เนื้อหาวันที่ : 2013-04-23 10:28:02 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3083 views

ไทยเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราเพิ่มมูลค่าการส่งออกอย่างยั่งยืน

อุตสาหกรรมยางพารา เป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวพันกับวิถีชีวิตของคนไทยมายาวนาน มีบทบาทสำคัญต่อเกษตรกรชาวสวนยางกว่า 1 ล้านครอบครัว มีพื้นที่เพาะปลูกทั้งสิ้นกว่า 16.89 ล้านไร่ และยังถือว่ายางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ และทุกส่วนของต้นยางพารา สามารถนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์ยางชนิดต่าง ๆ จำนวนมากที่เกี่ยวข้องและจำเป็นกับชีวิตประจำวัน เช่น ยางรถยนต์ อุปกรณ์ที่ใช้ทางการแพทย์ อุปกรณ์ที่ใช้ในงานก่อสร้าง ฯลฯ

 ไทยเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราเพิ่มมูลค่าการส่งออกอย่างยั่งยืน
สำนักงานอุตสาหกรรมกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย
    
   

        อุตสาหกรรมยางพารา เป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวพันกับวิถีชีวิตของคนไทยมายาวนาน มีบทบาทสำคัญต่อเกษตรกรชาวสวนยางกว่า 1 ล้านครอบครัว มีพื้นที่เพาะปลูกทั้งสิ้นกว่า 16.89 ล้านไร่ และยังถือว่ายางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ และทุกส่วนของต้นยางพารา สามารถนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์ยางชนิดต่าง ๆ จำนวนมากที่เกี่ยวข้องและจำเป็นกับชีวิตประจำวัน เช่น ยางรถยนต์ อุปกรณ์ที่ใช้ทางการแพทย์ อุปกรณ์ที่ใช้ในงานก่อสร้าง ฯลฯ
    

              ดร.วิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงการสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพการผลิตยางพาราของไทยว่า ปัจจุบันแม้ไทยจะเป็นประเทศผู้ผลิตยางพาราเป็นอันดับ 1 ของโลก โดยมีปริมาณการผลิตถึง 3.25 ล้านตัน แต่ส่วนใหญ่ยังคงส่งออกในรูปของยางแปรรูปขั้นต้น อาทิ น้ำยางดิบ และยางแผ่นรมควันเท่านั้น ซึ่งหากเพิ่มการใช้ยางธรรมชาติมาผลิตเป็นนผลิตภัณฑ์ยางขั้นกลางและขั้นปลายมากขึ้น จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มและรายได้ให้กับประเทศเป็นจำนวนมาก  
     

ดร.วิฑูรย์ สิมะโชคดี
ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม

   
   
        “กรณีการส่งออกยางรถยนต์ หากเปรียบเทียบกับมูลค่าการส่งออกวัตถุดิบยาง จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ 10 เท่า หรือการส่งออกในรูปแบบของสายยางยืดจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ถึง 20 เท่า เป็นต้น ขณะที่ความต้องการยางในตลาดโลกทั้งที่เกี่ยวกับธุรกิจการแพทย์ อุตสาหกรรมรถยนต์ อุตสาหกรรมอาหาร และบริการ ล้วนมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้เป็นโอกาสของอุตสาหกรรมยางของไทย โดยอาศัยความได้เปรียบในฐานะประเทศผู้ผลิตวัตถุดิบ”
    

      ส่วนความคืบหน้าในการจัดตั้งสถาบันพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพารา ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า “ขณะนี้ ทางกระทรวงฯ เตรียมเสนอของบประมาณเบื้องต้น 10 ล้านบาท เพื่อดำเนินการจัดตั้งสถาบันฯ เพื่อใช้เป็นกลไกในการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางของไทย ให้เกิดประสิทธิผลอย่างเป็นรูปธรรม แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ ต้องการเพิ่มมูลค่าให้กับยางพาราอย่าง ‘ครบวงจร’ ตั้งแต่วิธีการกรีดยาง ไปจนถึงส่วนที่เกี่ยวข้องกับโรงงานอุตสาหกรรม และกระบวนการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางสำเร็จรูป
    

        สถาบันพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพารา ถือเป็นอีกความพยายามหนึ่งของกระทรวงอุตสาหกรรมที่ต้องการเห็นประเทศไทยในฐานะผู้ผลิตและส่งออกยางพาราที่ใหญ่ที่สุดของโลก สามารถเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ยางและเป็นผู้กำหนดราคายางในตลาดโลกได้เอง แต่เรื่องดังกล่าวต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ โดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสถาบันยางทั้งภาครัฐ สถาบันการศึกษา และภาคเอกชน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและสร้างมูลค่าเพิ่มอย่างครบวงจรต่อไป
      
         การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมยางนั้น มีด้วยกัน 2 ส่วน ส่วนแรก คือ การให้ความสำคัญกับทักษะฝีมือแรงงาน อีกส่วนคือ การนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เช่น โครงการพัฒนาเตาอบยางแผ่นรมควันแบบประหยัดพลังงาน และรักษาสิ่งแวดล้อม ถือเป็นอีกโครงการหนึ่งที่กระทรวงอุตสาหกรรมให้การสนับสนุน เพื่อจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ยางแผ่นรมควันได้มากขึ้น โดย
    

                                     โครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือกับโครงการ iTAP สังกัดสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร  
    

              เบื้องต้นได้ดำเนินการนำร่องในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย (สุราษฏร์ธานี,ชุมพร,นครศรีธรรมราช และพัทลุง) ตั้งแต่ปี 2551 ต่อมาในปีงบประมาณ 2553-2555 กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ได้ให้การสนับสนุนงบประมาณอีกกว่า 11 ล้านบาท เพื่อดำเนินการขยายผลในการสร้างเตาอบยางแผ่นรมควันแบบประหยัดพลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อม จำนวน 32 เตา ภายในระยะเวลา 3 ปี 

 ซึ่งผลการดำเนินงานที่ผ่านมา เตาที่พัฒนาขึ้นใหม่นี้สามารถลดต้นทุนไม้ฟืนลงได้มากกว่า 40%, ระยะเวลาในการอบยางสั้นลงจาก 4 วันเหลือ 3 วัน, ปริมาณยางเสียลดลง 100% ที่สำคัญ ยังรักษาสิ่งแวดล้อม โดยสามารถดึงควันกลับเข้าไปใช้ได้อีก ทำให้ยางมีคุณภาพ ส่งผลต่อรายได้ของเกษตรกรเพิ่มขึ้น
    

          ดังนั้น ในการดำเนินงานของสถาบันพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพาราเบื้องต้น คือ โครงการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ตั้งแต่การจัดฝึกอบรม เพื่อพัฒนาด้านทักษะเกี่ยวกับยางและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง โดยการฝึกอบรมในช่วงเริ่มต้นจะเน้นให้ความรู้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการได้ปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น โดยการเข้าไปให้ความรู้ในเรื่องของการพัฒนาเตาอบยางแผ่นรมควันฯ เป็นอันดับต้น ๆ
    

                ในส่วนของการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ยางนั้น ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า “ขณะนี้กระทรวงฯเตรียมดึงผู้ประกอบการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางจากต่างประเทศ เข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทย โดยทางคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ กำลังดำเนินการอยู่ แต่ทั้งนี้เชื่อว่า นโยบายของรัฐบาลเกี่ยวกับการปรับเพิ่มอัตราค่าแรงงานขั้นต่ำเป็น 300 บาทนั้น จะไม่เป็นอุปสรรคต่อการเข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตผลิตภัณฑ์ยางสำเร็จรูปในประเทศ เพราะไทยมีพื้นที่เพาะปลูกยางพาราอยู่เกือบทุกภาค จึงไม่มีปัญหาเรื่องของวัตถุดิบที่จะป้อนให้กับโรงงาน”
    

 

                     ดร.วิฑูรย์ ยอมรับว่า ต่อไปไทยคงไม่สามารถยึดแรงงานราคาถูกมาเป็นข้อได้เปรียบในการแข่งขัน แต่การปรับควรพิจารณาในเชิงพื้นที่และคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ฉะนั้น หากแรงงานมีทักษะการทำงานที่มีประสิทธิภาพก็จะส่งผลให้การผลิตมีคุณภาพเพิ่มขึ้น เรื่องของค่าแรงงานที่เพิ่มขึ้นจึงไม่น่ามีปัญหา ดังนั้น ทางกระทรวงฯ จะต้องเน้นเรื่องกิจกรรมการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มทักษะให้กับแรงงานมากขึ้น ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้จะดำเนินการภายใต้สถาบันการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพาราเป็นหลัก
    

                   “ทุกวันนี้ ประเทศอื่นมีการพัฒนากันไปมาก ประเทศไทยเองต้องเร่งปรับตัวและพัฒนากระบวนการผลิตจากวิธีการเดิม ๆ โดยเฉพาะการให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการผลิต เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างครบวงจร สิ่งเหล่านี้ถือเป็นหัวใจที่ผู้ประกอบการไทยต้องให้ความสำคัญ เพื่อก้าวสู่ระดับสากลต่อไป” ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวทิ้งท้าย

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด