เนื้อหาวันที่ : 2013-04-23 14:35:22 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 23204 views

แนวทางกำหนดสัดส่วนงานบำรุงรักษาที่เหมาะสม เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพงานบำรุงรักษา

“Aberdeen Group” เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2549 นั้นพบว่า ความต้องการที่จะปรับปรุงความเชื่อถือในการบำรุงรักษา (Reliability), ความต้องการที่จะยืดอายุการใช้งาน (Uptime) ของเครื่องจักร และความต้องการที่จะลดค่าใช้จ่ายทางด้านบำรุงรักษา

แนวทางกำหนดสัดส่วนงานบำรุงรักษาที่เหมาะสมเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพงานบำรุงรักษา
            

ธนกร ณ พัทลุง  

       จากข้อมูลการสำรวจด้านการบำรุงรักษาในอุตสาหกรรมหลาย ๆ ประเภท ได้แก่ รถยนต์, เหล็ก, น้ำมัน, ก๊าซธรรมชาติ (แก๊ส) รวมถึงธุรกิจสาธารณูปโภคต่าง ๆ ของกลุ่มผู้ดำเนินธุรกิจ “Aberdeen Group” เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2549 นั้นพบว่า ความต้องการที่จะปรับปรุงความเชื่อถือในการบำรุงรักษา (Reliability), ความต้องการที่จะยืดอายุการใช้งาน (Uptime) ของเครื่องจักร และความต้องการที่จะลดค่าใช้จ่ายทางด้านบำรุงรักษา

เป็นสาเหตุหลักที่ผลักดันให้เกิดการปรับปรุงพัฒนาประสิทธิภาพงานบำรุงรักษาในแต่ละองค์กร ดังแสดงรายละเอียดของผลการสำรวจในรูปที่ 1

 

 

  รูปที่ 1 แสดงปัจจัยหลักที่เป็นแรงขับเคลื่อนให้องค์กรต้องการปรับปรุงประสิทธิภาพงานบำรุงรักษา

 

อย่างไรก็ตามการปรับปรุงพัฒนางานบำรุงรักษาก็มักจะตามมาด้วยคำถามในเรื่องของความเหมาะสมในเรื่องการเลือกใช้กลยุทธ์งานบำรุงรักษา ซึ่งก็เป็นคำถามที่มักจะมีการพูดถึงกันอยู่เสมอ ๆ ว่า สัดส่วนของงานบำรุงรักษาที่เหมาะสมสำหรับงานบำรุงรักษาแต่ละประเภทควรจะมีค่าเท่าไรจึงจะเหมาะสม (Optimize)


1. กลยุทธ์งานบำรุงรักษา (Maintenance Type)


   กลยุทธ์หรือชนิดงานบำรุงรักษามีหลายรูปแบบซึ่งแสดงในรูปที่ 2 ได้แก่


   1.1 Corrective Maintenance ย่อว่า “CM” คือ ใช้งานจนเสียหาย ต้องหยุดเดินเครื่องแล้วจึงแก้ไข

   1.2 Preventive Maintenance ย่อว่า “PM” คือ แก้ไขในโอกาสที่เหมาะสมก่อนที่จะเสียหายรุนแรง

   1.3 Improvement Maintenance หรือ Proactive Maintenance คือ การบำรุงรักษาเชิงรุก หรือการแก้ไขและปรับปรุงสภาพในโอกาสที่เหมาะสมเพื่อไม่ให้มีโอกาสเกิดความบกพร่องได้เลย

 

รูปที่ 2 ผังแสดงชนิดของงานซ่อมบำรุง (Maintenance Type)

(ที่มา: เอกสารประกอบ Presentation Condition Monitoring of Steam Turbine System, การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย)

 

        ซึ่งข้อมูลการสำรวจด้านการบำรุงรักษายังพบว่า 88% (เกือบ 90%) มีการใช้กลยุทธ์งานบำรุงรักษาแบบ Preventive Maintenance (PM) ซึ่งมากที่สุด ในขณะที่กลยุทธ์การบำรุงรักษาในระดับสูง

 

เช่น Predictive Maintenance (PdM) และ กระบวนการ Reliability Centered Maintenance (RCM) มีการใช้ 58% และ 28% ตามลำดับ ซึ่งก็ช่วยเพิ่มความเชื่อถือและประสิทธิภาพของเครื่องจักรให้มากขึ้นได้ แม้ว่าจะมีการนำมาใช้น้อยเพราะแพร่หลายน้อยกว่าก็ตาม ดังแสดงในรูปที่ 3

 

    

รูปที่ 3 แสดงกลยุทธ์การบำรุงรักษาที่มีการเลือกใช้สูงที่สุด

 

2. ทฤษฎีและตัวอย่างสัดส่วนงานบำรุงรักษาที่เหมาะสม

      ซึ่งก็ได้มีเอกสารทางวิชาการหลายฉบับออกมาเผยแพร่แต่ละฉบับก็มีการแบ่งประเภทของงานบำรุงรักษาที่แตกต่างกัน เช่น อาจแยกประเภทงานเป็น งานวางแผนบำรุงรักษา (Planned) กับงานซึ่งไม่ได้วางแผนไว้ (Unplanned), งาน Corrective Maintenance (CM) กับงาน Preventive Maintenance (PM) เป็นต้น


     2.1 ทฤษฎีสัดส่วนงานบำรุงรักษาที่เหมาะสม

     ทฤษฎีสัดส่วนงานบำรุงรักษาที่เหมาะสม คือ กฎ 6:1 ซึ่งเป็นทฤษฏีที่ได้รับการพิสูจน์แล้วอันหนึ่ง โดยทฤษฏีนี้กล่าวว่า “สัดส่วนของจำนวนงาน PM ต่องาน CM ควรจะอยู่ที่ประมาณ 6 : 1” โดยมีสมมุติฐานว่าการทำงาน Preventive Maintenance (PM) เพื่อตรวจสภาพอุปกรณ์ประมาณ 6 ครั้ง จะทำให้เกิดงาน Corrective Maintenance (CM) จำนวน 1 ครั้ง และหากสัดส่วนนี้มีค่ามากกว่า 6 :1 ก็หมายความว่า การทำงาน Preventive Maintenance (PM) มีความถี่มากเกินไป ในทางตรงกันข้าม ถ้าสัดส่วนนี้มีค่าน้อยกว่า 6 :1 ก็แสดงว่าการทำงาน Preventive Maintenance (PM) มีความถี่น้อยเกินไป


     2.2 ตัวอย่างของสัดส่วนงานบำรุงรักษาที่เหมาะสม

     ทั้งนี้กฎ 6 :1 นี้ได้รับการพิสูจน์โดย Mr. John Day, Jr. Manager of Engineering and Maintenance ที่ Alumax of South Carolina ซึ่งในขณะนั้นบริษัทนี้ได้รับการรับรองให้เป็นองค์กรที่มีการบริหารจัดการงานบำรุงรักษาที่ดีระดับโลก (World Class)

 

ในหนังสือของ Daryl Mather เรื่อง “CMMS: a timesaving implementation process” โดยได้กล่าวถึงสัดส่วนของงานบำรุงรักษาที่เหมาะสมโดยได้แสดงสัดส่วนของชั่วโมงทำงานที่ควรจะเป็นในองค์กรที่มีการบริหารจัดการงานบำรุงรักษาที่ดี โดยแยกเป็นชั่วโมงทำงานที่เกิดจากการหยุดชะงัก (งาน Breakdown) เท่ากับ 5%, งาน Corrective Maintenance (CM) เท่ากับ15%, งาน Preventive Maintenance (PM)  เท่ากับ 50% และงาน Predictive Maintenance เท่ากับ 30% ดังแสดงในรูปที่ 4

 

 รูปที่ 4 สัดส่วนชั่วโมงทำงานบำรุงรักษาที่เหมาะสมในองค์กรที่มีการบริหารจัดการงานบำรุงรักษาระดับ World Class

 

       จากเอกสารประกอบการบรรยายเรื่อง “Planning  and Scheduling” ของโดย Doug Stretton จาก IBM Business Consulting Services ก็ได้มีการแสดงแผนภาพเปรียบเทียบองค์กรที่มีการบำรุงรักษาในระดับทั่ว ๆ ไป กับองค์กรที่มีการบริหารจัดการงานบำรุงรักษาที่ดีชั้นนำของโลกหรือแบบ World Class โดยแยกเป็นงานวางแผนบำรุงรักษา (Planned) กับงานซึ่งไม่ได้วางแผน (Unplanned) เป็นหลัก ก่อนที่จะแยกย่อยออกเป็นงานบำรุงรักษาแต่ละประเภท

 

อย่างไรก็ตามในเอกสารนี้แสดงให้เห็นว่างาน Corrective Maintenance สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วนคือ งาน Planed Corrective Maintenance ที่สามารถวางแผนได้ และงาน Unplanned Corrective Maintenance ที่ไม่สามารถวางแผนได้ ดังแสดงตามรูปที่ 5 และ 6

 


     

รูปที่ 5 สัดส่วนงานบำรุงรักษาในองค์กรทั่ว ๆ ไป (Planned 60%: Unplanned 40%)

 

รูปที่ 6 สัดส่วนงานบำรุงรักษาในองค์กรที่มีการบำรุงรักษาที่ดีชั้นนำของโลก World Class (Planned 80%: Unplanned 20%)
     


     และสัดส่วนโดยทั่วไปของกลยุทธ์งานบำรุงรักษาที่ได้จากการวิเคราะห์ด้วยกระบวนการ RCM (Reliability Centered Maintenance) ซึ่งทุกงานที่เกิดจะเป็นงานวางแผนบำรุงรักษา (Planned) ทั้งหมด โดยสามารถแยกสัดส่วนกลยุทธ์การบำรุงรักษาออกได้ดังนี้


- Planed Corrective Maintenance (PCM) เท่ากับ 18%


- Predictive Maintenance (PdM) เท่ากับ 23%

- Preventive Maintenance (PM) เท่ากับ 18%


- Detective Maintenance (DM) เท่ากับ 14%

- Run to Failure เท่ากับ 27% ซึ่งแสดงในรูปที่ 7
     

 


    รูปที่ 7 แสดงสัดส่วนโดยทั่วไปของกลยุทธ์งานบำรุงรักษาที่ได้จากการวิเคราะห์งาน Reliability Centered  Maintenance (RCM)

 

3. สรุปแนวทางกำหนดสัดส่วนของงานบำรุงรักษาที่เหมาะสม


     จากที่ได้กล่าวมาข้างต้นนั้น จะเห็นว่าไม่ได้มีกฎเกณฑ์ที่แน่นอนในการกำหนดสัดส่วนของงานบำรุงรักษาและสัดส่วนงานบำรุงรักษาที่ดีและเหมาะสมจะเป็นผลที่ได้จากการสำรวจงานบำรุงรักษาที่เกิดขึ้นในองค์กรที่มีการบำรุงรักษาชั้นนำที่ดีระดับโลก (World Class) ทั้งนี้อาจสรุปเป็นแนวทางในการกำหนดสัดส่วนที่เหมาะสมได้ดังนี้


     3.1 งาน Planned และ Unplanned ควรมีสัดส่วนชั่วโมงทำงานบำรุงรักษาอยู่ที่สัดส่วน 80:20 


     3.2 งาน Breakdown ควรจะไม่เกิน 5% ของงานบำรุงรักษาทั้งหมด


     3.3 งาน Breakdown, CM, PM, CBM ควรจะมีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 5:15: 50:30


     3.4 สัดส่วนของงาน Preventive Maintenance (PM) ที่ทำเพื่อตรวจสภาพต่องาน Corrective Maintenance (CM) ที่เกิดขึ้นควรมีสัดส่วนอยู่ที่ 6: 1


     3.5 เนื่องจากอุปกรณ์หนึ่งมีรูปแบบการเสียหาย (Failure Mode) ที่หลากหลายจึงควรเลือกใช้กลยุทธ์การบำรุงรักษาหลายรูปแบบประกอบกัน ทั้งนี้ Reliability Centered Maintenance (RCM) เป็นกระบวนการที่เหมาะสมในการวิเคราะห์งานบำรุงรักษาที่เหมาะสมกับอุปกรณ์เครื่องจักรต่าง ๆ

 

อ้างอิง
1. Robert “bob” call, CMRP, Analyzing the relationship of preventive maintenance to corrective maintenance, Life Cycle Engineering (LCE) Inc., 2007
2. Daryl, Mather, CMMS: a timesaving implementation process , CRC Press LLC, 2000 N.W. Corporate Blvd, Boca Raton, Florida, 2003
3. Aberdeen Group, Collaborative Asset Maintenance Strategies Report, Aberdeen Group Inc., USA, December 2006
4. เอกสารการอบรมหลักสูตร Physical Asset Management, University of Toronto
5. เอกสารประกอบ Presentation Condition monitoring of Steam Turbine System, การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, 2551

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด