และแล้วก็เวียนมาบรรจบครบรอบอีกครั้งของงานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ ซึ่งครั้งนี้นับว่าเป็นครั้งที่ 25 โดยสมาคมส่งเสริมความปลอดภัยและอนามัยในการทำงาน (ประเทศไทย)
งานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ ครั้งที่ 25
(25th National Safety Week)
ศิริพร วันฟั่น
และแล้วก็เวียนมาบรรจบครบรอบอีกครั้งของงานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ ซึ่งครั้งนี้นับว่าเป็นครั้งที่ 25 โดยสมาคมส่งเสริมความปลอดภัยและอนามัยในการทำงาน (ประเทศไทย) ร่วมกับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน และสำนักงานประกันสังคม จัดงานขึ้นในระหว่างวันที่ 7–9 กรกฎาคม พ.ศ.2554 ณ ศูนย์นิทรรศการและการแสดงสินค้าไบเทค บางนา กรุงเทพฯ โดยในครั้งนี้มีสโลแกนของงานว่า “พัฒนาแรงงานให้ปลอดภัย ต้องร่วมใจทุกองค์กร”
ก่อนที่จะเข้าบรรยากาศภายในงานสัปดาห์ความปลอดภัยฯ ครั้งที่ 25 ก็อยากจะขอเล่าถึงความเป็นมาของการจัดงานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติกันสักเล็กน้อย ดังนี้
ตุลาคม พ.ศ. 2528 ได้มีการหารือระหว่างหัวหน้าส่วนราชการเกี่ยวกับการพัฒนางานความปลอดภัยในการทำงาน ต่างเห็นพ้องต้องกันว่า นอกจากกฎหมาย การตรวจแรงงาน การศึกษาวิจัย การทดสอบวิเคราะห์ปัญหาสภาพแวดล้อมในการทำงาน และการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารแล้ว สมควรที่จะมีกิจกรรมเสริม โดยการจัดงาน “สัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงาน” ระดับประเทศขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อรณรงค์ส่งเสริม ประชาสัมพันธ์ และกระตุ้นจิตสำนึกให้เกิดความปลอดภัยในการทำงาน อีกทั้งยังให้เป็นศูนย์กลางของกลุ่มบุคคลและองค์กรที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่นายจ้าง ลูกจ้าง ผู้บริหาร นักวิชาการ เจ้าหน้าที่ และประชาชนทั่วไป ให้มาพบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ วิชาการ แนวคิด วิธีการแก้ไขปัญหา และเป็นแหล่งแสดงผลงานวิชาการด้านความปลอดภัยที่ประสบความสำเร็จในสถานประกอบกิจการ เพื่อเผยแพร่ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ตระหนักถึงความสำคัญของคนทำงาน ความเสียหายและความทุกข์ของคนที่ได้รับอันตรายจากการทำงาน รวมถึงความเสียหายของทุกคนที่มีส่วนได้รับจากการนั้นด้วย
18 ธันวาคม พ.ศ.2528 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้จัดตั้งคณะกรรมการจัดงานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานเป็นคณะกรรมการระดับชาติ เพื่อจัดงานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงาน อันประกอบไปด้วยผู้แทนจากส่วนราชการ องค์กรของรัฐ และเอกชนเป็นกรรมการร่วมกัน โดยมีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ร้อยตำรวจโท ชาญ มนูธรรม) เป็นประธานกรรมการ อธิบดีกรมแรงงาน (ปัจจุบันคือกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน) เป็นกรรมการและเลขานุการ วัตถุประสงค์ก็เพื่อให้การจัดงานเป็นศูนย์รวมของวิชาการ และการแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน อีกทั้งยังเป็นกิจกรรมรณรงค์ส่งเสริม ประชาสัมพันธ์ กระตุ้นจิตสำนึกให้เกิดความปลอดภัยในการทำงานในประเทศไทย
ปี พ.ศ.2529 ประเทศไทยได้มีการจัดสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ ขึ้นเป็นครั้งแรกในระหว่าง”วันที่ 1-3 มิถุนายน พ.ศ.2529” ในครั้งนั้นคณะกรรมการจัดงานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ เสนอว่า เห็นเป็นการสมควรที่จะให้มีการจัดตั้งสมาคมเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงานขึ้น และควรให้มีการจัดงานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติต่อไปทุกปี โดยให้สมาคมที่จะจัดตั้งขึ้นนี้มีส่วนเข้าร่วมด้วยและมีกรมแรงงาน (ในขณะนั้น) เป็นผู้ประสานงาน
20 มกราคม พ.ศ.2535 คณะรัฐมนตรีมีมติกำหนดให้ “วันที่ 1–5 กรกฎาคม” ของทุกปีเป็นสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ และให้จัดงานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ เป็นกิจกรรมรณรงค์ส่งเสริมความปลอดภัยในการทำงานในช่วงเวลาเดียวกัน
26 สิงหาคม พ.ศ.2540 คณะรัฐมนตรีได้มีมติยกเลิกวันที่ 1-5 กรกฎาคม เป็นสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ และให้วันที่ 10 พฤษภาคม เป็นวันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ ตามข้อเรียกร้องขององค์กรลูกจ้างกรณีเกิดเพลิงไหม้บริษัท เคเดอร์ อินดัสเตรียล (ไทยแลนด์) จำกัด ในวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2536 ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 188 คน และให้มีการจัดงานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ ในช่วงเวลาเดียวกัน การจัดงานจึงได้เริ่มจัดในช่วงเวลาคาบเกี่ยววันที่ 10 พฤษภาคม ตั้งแต่ครั้งที่ 12 (พ.ศ.2541) เป็นต้นมา
2 เมษายน พ.ศ.2548 ในการประชุมคณะกรรมการจัดงานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานครั้งที่ 1/2548 ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี (นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย) เป็นประธานการประชุม ได้มีมติให้แก้ไขชื่อของคณะกรรมการจัดงานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานเป็นคณะกรรมการส่งเสริมความปลอดภัยในการทำงาน พร้อมทั้งปรับโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ให้ครอบคลุมการรณรงค์ส่งเสริมความปลอดภัยและอาชีวอนามัยทุกเรื่อง ไม่เพียงแต่การจัดงานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติเท่านั้น ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 8 กันยายน พ.ศ.2548
11 ธันวาคม พ.ศ.2550 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ประกาศนโยบาย “แรงงานปลอดภัยและสุขภาพอนามัยดี” เป็นระเบียบวาระแห่งชาติตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะรณรงค์ให้เกิดความตระหนักและสร้างจิตสำนึกในเรื่องความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดีในสถานที่ทำงาน และสถานประกอบกิจการทั้งภาครัฐและเอกชน
16 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2553 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการปรับเปลี่ยนองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการส่งเสริมความปลอดภัยในการทำงาน โดยให้มีหน้าที่ในการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนระเบียบวาระแห่งชาติ “แรงงานปลอดภัยและสุขภาพอนามัยดี” เพื่อให้บรรลุเป้าหมายและวัตถุประสงค์ โดยตัดอำนาจหน้าที่ในการจัดงานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานที่เป็นภารกิจงานประจำของกระทรวงแรงงานออก โดยกระทรวงแรงงานมีคำสั่ง ที่ 32/2553 ลงวันที่ 2 เมษายน พ.ศ.2553 ให้คณะกรรมการความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน มีหน้าที่ดำเนินการจัดงานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ
ดังนั้น การจัดงานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติจึงดำเนินการโดยคณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานจวบจนถึงปัจจุบัน ซึ่งกิจกรรมหลักในการจัดงานได้แก่ การสัมมนาวิชาการ การจัดนิทรรศการ การประกวดต่าง ๆ เช่นการประกวดสถานประกอบการดีเด่นด้านความปลอดภัยในการทำงาน การประกวดเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพ การประกวดภาพถ่ายความไม่ปลอดภัยในการทำงาน เป็นต้น
ที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดก็คือ ที่มาที่ไปของจัดงานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบัน สำหรับการจัดงานสัปดาห์ความปลอดภัยฯ ครั้งที่ 25 นี้ มีวัตถุประสงค์ คือ
(1) เพื่อรณรงค์ขับเคลื่อนระเบียบวาระแห่งชาติ “แรงงานปลอดภัยและสุขภาพอนามัยดี”
(2) เพื่อสร้างจิตสำนึกความปลอดภัยให้เกิดขึ้นแก่นายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ใช้แรงงาน นักเรียน นักศึกษา ผู้ที่เกี่ยวข้องด้านความปลอดภัยในการทำงาน รวมทั้งประชาชนทั่วไป
(3) เพื่อเป็นศูนย์รวมวิชาการและการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน รวมทั้งเผยแพร่เทคโนโลยีใหม่ ๆ ด้านความปลอดภัยในการทำงาน และ
(4) เพื่อเป็นแหล่งพบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ แนวคิด วิธีการแก้ไขปัญหา รวมถึงแสดงผลงานวิชาการด้านความปลอดภัยที่ประสบความสำเร็จในสถานประกอบกิจการ
ก่อนหน้านี้ เมื่อปี พ.ศ.2550 รัฐบาลชุดก่อนได้ประกาศนโยบาย “แรงงานปลอดภัย และสุขภาพอนามัยดี” เป็นระเบียบวาระแห่งชาติ โดยมีเจตนารมณ์ให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมรณรงค์ให้เกิดความตระหนัก และสร้างจิตสำนึกเรื่องความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน เพื่อให้ผู้มีงานทำกว่า 39 ล้านคนทั่วประเทศมีคุณภาพชีวิตที่ดีมีความปลอดภัยในการทำงาน เพราะสิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่ภาพลักษณ์ที่ดีแก่ประเทศ สร้างความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจ การลงทุน เพื่อให้เกิดการจ้างงานในระบบเศรษฐกิจอย่างมั่นคง
สำหรับสโลแกน “พัฒนาแรงงานให้ปลอดภัย ต้องร่วมใจทุกองค์กร” ที่เป็นหัวใจสำคัญ (Theme) ของงานในครั้งนี้นั้น ก็มีเจตนารมณ์มุ่งไปในทิศทางให้เกิดความร่วมมือ ร่วมใจของทุกภาคส่วนอย่างจริงจัง เพื่อให้เกิดความสำเร็จในการพัฒนาความปลอดภัยได้อย่างยั่งยืน รวมถึงรณรงค์และกระตุ้นให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถานประกอบกิจการ นายจ้าง ลูกจ้าง นักเรียน นักศึกษา รวมทั้งประชาชนทั่วไป ได้สร้างเสริมความรู้ ความเข้าใจ ทักษะ และจิตสำนึกด้านความปลอดภัย เพื่อให้เกิดความตระหนักในอันตรายจากการทำงานและความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น และนำมาซึ่งการลดอุบัติเหตุ รวมทั้งการเป็นโรคอันเนื่องมาจากการทำงาน ที่นับวันก็จะมีหลากหลายลักษณะตามการพัฒนาทางเทคโนโลยีที่ไม่หยุดยั้ง ทั้งนี้ ถ้าหากทุกภาคส่วนร่วมมือร่วมใจกันพัฒนาเศรษฐกิจของชาติควบคู่ไปกับการดำเนินงานด้านความปลอดภัยในการทำงานและสุขภาพอนามัยที่ดีของคนทำงานแล้ว ย่อมส่งผลให้ประเทศสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการค้า ให้ทัดเทียมกับอารยประเทศที่พัฒนาแล้ว
และในระดับเวทีการค้าโลกได้ เหตุก็เพราะแรงงานคือทรัพยากรที่มีคุณค่า และเป็นกำลังสำคัญสูงสุดต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของชาตินั่นเอง และสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งสำหรับสภาพการณ์ด้านความปลอดภัยฯ ในประเทศไทยปัจจุบันนี้ ที่ลืมไปเสียมิได้ ก็คือ การสร้าง “สำนึกด้านความปลอดภัยให้แก่ทุก ๆ คนตั้งแต่วัยเยาว์” นั่นเอง
และเมื่อ “พระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554” มีผลบังคับใช้แล้ว ในวันที่ 16 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ก็จะเป็นอีกกลไกหนึ่งที่สำคัญของการพัฒนาแรงงานให้ปลอดภัย โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคีที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ การที่ประเทศไทยมีพระราชบัญญัติความปลอดภัยฯ เป็นกฎหมายแม่บท เพื่อประโยชน์แก่การวางมาตรการ ควบคุม กำกับดูแล และบริหารจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเป็นการเฉพาะ ก็นับเป็นนิมิตหมายอันดีของคนทำงานในทุกสาขาอาชีพที่จะได้รับการคุ้มครองดูแลให้ทำงานในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม และมุ่งเป้าหมายไปที่การลดอุบัติเหตุ รวมถึงโรคจากการทำงานให้เป็นศูนย์ ซึ่งการดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ ย่อมส่งผลลัพธ์ที่เกิดความคุ้มค่าต่อการลงทุน เพราะจะสามารถลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งลดความสูญเสียทางทรัพยากรบุคคลที่เป็นกำลังสำคัญของชาติ ที่ได้รับผลกระทบมาจากความไม่ปลอดภัยในการทำงาน
ความเป็นรูปธรรมตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติความปลอดภัยฯ พ.ศ.2554 ในด้านการมีส่วนร่วม ก็คือ การสะท้อนภาพของความรับผิดชอบร่วมกันของทุกภาคส่วน กล่าวคือ นายจ้าง ยอมลงทุนในการบริหารจัดการความปลอดภัยในสถานประกอบกิจการตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อดูแลทุกชีวิตที่ทำงานสร้างผลผลิตผลกำไรให้แก่สถานประกอบกิจการ ดูแลคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงานเสมือนเป็นญาติ เป็นหุ้นส่วน หรือเป็นลูกค้า ลูกจ้าง ต้องแสดงความรับผิดชอบต่อตนเอง รวมถึงเพื่อนร่วมงาน และนายจ้าง ด้วยการให้ความร่วมมือที่จะปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบของสถานประกอบกิจการอย่างเคร่งครัด เป็นหูเป็นตาช่วยสอดส่องดูแลและเฝ้าระวังความไม่ปลอดภัยจากการทำงาน
ผู้เป็นเจ้าของอาคารสถานที่หรือเครื่องจักรอุปกรณ์ ที่ให้นายจ้างเช่าควรคำนึงถึงความปลอดภัยของสิ่งเหล่านั้น ก่อนการให้เช่า เนื่องจากหากสิ่งที่ให้เช่านั้นไม่เป็นไปตามข้อกำหนดเพื่อความปลอดภัยในการทำงาน ต้องยอมให้นายจ้างทำการแก้ไขปรับปรุงให้ถูกต้องในทุกกรณี โดยไม่มีเงื่อนไขทางกรรมสิทธิ์ บุคลากรหรือหน่วยงานบริการด้านความปลอดภัยในการทำงาน ต้องมีจรรยาบรรณในการทำงานที่อยู่บนพื้นฐานของหลักวิชาการและเป็นไปตามมาตรฐาน สำหรับภาครัฐ หน่วยงานราชการต้องเป็นแบบอย่างในการดำเนินงาน โดยคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นสำคัญ เพื่อให้ประชาชนผู้รับบริการมีความมั่นใจและพึงพอใจในบริการ และเจ้าหน้าที่พนักงานตรวจความปลอดภัยของกระทรวงแรงงานจะต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริต โปร่งใส และเป็นธรรม
พระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 ประกอบด้วย 8 หมวด คือ หมวด (1) บททั่วไป หมวด (2) การบริหาร การจัดการและการดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน หมวด (3) คณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน หมวด (4) การควบคุม กำกับ ดูแล หมวด (5) พนักงานตรวจความปลอดภัย หมวด (6) กองทุนความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน หมวด (7) สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน และหมวด (8) บทกำหนดโทษ
เนื้อหาตามบทบัญญัติทั้ง 8 หมวด จะครอบคลุมถึงการบริหารจัดการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานของสถานประกอบกิจการ อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ การจัดตั้งกองทุนความปลอดภัยฯ ที่นายจ้างสามารถกู้ยืมเงินจากกองทุนไปปรับปรุงแก้ไขสภาพความไม่ปลอดภัย ในสถานประกอบกิจการ เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุ รวมถึงโรคจากการทำงาน ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อสถานประกอบกิจการ SME นอกจากนี้ยังให้มีการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อทำหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุน และให้บริการด้านวิชาการต่าง ๆ อีกด้วย
ปัญหาการประสบอันตรายอันเนื่องมาจากการทำงาน เป็นปัญหาที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ ซึ่งเมื่อพิจารณาจากข้อมูลรายงานของสำนักงานกองทุนเงินทดแทนสำนักงานประกันสังคมในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544-2553 ปรากฏว่าอัตราการประสบอันตรายจากการทำงานของลูกจ้าง กรณีหยุดงานเกินกว่า 3 วันขึ้นไป มีแนวโน้มลดลง โดยในปี พ.ศ.2544 อัตราการประสบอันตรายจากการทำงานอยู่ที่ 9.42 รายต่อลูกจ้าง 1,000 คน และในปี พ.ศ.2553 อัตราการประสบอันตรายจากการทำงานอยู่ที่ 5.22 รายต่อลูกจ้าง 1,000 คน (ลดลงจากปี พ.ศ.2544 คิดเป็นร้อยละ 44.59) แต่หากเปรียบเทียบอัตราการประสบอันตรายจากการทำงานระหว่างปี พ.ศ.2553 กับปีพ.ศ.2552 มีอัตราการประสบอันตรายจากการทำงานอยู่ที่ 5.22 และ 5.39 รายต่อลูกจ้าง 1,000 คน ตามลำดับ ซึ่งพบว่าการประสบอันตรายอันเนื่องมาจากการทำงานลดลงจากปีที่ผ่านมาคิดเป็นร้อยละ 3.15
แต่อย่างไรก็ตาม จำนวนตัวเลขการประสบอันตรายจากการทำงานในแต่ละปียังคงสูงอยู่ โดยปี พ.ศ.2553 มีลูกจ้างที่ประสบอันตรายจากการทำงานรวมทุกกรณีเป็นจำนวน 146,511 ราย ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิต 619 ราย และมูลค่าความสูญเสียที่สำนักงานกองทุนเงินทดแทน สำนักงานประกันสังคม ต้องจ่ายเงินทดแทนเนื่องจากการประสบอันตรายจากการทำงานเป็นจำนวนเงินปีละกว่า 1,500 ล้านบาทเลยทีเดียว
สภาพปัญหาดังกล่าวไม่เพียงแต่จะส่งผลกระทบต่อการสูญเสียเงินทดแทนที่รัฐต้องจ่ายให้กับผู้ประสบอันตรายเท่านั้น แต่ยังมีผลกระทบต่อสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการลงทุนจากนักลงทุนต่างประเทศ ซึ่งปัญหาดังกล่าวได้ถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นในเวทีโลก ไม่ว่าจะเป็นประเด็นที่อยู่ในความสนใจขององค์การอนามัยโลก องค์การแรงงานระหว่างประเทศ องค์การมาตรฐานระหว่างประเทศ องค์การการค้าโลก หรือแม้แต่กลุ่ม NGO ต่าง ๆ ทั้งยังเป็นประเด็นหนึ่งที่ถูกนำมาเชื่อมโยงกับภาพลักษณ์ของความรับผิดชอบต่อสังคมที่ทั้งผู้ผลิต ผู้ค้า และผู้รับบริการ ต่างแสวงหาและนำมาเป็นเงื่อนไขในการดำเนินธุรกิจร่วมกันจึงอาจกล่าวได้ว่า เรื่องของความปลอดภัยและอาชีวอนามัยไม่ใช่เรื่องของประเทศใดประเทศหนึ่งอีกต่อไปแล้ว แต่เป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจในเวทีโลกในขณะนี้ด้วย
อนึ่ง ตามธรรมเนียมที่ดำเนินการตลอดมา นอกจากจะมีการจัดงานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ ที่ส่วนกลาง แล้ว ก็ยังมีการจัดงานสัปดาห์ความปลอดภัยฯ ในส่วนภูมิภาคอีกด้วย สำหรับในครั้งนี้นั้น มีการจัดงานตามวัน และสถานที่ไล่เรียงไปตามลำดับ ดังนี้ คือ
บรรยากาศภายในงานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ ครั้งที่ 25
เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ.2554 ที่ศูนย์นิทรรศการและการแสดงสินค้าไบเทค บางนา กรุงเทพฯ นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ได้ให้เกียรติเดินทางมาเป็นประธานเปิดงานงานสัปดาห์ความปลอดภัยฯ ครั้งที่ 25 และได้กล่าวตอนหนึ่งภายหลังจากพิธีเปิดและมอบรางวัลแก่สถานประกอบกิจการดีเด่นด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานว่า “การจัดงานในปีนี้ เน้นแนวคิดให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการดูแลแรงงานให้มีความปลอดภัยในการทำงาน ซึ่งกระทรวงแรงงานยินดีสนับสนุนกิจกรรมส่งเสริมความปลอดภัยในการทำงานอย่างเต็มที่ โดยในวันที่ 16 กรกฎาคม นี้ พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554
จะมีผลบังคับใช้ จะมีการจัดตั้งสถาบัน และกองทุนความปลอดภัยฯ ขึ้นภายใน 1 ปี” และยังได้กล่าวต่อไปอีกว่า “งบกองทุนความปลอดภัยฯ จะมาจาก 2 ส่วน คือ ส่วนแรกมาจากเงินกองทุนทดแทนของสำนักงานประกันสังคม ซึ่งการหารือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะดึงเงินจากกองทุนทดแทนมากี่เปอร์เซ็นต์ และอีกส่วนจะมาจากการสนับสนุนของรัฐบาล โดยกระทรวงฯ จะเสนอของบประมาณจากรัฐบาลใหม่ประมาณ 1 พันล้านบาท เพื่อนำมาจัดตั้งกองทุนความปลอดภัยฯ เพื่อส่งเสริมด้านความปลอดภัยในการทำงาน”
ส่วน นางอัมพร นิติสิริ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวว่า “จากข้อมูลของ กสร. พบว่าตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ.2553 จนถึงปัจจุบัน มีการดำเนินคดีอาญาตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 จำนวนทั้งสิ้น 655 คดี เปรียบเทียบปรับเป็นเงิน 12 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นคดีสถานประกอบการที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายความปลอดภัยในการทำงาน 91 คดี คิดเป็น 14.81 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนคดีทั้งหมด โดยมีการจ่ายค่าปรับประมาณ 6 ล้านบาท คิดเป็น 50 เปอร์เซ็นต์ของค่าปรับทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ในปีนี้มีสถานประกอบการที่ได้รับรางวัลสถานประกอบการดีเด่นด้านความปลอดภัยในการทำงานระดับประเทศทั้งสิ้น 528 แห่ง”
และกล่าวต่อไปอีกว่า “เชื่อว่าหลังจาก พ.ร.บ.ความปลอดภัยฯ มีผลบังคับใช้แล้ว จะทำให้สถานประกอบการดูแลความปลอดภัยในการทำงานของลูกจ้างมากยิ่งขึ้น เนื่องจากมีการเพิ่มโทษนายจ้างที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายความปลอดภัยฯ จากเดิมจำคุก 1 ปี ปรับ 2 แสนบาท เพิ่มเป็นจำคุก 2 ปี ปรับ 8 แสนบาท โดยเฉพาะค่าปรับนั้นจะต้องจ่ายมากขึ้น ทำให้นายจ้างไม่กล้าที่จะละเลยการดูแลความปลอดภัยของลูกจ้าง”
รายละเอียดของกิจกรรมต่าง ๆ ภายในงานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ ครั้งที่ 25
(1) การสัมมนาวิชาการ ทั้งการบรรยายและการอภิปรายโดยวิทยากรและผู้ทรงคุณวุฒิตลอด 3 วันเต็ม ตัวอย่างหัวข้อสัมมนา เช่น
- พระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 และ กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2553
- กฎหมายความปลอดภัยในการทำงานฉบับใหม่ที่ประกาศเพิ่ม
- ทำไมแพทย์ไม่วินิจฉัยโรคจากการทำงาน
- แนวคิดการดำเนินการเกี่ยวกับการประเมินอันตราย การศึกษาผลกระทบของสภาพแวดล้อมในการทำงาน และแผนการดำเนินการด้านความปลอดภัย
- การพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอผลงานวิชาการ ตัวอย่างเช่น
- การสร้างเครื่องตรวจวัดเสียงโดยใช้เซนเซอร์วัดเสียง การสร้างเครื่องตรวจวัดระดับความเข้มแสงโดยใช้เซนเซอร์วัดแสงชนิด LDR และการสร้างเครื่องตรวจวัดระดับความร้อนชนิด WBGT โดยใช้เซนเซอร์วัด อุณหภูมิและความชื้นชนิด SHT15 และ DS18B20 โดย อ.เกียรติศักดิ์ บัตรสูงเนิน หัวหน้าภาควิชาแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนสุรนารี
- การประเมินความเสี่ยงและความรุนแรงของการรั่วไหลของก๊าซแอลพีจี จากถังกักเก็บในอุตสาหกรรมเคมีสิ่งทอ โดย อ.ธนาวัฒน์ รักกมล อาจารย์ประจำสาขาวิชาสุขศาสตร์อุตสาหกรรมและสุขภาพ สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาการสุขภาพและการกีฬา มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง
เป็นต้น
ทั้งการบรรยายและการอภิปรายโดยวิทยากรและผู้ทรงคุณวุฒิตลอด 3 วันเต็ม ตัวอย่างหัวข้อสัมมนา เช่น * พระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 และ กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2553 * กฎหมายความปลอดภัยในการทำงานฉบับใหม่ที่ประกาศเพิ่ม* ทำไมแพทย์ไม่วินิจฉัยโรคจากการทำงาน* แนวคิดการดำเนินการเกี่ยวกับการประเมินอันตราย การศึกษาผลกระทบของสภาพแวดล้อมในการทำงาน และแผนการดำเนินการด้านความปลอดภัย* การพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอผลงานวิชาการ ตัวอย่างเช่น * การสร้างเครื่องตรวจวัดเสียงโดยใช้เซนเซอร์วัดเสียง การสร้างเครื่องตรวจวัดระดับความเข้มแสงโดยใช้เซนเซอร์วัดแสงชนิด LDR และการสร้างเครื่องตรวจวัดระดับความร้อนชนิด WBGT โดยใช้เซนเซอร์วัด อุณหภูมิและความชื้นชนิด SHT15 และ DS18B20 โดย อ.เกียรติศักดิ์ บัตรสูงเนิน หัวหน้าภาควิชาแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนสุรนารี * การประเมินความเสี่ยงและความรุนแรงของการรั่วไหลของก๊าซแอลพีจี จากถังกักเก็บในอุตสาหกรรมเคมีสิ่งทอ โดย อ.ธนาวัฒน์ รักกมล อาจารย์ประจำสาขาวิชาสุขศาสตร์อุตสาหกรรมและสุขภาพ สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาการสุขภาพและการกีฬา มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง เป็นต้น
(2) นิทรรศการ อาทิ เช่น
- นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 84 พรรษา มีการเปิดตัวโครงการ “แรงงานร่วมใจ ลดขยะพิษ เพื่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมตามแนวพระราชดำริ” ซึ่งเป็นโครงการที่ต้องการรณรงค์ให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน และสถานประกอบกิจการทั่วประเทศ มีการจัดการขยะ ของเสียอันตรายให้เหมาะสมเพื่อร่วมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมตามแนวพระราชดำริฯ และเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับประชาชน
- ซุ้มเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ และเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมงานได้มีส่วนร่วมถวายพระพรเนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา และร่วมแสดงความยินดีครบรอบ 25 ปี งานสัปดาห์ความปลอดภัยแห่งชาติ
- นิทรรศการเกี่ยวกับ “25 ปี Safety Week กับเส้นทางการพัฒนาความปลอดภัย”
- นิทรรศการเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554
- นิทรรศการเกี่ยวกับแรงงานนอกระบบ (ภาคเกษตร, รับงานไปทำที่บ้าน ฯลฯ)
- นิทรรศการเชิงสาธิต สำหรับการสาธิตการป้องกันอันตรายจากเสียง
- นิทรรศการภารกิจกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
(3) ส่วนแสดงผลงาน อาทิเช่น
- ส่วนแสดงผลงานสถานประกอบกิจการดีเด่น คณะกรรมการความปลอดภัยฯ ดีเด่น และเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานดีเด่น โดยมีช่องสำหรับใส่แฟ้มเอกสารไว้หน้าจุดแสดงผลงานของสถานประกอบกิจการแต่ละแห่ง รวมถึงมีจอ LCD นำเสนอผลงานด้านการจัดการความปลอดภัยในการทำงานของสถานประกอบกิจการที่ได้รับรางวัลฉายต่อเนื่องตลอดช่วงการจัดงาน
- ส่วนแสดงผลงานสิ่งประดิษฐ์คิดค้นด้านความปลอดภัย ซึ่งเป็นตัวอย่างได้ (Best Practices) ซึ่งปีนี้ได้รับรางวัลจำนวน 16 ผลงาน
(4) การประกวด อาทิเช่น
- การประกวดทีมฉุกเฉินในสถานประกอบกิจการ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้สถานประกอบกิจการที่เข้าร่วมแข่งขันทีมฉุกเฉิน ได้แสดงศักยภาพและเป็นเวทีของการเรียนรู้และพัฒนาทีมฉุกเฉินในสถานประกอบกิจการ โดยมีทีมผ่านการคัดเลือกเข้ามาแข่งขันรอบสุดท้ายจำนวน 6 ทีม ซึ่งในการแข่งขันนั้น จะมีการจำลองสถานการณ์ฉุกเฉินให้แก้ไข นั่นคือ “มีผู้ประสบเหตุขึ้นไปติดตั้งสายไฟบนเพดาน 2 คน คนแรกพลัดตกลงมาขาหักกระดูกโผล่และมีสิ่งกีดขวางทับอยู่ ส่วนคนที่สอง ติดอยู่บนเพดานมีสายไฟพันรัดตามร่างกายทำให้ขาดอากาศหายใจ” เกณฑ์การตัดสินพิจารณาจากระยะเวลาและขั้นตอนการปฏิบัติการที่ถูกต้อง ซึ่งผลการประกวดปรากฏว่า ทีมชนะเลิศ ได้แก่ ทีม FIRE RESCUE จากบริษัท โทคิโคะ (ประเทศไทย) จำกัด
- การประกวด ภาพโปสเตอร์ความปลอดภัยในการทำงาน หัวข้อ “ความปลอดภัย” มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนเกิดจิตสำนึกด้านความปลอดภัย และมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับความปลอดภัยในในการทำงาน ในทุกสาขาอาชีพ อาทิ งานอุตสาหกรรม งานบริการ งานเกษตรกรรม ฯลฯ โดยมีผู้เข้าแข่งขันทั้งนักเรียน นักศึกษา และบุคคลทั่วไป ซึ่งปีนี้ได้รับรางวัลทั้งสิ้น 23 ภาพ
- การประกวดภาพถ่ายความไม่ปลอดภัยในการทำงาน
- การประกวดคณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานดีเด่น ซึ่งปีนี้ได้รับรางวัล 1 แห่ง
- การประกวดสถานประกอบกิจการดีเด่นด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน โดยปีนี้มีสถานประกอบกิจการได้รับรางวัลจำนวน 528 แห่ง ซึ่งเป็นสถานประกอบกิจการที่ได้รับรางวัลระดับประเทศติดต่อกันตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป
- การประกวดเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพดีเด่น ซึ่งปีนี้ได้รับรางวัล 7คน
(5) กิจกรรมต่าง ๆ อาทิเช่น
- กิจกรรมเชิงสาธิตในการปฏิบัติตามกฎจราจรหรือความปลอดภัย
- กิจกรรม Safety Rally ที่ให้ผู้เข้าชมงานได้มีโอกาสร่วมทำกิจกรรมและค้นหาคำตอบภายในคูหานิทรรศการต่าง ๆ จากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อแลกรับของขวัญ ของที่ระลึกที่จัดเตรียมไว้อย่างมากมาย
- กิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับความปลอดภัยฯ บนเวทีกลาง มีการแสดง เล่นเกม และมีของที่ระลึกสำหรับผู้เล่นเกม
(6) การออกบูธ ของหน่วยงานภาครัฐ เอกชนและมหาวิทยาลัยเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข่าวสารด้านความปลอดภัยฯ และ แนะนำนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ หรือผลงานด้านความปลอดภัยฯ ที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์แก่ผู้เข้าชมงาน ตลอดจนการจัดจำหน่ายอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล (PPE) จากผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายโดยตรง
.........พบกันใหม่ในงานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ ครั้งที่ 26………
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
- กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน และสำนักงานประกันสังคม
- สมาคมส่งเสริมความปลอดภัยและอนามัยในการทำงาน (ประเทศไทย)
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด