เนื้อหาวันที่ : 2013-04-24 14:35:56 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3986 views

สืบค้นสิทธิบัตร ต่อยอดงานวิจัย สร้างไอเดียสู่นวัตกรรมใช้งานจริง

เว็บไซด์สืบค้น สิทธิบัตร รวมประโยชน์หลากหลาย ใช้ต่อยอดงานวิจัย พัฒนาเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด ลดงานวิจัยซ้ำซ้อน ลดเวลาและต้นทุน รวมถึงเป็นแหล่งไอเดียแปลกใหม่ ๆ ที่สามารถนำไปพัฒนาใช้งานได้จริงเชิงพาณิชย์

สืบค้นสิทธิบัตร ต่อยอดงานวิจัย สร้างไอเดียสู่นวัตกรรมใช้งานจริง

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

   เว็บไซด์สืบค้น สิทธิบัตร รวมประโยชน์หลากหลาย ใช้ต่อยอดงานวิจัย พัฒนาเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด ลดงานวิจัยซ้ำซ้อน ลดเวลาและต้นทุน รวมถึงเป็นแหล่งไอเดียแปลกใหม่ ๆ ที่สามารถนำไปพัฒนาใช้งานได้จริงเชิงพาณิชย์

   งานวิจัย เพื่อนำไปสู่การใช้งานนั้นต้องเป็นการทำวิจัยที่ต่อยอดจากฐานความรู้เดิมที่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์ โดยฐานความรู้เดิมลักษณะนี้จะปรากฏอยู่ในรูปแบบของ สิทธิบัตร ซึ่งปัจจุบันเราสามารถใช้อินเทอร์เน็ตเป็นแหล่งข้อมูลที่สืบค้นได้อย่างรวดเร็ว และมีข้อมูลเทคโนโลยีทั่วโลกให้เราสืบค้นมาศึกษาและลอกเลียนได้ฟรีราว 30 ล้านเรื่อง จากการค้นหาเพียงครั้งเดียว แต่นักวิจัยไทยจำนวนมากยังไม่ตระหนักถึงแหล่งข้อมูลนี้ และส่วนใหญ่ยังคงสืบค้นความรู้เดิมจากการตีพิมพ์ในวารสารเป็นหลัก จึงเป็นเหตุให้งานวิจัยซ้ำซ้อน ใช้เวลามาก และมีต้นทุนสูง 
           
   นายปราโมทย์ ธรรมรัตน์ อาจารย์จากสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หัวหน้า โครงการจัดตั้งหน่วยสร้างสำนึกและพัฒนาประโยชน์จากเอกสารสิทธิบัตรเพื่อการวิจัยและพัฒนา (สสวพ.) กล่าวในงานประชุมผู้ประสานงานฝ่ายอุตสาหกรรม สกว.ว่า เอกสารสิทธิบัตรเป็นแหล่งรวมความคิดของคนทั้งโลก โดยได้เปิดเผยกรรมวิธีการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมทุกสาขาจากทั่วโลกและ 80%ของเทคโนโลยีในเอกสารสิทธิบัตรยังไม่มีการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารและตำราใด ๆ ดังนั้นหากเราอ่านหนังสือตำราและสืบค้นวารสารทางวิชาการ ก็ยังตกยุค มีความรู้เพียง 20% จึงยากที่จะแข่งขันได้

หากไม่นำเทคโนโลยีจากเอกสารสิทธิบัตรนานาชาติมาพัฒนาต่อยอดและสร้างเป็นเทคโนโลยีของคนไทยเอง การพัฒนาประเทศสู่เศรษฐกิจฐานความรู้จึงจำเป็นที่ต้องเริ่มพัฒนาประโยชน์จากคลังทรัพย์สินทางปัญญานานาชาติ และพัฒนาต่อยอดจากที่ได้มีผู้คิดค้นและเปิดเผยสาระสำคัญของเทคโนโลยีไว้แล้ว

           

   ประโยชน์สำคัญของข้อมูลเทคโนโลยีจากเอกสารสิทธิบัตรนานาชาติ   เหล่านี้คือ เทคโนโลยีการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมทุกสาขา จากเอกสารสิทธิบัตรทั่วโลกจำนวนกว่า 45 ล้านเรื่องไม่ได้จดทะเบียนในประเทศไทย เราสามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางการค้าได้โดยตรงไม่ผิดกฎหมาย ทั้งยังสามารถลงทุนผลิตและจำหน่ายสินค้าในประเทศอื่น ๆ ที่สิทธิบัตรเรื่องนั้น ๆ ไม่ได้จดทะเบียนได้อีกด้วย ซึ่งปัจจุบันมีสิทธิบัตรจดทะเบียนในประเทศไทยเพียง 17,000 กว่าเรื่องเท่านั้น หรือเพียงประมาณร้อยละ 0.05 ของสิทธิบัตรนานาชาติ จึงมีสิทธิบัตรนานาชาติที่เราสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ฟรี โดยไม่ต้องขออนุญาติใช้สิทธิถึง 99.95% ของสิทธิบัตรทั่วโลก

   ทั้งนี้เพราะระบบสิทธิบัตรได้ออกแบบมาเพื่อให้คนส่วนใหญ่ของโลกได้ประโยชน์ จึงให้สิทธิคุ้มครองเป็นรายประเทศเฉพาะในประเทศที่เจ้าของผลงานได้ยื่นขอรับสิทธิบัตรและประเทศนั้น ๆ รับจดทะเบียนแล้วเท่านั้น สิทธิบัตรจูงใจให้มีการคิดประดิษฐ์สิ่งใหม่ ๆ และเปิดเผยรายละเอียดการประดิษฐ์นั้น ๆ แก่สาธารณชน แลกกับสิทธิการคุ้มครอง 20 ปี นับจากวันยื่นของสิทธิบัตร โดยต้องเขียนรายละเอียดให้บุคคลทั่วไปในสาขานั้น ๆ สามารถเข้าใจและทำตามอย่างได้

   เมื่อสืบค้นสิทธิบัตรต่างประเทศแล้ว ถ้าจะนำเทคโนโลยีนั้น ๆ มาใช้ผลิตสินค้าจำหน่ายในประเทศ ต้องตรวจสอบก่อนว่า สิทธิบัตรเรื่องนั้นยังไม่ได้ยื่นขอรับสิทธิบัตรไทย โดยสามารถดูได้จากเว็บไซด์ของกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ที่ www.ipthailand.org และ www.ipic.moc.go.th หรือสามารถสืบค้นเทคโนโลยีจากทั่วโลกได้ เช่น สิทธิบัตรยุโรปค้นได้จาก http://ep.espacenet.com และ http://ec.espacenet.com สิทธิบัตรสหรัฐอเมริกาที่ www.uspto.gov หรือ สิทธิบัตรญี่ปุ่นที่ www.jpo.go.jp หรือค้นหาได้จากประกาศโฆษณาของกลุ่มประเทศในเครือทรัพย์ทางปัญญาแห่งโลก ซึ่งตีพิมพ์เอกสารคำขอรับสิทธิบัตรนานาชาติ ตามข้อตกลงนานาชาติว่าด้วยความร่วมมือด้านสิทธิบัตรได้ที่ www.wipo.int

            

 

   หัวหน้าโครงการกล่าวว่า   การอ่านเอกสารสิทธิบัตรยังช่วยให้เยาวชน ได้รู้จักสิ่งประดิษฐ์แปลกใหม่ แนวคิดแปลกใหม่มากมาย นอกจากจะมีเทคโนโลยีการผลิตสินค้าสำหรับทุกสาขาอุตสาหกรรมแล้ว ยังมีระดับของเทคโลยีให้เลือกศึกษาและใช้งานตามขีดความสามารถของผู้เข้าไปสืบค้นด้วย ตั้งแต่ระดับเข้าใจง่ายจนไปถึงเทคโนโลยีที่ซับซ้อน หรือผู้ประกอบการเอกชนยังสามารถสืบค้นเอกสารสิทธิบัตรและนำเทคโนโลยีมาผลิตสินค้าใหม่ที่มีมูลค่าสูง คุณภาพดี ออกจำหน่ายเชิงพาณิชย์ 

ซึ่งหากรัฐมีนโยบายสนับสนุนและดำเนินโครงการการใช้ประโยชน์จากเอกสิทธิบัตรและต่อยอดเทคโนโลยีในภาคเอกชนอย่างจริงจังจะเกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์และปรับฐานเทคโนโลยีในภาคเอกชนได้รวดเร็วขึ้นและจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของชาติชัดเจน สามารถพัฒนาขีดความสามารถทางเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ประสบความสำเร็จมาแล้ว หรือสาธารณรัฐประชาชนจีน ก็ใช้วิธีการเดียวกันนี้ผลิตสินค้าออกตีตลาดทั่วโลก

   สำหรับผู้ที่สนใจความรู้ด้านเอกสารสิทธิบัตร ยังสามารถไปสืบค้นความรู้เหล่านี้จากเว็บไซด์ของโครงการได้ที่ www.toryod.com ซึ่งจะรวบรวมข้อมูลด้านสิทธิบัตร เช่น เทคนิคการสืบค้นเอกสารสิทธิบัตร การใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ Download เอกสารสิทธิบัตร และการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ทำแผนที่สิทธิบัตรเพื่อหาแนวโน้มของเทคโนโลยี วิเคราะห์คู่แข่ง และหาช่องว่างของเทคโนโลยี ฯลฯ

   หัวหน้าโครงการกล่าวอีกว่า หากเราเร่งกันส่งเสริมให้ประชาชนทั่วไป รวมถึงผู้ประกอบการภาคเอกชนได้เข้าถึงแหล่งทรัพยากรที่เป็นทุนทางปัญญาของโลกนี้ ย่อมจะเกิดผลกระทบเชิงบวกในทางสร้างสรรค์ และอาจเป็นก้าวกระโดดที่สำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีของชาติได้ต่อไป

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด