เนื้อหาวันที่ : 2013-04-23 11:33:06 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2865 views

ISO 26000 มาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคม (ตอนจบ)

ในการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับองค์กร สามารถดำเนินการได้หลาย ๆ วิธี หนึ่งคือ การสานสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสีย

ISO 26000 มาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคม
(ตอนจบ)
กิตติพงศ์  จิรวัสวงศ์
kitjirawas@gmail.com


ความน่าเชื่อถือกับความรับผิดชอบต่อสังคม
     ในการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับองค์กร สามารถดำเนินการได้หลาย ๆ วิธี หนึ่งคือ การสานสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการสานเสวนากับผู้มีส่วนได้เสีย วิธีนี้จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นได้ว่า องค์กรมีความเข้าใจต่อผลประโยชน์ และความสนใจต่าง ๆ ของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด นอกจากนั้น การสานเสวนายังช่วยสร้างความไว้วางใจ และความน่าเชื่อถือได้ด้วย การสานสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสียยังใช้เป็นพื้นฐาน เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียได้เข้ามาร่วมในการทวนสอบการกล่าวอ้างเกี่ยวกับผลการดำเนินงานขององค์กรได้อีกด้วย


     ทั้งนี้ ความน่าเชื่อถือ สามารถสร้างขึ้นได้จากการรับรองในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การรับรองความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ การรับรองกระบวนการ หรือการรับรองผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การรับรองการปฏิบัติด้านแรงงาน และอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคม ทั้งนี้การรับรอง จะต้องมีความเป็นอิสระ และมีความน่าเชื่อถือในตัวเองด้วย บางกรณี องค์กร อาจจะมีการเชิญหน่วยงานภายนอกที่เป็นอิสระ มาช่วยในการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับองค์กร เช่น การเชิญบุคคลภายนอกเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการกำกับดูแล หรือคณะกรรมการทบทวน รวมไปถึงการเข้าร่วมเป็นสมาชิกในกลุ่มขององค์กรที่มีการดำเนินการคล้าย ๆ กัน เพื่อส่งเสริมให้เกิดพฤติกรรมที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ในสถานที่ปฏิบัติงาน หรือในชุมชนที่สำคัญโดยรอบสถานที่ตั้งขององค์กร

การเพิ่มความน่าเชื่อถือของรายงาน และการกล่าวอ้างถึงด้านความรับผิดชอบต่อสังคม
     วิธีการที่สามารถนำมาใช้ในการเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับรายงาน และการกล่าวอ้างต่าง ๆ เกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคม ประกอบด้วย

- การจัดทำรายงานเกี่ยวกับผลการดำเนินงานของความรับผิดชอบต่อสังคม โดยมีการเปรียบเทียบกับช่วงเวลาต่าง ๆ และกับรายงานต่าง ๆ ที่จัดทำขึ้นโดยองค์กรในกลุ่มเดียวกัน ทั้งนี้ลักษณะของรายงานจะขึ้นอยู่กับประเภท ขนาด และขีดความสามารถขององค์กร 

- การอธิบายเกี่ยวกับเหตุผลของการไม่ได้มีการรายงานในบางหัวข้อไว้ในรายงาน เพื่อแสดงให้เห็นถึงความพยายามขององค์กรที่จะรายงานให้ได้ครอบคลุมทุก ๆ หัวข้อที่มีความสำคัญ 

- การทวนสอบที่เข้มงวด และรับผิดชอบ จะช่วยให้ข้อมูลและสารสนเทศสามารถสอบกลับได้ถึงแหล่งที่น่าเชื่อถือ เพื่อยืนยันถึงความถูกต้องของข้อมูลและสารสนเทศเหล่านั้น 

- การขอความช่วยเหลือจากบุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่มีความเป็นอิสระจากกระบวนการจัดทำรายงาน ทั้งที่มาจากภายใน หรือภายนอกองค์กร เพื่อทำหน้าที่ในกระบวนการทวนสอบ 

- การแสดงผลของการตรวจสอบต่อการทวนสอบไว้เป็นส่วนหนึ่งของรายงาน

- การให้กลุ่มของผู้มีส่วนได้เสีย ได้เข้าร่วมในการพิจารณาถึงความครอบคลุมของรายงานที่สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์และประเด็นต่าง ๆ ที่มีนัยสำคัญขององค์กร และการตอบสนองต่อความต้องการของผู้มีส่วนได้เสียขององค์กร 

- การสร้างความโปร่งใสให้เกิดขึ้น โดยการจัดชนิดและรูปแบบของสารสนเทศที่ง่ายต่อการทวนสอบโดยผู้อื่น เช่น การให้รายละเอียดของแหล่งที่มาของสารสนเทศ และวิธีการที่ใช้ในการคำนวณทางสถิติ นอกเหนือจากการนำเสนอในรูปแบบของสถิติแล้ว หรือการอ้างอิงถึงผู้ส่งมอบ โดยมีการระบุถึงรายละเอียดของสถานที่ตั้งของผู้ส่งมอบไว้ด้วย  

- การรายงานมีความสอดคล้องกับข้อกำหนดของการจัดทำรายงานของหน่วยงานภายนอก

การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งหรือข้อพิพาทระหว่างองค์กรกับผู้มีส่วนได้เสีย
     ในการดำเนินการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบต่อสังคม บางครั้งองค์กรอาจจะประสบกับปัญหาความขัดแย้งหรือข้อพิพาทกับผู้มีส่วนได้เสีย หรือกลุ่มของผู้มีส่วนได้เสียได้ เช่น ประเด็นเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน หรือประเด็นเกี่ยวกับผู้บริโภค ดังนั้น องค์กรควรพัฒนากลไกต่าง ๆ เพื่อการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งหรือข้อพิพาทระหว่างองค์กรกับผู้มีส่วนได้เสียที่เหมาะสมกับประเภทของข้อปัญหา หรือข้อพิพาท และสามารถใช้ได้กับผู้มีส่วนได้เสียที่ได้รับผลกระทบด้วย ทั้งนี้ กลไกต่าง ๆ จะประกอบด้วย


- การหารือโดยตรงกับผู้มีส่วนได้เสียที่ได้รับผลกระทบ
- การชี้แจงสารสนเทศอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อแก้ไขปัญหาความเข้าใจผิด
- การจัดเวทีสำหรับผู้มีส่วนได้เสียต่าง ๆ และองค์กรสามารถนำเสนอประเด็นต่าง ๆ ของมุมมองและสามารถหาแนวทางในการแก้ไขต่อไป 
- การกำหนดขั้นตอนการดำเนินงานกับข้อร้องเรียนที่เป็นทางการ
- การกำหนดขั้นตอนการดำเนินงานสำหรับการประนีประนอม หรืออนุญาโตตุลาการ 
- ระบบต่าง ๆ ที่ใช้สำหรับการรายงานเกี่ยวกับการกระทำผิดโดยไม่มีความเกรงกลัวต่อการข่มขู่
- ขั้นตอนการดำเนินงานในรูปแบบอื่น ๆ สำหรับการแก้ไขข้อร้องเรียน


     นอกจากนั้น องค์กรควรจัดให้มีรายละเอียดของสารสนเทศที่เกี่ยวกับขั้นตอนการดำเนินงานสำหรับการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง และข้อพิพาทที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายโดยผู้มีส่วนได้เสีย โดยขั้นตอนต่าง ๆ ที่กำหนดขึ้นควรมีความเสมอภาค และมีความโปร่งใสอย่างเหมาะสมด้วย  

การทบทวนและปรับปรุงกิจกรรมขององค์กรด้านความรับผิดชอบต่อสังคม
     ความมีประสิทธิผลของผลการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร จะขึ้นอยู่กับความมุ่งมั่นขององค์กรเอง รวมถึงการดำเนินการอย่างระมัดระวัง การประเมินและทบทวนการดำเนินการต่าง ๆ ความคืบหน้าที่เกิดขึ้น ผลสำเร็จของวัตถุประสงค์ที่ได้ตั้งไว้ การใช้ทรัพยากรและความพยายามในด้านอื่น ๆ ขององค์กร


     การเฝ้าติดตาม หรือการสังเกตการณ์ในกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคม จะมีจุดประสงค์เพื่อให้แน่ใจว่าการดำเนินการต่าง ๆ เป็นไปตามที่ตั้งใจไว้ มีการระบุถึงวิกฤตการณ์ หรือสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้น รวมถึงการปรับเปลี่ยนการดำเนินการให้เหมาะสมต่อไป 

     การทบทวนผลการดำเนินงานตามช่วงเวลาที่เหมาะสม จะใช้เพื่อพิจารณาถึงความก้าวหน้าของความรับผิดชอบต่อสังคม รวมถึงช่วยให้มีการดำเนินการตามโปรแกรม มีการชี้บ่งถึงการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็น และส่งเสริมให้เกิดการปรับปรุงผลการดำเนินการ 


     นอกจากนั้น ในการทบทวนกิจกรรมต่าง ๆ องค์กรควรดำเนินการควบคู่ไปกับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ หรือความคาดหวังต่าง ๆ การพัฒนากฎหมายและข้อกำหนดต่าง ๆ ที่มีผลกระทบกับความรับผิดชอบต่อสังคม รวมไปถึงโอกาสใหม่ ๆ ในความพยายามต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคม

การเฝ้าติดตามกิจกรรมด้านความรับผิดชอบต่อสังคม
     องค์กรควรจัดให้มีการเฝ้าติดตามผลการดำเนินงานที่เกิดขึ้นของกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับหลัก และประเด็นต่าง ๆ ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร เพื่อให้มั่นใจได้ถึงความมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพของการดำเนินการ โดยการเฝ้าติดตามนี้ จะเปลี่ยนแปลงไปตามขอบเขตที่ครอบคลุมหัวข้อหลักต่าง ๆ ขนาด และลักษณะขององค์กร รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย


     ในการพิจารณาว่าจะทำการเฝ้าติดตามกิจกรรมใดบ้าง องค์กรควรมุ่งเน้นไปที่กิจกรรมที่มีนัยสำคัญ และพยายามทำให้ผลที่ได้จากการเฝ้าติดตามนี้สามารถเข้าใจได้ง่าย เชื่อถือได้ ตรงเวลา และตอบสนองต่อข้อกังวลต่าง ๆ ของผู้มีส่วนได้เสีย


     การเฝ้าติดตามผลการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคม สามารถทำให้หลายวิธี รวมถึงการทบทวนเป็นระยะ ๆ ตามความเหมาะสม การเปรียบเทียบกับองค์กรอื่น ๆ และการได้ข้อมูลย้อนกลับจากผู้มีส่วนได้เสียต่าง ๆ ทั้งนี้ องค์กรสามารถนำข้อมูลที่ได้มาทำการเปรียบเทียบกับคุณลักษณะต่าง ๆ และผลการดำเนินงานกับการดำเนินงานขององค์กรอื่น ๆ


     นอกจากนั้น อีกวิธีการหนึ่งที่มีการใช้อย่างแพร่หลาย คือ การวัดเพื่อเปรียบเทียบกับตัวชี้วัดต่าง ๆ ซึ่งตัวชี้วัดนี้ จะเป็นข้อมูลสารสนเทศในเชิงคุณภาพ หรือเชิงปริมาณที่เกี่ยวกับผลการดำเนินการที่เกิดขึ้น รวมไปถึงผลลัพธ์ต่าง ๆ ขององค์กรที่สามารถนำไปเปรียบเทียบ และแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงตลอดช่วงของระยะเวลา ทั้งนี้ ตัวชี้วัดที่ใช้ ควรมีความชัดเจน เป็นสารสนเทศ ปฏิบัติได้ เปรียบเทียบได้ มีความถูกต้อง น่าเชื่อถือ และยอมรับได้


     ทั้งนี้ ตัวชี้วัดบางตัว ถึงแม้จะให้ผลลัพธ์ออกมาในเชิงปริมาณที่สามารถนำไปใช้งานต่อไป แต่ก็พบว่า อาจจะไม่เหมาะสมสำหรับบางประเด็นของความรับผิดชอบต่อสังคม เช่น มุมมองของผู้หญิงและผู้ชายที่มีต่อการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม จะให้ความหมายได้ดีกว่าตัวชี้วัดในเชิงปริมาณต่าง ๆ เกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติ นอกจากนั้น ตัวชี้วัดในเชิงปริมาณที่เกี่ยวกับผลสำรวจ หรือทำเฉพาะกลุ่ม (Focus Group) อาจนำมาใช้ร่วมกับตัวชี้วัดเชิงคุณภาพที่บอกถึงมุมมอง แนวโน้ม สภาวะหรือสถานะต่าง ๆ


     ทั้งนี้ ความรับผิดชอบต่อสังคม จะเป็นสิ่งที่มากกว่าแค่การดำเนินการให้ประสบความสำเร็จที่สามารถวัดได้เท่านั้น เช่น การลดมลพิษและการตอบสนองต่อข้อร้องเรียน เนื่องจากความรับผิดชอบต่อสังคมยังขึ้นอยู่กับค่านิยมจากการประยุกต์ใช้หลักการต่าง ๆ ของความรับผิดชอบต่อสังคม และทัศนคติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ดังนั้น การเฝ้าติดตามอย่างต่อเนื่อง ผ่านวิธีการต่าง ๆ เช่น การสัมภาษณ์ การสังเกต และเทคนิคอื่น ๆ จะถูกนำมาใช้ เพื่อใช้การประเมินถึงพฤติกรรมและความมุ่งมั่นต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น 

 
การทบทวนความคืบหน้า และผลการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคม
     องค์กรควรมีการทบทวนตามระยะเวลาที่เหมาะสม เพื่อพิจารณาการดำเนินการขององค์กรเป็นไปตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ต่าง ๆ สำหรับความรับผิดชอบต่อสังคมหรือไม่ และเพื่อการระบุถึงความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลงโปรแกรม และขั้นตอนการดำเนินงานต่าง ๆ ตามความเหมาะสม


     ในการทบทวนนี้ จะเกี่ยวข้องกับการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานในหัวข้อหลักต่าง ๆ ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมกับผลที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ เพื่อพิจารณาถึงความคืบหน้า และวัดผลสัมฤทธิ์เปรียบเทียบกับเป้าหมายและวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ตราที่ได้กำหนดไว้ นอกจากนั้น ควรมีการทดสอบการวัดผลการดำเนินงานบางด้านที่ง่ายกว่า เช่น ทัศนคติเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคม การบูรณาการความรับผิดชอบต่อสังคมทั่วทั้งองค์กร และการยึดมั่นในหลักการต่าง ๆ การแถลงเกี่ยวกับค่านิยมและการปฏิบัติงานต่าง ๆ โดยการทบทวนนี้ จะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมาก หากเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้เข้ามามีส่วนร่วมในการทบทวนด้วย


     คำถามต่าง ๆ ที่สามารถนำมาใช้ในระหว่างการทบทวน เช่น 
- สามารถบรรลุผลตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายต่าง ๆ ตามที่คาดหวังไว้หรือไม่ 
- กลยุทธ์และกระบวนการต่าง ๆ เหมาะสมกับวัตถุประสงค์หรือไม่
- มีการทำอะไรที่ได้ผล มีการทำอะไรที่ไม่ได้ผล และเป็นเพราะอะไร 
- วัตถุประสงค์มีความเหมาะสมหรือไม่
- อะไรที่สามารถทำให้ดียิ่งขึ้น
- ทุกคนที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมหรือไม่


     ทั้งนี้ ผลที่ได้จากการทบทวน องค์กรควรจะระบุถึงการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับโปรแกรมขององค์กร ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขข้อบกพร่องต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น และนำไปสู่การปรับปรุงผลการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมต่อไป 

ความน่าเชื่อถือของการรวบรวม และการจัดการข้อมูลและสารสนเทศ
     สำหรับองค์กรต่าง ๆ ที่ต้องการจัดส่งข้อมูลผลการดำเนินงานไปให้กับหน่วยงานราชการ องค์กรเอกชน องค์กรประเภทอื่น ๆ สาธารณะ หรือเพื่อการรักษาไว้ซึ่งฐานข้อมูลที่มีสารสนเทศที่มีความอ่อนไหวง่าย องค์กรจะต้องมีการทบทวนระบบงานต่าง ๆ อย่างละเอียด เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับการเก็บรวบรวมข้อมูล และการบริหารจัดการ โดยการทบทวนดังกล่าว เพื่อ


- สร้างความมั่นใจได้ถึงความถูกต้องของการจัดส่งข้อมูลให้กับหน่วยงานอื่น ๆ 
- ปรับปรุงความน่าเชื่อถือของข้อมูลและสารสนเทศ 
- ยืนยันถึงความน่าเชื่อถือของระบบว่าสามารถปกป้องความปลอดภัย และความเป็นส่วนตัวของข้อมูลได้อย่างเหมาะสม


     นอกจากนั้น ในการทบทวนโดยละเอียด ยังเป็นการดำเนินการเพื่อเตรียมความพร้อมตามข้อกำหนดของกฎหมาย หรือข้อกำหนดอื่น ๆ หรือเพื่อการรายงานเกี่ยวกับข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือมลพิษต่าง ๆ หรือตามข้อกำหนดของการส่งมอบข้อมูลตามโปรแกรมให้แก่ผู้ให้เงินทุน หรือผู้คอยกำกับดูแลเงื่อนไขด้านสิ่งแวดล้อมที่ได้รับอนุญาต หรือได้รับการละเว้นตามเงื่อนไขพิเศษ รวมทั้งข้อกังวลต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการปกป้องความเป็นส่วนตัวของข้อมูล เช่น ด้านการเงิน การรักษาทางการแพทย์ หรือข้อมูลส่วนตัว


     ทั้งนี้ การทบทวนดังกล่าว ควรเปิดให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลจากภายใน หรือภายนอกองค์กรได้เป็นผู้ทบทวนถึงแนวทางที่ใช้ในการจัดเก็บ การบันทึกหรือการเก็บรักษา การส่งมอบ และการนำข้อมูลไปใช้งานโดยองค์กร โดยการทบทวนต่าง ๆ เหล่านี้จะช่วยองค์กรในการระบุถึงจุดอ่อน หรือความหละหลวมในการเก็บข้อมูลและระบบการบริหารที่จะทำให้ข้อมูลเกิดความเสียหาย เกิดข้อผิดพลาด หรือมีการเข้าถึงข้อมูลโดยผู้ที่ไม่มีอำนาจได้ ผลของการทบทวนที่ได้ ยังช่วยให้องค์กรมีระบบที่แข็งแกร่งขึ้น และมีการปรับปรุงระบบขององค์กร


     นอกจากนั้น ในการทำให้ข้อมูลมีความถูกต้องและน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น ยังสามารถทำได้โดยการจัดฝึกอบรมที่ดีให้กับผู้จัดเก็บข้อมูล การกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบที่ชัดเจนสำหรับความถูกต้องของข้อมูล การป้อนข้อมูลย้อนกลับโดยตรงให้กับผู้ที่ทำข้อผิดพลาด และกระบวนการที่มีคุณภาพในการเปรียบเทียบรายงานกับข้อมูลในอดีต และกับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้

การปรับปรุงผลการดำเนินการ
     องค์กรควรจะมีการดำเนินการในการปรับปรุงผลการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างสม่ำเสมอ โดยพิจารณาจากผลของการทบทวนที่ได้ ซึ่งการปรับปรุงนี้ จะทำได้โดยการปรับเปลี่ยนเป้าหมาย และวัตถุประสงค์ เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น หรือจากความต้องการที่จะให้ได้รับความสำเร็จที่มากขึ้น รวมไปถึงการขยายขอบเขตของกิจกรรม หรือโปรแกรมที่เกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคมออกไปให้กว้างขึ้น


     นอกจากนั้น มุมมองต่าง ๆ ของผู้มีส่วนได้เสียที่ได้จากการทบทวน จะช่วยในการชี้บ่งถึงโอกาสใหม่ ๆ และการเปลี่ยนแปลงของความคาดหวัง ในการปรับปรุงผลการดำเนินงานได้ การดำเนินการนี้ จะช่วยตอกย้ำให้เห็นถึงความมุ่งมั่นขององค์กร ที่มีต่อการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคม


     จากที่ได้อธิบายมาทั้งหมด จะเป็นเนื้อหาต่าง ๆ ของการดำเนินการด้านความรับผิดชอบต่อสังคมตามมาตรฐาน ISO 26000 ซึ่งองค์กรที่ต้องการนำมาตรฐานนี้ไปประยุกต์ใช้ ควรจะมีการศึกษารายละเอียดของประเด็นต่าง ๆ ในมาตรฐานนี้โดยละเอียด และพิจารณาถึงประเด็นที่เหมาะสมกับการนำไปใช้งานในองค์กร เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งกับองค์กรเอง และกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดขององค์กร รวมถึงนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนที่แท้จริงต่อไป 


สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด