เนื้อหาวันที่ : 2013-04-23 11:12:28 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 7344 views

นวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมสู่ผลิตภาพแบบยั่งยืน

ปัจจุบันการประกอบธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมนี้ได้รับความสนใจจากทั่วโลก เนื่องจากวิกฤติเศรษฐกิจที่ล่มสลาย ราคาพลังงานและอาหารถีบตัวสูงขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง

นวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมสู่ผลิตภาพแบบยั่งยืน
โกศล ดีศีลธรรม
Koishi2001@yahoo.com

 

     ปัจจุบันการประกอบธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมนี้ได้รับความสนใจจากทั่วโลก เนื่องจากวิกฤติเศรษฐกิจที่ล่มสลาย ราคาพลังงานและอาหารถีบตัวสูงขึ้นอย่างไม่หยุดยั้งและสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป แสดงให้เห็นว่าแท้จริงแล้วการพัฒนาเศรษฐกิจแบบที่ปฏิบัติกันมานั้นไม่ถูกต้อง ทำให้ทิศทางความรับผิดชอบต่อสังคมมุ่งประเด็นความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นและส่งผลให้องค์กรต้องพัฒนากระบวนการเพื่อมุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนของโลก ทำให้ธุรกิจสีเขียวเป็นกระแสแห่งอนาคตที่ช่วยให้ระบบเศรษฐกิจขับเคลื่อนต่อไปได้และลดปัญหาภาวะโลกร้อนควบคู่กันไป

องค์กรธุรกิจหรือผู้ประกอบการชั้นแนวหน้าส่วนใหญ่ออกนโยบายสิ่งแวดล้อมหรือนโยบายสีเขียวที่ถือเป็นกุญแจสู่ความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจ ทางสหภาพยุโรปกำหนดนโยบายปกป้องสิ่งแวดล้อม โดย EU ออกนโยบายสำคัญ คือ “EU Climate and Energy Package” มุ่งลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงอย่างน้อย 20% เทียบกับปี 1990 และพร้อมจะเพิ่มสัดส่วนการลดลงไปอีกจนถึงระดับ 30% หากประเทศพัฒนาประเทศอื่นพร้อมที่จะยอมรับในข้อตกลง Global Climate Change ฉบับใหม่ หลัง Kyoto Protocol สิ้นสุด เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนเป็น 20% และปรับปรุงประสิทธิภาพพลังงานให้ได้อีก 20% หรือเรียกว่า เป้าหมาย 20/20/20

นโยบายเหล่านี้ได้กระตุ้นให้บริษัทชั้นนำในสหภาพยุโรปที่เป็นคู่ค้าสำคัญของไทยมีความตื่นตัว และได้ออกแบบและดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อลดการก่อปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม โดยส่งผลกระทบกับผู้ผลิตห่วงโซ่การผลิตที่มีการค้าเชื่อมโยงกับสหภาพยุโรป อย่างกรณี บริษัท IKEA (อิเกีย) ผู้นำตลาดอุตสาหกรรมอุปกรณ์ตกแต่งและเครื่องใช้ภายในบ้านสัญชาติสวีเดน คือ ธุรกิจสีเขียวที่ได้รับรางวัล Foreign Policy Association Award for Global Corporate Social Responsibility โดย IKEA เป็นบริษัทข้ามชาติที่มีผู้ส่งมอบและคู่ค้า 35 ประเทศทั่วโลก รวมถึงไทยด้วย

 เฟอร์นิเจอร์ของ IKEA โดดเด่นที่การออกแบบเหมาะกับการใช้งาน ทันสมัย คุณภาพดี หาซื้อได้ไม่ยาก ราคาไม่แพง เพราะไม่เน้นความหรูหราฟุ่มเฟือย โดย IKEA เลือกใช้วัตถุดิบที่นำกลับมาใช้ใหม่หรือสร้างขึ้นทดแทนใหม่ได้ เช่น ไม้ ฝ้าย โลหะ พลาสติก แก้ว และหวาย กว่า 50% ผลิตภัณฑ์ IKEA ทำจากไม้และเยื่อไม้ กำหนดมาตรฐานที่ผู้ส่งมอบทั่วโลกต้องดำเนินการตามอย่างเคร่งครัด โดยเน้นว่าไม้ที่นำมาใช้ต้องเป็นไม้แก่ ไม่ไปรุกล้ำป่าตามธรรมชาติ และต้องมีแผนการปลูกป่าทดแทนทันที

IKEA มีความร่วมมือกับองค์กรไม่แสวงหากำไร Global Forest Watch และ World Wildlife Fund โดยมีเป้าหมายระยะยาวให้ผู้ส่งมอบไม้ได้การรับรองจาก The Forest Stewardship Council และผ่านมาตรฐานของ IKEA โดยใช้มาตรฐานเรียกว่า IWAY Standard ย่อมาจาก IKEA Way of Purchasing Home Furnishing Products ร่วมกับผู้ส่งมอบทั้ง 1,350 ราย ในยุโรป เอเชีย และอเมริกาเหนือ ครอบคลุม 3 ประเด็น คือ สิ่งแวดล้อม สภาพการทำงานและสินค้าที่ทำจากไม้ ข้อกำหนด IKEA Way on Preventing Child Labor เกี่ยวข้องกับแรงงานเด็ก

 หากผู้ส่งมอบรายใดไม่ปฏิบัติตามจะไม่สามารถทำธุรกิจกับ IKEA โดยมีการตรวจสอบหลายประเด็น เช่น การปนเปื้อนของดิน การปล่อยมลพิษ การจัดการของเสีย การใช้ยานพาหนะขนส่ง เป็นต้น ซึ่งประเมินจากเอกสารอ้างอิง การเยี่ยมชมโรงงาน และสัมภาษณ์พนักงาน โดยจะตรวจเข้มอย่างน้อยทุก 2 ปี

เอกลักษณ์สำคัญของ IKEA คือ บรรจุหีบห่อแบบ Flat-packed เป็นกล่องแบนราบ เฟอร์นิเจอร์เป็นระบบ Knockdown สามารถแยกเป็นชิ้นส่วน พับเก็บและถอดประกอบเองได้ง่าย การบรรจุหีบห่อแบบนี้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทำให้ลดต้นทุนทั้งค่าวัสดุหีบห่อ ค่าแรงประกอบสินค้า ค่าขนส่งและพื้นที่เก็บสินค้า ส่วนภายในโรงงาน IKEA ได้ลดการใช้พลังงานอย่างการใช้หลอดประหยัดไฟและพยายามใช้พลังงานทางเลือก เช่น พลังงานชีวมวล พลังงานแสงอาทิตย์ ถือเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสอดคล้องกับแนวคิดธุรกิจสีเขียว แม้ลูกค้าของ IKEA จะถูกส่งเสริมให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมาอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมากขึ้น

แต่ถุงพลาสติกแบบโพลีเอทีลีนถูกนำมารีไซเคิลในสหรัฐอเมริกายังต่ำกว่า 1% ปี 2006 ลูกค้า IKEA ในสหรัฐอเมริกาใช้ถุงจำนวนกว่า 70 ล้านใบใส่ของกลับบ้าน ทำให้ IKEA ประกาศคิดค่าถุงใบละ 5 เซ็นต์ ทำให้ลูกค้าใช้ถุงพลาสติกลดลงกว่า 50% ในปีแรก โดยนำเงินที่ได้ไปมอบให้กับ American Forest องค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ปลูกป่าเพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

นอกจากนี้ยังผลิตหลอดประหยัดไฟแบบขด (CFLs) ประหยัดพลังงานได้ร้อยละ 80 ของหลอดไส้แบบเก่า หลอด CFLs ได้ถูกพัฒนาให้แสงสว่างนุ่มนวลขึ้น ทำให้ราคาแพงกว่าหลอดไส้แบบเก่าเล็กน้อย แต่มีชั่วโมงการใช้งานนานกว่า 10 เท่า ทำให้ลดค่าใช้จ่ายและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตามหลอดไฟ CFLs บรรจุสารปรอทอยู่ภายใน ร้าน IKEA มีถังสำหรับทิ้งหลอด CFLs แบตเตอรีและขยะอันตราย เพื่อส่งกำจัดต่อไป

บรรจุหีบห่อผลิตภัณฑ์ของอิเกีย

    

     ดังนั้นองค์กรธุรกิจสีเขียว (Green Business) คือ องค์กรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่าง การใช้วัสดุธรรมชาติ หรือการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อควบคุมไม่ให้เกิดของเสียหรือก่อมลพิษส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ประเด็นเหล่านี้ทำให้กลุ่มธุรกิจทั่วโลกใช้เรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นนโยบายหลักที่จะเลือกคู่ค้าธุรกิจ โดยผู้ประกอบการไทยอย่าง FLYNOW Group ที่ออกตัวผ่านสื่อนิตยสาร FN Society ฉบับปฐมฤกษ์ ว่าเป็นองค์กรแห่งความรับผิดชอบ ด้วยการนำนวัตกรรมที่ไม่เพียงตอบโจทย์ทางธุรกิจแต่เป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถตอบโจทย์ดูแลสิ่งแวดล้อม

โดยนำนวัตกรรมเส้นใยจากต้นไผ่ BAMBOO YARN ซึ่งเป็นที่นิยมในต่างประเทศเพราะไม่เพียงผลิตจากพืชที่ปราศจากสารเคมี แต่มีคุณสมบัติพิเศษซึ่งมีการพิสูจน์แล้วว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวสามารถช่วยแอนตี้แบคทีเรียและดูดซับแสงยูวีที่มาทำลายผิว รวมทั้งสามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ FLYNOW Group ได้นำเส้นใยดังกล่าวเข้ามาผลิตเป็นเสื้อโปโลที่จำหน่ายในร้าน FN Factory Outlet ทุกสาขา ทำให้แบรนด์ FLYNOW สร้างความแตกต่างกับแบรนด์ที่มีอยู่ในตลาด สามารถสร้างคุณค่าให้กับองค์กรและสังคมแท้จริงสอดคล้องกับแนวคิดดำเนินธุรกิจของกลุ่มที่ให้ความสำคัญกับผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย

     ดังนั้นองค์กรธุรกิจสีเขียว (Green Business) คือ องค์กรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่าง การใช้วัสดุธรรมชาติ หรือการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อควบคุมไม่ให้เกิดของเสียหรือก่อมลพิษส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ประเด็นเหล่านี้ทำให้กลุ่มธุรกิจทั่วโลกใช้เรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นนโยบายหลักที่จะเลือกคู่ค้าธุรกิจ โดยผู้ประกอบการไทยอย่าง FLYNOW Group ที่ออกตัวผ่านสื่อนิตยสาร FN Society ฉบับปฐมฤกษ์ ว่าเป็นองค์กรแห่งความรับผิดชอบ ด้วยการนำนวัตกรรมที่ไม่เพียงตอบโจทย์ทางธุรกิจแต่เป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถตอบโจทย์ดูแลสิ่งแวดล้อม

 โดยนำนวัตกรรมเส้นใยจากต้นไผ่ BAMBOO YARN ซึ่งเป็นที่นิยมในต่างประเทศเพราะไม่เพียงผลิตจากพืชที่ปราศจากสารเคมี แต่มีคุณสมบัติพิเศษซึ่งมีการพิสูจน์แล้วว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวสามารถช่วยแอนตี้แบคทีเรียและดูดซับแสงยูวีที่มาทำลายผิว รวมทั้งสามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ FLYNOW Group ได้นำเส้นใยดังกล่าวเข้ามาผลิตเป็นเสื้อโปโลที่จำหน่ายในร้าน FN Factory Outlet ทุกสาขา ทำให้แบรนด์ FLYNOW สร้างความแตกต่างกับแบรนด์ที่มีอยู่ในตลาด สามารถสร้างคุณค่าให้กับองค์กรและสังคมแท้จริงสอดคล้องกับแนวคิดดำเนินธุรกิจของกลุ่มที่ให้ความสำคัญกับผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย

 

 

     ด้วยความตื่นตัวด้านสิ่งแวดล้อมที่ใช้เป็นกลยุทธ์ส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีให้กับแบรนด์ทั้งในด้านสังคม และธรรมาภิบาลอย่างแท้จริง แสดงถึงเป้าหมายสูงสุดไม่ใช่ผลกำไรทางการค้า แต่เป็นภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กรและแบรนด์สินค้าในรูปแบบองค์กรธุรกิจสีเขียวที่ติดตราตรึงใจผู้บริโภคยุคใหม่ให้หันมาใส่ใจสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

องค์กรหลายแห่งพยายามผนวกแนวคิดสีเขียวเพื่อใช้ในกระบวนห่วงโซ่คุณค่าอย่าง การออกแบบสีเขียว (Green Design), การจัดซื้อสีเขียว (Green Purchasing), การตลาดสีเขียว (Green Marketing) รวมถึงการนำขยะหรือของเสียกลับมาใช้ใหม่ด้วยการแปรสภาพให้กลายเป็นวัตถุดิบสอดคล้องตามแนวคิดวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ที่ให้ความสำคัญตั้งแต่การออกแบบจนกระทั่งหมดอายุการใช้งานหรือเรียกว่านิเวศวิทยาอุตสาหกรรม (Industrial Ecology) เช่น การใช้วัสดุที่เป็นพิษหรือวัสดุที่ใช้พลังงานแปรรูปน้อยที่สุด การใช้วัสดุที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่และไม่เป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อม

เช่นเดียวกับกลุ่มปูนซิเมนต์ไทยหรือเอสซีจี องค์กรที่ได้รับการยกย่องในฐานะองค์กรแห่งนวัตกรรมและแบบอย่างการพัฒนาอย่างยั่งยืนภายใต้คุณภาพบริหารงานระดับโลกสอดคล้องกับหลักบรรษัทภิบาล โดยมุ่งเป็นผู้นำตลาดภูมิภาคที่ดำเนินธุรกิจควบคู่กับการเสริมสร้างความเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืนให้แก่อาเซียนและชุมชนที่เข้าไปดำเนินงาน เอสซีจียึดหลักดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยเปิดตัวฉลาก SCG Eco Value เป็นกลยุทธ์หลักในการรับรองว่านวัตกรรมของสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กระทั่งประสบความสำเร็จกลายเป็นหนึ่งธุรกิจต้นแบบของไทย

โดยเอสซีจีเน้นแผนพัฒนากลยุทธ์ผลิตภัณฑ์ภายใต้แนวคิด SCG Eco Value หรือผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่เกิดพิษภัยจากการใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ถือเป็นกลยุทธ์หลักสร้างมูลค่าเพิ่มที่นำสู่ความสามารถทางการแข่งขัน ผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้ เป็นที่รู้จักกันในนาม High Value Added Products and Services ที่เน้นสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์บริการใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง โดยมีจุดเด่นไม่เพียงแต่การใช้ประโยชน์ที่แตกต่าง แต่ยังเน้นสอดรับกับแนวโน้มความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย ซึ่งเป็นการยกระดับความรับผิดชอบภายในกระบวนการธุรกิจ (CSR in Process) สู่การสร้างนวัตกรรมใหม่

 

 

ความสัมพันธ์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

     โดยเอสซีจีเป็นบริษัทไทยรายแรกที่ออกฉลากรับรองผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสินค้าหรือบริการที่สามารถใช้ฉลาก SCG Eco Value ได้ จะต้องผลิตจากกระบวนการพิเศษซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด โดยอ้างอิงตามมาตรฐาน ISO 14021 และต้องผ่านการพิจารณารับรองจากคณะกรรมการของเอสซีจี SCG Eco Value เกิดขึ้นจากการที่เอสซีจีดำเนินธุรกิจตามแนวทางพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ที่ผ่านมาเอสซีจีได้บริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังทั้งกระบวนการผลิตสินค้า การให้บริการ รวมถึงการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ หลักเกณฑ์กำหนดมาตรฐาน SCG Eco Value แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ


1. ผลิตภัณฑ์ที่มีการออกแบบ หรือมีกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Eco Process) โดยมุ่งออกแบบให้สามารถแยกประกอบใหม่ได้ (Designed for Disassembly) การใช้ทรัพยากรลดลง (Reduced Resource Use) สามารถนำพลังงานกลับมาใช้ใหม่ (Recovered Energy) และลดของเสีย (Waste Reduction)

2. ผลิตภัณฑ์ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยหรือไม่มีผลกระทบจากการใช้งาน (Eco Use) เพื่อให้มีอายุการใช้งานนานขึ้น (Extended Life Product) และออกแบบตามหลักการยศาสตร์ (Ergonomic Product) โดยใช้พลังงานลดลง สามารถนำมาใช้ซ้ำหรือบรรจุใหม่ได้ (Reusable & Refillable) และความสามารถย่อยสลาย

3. ผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาเวียนกลับใช้ใหม่ได้ หลังจากสิ้นอายุผลิตภัณฑ์ หรือมีส่วนประกอบของวัสดุที่เวียนกลับมาใช้ใหม่ (Eco Recycle)

 

 
แนวคิดการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน สินค้าที่นำออกสู่ตลาดเพื่อตอบสนองผู้บริโภคที่ใส่ใจดูแลสิ่งแวดล้อมช่วยลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ เช่น กระดาษ Idea Green ลดการใช้ต้นไม้ 30% โดยใช้เยื่อ EcoFiber ที่ได้จากเศษวัสดุเหลือทิ้งจากผลิตผลทางเกษตรหรือ Green Series ที่ไม่ได้ใช้เยื่อจากไม้ใหม่ สินค้าวัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไม้สมาร์ทวูด

แผ่นผนังและฝ้าสมาร์ทบอร์ด คือ ผลิตภัณฑ์ไฟเบอร์ซีเมนต์ที่ใช้เยื่อเซลลูโลสและปราศจากแอสเบสตอสในกระบวนการผลิต นับเป็นตัวอย่างการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ผ่านนวัตกรรมที่สร้างความแตกต่างและเพิ่มคุณค่าที่เป็นจุดขาย ฉลาก “SCG Eco Value” จัดทำขึ้นเพื่อรับรองว่าสินค้าและบริการที่ติดฉลากนี้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้เพี่อเป็นการสร้างคุณค่าให้แก่ผู้บริโภคหรือผู้ใช้บริการ โดยคำนึงถึงการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไป 

ส่วนในต่างประเทศมีการออกฉลากรับรองผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมโดยองค์กรหรือสถาบันระดับประเทศ เช่น กลุ่มประเทศ EU มีสัญลักษณ์ EU Flower สหรัฐอเมริกามีสัญลักษณ์ Green Seal และญี่ปุ่นมีสัญลักษณ์ Eco Mark ส่วนประเทศไทยมีฉลากเขียว บริษัทผู้ผลิตชั้นนำระดับโลกยังกำหนดมาตรฐานรับรองสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยตนเองเช่นกัน

เอสซีจี ถือเป็นบริษัทไทยรายแรกที่ออกฉลากรับรองผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีคณะกรรรมการเฉพาะด้าน SCG Eco Value พิจารณาให้การรับรองเพื่อออกสลากผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่วนบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การให้บริการจัดส่งสินค้าของเอสซีจี โลจิสติกส์ ด้วยการใช้พาหนะที่มีอัตราการบริโภคน้ำมันน้อย ลดการขนส่งเที่ยวเปล่าและการรวมเที่ยวส่งสินค้าเพื่อช่วยลดการใช้พลังงาน รวมทั้งลดมลภาวะและปลูกฝังให้พนักงานใหม่ทุกคนมีจิตสำนึก คือ ตั้งมั่นในความเป็นธรรม เชื่อมั่นในคุณค่าสังคม มุ่งมั่นในความเป็นธรรมและความรับผิดชอบต่อสังคม

 

 

ตัวอย่างสินค้า SCG Eco Value


          สำหรับบริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าใช้กลยุทธ์ CSR ผ่านการจัดกิจกรรมเพื่อสังคมและแนวคิดนวัตกรรมสีเขียวเพื่อโลกสีขาว (Green Innovation for White World) ตามกระแสตื่นตัวทั่วโลกที่คำนึงถึงการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม นอกเหนือจากการมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีในตัวสินค้าให้มีความทันสมัยและคุณภาพในการใช้งาน

กิจกรรม CSR ที่กำลังทำอยู่ตอนนี้ คือ การปลูกป่าให้ครบ 150 ล้านต้นภายในปี 2553 เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมรักษาสมดุลธรรมชาติไว้ให้คงอยู่ การประกวดศิลปกรรมนำสิ่งที่ดีสู่ชีวิต โทรทัศน์ทางไกลเพื่อการศึกษาร่วมกับพระราชวังไกลกังวลและกิจกรรมเพื่อเด็ก ปัจจุบันโตชิบาใช้งบกว่า 400 ล้านบาท เพื่อทยอยปรับสายการผลิตสินค้าใหม่ โดยใช้วัตถุดิบที่ไม่ทำลายธรรมชาติและสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ภายใต้แคมเปญ "นวัตกรรมสีเขียวเพื่อโลกสีขาว"

โดยผลิตภัณฑ์ของโตชิบาจะยึดหลัก 3R คือ Reduce, Reuse และ Recycle เพื่อนำไปแปรสภาพกลับมาใช้ได้อีก ตัวอย่างสินค้าสีเขียวของโตชิบา เช่น ตู้เย็นรุ่นลลิมเลดี้มีการพัฒนาฉนวนกันความร้อนพิเศษที่บางลงทำให้มีการใช้วัสดุพื้นผิวตู้เย็นลดลงเมื่อถูกทิ้งก็จะก่อขยะในปริมาณน้อยกว่าตู้เย็นทั่วไป ขณะเดียวกันยังคงมาตรฐานประหยัดไฟเบอร์ 5 ช่วยให้ผู้บริโภคประหยัดค่าไฟ หรืออย่างแอลซีดีทีวี Regza ได้มีการพัฒนาให้เบาลง 30% นอกจากจะลดวัสดุที่ใช้ผลิตแล้ว ยังสามารถลดวัสดุที่ใช้ทำบรรจุภัณฑ์และกินไฟลดลง 30%

ขณะที่เครื่องซักผ้ามีฟังก์ชัน Zero Standby Power สามารถตัดระบบไฟฟ้าออกจากวงจร เพื่อให้เกิดการประหยัดพลังงานไฟฟ้า ขณะที่เสียบปลั๊กเครื่องซักผ้าทิ้งไว้โดยเครื่องไม่ทำงาน หากเป็นเครื่องซักผ้าธรรมดาเมื่อไม่ใช้งานแต่เสียบปลั๊กไว้จะกินไฟและอาจเกิดความร้อนให้อุปกรณ์เสียหายได้

           ส่วนพานาโซนิค เป็นอีกค่ายที่ใช้แนวคิด อีโค ไอเดียส์ (Eco Ideas) โดยเฉพาะการขยายฐานตลาดหลอดประหยัดไฟด้วยการสร้างประสบการณ์ให้ผู้บริโภคได้ทดลองใช้สินค้า โดยแจกหลอดประหยัดไฟ อีโค เฟรนด์ลี่ (Eco Friendly) กว่า 2,000 หลอด พานาโซนิคยังมีผลิตภัณฑ์ลดโลกร้อน เช่น การพัฒนาพลาสม่าทีวีให้มีความร้อนที่หน้าจอลดน้อยลง นอกจากลดการใช้พลังงานไฟฟ้าของหน้าจอแล้วยังช่วยให้อุณหภูมิห้องไม่สูงจนกระทบต่อการทำงานของเครื่องปรับอากาศ

 รวมถึงกระบวนการผลิตหน้าจอที่ไม่มีการใช้สารตะกั่วและปรอทที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม, กล้องวิดีโอดิจิตอลมีสายชาร์จแบตเตอรี่ปราศจากพีวีซี,โทรศัพท์ไร้สายที่ไม่มีสารเคมีต้องห้ามเป็นส่วนผสม อาทิ ปรอท ตะกั่ว แคดเมียม โปรมีน  เป็นต้น สินค้าประเภทเครื่องปรับอากาศและตู้เย็นระบบอินเวอร์เตอร์มีระบบประหยัดไฟ รวมทั้งเครื่องซักผ้าถังเอียงก็ช่วยประหยัดน้ำที่ใช้ซักผ้า  

ผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม ทางด้านผู้ผลิต รองเท้า เสื้อผ้า และอุปกรณ์กีฬาระดับโลกอย่างไนกี้ (Nike) ได้มุ่งออกแบบสินค้าใหม่ภายใต้แนวคิดใหม่ที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจนได้รับการจัดอันดับที่ 13 ด้านความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมจากนิตยสาร Business Ethics ปี 2006 ดังตัวอย่างการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมในศึกฟุตบอลโลก 2010 ที่ประเทศแอฟริกาใต้ คือ ชุดเสื้อผ้านักกีฬาโพลีเอสเตอร์รีไซเคิล 100% ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุดในประวัติศาสตร์วงการฟุตบอล

โดยทำจากขวดพลาสติกทั้งสิ้น 13 ล้านขวด เสื้อแต่ละตัวใช้ขวดพลาสติกรีไซเคิล 8 ขวดในการผลิต เก็บรวมรวมขวดพลาสติกจากที่ทิ้งขยะในญี่ปุ่นและไต้หวัน จากนั้นนำมาละลายทำเป็นเส้นด้ายใหม่เพื่อนำมาทอเป็นเสื้อ

กระบวนการดังกล่าวช่วยประหยัดวัตถุดิบ รวมทั้งลดการใช้พลังงาน 30% เมื่อเทียบกับการผลิตโพลีเอสเตอร์บริสุทธิ์ และลดจำนวนขยะขวด พลาสติก 13 ล้านขวดหรือคิดเป็นขยะโพลีเอสเตอร์จำนวน 254,000 กิโลกรัม ทีมชาติที่จะสวมใส่ชุดฟุตบอลใหม่ของไนกี้ลงแข่งขันฟุตบอลโลก 2010 ประกอบด้วย บราซิล เนเธอร์แลนด์ โปรตุเกส สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เซอร์เบีย และสโลเวเนีย

 โดยไนกี้ เริ่มต้นด้วยการผสานหลักการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแบบยั่งยืนในกระบวนการผลิต ทีมงานผลิตภัณฑ์ประกอบด้วย นักออกแบบ นักเคมี ชีววิทยา และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านสิ่งทอ ทั้งยังผลักดันให้พนักงานใช้พลังงานไฟฟ้าและสารเคมีในผลิตภัณฑ์รองเท้าลดลงและไม่ใช้กาว สารยึดติด พลาสติก เพื่อนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมใหม่ คือ การเย็บรองเท้าแบบเฉพาะ โดยใช้ฝ้ายออร์แกนิก

ไนกี้พยายามเลือกใช้วัสดุที่ไม่เป็นสารเคมีและสามารถหมุนเวียนนำกลับมาใช้ใหม่และเกิดขยะขึ้นน้อยที่สุด  ตัวอย่างสินค้าตามแนวคิดไนกี้ คอนซิเดอร์ด (Nike Considered) อาทิ Considered Boot เปิดตัวในปี 2005 ทำเชือกรองเท้าและตัวรองเท้าด้วยใยกัญชง Soaker Water Shoe ในปี 2007 ใช้สารยึดติดเพียงเล็กน้อย ยางรีไซเคิลด้านข้างรองเท้าและทำเชือกรองเท้าด้วยโพลีเอสเตอร์รีไซเคิล Nike “Long Ball” ไม่ใช้กาวและสารเคมีในเชือกรองเท้าและใช้ไม้ก๊อกแทนยาง ทำให้ Long Ball เป็นรองเท้ากีฬาที่สามารถย่อยสลาย (Biodegradable) และนำมารีไซเคิลทั้งหมด 100% ปี 2007

ไนกี้ คอนซิเดอร์ดได้ขยายแนวคิดผลิตรองเท้าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสู่อุปกรณ์กีฬาและเสื้อผ้า รวมถึงการปลูกฝังแนวคิดคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมให้แก่บริษัทในเครือซึ่งอยู่ภายใต้แบรนด์ไนกี้เพื่อสร้างความยั่งยืนแก่ผลิตภัณฑ์ไนกี้ แสดงถึงความมุ่งมั่นทำสิ่งดีที่สุดให้กับสิ่งแวดล้อมและนักกีฬา

ขณะที่กลยุทธ์สร้างความยั่งยืนให้ธุรกิจเหล่านี้ดำเนินไปกับคู่ค้าและร้านค้าปลีกของไนกี้ต่างคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ไนกี้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นเป็น 84% ภายในปี 2011 และพัฒนายางตัวใหม่เพื่อสิ่งแวดล้อมที่มุ่งลดสารพิษได้ 96% ทำให้ลดสารพิษในผลิตภัณฑ์ได้ 3,000 ตัน รวมถึงการใช้โพลีเอสเตอร์รีไซเคิลที่ทำจากขวดพลาสติกใช้แล้ว

ไนกี้ยังคงรักษาฐานะผู้นำด้านความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม โดยใช้ผ้าฝ้ายที่ปลูกแบบออร์แกนิกเพื่อการผลิตทำผลิตสินค้ากว่า 50% ถือเป็นบริษัทผู้ซื้อฝ้ายออร์แกนิกรายใหญ่ระดับโลก นอกจากนี้ ไนกี้ ได้พยายามรับซื้อวัตถุดิบจากแหล่งที่อยู่ไม่ไกลจากโรงงานผลิตไม่เกิน 200 ไมล์ เพื่อลดการใช้พลังงานในการขนส่งทางไกล รวมทั้งให้โรงฟอกหนังจัดการเรื่องสารพิษในน้ำเสียและใช้สีย้อมจากพืชธรรมชาติให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด ไนกี้ประกาศไว้ว่าปี 2011 ทำให้ปริมาณขยะและของเสียบริษัทลดลง 17% จากปี 2007

 

 
 
ผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมของไนกี้

          
สรุป       
  

ความเชื่อมั่นของลูกค้าต่อองค์กรธุรกิจจะเกิดขึ้นเมื่อผู้บริหารองค์กรมีวิสัยทัศน์กว้างไกลและดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ดังนั้นการพัฒนาธุรกิจที่คำนึงถึงผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ การรักษาสิ่งแวดล้อม การคืนกำไรให้สังคมและพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนเป็นปัจจัยนำพาให้องค์กรธุรกิจสามารถเผชิญกับความท้าทายการแข่งขันของธุรกิจอย่างมั่นคง 


เอกสารอ้างอิง
1. Joel Makower, Strategies for the Green Economy: Opportunities and Challenges in the New World of Business, McGraw-Hill, 2009.
2. โกศล ดีศีลธรรม, โลจิสติกส์และห่วงโซ่อุปทานสำหรับการแข่งขันยุคใหม่, สำนักพิมพ์ฐานบุ๊คส์, 2551.
3. โกศล ดีศีลธรรม, องค์กรทำดีเพื่อสังคม, สำนักพิมพ์ MGR 360?, 2554.
4. เครือซีเมนต์ไทย, รายงานการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SCG), 2552.
5. บมจ. โทเทิล แอ็คเซส คอมมูนิเคชัน, เศรษฐกิจพอเพียงหมายถึงอะไร, สถาบันไทยพัฒน์, 2553.
6. http://www.bangkokbiznews.com
7. http://www.brandage.com
8. http://www.businessthai.co.th
9. http://www.csrthailand.net
10. http://en.wikipedia.org/wiki/Nike_Considered
11. http://www.gotomanager.com/
12. http://www.green.in.th
13. http://news.thaieurope.net/
14. http://www.nikebiz.com/responsibility/nikeenvironmentaldesigntool
15. http://www.nikereuseashoe.com
16. http://www.nstda.or.th/nstda-knowledge/3067-scg-eco-value
17. https://mitsloan.mit.edu/MSTIR/sustainability/NikeConsidered/Pages/default.aspx
18. http://www.prachachat.net
19. http://www.siamcement.com/
20. http://www.wiseknow.com/blog/category/corporate-social-responsibility/#axzz1NYhm50ZB

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด