เนื้อหาวันที่ : 2013-04-26 17:33:37 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 9727 views

Green Procurement การจัดซื้อผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

การเพิ่มขึ้นของประชากร กิจกรรมทางเศรษฐกิจของมนุษย์ทั้งการผลิตและการให้บริการ ได้เปลี่ยนวิถีชีวิตของคนทั้งโลกและรวมถึงคนไทยไปสู่การอุปโภคบริโภคที่มีการใช้พลังงานและทรัพยากรธรรมชาติอย่างฟุ่มเฟือย

Green Procurement
การจัดซื้อผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ธิระศักดิ์ เสภากล่อม
ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
     
   การเพิ่มขึ้นของประชากร กิจกรรมทางเศรษฐกิจของมนุษย์ทั้งการผลิตและการให้บริการ ได้เปลี่ยนวิถีชีวิตของคนทั้งโลกและรวมถึงคนไทยไปสู่การอุปโภคบริโภคที่มีการใช้พลังงานและทรัพยากรธรรมชาติอย่างฟุ่มเฟือย ก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมและการลดลงของทรัพยากรธรรมชาติ การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของปริมาณขยะมูลฝอยและมลพิษต่างๆ


   ในอดีตที่ผ่านมาการจัดการสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยมักจะมุ่งไปที่ผู้ผลิตซึ่งเป็นผู้ก่อมลพิษโดยตรง เช่น มาตรการควบคุมมลพิษที่ปลายเหตุ การบำบัดน้ำเสีย การบำบัดอากาศเสีย ต่อมาได้ส่งเสริมแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SustainableDevelopment)ที่ประกอบไปด้วยการผลิตที่ยั่งยืน(Sustainable Production)และการบริโภคที่ยั่งยืน(Sustainable Consumption) สำหรับแนวทางการผลิตที่ยั่งยืน เช่น การผลิตที่สะอาดและการป้องกันมลพิษเพื่อลดมลพิษที่แหล่งกำเนิดและใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ยังคงเน้นการแก้ไขที่ผู้ผลิตซึ่งไม่ได้มีเพียงผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมเท่านั้นแต่ยังรวมภาคเกษตรกรรมและธุรกิจการให้บริการต่างๆ ซึ่งเป็นฝ่ายจัดหาสินค้าหรือบริการให้แก่ผู้บริโภคตามความสัมพันธ์ของกลไกการตลาดที่เกิดจากอุปสงค์อุปทาน


   อุปสงค์ของผู้บริโภคสามารถใช้กำหนดอุปทานจากผู้ผลิตได้เนื่องจากในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ความต้องการของลูกค้าเป็นปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อผู้ผลิต การบริโภคที่ยั่งยืนได้คำนึงถึงประเด็นนี้ หากผู้บริโภคเรียกร้องให้ผู้ผลิตปรับปรุงคุณภาพของสินค้าและบริการในเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ผู้ผลิตก็จะให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมตามความต้องการของลูกค้า อย่างไรก็ตามสัดส่วนของกลุ่มผู้บริโภคที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมต้องมีปริมาณมากพอที่จะส่งผลต่อการตัดสินใจเปลี่ยนแปลงของผู้ผลิตได้


    ในด้านการบริโภคที่ยั่งยืนประเทศไทยได้นำการตลาดสีเขียว (Green Marketing) ที่เป็นกลยุทธ์หนึ่งของภาคธุรกิจมาใช้ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้ประเทศไทยเริ่มมีสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือสินค้าสีเขียว (Green Products) วางขายในตลาดมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การเติบโตของตลาดสีเขียวของประเทศไทยช้ากว่าประเทศอื่น ๆ มาก เนื่องจากผู้บริโภคไทยยังไม่นิยมใช้ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมเป็นอีกปัจจัยหนึ่งในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ ทำให้การตลาดสีเขียวของไทยยังไม่ประสบความสำเร็จ นั้นคือการขาดกลุ่มผู้บริโภคที่มีความห่วงใยต่อสิ่งแวดล้อม (Green Consumers) อย่างจริงจัง 
    
     

รูปที่ 1 การจัดซื้อที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

 

  ในยุคการค้าไร้พรมแดน การที่จะผลิตส่งสินค้าออกไปยังต่างประเทศ ย่อมต้องผ่านกฎระเบียบและข้อบังคับของแต่ละประเทศ ซึ่งปัจจุบันทุกประเทศต่างให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อม คิดค้นสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้นเจ้าของผลิตภัณฑ์ในต่าง ๆ ที่เข้ามาจ้างผู้ผลิตในระดับ Tier 1, Tier 2 หรือลึกไปถึงระดับวัตถุดิบ จำเป็นเป็นต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม วัตถุดิบที่ผลิตได้เป็นไปตามกฎข้อบังคับในเรื่องของ Green Procurement หรือ Green Purchasing Network (GPN) ซึ่งจะเป็นการปรับระบบการจัดซื้อ จัดจ้างใหม่ จะต้องคำนึงถึงผู้จำหน่ายที่จะมานำเสนอ ผลิตภัณฑ์ อะไหล่ ชิ้นส่วน หรือวัตถุดิบ ฯลฯ ว่าได้นำเสนอผลิตภัณฑ์ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่ ซึ่งจะต้องรวมไปถึงวัสดุที่นำมาใช้ผลิต การขนส่งการใช้งาน และสามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ โดยดูทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับวงจรโซ่ห่วงอุปสงค์ (Supply Chain) ทั้งกระบวนการเพราะผลิตภัณฑ์จะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมไม่ได้หากอะไหล่ชิ้นส่วนอื่นที่นำมาประกอบไม่ได้รับการควบคุมหรือไม่ได้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเลย หรืออย่างน้อยก็ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด


การจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Procurement) 

   การจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือเรียกสั้น ๆ ว่าการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว (Green Procurement) จึงหมายถึง การจัดซื้อหรือจัดจ้างผลิตภัณฑ์หรือบริการ โดยคำนึงถึงความเหมาะสมทางด้านคุณภาพ ราคา การส่งมอบสินค้าหรือบริการตามที่กำหนด และการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการผลิตและบริการ โดยพิจารณาตลอดทั้งวัฎจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ การจัดซื้อจัดจ้างสีเขียวช่วยทำให้เกิดตลาดผลิตภัณฑ์สีเขียว (Demand-side) กระตุ้นให้ผู้ผลิตหันมาใส่ใจผลิตผลิตภัณฑ์ที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เกิดการแข่งขันกันปรับปรุงคุณภาพสินค้า หรือบริการของตนเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด โดยคำนึงถึงคุณภาพและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตลอดทั้งวัฎจักรชีวิตแทนการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตามระเบียบข้อบังคับของทางราชการ และยังเป็นการสร้างโอกาสให้ผู้บริโภคเข้ามามีส่วนร่วมในการรักษาสิ่งแวดล้อมผ่านกลไกทางการตลาดอีกด้วย ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์อื่น ๆ โดยมีฉลากสิ่งแวดล้อมเป็นเครื่องมือแยกผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมออกจากผลิตภัณฑ์ทั่วไปในท้องตลาด และให้ข้อมูลทางด้านสิ่งแวดล้อมที่ถูกต้องของผลิตภัณฑ์แก่ผู้บริโภค สำหรับประเทศไทยใช้คำว่า "ฉลากเขียว"


คุณภาพ + ราคา + การส่งมอบ + ปัจจัยสิ่งแวดล้อม = การจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว


การจัดการด้านสิ่งแวดล้อมผ่านคู่ค้าทางธุรกิจ (Greening the Supply Chain) 

    ดังที่ทราบกันทั่วไปว่าห่วงโซ่อุปทานของการผลิตผลิตภัณฑ์ชนิดหนึ่ง ๆ ประกอบด้วยองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็กจำนวนมาก ตั้งแต่ ต้นน้ำ (Upstream) จนถึงปลายน้ำ (Downstream) องค์กรธุรกิจหนึ่ง ๆ จึงสามารถเป็นได้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายในห่วงโซ่อุปทาน การจัดการสิ่งแวดล้อมผ่านห่วงโซ่อุปทาน หรือห่วงโซ่สีเขียว (Greening Supply Chain Management) จึงเป็นกลยุทธ์ด้านการบริหารเชิงธุรกิจที่สามารถดำเนินการควบคู่ไปกับการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อทำให้เกิดการปรับปรุงการบริหารจัดการและสิ่งแวดล้อมภายในองค์กรอย่างยั่งยืน องค์กรธุรกิจหลายที่มีมาตรฐาน แนวนโยบาย และ/หรือระบบการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจนจะช่วยให้สามารถตีกรอบการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมและการปรับปรุงประสิทธิภาพของบริษัทได้ดียิ่งขึ้น โดยเชื่อมโยงกระบวนการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบเพื่อใช้ในการผลิต การจัดซื้อ การขนส่ง และการส่งมอบผลิตภัณฑ์ไว้ด้วยกัน โดยสร้างความร่วมมือภายในองค์กรผู้ซื้อ (Buyers) และบริษัทคู่ค้า (Suppliers) เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า และส่งเสริมให้มีการนำหลักการผลิตที่สะอาดและการป้องกันมลพิษมาใช้ในองค์กร โดยองค์กรธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ที่มีอำนาจในการซื้อได้ดำเนินการวางนโยบายเพื่อซื้อสินค้าฉลากเขียวจากคู่ค้าของตน ที่มีการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดี ซึ่งจะส่งผลดีต่อการผลิตผลิตภัณฑ์ของผู้ซื้อ และช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมไว้ด้วย 


   ประโยชน์ของการจัดการสิ่งแวดล้อมผ่านคู่ค้าทางธุรกิจนั้นมีอยู่มากมาย ยกตัวอย่างบริษัท เจเนอรัล มอเตอร์ (General Motors: GM) ได้ให้ความเห็นว่า "จากการทำงานร่วมกับบริษัท ซัพพลายเออร์ ทำให้บริษัท (GM) สามารถปรับปรุงผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมได้มากกว่าการที่บริษัททำเพียงลำพัง ซึ่งนอกจากนี้ยังทำให้ซัพพลายเออร์สามารถลดต้นทุนการผลิต ปรับปรุงการดำเนินงานขององค์กรให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า เพิ่มยอดขาย ทำให้เกิดภาพพจน์ที่ดีแก่บริษัท และทำให้กลุ่มซึ่งมีการลงทุนที่รับผิดชอบต่อสังคม (Socially Responsible Investment Groups) ให้คะแนนแก่บริษัทเพิ่มขึ้น”


   ในการจัดการสิ่งแวดล้อมผ่านคู่ค้าทางธุรกิจกับบริษัท ซัพพลายเออร์ อาจทำได้ทั้งแบบชั้นเดียวคือการดำเนินงาน ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมกับคู่ค้าทางธุรกิจที่ติดต่อกันโดยตรง หรืออาจทำงานร่วมกับคู่ค้าทางธุรกิจหรือซัพพลายเออร์สายลึกลงไป เช่น ซัพพลายเออร์ที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานชั้นที่ 2 หรือชั้นที่ 3 ซึ่งอาจเป็นวิธีการซับซ้อนและทำได้ยาก และบางองค์กรธุรกิจก็ให้ความสนใจในการดำเนินงานด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมกับคู่ค้าทางธุรกิจ ให้ความรู้เรื่องประโยชน์ที่ได้รับด้านสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์ของตนแก่ลูกค้า หรือที่เรียกว่า ห่วงโซ่อุปทานแบบย้อนกลับ (Reverse Supply Chain) ที่สามารถส่งคืนซากสินค้าให้กับผู้ผลิต เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ ใช้ซ้ำ นำไปบำบัดหรือกำจัดต่อไปอีกด้วย


   ผู้ที่มีบทบาทในการกระตุ้นให้เกิดตลาด ของผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

1.  ผู้บริโภค ในที่นี้หมายถึง ผู้บริโภครายบุคคล บริษัทเอกชน หน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐ ความต้องการของผู้บริโภคเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญที่ผลักดันให้เกิดการผลิต ปรับปรุงและพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการสู่ตลาด  โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาครัฐซึ่งเป็นผู้บริโภครายใหญ่ที่สุดของประเทศและมีอำนาจในการจัดซื้อสูง เช่น ในประเทศญี่ปุ่น หน่วยงานของรัฐบาลกลางและหน่วยงานขององค์การส่วนท้องถิ่น มีค่าใช้จ่ายการจัดซื้อสีเขียวประจำปีคิดเป็น 17.6 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP)


2.  ภาคธุรกิจผู้ผลิต ความต้องการของผู้บริโภคจะกระตุ้นให้ผู้ผลิตหันมาใส่ใจผลิตภัณฑ์ที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยการนำแนวคิดเรื่อง Eco-design การวิเคราะห์คุณภาพและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตลอดทั้งวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ (Life cycle analysis: LCA) รวมถึงการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental  Management System: EMS) ประโยชน์ที่ผู้ผลิตจะได้รับจากการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม คือ ปรับปรุงการดำเนินงานขององค์การให้มีประสิทธิภาพ ลดต้นทุนการผลิต สร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลิตภัณฑ์ และสร้างภาพพจน์ที่ดีแก่องค์การในด้านความรับผิดชอบต่อสังคม

 
ภาครัฐ ปัจจัยขับเคลื่อนสู่การเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

   ปัจจุบัน ภาครัฐรวมทั้งหน่วยงานส่วนกลางและท้องถิ่น ถือเป็นผู้บริโภครายใหญ่ที่สุดที่จะสามารถสร้างแรงขับเคลื่อนให้ภาคการผลิตมุ่งไปสู่การผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนให้เกิดการบริโภคที่ยั่งยืนได้ งบประมาณที่ใช้ในการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐมีสัดส่วนที่สูงตั้งแต่ร้อยละ 11-17 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) และไม่เพียงแค่มีสัดส่วนการบริโภคขนาดใหญ่เท่านั้น แต่ภาครัฐยังมีการจัดซื้อจัดจ้างที่ครอบคลุมผลิตภัณฑ์หลากหลายตั้งแต่สินค้าทั่วไป จนถึงการก่อสร้างและบริการต่าง ๆ ภาครัฐ จึงเป็นกำลังสำคัญที่จะสร้างอุปสงค์ และสนับสนุนให้เกิดอุปทานของสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Demand) ในตลาด โดยการเลือกซื้อและใช้สินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยการกำหนดเป็นนโยบายให้หน่วยงานที่ภาครัฐต้องจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ผู้ผลิตและผู้ให้บริการสร้างอุปทานสินค้าหรือบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น


   สำหรับบทบาทสำคัญต่อการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนี้ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้มีคำสั่งให้กรมควบคุมมลพิษ ดำเนินการศึกษาคัดเลือก และกำหนดหลักเกณฑ์ของสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้หน่วยงานในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนำร่องจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยให้กรมควบคุมมลพิษดำเนินการนำร่องในการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อนำผลไปสู่การปฏิบัติในการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ ต่อไปจากการศึกษาและพัฒนาข้อกำหนดการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

   โดยเบื้องต้นได้มีการกำหนดให้มีการจัดซื้อจัดจ้างครอบคลุมสินค้า 5 ประเภทและบริการ 2 ประเภท ประกอบด้วย 1) ตลับหมึก 2) กระดาษคอมพิวเตอร์ 3) แฟ้มเอกสาร ซองบรรจุภัณฑ์ กล่องใส่เอกสาร และกระดาษสีทำปก 4) ผลิตภัณฑ์ลบคำผิด 5) หลอดฟลูออเรสเซนซ์ และบริการ 2 ประเภท คือ 1) บริการทำความสะอาด และ 2) บริการโรงแรม

  โดยพิจารณาคัดเลือกจากผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของสินค้าและบริการที่ภาครัฐมีการจัดซื้อจัดจ้าง ปริมาณการจัดซื้อจัดจ้าง และโอกาสทางเลือกสินค้าหรือบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าที่อยู่ในท้องตลาดเกณฑ์ข้อกำหนดสำหรับสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่ได้รับการคัดเลือกที่จะถือว่าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้มาจากการพิจารณาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากขั้นตอนต่าง ๆ ของสินค้าและบริการตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ การผลิต การขนส่ง การใช้งาน และการกำจัดทิ้งโดยเลือกเฉพาะประเด็นสำคัญ ซึ่งสามารถสรุปได้ดังตารางที่ 1 และ 2 และรวมถึงสินค้าที่ได้รับเครื่องหมายฉลากสิ่งแวดล้อม เช่น ฉลากเขียว หรือฉลากสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ที่ปฏิบัติตามข้อกำหนดในมาตรฐาน ISO 14020


ตารางที่ 1 สรุปเกณฑ์ข้อกำหนดสำหรับสินค้านำร่องที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม


ตารางที่ 2 สรุปเกณฑ์ข้อกำหนดสำหรับบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

  

เกณฑ์การจัดซื้อสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม- คุณสมบัติสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

1) ใช้วัสดุที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย เช่น วัสดุที่ไม่มีพิษ วัสดุหมุนเวียนทดแทนได้วัสดุรีไซเคิล และวัสดุที่ใช้พลังงานต่ำในการจัดหามา

2) ใช้วัสดุน้อย เช่น น้ำหนักเบา ขนาดเล็ก มีจำนวนประเภทของวัสดุน้อย มีการเสริมความแข็งแรงเพื่อให้ลดขนาดลงได้

3) มีการใช้เทคโนโลยีการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูงสุด เช่น ใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพในการผลิต ใช้พลังงานที่สะอาด ลดการเกิดของเสียจากกระบวนการผลิตและลดขั้นตอนของกระบวนการผลิต

4) มีระบบขนส่งและจัดจำหน่ายที่มีประสิทธิภาพสูงสุด เช่น ลดการใช้หีบห่อบรรจุภัณฑ์ที่ฟุ่มเฟือย ใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากวัสดุที่ใช้ซ้ำหรือหมุนเวียนใช้ใหม่ได้ ใช้รูปแบบการขนส่งที่ก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่ำ และเลือกใช้เส้นทางการขนส่งที่ประหยัดพลังงานที่สุด

5) ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดในช่วงการใช้งาน เช่น ใช้พลังงานต่ำ มีการปล่อยมลพิษต่ำในระหว่างใช้งาน ลดการใช้วัสดุสิ้นเปลือง (เช่น ต้องเปลี่ยนไส้กรองบ่อย) และลดการใช้ชิ้นส่วนที่ไม่จำเป็น

6) มีความคุ้มค่าตลอดชีวิตการใช้งาน เช่น ทนทาน ซ่อมแซมและดูแลรักษาง่าย ปรับปรุงต่อเติมได้ ไม่ต้องเปลี่ยนบ่อย

7) มีระบบการจัดการหลังหมดอายุการใช้งานที่มีประสิทธิภาพสูงสุด เช่น การเก็บรวบรวมที่ก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่ำ มีการออกแบบให้นำสินค้าหรือชิ้นส่วนกลับมาใช้ซ้ำ หรือหมุนเวียนใช้ใหม่ได้ง่าย หรือหากต้องกำจัดทิ้งสามารถนำพลังงานกลับคืนมาใช้ได้และมีความปลอดภัยสำหรับการฝังกลบ


    
การพิจารณาว่าสินค้าใดเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมควรพิจารณาว่าสินค้านั้นส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากในช่วงใดของวัฏจักรชีวิต เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า จะก่อผลกระทบมากในช่วงใช้งานมากกว่าในช่วงการผลิต และหากมีการลดผลกระทบในช่วงดังกล่าวให้น้อยกว่าสินค้าอื่นที่มีลักษณะการทำงานเหมือนกันรวมทั้งประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ จะถือได้ว่าเป็นสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมการรับรองสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยฉลากสิ่งแวดล้อม ประเภทที่ 1 ตามอนุกรมมาตรฐาน ISO 14024 เป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้ซื้อสามารถบ่งชี้ว่าสินค้าดังกล่าวเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้โดยง่าย ซึ่งฉลากประเภทดังกล่าวจะมีองค์กรกลางให้การรับรอง ตามเกณฑ์กำหนดในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่พิจารณาตลอดช่วงชีวิตของสินค้านั้น ตัวอย่างของฉลากสิ่งแวดล้อมประเภทที่ 1 ได้แก่ ฉลากเขียวของประเทศไทยที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างองค์กรพัฒนาเอกชนกับหน่วยงานภาครัฐ ฉลาก Blue Angel ของเยอรมนี และฉลาก Eco-Mark ของญี่ปุ่น เป็นต้น ดังตัวอย่างในรูปที่ 2

 


รูปที่ 2 ฉลากสิ่งแวดล้อมของประเทศต่าง ๆ

 

เกณฑ์การจัดจ้างบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

-  เกณฑ์ในการจัดจ้างบริการทำความสะอาด
     1. เกณฑ์กำหนดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ต้องไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่มีส่วนผสมของสารอันตราย
     2. เกณฑ์กำหนดเกี่ยวกับพนักงานพนักงานได้รับการฝึกอบรมด้านการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมแนบหลักฐานยืนยันการฝึกอบรมพนักงาน
     3. เกณฑ์กำหนดเกี่ยวกับการคัดแยกขยะมีการดำเนินการ อธิบายขั้นตอน และเสนอแนวปฏิบัติที่ชัดเจนในการให้พนักงานทำความสะอาด คัดแยกขยะบรรจุภัณฑ์ หรือวัสดุเหลือใช้อื่น ๆ ที่เกิดขึ้นจากขยะทั่วไปที่มีอยู่ในอาคารสำนักงานเพื่อนำกลับไปสู่กระบวนการแปรรูปหรือเวียนใช้ใหม่ รวมถึงจัดอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ พร้อมรายงานผลการดำเนินการการคัดแยกขยะตามระยะเวลาที่เหมาะสม

-  ข้อกำหนดสำหรับโรงแรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
      1. มีการควบคุมคุณภาพและการบำบัดน้ำทิ้ง ต้องเป็นไปตามกฎหมายและข้อบังคับของทางราชการ
      2. มาตรการทางด้านความปลอดภัย การเก็บรักษา ใช้ และจัดการเชื้อเพลิง แก๊ส และสารพิษ ต้องเป็นไปตามกฎหมาย และข้อบังคับของทางราชการ
      3. มีการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจน เช่น นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม การจัดการของเสีย การใช้พลังงานและทรัพยากร การจัดซื้อที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การควบคุมมลพิษ มาตรการในการลดผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ และการมีส่วนร่วมกับชุมชนและท้องถิ่น


ฉลากเขียว: Green Label
    ฉลากเขียว เป็นแนวความคิดที่เกิดขึ้นจากความจำเป็นในการฟื้นฟูและรักษาสภาพสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการพัฒนาประเทศด้วยวิธีการต่าง ๆ อันจะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน เยอรมันเป็นประเทศแรกที่เริ่มโครงการฉลากเขียวตั้งแต่ปี 2520 ปัจจุบันมีประเทศต่าง ๆ ที่ดำ เนินโครงการนี้มากกว่า 30 ประเทศ เช่น แคนาดา สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน เกาหลี กลุ่มประเทศนอร์ดิก และสหภาพยุโรป แต่ละโครงการจะมีความแตกต่างกันทางด้านโครงสร้าง คณะผู้บริหาร รูปแบบ และขั้นตอนการดำเนินงาน โครงการเหล่านี้เป็นโครงการระดับประเทศหรือระดับภูมิภาค

    ฉลากเขียว ถือเป็นกลยุทธ์หนึ่งในนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่ใช้การตลาดเป็นเครื่องมือ เนื่องจากมีสินค้าและบริการวางจำหน่ายในตลาดเป็นจำนวนมาก ฉลากเขียวที่ติดอยู่กับผลิตภัณฑ์จะเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคทราบว่าผลิตภัณฑ์นั้นเน้นคุณค่าทางสิ่งแวดล้อม ทำให้ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อได้ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ ในส่วนผู้ผลิตหรือผู้จัดจำหน่ายจะได้รับผลประโยชน์ในแง่กำไร เนื่องจากมีการบริโภคผลิตภัณฑ์เหล่านั้นมากขึ้น ผลักดันให้ผู้ผลิตรายอื่น ๆ ต้องแข่งขันกันปรับปรุงคุณภาพของสินค้าหรือบริการของตน โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ

    ฉลากเขียว จึงเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่ช่วยป้องกันรักษาธรรมชาติผ่านทางการผลิตและการบริโภคของผู้ผลิตและผู้บริโภคทุกคนเป็นการแสดงความมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการสิ่งแวดล้อม

    ฉลากเขียว ไม่ได้เป็นเงื่อนไขในการกีดกันทางการค้าหรือการตลาด แต่จัดตั้งขึ้นเพื่อป้องกันและปรับปรุงสภาพแวดล้อมภายในประเทศ ในประเทศต่าง ๆ เช่น เยอรมันและญี่ปุ่น ผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศก็มีสิทธิ์สมัครขอใช้ฉลากเขียว เช่นเดียวกับผู้ผลิตในประเทศภายใต้เงื่อนไขเดียวกัน

    ฉลากเขียว ไม่ได้เป็นรางวัลด้านสิ่งแวดล้อม ฉะนั้นจึงไม่มีการออกข้อกำหนดสำหรับผลิตภัณฑ์ที่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายกับสิ่งแวดล้อมหรือทำ ให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด เช่น จักรยาน กลุ่มเป้าหมายจะเป็นสินค้าหรือบริการที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม โดยที่ผู้ผลิตมีทางเลือกอื่นในการผลิต

    ฉลากเขียว เป็นเครื่องมือทางการตลาด เป็นข้อมูลให้ผู้บริโภครู้จักและเลือกซื้อผลิตภัณฑ์หรือบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และผู้ผลิตสามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคได้ ทำให้เกิดการปรับปรุงด้านสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง

- ฉลากเขียว เป็นฉลากประเภทที่ 1 ให้กับผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าผลิตภัณฑ์อื่นที่ทำหน้าที่อย่างเดียวกัน 
- ให้กับผลิตภัณฑ์และบริการทุกประเภท ยกเว้น อาหาร ยา และเครื่องดื่ม
- เป็นโครงการโดยสมัครใจ
- รับสมัครทั้งผู้ผลิตผู้จัดจำหน่ายในประเทศและผู้นำเข้า


    โครงการฉลากเขียวของประเทศไทย
- ริเริ่มโดยคณะกรรมการนักธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมไทย (TBCSD) ในปี 2536
- เริ่มโครงการในเดือนสิงหาคม ปี 2537 โดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม และสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย
- ที่ปรึกษาคือ Federal Environmental Agency of Germany
   

     วัตถุประสงค์
- ให้ข้อมูลที่เชื่อถือได้แก่ผู้บริโภค
- เพิ่มโอกาสให้ผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้าสีเขียวได้มากขึ้น
- ผลักดันให้ผู้ผลิตใช้เทคโนโลยีสะอาดหรือวิธีการผลิตที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย
- ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยรวมของประเทศ


    ประโยชน์ในการเลือกซื้อสินค้าฉลากเขียว
- ลดการใช้ทรัพยากร/วัตถุดิบ หรือใช้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ลดการใช้พลังงาน น้ำ สารเคมี หรือใช้อย่างเหมาะสมถูกต้อง
- ลดการเกิดของเสียและของเสียอันตราย
- ลดการปล่อยมลพิษช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม
- ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (โลกร้อน)
- ได้บริโภคสินค้าที่มีคุณภาพ
- ประหยัดเงินในกระเป๋า
- ดีต่อสุขภาพและมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบต่อสังคม

    
   ปัจจุบันจะเห็นได้ว่าผู้บริโภคเริ่มตื่นตัวมากขึ้น ในการซื้อและบริโภคผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Eco-Products) การจัดซื้อสีเขียว จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาและปรับปรุงผลิตภัณฑ์และบริการเหล่านี้ออกมาตอบสนองความต้องการ นอกจากนี้ ยังมีผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจำนวนมากที่ช่วยประหยัดต้นทุนให้แก่ผู้ผลิต และสามารถสร้างความพึงพอใจให้แก่ผู้บริโภคเป็นอย่างดี


    การพัฒนาธุรกิจที่ยั่งยืนและการนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงกระบวนการผลิตและการรูปแบบสินค้าที่ปล่อยของเสียหรือมลพิษออกสู่สิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดนั้นก็เพื่อตอบสนองต่อกระแสการบริโภคที่ให้ความสำคัญกับสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่หลายประเทศต่างออกมาประกาศมาตรการว่าด้วยการนำเข้าสินค้าที่ปราศจากสารต้องห้ามเข้าไปในประเทศของตนเอง ซึ่งผู้ประกอบการในประเทศไทยต่างตื่นตัว และเริ่มปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ และแนวนโยบายเพื่อให้สอดคล้องกับแนวนโยบายของลูกค้าที่มุ่งพัฒนาธุรกิจให้เป็นธุรกิจที่ยั่งยืน


   ภายใต้แนวทางการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นหนทางหนึ่งที่นานาประเทศให้ความสำคัญในการนำพาประเทศไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ประเทศไทยจำเป็นต้องมีการสร้างกลไกส่งเสริม และสนับสนุนผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและผลักดันอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการผลักดันนโยบายในการจัดซื้อจัดจ้างผลิตภัณฑ์หรือบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างอุปสงค์(Green Demand) ให้แก่ตลาดในระดับประเทศสู่ระดับองค์กร นับเป็นมาตรการเชิงรุกเพื่อให้ผู้ประกอบการแข่งขันกันปรับปรุงคุณภาพสินค้า หรือบริการของตนเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตลอดทั้งวัฎจักรชีวิต อันจะนำไปสู่การลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยรวมของประเทศ นอกจากนี้ยังเป็นการจัดการด้านอุปสงค์ (Demand-side)ควบคู่ไปกับการจัดการด้านอุปทาน(Supply-side)ผลท้ายสุดคือเกิดจิตสำนึก ความตระหนักและมีการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นในภาพรวมของประเทศ รวมถึงผู้บริโภคได้บริโภคสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

 
ข้อมูลอ้างอิง
- เครือข่ายการจัดซื้อที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ
- คู่มือการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม, กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- ปริญญา วงษา, การจัดซื้อสีเขียว (Green purchasing)

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด