เนื้อหาวันที่ : 2013-04-23 09:34:58 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2633 views

รอบโลกเศรษฐกิจ (Around the World Economy) “อาร์เจนติน่า” ที่มาเห็น (ตอนที่ 1)

ความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินนั้นต้อง “แลก” กับประสบการณ์การป้องกัน

รอบโลกเศรษฐกิจ (Around the World Economy) “อาร์เจนติน่า” ที่มาเห็น (ตอนที่ 1)

สุทธิ สุนทรานุรักษ์
นักวิชาการตรวจเงินแผ่นดิน 6 สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน, Ph.d. (Candidate) of School of Development Economics, National Institute Development Administration (NIDA)

ก่อนเริ่มต้นเรื่องนี้ ผู้เขียนต้องขอแสดงความเสียใจกับผู้ประสบอุทกภัยครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบห้าสิบปีที่ผ่านมา ความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินนั้นต้อง “แลก” กับประสบการณ์การป้องกันอุทกภัยทั้งใน “ภาพใหญ่” ที่รัฐบาลควรให้ความสำคัญมากกว่าการประกาศเตือนภัยไปจนถึง “ภาพเล็ก” อย่างพวกเราชาวบ้านธรรมดาที่ต้องหาวิธีการป้องกันตนเองจากอุทกภัยที่ไม่มีใครสามารถประเมินสถานการณ์ระดับความรุนแรงได้


 ผู้เขียนเองในฐานะผู้ประสบอุทกภัยไปกับเขาด้วย ได้แต่นั่งมองระดับน้ำ (เน่า) ที่เพิ่มขึ้นทุกวันพร้อมกับดูวิธีการแก้ปัญหาแบบเล่นเพลงคนละคีย์กันระหว่าง “ศปภ.” กับ “กทม.” ที่สะท้อนให้เห็นวิธีการทำงานกันแบบสะเปะสะปะ มิพักต้องเอ่ยถึงข่าวฉาวทุจริตรายวันตั้งแต่เรื่องการอมถุงยังชีพ การนำกระสอบทรายบิ๊คแบคเพื่อมากั้นทางระบายน้ำจนทำให้พื้นที่ชุมชนบางแห่งกลายเป็นแก้มลิงรับน้ำไป

ยังไม่รวมถึงปัญหาความขัดแย้งในการเปิดปิดประตูระบายน้ำ และท้ายที่สุดความไม่พอใจดังกล่าวได้ทำให้ชาวบ้านก่อม็อบขึ้นมาเพื่อกดดันให้รัฐบาลและ กทม.รีบแก้ปัญหาโดยเร็ว


     วิกฤตอุทกภัยรอบนี้ทำให้เรามองเห็น “ความลักลั่น” ในการเลือกปฏิบัติตลอดจนความไม่เป็นธรรมในการป้องกันน้ำท่วมหนนี้ เพราะตราบใดหากเรายังคิดว่า “กรุงเทพ” คือ ประเทศไทยทั้งหมด เราก็จะเลือกปกป้องกรุงเทพโดยไม่สนใจจังหวัดอื่น ๆ ว่าพวกเขาจะต้องแบกรับความทุกข์จากการที่บ้านเรือนเสียหายเพื่อเป็นพื้นที่รับน้ำให้กับชาวเมืองกรุงได้ใช้ชีวิตกันตามปกติ ทั้งที่ทุกคนล้วนต้องจ่ายภาษีเหมือน ๆ กัน


 ทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็น “ความล้มเหลว” ของคนทำงานตั้งแต่ระดับกำหนดนโยบายไปจนถึงระดับปฏิบัติ

 
     จริงอยู่ครับว่า การทำงานทุกอย่างย่อมมี “ข้อผิดพลาด” แต่หากความผิดพลาดที่เกิดจากการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย เล่นพรรคเล่นพวก หาโอกาสทุจริตฉ้อฉลในยามที่เพื่อนร่วมชาติต้องประสบชะตากรรมอยู่นั้น นับเป็นความล้มเหลวในการแก้ปัญหาชนิดที่เรียกว่า “ไม่สามารถยอมรับได้”

หลังน้ำลดแล้ว ปัญหาเรื่องการทุจริตเงินช่วยเหลือ ฟื้นฟูหรือหากินกับงบประมาณการฟื้นฟูเยียวยาก็คงปรากฏให้เห็นอีก ขณะที่การแสดงความรับผิดชอบหรือ Accountability ของผู้เกี่ยวข้องนั้นคงหาได้ยากยิ่งนักในสังคมไทยทุกวันนี้


 ดูแล้ว มันหดหู่ สิ้นหวังเสียเหลือเกินนะครับสำหรับบ้านเรา


 ช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ผู้เขียนมีโอกาสไปเยือนประเทศอาร์เจนติน่า โดยร่วมเป็นคณะผู้แทนของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเพื่อเข้าร่วมประชุมเกี่ยวกับการตรวจสอบด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Auditing) ซึ่งเป็นแนวคิดการตรวจสอบที่สอดคล้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือ Sustainable Development


 การพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นการพัฒนาที่สร้างความสมดุลระหว่างการจำเริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การพัฒนาสังคมตลอดจนอนุรักษ์สภาพแวดล้อมเพื่อให้คนรุ่นหลังสามารถใช้ทรัพยากรที่มีอย่างจำกัดได้เช่นเดียวกับคนรุ่นเรา


 การเดินทางไปเยือนกรุงบัวโนสไอเรส เมืองหลวงของอาร์เจนติน่าในครั้งนี้นับว่า “คุ้มค่า” กับการเดินทางหนีน้ำท่วม เพราะต้องนั่งเครื่องบินถึง 27 ชั่วโมง แต่สิ่งที่ได้เห็นมากับตา คือ บ้านเมือง สภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชาวอาร์เจนไตน์ ประเทศที่ครั้งหนึ่งเคยได้ชื่อว่าเป็น “ต้นตำรับของนโยบายประชานิยม”

 
     จะเป็นอย่างไรนั้นติดตามต่อไปได้ในตอน “อาร์เจนติน่า ที่มาเห็น” ครับ

 

อาร์เจนติน่า ที่มาเห็น: จากเรืองรองสู่โรยรา 

 

ขึ้นชื่อว่า “อาร์เจนติน่า” เราคงนึกถึงภาพของนักฟุตบอลเสื้อสี “ฟ้าขาว” ลงไล่ล่าตาข่ายในศึกฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายทุกครั้ง เพราะอาร์เจนติน่า คือ หนึ่งในยอดทีมของโลกที่ผลิตดารานักเตะมาตั้งแต่ยุคของมาริโอ คัมเปส (Mario Kempes) ดีเอโก้ มาราโดน่า (Diego Maradona) และซูเปอร์สตาร์คนล่าสุด ลีโอเนล เมสซี่ (Lionel Messi)

 ขึ้นชื่อว่า “อาร์เจนติน่า” เราคงนึกถึงภาพของนักฟุตบอลเสื้อสี “ฟ้าขาว” ลงไล่ล่าตาข่ายในศึกฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายทุกครั้ง เพราะอาร์เจนติน่า คือ หนึ่งในยอดทีมของโลกที่ผลิตดารานักเตะมาตั้งแต่ยุคของมาริโอ คัมเปส (Mario Kempes) ดีเอโก้ มาราโดน่า (Diego Maradona) และซูเปอร์สตาร์คนล่าสุด ลีโอเนล เมสซี่ (Lionel Messi)


 อย่างไรก็ดีอาร์เจนติน่าเองก็ไม่ได้มีดีเพียงแค่ฟุตบอลเพียงอย่างเดียวหรอกนะครับ ชื่อของอาร์เจนติน่ายังเป็นตัวอย่างของประเทศที่บริหารเศรษฐกิจ “ผิดพลาด” โดยเฉพาะนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่พุ่งเป้าไปที่เรื่อง นโยบายประชานิยม จนเวลาเราพูดถึงประชานิยม เรามักจะนึกถึง “อาร์เจนติน่า” อีกเช่นกัน


 นอกจากนี้อาร์เจนติน่ายังเป็นแหล่งบ่มเพาะนักเคลื่อนไหว นักต่อสู้ทางอุดมการณ์ อย่าง เออเนสโต “เช” กูวารา ที่วันนี้กลายเป็นไอคอนของสิงห์รถบรรทุกตามท้องถนนไปเสียแล้ว แต่จริง ๆ แล้ว “เช” คือ สหายร่วมรบกับ ฟิเดล คาสโตร (Fidel Castro) ผู้ปลดปล่อยคิวบาออกจากแอกจักรวรรดินิยมอเมริกาก่อนที่เชจะไปจบชีวิตที่โบลิเวีย

                                      

 

 

ดีเอโก้ มาราโดน่า, เช กูวารา และ ลีโอเนล เมสซี่
บุคคลสำคัญที่กลายเป็นตำนานของชาวอาร์เจนไตน์

 

 แต่สำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจแล้วอาร์เจนติน่าเป็นประเทศที่มีพัฒนาการทางเศรษฐกิจไม่ต่างจากประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายครับ


     อาร์เจนติน่ากระโจนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโลกจากแรงผลักของเจ้าอาณานิคมสเปน ทั้งนี้นับตั้งแต่สเปนเข้าครอบครองผืนดินทางตอนใต้ของทวีปอเมริกาใต้แล้ว ชาวสเปนได้เริ่มอพยพมาสร้างบ้านแปลงเมือง รวมไปถึงชาวอิตาเลียนที่ข้ามน้ำข้ามทะเลมาปักหลักตามเมืองใหญ่ต่าง ๆ เช่น บัวโนสไอเรส (Buenos Aires) คอร์โดบา (Cordoba) ซานตาเฟ่ (Santa Fe) และเมนโดซ่า (Mendoza)


     ว่ากันว่าในช่วงที่ชาวยุโรปอพยพเข้ามาในอาร์เจนติน่าจำนวนมากนั้น ทำให้อาร์เจนติน่าได้รับการขนานนามว่าเป็น “ประเทศยุโรปในลาตินอเมริกา” ก็เนื่องด้วยสภาพสังคมนั้นคล้ายคลึงกับประเทศในยุโรป

 
     ในศตวรรษที่ 18-19 การอพยพเข้ามาของชาวยุโรปได้สร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจให้กับอาร์เจนติน่าซึ่งครั้งหนึ่งอาร์เจนติน่าเคยได้รับการจัดอันดับว่าเป็นประเทศที่ร่ำรวยติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก

 
     แต่น่าสนใจนะครับว่าเพราะเหตุใดเศรษฐกิจของอาร์เจนติน่าถึงล้มคว่ำคะมำหงายลงไปไม่เป็นท่าในช่วงศตวรรษต่อมา
     นักเศรษฐศาสตร์หลายคนสงสัยกันว่า หรือจะเป็นเพราะ “นโยบายประชานิยม” ของรัฐบาลอาร์เจนไตน์ที่ดำเนินมาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 แล้ว

 

ประชานิยม: การใช้ทรัพยากรส่วนรวมเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง


 โดยทั่วไปฐานคิดของนักเศรษฐศาสตร์จากค่ายเสรีนิยมนั้นจะไม่สนับสนุนให้รัฐบาลเข้าไปแทรกแซงกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยไม่จำเป็น เพราะพวกเขาเชื่อว่า “กลไกตลาด” หรือ “กลไกราคา” คือ มือที่มองไม่เห็น (Invisible Hand) ที่จะจัดสรรทรัพยากรได้มีประสิทธิภาพมากที่สุด


 ด้วยเหตุนี้นโยบายทางเศรษฐกิจของโลกเสรีนิยมจึงเป็นไปในลักษณะที่มุ่งไปที่เรื่องการรักษาเสถียรภาพพร้อม ๆ กับการสร้างความจำเริญเติบโตทางเศรษฐกิจโดยใช้การลงทุน (Investment) และการส่งออก (Export) เป็นสำคัญ


 อย่างไรก็แล้วแต่ ในยามที่ประเทศเผชิญวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ รัฐบาลจำเป็นต้องเข้ามากระตุ้นให้เศรษฐกิจนั้นฟื้นตัวด้วยการอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจผ่านการใช้จ่ายของรัฐ (Government Spending) ทำนองเดียวกับการใช้นโยบายด้านภาษี เช่น การลดอัตราภาษีบางประเภทเพื่อกระตุ้นให้เกิดการบริโภค (Consumption) เพิ่มขึ้น อันจะทำให้เศรษฐกิจฟื้นฟูขึ้นมาภายในไม่ช้า


 จริง ๆ แล้วกรอบการบริหารเศรษฐกิจเชิงมหภาคนั้นมีไม่มากเท่าใดหรอกนะครับ เพียงแต่เวลานำไปปฏิบัติจริงให้ได้ตามทฤษฎีนั้นออกจะเป็นเรื่องที่ยากพอสมควร
 นั่นหมายถึงว่าไม่มี “สูตรสำเร็จ” ตายตัวในการฟื้นฟูเศรษฐกิจหรือแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่ซบเซา ซึ่งโดยส่วนตัวของผู้เขียนเอง คิดว่าการที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้ส่วนหนึ่งมาจากเรื่องความเชื่อมั่นของผู้คนในประเทศครับ


 สำหรับอาร์เจนติน่าแล้ว ในช่วงศตวรรษที่ 19 นั้น พวกเขาจัดเป็นประเทศที่พัฒนาไปได้ไกลมากไม่ต่างจากประเทศศิวิไลซ์ในยุโรปอย่างฝรั่งเศส เยอรมนี อังกฤษ ทั้งนี้รายได้หลักของอาร์เจนติน่ามาจากการผลิตสินค้าเกษตรขายเนื่องจากมีผืนดินที่กว้างใหญ่และอุดมสมบูรณ์ ประกอบกับมีสภาพภูมิอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการเลี้ยงสัตว์และปลูกพืชไร่ส่งออก โดยเฉพาะตลาดสำคัญ คือ ยุโรป ซึ่งทำให้อาร์เจนติน่าพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว


 แต่อย่างไรก็ตามผืนดินที่กว้างใหญ่เหล่านี้กลับตกเป็นของนายทุนเพียงไม่กี่ราย นายทุนจึงกลายเป็น “ชนชั้นปกครอง” ที่บริหารประเทศติดต่อกันเป็นเวลายาวนาน ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้ชาวอาร์เจนไตน์ส่วนใหญ่นั้นไม่สามารถเป็นเจ้าของที่ทำกินของตนเองได้


 ชาวอาร์เจนไตน์ส่วนใหญ่ประกอบด้วยชนชั้นกลางและชนชั้นแรงงาน คนเหล่านี้เป็นชาวยุโรปอพยพโดยเฉพาะมาจากสเปนและอิตาเลียนซึ่งมีธาตุทรหดอดทนในการทำมาหากินไม่แพ้ชาวยิวหรือชาวจีน นอกจากนี้ยังมีชาวพื้นเมืองรวมไปถึงพวกเมสติโซ่ (Mestizo) ซึ่งเป็นพวกยุโรปที่ผสมกับชาวพื้นเมือง (Native American)
 กลุ่มคนเหล่านี้ได้รับประโยชน์เพียงน้อยนิดจากรัฐบาลนายทุนเจ้าของที่ดิน จึงทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมในโครงสร้างเศรษฐกิจของอาร์เจนติน่า


 ในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของดินแดนลาตินอเมริกานั้น ลักษณะเด่นประการหนึ่งของการพัฒนาเศรษฐกิจในดินแดนแถบนี้ คือ การที่มีเจ้าที่ดินเพียงไม่กี่ตระกูลถือครองที่ดินส่วนใหญ่ในประเทศและใช้ระบบการ “เช่านา” เพื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตส่งออก โดยเกษตรกรเป็นเพียงแรงงานรับจ้างไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดิน


 ด้วยเหตุนี้ปัญหาในลาตินอเมริกานอกจากเรื่องความต้องการที่จะปลดแอก เรียกร้องเอกราชจากจักรวรรดินิยมสเปนและโปรตุเกสแล้ว ปัญหาเรื่องความไม่เป็นธรรมในการถือครองที่ดินและความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นได้กลายเป็นแรงขับให้ชาวลาตินลุกขึ้นสู้ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการปฏิวัติเพื่อสลัดให้พ้นจากลัทธิล่าอาณานิคม


 รัฐบาลของนายอิริโกเยน ซึ่งในอดีตเขาเคยเป็นนักต่อสู้เคลื่อนไหวทางสังคมจึงเริ่มใช้นโยบายประชานิยมเพื่อเอาชนะใจชาวบ้านร้านตลาดที่ไม่มีโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรของรัฐเพราะถูกรัฐบาลนายทุนเอาเปรียบตลอดเวลา


 ในสมัยของรัฐบาลนายอิริโกเยน เขาดำเนินนโยบายวางตัวเป็นกลางในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้การเปิดตลาดการค้าสินค้าเกษตรของอาร์เจนติน่าเป็นไปอย่างสะดวกโยธินเนื่องจากไม่เลือกถือหางเข้าข้างใคร จนอาร์เจนติน่าได้รับการขนานนามว่าเป็น “ยุ้งฉางของโลก” หรือ The granary of the world

 

Hipolito Yrigoyen อดีตประธานาธิบดีอาร์เจนติน่า 2 สมัย (1916-1922, 1926-1928)
ผู้ที่ได้ชื่อว่าพ่อพระของคนยาก ต้นตำรับของแท้และดั้งเดิมนโยบายประชานิยม

 
     อิริโกเยนชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีอาร์เจนติน่าสองสมัย โดยสมัยแรกเขาได้ทำให้ชาวอาร์เจนไตน์ลิ้มรสกับ “นโยบายคุณพ่อใจดี” จนได้รับการขนานนามว่าเป็นพ่อพระของคนยากไร้ ขณะที่ชัยชนะทางการเมืองครั้งที่สองของเขาในปี 1926 ทำให้อิริโกเยนกลายเป็นประธานาธิบดีที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคนหนึ่งในยุคนั้นก็เพราะนโยบายประชานิยมที่ชนะใจชนชั้นแรงงานและชนชั้นกลางนั่นเอง


 อย่างไรก็ดีรัฐบาลอิริโกเยนต้องถูกรัฐประหารในปี 1928 ซึ่งนับเป็นการรัฐประหารครั้งแรกของประเทศโดยนายพลโชเซ่ เฟลิกซ์ ยูริบูรู (Jose Felix Uriburu) เนื่องจากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาและลุกลามบานปลายมาถึงอาร์เจนติน่า ช่วงเวลาดังกล่าวกองทัพได้หาช่องทางทำรัฐประหารเพื่อก้าวขึ้นสู่อำนาจ

 
 อาจกล่าวได้ว่าประวัติศาสตร์ทางการเมืองของอาร์เจนติน่าช่วงนั้นไม่แตกต่างจากประวัติศาสตร์ทางการเมืองของไทย เพราะบทบาทของเหล่าขุนทหารทั้งหลายที่ผันตัวเองมาเป็นนักการเมืองซึ่งท้ายที่สุดแล้วก็นำพาประเทศถอยหลังลงคลอง


 การถอยหลังลงคลองของอาร์เจนติน่ายุคนั้นถึงขนาดมีคนเรียกยุคนั้นว่า Infamous Decade หรือ “ทศวรรษที่น่าขายหน้า”

สภาพการณ์ที่ล้มลุกคลุกคลานของระบอบประชาธิปไตยในอาร์เจนติน่าที่มีกองทัพเข้ามาแทรกแซงอยู่บ่อยครั้งนั้น ทำให้อาร์เจนติน่าเองก็เริ่มเข้าสู่ภาวการณ์พัฒนาที่ช้าลงไปจนถึงขั้นถดถอยเลยทีเดียวครับ

บัวโนสไอเรส เมืองหลวงของอาร์เจนติน่าในวันที่ดินแดนแห่งนี้
รุ่งโรจน์สูงสุดช่วงต้นศตวรรษที่ 20

 

การรัฐประหารครั้งต่อมาของอาร์เจนติน่าเรียกว่า Revolution of 43 ซึ่งทำเมื่อปี 1943 โดยกลุ่มนายทหารที่เรียกตัวเองว่า Grupo de Oficiales Unidos หรือ GOU ที่โค่นล้มรัฐบาลนายรามอน คาสติลโล่ (Ramon Castillo)


 ตลอดระยะเวลา 30 ปี นับตั้งแต่ปีที่อิริโกเยนขึ้นครองอำนาจทั้งรัฐบาลพลเรือนและรัฐบาลทหารต่างใช้นโยบายประชานิยมเพื่อ “ผูกใจ” ชาวอาร์เจนไตน์ จนกระทั่งมาถึงยุคผู้นำที่กลายเป็นสัญลักษณ์ของนโยบายประชานิยมยุคใหม่ คือ นายพลฮวน เปรอง (Juan Peron) ยิ่งทำให้นโยบายประชานิยมของอาร์เจนติน่ามีชื่อเสียงมากที่สุด


 เปรองเป็นหนึ่งในกลุ่มทหารคณะรัฐประหาร GOU เขาได้ขึ้นปกครองอาร์เจนติน่าเมื่อปี1946 โดยเปรองเริ่มต้นด้วยการขึ้นค่าแรงคนงาน พยายามทำให้เกิดการจ้างงานเต็มที่ เน้นการเจริญเติบโตทางด้านอุตสาหกรรม พัฒนาปรับปรุงสาธารณูปโภคต่าง ๆ ให้ทันสมัย

 
 กล่าวกันว่าในยุคของเปรองนั้น กองทัพอาร์เจนติน่ามีความเข้มแข็งและทันสมัยมากถึงขนาดสามารถผลิตเครื่องบินรบขับไล่ได้


     นอกจากนี้เปรองยังมีภรรยาสาวสวยนามว่า “เอวิตา เปรอง” (Evita Peron) ซึ่งในเวลาต่อมาได้กลายเป็นประธานาธิบดีอาร์เจนติน่าเช่นกัน


 รัฐบาลเปรองได้ใช้นโยบายประชานิยมต่าง ๆ เพื่อเอาอกเอาใจจนถึงขั้นมอมเมาประชาชนอาร์เจนติน่าโดยไม่สนใจว่ารัฐได้ใช้นโยบายการคลังแบบขาดดุลแบบเรื้อรังติดต่อกันมานานหลายปี เท่านั้นยังไม่พอยังมีการก่อหนี้สาธารณะกันเป็นว่าเล่น ซึ่งในตอนต้นรัฐบาลเจ้าหนี้ยังเห็นแก่เครดิตของอดีตความเป็นประเทศร่ำรวยแต่ต่อมาหลายประเทศเริ่มรู้แล้วว่าอาร์เจนติน่าอาจไม่มีปัญญาชำระหนี้ได้ ความช่วยเหลือต่าง ๆ จึงเริ่มลดลง


 เมื่อใช้นโยบายการคลังไม่ได้ผล การหันมาใช้นโยบายการเงินด้วยการพิมพ์ธนบัตรเพิ่มอีกยิ่งทำให้อาร์เจนติน่าเกิดปัญหาเงินเฟ้ออย่างรุนแรง (Hyperinflation) ซึ่งทำให้อาร์เจนติน่านั้นถึงกับล้มละลายเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1956 หลังจากที่เปรองหมดอำนาจไปแล้ว

 

ประธานาธิบดีฮวน เปรอง และภริยาคู่ใจ เอวิต้า เปรอง
สองสามีภรรยาผู้สานต่อนโยบายประชานิยม

 

ผู้เขียนเล่ามาถึงตรงนี้คงต้องขออนุญาต “พักครึ่ง” ก่อนนะครับ เนื่องจากเรื่องเล่าจากอาร์เจนติน่านั้นยังมีต่ออีกตอนหน้า โดยเฉพาะฉบับหน้าผู้เขียนจะเล่าถึงวิกฤตเศรษฐกิจที่ทำให้ชาวอาร์เจนไตน์ต้องทุกข์ทรมานโดยเฉพาะการดำเนินนโยบายทางการเงินที่เรียกว่า Collarito ซึ่งรัฐบาลได้ห้ามมิให้ประชาชนถอนเงินออกมาใช้เนื่องจากเกรงว่าประเทศจะล้มละลาย

 
 แล้วพบกันใหม่ฉบับหน้าครับ

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด