เนื้อหาวันที่ : 2013-04-22 17:36:04 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2490 views

ทูฟ ซูด พีเอสบี (ประเทศไทย) รุกธุรกิจบริการตรวจสอบลิฟต์ สู่มาตรฐานสากล VDI 4707 Part 1

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในปัจจุบันกระแสการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมกำลังเป็นที่สนใจของคนทั่วทั้งโลก

ทูฟ ซูด พีเอสบี (ประเทศไทย)
รุกธุรกิจบริการตรวจสอบลิฟต์ สู่มาตรฐานสากล VDI 4707 Part 1


เศรษฐกาญจน์ อนุวัตรวงศ์
 
sedthakarn@se-ed.com
    
     ปฏิเสธไม่ได้ว่าในปัจจุบันกระแสการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมกำลังเป็นที่สนใจของคนทั่วทั้งโลก ผลิตภัณฑ์ที่ถูกออกแบบมาให้ประหยัดพลังงาน จึงเป็นอุปกรณ์สำคัญที่ถูกนำมาใช้กับอาคารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Building) ด้วยเช่นกัน และหนึ่งในผลิตภัณฑ์สำคัญที่กล่าวถึงก็คือ ลิฟต์ ซึ่งจะช่วยทำหน้าที่อำนวยความสะดวกให้กับการดำเนินงานในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งการโดยสารภายในอาคาร การขนส่ง หรือแม้แต่การใช้งานในภาคอุตสาหกรรม

     ดังนั้นประเด็นของความปลอดภัย การติดตั้ง รวมถึงการตรวจสอบการทำงานของลิฟต์ จึงเป็นความสำคัญเบื้องต้นที่ผู้ประกอบการลิฟต์ เจ้าของอาคาร หรือแม้แต่บุคคลที่สาม (Third Party) ซึ่งมีหน้าที่ดูแลตรวจสอบการทำงานของลิฟต์นั้น จะมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยให้ลิฟต์ทำงานได้อย่างปลอดภัย และใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพไปพร้อมกัน 

     มร.ซิกฟรีด แฮร์มัน เมลเซอร์ รองหัวหน้าฝ่ายรับรองคุณภาพ และผู้จัดการฝ่ายตรวจสอบเพื่อรับรองคุณภาพระดับสากล บริษัท ทูฟ ซูด อินดัสทรี เซอร์วิส จีเอ็มบีเอช จำกัด (ประเทศเยอรมนี)
มร.ฌอน บอย ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ทูฟ ซูด พีเอสบี (ประเทศไทย) จำกัด

     วารสาร อินดัสเตรียล เทคโนโลยี รีวิว ฉบับนี้ ขออนุญาตนำท่านผู้อ่านไปทำความรู้จักกับ มร.ซิกฟรีด แฮร์มัน เมลเซอร์ รองหัวหน้าฝ่ายรับรองคุณภาพ และผู้จัดการฝ่ายตรวจสอบเพื่อรับรองคุณภาพระดับสากล บริษัท ทูฟ ซูด อินดัสทรี เซอร์วิส จีเอ็มบีเอช จำกัด (ประเทศเยอรมนี) และ มร.ฌอน บอย ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ทูฟ ซูด พีเอสบี (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งได้ให้เกียรติมาพูดคุยกันในประเด็น ความปลอดภัยของลิฟต์, การใช้งานอย่างประหยัดพลังงาน เพื่อความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และจะสามารถช่วยองค์กรประหยัดค่าใช้จ่ายได้อย่างไร จากการตรวจสอบคุณภาพและให้ผ่านการรับรองมาตรฐาน VDI 4707 Part I อันเป็นมาตรฐานสากลระดับโลก

ทำความรู้จักกับทูฟ ซูด
 ทูฟ ซูด ถูกก่อตั้งขึ้นโดยสมาคมหม้อไอน้ำแห่งประเทศเยอรมนีเมื่อ 140 ปีก่อน จากกระแสการตื่นตัวทางด้านเทคโนโลยีที่มีมากยิ่งขึ้น และจากสาเหตุของการเกิดหม้อแรงดันไอน้ำระเบิดในประเทศเยอรมนี ส่งผลให้กลุ่มสมาคมหม้อไอน้ำหันมาให้ความสนใจกับการตรวจรับรองสินค้า โดยก่อตั้งธุรกิจด้านการรับรองมาตรฐาน ทูฟ ซูด ขึ้นมา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะเดียวกันขึ้นอีก ทั้งนี้เพื่อเป็นการปกป้องผู้คนในสังคม สิ่งแวดล้อม และทรัพย์สิน ที่อาจจะเกิดขึ้นเนื่องจากการเติบโตทางด้านเทคโนโลยีดังกล่าว


  “ทูฟ ซูด มีความแน่วแน่ต่อหลักการที่ได้กำหนดไว้ตั้งแต่เริ่มการก่อตั้ง จนเราเองได้รับการแต่งตั้งจากหน่วยงานของรัฐหลายแห่งให้ทำหน้าที่สร้างความมั่นใจในด้านความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ อุปกรณ์ รวมถึงกระบวนการผลิต เราเป็นหน่วยงานรับรองที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยเป็นผู้ให้บริการในระดับนานาชาติทางด้านการทดสอบ การตรวจสอบ การตรวจประเมิน การรับรอง การฝึกอบรม รวมถึงการให้คำปรึกษาโดยผู้เชี่ยวชาญในหลากหลายอุตสาหกรรม โดยปัจจุบัน ทูฟ ซูด มีพนักงานกว่า 16,000 คน ครอบคลุมอยู่ในสำนักงานกว่า 600 แห่งทั่วโลก”


     “สำหรับ ทูฟ ซูด พีเอสบี (ประเทศไทย) ก่อตั้งขึ้นครั้งแรกในเดือน ธันวาคม 2544 โดยมีขอบข่ายการบริการที่ครบถ้วนทั้งในด้านการทดสอบ การรับรอง การตรวจสอบ การถ่ายทอดความรู้แบบครบวงจร ด้วยห้องปฏิบัติการทดสอบและสิ่งอำนวยความสะดวกที่ได้รับการรับรองตามข้อกำหนดของ ISO/IEC 17025” มร.บอย กล่าว

ลิฟต์ ผลิตภัณฑ์ที่ต้องทำการตรวจสอบ
     ลิฟต์ที่มีความปลอดภัย ประเด็นสำคัญก็คือต้องมีการตรวจสอบและมีการเฝ้าระวังการทำงานของตัวลิฟต์อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจากข้อมูลที่มีการสำรวจ ในแต่ละวันจะมีคนประมาณ 2 ล้านคนทั้งโลกติดอยู่ในลิฟต์ หรือในประเทศเยอรมนีเองถึงแม้จะมีการตรวจสอบลิฟต์อยู่เป็นประจำก็ตาม ก็ยังพบว่าประมาณ 50% ของลิฟต์ ยังมีข้อบกพร่องอยู่บ้าง และในส่วนของข้อบกพร่องนี้ ประมาณ 6% จะเกี่ยวข้องกับปัจจัยทางด้านความปลอดภัย


     “จากข้อมูลย้อนหลัง 3 ปี ของรายงานผลเกี่ยวกับลิฟต์ในประเทศเยอรมนี จะพบว่าประมาณ 50% ของลิฟต์เท่านั้นที่จะไม่มีความบกพร่องเลย ซึ่งถ้าดูข้อมูลในปี 2010 จะพบว่าหลังจากที่มีการตรวจสอบลิฟต์แล้ว ปัญหาในแง่ของความบกพร่องก็จะลดลง ตัวอย่างเช่น ลิฟต์ที่ไม่มีปัญหาเลย ก่อนการตรวจสอบจะมีอยู่ประมาณ 41% แต่เมื่อมีการตรวจสอบแล้วจะเพิ่มขึ้นไปเป็น 48% ซึ่งข้อมูลจะได้มาจากเจ้าของลิฟต์ซึ่งมีหน้าที่ต้องส่งรายงานผลให้กับรัฐบาลเยอรมัน”


     “ปัจจุบันตัวเลขจำนวนลิฟต์ที่มีอยู่ในเยอรมนีจะอยู่ประมาณ 470,000 เครื่อง จากการตรวจสอบพบว่าข้อบกพร่องที่อันตราย ซึ่งจำเป็นจะต้องหยุดลิฟต์เพื่อทำการซ่อมแซมนั้น ก่อนที่จะมีการตรวจสอบจะมีอยู่ที่ประมาณเกือบ 1% หรือประมาณ 4 พันเครื่องที่จำเป็นต้องหยุดซ่อม เพราะฉะนั้นถ้าไม่มีการตรวจสอบ ก็จะเกิดปัญหาอันตรายจากการใช้งานได้ ประเด็นที่สำคัญคือ เมื่อมีการตรวจสอบและซ่อมแซมแล้ว จะเห็นได้ว่าข้อบกพร่องนี้ยังสามารถลดลงจนอยู่ในระดับต่ำมากคือที่ประมาณ 0.25% ดังนั้นการตรวจสอบลิฟต์ จะช่วยให้สามารถระบุข้อบกพร่อง และสามารถลดอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นได้” มร.เมลเซอร์ กล่าว

อันตรายที่อาจเกิดขึ้นและแนวทางป้องกัน
     สำหรับตัวอย่างอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น อย่างเช่น ลิฟต์จอดไม่ตรงชั้น ก็มีโอกาสที่คนจะตกลงไปในขณะที่เดินเข้า ทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ การเปิดปิดประตูลิฟต์ด้วยแรงกระแทกที่มากเกินไป นอกจากนั้นก็อาจจะเป็นข้อบกพร่องทางเทคนิคของตัวลิฟต์เอง หรือข้อบกพร่องที่เกิดจากบุคคล ส่วนอันตรายที่สำคัญก็คือ กรณีลิฟต์ตก ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ว่าสลิงที่หิ้วลิฟต์มีการขาดชำรุด

ซึ่งโดยหลักการของลิฟต์ก็จะมีอุปกรณ์นิรภัยที่เรียกว่า Safety Gear จะคอยทำหน้าที่ล็อกตัวลิฟต์กับรางลิฟต์เอาไว้เพื่อไม่ให้ลิฟต์เคลื่อนตกลงมากระแทกที่พื้นได้ ในส่วนของการตรวจสอบ ก็จะใช้เครื่องมือตรวจสอบว่าตัว Safety Gear สามารถใช้งานได้อย่างแม่นยำเมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้น


     ส่วนอันตรายอย่างอื่นที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างเช่น กรณีของเบรกทำงานผิดปกติ หรือตัวเครื่องจักรเองที่มีปัญหา ประเด็นสำคัญก็คือ ถ้าเกิดสิ่งที่ผิดปกติขึ้นจะต้องมีระบบที่เรียกว่า Emergency Call คือสามารถติดต่อในกรณีฉุกเฉินไปยังผู้ที่สามารถมาแก้ไขสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว และก็ต้องมีประสิทธิภาพเพียงพอ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อคนที่ติดอยู่ในลิฟต์
    
     “สำหรับความรับผิดชอบของเจ้าของลิฟต์นั้น หากมีการละเลยในการตรวจสอบดูแลลิฟต์แล้ว หากลิฟต์เกิดความผิดปกติขึ้น ก็มีโอกาสเสี่ยงต่อการผิดกฎหมาย และมีพันธะที่ต้องรับผิดชอบต่ออุบัติเหตุที่เกิดขึ้นนั้นด้วย เพราะฉะนั้นเจ้าของลิฟต์ก็มีหน้าที่ต้องแน่ใจว่าลิฟต์ที่ตัวเองเป็นเจ้าของนั้นต้องมีความปลอดภัยสำหรับการใช้งาน


      มีสามส่วนที่ต้องมีความร่วมมือ คือเจ้าของลิฟต์เอง บริษัทที่เป็นผู้ผลิตและบำรุงรักษาลิฟต์ กับอีกส่วนคือบริษัทที่ทำหน้าที่ตรวจสอบลิฟต์ ซึ่งถ้า 3 ส่วนมีความร่วมมือกันทางด้านการปฏิบัติงานก็จะช่วยให้ลิฟต์มีความปลอดภัยต่อการใช้งาน”

การตรวจสอบลิฟต์ แนวทางสำคัญสู่ความปลอดภัย
     โดยหลักการแล้ว เจ้าของลิฟต์หรือเจ้าของอาคาร ต้องมีความแน่ใจว่าลิฟต์ที่ให้บริการนั้นจะมีความปลอดภัยเพียงพอสำหรับผู้ที่จะมาเช่าอาคาร หรือผู้ที่ใช้งานลิฟต์ ดังนั้นเจ้าของลิฟต์หรือเจ้าของอาคารจะทราบได้อย่างไรว่า ลิฟต์ตัวนั้นมีความปลอดภัยเพียงพอ เพราะฉะนั้นการตรวจสอบโดยบุคคลที่สาม (Third Party) ก็ถือได้ว่ามีความสำคัญ เพราะโดยปกติแล้วการบำรุงรักษาลิฟต์ จะถูกดำเนินการโดยองค์กรซึ่งอาจจะเป็นบริษัทลิฟต์เอง หรือว่าเป็นบริษัทที่ทำหน้าที่บำรุงรักษาลิฟต์โดยเฉพาะ แต่ในส่วนของ Third Party นั้นก็จะทำหน้าที่ในการตรวจสอบเพื่อให้แน่ใจว่าสถานะของตัวลิฟต์เป็นไปตามความความปลอดภัยที่ควรจะเป็น


     “การที่จะทำให้ลิฟต์มีความปลอดภัย อันดับแรกคือเจ้าของลิฟต์ จะต้องเลือกผู้บำรุงรักษาที่มีความสามารถและความเชี่ยวชาญ จะต้องมีการเลือกหน่วยงานตรวจสอบที่ได้รับการรับรอง สำหรับบริษัทบำรุงรักษาในยุโรป จะมีมาตรฐานที่เรียกว่า EN13015 ซึ่งเป็นใบรับรองบริษัทบำรุงรักษาว่ามีความเชี่ยวชาญ และการปฏิบัติตามข้อกำหนด อีกปัจจัยคือ ต้องมีการพิจารณาว่าจะมีการปรับปรุงลิฟต์ของตัวเอง ซึ่งบางกรณีที่ลิฟต์มีอายุการใช้งานมากว่า 20 ปี ซึ่งเทคโนโลยีในอดีตอาจจะไม่ทันสมัยเพียงพอ จึงต้องมีการปรับปรุงเพื่อให้มีความปลอดภัยมากขึ้น มีการเปลี่ยนแปลงอุปกรณ์เพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนดที่อาจจะเปลี่ยนแปลงไป

แล้วก็สำคัญคือเรื่องของการช่วยเหลือกรณีฉุกเฉินซึ่งจะต้องมีแผนการจัดการว่าจะต้องทำอย่างไรบ้าง ที่สำคัญสุดท้ายคือเรื่องของเอกสาร ซึ่งในยุโรปเป็นสิ่งสำคัญมากกรณีที่เกิดอุบัติเหตุขึ้นแล้วมีการฟ้องร้องกัน ซึ่งเอกสารก็จะบอกถึงความแน่ใจว่าเจ้าของมีการตรวจสอบลิฟต์ และเป็นไปตามข้อกำหนดความปลอดภัยแล้ว”


     “การทำ Maintenance Check ทูฟ ซูด มีการให้บริการตรวจสอบบริษัทบำรุงรักษา ซึ่งก็จะมีการตรวจสอบตามมาตรฐานที่เรียกว่า EN13015 ในส่วนนี้จะมีงานสองส่วนคือ ส่วนแรกจะเป็นการตรวจสอบลิฟต์ที่ใช้งานว่า บริษัทบำรุงรักษาดำเนินการได้ถูกต้องหรือไม่ กับอีกส่วนหนึ่งคือการตรวจสอบคุณภาพของบริษัทบำรุงรักษา เพื่อให้แน่ใจว่าบริษัทบำรุงรักษามีการจัดทำขั้นตอนปฏิบัติงานให้เป็นมาตรฐานกับผู้ปฏิบัติงานทุกคน หลังจากที่มีการตรวจสอบรับรองแล้ว ทูฟ ซูด ก็จะมีการออกใบรับรองมาตรฐาน EN 13015 ให้กับบริษัทบำรุงรักษาหรือผู้ผลิตลิฟต์ เพื่อเป็นการรับรองได้ว่าตนเองมีความเชี่ยวชาญในการบำรุงรักษาลิฟต์

ซึ่งข้อดีของการทำ Maintenance Check ก็คือ ช่วยลดโอกาสที่ลิฟต์จะหยุดการทำงานโดยไม่ได้ตั้งใจลง รวมถึงจะเป็นแนวทางในการทำ Preventive Maintenance ที่จะช่วยบ่งชี้ได้ว่ามีส่วนใดของลิฟต์ที่จะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขก่อนที่จะเกิดปัญหาขึ้น ซึ่งจะช่วยให้การใช้งานลิฟต์มีความคุ้มค่า ช่วยลดต้นทุนที่อาจจะเกิดจากอุปกรณ์เสียหายได้ ในส่วนของเจ้าของลิฟต์เองก็จะช่วยให้สามารถควบคุมการทำงานของบริษัทบำรุงรักษาได้ เนื่องจากเจ้าของอาจจะไม่มีความรู้ทางด้านเทคนิคที่จะไปดูแลลิฟต์โดยตรง” มร.เมลเซอร์ กล่าว


     “มาตรฐานการตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานของลิฟต์ เป็นแนวทางที่บริษัทในประเทศไทยจะสามารถ นำไปใช้งานได้ เพื่อจัดการระบบลิฟต์ที่มีอยู่ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล นอกจากนั้นยังมีความคุ้มค่าต่อการลงทุนด้วย โดยเราเองต้องการให้บริษัทในประเทศไทยมีความตระหนักถึงความสำคัญต่อมาตรฐานสากล สำหรับลิฟต์ เพื่อให้พวกเขาสามารถแสดงความมุ่งมั่น ที่จะสร้างความมั่นใจถึงความปลอดภัย ให้กับผู้โดยสารลิฟต์ แล้วก็มีการจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และเรียนรู้วิธีช่วยเหลือในการปกป้องสภาพแวดล้อมของเราในอนาคต”

VDI 4707 Part 1 แนวปฏิบัติในการวัดประสิทธิภาพพลังงานของลิฟต์
 ในส่วนของลิฟต์ จะมีมาตรฐานที่เรียกว่า VDI 4707 Part 1 ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับวัดประสิทธิภาพทางด้านพลังงานของลิฟต์ ซึ่งจัดทำขึ้นโดยสมาคมวิศวกรรมเยอรมนี จากข้อมูลที่ได้ทำการศึกษา แม้ว่าพลังงานที่ใช้กับลิฟต์นั้นมีเพียงแค่ 4% ของการใช้พลังงานทั้งอาคาร แต่ถ้าสามารถประหยัดพลังงานลงได้แม้ 50% ของจำนวนลิฟต์ทั้งหมดในโลก ก็จะสามารถลดการใช้พลังงานลงได้เป็นจำนวนมาก

  สำหรับมาตรฐาน VDI 4707 Part 1 นี้เป็นส่วนหนึ่งของการให้บริการของ ทูฟ ซูด ในการตรวจวัดการใช้พลังงานของลูกค้าทั่วโลก โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับลิฟต์ ตั้งแต่เจ้าของลิฟต์ เจ้าของอาคาร นักออกแบบ สถาปนิก หรือผู้ที่ทำการติดตั้งลิฟต์ ได้สามารถเลือกใช้ลิฟต์ที่เหมาะสมและประหยัดพลังงาน โดยมาตรฐานนี้มีปัจจัยการพิจารณาตั้งแต่การใช้งานลิฟต์ที่เต็มพิกัด ระหว่างลิฟต์เคลื่อนที่ขึ้นลง ไปจนถึงระดับพลังงานในระหว่างที่ลิฟต์อยู่ในช่วง Stand By หรือหยุดอยู่กับที่

    โดยจะแบ่งมาตรฐานเป็น 7 ระดับด้วยกัน (ตั้งแต่ A-G) โดย A จะเป็นระดับการประหยัดพลังงานที่ดีที่สุด (ใช้พลังงานน้อยสุด) หลังจากทำการวัดเรียบร้อยแล้ว ทูฟ ซูด ก็จะให้สติกเกอร์เพื่อติดลงบนลิฟต์ ซึ่งสติกเกอร์นี้จะเป็นตัวบ่งชี้ว่าลิฟต์มีระดับการประหยัดพลังงานอยู่ในระดับใด ซึ่งนอกจากการวัดพลังงานแล้ว ก็จะทำให้ทราบถึงการแนวทางในการปรับปรุงลิฟต์เพื่อให้ลิฟต์มีประสิทธิสูงขึ้นด้วยเช่น การปรับเปลี่ยนหรือเพิ่มเติมอุปกรณ์บางตัวเข้าไปเพื่อให้ลิฟต์ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และนอกจากจะช่วยลดพลังงานลงได้แล้ว ผู้ผลิตลิฟต์เองก็จะได้ประโยชน์จากข้อได้เปรียบทางด้านการแข่งขัน ในแง่ของความสามารถในการผลิตลิฟต์ที่สามารถประหยัดพลังงานสูงอีกด้วย
      
     

ตัวอย่างการตรวจประเมินการใช้พลังงานของลิฟต์


     
     “ทีมผู้เชี่ยวชาญจาก ทูฟ ซูด สามารถช่วยธุรกิจไทยประเมินความต้องการใช้พลังงานของลิฟต์ได้อย่างถูกต้อง ซึ่งจะช่วยส่งเสริมนโยบายการประหยัดพลังงานและเอื้อต่อการลดต้นทุนได้ ทั้งนี้ ในตอนท้ายของกระบวนการรับรอง ทูฟ ซูด จะออกรายงานที่สรุปช่องทางในการประหยัดพลังงานของระบบลิฟต์ที่ลูกค้าเลือกใช้ และเมื่อการทดสอบสำเร็จเสร็จสิ้นแล้ว

ลูกค้าก็จะได้รับใบรับรองที่มีรายละเอียดเกี่ยวกับประสิทธิภาพการใช้พลังงานของลิฟต์ของพวกเขา ด้วยข้อมูลดังกล่าว พวกเขาสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและความคุ้มค่าในการใช้งานลิฟต์ของพวกเขา รวมทั้งแสดงให้เห็นถึงการสนับสนุนในส่วนของการจัดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่เพียงเท่านั้น พวกเขายังจะเป็นที่รู้จักในแวดวงอุตสาหกรรมและลูกค้า ว่ามีส่วนร่วมรักษาสภาพแวดล้อมอย่างต่อเนื่องและคงขีดความสามารถในการแข่งขันอีกด้วย” มร. ฌอน บอย กล่าว


 “ในส่วนของผู้ผลิตลิฟต์ มาตรฐาน VDI4707 Part 1 ถือเป็นแรงจูงใจในการพัฒนานวัตกรรมระบบลิฟต์ที่มีประสิทธิภาพสูง การได้รับใบรับรองจะช่วยให้ธุรกิจไทยสามารถคงศักยภาพในการแข่งขัน และให้คำแนะนำที่ถูกต้องสมบูรณ์แก่ผู้ซื้อ ผู้พัฒนา สถาปนิก นักออกแบบ และเจ้าของลิฟต์ ทีมผู้เชี่ยวชาญของทูฟ ซูด จะวัดการใช้พลังงานของระบบลิฟต์ของลูกค้าภายใต้สภาวะการใช้งานจริง

 คำนวณความต้องการพลังงานของลิฟต์แต่ละตัว และออกใบรับรอง VDI 4707 Part 1 เพื่อรับรองประสิทธิภาพการใช้พลังงานของลิฟต์แบบ 1 ต่อ 1 นอกจากนั้น เรายังช่วยธุรกิจของไทยให้สามารถตรวจหาจุดบกพร่องของระบบลิฟต์ พัฒนาระบบการวัดค่าต่าง ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของลิฟต์ และประเมินผลมาตรฐานการประหยัดพลังงานต่าง ๆ ทั้งในแง่ของการทำงานและความคุ้มค่าได้อีกด้วย” มร.เมลเซอร์ กล่าว


     ณ วันนี้ ภาคอุตสาหกรรมได้ใช้มาตรฐาน VDI 4707 Part 1 เพื่อประเมินและพิจารณาประสิทธิภาพการใช้พลังงานของลิฟต์ แนวปฏิบัติดังกล่าวช่วยให้ผู้ผลิต เจ้าของโครงการ และผู้ใช้บริการสามารถกำหนดลำดับชั้นของประสิทธิภาพการใช้พลังงานบนเกณฑ์ที่เป็นมาตรฐาน นอกจากนี้ใบรับรองยังให้คำแนะนำที่น่าเชื่อถือแก่เจ้าของลิฟต์ ผู้ให้บริการ ผู้จัดซื้อ ผู้พัฒนา สถาปนิก และนักวางแผน ในส่วนของการประเมินความต้องการใช้พลังงานของลิฟต์อีกด้วย
     


     
     
     (จากซ้าย) มร.วีโนด บาทานากา วิศวกรผู้เชี่ยวชาญ ด้านการตรวจสอบลิฟท์ บริษัท ทูฟ ซูด พีเอสบี (ประเทศไทย) จำกัด มร. ฌอน บอย ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ทูฟ ซูด พีเอสบี (ประเทศไทย) จำกัด มร. ซิกฟรีด แฮร์มัน เมลเซอร์ รองหัวหน้าฝ่ายรับรองคุณภาพ และผู้จัดการฝ่ายตรวจสอบเพื่อรับรองคุณภาพระดับสากล บริษัท ทูฟ ซูด อินดัสทรี เซอร์วิส จีเอ็มบีเอช จำกัด ประเทศเยอรมนี และคุณบรรเจิด กัจฉมาภรณ์ ผู้จัดการฝ่ายปฎิบัติการทดสอบ บริษัท ทูฟ ซูด พีเอสบี (ประเทศไทย) จำกัด
     
     

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด