ตลอดปี 2551 ที่ผ่านมานั้นราคาน้ำมันค่อนข้างผันผวนมาก ทำให้ผู้บริโภคทั้งผู้ใช้น้ำมันในอุตสาหกรรมเกษตรและบริการต่างได้รับผลกระทบกันอย่างถ้วนหน้า
สถานการณ์การใช้พลังงานในประเทศไทยปี 2552 ทรงตัว
กองบรรณาธิการ
ตลอดปี 2551 ที่ผ่านมานั้นราคาน้ำมันค่อนข้างผันผวนมาก ทำให้ผู้บริโภคทั้งผู้ใช้น้ำมันในอุตสาหกรรมเกษตรและบริการต่างได้รับผลกระทบกันอย่างถ้วนหน้า เพราะราคาน้ำมันได้ปรับเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์
นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงแนวโน้มการใช้พลังงานปี 2552 คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 2.0-3.0 และราคาน้ำมันน่าจะอยู่ในระดับต่ำคือประมาณ 40-50 เหรียญต่อบาร์เรล
ดังนั้นในปี 2552 ความว่าความต้องการพลังงานอยู่ที่ระดับ 1,670 พันบาร์เรลน้ำมันดิบ ต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปี 2551 ร้อยละ 1.9 โดยความต้องการน้ำมันเพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.3 ก๊าซธรรมชาติ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 ลิกไนต์/ถ่านหิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 และพลังงานน้ำ/ไฟฟ้านำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 ซึ่งสามารถแบ่งเป็น
น้ำมันสำเร็จรูป การใช้น้ำมันเบนซินและดีเซลเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เพราะราคาน้ำมันยังทรงตัวในระดับต่ำ โดยการใช้น้ำมันเบนซินจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 การใช้น้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 และ LPG ในรถยนต์จะชะลอตัวลงจากปี 2551 เนื่องจากน้ำมันมีราคาถูก จึงไม่จูงใจให้เปลี่ยนเป็นเครื่องยนต์ LPG นอกจากนี้รัฐยังส่งเสริมให้รถแท็กซี่ เปลี่ยนเครื่องยนต์จาก LPG เป็น NGV แทน
ก๊าซธรรมชาติ คาดว่าความต้องการในปี 2552 จะเพิ่มขึ้นจากปี 2551 ร้อยละ 3.9 โดยการใช้จะมีปริมาณ 3,850 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เนื่องจากในปี 2551 มีแหล่งผลิตใหม่ ๆ ที่เข้ามา ในช่วงต้นปี เริ่มทำการผลิต ซึ่งจะส่งผลให้ก๊าซธรรมชาติในปี 2552 มีปริมาณมากขึ้นกว่าเดิม ได้แก่ แหล่งอาทิตย์และแหล่ง JDA โดยคาดว่าปี 2552 แหล่ง JDA สามารถผลิตได้เต็มที่
ส่วนการใช้ไฟฟ้า คาดว่าการผลิตและการซื้อไฟฟ้าของ กฟผ. จะเพิ่มขึ้นเป็น 150,458 กิกะวัตต์ชั่วโมง หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 โดยการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติจะเพิ่มมากขึ้น เนื่องจาก ปตท. สามารถจัดหาก๊าซธรรมชาติ ให้ กฟผ. เพิ่มขึ้น ขณะที่ปริมาณการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำ น้ำมันเตา และการนำเข้าไฟฟ้าจะลดลง โดยเป็นไปตามแผน PDP ของ กฟผ.
สำหรับการใช้พลังงานในปี 2551 ต้องยอมรับเป็นปีที่เกิดความผันผวนทางด้านพลังงานสูงสุด โดยเฉพาะราคาน้ำมันตลาดโลกในช่วง 3 ไตรมาสแรก ที่ปรับตัวเพิ่มสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ที่ระดับ 140.77 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2551 และได้มีการปรับลดลงจนถึงปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 36.88 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล หรือลดลงถึงร้อยละ 75 จากจุดสูงสุด
ทั้งนี้หากดูโดยรวมแล้ว สถานการณ์โดยรวมของการใช้พลังงานเชิงพาณิชย์ขั้นต้น ในช่วงปี 2551 มีความผันผวนมาก ซึ่งในช่วงต้นปี จนถึงเดือนกรกฎาคม 2551 ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นสูงทำสถิติเป็นรายวัน ส่งผลให้การใช้น้ำมันลดลง แต่เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของโลกและประเทศไทยยังคงดีอยู่ โดย GDP ในช่วง 6 เดือนแรกเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.6 ส่งผลให้การใช้พลังงานเชิงพาณิชย์ ขั้นต้นเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6
แต่ในช่วงไตรมาสที่ 3 ราคาน้ำมันเริ่มปรับลดลงเพราะปัญหาทางด้านการเงินของสหรัฐอเมริกา และลุกลามไปทั่วจนเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั้งในสหรัฐอเมริกา ลามไปยังประเทศในแถบยุโรป และได้ลุกลามไปทั่วโลกในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 แม้กระทั่งประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจดังกล่าว รวมถึงยังได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศ
โดยเฉพาะการปิดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2551 ส่งผลให้เศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่ 3 และ 4 ชะลอการเติบโต ดังนั้นการใช้พลังงานในช่วงปีหลังจึงลดลง ซึ่งมีการเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.4 เท่านั้น
Daily World Oil Consumption, by Region for 2003 and Projected for 2030
ที่มา: Energy Information Administration
และหากคิดเป็นมูลค่าการใช้แล้วในปี 2551 การใช้พลังงานมีมูลค่าถึง 1,709,340 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 207,323 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 17.3 ก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นร้อยละ 61.7 ลิกไนต์และถ่านหินเพิ่มขึ้นร้อยละ 32.4 ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 และพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1
ส่วนการนำเข้าในปี 2551 มีมูลค่าถึง 1,239,314 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 359,236 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 40.8 โดยเป็นการนำเข้าน้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติและถ่านหินเพิ่มขึ้น ในขณะที่การนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปและไฟฟ้าลดลง
ลองมาดูเป็นรายประเภทว่าการใช้พลังงานแต่ละชนิดของคนไทยเป็นอย่างไร เริ่มต้นจาก
น้ำมันดิบ: ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้นตั้งแต่ต้นปี มาอยู่ที่ 140.77 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลในเดือนกรกฎาคม 2551 และปรับลดลงแต่ยังทรงตัวในระดับสูงจนกระทั่งในเดือนตุลาคม เริ่มทยอยปรับลดลงจนมาอยู่ที่ 40 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ในเดือนธันวาคม 2551 ส่งผลให้มูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบในปี 2551 เพิ่มขึ้นร้อยละ 49.6 และมีปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6
ทั้งนี้เนื่องจากค่าการกลั่นอยู่ในระดับสูง ถึงแม้ว่าความต้องการใช้ภายในประเทศจะลดลง แต่สามารถส่งออกเพิ่มขึ้น ซึ่งยังได้กำไรมากอยู่ ทำให้โรงกลั่นน้ำมันไม่ลดการกลั่นลง จึงมีผลทำให้ปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบไม่ลดลง
น้ำมันสำเร็จรูป: มีการใช้เพียง 678 พันบาร์เรล ต่อวันลดลงจากปีก่อน ร้อยละ 4.0 เนื่องจากราคาน้ำมันภายในประเทศทรงตัวอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้การใช้น้ำมันเบนซินและดีเซลชะลอตัวลง อีกทั้ง กฟผ. ลดการใช้น้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าลง เนื่องจากราคาอยู่ในระดับสูง
การใช้น้ำมันเครื่องบินลดลงร้อยละ 4.9 เนื่องจากปัญหาความไม่สงบในประเทศและการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งมีผลทำให้การท่องเที่ยวชะลอลง จึงทำให้ภาพรวมการใช้น้ำมันลดลง ขณะที่การใช้ LPG เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.6 ซึ่งเพิ่มขึ้นในอัตราสูงติดต่อกัน 3 ปี เนื่องจากรถยนต์ส่วนบุคคลจำนวนมากได้ปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์ไปใช้ LPG แทน ในช่วงที่ราคาน้ำมันสูง
น้ำมันเบนซิน: การใช้น้ำมันเบนซินรวมเพียง 121 พันบาร์เรลต่อวัน ลดลงร้อยละ 4.1 เนื่องจากราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้บริโภคเปลี่ยนไปใช้เชื่อเพลิงทางเลือกอื่น ๆ แทนได้แก่ LPG และ NGV โดยมีรายละเอียด ส่งผลทำให้การใช้ LPG ในรถยนต์เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 34.8 และ NGV เพิ่มขึ้นร้อยละ 229.5 จำนวนที่ติดตั้ง NGV เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากจำนวน 55,868 คัน จำนวนสถานี 166 สถานี ณ สิ้นปี 2550 เป็น 122.576 คัน ณ วันที่ 1 ธันวาคม 2551 มีสถานีบริการ NGV ที่สูงขึ้นอย่างมากในปีนี้ ซึ่ง ณ วันที่ 1 ธันวาคม 2551 มีสถานีบริการ NGV ถึง 272 สถานี
แก๊สโซฮอล์: ในปี 2551 มีการใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 8.9 ล้านลิตรต่อวัน จากเดิม 4.8 ล้านลิตรต่อวันในปี 2550 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 86.3 เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนเพื่อลดการนำเข้าโดยใช้เอทานอลในน้ำมันเบนซินทดแทนสาร MTBE ในการเพิ่มค่าออกเทน โดยลดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันแก๊สโซฮอล์ให้ต่ำกว่าน้ำมันเบนซินมีผลทำให้ราคาแก๊สโซฮอล์ต่ำกว่าเบนซินมาก (ประมาณ 4.6 บาทต่อลิตร) ซึ่งมีผลกระตุ้นให้ประชาชนหันมาใช้แก๊สโซฮอล์เพิ่มขึ้น
เอทานอล: ในปัจจุบันมีโรงงานผลิตเอทานอลได้รับอนุญาตแล้วทั้งสิ้น 47 โรง แต่มีโรงงานที่เดินระบบแล้วเพียง 11 โรง มีกำลังการผลิตรวมทั้งสิ้น 1,575000 ลิตรต่อวัน โดยในปี 2551 มีการผลิตเอทานอลเพื่อใช้เป็นพลังงาน 0.9 ล้านลิตร ต่อวันโดยราคาเฉลี่ยเอทานอลเทียบกับปีที่แล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.0 จากราคาเฉลี่ย 17.52 บาทต่อลิตร มาอยู่ที่ราคา 18.74 บาทต่อลิตร
น้ำมันดีเซล: ในปี 2551 มีปริมาณการใช้รวม 47.9 ล้านลิตร ต่อวัน ลดลงร้อยละ 6.3 โดยในช่วงครึ่งปีแรกการใช้ลดลงร้อยละ 2.1 และในช่วงครึ่งปีหลังลดลงร้อยละ 12.0 เนื่องจากราคาน้ำมันดีเซลปรับตัวสูงขึ้น แต่จากราคาน้ำมันที่ที่ลดลงและมาตรการ 6 มาตรการ 6 เดือน ฝ่าวิกฤติเพื่อคนไทยทุกคนและการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยในเดือนพฤศจิกายน 2551 ปีนี้ ทำให้ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 22.46 บาทต่อลิตร ดังนั้นการใช้จึงกลับมาเพิ่มขึ้นอีกในช่วงปลายปี
แต่ในภาพรวมทั้งปีราคายังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูง จึงทำให้ปริมาณการใช้ของทั้งปีลดลง ในปัจจุบันกระทรวงพลังงานกำหนดให้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วต้องผสมไบโอดีเซลร้อยละ 2 (B2) โดยปริมาตร ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2551 เป็นต้นมา
ไบโอดีเซล: ปริมาณการจำหน่ายไบโอดีเซล (B5) ได้เพิ่มจาก 1.7 ล้านลิตรต่อวันในปี 2550 เป็น 9.9 ล้านลิตรต่อวันในปี 2551 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 478.9 เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนอย่างจริงจัง โดยลดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันและและอัตราเงินส่งเข้ากองทุนอนุรักษ์พลังงานของไบโอดีเซล (B5) ต่ำกว่าน้ำมันดีเซล เป็นผลให้ราคาขายปลีกต่ำกว่า 1.00-1.50 บาทต่อลิตร ทำให้การใช้มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
LPG: ในปี 2551 การใช้เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.7 โดยเฉพาะการใช้ LPG รถยนต์ปี 2551 นี้ขยายตัวเพิ่มสูงถึง ร้อยละ 35.2 เนื่องจากระดับราคาน้ำมันเบนซินสูงทำให้ผู้ใช้รถยนต์ส่วนหนึ่งหันมาใช้ LPG ทดแทนการใช้ในครัวเรือนเพิ่มขึ้นมากถึงร้อยละ 14.0 และการใช้ในอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.7
การใช้ก๊าซธรรมชาติ: ในปี 2551 ปริมาณการใช้อยู่ที่ระดับ 3,354 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 7.5 เนื่องจากในปีนี้แหล่งผลิต 2 แหล่ง ที่สำคัญได้ทำการผลิตคือ แหล่งอาทิตย์และ JDA โดยแหล่งอาทิตย์สามารถผลิตได้มากกว่า 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในช่วงปลายปี 2551
ก๊าซธรรมชาติถูกนำไปใช้ในภาคการผลิตต่าง ๆ ได้แก่ การผลิตไฟฟ้า คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 70 ของการใช้ทั้งหมดจำนวน จำนวน 2,453 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 4.6 ใช้ในโรงแยกก๊าซปริมาณ 627 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 17 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 9.6 ใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรม ปริมาณ 375 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.1 และที่เหลือร้อยละ 2 ใช้ในภาคการขนส่ง (รถยนต์ NGV) ปริมาณ 74 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 208.3
ลิกไนต์/ถ่านหิน: ในปี 2551 การใช้อยู่ที่ระดับ 35 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน (คิดจากค่าความร้อน) ร้อยละ 9.7 ประกอบด้วย การใช้ลิกไนต์ 18 ล้านตัน และถ่านหินนำเข้า 17 ล้านตัน ส่วนใหญ่ ใช้ในการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ.จำนวน 16 ล้านตัน ที่เหลือจำนวน 2 ล้านตัน ใช้ในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้แก่ การผลิตปูนซีเมนต์ กระดาษ อุตสาหกรรมอาหาร และอื่น ๆ
ไฟฟ้า: กำลังการผลิตติดตั้งไฟฟ้าในปี 2551 อยู่ที่ 29.892 เมกะวัตต์ ความต้องการไฟฟ้าสูงสุดเกิดขึ้น ณ วันที่ 21 เมษายน 2551 ที่ระดับ 22,568 เมกะวัตต์ ต่ำกว่าปี 2550 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 22,586 เมกะวัตต์ ค่าตัวประกอบไฟฟ้าเฉลี่ย (Load Factor) อยู่ที่ ร้อยละ 75.6 และกำลังผลิตสำรองไฟฟ้าต่ำสุด (Reserved Margin) อยู่ที่ร้อยละ 23.6 ส่วนการใช้นั้น รวมทั้งประเทศในปี 2550 อยู่ที่ระดับ 136,025 กิกะวัตต์ชั่วโมง ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 2.5 ซึ่งขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวลงจากปีก่อนสอดคล้องตามการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทยปีนี้ที่ชะลอตัวลง
โดยในช่วงครึ่งปีแรกการใช้ไฟฟ้าขยายตัวร้อยละ 4.3 และอัตราเพิ่มชะลอลดลงเหลือร้อยละ 0.8 ในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งส่งผลให้ทั้งปีการใช้ไฟฟ้าขยายตัวร้อยละ 2.5 แบ่งเป็นการใช้ในเขตนครหลวงอยู่ที่ระดับ 42,245 กิกะวัตต์ชั่วโมง เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 และเขตภูมิภาคการใช้อยู่ที่ระดับ 90,944 กิกะวัตต์ชั่วโมง เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 ดังนั้นโดยรวมแล้วทั้งปีสาขาอุตสาหกรรมใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากปีก่อนเพียงร้อยละ 2.2 สาขาธุรกิจเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 บ้านและที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 สาขาเกษตรกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 และอื่น ๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7
อย่างไรก็ตามในช่วงวิกฤติราคาน้ำมันปี 2551 ที่ผ่านมา กระทรวงพลังงานได้ดำเนินมาตรการในหลาย ๆ ด้าน เพื่อเข้าช่วยเหลือแต่ละภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบ อาทิ การช่วยเหลือกลุ่มประมง ด้วยการจำหน่ายน้ำมันเขียวสำหรับชาวประมงในเขตต่อเนื่อง 12-14 ไมล์ทะเล ซึ่งมีราคาต่ำกว่าน้ำมันดีเซลบนบกถึง 5-6 บาทต่อลิตร จำหน่ายน้ำมันม่วงสำหรับกลุ่มประมงชายฝั่งที่มีราคาต่ำกว่าดีเซล 2 บาทต่อลิตร
การเจรจาร่วมกับ 4 โรงกลั่นในเครือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดยกลุ่มโรงกลั่น ฯ ได้ให้การสนับสนุนน้ำมันราคาถูกให้แก่ ผู้เดือดร้อนกลุ่มต่าง ๆ เป็นเวลา 6 เดือน (มิถุนายน-พฤศจิกายน 2551) ปัจจุบันได้จัดสรรช่วยเหลือไปแล้วประมาณ 45.13 ล้านลิตร และการบริหารกองทุนน้ำมันและกองทุนอนุรักษ์พลังงาน ตลอดจนดำเนินมาตรการตาม 6 มาตรการ 6 เดือนของรัฐบาล ซึ่งได้ช่วยบรรเทาผลกระทบจากราคาน้ำมันได้อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้กระทรวงพลังงานได้วางรากฐานการพัฒนาและวิจัยพลังงานทดแทนเพื่อเป็นทางเลือกอย่างเป็นระบบในระยะยาว โดยมีการจัดทำแผนแม่บทพัฒนาพลังงานทดแทน 15 ปี ซึ่งได้ผ่านการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นทั่วประเทศแล้ว และได้เตรียมที่จะสรุปผลทั้งหมดเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อขอความเห็นชอบต่อไป และยังมีการขยายผลการใช้เอทานอลทั้ง E20 และ E85 เป็นครั้งแรกในประเทศ
โดยเฉพาะ E85 นั้นถือเป็น ประเทศแรกในเอเชีย ที่ได้ใช้อีกด้วย รวมทั้งการส่งเสริมการใช้ก๊าซธรรมชาติ (NGV) โดยผลักดันให้มีปริมาณการใช้เพิ่มขึ้นจากเดิม 30 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในช่วงต้นปี 2551 จนถึงปัจจุบันมียอดใช้เพิ่มขึ้นเป็น 100 ล้านลูกบาศก์ฟุต ต่อวัน และผลักดันให้เกิดรถยนต์ NGV จากเดิม 55,000 คัน เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวเป็น 123,515 คัน ในเดือนธันวาคม 2551
อย่างไรก็ตามในปี 2551 ถือเป็นอีกปีที่กระทรวงพลังงานได้ดำเนินมาตรการส่งเสริมความมั่นคงด้านพลังงาน โดยมีผลงานเด่น ๆ อาทิ การผลิตน้ำมันดิบและคอนเดนเสทได้ถึง 225,791 บาร์เรลต่อวัน การผลิตก๊าซธรรมชาติ 2,682 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน การลงนาม HOA ในแหล่งก๊าซธรรมชาติ M9 ของประเทศพม่า และการเร่งศึกษาด้านพลังงานนิวเคลียร์เพื่อเป็นทางเลือกในอนาคต
นอกจากนี้กระทรวงพลังงานยังได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน โดยไทยได้ริเริ่มความคิดให้อาเซียนเป็นศูนย์กลางของเชื้อเพลิงชีวภาพ และได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากที่ประชุมฯ
ที่มา: สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด