นโยบายทางด้านพลังงานทดแทนที่กระทรวงพลังงานอยู่ในระหว่างจัดทำแผนพัฒนาพลังงานทดแทน 15 ปี โดยมีเป้าหมายหวังเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนทุกรูปแบบเพิ่มขึ้น
กระทรวงพลังงาน เดินหน้าโครงการผลิตไฟฟ้า SPP
เสริมสร้างความมั่นคงพลังงาน รักษาสิ่งแวดล้อม
กองบรรณธิการ
นโยบายทางด้านพลังงานทดแทนที่กระทรวงพลังงานอยู่ในระหว่างจัดทำแผนพัฒนาพลังงานทดแทน 15 ปี โดยมีเป้าหมายหวังเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนทุกรูปแบบเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 20 ของการใช้พลังงานของประเทศ โดยในปี 2565 จากเดิมที่กำหนดเป้าหมายเพิ่มการใช้พลังงานทดแทนจากร้อยละ 0.5 เป็นร้อยละ 8 ในปี 2554 เท่านั้น
ซึ่งปัจจุบันมีการใช้พลังงานทดแทน ร้อยละ 5.8 สามารถประหยัดเงินได้ 94,000 ล้านบาทต่อปี ดังนั้น ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทน 15 ปี จะช่วยให้สามารถลดการใช้พลังงานลงได้ 22.5 ล้านตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ หรือประหยัดการนำเข้าพลังงานได้กว่า 608,000 ล้านบาทต่อปี รวมทั้งยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ปีละ 42 ล้านตัน ภายในปี 2565
สำหรับกรอบการจัดทำแผนพลังงานทดแทน 15 ปี จะกำหนดการดำเนินการเป็น 3 ระยะคือ
ระยะสั้น (2551-2554) มุ่งเน้นการส่งเสริมเทคโนโลยีที่ได้รับการยอมรับแล้ว (Green Technologies) และให้ความสำคัญกับพลังงานทดแทนที่มีศักยภาพสูง อีกทั้งมีผลกระทบที่สำคัญต่อเศรษฐกิจสังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศได้แก่ เชื้อเพลิงชีวมวล การผลิตไฟฟ้าและความร้อนจากชีวมวลและก๊าซชีวภาพ โดยใช้มาตรการสนับสนุนทางด้านการเงินเต็มรูปแบบ
ระยะกลาง (2555-2559) ส่งเสริมและให้ความสำคัญต่อการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานทดแทนภายในประเทศ เป็นการสร้างอุตสาหกรรม และบุคลากร เพื่อรองรับเทคโนโลยีพลังงานทดแทนในอนาคต ให้อุตสาหกรรมด้านพลังงานทดแทนมีความเข้มแข็ง และสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก ประกอบกับการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนท้องถิ่นทั่วประเทศ ให้พึ่งพาตนเองด้วยพลังงานสะอาดต่อไป
ระยะยาว (2556-2565) ส่งเสริมเทคโนโลยีพลังงานทดแทนใหม่ ๆ การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ เช่น พลังงานไฮโดรเจน รวมทั้งสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์ส่งออกเชื้อเพลิงชีวภาพ และการส่งออกเทคโนโลยีพลังงานทดแทนในภูมิภาคเอเชีย
ทั้งนี้ นายวีระพล จิรประดิษฐกุล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า “ได้มีการกำหนดแนวทางนำพลังงานหมุนเวียนและพลังงานทดแทนอื่น ๆ มาใช้ให้มากขึ้น โดยในปี 2550-2554 เช่น แสงอาทิตย์ ลม น้ำ ชีวมวล ชีวภาพ ใช้พลังงานเชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้นจาก 3,150 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบเป็น 6,688 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ หรือจากร้อยละ 4.9 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 9.2 ของความต้องการใช้พลังงานปี 2554 และจะมีการใช้ก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นจาก 312 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบเป็น 2,170 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ หรือคิดเป็นร้อยละ 3.0 ของความต้องการใช้พลังงานในปี 2554
อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการช่วยลดต้นทุนด้านการลงทุนของภาครัฐบาล กระทรวงพลังงานยังมุ่งเน้นการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็กและเล็กมาก (SPP และ VSPP) ที่ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนและใช้ทรัพยากรในท้องถิ่น เพื่อให้ชุมชนได้ตระหนักถึงการพึ่งพาตนเองและมีส่วนร่วมรับผิดชอบในการจัดหาพลังงาน และยังเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการกระจายแหล่งเชื้อเพลิงช่วยเสริมความมั่นคงทางด้านพลังงานไฟฟ้าและส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งกระทรวงพลังงานจะต้องช่วยเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจและจัดตั้งหมู่บ้านพลังงานในทุกจังหวัดเพื่อเป็นต้นแบบด้านการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานหมุนเวียน
กระทรวงพลังงาน ตั้งเป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้าจาก SPP จำนวน 4,000 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันมี SPP เข้าระบบแล้ว 2,395.10 เมกะวัตต์ ซึ่งในปี 2550 กระทรวงพลังงานได้ประกาศรับซื้อไฟฟ้างวดแรกจำนวน 1,030 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น SPP ที่ใช้ระบบผลิตไฟฟ้าและไอน้ำร่วมกัน (Cogeneration) จำนวน 500 เมกะวัตต์ และการรับซื้อไฟฟ้าจาก SPP ที่ใช้ระบบผลิตพลังงานหมุนเวียนจำนวน 530 เมกะวัตต์ ประกอบด้วยเชื้อเพลิงจากขยะจำนวน 100 เมกะวัตต์ พลังงานลมจำนวน 115 เมกะวัตต์ พลังงานแสงอาทิตย์ 15 เมกะวัตต์ และพลังงานหมุนเวียนอื่น ๆ เช่น แกลบ เศษไม้ กำหนดปริมาณการรับซื้อรวม 300 เมกะวัตต์
อย่างไรก็ตาม แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP2007) กำหนดเป้าหมายส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจาก SPP จำนวน 1,700 เมกะวัตต์ เพื่อขายไฟฟ้าเข้าระบบภายในปี 2552-2564 พบว่ามีภาคเอกชนยื่นขายไฟฟ้าเข้าระบบและภาครัฐได้ตอบรับการซื้อไฟฟ้าแล้วจำนวน 25 ราย ปริมาณไฟฟ้าที่เสนอขายรวม 1,649 เมกะวัตต์ ต่ำกว่าเป้าหมายเพียง 51 เมกะวัตต์ โดย SPP ที่ใช้ระบบผลิตไฟฟ้าและไอน้ำร่วมกัน (Cogeneration) จำนวน 18 ราย ปริมาณที่เสนอขายไฟฟ้า 1,314 เมกะวัตต์ และ SPP ที่ใช้พลังงานชีวมวลจำนวน 4 ราย ปริมาณที่เสนอขายไฟฟ้า 335 เมกะวัตต์
ส่วนการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจาก VSPP นับถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2551 มีโครงการขอยื่นแบบคำขอจำหน่ายไฟฟ้าและการเชื่อมโยงระบบกับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายและ 325 ราย ปริมาณพลังงานไฟฟ้าเสนอขายรวม 1,151.67 เมกะวัตต์ โดยสามารถขายไฟฟ้าเข้าระบบได้แล้ว 82 ราย ปริมาณพลังงานไฟฟ้าเสนอขายรวม 173.59 เมกะวัตต์ และเป็นโครงการที่ขายไฟฟ้าเข้าระบบของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) 51 ราย ปริมาณเสนอขายไฟฟ้ารวม 172.51 เมกะวัตต์ และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) 31 ราย ปริมาณเสนอขายไฟฟ้ารวม 1.08 เมกะวัตต์
โดยโครงการส่วนใหญ่ผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ รองลงมา ได้แก่ กากอ้อย แกลบ และก๊าซชีวภาพ
นอกจากนี้กระทรวงพลังงาน ได้เร่งส่งเสริมการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 ซึ่งคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีมติเห็นชอบให้ส่งเสริมการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 แบบครบวงจร เพื่อให้การส่งเสริมการใช้ E85 เป็นรูปธรรม และมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งจะส่งผลให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติเชิงเศรษฐกิจถึง 447,377 ล้านบาท ส่งเสริมการใช้เอทานอลเป็นวาระแห่งชาติ และจะส่งเสริมให้มีการนำเข้า และประกอบรถ FFV (Flex Fuel Vehicle) ดังนี้
- ระยะที่ 1 (2551-2552) ให้มีการลดหย่อนอากรนำเข้าจากอัตราปกติ 80% เหลือ 60% เป็นการชั่วคราวภายในปี 2552 หรือประมาณ 2,000 คัน และให้กระทรวงพลังงานพิจารณาใช้กองทุนน้ำมันจัดทำโครงการนำร่องในลักษณะ Rebate ให้กับผู้ซื้อรถ FFV เทียบเท่ากับการลดหย่อนอัตราภาษีสรรพสามิต 3% โดยโครงการดังกล่าวจะดำเนินการในช่วงปี 2552-2553
- ระยะที่ 2 (ในช่วงปี 2553 เป็นต้นไป) ให้มีการเก็บอากรนำเข้ารถยนต์ในอัตราปกติและหลังจากปี 2553 ให้มีการพิจารณาทบทวนอัตราภาษีสรรพสามิตระยนต์สำหรับรถยนต์ E85 ใหม่อีกครั้งหนึ่ง
ทั้งนี้ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้เกิดผลทางการปฏิบัติตาม Road Map ที่กระทรวงพลังงานเสนอเช่น มาตรการภาษีและอากรเพื่อการนำเข้ารถยนต์ในระยะสั้นของกรมศุลกากร การออกมาตรการคุณภาพน้ำมัน E85 ของกรมธุรกิจพลังงาน การเพิ่มผลผลิตต่อไร่ทั้งอ้อยและมันสำปะหลังและการกำหนดพื้นที่เพาะปลูกในพื้นที่รกร้างว่างเปล่า พื้นที่ราชพัสดุของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กรมธนารักษ์ เป็นต้น
นโยบายดังกล่าวจะสามารถสร้างความมั่นคงด้านการจัดหาพลังงานของประเทศ และลดการนำเข้าน้ำมันคิดเป็นมูลค่า 386,720 ล้านบาท อีกทั้ง ยังสร้างโอกาสในการปรับโครงสร้างการผลิตพืชเกษตรไปสู่พืชพลังงานที่มีมูลค่าที่มีมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจสูง สร้างเสถียรภาพราคาพืชผลเกษตร และต่อยอดมูลค่าด้านเกษตรอุตสาหกรรม คิดเป็นมูลค่าเชิงเศรษฐศาสตร์ได้ถึง 60,657 ล้านบาท และยังสามารถลดมลพิษและภาวะโลกร้อนได้ถึง 27.8 ล้านตันต่อปี
ที่มา: สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด