เนื้อหาวันที่ : 2013-04-25 11:17:01 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 4251 views

แบตเตอรี่รถยนต์

ตลาดรถยนต์ในประเทศปี 2547 ได้มีการเติบโตสูงขึ้นถึง 17.14 % คือจาก 533,176 คัน ในปี 2546 เป็น 626,026 คัน ในปี 2547 รวมทั้งการผลิตรถยนต์ของประเทศไทย มีการขยายตัวสูงขึ้น ถึง 23.66% คือจาก 750,512 คัน ในปี 2546 เป็น 928,081 คัน ในปี 2547 จากข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้น

แบตเตอรี่รถยนต์

ณัฐิกา กุลเกลี้ยง
nutthika_k@yahoo.com

 

             ตลาดรถยนต์ในประเทศปี 2547 ได้มีการเติบโตสูงขึ้นถึง 17.14 % คือจาก 533,176 คัน ในปี 2546 เป็น 626,026 คัน ในปี 2547 รวมทั้งการผลิตรถยนต์ของประเทศไทย มีการขยายตัวสูงขึ้น ถึง 23.66% คือจาก 750,512 คัน ในปี 2546 เป็น 928,081 คัน ในปี 2547 จากข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้น นับเป็นสิ่งที่น่าจับตามองในธุรกิจรถยนต์สิ่งหนึ่งที่เกี่ยวข้อง คือ แบตเตอรี่รถยนต์ ซึ่งมีการเติบโตพุ่งสูงขึ้นเช่นกัน ตลาดแบตเตอรี่รถยนต์ในประเทศไทยมีมูลค่าตลาดรวมประมาณ 5,000 ล้านบาท โดย ผู้นำในตลาดแบตเตอรี่ในปัจจุบันได้แก่ GS แบตเตอรี่, 3K แบตเตอรี่, FB แบตเตอรี่ และยัวซ่าแบตเตอรี่

          ในการทำตลาดส่วนใหญ่ จะเน้นที่ ตลาดสำหรับรถใหม่ (Original Equipment Manufacturers: OEM) เนื่องจาก ปัจจุบันประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ให้กับหลาย ๆ บริษัทรถยนต์ชั้นนำ การผลิตรถยนต์ในประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ความต้องการแบตเตอรี่ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการผลิตรถยนต์ที่สูงขึ้น ตลาดแบตเตอรี่อีกประเภทหนึ่ง คือ ตลาดอะไหล่ทดแทน (Replacement Equipment Manufacturers: REM) หรือเรียกอีกอย่างว่า ตลาดอะไหล่ (After Market) โดยปกติ แบตเตอรี่รถยนต์ จะมีอายุใช้งานเฉลี่ย ประมาณ 1.5 -3 ปี ตามการดูแลและบำรุงรักษา ดังนั้น ความต้องการแบตเตอรี่รถยนต์ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลการจำหน่ายรถยนต์ในประเทศที่มีอัตราสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในแต่ละปี รถยนต์ที่ผ่านการใช้งานมาสักระยะหนึ่ง ก็ต้องมีการเปลี่ยนแบตเตอรี่เป็นการดูแล รักษารถยนต์ตามกาลเวลา เพื่อให้มีความมั่นใจใน สมรรถนะของรถยนต์นั้น ๆ 

              ตลาดที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่ง คือ ตลาดส่งออก ผู้ผลิตแบตเตอรี่ในประเทศไทย ณ ปัจจุบัน ถือว่ามีความสามารถในการผลิตสูงขึ้นเรื่อย ๆ ประกอบกับความต้องการในต่างประเทศเพิ่มขึ้น เช่นกัน และการยอมรับในตัวผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากประเทศไทยมากขึ้น เนื่องจาก บริษัทผู้ผลิตแบตเตอรี่นั้นได้รับการรับรองมาตรฐานสากลต่าง ๆ และมาตรฐานของประเทศที่ทำการส่งออก ทำให้ตลาดต่างประเทศมั่นใจในแบตเตอรี่ที่ผลิตในประเทศไทยมากขึ้น โดยดูจากมูลค่าการส่งออกแบตเตอรี่ยานยนต์และส่วนประกอบที่มีมูลค่าสูงขึ้น อย่างต่อเนื่องในทุก ๆ ปี โดยในปี 2547 มีอัตราการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก ปี 2546 ถึง ร้อยละ 26 โดยตลาดส่งออกหลัก แบตเตอรี่ของไทย คือ ประเทศในแถบ อาเซียน และยุโรป

 

 

 แบตเตอรี่ถ้าแบ่งตามลักษณะการใช้งาน แบ่งออกเป็น 4 ประเภทใหญ่ ๆ ดังนี้

1. แบตเตอรี่ปฐมภูมิ ลักษณะของแบตเตอรี่ชนิดนี้ เมื่อถูกใช้งานจนประจุหมดแล้วจะไม่สามารถชาร์จประจุเพื่อนำกลับมาใช้งานได้อีก
2. แบตเตอรี่ทุติยภูมิ แบตเตอรี่ประเภทนี้ สามารถชาร์จประจุไฟฟ้าเพื่อนำกลับมาใช้งานได้อีกหลาย ๆ ครั้ง
3. แบตเตอรี่เชิงกล เป็นแบตเตอรี่เมื่อผ่านการใช้งานมาแล้วสามารถนำกลับมาชาร์จประจุไฟฟ้าเพื่อนำกลับมาใช้งานได้ โดยการเปลี่ยนขั้วอิเล็กโทรด
4. แบตเตอรี่ผสม แบตเตอรี่ชนิดนี้ มีส่วนผสมมาจากเซลล์ของเชื้อเพลิง

             แบตเตอรี่รถยนต์ แบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ แบตเตอรี่แบบเปียก และแบตเตอรี่แบบแห้ง โดยในแบตเตอรี่แบบเปียก คือ แบตเตอรี่ที่ต้องเติมน้ำกลั่น เพื่อทดแทนระดับน้ำกลั่นที่ลดลงเนื่องจากได้ระเหยไปหลังจากการใช้งานตามปกติ โดยในมีการพัฒนาเป็นแบบ Maintenance-free คือ แบบที่เติมน้ำกลั่นเช่นกันแต่ไม่ต้องเติมบ่อย เนื่องจากวัตถุดิบที่ใช้เป็นลักษณะพิเศษ ส่วนแบตเตอรี่แบบแห้ง ถูกออกแบบ วิจัยและพัฒนามาสำหรับการใช้งานที่ยาวนาน ไม่ต้องบำรุงรักษามาก มีความทนทาน แต่มีราคาค่อนข้างสูง แบตเตอรี่รถยนต์ที่นิยมใช้ในปัจจุบัน มีดังนี้

แบตเตอรี่ชนิดตะกั่วกรด (Lead-acid) 

             เป็นแบตเตอรี่แบบเปียก แบตเตอรี่ชนิดนี้ได้รับความนิยมมาเป็นเวลานาน เนื่องจากมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องโดยมีทั้งแบบเติมน้ำกลั่น และแบบ Maintenance-free ซึ่งเป็นตลาดแบตเตอรี่ที่ได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน เนื่องจากแบตเตอรี่แบบ Maintenance-free ไม่ต้องดูแลมาก สอดคล้องกับ Life Style ของคนในยุคปัจจุบัน รวมทั้งอายุการใช้งานก็มากขึ้น และแบตเตอรี่ชนิดตะกั่วกรด (Lead-acid) สามารถนำมาใช้ได้ใหม่ (Recycle) ได้มากถึง 90 % ทั้งตะกั่วที่เป็นส่วนประกอบหลัก และเปลือกหม้อแบตเตอรี่ ที่ทำมาจาก Polypropylene จึงเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ข้อเสียของแบตเตอรี่ประเภทนี้คือ ตะกั่วเป็นโลหะที่มีขนาดหนักกว่าโลหะอื่น ๆ ที่ใช้ทำแบตเตอรี่ และโลหะชนิดนี้เป็นโลหะหนักที่มีอันตราย อาจทำให้เกิดมลพิษได้

 

      ส่วนประกอบของแบตเตอรี่ชนิดตะกั่วกรด (Lead-acid) ประกอบด้วย

                เปลือกหม้อแบตเตอรี่ 

                โดยส่วนใหญ่ทำมาจาก Polypropylene ยาง พลาสติกชนิดอื่น ๆ โดยวัตถุดิบเหล่านี้ถูกออกแบบขึ้นมาเพื่อ ต้านทานอุณหภูมิได้ทั้งร้อนจัดและเย็นจัด ป้องกันการใช้งานที่หนักหน่วง การสั่นสะเทือน จากการขับขี่ในสภาวะแวดล้อมที่แตกต่างกัน และเพื่อป้องกันการถูกกัดกร่อนจากสารเคมีที่อาจเกิดอันตรายได้ เพื่อตอบสนองการใช้งานในทุก ๆ สถานการณ์

            แผ่นธาตุบวก และลบ

                ทำมาจากตะกั่วซึ่งนำมาหล่อให้เป็นแผ่น สี่เหลี่ยม แต่มีรูอยู่ทั่วทั้งแผ่นตะกั่ว แล้วนำมาเคลือบด้วยสารเคมีบางอย่างผสมกับดิน หลังจากนั้นก็นำไปอบ เพื่อให้ความชื้นหมดไป โดยทั้งแผ่นธาตุบวกและแผ่นธาตุลบ จะมีส่วนผสมแตกต่างกัน ทำให้มีคุณสมบัติแตกต่างกัน แผ่นธาตุบวกจะมีลักษณะสีดำส่วนแผ่นธาตุลบจะมีสีเทา

 

 

            แผ่นกั้น

         ทำมาจากใยแก้วโดยแผ่นกั้นทำหน้าที่กั้นแผ่นธาตุบวกและแผ่นธาตุลบ ไม่ให้สัมผัสกัน   เมื่อนำแผ่นธาตุบวก ลบและแผ่นกั้นสลับไปมา มาประกอบเข้าด้วยกัน เป็น 1 เซลล์ โดยในหม้อแบตเตอรี่ 1 ลูก จะประกอบไปด้วย 6 เซลล์ จะมีสะพานไฟเชื่อมระหว่างขั้วเดียวกัน หลังจากนั้น นำไปหล่อขึ้นรูปด้วยตะกั่ว เพื่อสร้างเป็นขั้วแบตเตอรี่ขึ้นมาโดยมี 2 ขั้วคือขั้วบวก และขั้วลบ เพื่อส่งกระแสไฟในการใช้งาน

         ในการผลิตแบตเตอรี่ชนิดตะกั่วกรด (Lead-acid) วัตถุดิบหลักที่ใช้ คือ ตะกั่ว ซึ่งตะกั่วบริสุทธิ์ยังต้องพึ่งพา การนำเข้าจากต่างประเทศอยู่ เนื่องจากตะกั่วในประเทศยังมีความบริสุทธิ์ไม่ได้มาตรฐาน แต่ยังมีวัตถุดิบประกอบประเภทอื่น ๆ เช่น ยาง เม็ดพลาสติก ซึ่งสามารถใช้วัตถุดิบภายในประเทศได้

         

             แบตเตอรี่ชนิด Nickel-metal Hydride

       เป็นแบตเตอรี่อีกชนิดหนึ่งที่เริ่มเข้ามามีบทบาทใยอุตสาหกรรมรถยนต์ แบตเตอรี่ชนิดนี้ได้เปรียบทางด้าน โดยมีน้ำหนักที่เบามาก ๆ มักใช้ในรถยนต์ประเภท Hybrid อายุการใช้งานของแบตเตอรี่ชนิด Nickel-metal Hydride มีอายุที่ยาวนานโดยสามารถใช้ได้ในระยะทางไกลถึง 100,000 ไมล์ แต่เสียเปรียบทางด้านราคาเนื่องจากมีราคาแพงมากกว่า แบตเตอรี่ชนิดตะกั่วกรด (Lead-acid) ถึง 25 เท่า

                  

                  

 

                  แบตเตอรี่มีการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องตามความต้องการของผู้บริโภค ดังนั้นผู้ผลิตแบตเตอรี่จึงต้องมีการวิเคราะห์ วิจัย ค้นคว้า วัตถุดิบที่ใช้ในการประกอบแบตเตอรี่ทั้งทางด้านน้ำหนักเน้นวัตถุดิบที่มีน้ำหนักเบามากขึ้น ด้านการลดต้นทุนการผลิตทำให้ราคาต่ำลงและการรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ตอบสนองต่อผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด โดยแบตเตอรี่มีหลายชนิดโดยในแต่ละชนิดก็มีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกัน ตามวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต

                

            อุตสาหกรรมแบตเตอรี่รถยนต์ของประเทศไทย ยังคงมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องสอดคล้องกับ การเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยที่ยังคงมีแนวโน้มการขยายตัวเพิ่มขึ้นในอนาคต และการส่งออกของหม้อแบตเตอรี่ไปยังประเทศต่าง ๆ มีการเติบโตเช่นเดียวกัน เนื่องจากการทำเขตการค้าเสรีกับประเทศต่าง ๆ ทำให้ข้อกีดกันทางด้านภาษีนั้นลดลง ทำให้ทั้งการส่งออกไปยังประเทศที่ทำการค้าเสรีด้วยนั้นมีโอกาสมากขึ้น

และหลังจากการทำการค้าเสรีทำให้การนำเข้าวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต มีราคาต่ำลง ทำให้ลดค่าใช้จ่ายทางด้านวัตถุดิบ ดังนั้นต้นทุนในการผลิตจึงลดลงด้วย ทางด้านเทคโนโลยีการผลิตควรมีการพัฒนาทั้งด้าน กรรมวิธีการผลิต ลดการสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นในทุก ๆ ขั้นตอนการผลิตให้น้อยที่สุด การผลิตแบตเตอรี่ซึ่งใช้ตะกั่วเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิต เป็นวัตถุดิบที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การปรับปรุงกระบวนการผลิต และกำจัดแบตเตอรี่ที่ใช้งานแล้วควรจัดการอย่างถูกวิธี เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดต่อสภาวะแวดล้อมโดยรวม

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด