เนื้อหาวันที่ : 2013-01-14 11:25:45 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 33488 views

Holistic Marketing การตลาดแบบองค์รวม

ในทางเศรษฐศาสตร์ อุปสงค์ (Demand) คือ ความต้องการและความสามารถในการซื้อสินค้าและบริการ และอุปทาน (Supply)

วันวิสา ด่วนตระกูลศิลป์
wanwisa.du@spu.ac.th
อาจารย์ประจำวิทยาลัยบัณฑิตศึกษาด้านการจัดการ
มหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตบางเขน

ในทางเศรษฐศาสตร์ อุปสงค์ (Demand) คือ ความต้องการและความสามารถในการซื้อสินค้าและบริการ และอุปทาน (Supply) คือ สินค้าหรือบริการที่พร้อมจะขายในตลาด เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ซื้อ ในปัจจุบันอุปทานมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว เป็นผลให้โรงงานต่าง ๆ สามารถผลิตสินค้าได้หลากหลายชนิดในปริมาณและคุณภาพที่มากขึ้น แต่ก็ส่งผลต่อการเติบโตของอุปสงค์ทำให้ขาดความสมดุล คือ ตัวเลือกที่มากขึ้น ย่อมส่งผลให้ผู้บริโภคในปัจจุบันมีทางเลือกในการซื้อสินค้าและความต้องการมากขึ้น ดังนั้นการทำการตลาดในช่วงที่ผ่านมาจึงพยายามให้ลูกค้าเกิดความพึงพอใจสูงสุด แต่ในปัจจุบันความต้องการของลูกค้าไม่ได้ต้องการแค่ตัวของสินค้าและบริการที่ลูกค้าได้จ่ายเงินซื้อมาเท่านั้น แต่ลูกค้าต้องการที่จะได้สินค้าและบริการในภาพองค์รวม คือ การได้รับสินค้าและบริการขององค์กรทั้งระบบ เช่น การบริการหลังการขายที่ดี ระบบเหล่านี้ทำให้แนวคิดนักการตลาดเปลี่ยนไป นักการตลาดจึงต้องมองภาพการทำการตลาดแบบองค์รวมทั้งระบบ

การตลาดแบบองค์รวม (Holistic Marketing)
การทำตลาดแบบองค์รวม (Holistic Marketing) ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เฉพาะฝ่ายการตลาดเท่านั้น แต่ทุกส่วนในองค์กรต้องทำการตลาดด้วย ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหาร ฝ่ายบุคคล ฝ่ายบัญชี ฝ่ายผลิต ฝ่ายเทคนิค หรือแม้กระทั่งพนักงานรับส่งสินค้าก็ต้องรู้จักที่จะทำการตลาดให้กับองค์กรด้วย การบริหารลูกค้าไม่ใช่กลยุทธ์ทางเลือกอีกต่อไป แต่เป็นสิ่งที่องค์กรต้องทำและต้องทำให้ดีกว่าคู่แข่ง แนวคิดนี้ผลักดันให้การตลาดผสานเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตในการทำงานอย่างแยกกันไม่ออก

แนวคิดทางการตลาด

 

 

ซึ่งมีองค์ประกอบหลักอยู่ 4 ส่วนด้วยกัน ได้แก่
1.การตลาดภายในองค์กร (Internal Marketing)
คือ การทำงานที่มีประสิทธิภาพและเชื่อมโยงกันในทุกส่วน ตั้งแต่ฝ่ายบริหารระดับสูง และหน่วยงานต่าง ๆ ในองค์กร รวมถึงหน่วยงานด้านการตลาด โดยทุกฝ่ายต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับการตลาดขององค์กร และสร้างทัศนคติที่ดีต่อองค์กร
2.การตลาดแบบบูรณาการ (Integrated Marketing) คือ การมุ่งเน้นไปที่การทำ 4Ps (Product-Price-Place-Promotion) หรือ 4Cs (Customer solution-Cost-Convenience-Communication)
โดยคำว่า 4Ps นั้น เกิดขึ้นมาจากคำนำหน้าของ ตัว P 4 ตัว คือ


1. Product (ผลิตภัณฑ์) สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้หรือไม่ และสามารถสร้างความพึงพอใจสูงสุดกับลูกค้าได้หรือไม่ องค์กรต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อให้ตอบสนองความต้องการและสร้างความพึงพอใจของลูกค้าให้ได้มากที่สุด
2. Price (ราคา) เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญมากในการทำการตลาด โดยการตั้งราคานั้น ต้องตอบให้ได้ว่า กลุ่มเป้าหมายคือใคร และลูกค้าพอใจที่จะจ่ายที่ราคาเท่าใด
3. Place (สถานที่) ในเรื่องของช่องทางการจัดจำหน่ายหรือสถานที่ขาย ปัจจุบันสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ การขายแบบ Offline เป็นการขายผ่านสถานที่ต่าง ๆ ที่ลูกค้าสามารถจับต้องผลิตภัณฑ์ได้ และการขายแบบ Online เป็นการขายผ่านอินเตอร์เน็ต
4. Promotion (การส่งเสริมการตลาด) นักการตลาดต้องเข้าใจว่า การลด แลก แจก แถม คือ Sale Promotion หรือการส่งเสริมการขาย แต่ในหลาย ๆ ครั้งมักจะเรียกย่อ ๆ ว่า โปรโมชั่น
นักการตลาดหันมามองมุมใหม่ ที่เป็นมุมมองของผู้บริโภคว่าผู้บริโภคต้องการอะไร มีต้นทุนเท่าไหร่ จะเพิ่มความสะดวกในการซื้อสินค้าให้กับผู้บริโภคได้อย่างไร ควรจะสื่อสารอย่างไรเพื่อให้ผู้บริโภครับฟัง

 

โดย 4Cs (Customer solution-Cost-Convenience-Communication) ทำให้นักการตลาดสามารถเข้าถึงผู้บริโภคในปัจจุบันได้ง่ายขึ้น
1. ความต้องการของผู้บริโภค (Consumer Wants and Needs) เนื่องจากผู้บริโภคในปัจจุบันเรียนรู้ที่จะเลือกบริโภคสินค้าแบบไหน อย่างไร ไม่ใช่ผู้ผลิตผลิตอะไรออกมาก็จะขายได้ทุกอย่างเหมือนสมัยก่อน ผู้บริโภคก็อาจเลือกเฉพาะสิ่งที่จำเป็นเพื่อแก้ปัญหาความผู้รอดของพวกเขา
2.ต้นทุนของผู้บริโภค (Consumer’s Cost to Satisfy) การตั้งราคาของผู้ผลิตต้องคำนึงถึงต้นทุนของผู้บริโภค มากกว่าต้นทุนทางการผลิต โดยพิจารณาว่า ก่อนที่ผู้บริโภคจะจ่ายเงินซื้อสินค้าชิ้นใดชิ้นหนึ่ง เขาต้องมีค่าใช้จ่ายอะไรมาก่อนหรือไม่ เพื่อประกอบการตัดสินใจในการเลือกซื้อสินค้านั้น ๆ
3.ความสะดวกในการซื้อ (Convenience to Buy) คือ คำนึงถึงความสะดวกสบายของลูกค้าเป็นสำคัญ ด้วยการเพิ่มช่องทางในการจำหน่ายที่ผู้บริโภคสามารถซื้อหาสินค้าได้อย่างสะดวกรวดเร็วในทุกช่วงเวลา
4.การสื่อสาร (Communication that Connects) การสื่อสารที่ดี จะสร้างความน่าเชื่อถือในสินค้า ส่งผลให้เกิดยอดขายที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง


3.การตลาดสร้างความสัมพันธ์ (Relationship Marketing) คือ การตลาดแบบมีความสัมพันธ์อันดีกับลูกค้า (CRM=Customer Relationship Management) ทำให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ตรงจุดและอาจตรงกับความต้องการของแต่ละคนด้วย

 
4. การตลาดที่มุ่งรับผิดชอบต่อสังคม (Social Responsibility Marketing) คือ การทำธุรกิจที่ต้องคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด โดยเฉพาะทางด้านความรับผิดชอบต่อสังคม การทำธุรกิจอย่างมีคุณธรรม จริยธรรม คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดกับสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการเคารพในกฎหมายของประเทศนั้น ๆ ที่เข้าไปทำธุรกิจ  ด้วยเหตุนี้ในภาคธุรกิจจึงมีบริษัทขนาดใหญ่หลาย ๆ แห่ง ได้มีการนำเอากลยุทธ์การรับผิดชอบต่อสังคมขึ้นมา หรือเรียกว่า CSR (Cooperate Social Responsibility) เพื่อนำเอาผลกำไรที่ได้มาคืนสู่สังคมในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การบริจาค การทำกิจกรรมกับชุมชน เป็นต้น ซึ่งรูปแบบดังกล่าวสามารถปรับภาพลักษณ์ หรือเพิ่มภาพพจน์ของบริษัทให้ดีขึ้น
 
ข้อคิดท้ายเรื่อง
องค์ประกอบของการตลาดที่สำคัญ จะต้องประกอบด้วยกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การผลิตสินค้าและการให้บริการ จากผู้ผลิตไปสู่ผู้บริโภค เป็นการตอบสนองต่อความจำเป็น (Need) และความต้องการ (Want) ของผู้บริโภค อย่างไรก็ตามจะเห็นได้ว่าทุก ๆ องค์กร จะต้องใส่หัวใจของการตลาดเข้าไป แต่พึงระลึกไว้เสมอว่า เครื่องมือหนึ่งที่มีความสำคัญมากในปัจจุบัน คือ การนำหลักการจัดการโลจิสติกส์เข้ามาเชื่อมโยงกับการตลาด เพื่อสร้างความได้เปรียบเชิงการแข่งขัน ซึ่งการนำการตลาดมาใช้กับโลจิสติกส์นั้นจะต้องมีการร่วมด้วยช่วยกันทั้งระบบภายในองค์กร ท้ายที่สุดจะทำให้การตลาดของเราอยู่เหนือคู่แข่งได้
 
ข้อมูลอ้างอิง
oเข้าถึงได้จากhttp://www.bloggang.com/mainblog.php?id=jazzie&month=23-05-2006&group=2&gblog=2
oเข้าถึงได้จาก http://coach-ampol.blogspot.com/2011/08/holistic-marketing.html

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด