เนื้อหาวันที่ : 2013-04-23 10:13:11 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 6723 views

นโยบายจัดหาจัดซื้อแบบยั่งยืน

ด้วยกระแสความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร หรือ CSR ได้รับความสนใจในภาคธุรกิจ ทำให้ภาคธุรกิจแทนที่จะมุ่งเน้นการลดต้นทุนเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน

นโยบายจัดหาจัดซื้อแบบยั่งยืน

โกศล ดีศีลธรรม
Koishi2001@yahoo.com

 

       ด้วยกระแสความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร (Corporate Social Responsibility) หรือ CSR ได้รับความสนใจในภาคธุรกิจ ทำให้ภาคธุรกิจแทนที่จะมุ่งเน้นการลดต้นทุนเพื่อเพิ่มความสามารถการแข่งขันหรือสร้างผลกำไรเป็นหลัก แต่กระแส CSR ทำให้ธุรกิจคำนึงถึงการดำเนินงานที่มุ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ทำให้ความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นที่รัฐบาลและองค์การระหว่างประเทศต่างให้ความสนใจ ขณะเดียวกันคู่ค้าหลายประเทศได้เรียกร้องให้ผู้ประกอบการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลว่าด้วยความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ส่งผลให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการที่สอดคล้องกับกฎระเบียบการค้าโลกที่มิติสิ่งแวดล้อมจะมีความสำคัญมากขึ้น

โดยเฉพาะประเทศกลุ่มยุโรปและอเมริกาเป็นคู่ค้าสำคัญของไทย ซึ่งมีข้อตกลงเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมาเป็นข้อจำกัดทางการค้ามากขึ้น หากผู้ประกอบการหรือผู้ส่งออกสามารถนำไปปฏิบัติได้จริงก็จะสร้างความสามารถการแข่งขันให้ผู้ประกอบการ โดยมาตรการกีดกันเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมีหลายประการทั้งมาตรการบังคับและมาตรการสมัครใจ

ได้แก่ การห้ามนำเข้า การจำกัดปริมาณ การออกใบอนุญาต การปิดฉลากสิ่งแวดล้อม (Eco-Labeling) เพื่อให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การเก็บภาษีสิ่งแวดล้อมและกำหนดมาตรฐานสินค้าด้วยบรรจุภัณฑ์ การห้ามใช้สารบางชนิดในองค์ประกอบผลิตภัณฑ์และกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับเศษเหลือทิ้งของผลิตภัณฑ์และผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ การใช้เงื่อนไขกระบวนการผลิตตั้งแต่ วัตถุดิบ การแปรรูปวัตถุดิบ การผลิต การขนส่งสินค้าและการทำลายเศษหรือสารตกค้าง การกำหนดระเบียบเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ (Packaging)

เพื่อให้ผู้ประกอบสามารถจัดการบรรจุภัณฑ์เพื่อป้องกันและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีข้อเรียกร้องหรือออกมาตรการให้ผู้ส่งออกปรับเปลี่ยนการใช้วัตถุดิบที่เหมาะสม รวมถึงใช้บรรจุภัณฑ์สอดคล้องกับกฎระเบียบควบคุมด้านสิ่งแวดล้อมและปรับปรุงประสิทธิภาพกระบวนการผลิตให้เกิดของเสียน้อยที่สุด โดยคำนึงถึงวงจรอายุวัตถุดิบที่นำมาใช้ผลิตจนกระทั่งผลิตภัณฑ์นั้นหมดอายุ และพิจารณาประเด็นการรีไซเคิล (Recycle)


     ตามพิธีลงนามพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) เป็นข้อผูกพันทางกฎหมายที่ดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการรับมือกับสภาวะโลกร้อน ประเทศสมาชิกร่วมลงนาม 186 ประเทศ ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2548 ในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม 41 ประเทศ ต้องลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำกว่าปี พ.ศ.2533 ที่ 5% ภายในปี พ.ศ.2555 และ 75% ภายในปี พ.ศ.2593

โดยวางเป้าหมายเพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก(Greenhouse Gases Emission) ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาโลกร้อน โดยมีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้วยการวัดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปล่อยสู่บรรยากาศและแสดงผลด้วยคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า สำหรับการวัดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ประกอบด้วย

- การวัดปริมาณการปล่อยก๊าซทางตรง เป็นการวัดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยออกจากกิจกรรมที่เกิดขึ้นโดยตรง อาทิ การเผาไหม้เชื้อเพลิง การใช้พลังงานในครัวเรือน และยานพาหนะ

- การวัดปริมาณการปล่อยก๊าซทางอ้อม เป็นการวัดปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากผลิตผลหรือผลิตภัณฑ์ โดยประเมินตลอดวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ (Lift Cycle Assessment) ตั้งแต่กระบวนการได้มาซึ่งวัตถุดิบ การเพาะปลูก การแปรรูป การขนส่ง การใช้งาน รวมถึงกระบวนการจัดการซากผลิตภัณฑ์หลังหมดสภาพใช้งาน

 

ฉลากสิ่งแวดล้อมประเทศต่าง ๆ

การประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม     

 

สำหรับประเทศญี่ปุ่นมีนโยบายให้ภาคอุตสาหกรรม ครัวเรือน และภาคขนส่ง มีส่วนร่วมลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยมีกลไกส่งเสริมการจัดซื้อที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เริ่มดำเนินการ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2523 ซึ่งมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ในปี พ.ศ.2530 ได้จัดตั้งระบบฉลากสิ่งแวดล้อมเพื่อพัฒนาเกณฑ์และให้การรับรองผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของญี่ปุ่น ทั้งนี้ภายในประเทศญี่ปุ่นเองทั้งทางภาครัฐ เอกชน และผู้บริโภคต่างมีบทบาทสำคัญภายใต้มาตรการควบคุมและกำกับดูแลด้านสิ่งแวดล้อมที่รัฐบาลกำหนดขึ้น

อาทิ กำหนดมาตรฐานการปล่อยก๊าซ (Emission Standard) ของโรงงานและรถยนต์ การกำหนดมาตรฐานเทคโนโลยี (Technology Standard) ทางรัฐบาลท้องถิ่นโตเกียวกำหนดให้ผู้ประกอบการในกรุงโตเกียวที่ใช้พลังงานมากกว่า 1,500 กิโลลิตร ต้องวางมาตรการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยกำหนดอัตราการลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ตามประเภทธุรกิจ รวมทั้งมาตรการทางกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่มุ่งหลักการ 3Rs คือ การลด (Reduce) การใช้ซ้ำ (Reuse) และการรีไซเคิล (Recycle) หรือ 3Rs

กฎหมาย 3 ฉบับแรก ประกอบด้วย กฎหมายพื้นฐานเพื่อสร้างสังคมวัสดุหมุนเวียน โดยมุ่งส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ (Law for the Promotion of Effective Utilization of Resources) หรือ LPEUR และกฎหมายรีไซเคิลเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน (Home Appliances Recycling Law) หรือ HARL บนพื้นฐาน 3Rs ประยุกต์ใช้สำหรับการจัดซื้อและสร้างตลาดสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Market)

ช่วงปี พ.ศ.2539 ถึง 2543 รัฐบาลญี่ปุ่นได้เริ่มแผนปฏิบัติการปรับปรุงการบริหารจัดการภาครัฐให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นนโยบายเชิงยุทธศาสตร์ โดยมีการพัฒนาเครือข่ายการจัดซื้อที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Japan Green Purchasing Network) หรือ JGPN

ในปี พ.ศ.2543 รัฐบาลญี่ปุ่นออกกฎหมายส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมภาครัฐ เพื่อการจัดซื้อสินค้าที่ลดภาระต่อสิ่งแวดล้อมขององค์กรภาครัฐที่นำไปสู่สังคมรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน กฎหมายฉบับนี้มอบอำนาจให้หน่วยงานรัฐบาลต้องดำเนินการจัดซื้อสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยต้องเผยแพร่นโยบายการจัดซื้อแต่ละปีและรายงานบันทึกการจัดซื้อ สินค้ามากกว่า 150 รายการอยู่ในรายการที่จัดซื้อ รวมทั้งเครื่องใช้สำนักงานและเครื่องไฟฟ้า นโยบายพื้นฐานจะกำหนดรายการจัดซื้อและกำหนดเกณฑ์สมรรถนะทางสิ่งแวดล้อมเพื่อใช้เป็นข้อมูลออกข้อกำหนดการจัดซื้อ

รวมทั้งกำหนดให้องค์กรต้องฝึกอบรมพนักงานองค์กรให้มีความรู้เกี่ยวกับการจัดซื้อสินค้ารักษ์สิ่งแวดล้อมและการใช้ประโยชน์จากข้อมูลสิ่งแวดล้อมทั้งฉลากสิ่งแวดล้อมและฐานข้อมูลสิ่งแวดล้อมในการออกข้อกำหนดและเกณฑ์ตัดสินใจซื้อ โดยทั่วไปประเด็นที่ประกอบการพิจารณา คือการออกแบบเพื่อยืดอายุการใช้งาน โดยคำนึงถึงการบำรุงรักษาและการเปลี่ยนชิ้นส่วนที่ชำรุด การออกแบบให้ง่ายต่อการใช้ชิ้นส่วนซ้ำและง่ายต่อการถอดชิ้นส่วนเพื่อปรับปรุงหรือตบแต่ง (Refurbishment) และการรีไซเคิลหรือการแยกชิ้นส่วนที่หมดอายุไปทำลายอย่างถูกต้อง

รวมทั้งบรรจุภัณฑ์ต้องคำนึงถึงความง่ายในการรีไซเคิลและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในช่วงกำจัด ดังนั้นกฎหมายนี้สนับสนุนการริเริ่มจัดซื้อด้วยความสมัครใจ

เช่น เครือข่ายจัดซื้อสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2539 โดยให้ผู้ผลิต หมายถึง ผู้ผลิตและผู้นำเข้า เครื่องใช้ไฟฟ้าภาย ประกอบด้วย เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า โทรทัศน์ และตู้เย็น/ตู้แช่แข็ง รับผิดชอบในการจัดหาและนำสินค้าที่ใช้แล้วกลับคืน การดำเนินการจัดซื้อสีเขียวของญี่ปุ่นส่งผลให้ทุกฝ่ายต้องดำเนินการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ ผู้ผลิตต้องเปิดเผยข้อมูลสมรรถนะสิ่งแวดล้อมของสินค้า หน่วยงานกลางที่ออกฉลากสิ่งแวดล้อมมีหน้าที่ประชาสัมพันธ์และส่งเสริมฉลากสิ่งแวดล้อม

โดยเฉพาะการวิเคราะห์ประเด็นเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและดำเนินการให้สอดคล้องกับมาตรฐานฉลากสิ่งแวดล้อมระดับสากล ตามรายงานประเมินผลการดำเนินงานในปี พ.ศ.2552 ของกระทรวงสิ่งแวดล้อมญี่ปุ่น พบว่าการจัดซื้อจัดจ้างหน่วยงานภาครัฐส่วนใหญ่สอดคล้องตามข้อกำหนด ทำให้ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมีส่วนแบ่งในตลาดญี่ปุ่นกว่าร้อยละ 50 นอกจากนี้ยังมีมาตรการจูงใจทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการด้านสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย


- มาตรการสนับสนุนการป้องกันโลกร้อนระดับท้องถิ่น (Local Global Warming Prevention Support Measure) เพื่อสนับสนุนเงินทุนส่วนหนึ่งในการพัฒนาเทคโนโลยีควบคุมปริมาณการปล่อยก๊าซ ทุกอุตสาหกรรมที่ใช้ก๊าซ CFC ในอุปกรณ์ทำความเย็น

- ระบบการซื้อพลังงานแสงอาทิตย์แบบใหม่ (The New Purchase System for Photovoltaic Electricity) ตามคำสั่งกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม (METI) ของญี่ปุ่น ออกกฎหมายส่งเสริมการใช้พลังงานที่ไม่ใช่พลังงานฟอสซิลและการใช้พลังงานฟอสซิลอย่างเหมาะสมของบริษัทผู้ค้าพลังงาน ระบบนี้ผูกพันให้บริษัทผู้ผลิตและค้าพลังงานไฟฟ้า (Electric Utilities) ซื้อพลังงานนอกเหนือจากที่ผลิตได้จากแหล่งที่ผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ในราคาที่กำหนด

- มาตรการจูงใจผู้ประกอบการ เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ภายใต้พิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) โดยรัฐบาลญี่ปุ่นให้เงินสนับสนุนผู้ประกอบการในการปรับปรุงอาคารสิ่งก่อสร้าง ด้วยการใช้เทคโนโลยีประหยัดพลังงานและพลังงานทางเลือกอื่นแทนน้ำมันปิโตรเลียม

- กลไกการพัฒนาความสะอาด (Clean Development Mechanism) โดยรัฐบาลญี่ปุ่นส่งเสริมให้ภาคเอกชนลงทุนโครงการที่ลดการปล่อยก๊าซในประเทศกำลังพัฒนาเพื่อใช้ปริมาณก๊าซที่ลดได้ในการคำนวณให้ได้เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก  โดยรัฐบาลญี่ปุ่นสนับสนุนด้านการเงินและการซื้อสิทธิ์ (Emission Rights)

- มาตรการยกเว้นภาษีรถยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Eco-Friendly Cars) เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ.2552 จนถึงสิ้นเดือนมีนาคม พ.ศ.2555 ภายใต้มาตรการนี้ ภาษีน้ำหนักรถยนต์และภาษีสรรพสามิตจะลดลง 100%, 75% หรือ 50% ขึ้นอยู่กับระดับความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและประสิทธิภาพประหยัดพลังงานของรถยนต์ใหม่ที่ผู้บริโภคซื้อ ส่วนระดับท้องถิ่นยังมีนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่จูงใจผู้บริโภคและผู้ประกอบการในการซื้อพลังงานทางเลือก เครื่องใช้ไฟฟ้า และรถยนต์ที่ประหยัดพลังงาน

สำหรับนโยบายสิ่งแวดล้อมของกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปถือเป็นปัจจัยความสำเร็จการดำเนินธุรกิจ ด้วยนโยบายที่ชัดเจนในการปกป้องสิ่งแวดล้อมของสหภาพยุโรป ทำให้ธุรกิจสีเขียวเป็นกลยุทธ์การตลาด ธุรกิจชั้นนำส่วนใหญ่ผลักดันให้คู่ค้าและผู้ส่งมอบปัจจัยการผลิต นำแนวคิด “ธุรกิจสีเขียว” มาเป็นข้อปฏิบัติการทำธุรกิจระหว่างกัน

สินค้าที่นำเข้าสหภาพยุโรปจะต้องมาจากแหล่งผลิตที่มีความยั่งยืนและถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนระเบียบเกี่ยวกับการจัดการของเสีย (Waste Management) ได้มุ่งยุทธศาสตร์สำคัญ

คือ ลดความเป็นพิษจากของเสีย ลดผลกระทบจากของเสียต่อสิ่งแวดล้อม และลดปริมาณของเสีย โดยมีหลักการสำคัญ 3 ประการ คือ ทางเลือกการจัดการของเสีย อาทิ การนำกลับมาใช้ใหม่ การรีไซเคิล การทิ้งของเสียโดยไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม ความรับผิดชอบของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะการให้เงินทุนสนับสนุนการรีไซเคิลหรือกำจัดทิ้ง และการจัดหาแหล่งทิ้งของเสียที่เหมาะสม

นอกจากนี้สหภาพยุโรปได้ออกกฎหมาย 2 ฉบับ ได้แก่ ระเบียบ 2004/17/EC  ในปี พ.ศ.2547 สำหรับการจัดจ้างบริการสาธารณูปโภคและระเบียบ 2004/18/EC ในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ กฎหมายทั้งสองฉบับมุ่งเน้นให้เกิดความโปร่งใสและความเป็นธรรมในงานประมูลภาครัฐ โดยมีการกำหนดเกณฑ์ เงื่อนไขพิจารณาคัดเลือก และขั้นตอนการประมูล

รวมทั้งเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ผนวกข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมในเงื่อนไขการประมูลได้  กฎหมายทั้งสองฉบับกำหนดเลือกผู้ที่เสนอสินค้าหรือบริการที่เหมาะสม ระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างทั้งสองฉบับ คือ จุดเริ่มต้นการจัดซื้อสีเขียวระดับสหภาพยุโรป

ในปี พ.ศ.2551 คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป กำหนดแผนปฏิบัติการ การผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน นโยบายอุตสาหกรรมยั่งยืนภายใต้แผนนี้ คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป มีบทบาทเสริมระบบการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของสหภาพยุโรปเพื่อให้แนวทางแก่ประเทศสมาชิกในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการบริโภคภาครัฐ และการใช้นโยบายจัดซื้อสีเขียวเป็นเครื่องมือกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม

โดยกำหนดเป้าหมายให้การประมูลภาครัฐต้องเป็นสีเขียวและสอดคล้องกับเกณฑ์ประเมินของสหภาพยุโรป คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปมีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือประเทศสมาชิกให้ปฏิบัติตามเป้าหมายเพื่อลดอุปสรรคในการจัดซื้อจัดจ้าง ประเด็นเหล่านี้ส่งผลให้กลุ่มธุรกิจทั่วโลกนำเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นนโยบายหลักที่จะเลือกคู่ค้าธุรกิจ โดยเฉพาะสินค้าที่จะส่งขายไปยังตลาดสหภาพยุโรปนอกจากต้องมีมาตรฐานความปลอดภัยและคุณภาพสูงแล้วยังต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยจึงจะสามารถส่งผ่านตลาดยุโรปได้

โดยสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ส่งออกไปจำหน่ายประเทศเครือสหภาพยุโรปจะต้องผ่านกระบวนการรีไซเคิลเพื่อลดการใช้ทรัพยากรโลกและบรรเทาสภาวะโลกร้อนซึ่งเป็นการช่วยรักษาสมดุลของอุณหภูมิโลก โดยการนำพลังงานกลับมาใช้ใหม่ผ่านกระบวนการผลิต ดังกรณีเจวีซีตั้งเป้าการนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่และรีไซเคิลพลังงานที่สูญเปล่าในกระบวนการผลิตราว 99% ผลิตภัณฑ์ทุกหมวดได้ถูกออกแบบและผ่านกระบวนการผลิตเพื่อสิ่งแวดล้อม

โดยใช้ชื่อผลิตภัณฑ์สีเขียว (Green Product) เป็นการนำวัตถุดิบที่ผ่านกระบวนการรีไซเคิลมาผลิตใหม่เพื่อลดขยะอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งในส่วนของอะไหล่และชิ้นส่วนที่ใช้ในการผลิตทางเจวีซี ได้กำหนดนโยบายกำจัดขยะถึง 6 ขั้นตอนเพื่อสร้างความมั่นใจได้ว่าเจวีซีควบคุมการผลิตตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำและผ่านกระบวนการดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว

 

กระบวนการนำกลับมาใช้ใหม่

 

สำหรับประเทศไทยภาครัฐเป็นผู้บริโภครายใหญ่ที่สุด แต่ละปีรัฐบาลมีงบประมาณที่ใช้บริหารประเทศประมาณ 2 ล้านล้านบาท ร้อยละ 70 เป็นค่าใช้จ่ายประจำที่ใช้บริหารประเทศ เช่น เงินเดือน และส่วนหนึ่งเป็นงบที่ใช้ในการจัดซื้อจัดจ้าง ดังนั้นการจัดซื้อที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของภาครัฐจึงเป็นมาตรการเชิงรุกเพื่อให้เกิดตลาดผลิตภัณฑ์สีเขียว 

การจัดซื้อที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของภาครัฐในประเทศไทยมีจุดเริ่มต้นที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้เสนอให้ภาครัฐมีนโยบายจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว ผ่านคณะกรรมการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศในเดือนกันยายน พ.ศ.2547 และได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2547 โดยขอความร่วมมือสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยให้สนับสนุนสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยในการวิจัยเพื่อพัฒนากลไกการจัดซื้อที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของภาครัฐ

เริ่มโครงการตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ.2547 ถึงกันยายน พ.ศ.2548 จากนั้นสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้นำนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว (Green Procurement) บรรจุอยู่ในแผนบริหารราชการแผ่นดินยุทธศาสตร์ที่ 4 นโยบายบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของคณะกรรมการยุทธศาสตร์บริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

โดยกำหนดให้รัฐเป็นผู้นำในการจัดซื้อสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม  ช่วงปี พ.ศ.2548 ถึง พ.ศ.2551 และมอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนแผน ปี พ.ศ.2550 แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 กำหนดให้มียุทธศาสตร์การสร้างตลาดสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยภาครัฐเป็นผู้นำในการบริโภค ตลอดจนปรับปรุงกฎ ระเบียบ วิธีการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐให้สามารถรองรับสินค้าดังกล่าว

รวมทั้งกำหนดเกณฑ์มาตรฐาน กลไกการตรวจสอบและรับรองคุณภาพสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลซึ่งเป็นที่ยอมรับตลาดโลก พัฒนาและจัดทำฐานข้อมูลสินค้าฉลากเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งให้รางวัลกับหน่วยงานที่เป็นองค์กรสีเขียวของภาครัฐและส่งเสริมการจัดซื้อที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในภาคเอกชนผ่านห่วงโซ่อุปทานสีเขียวหรือการจัดการสิ่งแวดล้อมผ่านคู่ค้าธุรกิจ

โดยเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายผู้บริโภคเพื่อสิ่งแวดล้อมในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และความร่วมมือพิทักษ์สิทธิ ซึ่งอยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์หลัก เรื่องการพัฒนาบนฐานความหลากหลายทางชีวภาพและสร้างความมั่นคงของฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนกลไกการจัดซื้อที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของภาครัฐ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

โดย กรมควบคุมมลพิษ เริ่มดำเนินกิจกรรมนำร่องการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2548 โดยมีผลบังคับใช้ภายในกรมควบคุมมลพิษอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังได้จัดทำแผนการส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของภาครัฐ

(พ.ศ.2551-2554) ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติแล้ว เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2550

 

มิติการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Source: Greifswald’s Environmental Ethics, http://en.wikipedia.org/wiki/Ecological_economics)

 

ปัจจุบันภาคธุรกิจได้ตระหนักถึงความเชื่อมโยงระหว่างต้นทุนการผลิตกับต้นทุนสิ่งแวดล้อม นั่นคือ หากมีการใช้ทรัพยากรและพลังงานไม่มีประสิทธิภาพและก่อให้เกิดของเสียหรือมลพิษจำนวนมากก็จะเป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิตที่เกิดจากการใช้วัตถุดิบ พลังงานและการบำบัดของเสีย ทำให้สินค้ามีต้นทุนที่ไม่สามารถแข่งขันได้

โดยเฉพาะองค์กรธุรกิจขนาดกลางและย่อมหรือ SMEs ส่วนใหญ่ยังไม่มีการปรับกระบวนทัศน์การผลิต แต่องค์กรขนาดใหญ่ได้นำประเด็นการจัดการสิ่งแวดล้อมมาใช้ในข้อตกลงระหว่างคู่ค้าหรือห่วงโซ่อุปทานอย่าง ระเบียบข้อบังคับ WEEE และ RoHS ของกลุ่มสหภาพยุโรป รวมถึงนำนโยบายการจัดซื้อหรือกำหนดคุณลักษณะวัตถุดิบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ดังนั้นกระบวนการผลิตที่ยั่งยืนต้องเน้นการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด โดยเฉพาะการจัดการทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพ นั่นคือ การใช้วัตถุดิบให้เกิดประโยชน์สูงสุด ลดการเกิดของเสีย รวมถึงหาแนวทางแปรรูปของเสียเพื่อกลับมาใช้ใหม่ในการผลิตอีกครั้ง ทำให้ช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยเริ่มมีสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือสินค้าสีเขียวออกจำหน่ายมากขึ้น

อาทิ เสื้อผ้าไม่ฟอกย้อม น้ำมันไร้สารตะกั่ว ถุงพลาสติกย่อยสลายได้เอง ตู้เย็นประหยัดไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์รีไซเคิล เป็นต้น ปัจจุบันภาคธุรกิจได้มีการจัดตั้งเครือข่ายธุรกิจเพื่อเป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ตลอดจนประสบการณ์ดำเนินธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมอันจะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน เช่น คณะกรรมการนักธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมไทย (Thailand Business Council for Sustainable Development: TBCSD) และเครือข่ายดำเนินงานด้านนิเวศเศรษฐกิจและการผลิตที่สะอาด (Thailand Network of Eco-efficiency and Cleaner Production: TNEC) การดำเนินงานยังจำกัดเฉพาะกลุ่มสมาชิกเท่านั้น

โดยทั่วไปห่วงโซ่อุปทานประกอบด้วยองค์กรคู่ค้าทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็กจำนวนมาก ตั้งแต่ ระดับต้นน้ำ (Upstream) จนถึงปลายน้ำ (Downstream)  

ดังกรณีอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ประกอบด้วยเครือข่ายระดับต้นน้ำ (Tier) หลายชั้น เช่น Tier 1, Tier 2 และ Tier 3 ตัวเลขเหล่านี้แสดงถึงลำดับความใกล้ชิดระหว่างผู้ส่งมอบกับผู้ผลิตหลัก นั่นคือ ผู้ส่งมอบระดับ Tier 1 จะส่งมอบงานให้กับผู้ผลิตหลักโดยตรงและผู้ส่งมอบระดับ Tier 2 ดำเนินการส่งมอบงานให้กับ Tier 1 ดังนั้นเครือข่ายผู้ส่งมอบระดับต้นน้ำจะต้องดำเนินการจัดหาทรัพยากรและผลิตให้ทันตามคำสั่งซื้อ

ส่วนเครือข่ายห่วงโซ่อุปทานระดับปลายน้ำเป็นกระบวนการหลังการผลิตซึ่งเป็นหน้าที่หลักของส่วนงานโลจิสติกส์ อาทิ การบรรจุหีบห่อ การกระจายสินค้าและกิจกรรมที่สร้างคุณค่าเพิ่ม (Value-Added Activities) แม้ว่าหลายปีที่ผ่านมาการบริหารห่วงโซ่อุปทานได้สนับสนุนการขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่ผลการพัฒนาดังกล่าวได้นำมาซึ่งความเสียหายให้กับสิ่งแวดล้อม

ด้วยเหตุนี้จึงเกิดกระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นที่มาของการจัดการสิ่งแวดล้อมผ่านห่วงโซ่อุปทานสีเขียว (Greening Supply Chain Management) เพื่อให้เกิดการปรับปรุงผลิตภาพอย่างยั่งยืน ด้วยการเชื่อมโยงกระบวนการตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ การจัดซื้อ การขนส่ง และส่งมอบผลิตภัณฑ์ โดยสร้างความร่วมมือระหว่างองค์กรผู้ซื้อกับคู่ค้าหรือผู้ส่งมอบเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าและส่งเสริมให้มีการนำหลักการผลิตที่สะอาดและการป้องกันมลพิษมาใช้ในองค์กร

 

โครงสร้างห่วงโซ่อุปทาน

 

ดังนั้นการบริหารห่วงโซ่อุปทานสีเขียวเป็นแนวคิดจัดการสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลให้องค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมร่วมกับคู่ค้า สะท้อนว่าสิ่งที่ธุรกิจทั่วโลกให้ความสนใจไม่ใช่เพียงแค่ผลกำไรหรือส่วนแบ่งการตลาดแต่ยังมุ่งรักษาสมดุลของโลกและสร้างความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ความร่วมมือกันระหว่างคู่ค้ากับผู้ส่งมอบต้องดำเนินการสอดคล้องกับแนวคิดรักษาสิ่งแวดล้อม

การดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมอาจแสดงด้วยการตรวจสอบและออกใบรับรองมาตรฐานสิ่งแวดล้อมอย่าง ISO14001 ให้กับผู้ผลิตหรือคู่ค้า ดังกรณีโตโยต้าผลักดันให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนและกลุ่มผู้ให้บริการกับโตโยต้าพัฒนาระบบคุณภาพให้ได้ใบรับรองมาตรฐานการจัดการสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมุ่งลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากกิจกรรมบำรุงรักษาจึงผลักดันให้ศูนย์บริการและตัวแทนจำหน่ายดำเนินการพัฒนาให้ได้ใบรับรองมาตรฐานการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO14001 แนวคิดดังกล่าวตอบสนองต่อกระแสการพัฒนาธุรกิจที่ยั่งยืนและมาตรการทางการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะสหภาพยุโรปที่ให้ความสำคัญต่อการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

ดังนั้นผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องปรับกระบวนการผลิตและผลิตภัณฑ์ให้เข้ากับความต้องการผู้ซื้อ ทำให้สถาบันสิ่งแวดล้อมไทยดำเนินโครงการพัฒนารูปแบบการจัดการสิ่งแวดล้อมผ่านคู่ค้าธุรกิจในบริบทไทย โดยดำเนินการสร้างทีมพี่เลี้ยงในบริษัทผู้ซื้อเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคแก่บริษัทคู่ค้าผ่านการถ่ายทอดความรู้และเทคนิคการทำงานจากบริษัทผู้ซื้อซึ่งเป็นบริษัทขนาดใหญ่สู่บริษัทคู่ค้าที่เป็นบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กเพื่อปรับปรุงผลการดำเนินงานของบริษัทคู่ค้าอย่างต่อเนื่อง

โดยใช้กระบวนการและเครื่องมือจัดการสิ่งแวดล้อมชนิด เช่น เทคโนโลยีสะอาด การประเมินผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม และระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม  เป็นต้น

 

กรอบแนวคิดห่วงโซ่อุปทานสีเขียว

 

สำหรับกรณีอุตสาหกรรมที่มีฐานผลิตในประเทศไทย อย่าง บริษัท เด็นโซ่ (ประเทศไทย) มุ่งการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม (Eco Management) โดยดำเนินโครงการขยายผลสู่คู่ค้าด้วยใช้นโยบายการจัดซื้อ จัดหาวัตถุดิบที่เป็นมิตรกับ สิ่งแวดล้อม สนับสนุนให้ผู้ส่งมอบจัดทำระบบจัดการสิ่งแวดล้อม

เด็นโซ่ได้กำหนดนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมเรียกว่า “Eco Stage” เพื่อเป็นแนวทางให้คู่ค้าหรือผู้ส่งมอบดำเนินการรักษาสิ่งแวดล้อม เช่น การจัดการน้ำเสีย การจัดการของเสีย อันตราย เป็นต้น โดยใช้ประเมินผลด้านสิ่งแวดล้อมของผู้ส่งมอบวัตถุดิบด้วย

 หลังประกาศนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมดังกล่าว ทางเด็นโซ่ได้เชิญตัวแทนผู้ส่งมอบเยี่ยมชมระบบจัดการสิ่งแวดล้อมของเด็นโซ่ ทำให้ผู้ส่งมอบของเด็นโซ่ส่วนใหญ่ สามารถดำเนินการผ่านข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมของเด็นโซ่ (Eco Stage) ในปี พ.ศ. 2549 กำหนดให้ผู้ส่งมอบเลิกใช้สารอันตรายที่เป็นส่วนประกอบในวัตถุดิบหรือชิ้นส่วน

เด็นโซ่ได้กำหนดนโยบายและกรอบเวลาให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนยกเลิกใช้สารอันตราย คือ ปรอท ตะกั่ว โครเมียม และแคดเมียม ซึ่งเป็นส่วนประกอบอยู่ในวัตถุดิบและอุปกรณ์ชิ้นส่วนภายในปี พ.ศ. 2553 ทำให้การพิจารณาจัดซื้อจากผู้ผลิตชิ้นส่วนรายใหม่ต้องคำนึงถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม โดยคัดเลือกเฉพาะผู้ส่งมอบที่ผ่านเกณฑ์ของเด็นโซ่เท่านั้น 

นโยบายการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมของเด็นโซ่แสดงถึงเจตนารมณ์ที่ชัดเจนว่าบริษัทเด็นโซ่ต้องการคู่ค้าที่มีนโยบายด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมที่มีมาตรฐานเพื่อแสดงให้ลูกค้าของเด็นโซ่รับรู้ว่าวัตถุดิบที่เด็นโซ่นำมาผลิตสินค้ามาจากแหล่งผลิตที่มีระบบจัดการที่มีคุณภาพและปราศจากสารพิษ สำหรับสภาพแวดล้อมภายในโรงงานได้ดำเนินการตามแนวคิดโรงงานเพื่อสิ่งแวดล้อม (Eco Factory)

โดยทำโครงการที่มุ่งลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากกระบวนการผลิต อาทิ โครงการปล่อยของเสียให้เป็นศูนย์ (Zero Emission) ที่นำของเสียจากกระบวนการผลิตไปรีไซเคิลหรือนำไปใช้ประโยชน์แทนการฝังกลบ อย่าง การนำของเสียไปรีไซเคิลเป็นเชื้อเพลิงหรือวัสดุทดแทน  โดยคำนึงถึงผลกระทบที่เกิดจากการใช้ทรัพยากรสิ้นเปลืองจึงกำหนดเป้าหมายลดการใช้พลังงานและการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะโลกร้อน ทำให้เด็นโซ่สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และกากของเสียอันตรายจากกระบวนการผลิต รวมทั้งสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดีและลดผลกระทบต่อสุขอนามัยของพนักงาน โดยเฉพาะสารระเหยที่อยู่ในสีทินเนอร์ บริษัทตั้งเป้าหมายที่จะลดกากของเสียอันตรายลงให้ได้ 75% นอกจากนี้เด็นโซ่คำนึงถึงความจำเป็นในการประหยัดใช้น้ำ โดยกำหนดเป้าหมายลดการใช้น้ำด้วยหลักการ Reduce และ Reuse

ส่วนกระบวนการโลจิสติกส์ได้ปรับปรุงการใช้บรรจุภัณฑ์เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วยการใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ (Returnable Box) แทนการใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นกล่องกระดาษใช้ได้ครั้งเดียว  เด็นโซ่ ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ.2544 และเมื่อปี พ.ศ.2548 กลุ่มบริษัท เด็นโซ่ สามารถลดการใช้บรรจุภัณฑ์กระดาษหรือไม้ทั้งหมดประมาณ 107 ตัน รวมทั้งมีนโยบายลดสารอันตรายที่เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ตามแนวคิด ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Eco Product)

โดยเฉพาะสารอันตราย 4 ชนิด ได้แก่ ปรอท, ตะกั่ว, โครเมียม(6+) และแคดเมียม ทั้งนี้บริษัทกำหนดเป้าหมายยกเลิกสารอันตรายทั้งหมดเพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีความปลอดภัยและรักษาสิ่งแวดล้อม รวมถึงการทำให้ผลิตภัณฑ์สามารถรักษาสิ่งแวดล้อม โดยใช้วัตถุที่สามารถนำไปรีไซเคิลและไม่ใช้วัตถุมีพิษ


         ส่วน โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ได้มุ่งพัฒนาเติบโตอย่างยั่งยืน ตามแนวทาง Global Vision 2020 ของบริษัทแม่โตโยต้า โดยมีหลักการว่า "วัฏจักรธรรมชาติกับวัฏจักรอุตสาหกรรมจะสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืนและยั่งยืนตลอดไป" มร.เคียวอิจิ ทานาดะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ กล่าวว่า “บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ข้ามผ่านความเป็นธุรกิจสีเขียว (Green Business) ตลอดทั้งห่วงโซ่ธุรกิจแล้ว ด้วยการผ่านมาตรฐาน ISO 14001 และกำลังต่อยอดสู่การปลูกฝัง “CSR DNA” ให้กับพนักงาน ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำภายใต้ความร่วมมือของ“ชมรมความร่วมมือโตโยต้า” และ “ชมรมผู้แทนจำหน่ายโตโยต้า” มุ่งสู่การเป็นเครือข่ายธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมสูงสุด (Responsible Business Network) ภายใต้แนวคิด “Fully Integrated CSR across Value Chain” ถือเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทุกส่วนงานในวงจรธุรกิจ

โตโยต้า ทำให้เกิดความร่วมมือกันเพื่อทำกิจกรรม CSR ตลอดทั้งห่วงโซ่ธุรกิจ โดยเฉพาะการบริหารจัดการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมซึ่งผ่านมาตรฐาน ISO14001 สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 230,000 ตัน (นับจากเริ่มดำเนินโครงการในปี พ.ศ.2544 ถึงปัจจุบัน) สิ่งที่แสดงถึง “CSR-DNA” ในเครือข่ายธุรกิจของ โตโยต้า คือ “Toyota CSR Code of Conduct” เป็นแนวปฏิบัติหรือกิจกรรมที่พนักงานทุกแผนก ทุกฝ่าย ทุกระดับ ภายในโตโยต้าร่วมกันดำเนินการให้สัมฤทธิ์ผล โดย “Toyota CSR Code of Conduct” มีหลักการสำคัญ คือ 4 ลดหรือ 4R (Reduce) ได้แก่


- ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Reduce CO2) ภายใต้กระบวนการทำงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่ส่งผลกระทบต่อสังคม และชุมชนรอบข้าง

- ลดการใช้พลังงาน (Reduce Energy) โดยมีส่วนช่วยลดปัญหาโลกร้อนที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้น

- ลดการใช้น้ำ (Reduce Water) ด้วยการบริหารจัดการที่สามารถใช้น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด รวมทั้งนำน้ำที่ผ่านการใช้งานแล้ว มาผ่านกระบวนการบำบัดเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่

- ลดปริมาณขยะ (Reduce Waste) โดยใช้วัตถุดิบที่นำมาใช้ในการผลิตอย่างคุ้มค่าสูงสุด รวมทั้งการนำกลับมาใช้ใหม่ผ่านกระบวนการรีไซเคิล 


     โดยจุดเริ่มต้นตั้งแต่กระบวนการผลิตหรือกระบวนการต้นน้ำ ทางบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วน บริหารจัดการภายใต้หลักการ “Responsible Purchasing” ที่ส่งเสริมให้ทำการผลิตโดยรับผิดชอบต่อสังคมและไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และชุมชน เป็นหลักการสำคัญของการจัดซื้อชิ้นส่วนประกอบรถยนต์แบบ

“Green Purchasing” ทำให้สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 6,000 ตันต่อปี ขั้นตอนการขนส่งยังได้นำเชื้อเพลิงไบโอดีเซลมาใช้กับรถบรรทุก ทำให้สามารถลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 1,200 ตันต่อปี เข้าสู่กระบวนการผลิต

โรงงานประกอบรถยนต์โตโยต้าทั้ง 3 แห่งมุ่งมั่นดำเนินการภายใต้หลักการ

“Responsible Production” ทำการผลิตด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมทุกกระบวนการด้วยความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เมื่อเข้าสู่ระบบการผลิตแบบโตโยต้า (Toyota Production System) ที่ใส่ใจเรื่องคุณภาพทุกขั้นตอนการผลิต รวมถึงกระบวนการผลิตที่ช่วยประหยัดพลังงาน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดของเสีย และไม่ปล่อยมลพิษ และขนส่งสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพ

 

สายการประกอบรถยนต์

 

เนื่องจากบริษัทโตโยต้า ประเทศไทย กำหนดให้ผู้ส่งมอบชิ้นส่วนทุกรายใช้ระบบ Milk Run ทำให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์จำเป็นต้องพัฒนาระบบให้มีประสิทธิภาพเพื่อเพิ่มความสามารถตอบสนองให้กับลูกค้าอย่างรวดเร็ว แต่ผู้ผลิตชิ้นส่วนแต่ละรายจะใช้ประเภทและขนาดบรรจุภัณฑ์ต่างกัน

ทำให้เกิดช่องว่างการขนส่งและส่งผลให้เกิดความสูญเสียระหว่างการขนส่ง ดังนั้นเพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว โตโยต้าได้กำหนดมาตรฐานบรรจุภัณฑ์ เรียกว่า TP-BOX (Toyota Poly Box) เป็นบรรจุภัณฑ์ที่มีความกว้าง-ยาว ขนาดพอเหมาะกับชิ้นงานที่สามารถวางซ้อนทับกันหลายรูปแบบและปรับความสูงได้ง่าย ทางโตโยต้าจะจัดส่งบรรจุภัณฑ์นี้ไปยังผู้ผลิตชิ้นส่วนแล้วผู้ผลิตชิ้นส่วนจะนำบรรจุภัณฑ์นี้กลับมาให้โตโยต้าเมื่อมาส่งชิ้นส่วน

 

มาตรฐานบรรจุภัณฑ์

 

นอกจากนี้โตโยต้าได้ส่งเสริมกิจกรรมลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่บรรยากาศอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นส่วนการผลิตและงานขนส่ง โดยเฉพาะการขนส่งมีการปรับเปลี่ยนหลายเส้นทางให้สั้นลง ทำให้ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศ

ส่วนระบบขนส่งภายในประเทศโตโยต้าพัฒนาระบบ Vehicles Logistics เป็นคลัสเตอร์ดิลิเวอรี่ กล่าวคือ เดิมใช้รถบรรทุก 1 คัน ขนรถยนต์ 3 คันใหญ่ 6 คันเล็ก ปัจจุบันสามารถใช้รถบรรทุก 1 คัน ขนรถยนต์ 4 คันใหญ่ 8 คันเล็ก แตกต่างจากประเทศญี่ปุ่นที่สามารถขนได้ 12 คันเล็ก  

ช่วยลดการใช้รถบรรทุกขนส่งสินค้าเท่ากับเป็นการลดคาร์บอนไดออกไซด์และรักษาสิ่งแวดล้อมระยะยาว โตโยต้าได้พยายามถ่ายทอดเทคโนโลยีโลจิสติกส์ให้พันธมิตรกลุ่มผู้ส่งมอบและดีลเลอร์เพื่อให้ดำเนินการทิศทางเดียวกัน หลายบริษัททยอยนำรถบรรทุกที่มีอยู่เปลี่ยนมาใช้ก๊าซเอ็นจีวีแทนน้ำมันที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมและประหยัดต้นทุน

 

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง
1. Joel Makower, Strategies for the Green Economy: Opportunities and Challenges in the New World of Business, McGraw-Hill, 2009.
2. Pamela J. Gordon, Lean and Green Profit for Your Business and the Environment, Berrett-Koehler Publishers, 2001.

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด