เนื้อหาวันที่ : 2013-04-29 10:57:53 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 16871 views

แผนการบริหารงานความปลอดภัยในกระบวนการ

ในตอนที่ 2 เราได้กล่าวถึงองค์ประกอบที่ 4–10 ของแผนการบริหารความปลอดภัยในกระบวนการ

แผนการบริหารงานความปลอดภัยในกระบวนการ
(Process Safety Management Program: PSM) (ตอนจบ)
ศิริพร วันฟั่น

             ในตอนที่ 2 เราได้กล่าวถึงองค์ประกอบที่ 4–10 ของแผนการบริหารความปลอดภัยในกระบวนการ (PSM) อันได้แก่ ขั้นตอนปฏิบัติการ (Operating Procedures) การฝึกอบรม (Training) ผู้รับเหมา (Contractors) การทบทวนความปลอดภัยก่อนเริ่มกระบวนการ (Pre–Startup Safety Review: PSSR) ความเที่ยงตรงของกลไกการทำงาน (Mechanical Integrity) งานที่เกี่ยวข้องกับความร้อน (Hot Work) และการบริหารความเปลี่ยนแปลง (Management of Change: MOC) ดังนั้นในตอนจบนี้ จะขอกล่าวถึงองค์ประกอบที่เหลือของแผนงานฯ ตามลำดับ ดังนี้คือ

 
11. การสอบสวนอุบัติการณ์ (Incident Investigation)

             ส่วนสำคัญยิ่งอีกประการหนึ่งของแผนงานฯ ที่จะขาดเสียไม่ได้เลยก็คือ การสอบสวนอุบัติการณ์อย่างละเอียดถี่ถ้วน ซึ่งเป็นกระบวนการไล่เลียงลำดับเหตุการณ์และชี้บ่งถึงสาเหตุมูลฐาน (Underlying Causes) เพื่อหามาตรการแก้ไข และป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำขึ้นอีก ซึ่งเจตจำนงหนึ่งของการสอบสวนอุบัติการณ์ก็เป็นไปเพื่อการเรียนรู้ของทีมงานฯ จากประสบการณ์ที่ผ่านมา หลีกเลี่ยงการเกิดข้อผิดพลาดซ้ำซาก และทำให้ทีมงานฯ มีการเตรียมความพร้อมสำหรับการสอบสวนอุบัติการณ์มากยิ่งขึ้น

 
อุบัติการณ์ (Incidents) คือเหตุการณ์ (Events) ที่เกิดขึ้นแล้ว ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุ หรือมีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ ซึ่งในบางครั้งก็จะถูกเรียกว่าเป็นเหตุการณ์เกือบจะสูญเสีย (Near Misses) ซึ่งหมายถึงว่าผลลัพธ์อันเลวร้ายยังไม่ได้เกิดขึ้น แต่ก็ยังมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้ ด้วยเหตุนี้ แผนงานฯ จึงกำหนดให้ดำเนินการสอบสวนในทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะก่อให้เกิดความสูญเสียหรือไม่ก็ตาม

           ทีมงานฯ จำเป็นที่จะต้องพัฒนาขีดความสามารถในการสอบสวนอุบัติการณ์ในพื้นที่งาน ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการฝึกอบรมในเรื่องเทคนิคการสอบสวน การสัมภาษณ์พยานบุคคล การจดบันทึกและการเขียนรายงาน โดยทีมงานฯ ที่ประกอบไปด้วยสมาชิกผู้เชี่ยวชาญต่างสาขากัน มักจะมีมุมมองที่แตกต่างกันออกไปด้วย ซึ่งนับเป็นข้อดีที่จะช่วยให้ทีมงานสามารถเก็บรวบรวมข้อเท็จจริง (Facts) และวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างรอบด้าน สามารถระบุได้อย่างสมเหตุสมผลว่าเกิดอะไรขึ้น และเป็นเพราะสาเหตุใด ซึ่งสมาชิกแต่ละคนของทีมงานฯ ควรถูกคัดเลือกมาตามพื้นฐานของการฝึกอบรม ความรู้ความสามารถในการเติมเต็มประสิทธิภาพของทีมงานฯ ในการสอบสวนอุบัติการณ์ได้อย่างเต็มที่

     นอกจากนี้ ทีมงานยังควรต้องปรึกษาหารือ หรือสัมภาษณ์ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่เกิดเหตุ หรืออาจจะเชิญให้ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทีมงานฯ ซึ่งความรู้และประสบการณ์ของผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่จะช่วยให้ทราบถึงข้อมูลที่แท้จริงซึ่งมีนัยสำคัญต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเมื่อเสร็จสิ้นการสอบสวนอุบัติการณ์แล้ว ก็จะได้รายงานการสอบสวนอุบัติการณ์ที่ครบถ้วนสมบูรณ์ พร้อมด้วยข้อเสนอแนะ และมาตรการในการป้องกันและแก้ไข ซึ่งมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้ปฏิบัติงานทุกคนนั่นเอง 
   ดังนั้นประเด็นหนึ่งที่มีความสำคัญยิ่งต่อการสอบสวนอุบัติการณ์ก็คือ การได้รับความร่วมมือจากผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องทุกคน ดังนั้นในการสอบสวนอุบัติการณ์จึงต้องพุ่งเป้าไปที่การได้รับข้อเท็จจริงมากกว่าการกล่าวคำตำหนิติเตียน ซึ่งทีมงานฯ ควรที่จะดำเนินการสอบสวนผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ด้วยความโปร่งใส ยุติธรรม และด้วยท่าทีที่เปิดเผยและคงเส้นคงวา

 การสอบสวนอุบัติการณ์ มีองค์ประกอบที่สำคัญ ดังนี้ คือ

 จัดตั้งทีมงานสอบสวนอุบัติการณ์ ที่ประกอบไปด้วยสมาชิกอย่างน้อย 1 คนที่มีความรู้เป็นอย่างดีเกี่ยวกับกระบวนการ อาจรวมถึงลูกจ้างของผู้รับเหมาด้วยก็ได้ ถ้าเหตุการณ์นั้นมีส่วนเกี่ยวข้องกับงานของผู้รับเหมา ส่วนสมาชิกคนอื่น ๆ ในทีมก็ควรจะเป็นผู้ที่มีความรู้ และประสบการณ์ที่เพียงพอต่อการสอบสวนและวิเคราะห์ละสาเหตุ เพื่อที่ว่ามาตรการในการแก้ไขจะได้รับการพัฒนาและดำเนินการ่จะดำเนินการสอบสวนผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ด้วยความโปร่งใส เหตุการณ์ได้อย่างละเอียด รอบคอบ

 การสอบสวนในแต่ละอุบัติการณ์ จะต้องดำเนินการในทันทีที่เกิดเหตุ หรือเร็วที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ ทั้งนี้ก็ไม่ควรจะล่าช้าเกินกว่า 48 ชั่วโมงหลังเกิดเหตุ

 รายงานการสอบสวนอุบัติการณ์ ควรรวมอยู่ในบทสรุปของการสอบสวน โดยระบุถึงวันที่เกิดเหตุ วันที่เริ่มทำการสอบสวน และอธิบายถึงอุบัติการณ์ที่เกิดขึ้น ตลอดจนปัจจัยที่เกื้อหนุนให้เกิดอุบัติการณ์ พร้อมข้อเสนอแนะในการแก้ไข เป็นต้น

 ดำเนินการแก้ไข ควรจัดตั้งระบบเพื่อเตรียมความพร้อมในการแก้ไขปัญหา และดำเนินการตามข้อเสนอแนะจากรายงาน ซึ่งจะต้องมีการจดบันทึกรายละเอียดวิธีการแก้ไขปัญหา รวมถึงการดำเนินการต่าง ๆ เป็นเอกสารไว้อ้างอิงในภายหลังด้วย

 ทบทวนรายงาน โดยผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด อันได้แก่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ รวมถึงผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รวมไปถึงลูกจ้างของผู้รับเหมาด้วย โดยทีมงานฯ ต้องเก็บรักษารายงานการสอบสวนอุบัติการณ์นี้ไว้เป็นระยะเวลา 5 ปี

 

12. การวางแผนและรับมือกับเหตุฉุกเฉิน (Emergency Planning and Response)

                 ทีมงานฯ ต้องระบุได้ว่าจะดำเนินการอย่างไร ถ้าเกิดเหตุการณ์อันไม่พึงประสงค์ขึ้นจากการรั่วไหลของสารเคมีอันตราย ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมพร้อมเพื่อรับเหตุฉุกเฉินโดยบุคคลากรภายในองค์กรเอง หรือรับมือโดยอาศัยการช่วยเหลือของหน่วยงานกู้ภัยภายนอก ทีมงานฯ มีความจำเป็นที่จะต้องตัดสินใจดำเนินการเพื่อหยุดยั้งเหตุการณ์อันไม่พึงประสงค์ ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์เล็ก ๆ น้อย ๆ เพียงใดก็ตาม ซึ่งการรับเหตุฉุกเฉินก็มีหลายทางเลือก เช่น หนทางแรกคือการเตรียมความพร้อมทั้งเรื่องกำลังคนและอุปกรณ์ เพื่อเข้าระงับเหตุฉุกเฉินด้วยตนเอง  หนทางที่สอง คือการอพยพออกจากพื้นที่อันตรายนั้น ๆ ไปสู่พื้นที่ปลอดภัย และหนทางที่สาม คือการเลือกใช้บริการจากหน่วยงานกู้ภัยภายนอก โดยทีมงานฯ ต้องทำการพิจารณาทางเลือกอย่างรอบคอบ เพื่อให้เหมาะสมกับความรุนแรงของเหตุฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งจะมีผลต่อการพัฒนาแผนงาน รวมถึงขั้นตอนของปฏิบัติการรับเหตุฉุกเฉิน ตลอดจนความจำเป็นในการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ในทีมงานรับเหตุฉุกเฉินด้วย

                 ทีมงานฯ ต้องมีการเขียน แผนรับเหตุฉุกเฉิน (Emergency Action Plan: EAP) ขึ้นมา เพื่อช่วยเตรียมความพร้อมในการอพยพผู้ปฏิบัติงาน เมื่อเกิดเหตุการณ์อันไม่พึงประสงค์ขึ้น ซึ่งหมายความว่าทีมงานฯ จะมีแนวทางการปฏิบัติในภาวะฉุกเฉิน หลังจากถูกกระตุ้นโดยระบบเตือนภัย (Alarm System) เพื่อใช้เตือนผู้ปฏิบัติงานให้ได้ทราบโดยทั่วถึงกันว่า เมื่อไรที่จะต้องดำเนินการอพยพออกจากพื้นที่อันตราย และผู้ปฏิบัติงานที่บกพร่องทางด้านร่างกายก็จำเป็นจะต้องมีเครื่องมือ และผู้ให้การช่วยเหลือในการนำออกไปสู่พื้นที่ที่ปลอดภัยด้วยเช่นเดียวกัน

                 ซึ่งเนื้อหาของแผนงานฯ มักจะกล่าวถึง ลักษณะของสัญญาณเตือน และวิธีการเคลื่อนย้ายผู้ปฏิบัติงานออกไปสู่พื้นที่ปลอดภัย โดยควรหลีกเลี่ยงการเลือกใช้สัญญาณเตือนภัยที่ล่าช้า หรือก่อให้เกิดความสับสน และควรจะหลีกเลี่ยงการใช้ศูนย์ควบคุมกระบวนการ (Process Control Centers) หรืออาคารอื่นที่อยู่ในพื้นที่เดียวกับกระบวนการ เป็นพื้นที่ปลอดภัย เพราะเมื่อเกิดเหตุรุนแรงขึ้นจริง ๆ การหลบอยู่ในสถานที่เหล่านั้นก็อาจจะไม่ปลอดภัยเช่นกัน ด้วยเหตุผลที่ว่าตัวอาคารอาจจะไม่ได้รับการออกแบบมาให้ต้านทานแรงดันมหาศาลที่เกิดจากช็อคเวฟ (Shockwaves) อันเป็นผลมาจากการระเบิดในพื้นที่กระบวนการ และอาจส่งผลให้ตัวอาคารถล่มลงมาได้ เป็นต้น

                 เหตุการณ์อันไม่พึงประสงค์จากการรั่วไหลของสารเคมีอันตรายที่อยู่ในพื้นที่กระบวนการ จะต้องถูกระบุโดยทีมงานฯ เพื่อที่จะบ่งบอกว่าให้ผู้ปฏิบัติงานดำเนินการอย่างไรในขณะเกิดเหตุฉุกเฉินต่าง ๆ ถ้าทีมงานฯ ต้องการให้ผู้ปฏิบัติงานอพยพออกจากพื้นที่ แผนรับเหตุฉุกเฉิน (EAP) ก็ต้องระบุถึงสถานที่ปลอดภัย และเส้นทางการอพยพอย่างปลอดภัยด้วย ส่วนกระบวนการที่อยู่ในพื้นที่เปิด ซึ่งทิศทางลมเป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกเส้นทางที่ปลอดภัยในการอพยพนั้น ทีมงานฯ ควรที่จะติดตั้งตัววัดทิศทางลม เช่น ถุงวัดทิศทางลม (Wind Sock) หรือธงปลายเรียวรูปสามเหลี่ยม ไว้ที่จุดสูงสุดซึ่งสามารถมองเห็นได้โดยตลอดจากพื้นที่กระบวนการ ซึ่งจะเป็นการช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานได้ทราบถึงทิศทางลม และสามารถอพยพออกจากพื้นที่อันตรายไปในทิศทางเหนือลมได้อย่างปลอดภัย

                 ถ้าทีมงานฯ ต้องการให้ผู้ปฏิบัติงานที่ถูกมอบหมายให้เป็นเจ้าหน้าที่ระงับเหตุ เข้าไปดำเนินการควบคุมหรือหยุดยั้งเหตุฉุกเฉิน หรืออุบัติการณ์ที่มีความรุนแรงเล็กน้อย ก็ต้องมีการวางแผนไว้ก่อนล่วงหน้า โดยทำการระบุขั้นตอนดำเนินการอย่างปลอดภัย ซึ่งต้องมีการตระเตรียมความพร้อมทั้งในเรื่องบุคลากรและอุปกรณ์ที่เหมาะสมกับสถานการณ์นั้น ๆ รวมไปถึงมีการฝึกอบรมให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ระงับเหตุได้มีความรู้ ทักษะ ความชำนาญในการใช้อุปกรณ์ระงับเหตุได้อย่างถูกต้อง และมีความเข้าใจในลำดับขั้นตอนของแผนรับเหตุฉุกเฉินเป็นอย่างดี

                 การวางแผนงานล่วงหน้าสำหรับการรั่วไหลที่ค่อนข้างหนักหนาสาหัส ทีมงานฯ ต้องมีการระบุไว้ในแผนรับเหตุฉุกเฉินด้วยเช่นกันว่า จะให้ผู้ปฏิบัติงานที่ถูกมอบหมายให้เป็นเจ้าหน้าที่ระงับเหตุดำเนินการอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นการอพยพออกจากพื้นที่อันตรายอย่างเร่งด่วน หรือต้องการให้เข้าไประงับเหตุ เช่น การสกัดกั้นหรือดับเพลิงที่กำลังลุกไหม้ การควบคุมสารเคมีที่หกรั่วไหล หรือเป็นผู้ดำเนินการให้การช่วยเหลือผู้ที่ติดอยู่ในพื้นที่อันตราย เป็นต้น และถ้าประเมินสถานการณ์แล้วว่าเจ้าหน้าที่ระงับเหตุภายในไม่สามารถที่จะควบคุมเหตุฉุกเฉินนี้ได้ จะมีขั้นตอนดำเนินการอย่างไรต่อไป ซึ่งต้องมีการระบุไว้ในแผนรับเหตุฉุกเฉินเช่นกัน เป็นต้นว่า อาจมีความจำเป็นเร่งด่วนในการขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานกู้ภัยภายนอก เช่น หน่วยดับเพลิงที่รับผิดชอบในเขตพื้นที่นั้น ๆ นอกจากนี้ในแผนรับเหตุฉุกเฉินก็ควรจะมีการระบุถึงบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ระงับเหตุแต่ละคนให้ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นผู้บัญชาการสถานการณ์ หรือเจ้าหน้าที่ดับเพลิง ฯลฯ

                 การฝึกปฏิบัติและฝึกอบรมให้กับทีมงานระงับเหตุฯ ได้เข้าใจถึงขั้นตอนการปฏิบัติตามแผนรับเหตุฉุกเฉิน ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับเหตุการณ์จริง ดังนั้นการฝึกปฏิบัติภายใต้สถานการณ์จำลองจึงเป็นเรื่องจำเป็น ทั้งนี้เพื่อให้ทีมงานระงับเหตุฯ ได้เข้าใจถึงบทบาทหน้าที่ของตนเอง และสามารถใช้อุปกรณ์ระงับเหตุได้อย่างถูกต้องเหมาะสม โดยในการฝึกปฏิบัตินี้ ควรขอความร่วมมือไปยังวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยกู้ภัยภายนอก ให้เข้ามาทำการฝึกอบรมให้ เพื่อที่ทางทีมงานระงับเหตุฯ จะได้ทราบถึงวิธีการที่ถูกต้องในการขอความช่วยเหลือและติดต่อประสานงานกับหน่วยกู้ภัยภายนอก

             อีกหนทางหนึ่งที่มีประสิทธิภาพในการขอความร่วมมือ และประสานงานระหว่างเจ้าหน้าที่ระงับเหตุภายในกับหน่วยกู้ภัยภายนอกในระหว่างเกิดเหตุฉุกเฉิน ก็คือการจัดตั้ง ศูนย์ควบคุมเหตุฉุกเฉิน (Emergency Control Center)  ขึ้นมา โดยศูนย์นี้ควรตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ปลอดภัย เพื่อที่ว่าจะได้สามารถอำนวยการรับเหตุฉุกเฉินอยู่ในพื้นที่นี้ได้อย่างปลอดภัยตลอดช่วงระยะเวลาเกิดเหตุฉุกเฉิน โดยศูนย์ควบคุมเหตุฉุกเฉินนี้จะมีระบบเชื่อมต่อกับการสื่อสารหลัก (The Major Communication Link System) เพื่อใช้ในการติดต่อสื่อสารระหว่างผู้บัญชาการสถานการณ์กับเจ้าหน้าที่ระงับเหตุ หรือกับเจ้าหน้าที่กู้ภัยภายนอก ซึ่งอุปกรณ์สื่อสารในศูนย์ควบคุมเหตุฉุกเฉินนี้ ควรจะรวมถึงเครือข่าย (Network) ในการรับและส่งข้อมูลผ่านทางโทรศัพท์ วิทยุสื่อสาร หรือเครื่องมือสื่อสารอื่น ๆ และมีความจำเป็นที่จะต้องมีระบบเครือข่ายสำรอง ไว้ใช้ในกรณีที่ระบบไฟฟ้าหรือเครื่องมือสื่อสารตัวใดตัวหนึ่งเกิดเหตุขัดข้องขึ้น และยังจะต้องมีอุปกรณ์ปฐมพยาบาลเบื้องต้นด้วย นอกจากนี้แล้ว ศูนย์ควบคุมเหตุฉุกเฉินยังจะต้องมีแผนผังโรงงาน ที่สามารถระบุได้ถึงตำแหน่งที่ตั้งของพื้นที่กระบวนการ ไฟฉุกเฉิน อุปกรณ์เตือนภัย ถังดับเพลิง อุปกรณ์ระงับเหตุฉุกเฉิน หรือระบบสาธารณูปโภค เช่น ตำแหน่งของหัวรับน้ำดับเพลิง หัวจ่ายน้ำดับเพลิง ปั๊มน้ำดับเพลิง เป็นต้น รวมถึงเอกสารข้อมูลความปลอดภัยสารเคมี (MSDS) คู่มือแผนรับเหตุฉุกเฉิน ตลอดจนเบอร์โทรศัพท์ของเจ้าหน้าที่ระงับเหตุภายใน เจ้าหน้าที่ปฐมพยาบาลเบื้องต้น หน่วยงานกู้ภัยภายนอกที่รับผิดชอบในเขตพื้นที่นั้น ๆ และสถานให้บริการทางการแพทย์ฉุกเฉินที่อยู่ใกล้ เป็นต้น

 

 13. การตรวจประเมินในการปฏิบัติตามข้อบังคับของแผนงานฯ (Compliance Audits)

 
            ทีมงานฯ จำเป็นต้องจัดตั้งทีมตรวจประเมินเพื่อดำเนินการตรวจประเมินแผนการบริหารความปลอดภัยในกระบวนการ (PSM) โดยในกระบวนการหรือสถานประกอบการขนาดเล็ก อาจจะใช้เจ้าหน้าที่ตรวจประเมินเพียงแค่คนเดียวก็เพียงพอแล้ว โดยการตรวจประเมินนี้จะรวมถึงการประเมินแบบ (Design) และประสิทธิภาพของแผนงานฯ ตลอดจนการตรวจสอบสภาวะความปลอดภัยและสุขอนามัยในภาคสนาม รวมทั้งวิธีปฏิบัติงาน เพื่อยืนยันว่าแผนงานฯ สามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในการตรวจประเมินนั้นควรถูกดำเนินการโดยบุคลากรที่มีความรู้และทักษะในการตรวจประเมิน รวมถึงมีความรู้เกี่ยวกับกระบวนการนั้น ๆ เป็นอย่างดี ที่สำคัญต้องมีความเป็นกลาง ซึ่งองค์ประกอบที่จำเป็นของโปรแกรมการตรวจประเมินจะรวมถึง การวางแผนงาน บุคลากรผู้ตรวจ วิธีการตรวจประเมิน การประเมินผลและดำเนินการแก้ไข การติดตามผล และการจดบันทึกเป็นเอกสาร รวมถึงรายงานสิ่งที่ค้นพบและข้อบกพร่องต่าง ๆ จากการตรวจประเมินอีกด้วย

       การวางแผนงานเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับความสำเร็จของกระบวนการตรวจประเมิน โดยทีมงานจำเป็นต้องวางรูปแบบ บุคลากร ตารางเวลา และวิธีพิสูจน์ยืนยันให้ได้ก่อนที่จะเริ่มดำเนินการตรวจประเมิน  ซึ่งรูปแบบ (Format) ในการตรวจประเมินนี้ ควรที่จะถูกออกแบบมาเพื่อแนะนำขั้นตอนดำเนินการ และแบบฟอร์มรายการตรวจประเมินที่มีรายละเอียดของข้อบังคับในแต่ละส่วนของเกณฑ์มาตรฐาน รวมถึงรายชื่อผู้ตรวจประเมินแนบท้าย สำหรับแบบฟอร์มรายการตรวจประเมินนี้ ถ้ามีการออกแบบมาอย่างถูกต้องเหมาะสม ก็สามารถที่จะใช้เสมือนเป็นเอกสารพิสูจน์ยืนยัน (Verification Sheet) ที่จะช่วยให้ข้อมูลที่จำเป็นสำหรับผู้ตรวจประเมิน ทำให้สะดวกต่อการทบทวนได้เร็วยิ่งขึ้น และให้ความมั่นใจว่าจะไม่มีข้อบังคับใดของเกณฑ์มาตรฐานที่จะถูกมองข้ามหรือละเลยไป โดยรูปแบบของเอกสารพิสูจน์ยืนยันควรที่จะรวมถึงการชี้บ่งองค์ประกอบต่าง ๆ ซึ่งต้องการประเมิน หรือการดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องนั้น รวมทั้งเอกสารพิสูจน์ยืนยันควรที่จะถูกใช้ในการพัฒนาสำหรับการติดตามและบันทึกผลด้วย

       ในการคัดเลือกสมาชิกของทีมตรวจประเมิน ถือได้ว่าเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งอีกประการหนึ่ง สำหรับความสำเร็จของแผนการบริหารความปลอดภัยในกระบวนการ (PSM) โดยสมาชิกแต่ละคนควรถูกคัดเลือกตามแต่ประสบการณ์ ความรู้ การฝึกอบรมและควรคุ้นเคยเป็นอย่างดีกับกระบวนการ รวมถึงมีความชำนาญทางด้านเทคนิคในการตรวจประเมิน วิธีปฏิบัติและขั้นตอนปฏิบัติ ส่วนขนาดของทีมตรวจประเมินจะแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับขนาดและความซับซ้อนของกระบวนการ โดยสถานประกอบการที่มีขนาดใหญ่ ซับซ้อนและมีเครื่องมือมาก อาจมีสมาชิกของทีมตรวจประเมินที่เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านวิศวกรรมกระบวนการและการออกแบบ กระบวนการทางเคมี เครื่องมือและคอมพิวเตอร์ที่ใช้ควบคุม ประเภทและอันตรายของระบบไฟฟ้า ความปลอดภัยและอาชีวอนามัย การบำรุงรักษา การเตรียมพร้อมรับเหตุฉุกเฉิน คลังสินค้าหรือการจัดส่งสินค้า และรวมถึงการตรวจประเมินความปลอดภัยในกระบวนการ ซึ่งทีมตรวจประเมินอาจใช้สมาชิก Part–time ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญที่สามารถดำเนินการตรวจประเมินในเชิงลึกหรือตรวจประเมินในเชิงเปรียบเทียบได้

           การตรวจประเมินที่มีประสิทธิภาพ ควรจะรวมถึงการทบทวนเอกสารที่เกี่ยวข้องและข้อมูลความปลอดภัยของกระบวนการ การตรวจสอบทางกายภาพ (อุปกรณ์ อาคาร เครื่องมือ ภาชนะบรรจุ) และการสัมภาษณ์บุคลากรในระดับต่าง ๆ ของสถานประกอบการ ซึ่งการใช้ประโยชน์จากขั้นตอนการตรวจประเมินและรายการตรวจสอบที่ถูกพัฒนาขึ้นในขั้นตอนการวางแผนงาน จะทำให้ทีมตรวจประเมินสามารถวิเคราะห์ได้อย่างเป็นระบบ ถึงการปฏิบัติตามข้อบังคับของเกณฑ์มาตรฐานและนโยบายอื่น ๆ ที่มีความเกี่ยวพันเชื่อมโยงกัน ตัวอย่างเช่น ทีมตรวจประเมินอาจจะทบทวนโปรแกรมการฝึกอบรมที่เขียนขึ้น ว่ามีเนื้อหาในการฝึกอบรม ความถี่ของการฝึกอบรม และประสิทธิภาพของการฝึกอบรมเพียงพอหรือไม่ เมื่อพิจารณาจากเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของโปรแกรมการฝึกอบรม และสามารถประเมินด้วยว่าโปรแกรมการฝึกอบรมนั้น ๆ ตรงตามข้อกำหนดของเกณฑ์มาตรฐานหรือไม่ เป็นต้น จากการทบทวนนี้ ทีมตรวจประเมินจะสามารถพิจารณาได้ถึงความรู้ของผู้ปฏิบัติงาน และการตระหนักในเรื่องของความปลอดภัย หน้าที่ บทบาท และการตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉินของผู้ที่ถูกมอบหมายไว้ ฯลฯ ในระหว่างการตรวจสอบ ทีมตรวจประเมินสามารถที่จะสังเกตได้ถึงวิธีการปฏิบัติงานที่แท้จริง เช่น นโยบายความปลอดภัยและสุขอนามัย ขั้นตอนการดำเนินการ และวิธีปฏิบัติในการขออนุญาตเข้าทำงาน เป็นต้น กล่าวโดยรวมแล้ว ทีมตรวจประเมินสามารถทำการชี้บ่งถึงข้อบกพร่องและพิจารณาได้ว่าจุดใดบ้างที่สมควรจะมีการแก้ไข หรือมีความจำเป็นต้องปรับปรุงพัฒนา
 การตรวจประเมินเป็นเทคนิคที่ใช้ในการรวบรวมข้อเท็จจริง (Facts) และข้อมูลเชิงสถิติ เพื่อที่จะพิสูจน์ยืนยันถึงระดับการปฏิบัติสอดคล้องกับเกณฑ์มาตรฐาน โดยตัวผู้ประเมินควรเลือกดำเนินการทีละส่วนของโปรแกรมการตรวจประเมินที่วางแผนไว้ โดยควรจะมีขนาดตัวอย่างที่เพียงพอ เพื่อความมั่นใจว่าจะสามารถสะท้อนให้เห็นถึงระดับการปฏิบัติงานที่แท้จริงได้ ส่วนการวิเคราะห์นั้น ทีมตรวจประเมินต้องดำเนินการวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ และควรบันทึกไว้ว่าพื้นที่ใดที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข และพื้นที่ใดที่มีการดำเนินการแผนงานฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง นอกจากนี้ในระหว่างที่มีการตรวจประเมินก็ต้องมีการจดบันทึกถึงข้อเท็จจริงและสิ่งที่ค้นพบ รวมถึงขั้นตอนการตรวจประเมินไว้เป็นเอกสารหลักฐาน เพื่อใช้อ้างอิงในการตรวจประเมินในครั้งต่อไป ซึ่งจะช่วยให้ผู้ตรวจประเมินทราบถึงแนวโน้มของระดับการสอดคล้องกับเกณฑ์มาตรฐานได้

           การดำเนินการแก้ไข (Corrective Action) ก็เป็นส่วนสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของการตรวจประเมิน ซึ่งในการประเมินนั้น จะไม่ได้จบลงแค่การชี้บ่งข้อบกพร่อง แต่ต้องรวมไปถึงการวางแผน การติดตามผล และจดบันทึกเป็นเอกสาร โดยทั่วไปแล้วการดำเนินการแก้ไขนั้น มักจะเริ่มด้วยการทบทวนสิ่งที่พบเจอจากการตรวจประเมิน โดยจุดประสงค์ของการทบทวนนี้ ก็เพื่อพิจารณาว่ามีสิ่งใดที่ไม่ถูกต้อง หรือไม่ได้ตามมาตรฐานบ้าง จากนั้นจึงนำมาเรียงลำดับตามความสำคัญ ความเร่งด่วนของปัญหา และความสามารถในการจัดสรรทรัพยากร ซึ่งในบางกรณีการดำเนินการแก้ไขอาจจะเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงที่ง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน ในขั้นตอนการปฏิบัติ หรือการเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ น้อย ๆ ในการบำรุงรักษา หรือการเพิ่มความเอาใจใส่ในการทำงาน หรือการเปลี่ยนแปลงข้อกำหนด รวมถึงบทบาทหน้าที่รับผิดชอบ ซึ่งอาจจำเป็นต้องนำการบริหารความเปลี่ยนแปลงมาใช้ เพื่อพิจารณาว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีความเหมาะสม หรือก่อให้เกิดผลกระทบใด ๆ หรือไม่ แม้ว่าจะเป็นแค่การเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยก็ตาม เช่นเดียวกับข้อบกพร่องในหลาย ๆ ส่วนที่ค้นพบ ก็ต้องพร้อมที่จะได้รับการแก้ไข ในขณะที่ข้อบกพร่องบางส่วนอาจมีความจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการศึกษาเชิงวิศวกรรม หรือการทบทวนขั้นตอนการปฏิบัติงานในเชิงลึก และอาจจะมีบางกรณีที่ไม่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข แต่ก็ต้องมีการระบุถึงเหตุผลที่เชื่อถือได้ โดยการดำเนินการทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น จะต้องมีการบันทึกไว้เป็นเอกสาร เพื่อที่จะบ่งบอกว่าได้กระทำสิ่งใดลงไป ด้วยเหตุผล หรือความจำเป็นอย่างไร โดยเจ้าหน้าที่ผู้ตรวจประเมินจะต้องรับผิดชอบในการจดบันทึกเอกสารดังกล่าว

           ส่วนการควบคุมการดำเนินการแก้ไขนั้น ทีมงานฯ ควรพิจารณาใช้ระบบติดตาม (Tracking System) ซึ่งระบบนี้อาจรวมถึงการรายงานความก้าวหน้าของการดำเนินงานอยู่เป็นระยะ ๆ ร่วมกันระหว่างผู้ปฏิบัติงานที่ได้รับผลกระทบในทุกระดับ หรือการรายงานพิเศษ เช่น ผลสรุปของการศึกษาในเชิงวิศวกรรม และรวมถึงการรายงานในขั้นสุดท้ายของการดำเนินงาน เพื่อที่จะหาบทสรุปสำหรับสิ่งที่ค้นพบจากการตรวจประเมิน ที่ผ่านการบริหารความเปลี่ยนแปลง (ถ้ามีความเหมาะสม) และต่อจากนั้นก็มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกันระหว่างผู้ปฏิบัติงานและฝ่ายบริหาร ซึ่งการใช้ระบบติดตามนี้จะช่วยให้ทีมงานฯ ได้รับทราบถึงความก้าวหน้าของการดำเนินงานแก้ไข รวมถึงการได้รับเอกสารที่จำเป็นในการพิสูจน์ยืนยัน ว่าการดำเนินการแก้ไขเป็นไปด้วยความถูกต้องเหมาะสม และเพียงพอต่อข้อบกพร่องที่ถูกชี้บ่งไว้ในระหว่างการตรวจประเมิน

          เพื่อให้มั่นใจว่าแผนการบริหารความปลอดภัยในกระบวนการ (PSM) มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ทีมงานฯ ต้องรับรองว่าได้ผ่านการประเมินในการปฏิบัติตามข้อบังคับของแผนงานฯ อย่างน้อยทุก ๆ 3 ปี ซึ่งจะเป็นการพิสูจน์ยืนยันว่าขั้นตอนปฏิบัติการและการปฏิบัติได้รับการพัฒนาภายใต้เกณฑ์มาตรฐานที่เพียงพอและได้ถูกดำเนินการตามมาตรฐานนั้น โดยรายงานผลการตรวจประเมินการปฏิบัติตามข้อบังคับของแผนงานฯ อย่างน้อย 2 ครั้งล่าสุดต้องถูกเก็บบันทึกลงไฟล์ไว้ด้วย     

      

14. ข้อมูลความลับทางการค้า (Trade Secrets)

           ทีมงานฯ ต้องอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงและการค้นหาข้อมูลทั้งหมดในส่วนที่จำเป็นต่อการดำเนินการตามข้อบังคับของแผนงานฯ ให้กับกลุ่มบุคคลเหล่านี้ คือ ผู้ที่รับผิดชอบในการเก็บรวบรวมข้อมูลความปลอดภัยของกระบวนการ (Process Safety Information: PSI) ผู้พัฒนาขั้นตอนการปฏิบัติงาน (Operating Procedures) และการวิเคราะห์อันตรายในกระบวนการ (Process Hazard Analysis: PHA) ผู้ดำเนินการสอบสวนอุบัติการณ์ (Incident Investigation) ผู้วางแผนและรับเหตุฉุกเฉิน (Emergency Planning and Response) และผู้ตรวจประเมินการปฏิบัติตามข้อบังคับของแผนงานฯ (Compliance Audits) โดยข้อมูลเหล่านี้ควรจะปราศจากความลับทางการค้าให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะกระทำได้  แต่ถ้าเป็นข้อมูลความลับทางการค้าก็ถือเป็นหน้าที่ของทีมงานฯ ที่ต้องมีการอธิบายให้ผู้ที่จะเข้าถึงข้อมูลได้รับทราบถึง ข้อตกลงร่วมกันในการรักษาความลับ (Confidentiality Agreements) ที่จะถูกใช้ในการปกป้องความลับทางการค้า ซึ่งจะมีการกำหนดกฎเกณฑ์และขั้นตอนที่จำเป็นในการปฏิบัติ สำหรับผู้ปฏิบัติงานหรือผู้ที่รับผิดชอบคนใดก็ตามที่จะเข้าถึงข้อมูลความลับทางการค้านั้น และบุคคลเหล่านี้จะต้องรับผิดชอบ รวมทั้งต้องยึดมั่นในข้อตกลงที่ทำร่วมกัน ในการรักษาความลับทางการค้าเหล่านั้นอย่างเคร่งครัดอีกด้วย

     ตาราง บทสรุปโดยย่อสำหรับข้อกำหนดในแต่ละองค์ประกอบของแผนการบริหารความปลอดภัยในกระบวนการ (PSM Program Summary)

องค์ประกอบ (Elements)

ข้อกำหนด (Requirements)

1. การมีส่วนร่วมของผู้ปฏิบัติงาน (Employee Participation)

- การมีส่วนร่วมของผู้ปฏิบัติงานในการพัฒนาแผนการบริหารความปลอดภัยในกระบวนการ(PSM) โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการประเมินอันตราย

2. ข้อมูลความปลอดภัยของกระบวนการ

(Process Safety Information: PSI)

-  ทีมงานฯ ต้องเก็บรวบรวมข้อมูลที่เชื่อมโยงกับสารเคมีอันตรายในกระบวนการ เทคโนโลยีที่ใช้ในกระบวนการ และอุปกรณ์ที่ใช้ในกระบวนการ

3. การวิเคราะห์อันตรายในกระบวนการ  (Process Hazard Analysis: PHA)

-  ทีมงานฯ ต้องดำเนินการอย่างรอบคอบสำหรับวิเคราะห์อันตรายในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการ (PHA) โดยจัดตั้งทีมวิเคราะห์อันตรายฯ ขึ้นมา แล้วเลือกใช้เทคนิคหลากหลายในการวิเคราะห์อันตรายอย่างเป็นทางการ มีการชี้บ่ง ประเมิน และให้ข้อเสนอแนะในการขจัด ระงับ ป้องกันหรือควบคุมอันตรายจากการชี้บ่งนั้น

4. ขั้นตอนปฏิบัติการ (Operating Procedures)

-  ทีมงานฯ ต้องพัฒนาและดำเนินการเขียนขั้นตอนการปฏิบัติที่จะครอบคลุมในทุก ๆ ช่วงของกระบวนการ ซึ่งรวมถึงวิธีปฏิบัติงานอย่างปลอดภัย (Safe Work Practices) ด้วย

5. การฝึกอบรม (Training)

 

 

 

 

 

 

-  ทีมงานฯ ต้องทำการฝึกอบรมผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับปฏิบัติการของกระบวนการ (รวมถึงลูกจ้างของผู้รับเหมาด้วย) ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของลักษณะอันตราย ขั้นตอนการปฏิบัติ ทั้งในสภาวะปกติและสภาวะฉุกเฉิน และวิธีปฏิบัติงานอย่างปลอดภัย โดยการฝึกอบรมทั้งหมดควรถูกดำเนินการให้เสร็จสิ้นก่อนเริ่มต้นกระบวนการ

6. ผู้รับเหมา (Contractors)

 

 

 

 

 

 

-  สำหรับผู้รับเหมาทั้งหมดที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับกระบวนการหรืออยู่ในพื้นที่งานใกล้เคียง ทีมงานฯ จำเป็นต้องประเมินขีดความสามารถของผู้รับเหมา ประวัติความปลอดภัยในการทำงานและวิธีการทำงาน เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการพิจารณาถึงความเหมาะสมในการเลือกใช้บริการหรือจ้างผู้รับเหมา ถ้าผู้รับเหมารายใดที่คาดว่าจะเข้ามาปฏิบัติการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการก็ต้องได้รับการฝึกอบรมก่อนที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับกระบวนการนั้น ๆ ด้วย

7. การทบทวนความปลอดภัยก่อนเริ่มต้นกระบวนการ 

 (Pre–Startup Safety Review: PSSR)

-  ทีมงานฯ ต้องทบทวนรายละเอียดของอาคาร ภาชนะบรรจุ อุปกรณ์หรือเครื่องมือที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทั้งที่เป็นของใหม่หรือได้รับการปรับปรุง เพื่อให้มั่นใจว่าการออกแบบมีความเหมาะสม การก่อสร้างเป็นไปตามคุณลักษณะที่กำหนดไว้ ขั้นตอนการปฏิบัติงาน ใช้งานได้จริงและมีความปลอดภัย การฝึกอบรมและการวิเคราะห์อันตรายในกระบวนการเสร็จสิ้นสมบูรณ์ รวมถึงข้อมูลความปลอดภัยของกระบวนการ (PSI) ได้รับการปรับปรุงให้ทันต่อสภาวการณ์ปัจจุบัน โดยกิจกรรมทั้งหมดข้างต้นต้องถูกทบทวนให้แล้วเสร็จก่อนที่จะเริ่มต้นกระบวนการ

8. ความเที่ยงตรงของกลไกการทำงาน (Mechanical Integrity: MI)

-  ทีมงานฯ ต้องพัฒนาและดำเนินการตามแผนงานอย่างมีระเบียบวิธีสำหรับการบำรุงรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสม และการตรวจสอบ/ทดสอบอุปกรณ์ด้วยจำนวนความถี่ที่เหมาะสม เพื่อที่จะสามารถค้นพบข้อบกพร่องของอุปกรณ์ได้ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ขึ้น

-  มีการใช้โปรแกรมการบำรุงรักษาเชิงป้องกัน (The Preventive Maintenance Program) มากกว่าการบำรุงรักษาหลังเกิดเหตุขัดข้อง (Breakdown Maintenance)

9. การทำงานที่เกี่ยวข้องกับความร้อน(Hot Work)

 

 

 

 

 

 

-  ทีมงานฯ ต้องพัฒนาและดำเนินการตามแผนงานอย่างมีระเบียบวิธีสำหรับการบำรุงรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสม และการตรวจสอบ/ทดสอบอุปกรณ์ด้วยจำนวนความถี่ที่เหมาะสม เพื่อที่จะสามารถค้นพบข้อบกพร่องของอุปกรณ์ได้ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ขึ้น

-  มีการใช้โปรแกรมการบำรุงรักษาเชิงป้องกัน (The Preventive Maintenance Program) มากกว่าการบำรุงรักษาหลังเกิดเหตุขัดข้อง (Breakdown Maintenance)

10. การบริหารความเปลี่ยนแปลง(Management Of Change: MOC)

 

 

 

 

 

 

-  ทีมงานฯ ต้องมีการบันทึกเอกสารในขั้นตอนการบริหารความเปลี่ยนแปลง โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้มั่นใจว่าระบบความปลอดภัยในปฏิบัติการจะถูกบรรจุเข้าไปในการเปลี่ยนแปลง ซึ่งมีผลกระทบต่อกระบวนการ ซึ่งกระบวนการบริหารความเปลี่ยนแปลง จะเป็นแนวทางในการปรับปรุงและพัฒนาข้อมูลความปลอดภัยของกระบวนการ (PSI) การวิเคราะห์อันตรายในกระบวนการ (PHA) ขั้นตอนปฏิบัติการ และการฝึกอบรม ทั้งนี้เพื่อให้มั่นใจว่าทุกองค์ประกอบของแผนงานฯ มีความทันต่อสภาวการณ์ปัจจุบัน

11. การสอบสวนอุบัติการณ์ (Incident Investigation)

 

 

 

 

 

 

-  ทีมงานฯ จะต้องจัดตั้งทีมสอบสวนฯ เพื่อดำเนินการสอบสวนอุบัติการณ์ (Incidents) หรือเหตุการณ์เกือบจะสูญเสีย (Near Misses) ที่เกิดขึ้น ทั้งนี้เพื่อสร้างความเข้าใจถึงสาเหตุปัจจัยที่มีส่วนเกื้อหนุนให้เกิดเหตุการณ์นั้นขึ้น และทำการพัฒนา/แก้ไขข้อเสนอแนะ โดยมีวัตถุประสงค์ในการป้องกันการเกิดเหตุการณ์ซ้ำเดิมขึ้นอีก และควรดำเนินการสอบสวนอุบัติการณ์อย่างเป็นระบบ ภายในระยะเวลา 48 ชั่วโมงหลังเกิดเหตุ

12. การวางแผนและรับมือกับเหตุฉุกเฉิน(Emergency Planning and  Response)

-  ทีมงานฯ ต้องวางแผนงานในการเตรียมพร้อมรับเหตุฉุกเฉิน ที่มีโอกาสเกิดขึ้นในพื้นที่งานของกระบวนการ โดยอย่างน้อยในแผนรับเหตุฉุกเฉิน (Emergency Action Plan: EAP) จำเป็นที่ต้องรวมถึงขั้นตอนในการแจ้งเตือน เส้นทางอพยพ ระบบสัญญาณเตือนภัย และการฝึกอบรมอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสถานการณ์ที่ผู้ปฏิบัติงานจำเป็นต้องระงับเหตุฉุกเฉินนั้น ๆ ด้วยตัวเอง

13. การตรวจประเมินการปฏิบัติตาม ข้อบังคับของแผนงานฯ(Compliance Audits)

-  เกี่ยวข้องกับการประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลของแผนงานฯ และขอบเขตของการดำเนินงานตามแผนงานฯ โดยทำการตรวจประเมินอย่างน้อยทุก ๆ 3 ปี ซึ่งการตรวจประเมินก็เพื่อรับรองว่าสถานประกอบการ มีการปฏิบัติตามข้อบังคับของแผนงานฯ หรือเป็นเครื่องชี้วัดว่าพื้นที่งานใดของสถานประกอบการที่ไม่มีการปฏิบัติตามข้อบังคับของแผนงานฯ และจำเป็นต้องได้รับการแก้ไข

14. ข้อมูลความลับทางการค้า  

    (Trade Secrets)

 

 

 

 

 

 

      
-  ทีมงานฯ จะต้องอำนวยความสะดวกในการเข้าถึง และค้นหาข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการดำเนินการให้เป็นไปตามข้อบังคับของแผนงานฯ ให้กับผู้ที่รับผิดชอบในการเก็บรวบรวมข้อมูลความปลอดภัยของกระบวนการ (PSI) ผู้พัฒนาขั้นตอนการปฏิบัติงาน และวิเคราะห์อันตรายในกระบวนการ (PHA) ผู้ดำเนินการสอบสวนอุบัติการณ์ ผู้วางแผนและรับเหตุฉุกเฉิน และผู้ตรวจประเมินการปฏิบัติตามข้อบังคับของแผนงานฯ และถ้าเป็นข้อมูลความลับทางการค้า ก็ต้องทำข้อตกลงร่วมกันในการรักษาความลับ (Confidentiality Agreements) รวมถึงกำหนดกฎเกณฑ์และขั้นตอนที่จำเป็นในการปฏิบัติตามสำหรับผู้ปฏิบัติงานหรือผู้ที่รับผิดชอบคนใดก็ตามที่จะเข้าถึงข้อมูลความลับทางการค้าเหล่านั้น

  ตาราง แสดงความถี่ในการดำเนินงานตามข้อกำหนดของแผนงานฯ

 

 

องค์ประกอบของแผนงานฯ

การดำเนินงานตามข้อกำหนด

ความถี่

การมีส่วนร่วมของผู้ปฏิบัติงาน (Employee Participation)

การเข้ามามีส่วนร่วมของผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง

อย่างต่อเนื่อง

การวิเคราะห์อันตรายในกระบวนการ                 (Process Hazard Analysis: PHA)

ดำเนินการให้มีผลการวิเคราะห์ที่ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน และมีการพิสูจน์ซ้ำเพื่อยืนยันถึงความถูกต้อง

อย่างน้อยทุก ๆ 5 ปี หรือเท่าที่เห็นสมควร

ขั้นตอนปฏิบัติการ (Operating Procedures)

การรับรองว่าทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน

รายปี

การฝึกอบรม (Training)

การฝึกอบรมเพื่อรื้อฟื้นความเข้าใจในเนื้อหาของการฝึกอบรม (Refresher Training)

อย่างน้อยทุก ๆ 3 ปีหรือเท่าที่เห็นสมควร

ผู้รับเหมา (Contractors)

การประเมินประสิทธิภาพในการทำงานของผู้รับเหมา

เป็นระยะ ๆ

ความเที่ยงตรงของกลไกการทำงาน               (Mechanical Integrity: MI)

การตรวจสอบและการทดสอบ

เป็นระยะ ๆ

การบริหารความเปลี่ยนแปลง                       (Management Of Change: MOC)

พัฒนาแผนงานฯ ในระหว่างที่มีการเปลี่ยนแปลง

เมื่อมีความจำเป็น

การสอบสวนอุบัติการณ์                                   (Incident Investigation)

การสอบสวนและพัฒนาข้อเสนอแนะ

เมื่อเกิดเหตุ

การตรวจประเมินในการปฏิบัติตามข้อบังคับของแผนงานฯ (Compliance Audits)

ตรวจประเมินแผนงานฯ

อย่างน้อยทุก ๆ 3 ปีหรือเท่าที่เห็นสมควร

ตัวอย่าง แบบฟอร์มรายการตรวจสอบ (Checklist) ในแต่ละองค์ประกอบของแผนงานฯ

 

องค์ประกอบของแผนงานฯ

รายการตรวจสอบ

ใช่

ไม่ใช่

ไม่แน่ใจ

พันธะสัญญาของฝ่ายบริหารที่มีต่อแผนงานฯ

 

 

 

 

 

 

(Management Commitment to the PSM Program)

-  มีหลักฐานพยานที่แสดงให้เห็นว่าแผนงานฯ ที่มีประสิทธิภาพได้ถูกจัดทำขึ้น และมีการระบุถึงความคาดหวัง ผลลัพธ์ วัตถุประสงค์และเป้าหมายไว้อย่างชัดเจน

-  มีการจัดสรรทรัพยากร ทั้งบุคลากร งบประมาณ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้สามารถดำเนินการในทุก ๆ องค์ประกอบของแผนงาน ได้อย่างต่อเนื่อง

-  มีการระบุถึงบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้ที่ได้รับมอบหมายในการดำเนินงานในแต่ละองค์ประกอบของแผนงานฯ ไว้อย่างชัดเจน

-  มีพันธะสัญญาของฝ่ายบริหารในการที่จะใช้ทรัพยากรที่ถูกจัดสรรไว้เพื่อเพิ่มพูนกระบวนการเรียนรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยในทุกระดับขององค์กร

-  ฝ่ายบริหารได้มีการส่งเสริมและสนับสนุนการเข้ามามีส่วนร่วมของผู้ปฏิบัติงานตามที่ได้มีการระบุไว้ในแผนงานฯ

 

 

 

1. การมีส่วนร่วมของผู้ปฏิบัติงาน  (Employee Participation)

-  แผนงานฯ ได้มีการระบุถึงการมีส่วนร่วมของผู้ปฏิบัติงานที่ทำงานเกี่ยวข้องกับกระบวนการหรืออยู่บริเวณใกล้เคียงกับพื้นที่กระบวนการ (รวมถึงลูกจ้างของผู้รับเหมา) ซึ่งเข้ามามีส่วนในการดำเนินงาน และพัฒนาแต่ละองค์ประกอบของแผนงานฯ ตามแต่จะได้รับมอบหมายไปตามความรู้และความสามารถที่มี เช่น เป็นสมาชิกของทีมวิเคราะห์อันตรายในกระบวนการ (PHA) หรือมีส่วนในการพัฒนา/ปรับปรุงเนื้อหาของข้อมูลความปลอดภัยของกระบวนการ (PSI) ให้ทันต่อสภาวการณ์ปัจจุบัน เป็นต้น

-  คณะกรรมการความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในสถานประกอบการ (Occupational Safety & Health Committee) ได้มีบทบาทสำคัญในการจัดตั้งและคงไว้ซึ่งประสิทธิภาพของแผนงานฯ

 

 

 

(2.) ข้อมูลความปลอดภัยของกระบวนการ  (Process Safety Information: PSI)

-  มีการเก็บรวบรวมข้อมูลความปลอดภัยในกระบวนการ ทั้งในส่วนของสารเคมี เทคโนโลยี และอุปกรณ์ที่ใช้ หรือเกี่ยวข้องกับกระบวนการก่อนที่จะมีการดำเนินการวิเคราะห์อันตรายในกระบวนการ (PHA)

-  ได้มีการทบทวนข้อมูลความปลอดภัยในกระบวนการ ให้ทันต่อสภาวการณ์ปัจจุบันอยู่เป็นระยะ โดยเฉพาะเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับกระบวนการ หรือได้ผ่านการบริหารความเปลี่ยนแปลง (MOC)

-  ได้มีการเขียนแผนภาพ (Diagram) ไม่ว่าจะเป็น Block Flow Diagram, Process Flow Diagram หรือ Piping & Instrumentation Diagrams (P&IDs) เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ

 

 

 

 

 

 

ตัวอย่าง แบบฟอร์มรายการตรวจสอบ (Checklist) ในแต่ละองค์ประกอบของแผนงานฯ (ต่อ)

องค์ประกอบของแผนงานฯ

รายการตรวจสอบ

ใช่ ไม่ใช่ ไม่แน่ใจ

3. การวิเคราะห์อันตรายในกระบวนการ    (Process Hazard Analysis: PHA)

-  ได้มีการจัดตั้งทีมวิเคราะห์อันตรายฯ ที่ประกอบไปด้วยสมาชิกที่เชี่ยวชาญในหลากหลายสาขา เช่น วิศวกรรม การออกแบบ เทคโนโลยี ฯลฯ รวมทั้งสมาชิกหนึ่งในทีมควรเป็นผู้ที่คุ้นเคยกับกระบวนการ และหนึ่งในนั้นก็เป็นผู้ที่มีความเข้าใจในระเบียบวิธี (Methodology)

 ที่ใช้ในการวิเคราะห์อันตรายฯ เป็นอย่างดี

 

 

 

-  ได้มีการฝึกอบรมทีมวิเคราะห์อันตรายฯ ให้เข้าใจถึงขั้นตอนและเทคนิคหรือระเบียบวิธีที่ใช้ในการวิเคราะห์ก่อนเริ่มดำเนินการ

-  มีการจดบันทึกเป็นเอกสารถึงสิ่งที่ค้นพบจากการชี้บ่งอันตราย การประเมิน และข้อเสนอแนะในการขจัด ระงับ ป้องกันหรือควบคุมอันตราย

 มีการจัดตั้งระบบติดตามงาน (Tracking System) เพื่อตรวจเช็คว่าข้อเสนอแนะที่ได้จากการวิเคราะห์ได้ถูกดำเนินการหรือไม่ มีการระบุผู้รับผิดชอบและกำหนดวันเสร็จ (Due Date) รวมทั้งได้มีการสื่อสาร

ไปยังผู้ปฏิบัติงาน ช่างซ่อมบำรุงและพนักงานคนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนผู้ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากข้อเสนอแนะนั้น ๆ

-  มีการทบทวน ปรับปรุงกระบวนการวิเคราะห์อันตรายฯ และเอกสารบันทึกอย่างน้อยทุก ๆ 5 ปี เพื่อให้ทันต่อสภาวการณ์ปัจจุบัน รวมทั้งมีการเก็บรักษาข้อมูลที่ได้ รวมถึงเอกสารบันทึกไว้ตลอดช่วงอายุของกระบวนการ

     

4. ขั้นตอนการปฏิบัติงาน

(Operating Procedures)

-  ได้เขียนขั้นตอนปฏิบัติการที่จะครอบคลุมในทุก ๆ ช่วงของกระบวนการที่สอดคล้องกับข้อมูลความปลอดภัยของกระบวนการ (PSI) รวมถึงวิธีปฏิบัติงานอย่างปลอดภัย (Safe Work Practices)

-  มีการระบุถึงข้อจำกัดในการปฏิบัติ รวมทั้งข้อควรพิจารณาในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยและสุขอนามัย

-มีการพัฒนาและปรับปรุงขั้นตอนการปฏิบัติงาน ให้ทันต่อสภาวการณ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นกับกระบวนการหรือผ่านการบริหารความเปลี่ยนแปลง (MOC)

-มีการรับรองประจำปี (Annual Certification) เพื่อยืนยันว่าขั้นตอนการปฏิบัติงานมีความถูกต้องและทันต่อสภาวการณ์ปัจจุบัน

     
5. การฝึกอบรม (Training)

-  มีการจัดฝึกอบรมในขั้นต้น (Initial Training) และการฝึกอบรมเพื่อรื้อฟื้นความเข้าใจในเนื้อหาของการฝึกอบรม (Refresher Training) และอาจมีการฝึกอบรมในทำนองถ่ายทอดความรู้ (Hand–On–Training)

-  มีการจัดฝึกอบรมเพื่อรื้อฟื้นความเข้าใจในเนื้อหาของการฝึกอบรมอย่างน้อยทุก ๆ 3 ปีหรือบ่อยครั้งตามความจำเป็น

-  มีการจัดทำเอกสารเกี่ยวกับการฝึกอบรมที่ระบุได้ถึงรายละเอียดทั้งหมดของผู้เข้ารับการฝึกอบรม วันที่ฝึกอบรม และเครื่องมือที่ใช้รับรองว่าผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีความเข้าใจในเนื้อหาของการฝึกอบรม

 

 

 

     

ตัวอย่าง แบบฟอร์มรายการตรวจสอบ (Checklist) ในแต่ละองค์ประกอบของแผนงานฯ (ต่อ)

องค์ประกอบของแผนงานฯ

รายการตรวจสอบ

ใช่

ไม่ใช่

ไม่แน่ใจ

6. ผู้รับเหมา (Contractors)

-  มีการจัดตั้งกระบวนการกลั่นกรอง (Screening Process) เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาคัดเลือกผู้รับเหมา

 -  มีการแจ้งข้อมูลให้ผู้รับเหมาได้รับทราบถึงอันตรายต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น

 -  มีการพัฒนาและดำเนินการเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติงานอย่างปลอดภัย (Safe Work Practices) เพื่อใช้ควบคุมการปฏิบัติงานของลูกจ้างของผู้รับเหมา เช่น ระบบขออนุญาตในการทำงาน (Permit System)

 -  ลูกจ้างของผู้รับเหมาได้รับการฝึกอบรมให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างปลอดภัย ก่อนที่จะเริ่มปฏิบัติงานจริง -  มีการประเมินผลอยู่เป็นระยะถึงการปฏิบัติตามข้อผูกมัดตามสัญญาที่มีของผู้รับเหมา

 

 

 

-  มีการเก็บรายงานบันทึกเกี่ยวกับการบาดเจ็บ และการเจ็บป่วยในพื้นที่งานของผู้รับเหมา อันเป็นผลมาจากการทำงานในส่วนที่เกี่ยวของโดยตรงกับกระบวนการหรืออยู่บริเวณใกล้เคียง

 

 

 

7. การทบทวนความปลอดภัยก่อนเริ่มต้น กระบวนการ

(Pre–Startup Safety Review: PSSR)

-  มีการทบทวนความปลอดภัยก่อนเริ่มกระบวนการ ในส่วนของอาคาร ภาชนะบรรจุ อุปกรณ์หรือเครื่องมือใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการ ทั้งที่เป็นของใหม่และการปรับปรุงใด ๆ ที่มีนัยสำคัญเพียงพอที่จะส่งผลให้ต้องมีการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญในข้อมูลความปลอดภัยของกระบวนการ  

 

 

 

8. ความเที่ยงตรงของกลไกการทำงาน  (Mechanical Integrity)

 -  มีการดำเนินการในเรื่องโปรแกรมความเที่ยงตรงของกลไกการทำงานอย่างต่อเนื่อง                                                                 

 -  มีการใช้โปรแกรมการบำรุงรักษาเชิงป้องกัน (The Preventive Maintenance Program) มากกว่า หรือแทนที่โปรแกรมการบำรุงรักษาหลังเกิดเหตุขัดข้อง (Breakdown Maintenance)

 

 

 

9. การทำงานที่เกี่ยวข้องกับความร้อน  (Hot Work)

-  มีการควบคุมการทำงานที่เกี่ยวข้องกับความร้อน เช่น มีระบบในการขออนุญาตทำงานที่เกี่ยวข้องกับความร้อน (Hot Work Permit System)      

10. การบริหารความเปลี่ยนแปลง  (Management Of Change: MOC)

-  มีการเขียนขั้นตอนในการบริหารความเปลี่ยนแปลง (ชี้บ่ง ประเมิน ทบทวน) สำหรับการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ที่เกิดขึ้นกับกระบวนการที่มากกว่าการแทนที่ตามคุณลักษณะที่กำหนดไว้ (Replacement in Kind) ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ เทคโนโลยี ขั้นตอนการปฏิบัติงาน วัตถุดิบ ฯลฯ      

 ตัวอย่าง แบบฟอร์มรายการตรวจสอบ (Checklist) ในแต่ละองค์ประกอบของแผนงานฯ (ต่อ)

 

 

องค์ประกอบของแผนงานฯ

รายการตรวจสอบ

ใช่

ไม่ใช่

ไม่แน่ใจ

11. การสอบสวนอุบัติ   การณ์  (Incident Investigation)

-  มีการสอบสวนในแต่ละอุบัติการณ์ ภายใน 48 ชั่วโมงหลังเกิดเหตุ

-  มีการจัดตั้งทีมงานสอบสวนอุบัติการณ์ ที่ประกอบไปด้วยสมาชิกอย่างน้อย 1 คนที่มีความรู้เป็นอย่างดีในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการ อาจรวมถึงลูกจ้างของผู้รับเหมาด้วย ถ้าเหตุการณ์นั้นมีส่วนเกี่ยวข้องกับงานของผู้รับเหมา ส่วนสมาชิกคนอื่น ๆ ในทีมก็จะเป็นผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์ที่เหมาะสม ในการสอบสวนและวิเคราะห์ละสาเหตุ เพื่อที่ว่ามาตรการในการแก้ไขจะได้รับการพัฒนาและดำเนินการ่จะดำเนินการสอบสวนผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ด้วยความโปร่งใส เหตุการณ์ได้อย่างละเอียด รอบคอบ

-  มีการรายงานการสอบสวนอุบัติการณ์ ซึ่งจะรวมถึงวันที่เกิดเหตุ วันที่เริ่มทำการสอบสวน คำอธิบายถึงอุบัติการณ์ที่เกิดขึ้น ปัจจัยที่เกื้อหนุนให้เกิดอุบัติการณ์ ข้อเสนอแนะในการแก้ไข ฯลฯ

-  ดำเนินการแก้ไข โดยการเตรียมความพร้อมในการระบุและแก้ไขสิ่งที่ค้นพบ และปฏิบัติตามข้อเสนอแนะจากรายงาน และมีการจดบันทึกรายละเอียดเป็นเอกสารไว้

-  มีการทบทวนรายงาน และเก็บรักษารายงานการสอบสวนอุบัติการณ์นี้ไว้เป็นระยะเวลา 5 ปี

     

12. การวางแผนและรับมือกับเหตุฉุกเฉิน (Emergency Planning and Response)

-  มีการวางแผนรับเหตุฉุกเฉิน (Emergency Action Plan: EAP) และมีการจัดตั้งทีมรับเหตุฉุกเฉิน

 -  มีการฝึกปฏิบัติและฝึกอบรมให้ทีมรับเหตุฉุกเฉิน ได้เข้าใจถึงขั้นตอนการรับเหตุฉุกเฉิน

 

 

 

     

13. การตรวจประเมินการปฏิบัติตามข้อบังคับของแผนงานฯ (Compliance Audits)

-  มีการจัดตั้งทีมตรวจประเมินที่ประกอบไปด้วยบุคลากรที่มีความรู้ในเทคนิคการตรวจประเมินและเป็นผู้ที่มีความเป็นกลางในสิ่งหรือพื้นที่ที่ทำการตรวจประเมิน

-  มีการประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลของแผนงานฯ และขอบเขตของการดำเนินการตามแผนงานฯ เพื่อรับรองได้ว่าสถานประกอบการมีการปฏิบัติตามข้อบังคับของแผนงานฯ หรือเป็นเครื่องชี้วัดว่าพื้นที่งานใดของสถานประกอบการที่ไม่มีการปฏิบัติตามข้อบังคับของแผนงานฯ และจำเป็นต้องได้รับการแก้ไข

-  มีการตรวจประเมินอย่างน้อยทุก ๆ 3 ปี เพื่อพิสูจน์ยืนยันการปฏิบัติตามเกณฑ์มาตรฐาน

     

14. ข้อมูลความลับทางการค้า (Trade Secrets)

-  มีการอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงและการค้นหาข้อมูลทั้งหมดในส่วนที่จำเป็นต่อการดำเนินงานตามข้อบังคับของแผนงาน ให้กับกลุ่ม ผู้ที่รับผิดชอบในการเก็บรวบรวมข้อมูลความปลอดภัยของกระบวนการ (PSI) ผู้ทำการพัฒนาขั้นตอนการปฏิบัติงาน และวิเคราะห์อันตรายในกระบวนการ (PHA) ผู้ดำเนินการสอบสวนอุบัติการณ์ ผู้วางแผนและรับมือกับเหตุฉุกเฉิน และการตรวจประเมินการปฏิบัติตามข้อบังคับของแผนงานฯ

-  สำหรับข้อมูลความลับทางการค้า ได้มีการทำข้อตกลงร่วมกันในการรักษาความลับ (Confidentiality Agreements) รวมถึงกำหนดกฎเกณฑ์และขั้นตอนที่จำเป็นในการปฏิบัติตามสำหรับผู้ปฏิบัติงานหรือผู้ที่รับผิดชอบคนใดก็ตามที่จะเข้าถึงข้อมูลความลับทางการค้านั้น

     

 

 

 

  การทบทวนภาพรวมของแผนการบริหารความปลอดภัยในกระบวนการ

                ในการทบทวนองค์ประกอบทั้ง 14 หัวข้อของแผนงานฯ นั้น ผู้ทำการทบทวนควรให้ความใส่ใจใน 3 ประเด็นหลักเหล่านี้ คือ

·การจดบันทึกผลการทบทวน (Records Review) – โดยบันทึกเป็นเอกสาร
.สภาพการณ์ของพื้นที่งาน (On–site Conditions) – เป็นการยืนยันว่าแผนงานฯ ได้ถูกดำเนินการ
·การสัมภาษณ์ (Interviews) – ทั้งเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ ช่างซ่อมบำรุง วิศวกร ผู้ปฏิบัติงาน และลูกจ้างของผู้รับเหมา

 โดยในการทบทวนนั้น อาจพิจารณาในรูปแบบของคำถามที่ว่า “ใคร.. อะไร.. เมื่อไร.. ที่ไหน.. ทำไม ..และ.. อย่างไร (Who, What, When, Where, Why and How)” ตัวอย่างเช่น

-ใครคือผู้ที่รับผิดชอบในการพัฒนาและดำเนินการในแต่ละองค์ประกอบของแผนงานฯ
-อะไรคือข้อกำหนดและเนื้อหาในแต่ละองค์ประกอบของแผนงานฯ
-เมื่อไรที่การปฏิบัติตามข้อกำหนดจะต้องถูกดำเนินการ และมีกำหนดเสร็จสิ้นเมื่อไร
-ที่ไหนที่ขั้นตอนการปฏิบัติงานมีการเปลี่ยนแปลง
-ทำไมต้องมีดำเนินการเช่นนั้น
-แผนงานฯ ได้ถูกดำเนินการอย่างไร และได้รับการประเมินถึงประสิทธิภาพและพัฒนาอย่างไร

กล่าวโดยสรุปแล้ว สำหรับแผนการบริหารความปลอดภัยในกระบวนการ (PSM) จะมีหัวใจสำคัญอยู่ 5 ประการ ที่จะทำให้การดำเนินงานตามแผนงานฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ กล่าวคือ

1. นโยบายของบริษัท (Company Policy) โดยนโยบายทางด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อมของบริษัท จะถือว่ามีส่วนสำคัญที่จะเป็นแรงผลักดันในการจัดตั้งพันธะสัญญาของฝ่ายบริหารที่มีต่อแผนงานฯ (The Management Commitment to the PSM Program)

2. องค์ประกอบที่เกี่ยวกับเทคนิคพื้นฐาน (Basic Technical Elements) ก็คือ องค์ประกอบที่มีขั้นตอนดำเนินงานทางด้านเทคนิคพื้นฐาน เช่น เทคโนโลยีความปลอดภัยในกระบวนการ (Process Safety Technology) ความเที่ยงตรงของกลไกการทำงาน (Mechanical Integrity: MI) การวิเคราะห์อันตรายในกระบวนการ (Process Hazard Analysis: PHA) แผนรับเหตุฉุกเฉิน (Emergency Action Plan: EAP) ฯลฯ ซึ่งองค์ประกอบที่เกี่ยวกับเทคนิคพื้นฐานเหล่านี้ จะสร้างความน่าเชื่อถือให้กับความปลอดภัยในกระบวนการได้เป็นอย่างดี

3. การฝึกอบรม (Training) จะช่วยให้ผู้ปฏิบัติงาน และ/หรือลูกจ้างของผู้รับเหมาได้มีความรู้ และทักษะความชำนาญที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงานอย่างปลอดภัย ซึ่งจะทำให้ผู้เข้ารับการอบรมได้รับทราบว่า “จะทำอะไร ทำไมต้องทำ และทำอย่างไร” ในงานที่เกี่ยวข้องหรือถูกมอบหมาย และเมื่อการฝึกอบรมนั้นมีประสิทธิภาพ ก็จะทำให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้รับทราบถึงความคาดหวังที่มีต่อตัวเขา และมองเห็นความสำคัญของตัวเองที่มีต่อความสำเร็จของแผนงานฯ

4. เกณฑ์มาตรฐานสำหรับผลการปฏิบัติงาน (Performance Standards) โดยต้องมีการจัดตั้งเกณฑ์มาตรฐานสำหรับผลการปฏิบัติงานของผู้ที่เกี่ยวข้องกับแผนงานฯ ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ ช่างซ่อมบำรุง ฯลฯ ไปจนถึงฝ่ายบริหารที่มีพันธะสัญญาต่อแผนงานฯ

5. การตรวจประเมินและการตอบกลับ (Auditing and Feedback) จะเกี่ยวข้องกับการสื่อสารที่ดีทั้งจากบนลงล่างและจากล่างขึ้นบน (Upward & Downward) โดยการตรวจประเมินจะเป็นการวัดว่าสิ่งที่ได้ดำเนินการไปนั้นได้ผลเป็นอย่างไร ส่วนการตอบกลับและการสื่อสารในทุก ๆ วิถีทางก็จะช่วยให้ผู้ดำเนินการสามารถชี้บ่งได้ว่าพื้นที่ใดสมควรได้รับการพัฒนาและให้ความใส่ใจเป็นกรณีพิเศษ

 
      จากการที่กล่าวมาครบทั้ง 3 ตอน ในเรื่องเกี่ยวกับแผนการบริหารความปลอดภัยในกระบวนการ (Process Safety Management Program: PSM) ก็หวังว่าจะมีประโยชน์ต่อผู้อ่านหรือผู้ที่สนใจในการนำเอาสาระสำคัญของแผนงานฯ ไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับลักษณะเฉพาะของแต่ละสถานประกอบการที่มีกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีอันตราย ทั้งนี้ก็เพื่อให้คำว่า “ความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงาน” มิใช่แค่เพียงตัวอักษรที่อยู่ในบทบัญญัติตามกฎหมายเท่านั้น แต่สามารถเกิดขึ้นได้จริงถ้าทุก ๆ คนที่เกี่ยวข้องมีความจริงใจและจริงจังที่จะทำ

 
เอกสารอ้างอิง

- Process Safety Management, The Elements of PSM by Ken Bingham; June 2008
- Making it Safe: Process Safety Management in , May/June 2001
- Process Safety Management: U.S.Department of Labor Occupational Safety & Health Administration (OSHA) 3132; 2000 (Reprinted)

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด