ซอฟต์แวร์พาร์ค ยกระดับอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย หนุนเอกชนพัฒนา โปรแกรม Double M JeGe
นำไอที “Double M JeGe”
ช่วยยกระดับอุตสาหกรรมอัญมณีไทย
ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี
ซอฟต์แวร์พาร์ค ยกระดับอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย หนุนเอกชนพัฒนา “โปรแกรม Double M JeGe’” สำหรับธุรกิจอัญมณีในรูปแบบโมเดลธุรกิจใหม่ของธุรกิจซอฟต์แวร์รายแรกของไทย แนะ เอสเอ็มอีเร่งปรับตัวนำไอทีเสริมจุดแข็งให้ธุรกิจในภาวะเศรษฐกิจขาลงและกำลังซื้อหดหาย มั่นใจ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ เพื่อความอยู่รอดในระยะยาว
การแข่งขันในยุคโลกาภิวัตน์ ระบบคอมพิวเตอร์ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้นในภาคอุตสาหกรรม ไม่เว้นแม้แต่ธุรกิจอัญมณีเและเครื่องประดับ ด้วยขั้นตอนการผลิตที่มีความซับซ้อนและต้องการความแม่นยำสูง การนำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้จะช่วยให้ผู้ผลิตสามารถบริหารจัดการการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นปัจจัยที่ช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจอัญมณีไทย
บริษัท ดับเบิล เอ็ม เทคโนโลยี แมเนจเม้นท์ จำกัด ผู้ผลิตและพัฒนาซอฟต์แวร์ ERP สำหรับธุรกิจอัญมณี หรือที่เรียกว่า “โปรแกรม Double M JeGe” รายแรกและรายเดียวของไทยที่ได้พัฒนาซอฟต์แวร์ดังกล่าวขึ้นหลังการเข้าร่วมโครงการบ่มเพาะธุรกิจจากเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย หรือ ซอฟต์แวร์พาร์คในสังกัดศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี(TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
นายอภิรักษ์ เชียงเจริญ กรรมการผู้จัดการสายงานพัฒนาธุรกิจ บริษัท ดับเบิล เอ็ม เทคโนโลยี แมเนจเม้นท์ จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทฯ ก่อตั้งขึ้นในปี 2546 มีทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท ดำเนินธุรกิจด้านการพัฒนาโปรแกรม Enterprise Resource Planning หรือ ERP ชื่อว่า Double M ERPTh@i ในปี 2548 จากนั้นได้พัฒนาโปรแกรมดังกล่าวเพิ่มเติมความสามารถในเรื่องของระบบบัญชีและการเงิน ซึ่งได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ เมื่อเดือนเมษายน 2550 ที่ผ่านมา
“หลังจากเป็นหนึ่งในนักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่เสนอเข้าไปกับกลุ่มผู้ประกอบการอัญมณีในโครงการซอฟต์แวร์พาร์ค ทำให้บริษัทได้มีการทำงานใกล้ชิดกับผู้ประกอบการอัญมณีจึงเกิดการพัฒนาต่อยอดจากระบบ ERPTh@i ให้มีความสามารถเฉพาะในอุตสาหกรรมอัญมณีมากขึ้น โดยจะเน้นพัฒนาเพิ่มเติมในด้านการแสดงผลออกมาในลักษณะรูปภาพโดยเฉพาะในส่วนของรายงานต่าง ๆ การแสดงค่าสูญเสียในแต่ละจุดการทำงานได้ถูกต้องแม่นยำ” นายอภิรักษ์ กล่าว
โปรแกรม ERP สำหรับอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับที่พัฒนาขึ้นนี้ นายอภิรักษ์ กล่าวว่า จะสามารถตอบสนองความต้องการในการบริหารจัดการธุรกิจให้มีประสิทธิภาพการผลิตสูงขึ้นได้กว่า 20% ทั้งการบริหารทรัพยากรของบริษัท ลำดับการรับออร์เดอร์ลูกค้า การวางแผน และควบคุมกระบวนการผลิต การประเมินราคา การคำนวณวัตถุดิบก่อนผลิต ไปจนถึงการส่งมอบและติดตามผล ที่สำคัญจะทำให้ผู้ผลิตสามารถควบคุมวัตถุดิบสูญเสียที่ใช้ในการผลิตได้อย่างแม่นยำ ควบคุมประสิทธิภาพการทำงานของบุคลากร และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้อย่างถูกต้อง
สำหรับคุณสมบัติเด่นของโปรแกรม Double M JeGe นอกจากง่ายต่อการใช้งานด้วยเมนูในการเรียกใช้งานได้ 2 ภาษา คือภาษาไทยและภาษาอังกฤษแล้ว ยังมีราคาที่เหมาะสมและถูกกว่าต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้ผู้ผลิตของไทยกล้าลงทุนและเข้าถึงการนำไอทีไปใช้ได้ง่ายขึ้น
ทั้งนี้ระบบดังกล่าวยังได้รับการออกแบบตามหลักของการบริหารจัดการองค์กรขนาดใหญ่ที่กระบวนการได้ผ่านการทดสอบจากองค์กรขนาดใหญ่แล้ว (Best Practice) ล่าสุดยังได้รับรางวัลรองชนะเลิศซอฟต์แวร์อุตสาหกรรม Thailand ICT Award 2008 จากกระทรวงเทคโนโลยีและสารสนเทศ เมื่อเดือนตุลาคม 2551 ที่ผ่านมา
นางสุวิภา วรรณสาธพ ผู้อำนวยการเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย หรือ ซอฟต์แวร์พาร์ค (TMC) กล่าวว่า ในฐานะที่ซอฟต์แวร์พาร์คมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นให้เกิดการใช้ไอที และทำหน้าที่ประสานหรือเชื่อมโยงธุรกิจเข้าด้วยกัน อุตสาหกรรมอัญมณีเป็นอุตสาหกรรมหลักที่สร้างรายได้เข้าประเทศ ดังนั้นการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาซอฟต์แวร์ ERP สำหรับธุรกิจอัญมณี
จึงถือเป็นรูปแบบการทำธุรกิจซอฟต์แวร์แนวใหม่ ที่เป็นความร่วมมือระหว่างบริษัททำซอฟต์แวร์กับกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่ได้จัดทำซอฟต์แวร์สำหรับการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและสร้างมูลค่าเพิ่มต่อเนื่องด้วยการทำตลาดซอฟต์แวร์ร่วมกัน
จากเดิมที่ข้อมูลต่าง ๆ จะถูกเก็บเป็นความลับของแต่ละบริษัท ทำให้ธุรกิจอัญมณีของไทยขาดความแข็งแกร่ง และไม่พัฒนา ซึ่งรูปแบบการทำธุรกิจดังกล่าวจะทำให้การนำไอทีเข้าไปใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทำได้ง่ายและเร็วขึ้น ขณะเดียวกันทั้งผู้พัฒนาซอฟต์แวร์และผู้ประกอบการอุตสาหกรรมต่างได้รับผลประโยชน์ทั้งคู่
“ รูปแบบที่เกิดนี้ มาจากการดำเนินโครงการต่อเนื่องของซอฟต์แวร์พาร์ค จากโครงการซอฟต์แวร์พาร์ค 2.0 มาจนถึงโครงการล่าสุดของปี 2551 คือ Uplift Thai Economy through IT โดยในช่วงต้นปีที่ผ่านมาซอฟต์แวร์พาร์คได้นำผู้พัฒนาซอฟต์แวร์จำนวนหนึ่งเข้าหารือกับกลุ่มผู้ประกอบการอัญมณี เพื่อหาโซลูชั่นซอฟต์แวร์ที่เหมาะสมในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของธุรกิจนี้ จนเกิดเป็นซอฟต์แวร์ที่ตอบโจทย์ธุรกิจอัญมณีโดยเฉพาะขึ้นเป็นครั้งแรกของไทย ซึ่งทางซอฟต์แวร์พาร์คจะได้นำรูปแบบดังกล่าวไปกำหนดเป็นแนวทางปฏิบัติกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ ต่อไป” ผอ.ซอฟต์แวร์พาร์ค กล่าว
นางสุวิภา กล่าวต่อไปว่า แม้ปัจจุบันในท้องตลาดโปรแกรมประเภท ERP จะมีอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่เป็นระบบที่ทำขึ้นจากต่างประเทศและนำเข้ามาจำหน่าย แต่ยังไม่ได้รับการยอมรับมากนักหรือถูกนำไปใช้ให้เหมาะสม เนื่องจากความไม่เข้าใจและขาดโปรแกรมที่เหมาะสมกับธุรกิจอย่างแท้จริง
ดังนั้น จากความร่วมมือครั้งนี้ จะส่งผลให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทยมีซอฟต์แวร์ ERP ราคาถูกและมีประสิทธิภาพสูงมาไว้ใช้เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารธุรกิจ ขณะที่ผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไทยก็สามารถสร้างจุดแข็งในอุตสาหกรรมเฉพาะทางด้านอัญมณีและเครื่องประดับ เพื่อเพิ่มจุดขายให้กับตนเองในการเป็นผู้เชี่ยวชาญซอฟต์แวร์ต่อไป ทางซอฟต์แวร์พาร์คจึงมีความภูมิใจกับผลสำเร็จที่เกิดจากการเชื่อมโยงครั้งนี้
สำหรับการทำงานในช่วงที่ผ่านมา ได้มีการทดลองใช้โปรแกรม Double M JeGe กับสมาชิกผู้ประกอบการหนึ่งในชมรมเครือข่ายนวัตกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ หรือ NetNovation ตั้งแต่เดือนสิงหาคมพบว่า ได้ผลเป็นที่น่าพอใจอย่างมาก
คาดว่าจะสามารถนำโปรแกรมดังกล่าวออกสู่ตลาดได้ตั้งแต่เดือนธันวาคมนี้เป็นต้นไป กำหนดราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 39,000 บาท/ปีสำหรับการเช่ารายปีที่มีการจำกัดจำนวนผู้ใช้งาน และระดับราคาตั้งแต่ 1,100,000 บาท สำหรับการจำหน่ายแบบไลเซนต์ซึ่งจะไม่จำกัดผู้ใช้งานตลอดอายุการใช้งาน ถือเป็นราคาที่ไม่แพงเมื่อเทียบกับซอฟต์แวร์จากต่างประเทศ
ด้าน นายชยุตม์ อัศรัสกร ประธานชมรมเครือข่ายนวัตกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะขาลง ทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคหดหาย ย่อมส่งผลกระทบต่อสินค้าฟุ่มเฟือยอย่างอัญมณีและเครื่องประดับที่ถูกมองว่าเป็นสินค้าเกินความจำเป็น
จากสถานการณ์ขณะนี้ทำให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ในหลายประเทศซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญของไทย เช่น อินเดีย จีน และ ญี่ปุ่น มีการรวมตัวกันอย่างเหนียวแน่นเพื่อให้ได้อำนาจในการต่อรองการซื้อขายมากขึ้น เกิดเป็น Economy of Scale สูงกว่าประเทศคู่แข่ง แต่ไทยเองถือเป็นเรื่องยากในการรวมตัวดังกล่าว ทำให้บริษัทขนาดใหญ่เริ่มเข้ามาตัดช่วงซื้อขายเพื่อความอยู่รอด เป็นเหตุให้บริษัทขนาดกลางเริ่มอยู่ไม่ได้ อีกทั้งหลายบริษัทได้ทุ่มทุนเข้าพัฒนาระบบและเทคโนโลยีของบริษัทเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ จึงเป็นเหตุให้บริษัทขนาดเล็กไม่สามารถแข่งขันได้ และอาจต้องปิดกิจการไปในที่สุด
“ระบบสารสนเทศ หรือ การนำไอทีเข้ามาใช้จึงเป็นทางออกสำคัญของการดำเนินธุรกิจในยุคนี้ อย่างไรก็ดี เชื่อว่า สถานการณ์จะกลับฟื้นตัวขึ้นอีกครั้งภายใน 2–3 ปี ดังนั้น ในช่วงเวลานี้ ถือเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีควรหันมาปรับปรุงตนเองในจุดที่อ่อน และเสริมจุดแข็งเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต รองรับความต้องการที่จะกลับคืนมาในอนาคต”
ผู้สนใจสามารถขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
บริษัท ดับเบิล เอ็ม เทคโนโลยี แมเนจเม้นท์ จำกัด
โทรศัพท์ 0-2876-4994 หรือที่เว็บไซต์ www.doublemtech.com
งานประชาสัมพันธ์
ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี
โทรศัพท์ 0-2270-1350-4 ต่อ 114-115
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด