ธีรศักดิ์ ศรีมิตรรุ่งโรจน์ theerasaks@kmutnb.ac.th ภาควิชาวิศวกรรมขนถ่ายวัสดุ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
ชุดตัวเรือนสกรูลำเลียงวัสดุปริมาณมวล (ตอนจบ)
ธีรศักดิ์ ศรีมิตรรุ่งโรจน์
ภาควิชาวิศวกรรมขนถ่ายวัสดุ คณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
3. ปลายรางลำเลียง (Trough Ends)
3.1 ปลายรางลำเลียงแบบ 100 และแบบ 101 นี่คือปลายรางลำเลียงที่สร้างมาจากเหล็กกล้า ซึ่งโดยทั่วไปติดด้วยแบริ่งหน้าแปลนส่งกำลังแบบแบ็บบิต (Babbitted Transmission Flange Bearing) แม้ว่าวัสดุชนิดอื่น ๆ สามารถนำมาใช้ทำแบริ่งได้เช่น ทองแดง, Bronze Oilite, Arguto และไนลอน เป็นต้น (สำหรับปลายรางลำเลียงที่ติดบอลแบริ่งต้านทานการสึกหรอ จะเป็นแบบ 102 และ 103) แบริ่งแบ็บบิตที่สามารถถอดเปลี่ยนและในแต่ละประเภทปีกส่วนบนทำหน้าที่รองรับฝาปิดของเครื่องลำเลียง ปีกส่วนท้องของปลายรางลำเลียงแบบ 101 เป็นส่วนรับน้ำหนักของเครื่องขนถ่ายเมื่อใช้ปลายรางลำเลียงแบบ 100 ต้องทำการรับน้ำหนักของเครื่องขนถ่ายจากด้านบนหรือจากฐานรองรับบนหน้าแปลนส่วนปลายของเครื่องขนถ่าย
รูปที่ 36 ปลายรางลำเลียง แบบ 100 และแบบ 101
3.2 ปลายรางลำเลียงแบบต้านทานการสึกหรอแบบ 102 และแบบ 103 ปลายรางถูกติดตั้งด้วยบอลแบริ่งที่สามารถปรับแนวระดับของตัวมันเองซึ่งสามารถรองรับการเปลี่ยนองศาของเพลาแบบต่าง ๆ ได้ นอกจากนั้น สำหรับการใช้งานที่ค่อนข้างเบามาก ไม่แนะนำให้ใช้ส่วนประกอบนี้กับเพลาขับ โดยทั่วไปแล้ว กันรุนที่ปลายแบบ Chevron หรือตัวรองรับแบริ่งแข็งอื่น ๆ ถูกแนะนำให้ใช้กับเพลาขับบอลแบริ่งถูกติดตั้งเข้ากับแผ่นปลายของเครื่องขนถ่ายด้วยสตัด (Stud สลักเกลียว) การใช้สตัดเพื่อติดแบริ่งนั้นช่วยขจัดปัญหาหัวนอตที่โผล่ออกภายในรางลำเลียงและขจัดความเป็นไปได้ในการเล็ดลอดหรือการเกาะติดของวัสดุ
รูปที่ 37 ปลายรางลำเลียงแบบต้านทานการสึกหรอ แบบ102 และ แบบ103
3.3 ปลายรางลำเลียงแบบ 104 และแบบ 107 ปลายรางลำเลียงแบบปล่อยถูกออกแบบให้ใช้งานเมื่อต้องการปล่อยให้วัสดุไหลออกที่ปลายของรางลำเลียงและเมื่อบรรทุกวัสดุไม่เกินกว่า 45 เปอร์เซ็นต์ ปลายรางลำเลียงแบบ 104 ถูกติดตั้งด้วยบอลแบริ่งที่สามารถปรับตัวมันเองให้ขนานไปกับเพลาได้ ปลายรางลำเลียงแบบ 107 เป็นแบบที่ใช้งานกันซึ่งถูกติดตั้งด้วยบอลแบริ่งหน้าแปลนแบ็บบิตและมีความคลายคลึงกับปลายรางลำเลียงแบบ 100 และ 101 เว้นแต่แบบ 100 และ 101 ถูกติดตั้งด้วยหน้าแปลนรูยึด (Bolt Flange) สองหรือสามรูซึ่งขึ้นอยู่กับขนาดของรูยึด ปลายรางลำเลียงแบบ 104 ซึ่งมีรูยึดขนาด 1.2 หรือ 2 นิ้วคือแบบที่มีหน้าแปลนรูยึดสองรู และขนาดอื่น ๆ คือแบบที่มีหน้าแปลนรูยึดสามรู
รูปที่ 38 ปลายรางลำเลียงแบบ 104 และแบบ 107
3.4 ปลายรางลำเลียงแบบขยายแบบ 114 และแบบ 115 ปลายรางลำเลียงแบบขยายจะประกอบด้วยปีกส่วนบนซึ่งทำหน้าที่รองรับฝาปิดและปีกส่วนท้องทำหน้าที่เป็นฐานรองรับน้ำหนัก
รูปที่ 39 ปลายรางลำเลียงแบบขยายแบบ 114 และ 115
3.5 ปลายรางลำเลียงแบบหิ้ง (Shelf Type Trough End) ปลายรางลำเลียงแบบหิ้งมีโครงสร้างเป็นแผ่นเหล็กกล้าซึ่งมีฐานวางแบริ่งติดอยู่ที่ส่วนปลายสำหรับทำการติดตั้งแท่นรองแบริ่งแบ็บบิต, บอลแบริ่ง แบริ่งทองเหลืองหรือแบริ่งโรลเลอร์ ซีลคอเพลา (Seal Gland) ซึ่งปิดช่องเพลา ทำหน้าที่ปกป้องแบริ่งและป้องกันฝุ่นที่มาจากวัสดุ สำหรับการทำงานในสภาวะที่รุนแรงสูงมาก ๆ สามารถใช้ซีลแบบปั้ม (Pump Type Seal) ได้ สามารถเปลี่ยนปลายรางลำเลียงแบบหิ้งกับปลายรางลำเลียงแบบภายนอกอื่น ๆ ได้ และปลายรางลำเลียงแบบหิ้งสามารถนำไปใช้งานขนถ่ายวัสดุที่ร้อนหรือวัสดุที่ขัดสีได้
รูปที่ 40 ปลายรางลำเลียงแบบหิ้ง (Shelf Type Trough End)
3.6 ซีลป้องกันฝุ่นสำหรับปลายรางลำเลียง (Trough End Dust Seal) เสื้อปะเก็นอัด (Packing Seal Housing) ถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันแบริ่งที่ส่วนปลายของรางลำเลียงจากการรั่วออกของวัสดุและเพื่อป้องกันวัสดุที่กำลังทำการขนถ่ายจากน้ำมันหล่อลื่นแบริ่ง สามารถใช้ซีลแบบลิป (Lip-type Seal) หรือซีลอัดแบบสิ้นเปลือง (Waste Pack Seal) หรืออาจใช้ทั้งสองชนิดขั้นต้นร่วมกับปะเก็นอัดแบบสิ้นเปลือง (Waste Packing) เป็นปะเก็นชนิดมาตรฐานและสามารถใช้ปะเก็นชนิดอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้ได้ตามความต้องการจำเพาะของวัสดุ
รูปที่ 41 ซีลป้องกันฝุ่นสำหรับปลายรางลำเลียง (Trough End Dust Seal)
3.7 ซีลคอเพลาแบบแยกออก (Split Seal Gland) ใช้ปะเก็นแบบเกลียว (Twisted Packing) เพื่อป้องกันการรั่วออกของวัสดุที่กำลังทำการขนถ่ายและเพื่อป้องกันวัสดุที่กำลังขนถ่ายจากน้ำมันหล่อลื่น แบริ่งความชื้น หรือการปนเปื้อนจากฝุ่น โดยทั่วไป ซีลคอเพลาจะใช้กับปลายรางแบบหิ้งและจะถูกทำให้แยกออกจากกันเพื่อให้ง่ายต่อการประกอบและอัดปะเก็นอีกครั้ง
รูปที่ 42 ซีลคอเพลาแบบแยกออก (Split Seal Gland)
3.8 ซีลแบบปั้ม ถูกออกแบบให้ใช้งานในสภาวะที่เลวร้ายที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องการรักษาระดับความดันบวกหรือลบให้คงตัว นอกจากนี้ ซีลดังกล่าวนี้อาจใช้แหวนแลนเทิน (Lantern Ring) และข้อต่อปล่อยอากาศ (Air Purge Fitting) ซีลแบบปั้มสามารถใช้กับรางลำเลียงแบบหิ้งภายนอกได้เพียงอย่างเดียว
รูปที่ 43 ซีลแบบปั้ม
3.9 กันรุนที่ปลายแบบแบริ่งโรลเลอร์ Chevron พร้อมกับปลายรางลำเลียงแบบ 109 และ 110 กันรุนที่ปลายแบบโรลเลอร์ Chevron ถูกออกแบบมาเพื่อรับแรงกระทำในแนวแกนเพลา (Thrust Load) ปานกลางจนกระทั่งมาก และมีความสามารถรองรับแรงกระทำในแนวแกนและในแนวรัศมีเพลา (Radial) ที่เพียงพอสำหรับการใช้งานใด ๆ นอกจากนั้น กันรุนชนิดนี้ยังสามารถดูดซับแรงกระทำในทิศทางใดทิศทางหนึ่งได้ เมื่อเครื่องมือขนถ่ายแบบสกรูเริ่มทำงาน แรงกระทำเกิดขึ้นในทิศทางตรงกันข้ามกับการไหลของวัสดุถ้าไม่จำกัดแรงกระทำดังกล่าวนี้ แบริ่งของชุดแขวนปลายรางลำเลียงและใบสกรูจะสึกหรอในอัตราที่สูงมาก กันรุนที่ปลายแบบโรลเลอร์ Chveron สามารถติดตั้งกับเพลาขับหรือเพลาส่วนปลายได้ และมีข้อแนะนำว่าควรขับเครื่องขนถ่ายแบบสกรูด้วยกันรุนชนิดนี้มากกว่าที่จะใช้กันรุนแบบบอลแบริ่ง (สามารถปรับตัวมันเองให้ขนานไปกับเพลาได้)
รูปที่ 44 กันรุนที่ปลายแบบแบริ่งโรลเลอร์พร้อมกับปลายรางลำเลียงแบบ 109 และ110
3.10 กันรุนที่ปลายแบบแบริ่งโรลเลอร์ Hammond พร้อมกับปลายรางลำเลียง กันรุนที่ปลายแบริ่งโรลเลอร์แบบเรียวที่ประกอบด้วยสองส่วน (Dual Tapered Roller Bearing End Thrust) นี้ ถูกออกแบบเพื่อรองรับแรงกระทำในแนวแกนและในแนวรัศมีเพลาที่สูงมาก ๆ แม้ว่าโดยปกติแล้ว แบริ่งกันรุนแบบแบริ่งโรลเลอร์ Hammond จะถูกติดตั้งอยู่กับปลายรางลำเลียงแบบแผ่นที่ทำจากเหล็กกล้า แต่ปลายรางลำเลียงจะไม่ถูกติดตั้งด้วยกันรุน นอกเหนือจากได้รับการสั่งทำพิเศษ
รูปที่ 45 กันรุนที่ปลายแบบแบริ่งโรลเลอร์ Hammond พร้อมกับปลายรางลำเลียง
3.11 กันรุนที่ปลายแบบประเกนทองเหลือง (Bronze Washer Type End Thrust)
3.11.1 แบบภายใน BW-1 ถูกติดตั้งไว้ภายในรางลำเลียงที่ปลายขาเข้าชิ้นส่วนที่มีราคาถูกชิ้นนี้ สามารถรองรับแรงอัดในแนวแกนเพลา (Compression Thrust Load) ปานกลางจนกระทั่งเบา มันประกอบด้วยปะเก็นทองเหลืองส่งกำลัง (Transmission Bronze Washer) ซึ่งขนานแต่ละข้างด้วยปะเก็นเหล็กกล้าที่ผ่านการตกแต่งด้วยเครื่องจักร
รูปที่ 46 แบบภายใน BW-1
3.11.2 แบบภายนอก BW-2 จะถูกติดตั้งไว้ที่ปลายขาออก (Discharge End) ของเครื่องมือขนถ่าย ชิ้นส่วนนี้สามารถรองรับแรงดึงในแนวแกนเพลา (Tension Thrust Load) ขนาดเบา ปะเก็นทองเหลืองส่งกำลังถูกติดตั้งอยู่ระหว่างตัวเชื่อม (Hub) แบริ่งปลายรางลำเลียงด้านหน้าและปะเก็น เหล็กกล้าที่ผ่านการตกแต่งด้วยเครื่องจักรด้วยแหวนกันรุนทรูอาร์ก (Tru-arc)
รูปที่ 47 แบบภายนอก BW-2
4. แคลมป์ฝาปิดรางลำเลียง (Trough Cover Clamp)
4.1 แคลมป์ฝาปิดสปริง (Spring Cover Clamp) โดยทั่วไปแคลมป์ฝาปิดสปริงเหล็กกล้าถูกใช้ในการยึดฝาปิดแบบเรียบหรือฝาปิดแบบหน้าแปลนครึ่งเดียวให้ติดกับรางลำเลียง สำหรับงานที่ต้องการการป้องกันฝุ่น แคลมป์ชนิดนี้ยังสามารถใช้กับฝาปิดที่มีปะเก็น (Gasketed Cover) โดยปกติแล้วแคลมป์ฝาปิดสปริงถูกวางที่ตำแหน่งห่างจากศูนย์กลาง 2 ฟุต 6 นิ้ว ถ้าปะเก็นมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 15 นิ้วหรือใกล้กว่าเพื่อความเหมาะสม
รูปที่ 48 แคลมป์ฝาปิดสปริง (Spring Cover Clamp)
4.2 แคลมป์ฝาปิดต่อเนื่อง (Continuous Cover Clamp) แคลมป์ฝาปิดต่อเนื่องคือแคลมป์สปริงที่แข็งแรงทนทาน (Heavy–gauge Spring Clamp) ซึ่งมีความยาว 5 ฟุต แคลมป์ชนิดนี้เหมาะสมอย่างมากสำหรับยึดฝาปิดแบบเรียบกับรางลำเลียง หรือสำหรับยึดรางลำเลียงท้องเปิดหรือรางลำเลียงที่มีการเปิดเร็ว (Quick-opening Trough) หรือส่วนที่เป็นโครง (Casing Section) แคลมป์แบบต่อเนื่องนี่สามารถทำจากเหล็กอบดำ (Black Iron) หรือเหล็กกล้าไร้สนิม โดยที่อาจมีหรือไม่มีหมุดล็อก (Locking Pin) ที่ส่วนปลาย
รูปที่ 49 แคลมป์ฝาปิดต่อเนื่อง (Continuous Cover Clamp)
4.3 แคลมป์ฝาปิดสกรู (Screw Cover Clamp) แคลมป์สกรูอาจนำไปประยุกต์ใช้กับฝาปิดราง ลำเลียงแบบเรียบหรือฝาปิดรางลำเลียงแบบพิเศษอื่น ๆ และโดยปกติแล้ว แคลมป์ฝาปิดสปริงถูกวางที่ตำแหน่งห่างจากศูนย์กลาง 30 นิ้ว ถ้าปะเก็นมีขนาดศูนย์กลาง 15 นิ้ว หรือไกลกว่าเพื่อความเหมาะสม นอกจากนั้น แคลมป์สกรูถูกใช้เพื่อยึดส่วนท้องของรางลำเลียงท้องเปิดอีกด้วย
รูปที่ 50 แคลมป์ฝาปิดสกรู (Screw Cover Clamp)
5. อานและฐานรองรับ (Supporting Feet and Saddles)
ฐานรองรับทำหน้าที่เป็นตัวปรับระดับและยึดรางลำเลียงกับพื้นหรือโครงสร้างที่ปรากฏอยู่ (Existing Structure) ที่บริเวณส่วนข้อต่อของรางลำเลียง (Trough Joint) ความสูงปลายของรางลำเลียงถูกรักษาให้มีระดับคงตัวได้อย่างแม่นยำและฐานรองรับสามารถอำนวยความสะดวกในการถอดปลายรางลำเลียงออกโดยปราศจากการรบกวนหน่วยขนถ่ายทั้งหมด อานรองรับถูกใช้เพื่อรองรับรางลำเลียงระหว่างส่วนของรางลำเลียงส่วนต่าง ๆ และถูกใช้เพื่อยึดรางให้ติดกับพื้นหรือโครงสร้างที่ปรากฏอยู่ ความสูงทั้งหมดจากพื้นเท่ากับความสูงของปลายรางลำเลียงบวกกับฐานรองรับ
รูปที่ 51 Supporting Feet
รูปที่ 52 Saddles
6. ท่อปล่อยภาระและประตู (Trough Discharge Spouts and Gates)
6.1 ท่อปล่อยภาระและประตูมีหน้าที่สำคัญดังนี้
6.1.1 ท่อปล่อยภาระและประตู ทำหน้าที่ปล่อยวัสดุออกจากรางลำเลียงและทำหน้าที่เชื่อมต่ออุปกรณ์เพื่อใช้ในการขนถ่ายวัสดุเข้าไว้ด้วยกัน ประตูทำหน้าที่ควบคุมท่อลำเลียงต่าง ๆ
6.1.2 ท่อลำเลียงและประตูทั้งหมดมีโครงสร้างเหล็กกล้าที่เชื่อมไว้ด้วยกันกับหน้าแปลนเชื่อมต่อโดยที่หน้าแปลนจะถูกเจาะรูที่มีระยะช่องไฟถูกต้องแม่นยำเพื่อให้สามารถถอดเปลี่ยนได้และง่ายต่อการประกอบ
6.1.3 ประตูเลื่อนซึ่งทำงานด้วยมือหรือระบบเฟืองทดอาจถูกติดตั้งไว้เพื่อใช้งานทุกประเภทในแนวขนานหรือแนวตั้งฉาก ประตูเฟืองทดอาจติดตั้งด้วยเฟืองโซ่และโซ่สำหรับการควบคุมด้วย รีโมตเพลาเฟืองอาจถูกขยายออกเพื่อให้เหมาะสมกับการทำงานในรูปแบบต่าง ๆ
6.1.4 ท่อปล่อยและประตูสามารถผลิตขึ้นจากเหล็กกล้าไรสนิมหรือโลหะที่ไม่มีเหล็กเป็นองค์ประกอบชนิดต่าง ๆ (Nonferrous Metals) สามารถออกแบบให้ท่อลำเลียงมีลักษณะพิเศษเพื่อใช้งานในสภาวะที่ไม่ปกติได้
6.2 ช่องเปิดของท่อปล่อยแบบปกติ (Plain Discharge Opening) ถูกตัดที่ส่วนท้องของรางลำเลียง ณ ที่ตำแหน่งที่ต้องการเพื่อให้เกิดการปล่อยวัสดุได้อย่างอิสระ พวกมันถูกใช้งานในการขนถ่ายวัสดุไปยังสถานที่เก็บ (Storage) แบบเปิดหรือแบบปิดหรือนำไปประยุกต์ใช้ในงานที่คล้ายคลึงกัน
รูปที่ 53 ช่องเปิดของท่อปล่อยแบบปกติ (Plain Discharge Opening)
6.3 ท่อปล่อยภาระ (Discharge Spout) ถูกเชื่อมในตำแหน่งที่มีการติดตั้งเครื่องขนถ่ายเสร็จสิ้นแล้ว พวกมันจะถูกสร้างด้วยความหนาซึ่งเป็นสัดส่วนกับขนาดและความหนาของรางลำเลียง
รูปที่ 54 ท่อปล่อยภาระ (Discharge Spout)
6.4 ท่อปล่อยภาระแบบปลายตัด (Flush End Discharge Spout) ถูกเชื่อมประกอบไว้บนรางลำเลียงแบบปีกคู่หรือรางลำเลียงปีกเหล็กฉาก พวกมันจะถูกสร้างด้วยความหนาซึ่งมีสัดส่วนกับขนาด และความหนาของรางลำเลียง
รูปที่ 55 ท่อปล่อยภาระแบบปลายตัด (Flush End Discharge Spout)
6.5 ประตูเลื่อนด้วยมือ (Hand Slide Gate) ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้เชื่อมต่อกับท่อปล่อยภาระและสามารถทำงานได้จากด้านหนึ่งด้านใดจากทั้งสี่ด้าน พวกมันจำเป็นต้องมีระยะสำหรับการเปิดประตูที่เพียงพอ
รูปที่ 56 ประตูเลื่อนด้วยมือ (Hand Slide Gate)
6.6 ประตูที่ควบคุมการทำงานด้วยอากาศ (Air Operated Air) เป็นชิ้นส่วนที่มีคุณภาพสูง และถูกออกแบบสำหรับงานที่มีการเปิดปิดประตูบ่อยครั้งซึ่งต้องมีแรงเสียดทานในการทำงานที่ต่ำ ประตูชนิดนี้ถูกกสร้างขึ้นเพื่อรองรับกระบอกอัดอากาศที่มีหน้าแปลน (Flange-faced Air Cylinder) และมีลูกกลิ้ง ติดกับแผ่นเลื่อนซึ่งปฏิบัติงานในโครงสร้างเหล็กกล้าขึ้นรูป (Formed Steel Housing) สามารถติดตั้งกระบอกสูบกับประตูหรือติดตั้งกระบอกสูบโดยผู้ใช้งานในส่วนที่ต้องการก็ได้โดยไม่ต้องทำการต่อท่ออากาศหรือควบคุมใด ๆ กับประตูชนิดนี้
รูปที่ 57 ประตูที่ควบคุมการทำงานด้วยอากาศ (Air Operated Air)
6.7 ท่อลำเลียงที่มีฐานปล่อยภาระ (Stub Spout) แบบมีประตูเลื่อนและแบบไม่มีประตูเลื่อน ถูกต่อเข้ากับรางลำเลียงหรือฝาเปิดตัวเลื่อน (Slide) อาจถูกติดเข้ากับท่อป้อนภาระหรือท่อปล่อยภาระและอาจทำงานควบคู่ไปกับท่อลำเลียงหรือทำงานที่มุมฉากตามที่ต้องการ สามารถใช้ท่อลำเลียงที่มีขนาด มาตรฐาน และวัสดุพิเศษในการสร้างเพื่อให้เหมาะสมกับความต้องการได้
รูปที่ 58 ท่อปล่อยภาระซึ่งไม่มีตัวเลื่อน
รูปที่ 59 ท่อปล่อยภาระซึ่งมีตัวเลื่อนด้วยมือแบบเรียบ
รูปที่ 60 ช่องเปิดที่ใช้ปล่อยภาระแบบปกติ
รูปที่ 61 รางป้อนซึ่งไม่มีตัวเลื่อน
รูปที่ 62 ช่องเปิดที่ใช้ป้อนภาระแบบปกติ
6.8 ประตูระบบเฟืองทด (Rack and Pinion Gates)
6.8.1 ตัวเลื่อนแนวโค้ง (Curved Slide) ประตูปล่อยภาระระบบเฟืองทดที่ประกอบด้วยตัวเลื่อนแนวโค้งมีรางฟันปลา (Cut Tooth Rack) เชื่อติดกับแผ่นเลื่อนแบบโค้งฟันเฟือง (Cut Tooth Pinion) เชื่อมต่อกับเพลาเฟืองขับ (Pinion Shaft) ประตูทำงานโดยล้อที่ใช้มือหมุนดังแสดงในภาพชุดเฟืองโซ่ (Chain Wheel) และโซ่สามารถนำมาใช้งานได้ถ้าต้องการ ตัวเลื่อนแนวโค้งมีรูปแบบสอดคล้องกับรูปร่างของรางลำเลียงและกำจัดช่องหรือหลุมทั้งหมดที่อาจดักจับวัสดุภายในท่อลำเลียงซึ่งวางตัวอยู่ส่วนบนของตัวเลื่อนแบบแผ่นเรียบ ตัวเลื่อนลักษณะนี้ยังสามารถทำงานได้โดยอาศัยพลังงานจากมอเตอร์ไฟฟ้าหรือกระบอกไฮดรอลิก (Hydraulic Cylinder)
รูปที่ 63 ตัวเลื่อนแนวโค้ง (Curved Slide)
6.8.2 ตัวเลื่อนแนวราบ (Flat Slide) ประตูปล่อยภาระระบบเฟืองทดที่ประกอบด้วยตัวเลื่อนแนวราบฟันปลาเชื่อมติดกับแผ่นเลื่อน มีฟันเฟืองเชื่อมต่อกับเพลาเฟืองขับประตูทำงาน โดยล้อที่ใช้มือหมุนดังแสดงในรูป อย่างไรก็ตาม ชุดเฟืองโซ่และโซ่สามารถนำมาใช้งานได้ตามต้องการ ตัวเลื่อนแนวราบสามารถใช้งานในทิศทางใดทิศทางหนึ่งจากทั้งหมดสี่ทิศทาง ถ้าช่องว่างเพียงพอ ตัวเลื่อนเหล่านี้ยังสามารถทำงานได้โดยอาศัยพลังงานจากมอเตอร์ไฟฟ้าหรือกระบอกไฮดรอลิก
รูปที่ 64 ตัวเลื่อนแนวราบ (Flat Slide)
เอกสารอ้างอิง
1. ANSI/CEMA 350-2009, CEMA STANDARD No. 350, "SCREW CONVEYORS"
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด