ศัพท์เศรษฐกิจในศตวรรษที่ 21 ที่ผู้เขียนอยากแนะนำในตอนนี้ คือ ทักษิโณมิคส์
รู้จักศัพท์เศรษฐกิจในศตวรรษที่ 21 (ตอนที่ 3) “Thaksinomics” ข้อกังขาประชานิยม
วิธีร์ พานิชวงศ์, สุทธิ สุนทรานุรักษ์, วิเชียร แก้วสมบัติ
ศัพท์เศรษฐกิจในศตวรรษที่21ที่ผู้เขียนอยากแนะนำในตอนนี้คือ“ทักษิโณมิคส์”(Thaksinonomics)ครับอย่างที่เรารับรู้กันว่า“ทักษิโณมิคส์”นั้นเป็นนโยบายประชานิยม(Populism)ของรัฐบาลพรรคไทยรักไทยซึ่งบริหารประเทศไทยช่วงระหว่างปี พ.ศ.2544-2549
“Thaksinomics” เป็นคำสนธิ (Portmanteau) ระหว่างชื่อของอดีตนายกรัฐมนตรีไทย “Thaksin” กับคำว่า Economicsครับ ซึ่ง Economicsหรือ วิชาเศรษฐศาสตร์นั้นมีความหมายอีก นัยยะคือ “การจัดการครัวเรือน”นั่นเองครับด้วยเหตุนี้เองเมื่อนำมาสนธิหรือผสมกับชื่อผู้นำประเทศในช่วงเวลานั้นจึงมีความหมายไปในลักษณะที่ว่าการจัดการเศรษฐกิจในสมัยคุณทักษิณเป็นผู้นำประเทศนั่นเองครับ
ในอดีตที่ผ่านมานักเศรษฐศาสตร์และสื่อมวลชนมักเรียก“นโยบาย”การบริหารเศรษฐกิจของผู้นำที่โดดเด่นและมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในสังคมนั้น อาทิ ในสหรัฐอเมริกา คำว่า “นิกสันโนมิคส์” (Nixonomics) ได้กล่าวถึงการบริหารงานเศรษฐกิจในสมัยประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน (Richard Nixon) “เรแกนโนมิคส์” (Reaganomics) ใช้อธิบายการบริหารเศรษฐกิจสมัยประธานาธิดีโรนัลด์ เรแกน (Ronald Reagan) ซึ่งเน้นไปที่การลดภาษีธุรกิจครั้งใหญ่เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตให้กับผู้ประกอบการในช่วงเศรษฐกิจถดถอย
นอกจากนี้“คลินโตโนมิคส์”(Clintonomics)ยังถูกนำมาเรียกการบริหารเศรษฐกิจสมัยรัฐบาลประธานาธิบดีบิลคลินตัน(BillClinton)เช่นเดียวกับ“บุชโนมิคส์”(Bushnomics) ที่ใช้เรียกนโยบายเศรษฐกิจสมัยประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช (George W. Bush) และล่าสุด “โอบาโนมิคส์” (Obanomics) กำลังได้รับการจับตามองว่าประธานาธิบดีผิวสีคนแรกนาย “บารัค โอบามา” (Barak Obama) จะสามารถแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจถดถอยครั้งรุนแรงได้หรือไม่
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นชื่อเรียกที่สื่อมวลชนโดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกามักใช้เรียกนโยบายการบริหารงานเศรษฐกิจของรัฐบาลในแต่ละสมัยครับนอกจากสหรัฐอเมริกาแล้วในอังกฤษชื่อของ “แทตเชอร์ลิซึ่ม” (Thatcherism)ได้ถูกนำมาเรียกการบริหารเศรษฐกิจของอังกฤษในช่วงสมัย นางมากาเร็ต แทชเชอร์ (MargaretThatcher)เป็นนายกรัฐมนตรีโดยสาระสำคัญของแทตเชอร์ลิซึ่มก็คือการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ (Privatization) เพื่อลดขนาดของรัฐบาลลงนั่นเองครับ
ก่อนที่เราจะไปทำความรู้จักกับ “ทักษิโณมิคส์” นั้นเราควรมาทำความเข้าใจกับ “นโยบายประชานิยม” กันก่อนว่า “ประชานิยม” คืออะไร และทำไมรัฐบาลส่วนใหญ่จึงชอบใช้นโยบายประชานิยมกันนักครับ
ประชานิยม สังคมเป็นสุข ??
“ประชานิยม”เกิดขึ้นในทุกยุคสมัยครับย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยโรมัน “จูเลียส ซีซาร์” คือ ผู้นำคนแรกที่ทำ “ประชานิยม” ด้วยการสั่งให้เปิดคลังหลวงเอาขนมปังมาแจกจ่ายให้คนยากคนจน สำหรับประชานิยมในโลกตะวันออกอย่าง “จีน" เวลาผลัดเปลี่ยนราชวงศ์นั้นฮ่องเต้ราชวงศ์ใหม่มักจะลดภาษีให้กับราษฎรเพื่อ “ผูกใจ” ราษฎรไว้ไม่ให้คิดกบฏ ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของ “ประชานิยม” ด้วยกันทั้งนั้นครับ
ดังนั้น คำว่า “ประชานิยม” (Populism) จึงถูกจัดให้เป็นอุดมการณ์และแนวทางทางการเมืองที่มุ่งเน้นไปที่คนยากคนจนเป็นหลักครับ
จูเลียส ซีซาร์ (Julius Caesar)
ต้นตำรับประชานิยมของแท้ดั้งเดิม
ในสมัยโรมันซีซาร์เคยสั่งให้เปิดคลังหลวงเอาขนมปังมาแจกคนยากคนจน
ในช่วงศตวรรษที่ 20 นั้น นโยบายประชานิยมได้ถูกเผยแพร่เข้าไปในกลุ่มประเทศโลกที่สามโดยเฉพาะแถบลาตินอเมริกา อย่างไรก็ตามผลลัพธ์ของการนำนโยบายประชานิยมมาใช้นั้นกลับล้มเหลวโดยสิ้นเชิงครับ
คราวนี้มาดูคำว่า “นโยบายประชานิยม” กันบ้างครับ นโยบายประชานิยม (Populism Policy) คือ นโยบายที่สนับสนุนประชาชนคนยากจนเป็นหลักเพื่อมุ่งหวังความนิยมทางการเมืองเป็นสำคัญ โดยไม่จำเป็นต้องมีความสมเหตุสมผลหรือเป้าหมายทางเศรษฐศาสตร์มหภาคมารองรับแต่อย่างใด ด้วยเหตุนี้เองนโยบายประชานิยมจึงเป็นที่ “ถูกอกถูกใจ” มากกว่า “ถูกต้องตามหลักการ” ครับ
นโยบายประชานิยมแตกต่างจากการใช้ “นโยบายการคลัง”ทั่วไป (Fiscal Policy) นะครับ เพราะนโยบายการคลังจะถูกนำมาใช้เพื่อให้สอดคล้องกับภาวการณ์เศรษฐกิจในแต่ละช่วงเวลา เช่น ช่วงใดที่เศรษฐกิจถดถอย (Recession) รัฐบาลจำเป็นต้องใช้นโยบายการคลังขยายตัว (Expansionary Fiscal Policy) ด้วยการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นรวมไปถึงลดภาษีเพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็ว แต่หากช่วงใดที่เศรษฐกิจร้อนแรงเกินไป (Overheat) จนอาจนำไปสู่ภาวะเงินเฟ้อที่ยากจะควบคุม รัฐบาลจำเป็นต้องแตะเบรกด้วยการใช้นโยบายการคลังหดตัว (Contractionary Fiscal Policy) ด้วยการขึ้นภาษีและลดการใช้จ่ายภาครัฐลง
จะเห็นได้ว่านโยบายประชานิยมนั้นมีความแตกต่างกับนโยบายการคลังตรงที่วัตถุประสงค์ในการใช้ครับ นโยบายประชานิยมเป็นนโยบายที่มุ่งเอาอกเอาใจและสนองความต้องการของประชาชนเป็นหลักจนบางครั้งดูจะไม่สมเหตุสมผลกับฐานะทางการเงินการคลังของประเทศซึ่งตรงนี้เป็นผลร้ายของนโยบายประชานิยมครับ
นายพลฮวน เปรอง
อดีตประธานาธิบดีอาร์เจนติน่า
ผู้ทำให้ชาวอาร์เจนไตน์เริ่มเสพติดนโยบายประชานิยม
ในช่วงทศวรรษที่ 40 นั้น อาร์เจนติน่าเป็นตัวอย่างที่ดีของการนำ “ประชานิยม” มาใช้ภายใต้การบริหารประเทศของประธานาธิบดีฮวน เปรอง (Juan Peron) และเปรองนี่เองทำให้ชาวอาร์เจนไตน์เริ่มเสพติดกับนโยบายประชานิยมมาตั้งแต่นั้นครับ อย่างที่ทราบกันดีนะครับว่าอาร์เจนติน่าประสบความล้มเหลวในการบริหารเศรษฐกิจมาตลอดกว่า 60 ปี ด้วยเหตุผลก็คือ “ประชานิยม” แบบไม่ประมาณตนซึ่งนับเป็น “ภาระ”ของลูกหลานชาวอาร์เจนไตน์ที่ต้องมาแบกรับ “หนี้”ที่พวกเขาไม่ได้ก่อ
ถึงตรงนี้ต้องขออนุญาตแทรกเรื่องการ “ก่อหนี้สาธารณะ” (Public Debt) ไว้นิดนึงครับโดยหลักการแล้วหากรัฐบาลใช้จ่ายเกินตัวจากการดำเนินนโยบายประชานิยมมากเกินไปแล้วเมื่อรัฐไม่มีเงินเพียงพอต่อการออกนโยบายประชานิยมใหม่ สิ่งที่ตามคือรัฐต้องก่อหนี้ครับ หนี้ที่ว่านี้เราเรียก “หนี้สาธารณะ”
โดยหลักการแล้วการก่อหนี้สาธารณะนั้นควรเป็นการก่อหนี้เพื่อมาลงทุนในการพัฒนาโครงสร้างสาธารณูปโภคของประเทศเพื่อประโยชน์ต่อคนรุ่นถัดไปหากการก่อหนี้เป็นไปตามหลักการนี้แล้วจะสอดคล้องกับ “หลักความเป็นธรรม” ในการก่อหนี้ นั่นคือ ก่อหนี้เพื่อทำประโยชน์กับคนรุ่นหลังและคนรุ่นหลังก็ควรรับรับภาระจากประโยชน์ที่ตัวเองได้รับ
แต่การก่อหนี้ไม่ควรก่อเพื่อบริโภคสำหรับคนรุ่นปัจจุบันครับ เพราะถือว่าจะไม่เป็นธรรมกับคนรุ่นหลังที่ต้องมาแบกรับหนี้ที่ตัวเองไม่ได้ก่อ ซึ่งแน่นอนที่สุดหากรัฐไม่สามารถก่อหนี้ได้อีกต่อไปแล้วรัฐก็ต้องเพิ่มการเก็บภาษีในอนาคต
ดังนั้นการใช้นโยบายประชานิยมโดยไม่คำนึงถึงฐานะทางการเงินการคลังของตัวเองแล้ว สิ่งที่ตามมาคือการก่อหนี้ครับ และผลของการก่อหนี้ก็คือ “ภาระ”กับลูกหลานเรานั่นเองครับ
ทักษิโณมิคส์ (Thaksinomics) ข้อกังขาประชานิยม
การบริหารประเทศของรัฐบาลไทยรักไทยภายใต้การนำของคุณทักษิณ ชินวัตร นั้นได้สร้างความเปลี่ยนแปลงขึ้นหลายอย่างให้กับประเทศไทยนะครับ
ในแง่การเมืองแล้วรัฐบาลไทยรักไทยได้รับอานิสงค์จากรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ.2540 จนทำให้มีเสถียรภาพในการบริหารประเทศอย่างมั่นคงตลอดช่วงเวลา 5 ปี (2544-2549) สำหรับในแง่เศรษฐกิจนั้นรัฐบาลไทยรักไทยมีส่วนทำให้ประเทศไทยฟื้นกลับมาอีกครั้งจากการใช้ “นโยบายประชานิยม” ครับ
อย่างที่เราทราบกันดีว่าประเทศไทยประสบปัญหาวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งรุนแรงเมื่อปีพ.ศ.2540 ซึ่งวิกฤตครั้งนั้นทำให้ประเทศไทยต้องขอเข้ารับความช่วยเหลือทางการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ
ในเวลาต่อมารัฐบาลประชาธิปัตย์ได้เข้าบริหารประเทศต่อจากรัฐบาลความหวังใหม่ซึ่งรัฐบาลประชาธิปัตย์(2540-2544)ได้พยายามประคับประคองประเทศด้วยการสร้างเสถียรภาพของภาคการเงินเป็นอันดับแรกก่อน
อย่างไรก็ตามเมื่อรัฐบาลไทยรักไทยเข้ารับงานต่อจากรัฐบาลประชาธิปัตย์รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจโดยมุ่งเน้นไปที่การใช้จ่ายของภาครัฐบาลและสร้างรายได้จากการส่งออกและการท่องเที่ยวเพื่อแก้ปัญหาความถดถอยทางเศรษฐกิจที่เป็นผลมาจากวิกฤตการณ์ทางเงินเมื่อปี พ.ศ.2540
นักเศรษฐศาสตร์ไทยวิเคราะห์ว่าทักษิโณมิคส์นั้นเป็นการเน้นบทบาทของภาครัฐด้วยการแทรกแซงกลไกตลาดทุกระดับตลอดจนมุ่งเน้นนโยบายการคลังมากกว่านโยบายการเงินผลดังกล่าวทำให้การใช้จ่ายของรัฐบาลมีปริมาณสูงทั้งในรูปของเงินงบประมาณแผ่นดินและเงินนอกงบประมาณที่ผ่านรัฐวิสาหกิจทั้งนี้เพื่อกระตุ้นอุปสงค์มวลรวมของประเทศ(AggregateDemand)เพื่อให้ได้อัตราการจำเริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงขึ้น
การกระตุ้นเศรษฐกิจของทักษิโณมิคส์ได้ใช้แนวทางการกระตุ้นไปพร้อม ๆ กัน 2 แนวทาง คือ กระตุ้นจากภายนอกและกระตุ้นจากข้างใน หรือที่รู้จักกันในชื่อ Dual Track Policy ครับ แนวทางแรกนั้นเป็นการกระตุ้นการส่งออก การท่องเที่ยวรวมไปถึงดึงเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ ขณะที่แนวทางที่สองเป็นการกระตุ้นจากข้างในโดยเน้นการเพิ่มอุปสงค์มวลรวมของคนยากจน (คนกลุ่มรากหญ้า) ซึ่งเน้นไปที่เกษตรกร มีการช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)
อาจกล่าวได้ว่า “ทักษิโณมิคส์” มีส่วนในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทยได้ในระดับหนึ่งโดยมีรัฐเป็นผู้นำในการผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงนั้น
แม้ว่าโดยหลักการแล้วไอเดียของทักษิโณมิคส์ดูจะน่าชื่นชมแต่อย่างไรก็ตามการดำเนินนโยบายประชานิยมแบบทักษิโณมิคส์ย่อมต้องใช้เงินงบประมาณจำนวนมากซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อฐานะการเงินการคลังของประเทศในอนาคตหากประเทศเราไม่สามารถหารายได้มาชดเชยกับงบประมาณรายจ่ายเหล่านั้นได้ทัน
ทักษิณ ชินวัตร
เจ้าตำรับ “ทักษิโณมิคส์”
นโยบายประชานิยมของรัฐบาลไทยรักไทยนั้นเน้นไปที่กลุ่มชนชั้นคนจนในชนบทและ คนจนเมืองซึ่งจัดอยู่ใน “กลุ่มชนชั้นล่าง” ของสังคมไทยครับ ขณะที่กลุ่มชนชั้นกลางก็ได้รับอานิสงค์บ้างจาก ทักษิโณมิคส์
นโยบายที่โดนใจผู้คนส่วนใหญ่ คือ กองทุนหมู่บ้านละล้าน พักชำระหนี้เกษตรกร ธนาคารประชาชน บ้านเอื้ออาทร SMEs&OTOP แปลงสินทรัพย์เป็นทุน รวมไปถึงสามสิบบาทรักษาทุกโรคครับ
นโยบายต่างๆ เหล่านี้เป็นนโยบายใหม่สำหรับสังคมไทยทั้งนี้ในอดีตรัฐบาลทุกสมัยมักดำเนินนโยบายเศรษฐกิจโดยมุ่งไปที่รักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ด้วยเหตุนี้เองรัฐบาลจึงไม่ได้เล่นเป็น “ผู้นำ” ในการบริหารเศรษฐกิจแต่อย่างใด
แต่สำหรับ “ทักษิโณมิคส์” แล้ว รัฐบาลไทยรักไทยได้ผสมผสานการใช้นโยบายการคลังแบบขยายตัวในการเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจไทยที่ถดถอยจากภาวะวิกฤตอีกทั้งออกนโยบายใหม่ ๆ ที่ “ถูกใจ” คนกลุ่มใหญ่ในสังคมไทยนั่นคือกลุ่มคนจนทั้งในเมืองและชนบท
แม้ว่า “ทักษิโณมิคส์” จะไม่ได้แตกต่างจากการแก้ปัญหาเศรษฐกิจภายใต้แนวคิดของเคนส์ (Keynesian) ที่มุ่งเน้นให้ภาครัฐมีบทบาทในการเพิ่มอุปสงค์มวลรวมของประเทศ แต่สิ่งที่ทักษิโณมิคส์เพิ่มไปมากกว่านั้น คือ การเพิ่มบทบาทของรัฐในแง่ของการสร้าง “รัฐสวัสดิการ” (Welfare State) ให้กับประชาชน
ในการประชุมเอเปค (APEC) ที่กรุงเทพเมื่อปี พ.ศ.2546 นั้นประธานาธิบดีกลอเรีย อาร์โรโย่ ของฟิลิปปินส์ได้เรียกแนวคิดประชานิยมของรัฐบาลไทยรักไทยว่า “ทักษิโณมิคส์” ซึ่งทำให้ “ทักษิโณมิคส์” กลายเป็นที่ติดปากของคนทั่วไปตั้งแต่นั้นมาครับ
ในทางวิชาการ “ทักษิโณมิคส์” ยังมีข้อกังขาอยู่หลายประการนะครับ โดยเฉพาะงบประมาณที่นำมาใช้ในนโยบายประชานิยมและการก่อหนี้นอกงบประมาณ แม้ว่า “ประชานิยม” จะได้กลายเป็นแนวทางหลักของพรรคการเมืองไทยในยุคถัดมาซึ่งคงปฏิเสธไม่ได้ว่าในอนาคตเราอาจจะต้องเสพติดประชานิยมเหมือนที่คนอาเจนไตน์เคยเสพติดมาแล้วก็ได้นะครับ… พบกันใหม่ฉบับหน้าครับ
เอกสารและภาพประกอบการเขียน
1. www.wikipedia.org
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด