ทางโหราศาสตร์ เค้าว่ากันว่าปีนี้เป็นปี วัวไฟ ซึ่งจะเป็นปีแห่งความวุ่นวาย เสียหาย ซึ่งก็ดูเหมือนจะมีเค้ารางแห่งความเป็นจริงเสียด้วย เริ่มจากเหตุไฟไหม้หลังเคาท์ดาวน์ไปเพียงไม่กี่นาที ที่ "ซานติก้า"
แผนงานสุขศาสตร์อุตสาหกรรม (Industrial Hygiene Program) (ตอนที่ 1)
ศิริพร วันฟั่น
ทางโหราศาสตร์ เค้าว่ากันว่าปีนี้เป็นปี ‘วัวไฟ’ ซึ่งจะเป็นปีแห่งความวุ่นวาย เสียหาย ซึ่งก็ดูเหมือนจะมีเค้ารางแห่งความเป็นจริงเสียด้วย เริ่มจากเหตุไฟไหม้หลังเคาท์ดาวน์ไปเพียงไม่กี่นาที ที่ "ซานติก้า" ผับหรู ย่านเอกมัย ตามมาด้วยเหตุเพลิงไหม้รายวัน ทั้งที่อาคารเสือป่าพลาซ่า อู่ซ่อมรถ และโรงงานพลาสติก ทำให้การร่ำลือถึงอาถรรพ์ปีวัวไฟยิ่งกระฉ่อน จนอาจจะลืมความจริงกันไปว่า อุบัติเหตุเหล่านี้ แม้จะไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้
เพราะเป็นเหตุไม่คาดฝัน แต่ก็อาจจะป้องกันไม่ให้เกิดการลุกลามของเพลิง จนก่อให้เกิดการสูญเสียมากมายขนาดนั้น หากมีการติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันอัคคีภัย และสัญญาณเตือน รวมถึงไฟฉุกเฉินอย่างครบถ้วนถูกต้อง ได้แต่หวังว่าเหตุสะเทือนขวัญเหล่านี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นให้หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนผู้ประกอบการทุกท่าน ได้หันมาใส่ใจในเรื่องความปลอดภัยกันอย่างจริง ๆ จัง ๆ เสียที ไม่ใช่แค่เข้มงวดกันเป็นพัก ๆ ตามกระแส แล้วเงียบหายไปกับสายลม และความทรงจำ...เช่นเคย
เอาละ... เรามาเข้าเรื่องของเรากันเสียที ก็อย่างที่จั่วหัวไว้ว่า เราจะพูดกันถึงเรื่อง “สุขศาสตร์อุตสาหกรรม (Industrial Hygiene)” ซึ่งเป็นศาสตร์ในการคาดคะเน (Anticipation) ตระหนัก (Recognition) ประเมิน (Evaluation) และควบคุม (Control) ปัจจัยสิ่งแวดล้อมในการทำงานในสถานที่ปฏิบัติงาน ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ การเจ็บป่วย หรือความไม่สะดวกสบายของผู้ปฏิบัติงาน อันจะส่งผลให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง นอกจากนี้ยังอาจทำให้ผู้ที่อาศัยอยู่ในชุมชนละแวกใกล้เคียงกับโรงงานได้รับผลกระทบจากอันตรายเหล่านั้นตามไปด้วย
ก่อนที่เราจะไปว่ากันต่อถึงรายละเอียดของแผนงานสุขศาสตร์อุตสาหกรรม ลองมาทบทวนความรู้กันสักนิด ว่าสิ่งแวดล้อมในการทำงานคืออะไร และมีความสำคัญอย่างไร ปัจจัยสิ่งแวดล้อมในการทำงานมีกี่ประเภท รวมถึงอันตรายจากปัจจัยสิ่งแวดล้อมในการทำงานนั้นมีอะไรบ้าง
สิ่งแวดล้อมในการทำงาน หมายถึง สิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ล้อมรอบตัวผู้ปฏิบัติงานในขณะทำงานนั่นเอง เช่น เพื่อนร่วมงาน เครื่องจักร เครื่องกล เครื่องมือ และอุปกรณ์ต่าง ๆ อากาศที่หายใจ แสงสว่าง เสียง ความสั่นสะเทือน ความร้อน ความเย็น รังสี ก๊าซ ไอ ฝุ่น ฟูม ละออง และสารเคมีอื่น ๆ ตลอดจนเชื้อโรค รวมถึงสัตว์ต่าง ๆ ด้วย
ปัจจัยสิ่งแวดล้อมในการทำงาน
แบ่งได้เป็น 4 ประเภท คือ
1. ปัจจัยสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ (Physical Environment) เช่น เสียงดัง ความสั่นสะเทือน ความร้อน ความเย็น รังสีที่แตกตัวและไม่แตกตัว คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า แสงสว่าง ความกดดันบรรยากาศ นอกจากนี้ยังรวมถึงเครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์ต่าง ๆ และบริเวณสถานที่ทำงาน เป็นต้น
2. ปัจจัยสิ่งแวดล้อมทางเคมี (Chemical Environment) เช่น สารเคมีชนิดต่าง ๆ ที่ใช้เป็นวัตถุดิบ หรือผลผลิตรวมถึงของเสียที่ต้องกำจัด โดยทั่วไปสารเคมีดังกล่าวอาจจะอยู่ในรูปของก๊าซ ไอ ฝุ่น ฟูม ละออง ควัน หรืออยู่ในรูปของเหลว เช่น ตัวทำละลาย (Solvents) ต่าง ๆ เป็นต้น
3. ปัจจัยสิ่งแวดล้อมทางชีวภาพ (Biological Environment) มีทั้งชนิดที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต ตัวอย่างสิ่งแวดล้อมทางชีวภาพที่มีชีวิต เช่น ไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา พยาธิ แมลงและสัตว์อื่น ๆ เช่น งู เป็นต้น ส่วนตัวอย่างสิ่งแวดล้อมทางชีวภาพที่ไม่มีชีวิต เช่น ฝุ่นหรือละอองของพืชต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงฝุ่นไม้ ฝุ่นฝ้ายและฝุ่นเมล็ดพืชต่าง ๆ เป็นต้น
4. ปัจจัยสิ่งแวดล้อมทางเออร์โกโนมิก (Ergonomics Environment) เช่น การออกแบบเครื่องมือ สถานที่ทำงานหรือวิธีทำงานให้เหมาะสมกับผู้ปฏิบัติงาน งานบางอย่างที่ต้องเร่งรัดกับเวลา การทำงานเป็นผลัด การทำงานที่มีชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน การทำงานที่หนักเกินไป การทำงานที่ซ้ำซากจำเจ การทำงานที่ไม่เหมาะสมกับความสามารถของร่างกายและจิตใจ ตลอดจนอิริยาบถการทำงานที่ไม่เหมาะสม เป็นต้น
ความสำคัญของสิ่งแวดล้อมในการทำงาน
ในสถานที่ทำงานที่แตกต่างกัน ย่อมมีลักษณะของสิ่งแวดล้อมในการทำงานที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับกิจกรรมและงานที่ทำ ในบางครั้งสถานที่ทำงานหรือโรงงานประเภทเดียวกัน ก็อาจจะมีสิ่งแวดล้อมในการทำงานที่แตกต่างกันออกไปได้เช่นกัน โดยบางแห่งอาจจะมีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เหมาะสม แต่บางแห่งอาจจะมีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ไม่เหมาะสม
โดยสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ไม่เหมาะสมนี้ อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ปฏิบัติงานได้ ทั้งในรูปแบบของความเจ็บป่วย หรือโรคจากการทำงาน หรืออาจจะทำให้ได้รับอุบัติเหตุ หรือบาดเจ็บ พิการ ตลอดจนเสียชีวิตได้ และแม้ผู้ปฏิบัติงานที่เจ็บป่วยหรือบาดเจ็บจากการทำงาน จะได้รับการตรวจวินิจฉัย รักษาพยาบาล หรือฟื้นฟูร่างกายให้หายขาดได้ก็ตาม แต่เมื่อบุคคลเหล่านั้นกลับเข้ามาทำงานในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมเช่นเดิมอีก บุคคลเหล่านั้นก็อาจจะได้รับอันตรายทำนองเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วได้อีกอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
อันตรายจากสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เกิดขึ้นนั้น อาจจะมาจากความไม่เหมาะสมของสภาพแวดล้อมในการทำงานชนิดใดชนิดหนึ่ง หรืออาจเป็นผลมาจากการผสมผสานของสภาพแวดล้อมหลายชนิดก็ได้ ในการเกิดอันตรายนั้น ในบางครั้งอาจจะใช้ระยะเวลาก่อตัวไม่นาน แต่บางครั้งอาจจะใช้การสัมผัสหรือเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นเวลาหลายปีจึงจะเกิดอันตรายขึ้นได้ นอกจากนี้ยังอาจขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น ๆ ประกอบกันด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวผู้ปฏิบัติงานเอง ว่ามีพื้นฐานทางด้านสุขภาพพลานามัยที่เหมาะสมเพียงใด
สิ่งแวดล้อมในการทำงานที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ปฏิบัติงานนั้น บางชนิดอาจจะวัดได้ในเชิงปริมาณ เช่น เสียงดัง แสงสว่าง ความร้อน ปริมาณฝุ่น ก๊าซ ไอ เชื้อจุลินทรีย์ เป็นต้น แต่ปัญหาสิ่งแวดล้อมทางเออร์โกโนมิกที่ผู้ปฏิบัติงานเผชิญนั้น ส่วนมากจะวัดในเชิงคุณภาพได้ลำบาก แต่อย่างไรก็ตามในปัจจุบันนี้ก็ได้มีการพัฒนาเพื่อให้มีการวัดปัญหาในเชิงปริมาณเพิ่มมากขึ้น ซึ่งประเทศต่าง ๆ ได้มีการกำหนดมาตรฐานของสิ่งแวดล้อมในการทำงาน เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการชี้บ่งให้ทราบถึงภาวะความเสี่ยงของผู้ปฏิบัติงาน แต่อย่างไรก็ตามมาตรฐานที่กำหนดขึ้นนั้น ก็ยังไม่สามารถครอบคลุมปัญหาได้ทั้งหมด
อันตรายจากปัจจัยสิ่งแวดล้อมในการทำงาน
กล่าวพอเป็นสังเขป ดังนี้คือ
1. อันตรายจากปัจจัยสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ (Physical Hazards)
- เสียงดัง (Noise) มาจากการใช้งานเครื่องจักร เครื่องมือ และอุปกรณ์ต่าง ๆ ในสถานที่ปฏิบัติงาน โดยอาจจำแนกชนิดของเสียงดังได้เป็นประเภทใหญ่ ๆ ดังนี้ คือ เสียงที่ดังอย่างต่อเนื่อง เช่น เลื่อยวงเดือน เสียงพัดลม เครื่องกำเนิดไฟฟ้า เป็นต้น และเสียงกระทบ เช่น เสียงระเบิด เสียงการตอกเสาเข็มในการก่อสร้าง เสียงจากการตีหรือทุบโลหะ เสียงเครื่องย้ำหมุด เป็นต้น
โดยเสียงดังที่เกิดขึ้นในระหว่างการทำงานนั้น อาจมีระดับความดังของเสียงที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งความดังนี้มีหน่วยเป็นเดซิเบล (Decibel = db) ซึ่งถ้าผู้ปฏิบัติงานอยู่ในสิ่งแวดล้อมในการทำงานที่มีเสียงดังเกิน 90 เดซิเบล วันละ 8 ชั่วโมงเป็นเวลานาน จะทำให้ประสาทหูเสื่อมได้ มีข้อสังเกตง่าย ๆ คือ ถ้าหากนั่งคุยกันในโรงงาน โดยมีระยะห่างเพียงเล็กน้อย แต่ก็ยังต้องตะโกนอยู่ ก็แสดงว่าเสียงในโรงงานในขณะนั้นน่าจะเกิน 90 เดซิเบล
อันตรายจากเสียงที่เกิดขึ้นกับผู้ปฏิบัติงาน มีดังนี้ คือ
- ผลเสียทางด้านจิตใจ ทำให้ตกใจ รำคาญ รบกวนการพักผ่อนและการทำงาน เป็นอุปสรรคในการพูดหรือการสื่อความระหว่างผู้ปฏิบัติงาน จนทำให้ทำงานผิดพลาด ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ นอกจากนี้เสียงดังยังทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลงอีกด้วย
- ผลเสียทางด้านร่างกาย ทำให้ปวดแก้วหู ในกรณีที่ได้รับเสียงดังมาก ๆ อาจทำให้สูญเสียการได้ยินทั้งแบบชั่วคราวหรือถาวรได้
- ความสั่นสะเทือน (Vibration) ที่เกิดจากเครื่องมือหรืออุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น เครื่องเจาะหรือตัดหินที่ใช้ในการรื้อถอนอาคารหรือถนนและที่ใช้ในกิจการเหมืองแร่ เป็นต้น ความสั่นสะเทือนนี้ส่วนมากจะก่อให้เกิดอันตรายที่นิ้วมือ เพราะการจับหรือถือเครื่องมือที่มีความสั่นสะเทือนเป็นเวลานาน ๆ จะทำให้การไหลเวียนของเลือดที่จะไปหล่อเลี้ยงที่นิ้วมือไม่เป็นไปตามปกติ ทำให้เกิดโรคที่เรียกว่า “Dead Fingers หรือ White Fingers (Reynaud‘s Phenomenon)” และยิ่งถ้านิ้วมือนั้นสัมผัสกับความเย็นด้วยแล้ว อาการก็จะรุนแรงขึ้น คือ อาจจะมีอาการนิ้วซีดและนิ้วไม่มีความรู้สึกอย่างชั่วคราวและถาวรได้
- ความกดดันบรรยากาศที่ผิดปกติ (Extreme Pressure) แยกได้เป็น 2 ประเภท คือ
1. Hyperbaric คือ สภาวะที่มีความดันสูงกว่าปกติ เช่น การดำน้ำลงไปในที่ที่มีความลึกมาก ๆ ถ้าเกิดความไม่สมดุลของความดันในร่างกาย อาจมีเนื้อเยื่อบางส่วนถูกทำลาย (Barotrauma) จากการขยายตัวหรือหดตัวของช่องว่างที่มีอากาศในร่างกาย (รากฟัน ช่องจมูก ปอดและหู) ซึ่งจะเกิดขึ้นได้จากการเปลี่ยนความดันอย่างรวดเร็ว เช่น ตอนที่ดำน้ำลงไปลึกมาก ๆ หรือดำน้ำกลับขึ้นมาอย่างรวดเร็ว เป็นต้น
2. Decompression Sickness คือ สภาวะที่ร่างกายได้รับความดันสูง ในระหว่างที่ถูกกดด้วยความดันสูงนั้น จะทำให้มีฟองก๊าซไนโตรเจนเข้าไปในระบบหมุนเวียนของเลือดและเนื้อเยื่อ ถ้าฟองก๊าซเข้าไปที่เนื้อเยื่อ ข้อต่อหรือใต้กล้ามเนื้อก็จะทำให้เกิดการเป็นตะคริวอย่างรุนแรงได้
- อุณหภูมิที่ผิดปกติ (Extreme Temperature) แบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ
1. ความเครียดจากความร้อน (Heat Stress) เกิดจากการทำงานในสภาวะแวดล้อมที่มีอุณหภูมิสูง เช่น การหลอมโลหะ การรีด การหลอมแก้ว เป็นต้น โดยเมื่ออุณหภูมิในการทำงานสูงขึ้นร่างกายจะปรับตัวด้วยการเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ แล้วมีผลทำให้อุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้น และเกิดการสูญเสียเหงื่อมากกว่าปกติ จนทำให้เกิดอันตรายได้ เช่น การเป็นลมชักเพราะความร้อน การเป็นตะคริว และการเหนื่อยล้าจากความร้อน เป็นต้น
2. ความเครียดจากความเย็น (Cold Stress) เกิดขึ้นในกรณีที่ร่างกายได้รับความเย็น หรืออยู่ในที่เย็นเป็นเวลานาน ส่งผลให้ร่างกายมีการสูญเสียความร้อน เส้นเลือดจะหดตัวเพื่อรักษาความร้อนเอาไว้ ร่างกายจะสั่นเพื่อเพิ่มอุณหภูมิของร่างกาย ตัวอย่างอันตรายจากความเย็นที่รู้จักกันดี คือ Frostbite ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเนื้อเยื่อของร่างกายได้รับความเย็นจนแข็งและกัดเนื้อเยื่อนั้น
- แสงสว่าง (Illumination) ในสถานที่ปฏิบัติงาน หากมีแสงสว่างพอเหมาะก็จะช่วยทำให้ผู้ปฏิบัติงานทำงานได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูง แต่ในทางตรงกันข้ามถ้าหากแสงสว่างนั้นไม่เหมาะสม ไม่ว่าจะน้อยหรือมากเกินไป ก็อาจจะก่อให้เกิดปัญหาได้ เช่น เมื่อมีแสงสว่างน้อยเกินไปผู้ปฏิบัติงานอาจจะต้องใช้สายตาเพ่งมากกว่าปกติ ซึ่งจะทำให้เกิดอาการปวดศีรษะและดวงตาเมื่อยล้า รวมถึงอาจเป็นสาเหตุของอุบัติเหตุได้ ส่วนกรณีที่แสงสว่างมากเกินไปก็อาจทำให้ตาพร่าได้ เป็นต้น
- รังสี (Radiation) มี 2 ชนิด คือ
1. รังสีชนิดแตกตัว (Ionizing Radiation) เกิดจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เช่น รังสีแอลฟ่า รังสีเบต้า รังสีเอกซ์ รังสีแกมม่า นิวตรอน เป็นต้น ตัวอย่างงานในด้านการแพทย์ ด้านวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมบางประเภทที่มีการใช้รังสีเอกซ์ สามารถก่อให้เกิดอันตรายได้ เนื่องจากรังสีเอกซ์มีอำนาจในการทะลุทะลวงสูงมาก ถ้าหากรังสีนี้กระทบถูกร่างกายผู้ปฏิบัติงานก็จะสามารถทำลายเนื้อเยื่อต่าง ๆ ในร่างกายได้
2. รังสีชนิดไม่แตกตัว (Nonionizing Radiation) เกิดจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าชนิดที่มีความยาวคลื่นกว้างกว่ารังสีชนิดแตกตัว เช่น รังสีเหนือม่วง รังสีใต้แดง ไมโครเวฟ และคลื่นวิทยุ เป็นต้น โดยรังสีเหล่านี้อาจเกิดขึ้นเมื่อมีการเชื่อมประสาน การหลอมโลหะ การหลอมแก้ว การเป่าแก้ว การทำหลอดไฟฟ้า การใช้หลอดรังสีเหนือม่วง การบัดกรี เป็นต้น โดยทั่วไปคลื่นวิทยุจะมีอันตรายค่อนข้างน้อย สำหรับรังสีใต้แดงอาจจะทำให้ผิวหนังไหม้และตาเป็นต้อได้ ส่วนรังสีเหนือม่วงนั้นก็อาจทำให้ผิวหนังแห้ง เหี่ยวย่น และอาจทำให้เกิดอาการเยื่อบุตาอักเสบได้ เป็นต้น
อันตรายของรังสี มี 2 แบบ คือ
- รังสีที่เป็นอันตรายเมื่ออยู่นอกร่างกาย (External Hazard) เช่น รังสีเอกซ์ รังสีแกมม่า และนิวตรอน โดยรังสีชนิดนี้สามารถทะลุทะลวงได้ไกล ซึ่งจะเกิดการ Ionization ขณะผ่านเข้าไปในร่างกายผู้ปฏิบัติงาน
- รังสีที่เป็นอันตรายเมื่ออยู่ในร่างกาย (Internal Hazard) เช่น รังสีแอลฟ่า โดยรังสีแอลฟ่าจะทำให้เกิดการ Ionization ของเนื้อเยื่อในปอด ท้อง เป็นต้น แผลเปิดที่ไม่มีผนังกั้นเมื่อได้รับรังสีก็จะทำให้เนื้อเยื่อบริเวณนั้นถูกทำลาย ส่วนรังสีเบต้าเป็นอันตรายได้ทั้งภายนอกและภายในร่างกาย เพราะว่าเมื่อรังสีเบต้าอยู่นอกร่างกายจะทำให้ผิวหนังไหม้ได้เมื่อสัมผัสผิวหนัง
2. อันตรายจากปัจจัยสิ่งแวดล้อมทางเคมี (Chemical Hazards)
อันตรายของสารเคมีทั้งหลาย โดยทั่วไปจะมากจะน้อยขึ้นอยู่กับปัจจัยหลัก 4 ประการ คือ
- ปัจจัยด้านสมบัติของสารเคมี เช่น องค์ประกอบของสารเคมี ลักษณะทางกายภาพของสารเคมี
- ปัจจัยด้านการได้รับหรือเกี่ยวข้องกับสารเคมี เช่น ปริมาณที่เข้าสู่ร่างกาย ระยะเวลาที่ได้รับการดูดซึม
- ปัจจัยด้านบุคคล เช่น กรรมพันธุ์ เพศ อายุ ภาวะโภชนาการ
- ปัจจัยด้านสภาวะแวดล้อมต่าง ๆ เช่น อุณหภูมิ ความชื้น ความกดดันบรรยากาศ
สารเคมีในสถานที่ปฏิบัติงานไม่ว่าจะเป็นในโรงงานอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมในครัวเรือน เกษตรกรรม เหมืองแร่ และกิจการอื่น ๆ โดยทั่วไปแล้วจะมีโอกาสเข้าสู่ร่างกายผู้ปฏิบัติงานได้ 3 ทาง ดังนี้ คือ
- การสูดดม (Inhalation) โดยการหายใจเอาสารเคมีในรูปของก๊าซ ไอฝุ่น ควัน ละออง เข้าไปในระบบทางเดินหายใจ
- การดูดซึมทางผิวหนัง (Skin) โดยสารเคมีบางชนิดสามารถซึมผ่านผิวหนังปกติได้ และบางชนิดอาจจะเข้าสู่ร่างกายเมื่อผิวหนังมีบาดแผลหรือถลอก
- การกิน (Ingestion) โดยสารเคมีที่เข้าสู่ร่างกายทางปากมักเกิดจากการกินเข้าไปโดยไม่ได้ตั้งใจ เช่น กรณีที่ผู้ปฏิบัติงานนำมือที่เปื้อนสารเคมีแล้วไปหยิบจับอาหาร ขนม โดยไม่ได้ล้างมือให้สะอาดเสียก่อน หรือฝุ่นสารเคมีอาจฟุ้งกระจายและลอยไปติดริมฝีปากของผู้ปฏิบัติงานในขณะทำงาน เป็นต้น
อันตรายของสารเคมี โดยทั่วไปสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ
กลุ่มที่ 1 อันตรายของก๊าซและไอ แบ่งเป็น 4 กลุ่มย่อย คือ สารที่ทำให้หมดสติ เช่น ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ และไฮโดรเจนไซยาไนด์ เป็นต้น
สารที่ทำให้เกิดการระคายเคือง เช่น แอมโมเนีย ฟอร์มัลดีไฮด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ไนโตรเจนไดออกไซด์ เป็นต้น
สารที่มีพิษต่อระบบของร่างกาย เช่น เบนซิน คาร์บอนเตตระคลอไรด์ เป็นต้น
สารที่ก่อมะเร็ง (Carcinogen) เช่น เบนซิน มิกเกิลคาร์บอนบอนิล
กลุ่มที่ 2 อันตรายของอนุภาค ได้แก่
- ฝุ่นหรือฟูมที่เป็นพิษ เช่น ตะกั่ว แมงกานีส แคดเมียม เป็นต้น
- ฝุ่นที่ทำให้เกิดโรคปอดฝุ่น เช่น ฝุ่นใยหิน (Asbestos) ฝุ่นหิน ถ่านหิน เป็นต้น
- ฝุ่นสารก่อมะเร็ง เช่น ฝุ่นใยหิน โครเมต ยูเรเนียม เป็นต้น
- ละอองพิษ เช่น กรดโครมิก และสารปราบศัตรูพืช เป็นต้น
กลุ่มที่ 3 อันตรายของสารเคมีที่เป็นของเหลว ที่จัดว่าเป็นประเด็นสำคัญ คือ ตัวทำละลาย (Solvents) ต่าง ๆ ซึ่งอาจจะรวมถึงน้ำมันเชื้อเพลิง ยางสน แอลกอฮอล์ และสารสังเคราะห์บางชนิด เป็นต้น
โดยระดับความรุนแรงของตัวทำละลายนั้น จะก่อให้เกิดปัญหาต่ออวัยวะและระบบของร่างกาย เช่น อาจเป็นอันตรายต่อตับหรือกดระบบประสาทส่วนกลาง เป็นต้น
นอกจากนี้แล้วสารเคมีชนิดนี้ยังอาจเป็นอันตรายต่อผิวหนังได้ คือทำให้เกิดการระคายเคือง ทำให้ผิวหนังบวมแดง และยังจะทำให้ผิวหนังเกิดการแพ้สารเคมีอย่างรุนแรง เป็นต้น
โดยอันตรายจากปัจจัยสิ่งแวดล้อมทางเคมีนั้น ไม่ว่าจะเป็นผลจากการสัมผัสในรูปของก๊าซ ไอ ฝุ่น ควัน ละออง ฟูม หรือของเหลว อาจจะทำให้เกิดอันตรายได้ทั้งแบบเฉียบพลันหรือเรื้อรังได้ ขึ้นอยู่กับปริมาณ ความเข้มข้น และระยะเวลาในการสัมผัสสารนั้น ๆ
3. อันตรายจากปัจจัยสิ่งแวดล้อมทางชีวภาพ (Biological Hazards)
โดยอันตรายที่เกิดขึ้นนั้นอาจเนื่องมาจากสาเหตุต่าง ๆ ดังนี้ คือ
- ติดเชื้อโรคต่าง ๆ อันเนื่องมาจากการสัมผัสกับสิ่งที่ก่อให้เกิดโรค เช่น สัตว์ หนังสัตว์ ขนสัตว์ ฟางข้าว ชานอ้อยที่มีเชื้อโรคหรือจุลินทรีย์ เป็นต้น
- เป็นโรคพยาธิ จากการทำงานที่เกี่ยวข้องกับแหล่งของโปรโตซัว หนอนพยาธิ ส่วนแมลงนำโรคนั้น ส่วนมากจะทำให้เกิดความผิดปกติขึ้นที่ผิวหนัง
- ระคายเคือง หรือเป็นภูมิแพ้จากการทำงานใกล้ชิดกับพืชและสัตว์บางชนิด โดยอันตรายที่เกิดขึ้นนั้นจะมีสาเหตุมาจากฝุ่น เช่น ขนและเกล็ดของแมลง มูลสัตว์ ขี้เลื่อย เกสรดอกไม้ สปอร์ของเชื้อรา และยังรวมถึงฝุ่นเส้นใยพืช เช่น ฝ้าย ชานอ้อย ป่าน ปอ หรือเมล็ดพืช เป็นต้น
- การถูกสัตว์กัดในระหว่างทำงาน เช่น งูพิษ หรือแมลงต่อย เป็นต้น
4. อันตรายจากปัจจัยทางเออร์โกโนมิก (Ergonomics Hazards)
แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้ คือ
- เกิดความเครียดหรือรู้สึกเบื่อหน่ายต่องาน โดยทั่วไปจะเกิดจากความต้องการขั้นพื้นฐานของการทำงานที่ไม่ได้รับการตอบสนองอย่างเหมาะสม เช่น ค่าจ้างต่ำ การปกครองอย่างไม่มีมนุษยสัมพันธ์ของหัวหน้างาน บรรยากาศการทำงานที่ตึงเครียด การเกิดความรู้สึกว่าตนเองไม่มีความสำคัญในงาน การขาดความเข้าใจและความรักใคร่ในกลุ่มผู้ร่วมงาน การทำงานที่ซ้ำซากจำเจ การทำงานอยู่คนเดียวในห้องโดยไม่มีโอกาสติดต่อกับเพื่อนร่วมงาน
และการนำระบบการทำงานแบบอัตโนมัติบางชนิดมาใช้ ทำให้ผู้ปฏิบัติงานรู้สึกมีความสำคัญน้อยลง เป็นต้น ปัญหานี้ก่อให้เกิดผลเสียตามมา เช่น ทำให้ผู้ปฏิบัติงานเป็นโรคประสาท ติดสุราและสารเสพติด เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการทำงาน เป็นต้น
- เกิดความกดดันจากสภาพงานที่ไม่เหมาะสม เช่น การทำงานเป็นผลัดหรือเป็นกะที่นอกเหนือจากเวลาปกติ ถ้าผู้ปฏิบัติงานคนใดไม่สามารถปรับตัวได้ ในที่สุดก็จะเกิดความกดดันอันก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบกลไกการทำงานของร่างกาย เกิดปัญหาสุขภาพเสื่อมโทรม ซึ่งอาจทำให้เป็นโรคกระเพาะอาหาร โรคหัวใจ และเกิดปัญหาในระบบไหลเวียนโลหิต ันต่อระบบกลไกของร่างกาย เกิดปัญหาสุขภาพเสื่อมโทรมซึ่งอยิ่งไปกว่านั้น เมื่อต้องอดหลับอดนอนมาก ๆ ก็อาจทำให้อารมณ์เสีย หงุดหงิด จนกลายเป็นโรคประสาทได้
- เกิดอุบัติเหตุจากปัญหาจิตวิทยาสังคม เช่น งานบางอย่างที่มีความซ้ำซากจำเจและต้องเร่งรีบ เช่น การประกอบชิ้นส่วนผลิตภัณฑ์บางชนิด นอกจากจะทำให้เกิดการเบื่อหน่ายแล้ว อาจจะทำให้เกิดการผิดพลาดขึ้นได้ ซึ่งอาจหมายถึงการเกิดอุบัติเหตุนั่นเอง นอกจากนี้ผู้ปฏิบัติงานบางคนอาจต้องมีภาระความรับผิดชอบต่อครอบครัวมาก และประกอบกับรายได้ที่ไม่พอกับรายจ่าย อาจส่งผลให้ต้องดิ้นรนทำงานให้มากขึ้นโดยการทำงานล่วงเวลา แต่บางครั้งร่างกายรับไม่ได้ก็อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้เช่นเดียวกัน
- เกิดการเจ็บป่วยจากอิริยาบถในการทำงานที่ไม่เหมาะสม เช่น พนักงานพิมพ์ข้อมูลคอมพิวเตอร์ ที่อาจมีการจัดวางอุปกรณ์การทำงานอยู่ในตำแหน่งหรือระยะห่างที่ไม่เหมาะสม เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ที่อาจสูงหรือต่ำจนเกินไป และการพิมพ์งานที่เร่งรีบติดต่อกันวันละหลาย ๆ ชั่วโมง ไม่มีเวลาหยุดพักอย่างเหมาะสม ทำให้เป็นโรคนิ้วแข็งเหยียดนิ้วลำบาก และมีอาการปวดเจ็บที่ท้องแขนเมื่อใช้นิ้วกด เป็นต้น
ตัวอย่างความสัมพันธ์ระหว่างอาชีพและอันตรายจากปัจจัยสิ่งแวดล้อมในการทำงาน
ความสำคัญของสุขศาสตร์อุตสาหกรรม
ผู้ปฏิบัติงานที่ทำงานในสถานที่ทำงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงงานอุตสาหกรรม สถานที่ก่อสร้าง หรือแม้แต่ในสำนักงาน ย่อมมีโอกาสที่ต้องสัมผัสหรือเกี่ยวข้องหรืออยู่ภายใต้สภาวะใดสภาวะหนึ่ง ที่อาจทำให้ผู้ปฏิบัติงานนั้นต้องอยู่ในสภาวะเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายในระดับต่าง ๆ กัน ไล่ตั้งแต่มีอันตรายหรือมีความรุนแรงเพียงเล็กน้อยไปจนถึงมีอันตรายหรือมีความร้ายแรงมาก
โดยอันตรายเหล่านั้นบางส่วนอาจสังเกตเห็นหรือรู้สึกได้ แต่ก็ยังมีอันตรายบางอย่างผู้ที่เกี่ยวข้องหรือสัมผัสอาจจะไม่ทันสังเกตเห็น ไม่รู้สึก หรือไม่ทราบเลยก็เป็นไปได้ ซึ่งอันตรายต่าง ๆ ที่ผู้ปฏิบัติงานสัมผัสอาจจะมาจากเครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์ ความร้อน ความเย็น รังสี ความสั่นสะเทือน แสงสว่าง อิริยาบถในการทำงาน วิธีการทำงาน เชื้อโรคต่าง ๆ ฝุ่นละออง สารเคมีในรูปต่าง ๆ ทั้งที่เป็นของเหลว ของแข็ง ไอ และละออง เป็นต้น
จากอดีตจนถึงปัจจุบัน วิทยาการทางด้านสุขศาสตร์อุตสาหกรรมได้รับการพัฒนาก้าวหน้ามากขึ้นเป็นลำดับ ทำให้นักวิชาการสาขานี้ได้มีการพัฒนาเครื่องมือ อุปกรณ์ และวิธีการ ตลอดจนวิชาความรู้ซึ่งทำให้สามารถที่จะทราบต้นเหตุแห่งปัญหาต่าง ๆ ได้ ตลอดจนสามารถที่จะวิเคราะห์และประเมินระดับปัญหาดังกล่าวได้ ว่าอยู่ในระดับที่ปลอดภัยหรือต้องดำเนินการป้องกัน แก้ไขและควบคุมปัญหาต่าง ๆ
เหล่านั้น โดยผู้ที่รับผิดชอบไม่ว่าจะเป็นผู้ชำนาญการ หรือผู้ประกอบวิชาชีพทางด้านสุขศาสตร์อุตสาหกรรม ที่เข้ามาดูแลงานทางด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อมให้กับสถานประกอบการนั้น จะใช้ทั้งหลักการและวิทยาการของสุขศาสตร์อุตสาหกรรมในการปรับปรุงสภาพการทำงานให้เป็นสถานที่ที่ปลอดภัยแก่ผู้ปฏิบัติงาน และเสริมสร้างประสิทธิภาพในการผลิตไปพร้อม ๆ กันด้วย
กล่าวโดยรวมได้ว่า สุขศาสตร์อุตสาหกรรมจะครอบคลุมการดำเนินงานในด้านการตระหนักหรือค้นหาปัญหา ประเมินระดับของปัญหา และควบคุมป้องกันปัญหาสิ่งแวดล้อมในการทำงาน ดังนี้ คือ
- การตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมในการทำงาน (Recognition) เป็นการตระหนักหรือค้นหาอันตรายจากปัจจัยสิ่งแวดล้อมในการทำงานที่เป็นปัญหาคุกคามต่อสุขภาพอนามัย การทำให้ร่างกายเสื่อมเร็วกว่าปกติ หรือเป็นสาเหตุของความรู้สึกไม่สบายและทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง
- การประเมินระดับปัญหาสิ่งแวดล้อมในการทำงาน (Evaluation) เป็นการประเมินระดับปัญหาปัจจัยสิ่งแวดล้อมในการทำงานที่อาจคุกคามต่อสุขภาพอนามัย ซึ่งเกิดขึ้นในหรือจากสถานที่ปฏิบัติงาน โดยใช้ความรู้ ประสบการณ์ ในการตรวจวัดและวิเคราะห์ระดับปัญหาสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมทางเคมี ทางกายภาพ ทางเออร์โกโนมิก หรือทางชีวภาพ ซึ่งผลจากการประเมินนั้น จะทำให้ทราบถึงระดับความปลอดภัยของสิ่งแวดล้อมนั้นว่า มีความปลอดภัยมากน้อยเพียงใด หรืออาจจะมีอันตรายในระยะสั้นหรือระยะยาว
- การควบคุมป้องกันปัญหาสิ่งแวดล้อมในการทำงาน (Control) เป็นการดำเนินมาตรการป้องกันหรือแก้ไข เพื่อลดอันตรายต่อสุขภาพของผู้ปฏิบัติงานลงให้เหลือน้อยที่สุด การควบคุมป้องกันอาจรวมถึง การลดจำนวนผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับปัญหาลงละวิเคราะห์ระดับสารเคมีในอากาศ ระดับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพสภาวะกว่าปกติ หรือเป็นสาเ
การเปลี่ยนมาใช้สารที่มีอันตรายน้อยกว่า การเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิตเพื่อขจัด หรือลดการสัมผัสสิ่งที่เป็นอันตรายให้น้อยลง การติดตั้งระบบระบายอากาศ การดูแลความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อย และการจัดหาอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล เป็นต้น
บทบาทและหน้าที่ความรับผิดชอบของนักสุขศาสตร์อุตสาหกรรม (Industrial Hygienists)
เป็นนักอาชีวอนามัยระดับวิชาชีพซึ่งมีหน้าที่หลักในการควบคุมปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม หรืออันตรายต่อสุขภาพที่เกิดจากการทำงานหรือเป็นผลจากการทำงาน โดยนักสุขศาสตร์อุตสาหกรรมจะได้รับการฝึกอบรมและเรียนรู้ ทั้งทางภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติในด้านต่าง ๆ เช่น วิศวกรรม ฟิสิกส์ เคมี การแพทย์ วิทยาศาสตร์ สิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยและชีววิทยา เพื่อให้มีความรู้เกี่ยวกับผลของสิ่งแวดล้อมทางเคมี กายภาพ ชีวภาพ และเออร์โกโนมิกที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ปฏิบัติงาน
โดยนักสุขศาสตร์อุตสาหกรรมจะมีบทบาทสำคัญในการดำเนินงาน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าสถานที่ปฏิบัติงานนั้น ๆ จะปราศจากอันตรายที่คุกคามต่อสุขภาพ หรือลดอันตรายให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และผู้ปฏิบัติงาน รวมถึงผู้ที่อาศัยอยู่ในชุมชนใกล้เคียงกับโรงงาน จะได้รับการป้องกันอันตรายเช่นเดียวกันด้วย ซึ่งนักสุขศาสตร์อุตสาหกรรมควรที่จะดำเนินงานในเชิงรุก
กล่าวคือ มีการทำงานร่วมกับคณะทำงานทางด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ในการคาดคะเนปัญหาที่อาจเกิดขึ้น และดำเนินการป้องกันให้ได้ก่อนที่เหตุการณ์จะเกิดขึ้น แทนที่จะคอยตามแก้ไขปัญหาหลังเกิดเหตุการณ์ขึ้นแล้ว โดยนักสุขศาสตร์อุตสาหกรรมจะใช้ทั้งศาสตร์ (Science) ในการคาดคะเน ตระหนัก ประเมิน และควบคุมอันตราย และศิลป์ (Art) สำหรับกระบวนการตัดสินใจ สร้างสรรค์ ปฏิสัมพันธ์ และสื่อสารกับผู้ปฏิบัติงานด้วย
นอกจากนี้ยังต้องมีการเฝ้าตรวจติดตามสภาวะแวดล้อมในการทำงาน และใช้เทคนิคการวิเคราะห์อย่างถูกต้อง ในการตรวจจับขอบเขตของการสัมผัสของผู้ปฏิบัติงาน รวมถึงเลือกใช้มาตรการควบคุมเชิงวิศวกรรม การบริหาร และมาตรการอื่น ๆ ที่เหมาะสม เข้ามาควบคุมอันตรายต่าง ๆ ที่อาจจะคุกคามต่อสุขภาพของผู้ปฏิบัติงาน
กล่าวโดยสรุป บทบาทและหน้าที่ความรับผิดชอบของนักสุขศาสตร์อุตสาหกรรมนั้น จะยึดหลักการทำงาน 3 ประการ คือ
1. ทำการสำรวจสถานที่ปฏิบัติงาน เพื่อเป็นการตระหนักหรือค้นหาอันตรายที่อาจเกิดจากสภาพแวดล้อมในการทำงานภายในสถานที่ปฏิบัติงานนั้น ๆ
2. ทำการประเมินอันตรายต่าง ๆ ที่พบจากการสำรวจ โดยอาจใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ด้านสุขศาสตร์อุตสาหกรรมมาประกอบการทำงาน เช่น อุปกรณ์ตรวจวัดระดับเสียง อุปกรณ์ตรวจวัดดัชนีความร้อน อุปกรณ์ตรวจวัดแสงสว่าง อุปกรณ์เก็บตัวอย่างอากาศ หรือวิเคราะห์หาปริมาณสารเคมีต่าง ๆ เป็นต้น
3. เมื่อทราบถึงระดับอันตรายต่าง ๆ จากการประเมินแล้ว ลำดับขั้นตอนถัดไป ก็จะพยายามจัดให้มีมาตรการควบคุมและป้องกัน หรือปรับปรุงสิ่งแวดล้อมในการทำงานที่ไม่เหมาะสมนั้นให้ดีขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น จัดให้มีระบบการระบายอากาศที่เหมาะสม ปรับปรุงและติดตั้งอุปกรณ์ หรือวัสดุดูดซับเสียงรอบ ๆ เครื่องจักรที่มีเสียงดัง และการจัดสวัสดิการทางด้านสุขาภิบาลที่เหมาะสม เป็นต้น
หลังจากนั้นก็จะมีการตรวจตราและเฝ้าระวังทางด้านสุขศาสตร์อุตสาหกรรมเป็นระยะ ๆ เพื่อจะได้ทราบถึงความผิดปกติของสิ่งแวดล้อมในการทำงานและหาทางปรับปรุงแก้ไข ทั้งยังต้องให้ความรู้หรือจัดการฝึกอบรมให้แก่ผู้ปฏิบัติงานหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการศึกษาวิจัยทางวิชาการโรคระบาด เพื่อให้ทราบถึงปัญหาโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดขึ้น และความเกี่ยวพันกับลักษณะงานที่ทำ เป็นต้น
หน่วยงานทางด้านสุขศาสตร์อุตสาหกรรมของต่างประเทศ ที่เราควรรู้จัก ได้แก่
1. American Conference of Government Industrial Hygienists (ACGIH) ตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1938 โดยกลุ่มนักสุขศาสตร์อุตสาหกรรมที่ทำงานในภาครัฐ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ที่ประชุมนี้เป็นตัวกลางสำหรับดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ดังนี้
- แลกเปลี่ยนประสบการณ์และความคิดเห็นทางด้านสุขศาสตร์อุตสาหกรรม
- ปรับมาตรฐานและเทคนิคในการดูแลสุขภาพของคนงานในโรงงานอุตสาหกรรม
- พัฒนาระบบบริหารจัดการเพื่อปกป้องสุขภาพอนามัยของผู้ปฏิบัติงาน
ACGIH ถือว่าเป็นหน่วยงานที่ส่งผลอย่างมาก ต่อการปรับปรุงการให้บริการทางด้านสุขภาพอนามัยของผู้ปฏิบัติงานในอุตสาหกรรม คณะกรรมการทางด้าน Industrial Ventilation และ Threshold Limit Value (TLV) ของ ACGIH มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันทั่วโลก โดยทำหน้าที่กำหนดค่า TLV และมีการปรับค่าเหล่านี้ทุกปีเพื่อความเหมาะสม
2. Occupational Safety and Health Administration (OSHA) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1971 เป็นหน่วยงานที่อยู่ในกระทรวงแรงงานของสหรัฐอเมริกา (U.S. Department of Labor) ซึ่ง OSHA มีหน้าที่ตามพระราชบัญญัติความปลอดภัยและอาชีวอนามัย (OSHAct) ซึ่งกำหนดให้มีสถาบันความปลอดภัยและอาชีวอนามัยแห่งชาติ (National Institute for Occupational Safety and Health: NIOSH) อยู่ในสำนักควบคุมโรค (Centers for Disease Control: CDC) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่อยู่ในสังกัดงานบริการสาธารณสุขของสหรัฐอเมริกา (U.S. Public Health Service)
OSHA มีหน้าที่หลักดังต่อไปนี้
- ออกกฎหมาย มาตรฐาน ทางด้านสุขภาพอนามัยและความปลอดภัย โดยได้รับข้อมูลทางด้านเทคนิคจาก NIOSH โดยที่มาตรฐานของ OSHA เรียกว่า Permissible Exposure Limits (PELs)
- มีอำนาจที่จะเข้าทำการสำรวจสถานที่ปฏิบัติงานว่าเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ โดยสามารถสัมภาษณ์ลูกจ้างในระหว่างการสำรวจได้
- ลูกจ้างหรือตัวแทนลูกจ้างสามารถที่จะแจ้งเหตุการณ์ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางกฎหมายได้
- มีอำนาจในการตรวจสอบ สืบค้น สอบสวนและเสนอมาตรการลงโทษได้
- กำหนดให้นายจ้างต้องเก็บข้อมูลระดับสารเคมีอันตรายในสถานที่ปฏิบัติงาน และแจ้งผลให้ผู้ปฏิบัติงานได้รับทราบตามความเป็นจริงด้วย
3. The National Institute for Occupational Safety and Health (NIOSH) โดย OSHAct กำหนดให้ NIOSH มีหน้าที่ดังนี้ คือ
- ทำการศึกษาวิจัยทางด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย
- ทำหน้าที่ในการตรวจสอบอันตรายทางด้านต่าง ๆ และให้คำแนะนำในการออกข้อกำหนดกฎหมาย
- พัฒนามาตรการเกี่ยวกับการใช้สารพิษและระดับของสารเคมีที่ปลอดภัยต่อผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งระดับของสารที่เสนอแนะโดย NIOSH เรียกว่า Recommended Exposure Limits (RELs)
- มีหน้าที่ในการทดสอบและออกใบรับรองอุปกรณ์ป้องกันระบบทางเดินหายใจ (Respiratory Protective Equipment)
นอกจากนี้ NIOSH ยังเป็นศูนย์การศึกษา (Educational Resource Centers: ERCs) ซึ่งจัดฝึกอบรมให้กับแพทย์อาชีวอนามัย พยาบาลอาชีวอนามัย นักสุขศาสตร์อุตสาหกรรม เจ้าหน้าที่ความปลอดภัย นักเออร์โกโนมิก และบุคลากรอื่น ๆ ที่อยู่ในสายงานด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยอีกด้วย
แผนงานสุขศาสตร์อุตสาหกรรม (Industrial Hygiene Program)
วัตถุประสงค์หลักของแผนงานสุขศาสตร์อุตสาหกรรม ก็คือ การป้องกันอันตรายที่คุกคามต่อสุขภาพและอุบัติเหตุจากการทำงาน โดยอาศัยทักษะในการตระหนัก (Recognition) ประเมิน (Evaluation) และควบคุม (Control) อันตรายในสถานที่ปฏิบัติงาน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการทำงาน และทำให้สถานที่ปฏิบัติงานมีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดีและเหมาะสม ซึ่งจะส่งผลดีและเป็นประโยชน์ร่วมกันทั้งต่อนายจ้างและลูกจ้าง รวมถึงเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและความสามารถในการผลิตอีกด้วย
โดยการนำแผนงานสุขศาสตร์อุตสาหกรรมไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น จะขึ้นอยู่กับหลาย ๆ ปัจจัย เช่น การตัดสินใจของผู้บริหารระดับสูง การมีส่วนร่วมของผู้ที่เกี่ยวข้อง ความสามารถของบุคลากร งบประมาณ การจัดลำดับความสำคัญของปัญหา เป็นต้น นอกจากนี้ แผนงานสุขศาสตร์อุตสาหกรรมนั้น ก็ไม่มีรูปแบบที่กำหนดแน่นอนตายตัวลงไป ทั้งนี้เนื่องจากลักษณะเฉพาะของแต่ละสถานที่ปฏิบัติงาน
ซึ่งจะมีความแตกต่างกันออกไป และยังต้องคำนึงถึงตัวแปรอื่น ๆ ประกอบกันด้วย เช่น ชนิดและขนาดขององค์กร ปรัชญาด้านการบริหาร อันตรายในสถานที่ปฏิบัติงาน และบุคลากรที่รับผิดชอบแผนงาน เป็นต้น ดังนั้นจึงสามารถพิจารณาปรับแผนงานให้เหมาะสมกับปัจจัยต่าง ๆ ข้างต้นได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นแล้ว สุดท้ายก็ต้องมุ่งไปที่จุดหมายปลายทางเดียวกัน นั่นคือ การป้องกันอันตรายที่คุกคามต่อสุขภาพ รวมถึงอุบัติเหตุจากการทำงาน
ซึ่งถือเป็นวัตถุประสงค์หลักของแผนงานสุขศาสตร์อุตสาหกรรมนั่นเอง โดยแต่ละสถานประกอบการควรให้ความสำคัญกับแผนงานสุขศาสตร์อุตสาหกรรม และบรรจุแผนงานนี้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อมขององค์กรด้วย
ประโยชน์ที่ได้จากแผนงานสุขศาสตร์อุตสาหกรรม
1. ทำให้ผู้ปฏิบัติงานได้รับการคุ้มครองและปกป้องอันตรายทุกชนิด จากการประกอบอาชีพ หรือจากสภาพแวดล้อมในสถานที่ปฏิบัติงาน
2. ผลผลิตโดยทั่วไปจะเพิ่มขึ้นเมื่อมีการปรับปรุงสถานที่ปฏิบัติงานให้ดีขึ้น ซึ่งสิ่งแวดล้อมในการทำงานที่ดีขึ้นจะช่วยลดเวลาที่เสียไปจากการเจ็บป่วย อุบัติเหตุ การขาดงาน และสร้างเสริมสัมพันธภาพอันดีระหว่างเพื่อนร่วมงาน
3. การจ่ายค่าทดแทนจากการบาดเจ็บหรือการเจ็บป่วยลดลง ทำให้สามารถลดค่าเบี้ยประกันสุขภาพ และค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการเก็บบันทึกรายการ
4. ลดต้นทุนการผลิต โดยอาศัยการคาดคะเนและการควบคุมอันตรายจากการทำงาน ในระหว่างการออกแบบโครงการใหม่ ๆ
5. มีสถานที่ปฏิบัติงานที่ถูกต้อง เหมาะสม เป็นไปตามข้อกำหนดทางด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย
6. เป็นแหล่งข้อมูลทางด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย เพื่อใช้ในการฝึกอบรมผู้ปฏิบัติงาน
7. เป็นการเฝ้าระวังสุขภาพพลานามัยของผู้ปฏิบัติงาน โดยการประเมินสถานะทางสุขภาพของผู้ปฏิบัติงานว่าเกี่ยวข้องกับอันตรายที่เกิดขึ้นจากการทำงานหรือไม่
(โปรดติดตามอ่านตอนต่อไปได้ในฉบับหน้า)
เอกสารอ้างอิง
* Big Issues Keep Industrial Hygienists Focused on the Big Picture; Bob Durstenfeld, Feb.2008
* Industrial Hygiene; U.S.Department of Labor Occupational Safety & Health Administration 2007
* Don’ t Overlook Industrial Hygiene; Bruce K.Lyon, Sep.2005
* สุขศาสตร์อุตสาหกรรม โดย ดร.พรพิมล ทองทิพย์ ภาควิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
* สุขศาสตร์อุตสาหกรรมและสิ่งแวดล้อม โดยสมาคมส่งเสริมความปลอดภัยและอนามัยในการทำงาน (ประเทศไทย)
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด