เนื้อหาวันที่ : 2007-05-24 17:16:01 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 10367 views

ต้นทุนกิจกรรมการขนถ่าย

การขนถ่ายวัสดุเป็นกิจกรรมสนับสนุนที่เกิดขึ้นเสมอทั้งในงานผลิตหรือบริการ ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อเริ่มมีการเคลื่อนย้ายวัสดุขึ้นและเป็นส่วนหนึ่งของระบบลอจิสติกส์ โดยเฉพาะในช่วงของการจัดเตรียมเพื่อจัดส่งกิจกรรมดังกล่าวไม่ได้สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกระบวนการหรือผลิตภัณฑ์ และยังเกิดเป็นต้นทุนในการดำเนินงานเป็นความสูญเปล่าที่เกิดขึ้นในรูปของเวลาในการขนย้าย แรงงาน และสิ่งอำนวยความสะดวกในการขนย้าย

การขนถ่ายวัสดุ (Material Handling) เป็นกิจกรรมสนับสนุนที่เกิดขึ้นเสมอทั้งในงานผลิตหรือบริการ ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อเริ่มมีการเคลื่อนย้ายวัสดุขึ้นและเป็นส่วนหนึ่งของระบบลอจิสติกส์ โดยเฉพาะในช่วงของการจัดเตรียมเพื่อจัดส่ง แต่กิจกรรมดังกล่าวไม่ได้สร้างมูลค่าเพิ่ม (Non-value Added) ให้กับกระบวนการหรือผลิตภัณฑ์ และยังเกิดเป็นต้นทุนในการดำเนินงาน ซึ่งจัดว่าเป็นความสูญเปล่าที่เกิดขึ้นในรูปของเวลาในการขนย้าย แรงงาน และสิ่งอำนวยความสะดวกในการขนย้าย โดยทั่วไปต้นทุนที่เกิดขึ้นในกิจกรรมดังกล่าวจะมีสัดส่วนระหว่าง 20-35% ของต้นทุนผลิตภัณฑ์ ดังนั้นการประเมินต้นทุนการขนย้ายอย่างแม่นยำจึงมีความสำคัญต่อกิจกรรมดำเนินงานต่าง ๆ ดังเช่น

.

- สนับสนุนการประเมินต้นทุนการผลิตได้อย่างแม่นยำขึ้น

- ระบุองค์ประกอบของกิจกรรมขนย้ายที่จำเป็นเพื่อใช้เป็นแนวทางสำหรับปรับปรุงกระบวนการและลดเวลานำการผลิตรวม (Total Manufacturing Lead Time)

- ใช้สำหรับพิจารณาการลงทุนจัดซื้อเครื่องจักรหรืออุปกรณ์สนับสนุน

- ใช้เป็นแนวทางสำหรับจัดทำงบประมาณการผลิต 

.

รูปที่ 1 การลดความสูญเปล่าในกิจกรรมที่ไม่สร้างมูลค่าเพิ่ม

.

องค์ประกอบต้นทุนการขนถ่าย

โดยทั่วไปกิจกรรมการขนถ่ายในงานอุตสาหกรรมสามารถจำแนกได้เป็น

- การขนถ่ายหน่วยชิ้นงานหรือวัสดุโดยแรงงาน

- การขนถ่ายชิ้นงานภายในสายการผลิต/โรงงาน

- การขนถ่ายวัสดุทั้งสายการผลิต (Entire Process) รวมทั้งกิจกรรมการกระจาย (Distribution) โดยเริ่มจากแหล่งวัตถุดิบและเชื่อมโยงทั้งเครือข่าย (Distribution Network) สู่ลูกค้า ตลอดจนถึงกระบวนการขจัดทิ้ง

.

.
องค์ประกอบของค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง มีดังนี้

1. ค่าใช้จ่ายทางตรง คือ ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องและเชื่อมโยงโดยตรงกับอุปกรณ์ขนถ่าย (Handling Equipment) หรือกิจกรรมขนถ่าย ซึ่งค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจะผันแปรกับเวลาที่ใช้ในการขนถ่ายโดยแบ่งออกเป็นองค์ประกอบย่อย ดังนี้

.

A. ค่าใช้จ่ายในการลงทุนอุปกรณ์ ประกอบด้วย

- ค่าใช้จ่ายสำหรับการจัดซื้อเครื่องจักร ที่รวมถึง ค่าขนส่ง ค่าประกันภัย ค่าใช้จ่ายการตรวจสอบ

- ค่าการติดตั้งเครื่องจักร

- ค่าใช้จ่ายสนับสนุนสำหรับอำนวยความสะดวกให้กับการขนถ่าย เช่น ค่าใช้จ่ายบำรุงรักษา ค่าไฟฟ้า ค่าเชื้อเพลิง เป็นต้น

.
b. ค่าใช้จ่ายคงที่ เช่น ค่าเสื่อมราคา ดอกเบี้ย ภาษี เงินเดือนผู้ควบคุมเครื่องและพนักงานบำรุงรักษา 
c. ค่าใช้จ่ายผันแปร ประกอบด้วย ค่าไฟฟ้า ค่าเชื้อเพลิง 

 

d. ค่าใช้จ่ายแรงงานทางตรงสำหรับกิจกรรมขนถ่าย โดยทั่วไปแรงงานจะแบ่งเป็นสองประเภท คือ แรงงานที่รับผิดชอบต่อกิจกรรมขนถ่ายแบบเต็มเวลา (Full Time) และแรงงานที่รับผิดชอบบางส่วนของกิจกรรม ค่าใช้จ่ายทางแรงงานจะประกอบด้วย เงินเดือน ค่าล่วงเวลา โบนัส สวัสดิการ ประกันสังคม เป็นต้น ซึ่งจะถูกจัดสรรให้กับกิจกรรมโดยขึ้นกับปัจจัยเวลาที่ถูกใช้กับการขนถ่ายและกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง โดยทั่วไปจะมีการระบุค่าใช้จ่ายตามสัดส่วนเปอร์เซ็นต์ของแรงงาน แต่ปัจจุบันได้มีการจัดสรรด้วยระบบต้นทุนตามฐานกิจกรรม (Activity Based Costing) ที่มีการจัดสรรตามกิจกรรมที่เกิดขึ้น

.

.

รูปที่ 2 แผนภาพการจัดสรรต้นทุนกิจกรรม

2. ค่าใช้จ่ายทางอ้อม โดยทั่วไปค่าใช้จ่ายทางอ้อมของการขนถ่ายจะเกี่ยวข้องกับค่าโสหุ้ย ซึ่งยากต่อการระบุหรือจำแนกค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ดังนั้นค่าใช้จ่ายทางอ้อมสามารถแบ่งได้เป็น 

.

a. ค่าใช้จ่ายทางอ้อมที่เกี่ยวข้องกับอุปกรณ์ เช่น ค่าใช้จ่ายที่เกิดจากเครื่องขัดข้อง (Down Time) ค่าพื้นที่จัดวาง/จัดเก็บอุปกรณ์

b. ค่าใช้จ่ายทางอ้อมที่เกี่ยวกับประสิทธิผลการจัดการ ดังเช่น ค่าใช้จ่ายในการติดตาม ค่าใช้จ่ายการปรับเปลี่ยนผังโรงงาน (Re-layout) ค่าใช้จ่ายการฝึกอบรม เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่ซ่อนเร้นและมักมองข้าม เนื่องจากมีความยุ่งยากในการจัดเก็บข้อมูลและวัดผล ซึ่งค่าใช้จ่ายเหล่านี้ ได้แก่

.

- ค่าใช้จ่ายการจัดเก็บวัสดุและอะไหล่สำรอง

- ความสูญเสียจากการผลิตเนื่องจากความล่าช้าจากการหยุดซ่อมเครื่อง

.

โครงสร้างต้นทุนการขนถ่ายประกอบด้วยองค์ประกอบของกิจกรรม ซึ่งแสดงด้วยความสัมพันธ์ ดังนี้

ต้นทุนการขนถ่าย = ค่าใช้จ่ายในกิจกรรมขนถ่าย+ค่าใช้จ่ายขนส่ง+ค่าใช้จ่ายการหีบห่อ+ค่าใช้จ่ายพื้นที่+ค่าใช้จ่ายอุปกรณ์ขนถ่าย (เช่น การบำรุงรักษา ค่าเสื่อมราคา)

.

การวิเคราะห์ต้นทุนการขนถ่ายสามารถจำแนกออกได้เป็น

1. กิจกรรมเฉพาะ เป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการขนถ่ายโดยตรง ซึ่งสามารถจำแนกและติดตามวัดผลได้ง่าย  ดังเช่น กิจกรรมการรับของ การจัดเก็บ การขนย้ายระหว่างสายการผลิต เป็นต้น 

.

2. กิจกรรมสนับสนุน คือ กิจกรรมที่ยากต่อการจำแนกและจัดสรรค่าใช้จ่าย เนื่องจากเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมหรืองานอื่น ๆ ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ได้แก่

- การขนถ่ายในกระบวนการ (In-process Handling) ที่ดำเนินการโดยบุคลากรฝ่ายผลิต

- การขนถ่ายวัสดุระหว่างสถานีงานโดยผู้ควบคุมเครื่อง

- การจัดเก็บในกระบวนการ (In-process Storage) โดยฝ่ายผลิต

.

3. กิจกรรมการหีบห่อ เป็นกิจกรรมที่อาจเกิดขึ้นในโรงงานผู้ส่งมอบหรือโรงงานของผู้ผลิตสินค้า

4. กิจกรรมกระจายสินค้า ดังเช่น การจัดส่งไปยังโรงงานผู้ผลิต การจัดส่งไปยังคลังสินค้า การจัดส่งจากโรงงานผู้ผลิตไปยังลูกค้า 

.

.

ปัญหาและความยุ่งยากในการคำนวณต้นทุนการขนถ่าย

เพื่อให้การคำนวณต้นทุนการขนถ่ายเป็นไปอย่างถูกต้องและแม่นยำ ดังนั้นจึงต้องใช้ข้อมูลและรายละเอียดจำนวนมาก จึงมักมีปัญหาต่าง ๆ ในการดำเนินการ ดังเช่น

- ต้นทุนการขนถ่ายมักแฝงรวมกับค่าแรงงานทางอ้อมจึงทำให้ยากต่อการจำแนกและระบุค่าใช้จ่ายได้อย่างชัดเจน

- กิจกรรมการขนถ่ายส่วนใหญ่มักดำเนินการโดยผู้ควบคุมเครื่อง

- ความยุ่งยากของการประเมินต้นทุนดำเนินงานสำหรับอุปกรณ์ขนถ่าย

- ความซับซ้อนระหว่างกิจกรรมขนถ่ายกับกิจกรรมอื่น ๆ ที่มีความสัมพันธ์ระหว่างกัน (Interrelationship)

.

ปัจจัยที่มีผลต่อต้นทุนการขนถ่าย

ปัจจัยที่มีผลต่อต้นทุนการขนถ่าย ประกอบด้วย

- คุณภาพ และความน่าเชื่อถือของอุปกรณ์ขนถ่าย

- อายุการใช้งาน และความคงทน ของอุปกรณ์

- มาตรฐานที่ความสอดคล้องกับเงื่อนไขการใช้งานของอุปกรณ์

- ขนาดและกำลังของอุปกรณ์ ที่มีผลต่อการใช้พลังงานในการขับเคลื่อน

- อัตราการเสื่อมสภาพหรือล้าสมัยของอุปกรณ์ขนถ่าย

- ความยากง่ายของการบำรุงรักษาอุปกรณ์ขนถ่าย

- นโยบายการจูงใจและแรงงานสัมพันธ์

.

แนวทางศึกษาและวิเคราะห์ปัญหาการขนถ่าย

- กำหนดขอบเขตของการศึกษาปัญหา (Scope of the study)

- ระบุพื้นที่ตามผังโรงงานเพื่อทำการศึกษาการขนถ่ายและการไหลของวัสดุ 

- ศึกษารายละเอียดของกระบวนการโดยมีการบันทึกเพื่อจำแนกประเภทกิจกรรมลงในใบบันทึกสำหรับใช้ในการปรับปรุง ดังตัวอย่างรูปที่ 3

.

รูปที่ 3 ตัวอย่างแผ่นบันทึกสำหรับปรับปรุงการปฏิบัติงาน

.

- ประเมินปริมาณการขนถ่ายต่อหน่วยเวลาในแต่ละพื้นที่ของโรงงาน

- วิเคราะห์ค่าใช้จ่ายการขนถ่าย (ระบบปัจจุบัน) เพื่อใช้สำหรับประเมินต้นทุนผลิตภัณฑ์และใช้เป็นข้อมูลสำหรับปรับปรุงตามแผนการลดต้นทุน

- ศึกษารายละเอียดของระยะทางการขนถ่ายวัสดุจากแผนภาพการไหล

.

รูปที่ 4 ตัวอย่างแผนภาพการไหลของงานในสายการผลิต

.

- ศึกษาเวลาการขนถ่ายและการไหลของวัสดุในกระบวนการผลิต เพื่อใช้เป็นข้อมูลสำหรับการปรับปรุงกระบวนการไหลของงาน

- กำหนดทางเลือกสำหรับปรับปรุงระบบการขนถ่าย เพื่อให้เกิดการไหลของงานเป็นไปอย่างต่อเนื่อง โดยมีตัวชี้วัดด้วยเวลาในการขนถ่ายและค่าใช้จ่ายที่ลดลง

.

แนวทางปรับปรุงเพื่อลดต้นทุนการขนถ่าย

การปรับปรุงระบบการขนถ่ายเป็นส่วนหนึ่งของแผนการลดต้นทุนการผลิตโดยรวม (Total Manufacturing Cost) ด้วยการปรับปรุงวิธีการทำงานและการใช้อุปกรณ์ขนย้ายที่เหมาะสม รวมทั้งแนวทางที่เกี่ยวข้อง ดังเช่น

.

- การปรับปรุงผังการผลิตให้เหมาะสม เพื่อลดระยะทางการขนถ่ายและให้การไหลของงานเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ดังเช่น การจัดผังการผลิตแบบเซลล์ที่มีการจัดวางเป็นรูปตัวยู (U-Shape) เพื่อปรับปรุงการไหลของงาน

.

รูปที่ 5 การจัดวางผังการผลิตแบบเซลล์

.

-  การปรับปรุงสภาพการทำงานด้วยการจัดสรรพื้นอย่างเหมาะสม เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ (Utilization of Space) อย่างคุ้มค่าและลดระยะทางสำหรับการขนถ่าย รวมทั้งลดอุบัติเหตุจากการปฏิบัติงาน

-  ปรับปรุงอัตราการใช้เครื่องจักรให้สอดคล้องกับภาระงาน เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าต่อการใช้งานและลดเวลาการว่างของเครื่อง (Idling of Machine)

.

เอกสารอ้างอิง

1. S.C. Sharma, Materials Management & Material Handling, Khanna Publishers, Delhi , 2000.

2. โกศล  ดีศีลธรรม, การเพิ่มผลิตภาพในงานอุตสาหกรรม, สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, 2546.

3. โกศล  ดีศีลธรรม, การบริหารต้นทุนสำหรับนักบริหารยุคใหม่, บริษัท อินฟอร์มีเดีย อินเตอร์เนชันแนล จำกัด, 2547.

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด