เนื้อหาวันที่ : 2013-04-26 15:47:59 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 4368 views

“ไบโอฟิลเตอร์” จากขี้เถ้าแกลบ ลดของเหลือทิ้ง ร่วมรักษ์สิ่งแวดล้อม

TMC ต่อยอดงานวิจัย เชื่อมเอกชนผลิต “ไบโอฟิลเตอร์” วัสดุพรุนสำหรับการย่อยสลายและการบำบัดน้ำเสียทางชีวภาพที่ใช้ในกระบวนการบำบัดน้ำประมง น้ำทิ้งจากชุมชน หรือแม้กระทั่งน้ำในตู้ปลา ชู รักษ์สิ่งแวดล้อม ลดใช้วัสดุจากธรรมชาติ

“ไบโอฟิลเตอร์” จากขี้เถ้าแกลบ ลดของเหลือทิ้ง ร่วมรักษ์สิ่งแวดล้อม
ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี

 

 

 

   TMC ต่อยอดงานวิจัย เชื่อมเอกชนผลิต “ไบโอฟิลเตอร์” วัสดุพรุนสำหรับการย่อยสลายและการบำบัดน้ำเสียทางชีวภาพที่ใช้ในกระบวนการบำบัดน้ำประมง น้ำทิ้งจากชุมชน หรือแม้กระทั่งน้ำในตู้ปลา ชู รักษ์สิ่งแวดล้อม ลดใช้วัสดุจากธรรมชาติ


   ปัจจุบันมีไบโอฟิลเตอร์หลายประเภท เช่น วงแหวนเซรามิกส์ หินพัมมิส หรือปะการัง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนต้องนำมาจากธรรมชาติ แต่จากนี้ไป ผลงานไบโอฟิลเตอร์จาก“ขี้เถ้าแกลบ”ที่ผลิตจากวัสดุเหลือทิ้ง จะสามารถช่วยย่อยของเสียในน้ำทดแทนวัสดุจากธรรมชาติได้ ไม่ทำให้น้ำเป็นพิษ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่ง สำนักงานจัดการสิทธิเทคโนโลยี(TLO) ภายใต้ ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC)

   สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(สวทช.) ได้ร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) สนับสนุนให้ บริษัทไบโอ-แมส เพาเวอร์ จำกัด นำผลงานวิจัย “วัสดุพรุนสำหรับการย่อยสลายและการบำบัดน้ำทางชีวภาพ”เพื่อการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เม็ดบำบัดน้ำจากขี้เถ้าแกลบ ไปผลิตใช้เชิงพาณิชย์แล้ว

     รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) กล่าวว่า บริษัท ไบโอ-แมส เพาเวอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทโรงงานไฟฟ้าที่ใช้แกลบเป็นเชื้อเพลิงหลักและมีขี้เถ้าแกลบเหลือทิ้งในกระบวนการผลิตเป็นจำนวนมากได้แสดงความจำนงที่จะขออนุญาตใช้สิทธิในการผลิตไบโอฟิลเตอร์ เพื่อนำไปใช้ผลิตและจำหน่าย โดยให้บริษัทในเครือ คือ บริษัทสิ่งแวดล้อมและพลังงาน เทคโนโลยี จำกัด เป็นผู้ขอรับอนุญาตให้ใช้สิทธิเทคโนโลยี ซึ่งการนำผลงานวิจัยไปใช้ในภาคเอกชนครั้งนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคมอย่างมาก

     ดร.ผกามาศ แซ่หว่อง นักวิจัยในโครงการนี้ กล่าวว่า ไบโอฟิลเตอร์เป็นวัสดุพรุนสำหรับการย่อยสลายและการบำบัดน้ำเสียทางชีวภาพ โดยมีการใช้ในกระบวนการบำบัดน้ำประมง น้ำทิ้งจากชุมชน หรือแม้กระทั่งน้ำในตู้ปลา ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการย่อยสลายของเสีย และปัจจุบันมีการใช้วัสดุทดแทนไบโอฟิลเตอร์อยู่หลายประเภท เช่น วงแหวนเซรามิกส์ หินพัมมิส หรือปะการัง แต่สิ่งเหล่านี้ล้วนต้องนำมาจากธรรมชาติ

   งานวิจัยนี้จึงพยายามหาวัสดุทดแทนที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงหรือดีกว่า โดยมีการนำ “ขี้เถ้าแกลบ” ซึ่งเป็นของเหลือทิ้งที่มีคุณสมบัติเหมาะสมมาใช้ทดแทน

 


     

รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน       

ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.)

 

ดร.ผกามาศ แซ่หว่อง
นักวิจัยโครงการ

 

     “งานวิจัยนี้ได้นำขี้เถ้าแกลบมาทำให้อยู่ในรูปเม็ดขนาดไม่เกิน 2 เซนติเมตร แล้วนำมาเผา ซึ่งจะได้เม็ดบำบัดน้ำเสียที่มีคุณสมบัติเพิ่มประสิทธิภาพการย่อยสลายทางชีวภาพต่าง ๆ ซึ่งมีความพรุนตัว โดยที่ขนาดของรูพรุนอยู่ในระดับไมครอนจนถึงมิลลิเมตร จึงเหมาะสำหรับเป็นที่อยู่อาศัยของจุลินทรีย์ ที่ทำหน้าที่ย่อยสลายของเสียที่ปล่อยจากสัตว์น้ำ ทำให้น้ำไม่เป็นพิษ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

โดยเม็ดบำบัดน้ำเสียจากขี้เถ้าแกลบนี้ จะมีพื้นที่ผิวประมาณ 11 ตารางเมตรต่อกรัม ซึ่งมากกว่าปะการังถึง 1ใน 4 ดังนั้นหากมีการนำวัสดุดังกล่าวมาทดแทนการใช้ปะการังจากธรรมชาติ ก็จะช่วยรักษาสมดุลของสิ่งแวดล้อมได้อีกทางหนึ่ง และคาดว่าจะมีผู้หันมาใช้วัสดุประเภทนี้มากขึ้น” ดร.ผกามาศกล่าว

 

นางรุ่งรัตน์ ประภาศิริกุล
     กรรมการผู้จัดการ บริษัทไบโอ-แมส เพาเวอร์ จำกัด

 

      ด้าน นางรุ่งรัตน์ ประภาศิริกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทไบโอ-แมส เพาเวอร์ จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ เป็นโรงงานไฟฟ้าที่ใช้แกลบเป็นเชื้อเพลิงหลัก และมีขี้เถ้าแกลบจากกระบวนการผลิตเป็นจำนวนมาก จึงสนใจการนำเทคโนโลยีการผลิตไบโอฟิลเตอร์จากขี้เถ้าแกลบมาใช้ประโยชน์ โดยมอบให้บริษัทในเครือ คือ บริษัทสิ่งแวดล้อมและพลังงาน เทคโนโลยี จำกัด

นำไปใช้ในการผลิตและจัดจำหน่าย ด้วยเห็นว่าตัววัสดุไบโอฟิลเตอร์นี้มีกระบวนการผลิตที่ไม่เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากไม่ใช้กรดหรือสารเคมีในการผลิต จึงเหมาะสมกับนโยบายของบริษัทที่เน้นการผลิตผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยบริษัทมีแผนที่จะนำมาผลิตเป็นเม็ดบำบัดน้ำเสีย และจำหน่ายกลางปีหน้า


     การทำงานร่วมกันของสามหน่วยงานครั้งนี้ จะทำให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนร่วม โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อมที่ช่วยลดการใช้ทรัพยากรจากธรรมชาติ ทั้งยังช่วยเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ ลดการนำเข้าวัสดุไบโอฟิลเตอร์จากต่างประเทศ ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติในระยะยาว

 

งานประชาสัมพันธ์ ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี 
โทรศัพท์ 0-2564-7000 ต่อ 1476-8,
www.tmc.nstda.or.th
สอบถามเพิ่มเติม ติดต่อ: ธณาพร (เอ็ม), สุธิดา (ไก๋)
โทรศัพท์ 0-2270-1350-4 ต่อ 104-105 มือถือ 08 6612 0912, 08 5930 7166 อีเมล:
prtmc@yahoo.com

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด