ฝักบัวอาบน้ำฉุกเฉินต้องสร้างจากวัสดุที่ต้านทานต่อการสึกกร่อน ของไหลที่ใช้ในการชะล้าง
ฝักบัวอาบน้ำฉุกเฉินและที่ล้างตาฉุกเฉินที่เหมาะสมนั้น....เป็นฉันใด ? (ตอนที่ 2)
(A Guide to the Proper Emergency Showers and Eye wash)
ศิริพร วันฟั่น
ข้อกำหนดแยกตามหมวดหมู่ของอุปกรณ์ฉุกเฉิน (Requirements by Emergency Equipment Category)
1. ฝักบัวอาบน้ำฉุกเฉินแบบใช้ท่อส่งน้ำและแบบบรรจุน้ำในตัว (Plumbed and Self–Contained Emergency Shower)
ฝักบัวอาบน้ำฉุกเฉินต้องสร้างจากวัสดุที่ต้านทานต่อการสึกกร่อน ของไหลที่ใช้ในการชะล้าง (Flushing Fluid) ต้องถูกส่งออกมาในอัตราการไหลที่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้งาน และได้รับการป้องกันจากสารปนเปื้อนในอากาศ
ฝักบัวฉุกเฉินแบบใช้ท่อส่งน้ำ
(Plumbed Emergency Shower)
ฝักบัวฉุกเฉินแบบบรรจุน้ำในตัว
(Self-Contained Emergency Shower)
ตัวอย่างป้ายสัญญาณฝักบัวอาบน้ำฉุกเฉิน
(Emergency Shower Sign)
ข้อกำหนดด้านมิติ (Dimension Requirements)
- ฝักบัว (Showerhead) ควรอยู่สูงจากระดับพื้นที่ผู้ใช้งานยืนอยู่ในระยะ 82–96 นิ้ว (208.3–243.8 ซม.)
- ละอองน้ำจากฝักบัว (Sprayhead) ต้องแผ่กว้างออกไปในระยะเส้นผ่าศูนย์กลาง 20 นิ้วเป็นอย่างน้อยที่ระดับความสูง 60 นิ้ว (152.4 ซม.) จากพื้นที่ผู้ใช้งานยืนอยู่
- จุดศูนย์กลางของละอองน้ำดังกล่าวควรห่างจากสิ่งกีดขวางใด ๆ อย่างน้อย 16 นิ้ว (40.6 ซม.)
- คันชักเปิดวาล์วน้ำไม่ควรสูงเกิน 69 นิ้ว (173.3 ซม.) จากระดับพื้นที่ผู้ใช้งานยืนอยู่
ข้อกำหนดสำหรับการติดตั้ง (Installation Requirements)
- ฝักบัวอาบน้ำฉุกเฉินควรติดตั้งในจุดที่สามารถเข้าถึงได้ภายใน 10 วินาที คิดเป็นระยะห่างประมาณ 16.5 เมตร (55 ฟุต) จากจุดเสี่ยง
- ฝักบัวอาบน้ำฉุกเฉินควรติดตั้งในจุดที่มีแสงสว่างเพียงพอและมีป้ายสัญญาณที่ระบุอย่างชัดเจน
- จุดติดตั้งอยู่ในระนาบเดียวกันกับอันตราย
- เส้นทางระหว่างจุดเสี่ยงและฝักบัวอาบน้ำฉุกเฉินต้องโล่ง ปราศจากสิ่งกีดขวาง เป็นเส้นตรงที่สุดเท่าที่จะกระทำได้
- จุดติดตั้งอยู่ใกล้เคียงกับอันตรายโดยสามารถเข้าถึงได้อย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะกับพื้นที่ที่มีกรดกัดไหม้ กรดแก่ ด่างแก่ และสารอื่นที่มีผลกระทบรุนแรง
ข้อกำหนดด้านประสิทธิภาพ (Performance Requirements)
- ฝักบัวจะต้องปล่อยของไหลที่ใช้ในการชะล้างที่มีอัตราการไหลได้อย่างน้อย 20 แกลลอนต่อนาที (GPM) หรือ 75.7 ลิตรต่อนาที (LPM) ที่แรงดัน 30 ปอนด์ต่อตาราวนิ้ว (PSI) อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 15 นาที
- วาล์วน้ำ ควรง่ายสำหรับการเปิด/ปิด และสามารถปล่อยของไหลฯ ได้ภายใน 1 วินาทีหรือน้อยกว่านั้น และยังคงเปิดและรักษาระดับอัตราการไหลของของไหลฯ อย่างสม่ำเสมอโดยไม่ต้องใช้มือของผู้ใช้งานบังคับจนกว่าจะปิดโดยตั้งใจ
ข้อกำหนดสำหรับการบำรุงรักษาและฝึกอบรม (Maintenance and Training Requirements)
- ฝักบัวอาบน้ำฉุกเฉินแบบใช้ท่อส่งน้ำ (Plumbed Showers Units) ควรมีการทดลองใช้งานแบบรายสัปดาห์เป็นพื้นฐาน โดยมีระยะเวลาทดสอบนานพอที่จะพิสูจน์รับรองได้ว่าของไหลฯ ยังคงมีปริมาณเพียงพอสำหรับการใช้งานและอุปกรณ์ยังคงมีประสิทธิภาพดีอยู่
- ฝักบัวอาบน้ำฉุกเฉินแบบบรรจุน้ำในตัว (Self-Contained Showers Units) ควรมีการตรวจด้วยสายตา (Visual Inspections) และจำเป็นต้องทำความสะอาดหรือเปลี่ยนของไหลฯ ตามที่ผู้ผลิตกำหนดไว้
- ใช้เครื่องวัดอุณหภูมิ (Temperature Gauge) หรือเครื่องมืออื่น ๆ ในการตรวจวัดว่าของไหลฯ มีอุณหภูมิอุ่นเล็กน้อย (Tepid) อยู่ในช่วง 15.5–37.7 oC (60-100 oF)
- ผู้ปฏิบัติงานทุกคนที่มีความเสี่ยงต้องได้รับการฝึกอบรมให้รับทราบถึงตำแหน่งที่ตั้ง และเข้าใจวิธีใช้งานอุปกรณ์ฉุกเฉินเหล่านี้ ได้อย่างถูกต้อง เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
- ฝักบัวอาบน้ำฉุกเฉินทั้งแบบใช้ท่อส่งน้ำและแบบบรรจุน้ำในตัว ควรจะได้รับการตรวจประจำปี (Annual Inspections) เพื่อให้มั่นใจว่าเป็นไปตามข้อกำหนดของ ANSI Z358.1
Summary of the Provision of ANSI Z358.1 – 2009: Standard for
“Emergency Shower”
2. ที่ล้างตาฉุกเฉินแบบใช้ท่อส่งน้ำและแบบบรรจุน้ำในตัว (Plumbed and Self–Contained Emergency Eyewash)
ที่ล้างตาฉุกเฉินต้องสร้างจากวัสดุที่ต้านทานต่อการสึกกร่อน ของไหลที่ใช้ในการชะล้าง (Flushing Fluid) ต้องถูกส่งออกมาในอัตราการไหลที่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้งาน และได้รับการป้องกันจากสารปนเปื้อนในอากาศ
ที่ล้างตาฉุกเฉินแบบใช้ท่อส่งน้ำ
(Plumbed Emergency Eyewash)
ที่ล้างตาฉุกเฉินแบบบรรจุน้ำในตัว
(Self-Contained Emergency Eyewash)
ตัวอย่างป้ายสัญญาณที่ล้างตาฉุกเฉิน
(Emergency Eyewash)
ข้อกำหนดด้านมิติ (Dimension Requirements)
- หัวฉีดน้ำล้างตา (Nozzles) ควรอยู่สูงจากระดับพื้นที่ผู้ใช้งานยืนอยู่ในระยะ 33–45 นิ้ว (83.3–114.3 ซม.)
- หัวฉีดน้ำล้างตา ต้องอยู่ห่างจากผนังหรือสิ่งกีดขวางที่อยู่ใกล้สุดเป็นระยะอย่างน้อย 6 นิ้ว (15.3 ซม.)
ข้อกำหนดสำหรับการติดตั้ง (Installation Requirements)
- ที่ล้างตาฉุกเฉินควรติดตั้งในจุดที่สามารถเข้าถึงได้ภายใน 10 วินาที คิดเป็นระยะห่างประมาณ 16.5 เมตร (55 ฟุต) จากจุดเสี่ยง
- ที่ล้างตาฉุกเฉินควรติดตั้งในจุดที่มีแสงสว่างเพียงพอและมีป้ายสัญญาณที่ระบุอย่างชัดเจน
- จุดติดตั้งอยู่ในระนาบเดียวกันกับอันตราย
- เส้นทางระหว่างจุดเสี่ยงและที่ล้างตาฉุกเฉินต้องโล่ง ปราศจากสิ่งกีดขวาง เป็นเส้นตรงที่สุดเท่าที่จะกระทำได้
- จุดติดตั้งอยู่ใกล้เคียงกับอันตรายโดยสามารถเข้าถึงได้อย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะกับพื้นที่ที่มีกรดกัดไหม้ กรดแก่ ด่างแก่ และสารอื่นที่มีผลกระทบรุนแรง
ข้อกำหนดด้านประสิทธิภาพ (Performance Requirements)
- หัวฉีดน้ำล้างตาจะต้องปล่อยของไหลที่ใช้ในการชะล้างดวงตาทั้ง 2 ข้าง โดยมีอัตราการไหลได้อย่างน้อย 0.4 แกลลอนต่อนาที (GPM) หรือ 1.5 ลิตรต่อนาที (LPM) ที่แรงดัน 40 ปอนด์ต่อตาราวนิ้ว (PSI) อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 15 นาที
- วาล์วน้ำ ควรง่ายสำหรับการเปิด/ปิด และสามารถปล่อยของไหลฯ ได้ภายใน 1 วินาทีหรือน้อยกว่านั้น และยังคงเปิดและรักษาระดับอัตราการไหลของของไหลฯ อย่างสม่ำเสมอโดยไม่ต้องใช้มือของผู้ใช้งานบังคับจนกว่าจะปิดโดยตั้งใจ
ข้อกำหนดสำหรับการบำรุงรักษาและฝึกอบรม (Maintenance and Training Requirements)
- ที่ล้างตาฉุกเฉินแบบใช้ท่อส่งน้ำ (Plumbed Eyewash Units) ควรมีการทดลองใช้งานแบบรายสัปดาห์เป็นพื้นฐาน โดยมีระยะเวลาทดสอบนานพอที่จะพิสูจน์รับรองได้ว่าของไหลฯ ยังคงมีปริมาณเพียงพอสำหรับการใช้งานและอุปกรณ์ยังคงมีประสิทธิภาพดีอยู่
- ที่ล้างตาฉุกเฉินแบบบรรจุน้ำในตัว (Self-Contained Eyewash Units) ไม่จำเป็นต้องมีการทดลองใช้งานแบบรายสัปดาห์ แต่ควรทำการตรวจด้วยสายตา (Visual Inspections) และจำเป็นต้องทำความสะอาดหรือเปลี่ยนของไหลฯ ตามที่ผู้ผลิตกำหนดไว้
- ใช้เครื่องวัดอุณหภูมิ (Temperature Gauge) หรือเครื่องมืออื่น ๆ ในการตรวจวัดว่าของไหลฯ มีอุณหภูมิอุ่นเล็กน้อย (Tepid) อยู่ในช่วง 15.5–37.7 oC (60-100 oF)
- ใช้เครื่องวัด (Gauge) ทดสอบที่ล้างตาฉุกเฉินเพื่อประเมินรูปแบบการไหล (Flow Pattern) ของกระแสน้ำที่ส่งออกมาจากหัวฉีด
- ผู้ปฏิบัติงานทุกคนที่มีความเสี่ยงต้องได้รับการฝึกอบรมให้รับทราบถึงตำแหน่งที่ตั้ง และเข้าใจวิธีใช้งานอุปกรณ์ฉุกเฉินเหล่านี้ ได้อย่างถูกต้อง เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
- ที่ล้างตาฉุกเฉินทั้งแบบใช้ท่อส่งน้ำและแบบบรรจุน้ำในตัว ควรจะได้รับการตรวจประจำปี (Annual Inspections) เพื่อให้มั่นใจว่าเป็นไปตามข้อกำหนดของ ANSI Z358.1
Summary of the Provision of ANSI Z358.1 – 2009: Standard for
“Emergency Eyewash”
3. ที่ล้างตา/ใบหน้าฉุกเฉินแบบใช้ท่อส่งน้ำและแบบบรรจุน้ำในตัว (Plumbed and Self–Contained Emergency Eye/Face Wash)
ที่ล้างตา/ใบหน้าฉุกเฉินต้องสร้างจากวัสดุที่ต้านทานต่อการสึกกร่อน ของไหลที่ใช้ในการชะล้าง (Flushing Fluid) ต้องถูกส่งออกมาในอัตราการไหลที่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้งาน และได้รับการป้องกันจากสารปนเปื้อนในอากาศ
ที่ล้างตา/ใบหน้าฉุกเฉินแบบใช้ท่อส่งน้ำ
(Plumbed Emergency Eye/Face Wash)
ที่ล้างตา/ใบหน้าฉุกเฉินแบบบรรจุน้ำในตัว
(Self–Contained Emergency Eye/Face Wash)
ตัวอย่างป้ายสัญญาณที่ล้างตา/ล้างหน้าฉุกเฉิน
(Emergency Eye/Face Wash Station Sign)
ข้อกำหนดด้านมิติ (Dimension Requirements)
- หัวฉีดน้ำล้างตา/ใบหน้า (Nozzles) ควรอยู่สูงจากระดับพื้นที่ผู้ใช้งานยืนอยู่ในระยะ 33–45 นิ้ว (83.3–114.3 ซม.)
- หัวฉีดน้ำล้างตา/ใบหน้า ต้องอยู่ห่างจากผนังหรือสิ่งกีดขวางที่อยู่ใกล้สุดเป็นระยะอย่างน้อย 6 นิ้ว (15.3 ซม.)
- หัวฉีดน้ำล้างตา/ใบหน้า ต้องมีขนาดใหญ่เพียงพอที่จะส่งกระแสน้ำให้ครอบคลุมทั้งดวงตาและใบหน้าได้ หรือหัวฉีดน้ำล้างตามีขนาดปกติแต่มีวงแหวนสเปรย์น้ำรอบใบหน้าด้วย (Face Spray Ring)
ที่ล้างตา/ใบหน้าฉุกเฉินที่มีวงแหวนสเปรย์น้ำรอบใบหน้า
(Emergency Eye/Face Wash with Face Spray Ring)
ข้อกำหนดสำหรับการติดตั้ง (Installation Requirements)
- ที่ล้างตา/ใบหน้าฉุกเฉินควรติดตั้งในจุดที่สามารถเข้าถึงได้ภายใน 10 วินาที คิดเป็นระยะห่างประมาณ 16.5 เมตร (55 ฟุต) จากจุดเสี่ยง
- ที่ล้างตา/ใบหน้าฉุกเฉินควรติดตั้งในจุดที่มีแสงสว่างเพียงพอและมีป้ายสัญญาณที่ระบุอย่างชัดเจน
- จุดติดตั้งอยู่ในระนาบเดียวกันกับอันตราย
- เส้นทางระหว่างจุดเสี่ยงและที่ล้างตา/ใบหน้าฉุกเฉินต้องโล่ง ปราศจากสิ่งกีดขวาง เป็นเส้นตรงที่สุดเท่าที่จะกระทำได้
- จุดติดตั้งอยู่ใกล้เคียงกับอันตรายโดยสามารถเข้าถึงได้อย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะกับพื้นที่ที่มีกรดกัดไหม้ กรดแก่ ด่างแก่ และสารอื่นที่มีผลกระทบรุนแรง
ข้อกำหนดด้านประสิทธิภาพ (Performance Requirements)
- หัวฉีดน้ำล้างตา/ใบหน้า จะต้องปล่อยของไหลที่ใช้ในการชะล้างดวงตาทั้ง 2 ข้างและใบหน้า โดยมีอัตราการไหลได้อย่างน้อย 3 แกลลอนต่อนาที (GPM) หรือ 11.4 ลิตรต่อนาที (LPM) ที่แรงดัน 30 ปอนด์ต่อตาราวนิ้ว (PSI) อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 15 นาที
- วาล์วน้ำ ควรง่ายสำหรับการเปิด/ปิด และสามารถปล่อยของไหลฯ ได้ภายใน 1 วินาทีหรือน้อยกว่านั้น และยังคงเปิดและรักษาระดับอัตราการไหลของของไหลฯ อย่างสม่ำเสมอโดยไม่ต้องใช้มือของผู้ใช้งานบังคับจนกว่าจะปิดโดยตั้งใจ
ข้อกำหนดสำหรับการบำรุงรักษาและฝึกอบรม (Maintenance and Training Requirements)
- ที่ล้างตา/ใบหน้าฉุกเฉินแบบใช้ท่อส่งน้ำ (Plumbed Emergency Eye/Face Wash Units) ควรมีการทดลองใช้งานแบบรายสัปดาห์เป็นพื้นฐาน โดยมีระยะเวลาทดสอบนานพอที่จะพิสูจน์รับรองได้ว่าของไหลฯ ยังคงมีปริมาณเพียงพอสำหรับการใช้งานและอุปกรณ์ยังคงมีประสิทธิภาพดีอยู่
- ที่ล้างตา/ใบหน้าฉุกเฉินแบบบรรจุน้ำในตัว (Self-Contained Emergency Eye/Face Wash Units) ไม่จำเป็นต้องมีการทดลองใช้งานแบบรายสัปดาห์ แต่ควรทำการตรวจด้วยสายตา (Visual Inspections) และจำเป็นต้องทำความสะอาดหรือเปลี่ยนของไหลฯ ตามที่ผู้ผลิตกำหนดไว้
- ใช้เครื่องวัดอุณหภูมิ (Temperature Gauge) หรือเครื่องมืออื่น ๆ ในการตรวจวัดว่าของไหลฯ มีอุณหภูมิอุ่นเล็กน้อย (Tepid) อยู่ในช่วง 15.5– 37.7 oC (60-100 oF)
- ใช้เครื่องวัด (Gauge) ทดสอบที่ล้างตา/ใบหน้าฉุกเฉินเพื่อประเมินรูปแบบการไหล (Flow Pattern) ของกระแสน้ำที่ส่งออกมาจากหัวฉีด
- ผู้ปฏิบัติงานทุกคนที่มีความเสี่ยงต้องได้รับการฝึกอบรมให้รับทราบถึงตำแหน่งที่ตั้ง และเข้าใจวิธีใช้งานอุปกรณ์ฉุกเฉินเหล่านี้ ได้อย่างถูกต้อง เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
- ที่ล้างตา/ใบหน้าฉุกเฉินทั้งแบบใช้ท่อส่งน้ำและแบบบรรจุน้ำในตัว ควรจะได้รับการตรวจประจำปี (Annual Inspections) เพื่อให้มั่นใจว่าเป็นไปตามข้อกำหนดของ ANSI Z358.1
Summary of the Provision of ANSI Z358.1 – 2009: Standard for
“Emergency Eye/Face Wash”
บทความในตอนแรก ได้กล่าวถึง กระบวนการพิจารณาถึงความจำเป็นของฝักบัวอาบน้ำฉุกเฉินและที่ล้างตาฉุกเฉินสำหรับพื้นที่งาน ลักษณะพื้นที่งานที่ควรพิจารณาถึงความจำเป็น พื้นที่และการปฏิบัติงานที่ควรติดตั้ง รวมถึงสรุปสาระสำคัญบางส่วนของ ANSI Z358.1–2009 “Standard for Emergency Eyewash and Shower Equipment” โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับข้อกำหนดแยกตามหมวดหมู่ของอุปกรณ์ฉุกเฉิน (Requirements by Emergency Equipment Category)
ทั้งแบบใช้ท่อส่งน้ำและแบบบรรจุน้ำในตัว (Plumbed and Self–Contained Units) อันได้แก่ ฝักบัวอาบน้ำฉุกเฉิน (Emergency Shower) ที่ล้างตาฉุกเฉิน (Emergency Eyewash) และ ที่ล้างตา/ใบหน้าฉุกเฉิน (Emergency Eye/Face Wash) ส่วนในตอนนี้จะขอกล่าวต่อในส่วนที่เหลือ คือ สายฉีดชะล้างฉุกเฉิน (Emergency Drench Hoses) ที่ล้างตา/สายฉีดชะล้างฉุกเฉิน (Emergency Eyewash/Drench Hoses) ชุดอุปกรณ์ฉุกเฉินแบบผสม (Combination Units) และอุปกรณ์ฉุกเฉินเสริม (Supplemental Equipment) ตลอดจนคำถาม–คำตอบที่ควรรู้
4. สายฉีดชะล้างฉุกเฉิน (Emergency Drench Hoses) เป็นหนึ่งในอุปกรณ์เสริม (Supplemental Equipment) สำหรับฝักบัวอาบน้ำฉุกเฉินและที่ล้างตาฉุกเฉิน เป็นอุปกรณ์ที่มีสายยางยืดหยุ่นเชื่อมต่อเข้ากับแหล่งจ่ายน้ำ เพื่อทดน้ำและฉีดชะล้างสารปนเปื้อนที่ดวงตา ใบหน้าและส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ทั้งนี้ สายฉีดชะล้างฉุกเฉินแบบใช้มือจับ (Hand–held Emergency Drench Hoses) สามารถใช้ช่วยสนับสนุนการทำงานของอุปกรณ์ฉุกเฉินหลักได้ แต่ไม่ใช่สิ่งที่จะนำมาใช้ทดแทนกัน
สายฉีดชะล้างฉุกเฉินจะมีประโยชน์มาก ในกรณีที่ผู้ประสบเหตุอยู่ในตำแหน่งที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการใช้งานอุปกรณ์ฉุกเฉินหลัก หรือส่วนสัมผัสไม่ว่าจะเป็นใบหน้าหรือส่วนต่าง ๆ ของร่างกายไม่สามารถที่จะเข้าถึงกระแสน้ำของฝักบัวอาบน้ำฉุกเฉินและที่ล้างตาฉุกเฉินได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ ยังเหมาะสำหรับห้องทดลองเพราะสามารถติดตั้งให้อยู่ใกล้เคียงกับจุดเสี่ยงได้มาก
สายฉีดชะล้างฉุกเฉินแบบใช้ท่อส่งน้ำ
(Plumbed Emergency Drench Hoses)
สายฉีดชะล้างฉุกเฉินแบบบรรจุน้ำในตัว
(Self–Contained Emergency Drench Hoses)
ตัวอย่างป้ายสัญญาณสายฉีดชะล้างฉุกเฉิน
(Emergency Drench Hoses Sign)
ข้อกำหนดด้านการติดตั้ง (Installation Requirements)
- สายฉีดชะล้างฉุกเฉินที่ใช้เป็นอุปกรณ์เสริม (Supplemental Equipment) สำหรับฝักบัวอาบน้ำฉุกเฉิน และที่ล้างตาฉุกเฉิน ควรจะถูกติดตั้งในจุดใกล้เคียงกับอุปกรณ์ฉุกเฉินหลัก
- สายฉีดชะล้างฉุกเฉิน ควรจะถูกติดตั้งในจุดที่มีแสงสว่างเพียงพอและมีป้ายสัญญาณที่ระบุอย่างชัดเจน
- การประกอบชิ้นส่วนให้เป็นไปตามข้อแนะนำของผู้ผลิต
- ติดตั้งอยู่ในบริเวณที่ปราศจากสิ่งกีดขวาง
ข้อกำหนดด้านประสิทธิภาพ (Performance Requirements)
- สายฉีดชะล้างฉุกเฉินจะต้องปล่อยของไหลที่ใช้ในการชะล้างซึ่งมีอัตราการไหลได้อย่างน้อย 3 แกลลอนต่อนาที (GPM) หรือ 11.4 ลิตรต่อนาที (LPM) ที่แรงดัน 30 ปอนด์ต่อตาราวนิ้ว (PSI) อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 15 นาที
- ของไหลที่ใช้ในการชะล้าง (Flushing Fluid) ต้องถูกส่งออกมาในอัตราการไหลซึ่งไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้งาน
- วาล์วน้ำ ควรง่ายสำหรับการเปิด/ปิด และสามารถปล่อยของไหลฯ ได้ภายใน 1 วินาทีหรือน้อยกว่านั้น
- คันชักเปิดวาล์ว (Valve activator) ควรง่ายต่อการเข้าถึงและใช้งาน
ข้อกำหนดสำหรับการบำรุงรักษาและการฝึกอบรม (Maintenance and Training Requirements)
- ใช้เครื่องวัดอุณหภูมิ (Temperature gauge) หรือเครื่องมืออื่น ๆ ในการตรวจวัดว่าของไหลฯ มีอุณหภูมิอุ่นเล็กน้อย (Tepid) อยูในช่วง 15.5–37.7 oC (60-100 oF)
- สายฉีดชะล้างฉุกเฉิน ควรได้รับการทดลองใช้งานแบบรายสัปดาห์ โดยมีระยะเวลาทดสอบนานพอที่จะพิสูจน์รับรองได้ว่าของไหลฯ ยังคงมีปริมาณเพียงพอสำหรับการใช้งานและอุปกรณ์ยังคงมีประสิทธิภาพดีอยู่
- ผู้ปฏิบัติงานทุกคนที่มีความเสี่ยงต้องได้รับการฝึกอบรมให้รับทราบถึงตำแหน่งที่ตั้ง และเข้าใจวิธีใช้งานอุปกรณ์ฉุกเฉินเหล่านี้ ได้อย่างถูกต้อง เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
- สายฉีดชะล้างฉุกเฉิน ควรจะได้รับการตรวจประจำปี (Annual Inspections) เพื่อให้มั่นใจว่าเป็นไปตามข้อกำหนดของ ANSI Z358.1
Summary of the Provision of ANSI Z358.1–2009: Standard for
“Emergency Drench Hose”
5. ที่ล้างตา/สายฉีดชะล้างฉุกเฉิน (Emergency Eyewash/Drench Hoses) เป็นหนึ่งในอุปกรณ์เสริม (Supplemental Equipment) สำหรับที่ล้างตาฉุกเฉิน เป็นอุปกรณ์ที่มีสายยางยืดหยุ่นเชื่อมต่อเข้ากับแหล่งจ่ายน้ำ เพื่อทดน้ำและฉีดชะล้างสารปนเปื้อนที่ดวงตา โดยมีหัวฉีด 2 หัว (Dual Spray Heads) ซึ่งสามารถส่งกระแสน้ำชำระล้างดวงตาทั้งคู่ได้พร้อมกัน
นอกจากนี้ก็ยังมีชุดอุปกรณ์สายยางฉีดชะล้างแบบผสม คือ มีทั้งสายฉีดชะล้างฉุกเฉินแบบใช้มือจับที่มีหัวเดียว (Single Head) และสายฉีดชะล้างฉุกเฉินแบบ 2 หัว อยู่ในชุดเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ที่ล้างตา/สายฉีดชะล้างฉุกเฉิน สามารถใช้ช่วยสนับสนุนการทำงานของอุปกรณ์ฉุกเฉินหลักได้ แต่ไม่ใช่สิ่งที่จะนำมาใช้ทดแทนกัน
หมายเหตุ: สายฉีดชะล้างฉุกเฉินแบบ 2 หัว (Dual-Head Emergency Drench Hoses) อาจจะถูกใช้เป็นที่ล้างตาหรือที่ล้างหน้าฉุกเฉินได้ ถ้ามีคุณสมบัติเป็นไปตามข้อกำหนดของแต่ละอุปกรณ์ฉุกเฉินหลักประเภทนั้น ๆ
สายฉีดชะล้างฉุกเฉินแบบ 2 หัว
(Dual-head Emergency Drench Hoses)
ชุดอุปกรณ์สายยางฉีดชะล้างแบบผสม
6. ชุดอุปกรณ์ฉุกเฉินแบบผสม (Combination Units) คือ สถานีความปลอดภัย (Safety Station) ที่ใช้อุปกรณ์ฉุกเฉินหลายชนิดผสมกัน อาจจะเป็นได้ทั้ง ฝักบัวอาบน้ำฉุกเฉิน (Emergency Shower) ที่ล้างตา (Emergency Eyewash) ที่ล้างตา/ใบหน้า (Emergency Eye/Face Wash) และสายฉีดชะล้างฉุกเฉิน (Emergency Drench Hoses)
หมายเหตุ: ถ้าสถานีความปลอดภัย (Safety Station) ที่ใช้อุปกรณ์ฉุกเฉินแบบใด ๆ ผสมกัน ก็ต้องเป็นไปตามข้อกำหนดของแต่ละอุปกรณ์ฉุกเฉินประเภทนั้น ๆ และที่สำคัญระบบการจ่ายของไหลที่ใช้ในการชะล้าง (Flushing Fluid) ต้องสามารถทำงานได้พร้อม ๆ กันอย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่องเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 15 นาที
ชุดอุปกรณ์ฉุกเฉินผสมแบบบรรจุน้ำในตัว (Self–Contained Unit)
ประกอบไปด้วย ที่ล้างตาฉุกเฉิน (Emergency Eyewash) , ใช้คู่กับสายฉีดชะล้างฉุกเฉิน (Emergency Drench Hoses)
ชุดอุปกรณ์ฉุกเฉินผสมแบบใช้ท่อส่งน้ำ (Plumbed Unit)
ประกอบไปด้วย ฝักบัวอาบน้ำฉุกเฉิน (Emergency Showers) , ใช้คู่กับ ที่ล้างตาฉุกเฉิน (Emergency Eyewash) และ
สายฉีดชะล้างฉุกเฉิน (Emergency Drench Hoses)
ตัวอย่างป้ายสัญญาณชุดอุปกรณ์แบบผสม
ฝักบัวอาบน้ำฉุกเฉิน (Emergency Showers) , ใช้คู่กับที่ล้างตาฉุกเฉิน (Emergency Eyewash)
Summary of the Provision of ANSI Z358.1–2009: Standard for
“Emergency Eye/Face wash & Shower Combination”
7. อุปกรณ์เสริม (Supplemental Equipment) เป็นอุปกรณ์ที่ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยเกื้อหนุนการใช้งานของอุปกรณ์หลัก และมีวัตถุประสงค์ไว้ใช้งานในกรณีเร่งด่วน แต่อย่างไรก็ตาม หลังจากใช้อุปกรณ์เสริมแล้วก็ต้องตามติดด้วยการใช้งานอุปกรณ์ฉุกเฉินหลักซึ่งสามารถจ่ายของไหลที่ใช้ในการชะล้าง (Flushing Fluid) ได้อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 15 นาที
ทั้งอุปกรณ์ล้างตาส่วนบุคคล (Personal Wash Units) และสายฉีดชะล้างฉุกเฉิน (Emergency Drench Hoses) ถือเป็นอุปกรณ์เสริม ดังนั้นจึงไม่สามารถใช้ทดแทนอุปกรณ์ฉุกเฉินหลักได้ ตัวอย่างเช่น อุปกรณ์ล้างตาส่วนบุคคลสามารถใช้ร่วมกับที่ล้างตาฉุกเฉิน หรือที่ล้างตา/ใบหน้าฉุกเฉินได้ แต่จะเป็นการดีที่สุดถ้าอุปกรณ์ล้างตาส่วนบุคคลอยู่ใกล้ ๆ กับพื้นที่งานของผู้ปฏิบัติงาน เพื่อที่จะสามารถให้ชะล้างดวงตาเบื้องต้นได้อย่างทันท่วงที อย่างไรก็ตาม ยังมีความจำเป็นต้องมุ่งตรงไปยังที่ล้างตาฉุกเฉิน หรือที่ล้างตา/ใบหน้าฉุกเฉินให้เร็วที่สุด ซึ่งสามารถจ่ายของไหลที่ใช้ในการชะล้าง (Flushing Fluid) ได้อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 15 นาที ตามข้อกำหนดที่ระบุไว้ในมาตรฐานของ ANSI
- อุปกรณ์ล้างตาส่วนบุคคล (Personal Wash Units) เป็นอุปกรณ์ล้างตาเฉพาะตัวบุคคลที่บรรจุของไหลที่สามารถใช้ชะล้างขั้นต้นอย่างเร่งด่วนสำหรับดวงตาที่สัมผัสสารอันตราย โดยสามารถเก็บไว้ใกล้กับสถานีงาน ทั้งนี้ ถือเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยเสริมการทำงานของที่ล้างตาฉุกเฉินทั้งแบบใช้ท่อส่งน้ำ (Plumbed Eyewash Units) และแบบบรรจุน้ำในตัว (Self-Contained Eyewash Units) ได้ แต่ไม่สามารถใช้ทดแทนอุปกรณ์ฉุกเฉินหลักได้ และไม่จำเป็นต้องมีคุณสมบัติตามข้อกำหนดที่ระบุไว้สำหรับอุปกรณ์ฉุกเฉินหลัก
ตัวอย่างอุปกรณ์ล้างตาส่วนบุคคล เช่น ขวดล้างตาฉุกเฉิน (Eyewash Bottles) ที่บรรจุของไหลที่ใช้ในการชะล้างดวงตา โดยทั่วไปจะเป็นขวดที่ต้องบีบเวลาใช้งาน มีขนาดพอเหมาะ สะดวกต่อการพกพาหรือเคลื่อนย้ายและง่ายต่อการใช้งานเป็นหลัก ซึ่งสามารถเก็บไว้ในสถานีล้างตาฉุกเฉิน (Emergency Eyewash Station) หรือพกพาติดตัวได้ (Portable Eyewash Bottles)
ขวดล้างตาฉุกเฉินส่วนบุคคล (Personal Eyewash Bottles)
สถานีล้างตาฉุกเฉิน (Emergency Eyewash Station)
ขวดล้างตาฉุกเฉินแบบพกพา (Portable Eyewash Bottles)
ขวดล้างตาฉุกเฉิน (Eyewash Bottles) นี้ มีความจำเป็นสำหรับพื้นที่งานที่ประสบกับความรำคาญจากอนุภาคเล็ก ๆ ที่แขวนลอยอยู่ในสภาพแวดล้อมในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นละอองเกสรดอกไม้ ฝุ่นละออง ฝุ่นจากการเลื่อยไม้ และกลุ่มควัน เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีความต้องการใช้ในพื้นที่งานที่มีการจัดเก็บ ผลิต หรือใช้งานสารที่มีฤทธิ์กัดไหม้สูง (Very Caustic Substances) ซึ่งในกรณีที่ดวงตาได้รับบาดเจ็บจากสารเคมีหรือสารกัดไหม้
ขวดล้างตาฉุกเฉินจะช่วยบรรเทาอาการบาดเจ็บได้อย่างทันท่วงทีในช่วงระหว่างการเดินทางไปสู่ที่ล้างตาฉุกเฉิน และช่วยชะล้างสารปนเปื้อนที่เหลืออยู่ได้อย่างต่อเนื่องในระหว่างทางลำเลียงผู้บาดเจ็บไปยังสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุด โดยมากแล้ว ขวดล้างตาฉุกเฉินจะบรรจุ 100% Sterile Buffered Saline Solution ซึ่งถือว่าเป็นสารชะล้างที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดสำหรับการใช้ชะล้างดวงตาที่ได้รับบาดเจ็บ และยังมีอายุการใช้งานนานถึง 36 เดือนอีกด้วย
ข้อควรพิจารณา การขจัดน้ำเสียจากการชำระล้าง (Disposal of Water) นั้น มาตรฐานไม่ได้รวมข้อกำหนดใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการขจัดน้ำเสียจากการชำระล้าง แต่อย่างไรก็ตาม ควรใส่ใจกับจุดหมายปลายทางที่น้ำเสียจะถูกขจัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำเสียนี้ต้องไม่ก่อให้เกิดอันตรายอื่นขึ้นมาอีก เช่น ไหลรวมเป็นแอ่งน้ำอาจทำให้เกิดการลื่นล้มได้ โดยทั่วไปแล้ว ฝักบัวอาบน้ำฉุกเฉิน ที่ล้างตาฉุกเฉิน และที่ล้างตา/ใบหน้าฉุกเฉิน
จะถูกออกแบบมาให้สามารถเชื่อมต่อเข้ากับท่อระบายน้ำเสียได้ แต่ถ้าไม่มีท่อเชื่อมต่อก็ต้องออกแบบพื้นให้สามารถกักเก็บน้ำเสียไม่ให้ไหลไปก่อให้เกิดความเสียหายกับบริเวณอื่น และน้ำเสียที่ว่านี้ไม่ควรไหลลงสู่บ่อบำบัดน้ำเสียทั่วไป โดยถ้าจำเป็นควรมีการเชื่อมต่อท่อระบายจากอุปกรณ์ฉุกเฉินหรืออ่างระบายน้ำเสียไปยังระบบขจัดของเสียจำพวกกรดของตัวอาคารหรือต่อเข้ากับถังที่มีกระบวนการทำให้ของเสียมีสภาพเป็นกลาง (Neutralizing Tank)
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด