระบบไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยเฉพาะวิศวกรไฟฟ้าที่ต้องวิเคราะห์และแก้ไขความผิดพลาดของระบบ และช่วยให้การออกแบบระบบหรือออกข้อกำหนดคุณสมบัติในการจัดซื้อของระบบ SAS ได้อย่างเหมาะสม ส่งผลให้ระบบ SAS มีประสิทธิภาพสูง ทำงานถูกต้อง และมีค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาต่ำ และในบทความฉบับหน้าจะกล่าวเกี่ยวกับฟังก์ชั่นควบคุมระบบ SAS โดยผ่านคอมพิวเตอร์
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด