นับตั้งแต่การล่มสลายของสหภาพโซเวียตเมื่อปี 1990 มีประเทศที่แยกตัวประกาศเอกราชจากสหภาพโซเวียต 14 ประเทศ
รอบโลกเศรษฐกิจ (Around the World Economy)
“คาซัคสถาน” ข่านน้ำมันแห่งเอเชียกลาง
สุทธิ สุนทรานุรักษ์
นักวิชาการตรวจเงินแผ่นดิน 6 สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน, Ph.d. (Candidate) of School of Development Economics, National Institute Development Administration (NIDA)
นับตั้งแต่การล่มสลายของสหภาพโซเวียตเมื่อปี 1990 มีประเทศที่แยกตัวประกาศเอกราชจากสหภาพโซเวียต 14 ประเทศ โดยสามารถแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ได้ 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มาจากคาบสมุทรบอลติก ได้แก่ เอสโตเนีย ลัตเวีย ลิทัวเนีย กลุ่มที่อยู่ในยุโรปตะวันออก ได้แก่ เบรารุส ยูเครน จอร์เจีย อาร์มาเนีย อาร์เซไบจาน รัสเซีย ส่วนกลุ่มสุดท้าย คือ กลุ่มที่อยู่ในเอเชียกลาง ได้แก่ คาซัคสถาน คีร์กิซสถาน เติร์กเมนิสถาน ทาจิกกิสถาน อุซเบกิสถาน
จนถึงวันนี้ครบ 20 ปีของการล่มสลายแล้วนะครับ ประเทศเกิดใหม่ทั้ง 14 ประเทศ ต่างเลือกเส้นทางการพัฒนาประเทศและปรับปรุงระบบเศรษฐกิจตามแนวทางของตนเอง ซึ่งเราเรียกระบบเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ว่า Transition Economy หรือระบบเศรษฐกิจที่เปลี่ยนผ่านจากสังคมนิยมมาสู่ระบบเศรษฐกิจแบบตลาด (Market Economy)
กระบวนการเปลี่ยนผ่านในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เริ่มต้นจากการปฏิรูปกฎหมายกรรมสิทธิ์ก่อนโดยให้เอกชนมีกรรมสิทธิ์ในการถือครองทรัพย์สิน ต่อจากนั้นจึงหันมาใช้กลไกตลาดในการจัดสรรทรัพยากรตลอดจนมีการแปรรูปกิจการบางประเภทที่เคยเป็นของรัฐให้เอกชนเข้าดำเนินการ (Privatization)
ในช่วงเริ่มต้นการเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจ ทุกประเทศประสบปัญหาคล้ายคลึงกันในเรื่องของการปรับตัวที่ใช้กลไกตลาดจัดสรรทรัพยากร พร้อมกันนั้น “เงินเฟ้อ” ที่สูงมากได้กลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้หลายประเทศเกิดใหม่แทบจะเมาหมัดไปตาม ๆ กัน
ลองคิดดูนะครับว่า ประเทศที่คุ้นเคยกับการวางแผนเศรษฐกิจจากส่วนกลาง มีศูนย์กลางอำนาจรัฐใน เครมลิน มอสโคว์ จัดการให้ทุกอย่างแต่มาถึงวันหนึ่งพวกเขาต้องตัดสินใจด้วยตัวเอง เลือกที่จะพัฒนาตามแนวทางของตนเอง ทำให้ประเทศเหล่านี้ย่อม “งง” เป็นธรรมดา
แต่การเปลี่ยนผ่านใช่ว่าจะเป็นเรื่องเลวร้ายเสียทีเดียว อย่างที่ผมเคยเขียนถึง “เอสโตเนีย” ไปแล้วว่าเป็นประเทศแรกที่ปรับตัวได้เร็วและกลายเป็นสมาชิกกลุ่มอียูในเวลาเพียงไม่กี่ปี และเพิ่งจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มประเทศคนรวยหรือ OECD ไม่นานมานี้
นั่นหมายถึงว่า การจัดวางรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจของแต่ละประเทศนั้นต้องเข้าใจธรรมชาติของประเทศตนเองก่อนว่า เราควรจะเดินไปในทิศทางใด เรามีจุดแข็งที่ควรจะพัฒนาด้านใดโดยไม่จำเป็นต้องอาศัย “โมเดล” การพัฒนาเศรษฐกิจของธนาคารโลก หรือของ IMF ที่วันนี้แทบจะกลายเป็นสูตรสำเร็จของการพัฒนา ไปแล้วแต่ในทางกลับกัน แนวทางดังกล่าวก็เปรียบเสมือนการชี้นำกลาย ๆ
วันนี้เราอยู่ในโลกที่เรียกว่า “โลกหลายขั้ว” หรือ Multi Polar เราไม่จำเป็นต้องง้อหรือหงอกับอภิมหาพญาอินทรีย์อย่างอเมริกาอีกต่อไปแล้ว เราไม่จำเป็นต้องกลัวว่าอียูจะตัดสิทธิพิเศษทางการค้าอะไรกับเราอีกหรือเปล่า เพราะเวลาได้พิสูจน์แล้วครับว่า ในศตวรรษนี้ประเทศมหาอำนาจต่างก็เผชิญปัญหาทางเศรษฐกิจ รวมถึงภัยคุกคามจากการก่อการร้ายเช่นกัน นั่นหมายความว่าสภาพความผันผวนของโลกยุคใหม่ทำให้เกิดขั้วอำนาจขึ้นหลายขั้วเพื่อถ่วงดุลซึ่งกันและกัน
โลกหลายขั้วทำให้เรามองเห็นการเติบโตของพญามังกรจีน การจับคู่ดูโอกับอินเดียหรือที่เรารู้จักกันแล้วว่า Chindia การรวมกลุ่มของประเทศขนาดใหญ่ที่เราเรียกว่า BRIC แม้แต่การเปิดเสรีการค้าในภูมิภาคอาเซียนของเราหรือ AEC ก็กำลังจะกลายเป็นอีกขั้วอำนาจเศรษฐกิจหนึ่งในอีก 4 ปีข้างหน้า
ด้วยเหตุนี้ล่ะครับ ที่ผมจึงเลือกที่จะเขียนถึงพัฒนาการเศรษฐกิจของประเทศที่เคยถูกมองว่า “ด้อยพัฒนา” เพราะด้วยความเป็นโลกาภิวัตน์ทำให้เราได้เรียนรู้ มองเห็น และเลือกว่าเราจะเดินไปในเส้นทางใดที่เหมาะกับสังคมและประเทศชาติของเรา
เกริ่นมาเสียยาวเลยนะครับ คอลัมน์ฉบับนี้ผมขอนำเรื่องของ “คาซัคสถาน” ประเทศในแถบเอเชียกลาง ที่ได้ชื่อว่ามีขุมทรัพย์น้ำมันมหาศาล จนรัสเซียเองก็ไม่อยากที่จะปล่อยคาซัคสถานให้หลุดมือไป และคาซัคสถานนี่แหละครับได้กลายเป็นยุทธศาสตร์ใหม่ที่ทั้งสหรัฐอเมริกา รัสเซีย และจีน มุ่งที่จะผูกมิตรเพื่อหวังผลประโยชน์ด้านพลังงานในวันข้างหน้า
ธงชาติคาซัคสถาน (Kazakhstan)
ดินแดนที่เป็นยุทธศาสตร์ด้านพลังงานในศตวรรษนี้
คาซัคสถาน: ข่านน้ำมันแห่งเอเชียกลาง
คาซัคสถานเป็นประเทศที่อยู่ในเขตเอเชียกลาง มีพรมแดนติดกับรัสเซีย จีน อุซเบกิสถาน เติร์กเมนิสถาน จีน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้คาซัคสถานเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลครับ แต่ยังโชคดีที่ทางด้านตะวันตกนั้นติดกับทะเลสาบแคสเปียน (Caspian Sea)
คาซัคสถานมีเนื้อที่ใหญ่เป็นอันดับ 9 ของโลก มีประชากรประมาณ 16.6 ล้านคน โดยร้อยละ 60 เป็นชาวคาซัค (Kazakhs)
ปัจจุบันเมืองหลวงของคาซัคสถาน คือ เมืองอัสตาน่า (Astana) อยู่ทางตอนเหนือของประเทศสร้างขึ้นมาแทนที่เมืองหลวงเดิม คือ เมืองอัลมาตี (Almaty) ที่อยู่ทางใต้
แม้สภาพภูมิประเทศของคาซัคสถานจะเป็นทะเลทรายแบบภาคพื้นทวีป ที่ถึงเวลาร้อนก็ร้อนและแห้งแล้ง ถึงเวลาหนาวก็หนาวจนติดลบ ทำให้พื้นที่แบบนี้ไม่เหมาะสมที่จะเพาะปลูกอะไรได้มากนัก เว้นแต่เลี้ยงสัตว์ได้อย่างเดียว
แต่ในความโชคร้ายก็ยังมีความโชคดีอยู่บ้างนะครับ เพราะคาซัคสถานอุดมไปด้วยน้ำมันปิโตรเลียม แก๊สธรรมชาติ ถ่านหิน แร่เหล็ก แมงกานิส นิกเกิล ทองแดง ทองคำ ตะกั่ว ยูเรเนียม แถมยังมีฟลูโอรีนมากที่สุดเป็นอันดับสองของโลก
ที่น่าสนใจไปกว่านั้น คือ คาซัคสถานมีบ่อน้ำมันและแก๊ส (Oil Field) มากถึง 172 บ่อ นับเป็นแหล่งพลังงานสำรองน้ำมันที่มีศักยภาพสูงมากในปัจจุบัน
กล่าวกันว่าหลังจากคาซัคสถานแยกตัวออกจากสหภาพโซเวียตแล้ว คาซัคสถานสามารถผลิตน้ำมันส่งออกได้มากกว่า 100 ล้านตันต่อปี และนี่คือเหตุผลว่าทำไมทั้งสหรัฐอเมริกา จีนและรัสเซียจึงจ้องคาซัคสถานกันตามัน
ความสวยงามของเมืองอัสตาน่า เมืองหลวงของคาซัคสถาน
(บน) หอคอย Bayterek ที่เปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของเมืองอัสตาน่า
(กลาง) มัสยิด Nur Astana ซึ่งชาวคาซัคส่วนใหญ่เป็นมุสลิมนิกายสุหนี่
(ล่าง) ทำเนียบประธานาธิบดีคาซัคสถาน หรือ Ak Orda President Palace
ในอดีตสหภาพโซเวียตกำหนดให้คาซัคสถานมีความชำนาญด้านเกษตรกรรม (Krushchev Virgin Land) ขณะที่อุตสาหกรรมนั้นเน้นเรื่องการทำเหมืองแร่และผลิตเครื่องจักรขนาดใหญ่
คาซัคสถานเป็นประเทศสุดท้ายที่ประกาศเอกราชออกจากโซเวียตครับ และนับจากวันนั้นเป็นต้นมาคาซัคสถานมีการปกครองแบบประชาธิปไตย โดยมีประธานาธิบดีทั้งเป็นประมุขและผู้บริหารประเทศ
อย่างไรก็ตามเรื่องที่น่าสนใจมากที่สุดเกี่ยวกับการเมืองคาซัคสถาน คือ การครองอำนาจที่ต่อเนื่องยาวนานของประธานาธิบดี นูร์ซุลตาน นาร์ซาร์บาเยฟ (Nursultan Nazabayev) ที่ปกครองคาซัคสถานมาตั้งแต่แยกตัวออกมาจากสหภาพโซเวียต
นายนูร์ซุลตาน นาร์ฐาร์บาเยฟ
ผู้นำที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในแถบเอเชียกลาง
เปรียบเสมือน “ข่าน”สมัยใหม่ของชาวคาซัค
ในอดีตนายนาร์ซาร์บาเยฟ เคยเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งคาซัค (Kazakh SSR) สมัยที่ยังอยู่กับสภาพโซเวียต เขามีบุคลิกที่โดดเด่นและมีภาวะผู้นำสูงมากนะครับ เพราะไม่เพียงแต่จะสร้างคาซัคสถานยุคใหม่ให้เป็นปึกแผ่นแล้ว นาร์ซาบาเยฟยังสามารถรักษาสถานภาพของคาซัคสถานบนเวทีโลกได้อย่างเจนจัดและมีลูกเคี่ยวพอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรู้ว่าคาซัคสถานเป็นที่หมายปองของเหล่ามหาอำนาจเพราะเป็นจุดยุทธศาสตร์ด้านพลังงานที่ใคร ๆ ก็อยากทอดไมตรีด้วย
นาร์ซาบาเยฟเริ่มต้นปฏิรูปเศรษฐกิจคาซัคสถานโดยเรียนรู้จากความผิดพลาดและประสบการณ์การเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจของประเทศคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออกก่อน เขาให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจของคาซัคสถานแบบค่อยเป็นค่อยไปเพื่อสามารถรองรับระบบเศรษฐกิจแบบตลาดที่โลกตะวันตกใช้
นายนาร์ซาบาเยฟกับสามผู้นำชาติมหาอำนาจ (บน) กับอดีตประธานธิบดีบุช
(กลาง) กับนายกรัฐนตรีเหวิน เจีย เป่าแห่งจีน (ล่าง) กับประธานธิบดีเมเดเวฟ แห่งรัสเซีย
ความสำเร็จในการปฏิรูปเศรษฐกิจของคาซัคสถานทำให้คาซัคสถานเป็นประเทศแรกที่แยกตัวออกจากสหภาพโซเวียตแล้วได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือในการลงทุนจาก Moody และ Standard&Poor
รัฐบาลของนายนาร์ซาบาเยฟทำให้ตัวเลขการจำเริญเติบโตทางเศรษฐกิจของคาซัคสถานสูงเฉลี่ยต่อเนื่องกว่าร้อยละ 9 มาโดยตลอด แถมยังสามารถชำระหนี้คืน IMF ได้ล่วงหน้าถึง 7 ปี และแน่นอนครับว่าการที่คาซัคสถานเดินมาถึงจุดนี้ได้คงต้องยกความดีให้กับนโยบายการจัดการด้านพลังงานโดยเฉพาะน้ำมันและแก๊สธรรมชาติที่เป็นอุตสาหกรรมส่งออกหลักของคาซัคสถาน
ตัวเลขการส่งออกน้ำมันของคาซัคสถานสูงถึง 60% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด และหากนับรวมแหล่งพลังงานอื่น ๆ เช่น แก๊สธรรมชาติ ถ่านหิน ยูเรเนียม เข้าไปด้วยแล้วคาซัคสถานถูกจัดให้เป็นหนึ่งในสิบประเทศที่มีพลังงานสำรองมากที่สุดในโลก
ปัจจุบัน KazMunayGas เป็นรัฐวิสาหกิจด้านน้ำมันและแก๊สธรรมชาติที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในคาซัคสถานและเอเชียกลางเลย เพราะองค์กรแห่งนี้มีบทบาทต่อนโยบายด้านพลังงานของคาซัคสถานเป็นอย่างมากครับ
KazMunayGas
รัฐวิสาหกิจด้านพลังงานที่สำคัญที่สุดของคาซัคสถาน
นโยบายด้านพลังงานของคาซัคสถานที่สำคัญที่สุด คือ นโยบายน้ำมัน ซึ่งประมาณการกันว่าคาซัคสถานมีแหล่งน้ำมันดิบ (Crude oil) ถึง 3หมื่นล้านบาร์เรล ด้วยเหตุนี้ทำให้คาซัคสถานต้อนรับนักลงทุนต่างชาติเข้ามาเพื่อขุดเจาะน้ำมัน และมี KazMunayGas ร่วมทุนในโครงการสำคัญ ๆ
หากคาซัคสถานสามารถขุดเจาะน้ำมันได้มากกว่าเดิมจะทำให้มีปริมาณการผลิตต่อวันมากกว่า 3.5 ล้านบาร์เรลและส่งออกได้ถึงวันละ 3 ล้านบาร์เรล ส่งให้คาซัคสถานกลายเป็นหนึ่งในสิบประเทศผู้ส่งออกน้ำมันมากที่สุดของโลก
บ่อน้ำมันใหญ่ ๆ ในคาซัคสถาน ได้แก่ บ่อน้ำมันใน Tengiz ที่ตั้งอยู่บริเวณตะวันออกเฉียงเหนือของทะเลสาบแคสเปียน บ่อน้ำมันใน Karachaganak อยู่ติดพรมแดนรัสเซีย และบ่อน้ำมันใน Kashagan ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของทะเลสาบแคสเปียนโดย Kashagan field ถือเป็นบ่อน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดที่ตั้งอยู่นอกแหล่งน้ำมันหลักในตะวันออกกลาง
โครงการพัฒนาบ่อน้ำมันใน Kashagan หรือ Kashagan Field Development Project
ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของทะเลสาบแคสเปียน
นอกจากน้ำมันแล้ว คาซัคสถานยังเป็นประเทศที่มีพลังงานสำรองด้านอื่นอีกมากนะครับ อาทิเช่น เป็นแหล่งผลิตแก๊สธรรมชาติ เป็นแหล่งผลิตพลังงานถ่านหินอันดับ 9 ของโลก และเป็นแหล่งผลิตยูเรเนียมอันดับหนึ่งของโลกด้วย
อย่างไรก็ตามถ้าเรามองในแง่ลบ เราอาจคิดว่ารัฐบาลของนายนาร์ซาบาเยฟ เลือกที่จะขุดทรัพยากรประเทศออกมาขาย โดยไม่ได้เน้นความสามารถในการแข่งขันด้านอื่นเลย ซึ่งหากทรัพยากรเหล่านี้หมดไปเมื่อไหร่ คาซัคสถานก็จะกลับไปเป็นประเทศที่ยากจนเพราะไม่มีสมบัติเก่าให้ขุดกันอีกแล้ว
แต่ท่านผู้อ่านครับ โลกเราวันนี้การบริหารจัดการนับเป็นเรื่องสำคัญที่สุด การที่คาซัคสถานมีนโยบายพลังงานชัดเจนและเลือกที่จะพัฒนาขุดเจาะแหล่งน้ำมันหรือพลังงานอื่น ๆ โดยอาศัยเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศนั้นทำให้คาซัคสถานสามารถก้าวขึ้นมาเป็นประเทศที่มีอัตราการจำเริญเติบโตสูงที่สุดประเทศหนึ่ง
อย่างที่เรียนไปแล้วครับว่า แม้คาซัคสถานจะโชคร้ายในเรื่องสภาพภูมิประเทศ แต่สภาพภูมิประเทศดังกล่าวกลับสร้างขุมทรัพย์มหาศาล เพียงแต่ว่าคนที่ขุดเอาขุมทรัพย์เหล่านั้นมาใช้จะใช้ทรัพย์สินที่หาได้ไปในทางที่ยั่งยืนหรือไม่
ดังนั้น การจัดการเรื่องนโยบายพลังงานจึงเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจคาซัคสถานก็ว่าได้นะครับ
ทุกวันนี้คาซัคสถานร่วมมือกับจีนในการสร้างท่อส่งน้ำมัน (Pipeline) ขยายแนวท่อส่งแก๊สธรรมชาติในแถบเอเชียกลางผ่านเติร์กมินิสถาน อุซเบกิสถาน ไปยังรัสเซีย ลงนามใน MOU กับกลุ่มอียูเพื่อเป็นกรอบความร่วมมือด้านการพัฒนาพลังงาน
Kazakhstan-China Oil Pipeline
แนวก่อสร้างท่อส่งน้ำมันจากทะเลสาบแคสเปียนไปยังมณฑลซินเกียงของจีน
โดยเป็นการร่วมทุนกันระหว่าง China National Petroleum Corporation (CNPC) และ KazMunayGas
ในศตวรรษที่ 21 คาซัคสถานจึงกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์ด้านพลังงานสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลกนอกเหนือจากกลุ่มประเทศโอเปกที่ใช้ “น้ำมัน” เป็นเครื่องมือต่อรองทางเศรษฐกิจมาโดยตลอด
การดำเนินนโยบายการพัฒนาประเทศของนายนาร์ซาบาเยฟที่เลือกจะไม่เข้าไปร่วมกลุ่มโอเปคทั้งที่เป็นชาติอิสลามเหมือนกันนับเป็นแนวทางที่ชาญฉลาดมากนะครับ เพราะคาซัคสถานสามารถกำหนดนโยบายพลังงานได้อย่างมีอิสระ
นอกจากนี้รัฐบาลของนายนาร์ซาบาเยฟยังผูกสัมพันธ์อันดีกับอิหร่าน รวมไปถึงอิสราเอล ซึ่งมีน้อยประเทศนักจะทำแบบนี้ได้ นั่นแสดงให้เห็นบารมีและภาวะผู้นำของเขาได้เป็นอย่างดี
คาซัคสถานในวันนี้ไม่เหมือนเมื่อครั้งที่มีสหภาพโซเวียตปกครองอีกต่อไปแล้วนะครับ เพราะทุกวันนี้ดินแดนของชาวคาซัคแทบจะ “เนื้อหอม” มากที่สุดในศตวรรษนี้…แล้วพบกันใหม่ฉบับหน้าครับ
ในศตวรรษที่ 21 คาซัคสถานจึงกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์ด้านพลังงานสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลกนอกเหนือจากกลุ่มประเทศโอเปกที่ใช้ “น้ำมัน” เป็นเครื่องมือต่อรองทางเศรษฐกิจมาโดยตลอด การดำเนินนโยบายการพัฒนาประเทศของนายนาร์ซาบาเยฟที่เลือกจะไม่เข้าไปร่วมกลุ่มโอเปคทั้งที่เป็นชาติอิสลามเหมือนกันนับเป็นแนวทางที่ชาญฉลาดมากนะครับ เพราะคาซัคสถานสามารถกำหนดนโยบายพลังงานได้อย่างมีอิสระ
นอกจากนี้รัฐบาลของนายนาร์ซาบาเยฟยังผูกสัมพันธ์อันดีกับอิหร่าน รวมไปถึงอิสราเอล ซึ่งมีน้อยประเทศนักจะทำแบบนี้ได้ นั่นแสดงให้เห็นบารมีและภาวะผู้นำของเขาได้เป็นอย่างดี คาซัคสถานในวันนี้ไม่เหมือนเมื่อครั้งที่มีสหภาพโซเวียตปกครองอีกต่อไปแล้วนะครับ เพราะทุกวันนี้ดินแดนของชาวคาซัคแทบจะ “เนื้อหอม” มากที่สุดในศตวรรษนี้…แล้วพบกันใหม่ฉบับหน้าครับ
เอกสารและภาพประกอบการเขียน
1. www.wikepedia.org
2. Jonathan Aitken, Nazarbayev and the Making of Kazakhstan
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด