เนื้อหาวันที่ : 2007-05-23 11:38:05 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 12663 views

ระบบต้นทุนสำหรับงานอุตสาหกรรม

ปัจจุบันสารสนเทศทางต้นทุนมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจบัญชีต้นทุน หรือบัญชีบริหาร มีความสำคัญไม่เพียงแค่การจัดเตรียมงบการเงิน ภาพรวมของระบบต้นทุนที่ถูกใช้ในงานอุตสาหกรรมและแสดงโครงสร้างองค์ประกอบของต้นทุนที่สัมพันธ์กับระบบบัญชีต้นทุน รวมทั้งการเปรียบเทียบ

ปัจจุบันสารสนเทศทางต้นทุนมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจ ดังนั้นบัญชีต้นทุน หรือบัญชีบริหาร จึงมีความสำคัญไม่เพียงแค่การจัดเตรียมงบการเงิน แต่ยังใช้ในการตรวจสอบเพื่อแสดงงานหรือกระบวนการที่เกิดความสิ้นเปลือง (Wastage) และดำเนินการปรับปรุงแก้ไขเพื่อลดค่าใช้จ่ายหรือความสิ้นเปลืองที่เกิดขึ้น รวมทั้งเป็นสารสนเทศสำหรับการตัดสินใจในกิจกรรมทางธุรกิจ โดยเฉพาะการวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์วิศวกรรม (Engineering Economic Analysis) ดังนั้นระบบต้นทุนจึงเป็นแหล่งข้อมูลที่สำคัญต่อการศึกษาโครงการวิศวกรรมและงานอุตสาหกรรม โดยมี

.

วัตถุประสงค์เพื่อ

1. การประมาณต้นทุนของผลิตภัณฑ์หรือการบริการ สำหรับการตั้งราคาสินค้าหรือบริการอย่างสมเหตุสมผล โดยนำข้อมูลทางค่าใช้จ่ายและทำการวิเคราะห์เพื่อกำหนดราคาที่เหมาะสมให้สามารถแข่งขันได้

2. ใช้เป็นแนวทางสำหรับควบคุมค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะการตรวจติดตามและควบคุม เพื่อให้ผู้บริหารได้นำข้อมูลในการปรับกลยุทธ์ รวมทั้งวางแผนเพื่อจัดเตรียมงบประมาณ (Budget Preparation) ทางการเงินให้สอดคล้องกับสถานการณ์

3. ใช้เป็นสารสนเทศสำหรับการตัดสินใจดำเนินงาน (Operating Decisions) โดยเฉพาะการติดตามความสามารถทำกำไรของสินค้าหรือบริการว่าประเภทใดที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับองค์กร เพื่อเป็นข้อมูลสำคัญต่อการตัดสินใจให้กับผู้บริหาร

4. การลดความสิ้นเปลือง (Reduction in Wastages) จากค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น

5. เพื่อใช้จัดทำรายงานทางการเงิน
.
องค์ประกอบของต้นทุน
ประเด็นหนึ่งที่สำคัญสำหรับองค์กรธุรกิจทั่วไป นั่นคือ การลดต้นทุนทางการผลิตให้ต่ำที่สุดเท่าที่เป็นไปได้โดยไม่กระทบต่อคุณภาพ เพื่อมุ่งสร้างรายได้และผลกำไรสูงสุด ซึ่งทั้งมุมมองทางด้านวิศวกรรมและการจัดการในองค์กรธุรกิจที่ดำเนินกิจกรรมการผลิต ได้พิจารณาองค์ประกอบของต้นทุน (Elements of Cost) ออกเป็น
. 

ค่าวัสดุ (Material Cost) ที่สามารถแบ่งออกเป็นสองกลุ่มคือ

- ค่าวัสดุทางตรง (Direct Material) คือ วัสดุที่ถูกใช้ในการแปรรูปสำหรับกระบวนการผลิต ซึ่งสามารถวัดได้ในเชิงปริมาณและคิดเข้ากับต้นทุนการผลิตโดยตรง เช่น เหล็ก ไม้ ทองแดง เป็นต้น
. 

- ค่าวัสดุทางอ้อม (Indirect Material) คือ วัสดุที่ไม่สามารถติดตามค่าใช้จ่ายการผลิตโดยตรง และยากต่อการประมาณค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง แต่มีความสำคัญต่อกิจกรรมการผลิต เช่น กาว น้ำมันเครื่อง จาระบี เป็นต้น

. 

รูปที่ 1 แสดงองค์ประกอบต้นทุน

.
ค่าแรงงาน (Labor Cost) โดยทั่วไปแบ่งออกเป็น
- ค่าแรงงานทางตรง (Direct Labor Cost) เป็นแรงงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับกิจกรรมการผลิตและง่ายต่อการคิดต้นทุน เช่น ค่าแรงงานในสายการผลิต
- ค่าแรงงานทางอ้อม (Indirect Labor Cost) เช่น ค่าผู้ควบคุมงาน (Supervisors) วิศวกร ค่าผู้ขนย้ายวัสดุ เป็นต้น ซึ่งค่าใช้จ่ายดังกล่าวอาจคิดเป็นค่าโสหุ้ย
. 

 

รูปที่ 2 ตัวอย่างการจัดสรรต้นทุนการผลิต

.

รูปที่ 3 แสดงความสัมพันธ์ของงบการเงินกับต้นทุนการผลิต

.

3. ค่าใช้จ่ายดำเนินงาน (Operating Cost) นอกเหนือจากค่าใช้จ่ายวัสดุและค่าแรงงานที่เกิดขึ้นในแต่ละโรงงานแล้ว ยังมีค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงาน ดังเช่น ค่าเสื่อมราคา ค่าเช่าอาคาร ค่าเดินทาง เงินเดือน เครื่องใช้สำนักงานและสิ่งอำนวยความสะดวก เป็นต้น ค่าใช้จ่ายเหล่านี้สามารถแบ่งเป็นสองประเภท คือ

- ค่าใช้จ่ายทางตรง เป็นค่าใช้จ่ายที่สามารถระบุให้กับงานหรือกิจกรรมเฉพาะ (Particular Job) เช่น ค่าเช่าเครื่องมือพิเศษ ค่าเครื่องมือจับยึด (Jigs & Fixtures) ค่าใช้จ่ายออกแบบ และค่าใช้จ่ายบำรุงรักษา(Maintenance Cost)

.

- ค่าใช้จ่ายทางอ้อม หรือที่มักเรียกว่า ค่าโสหุ้ย (Overhead) ซึ่งเป็นผลรวมของค่าใช้จ่ายแรงงานทางอ้อม ค่าวัสดุทางอ้อม และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงาน เช่น ค่าใช้จ่ายในกิจกรรมสนับสนุนที่ไม่สามารถคิดเป็นต้นทุนต่อหน่วย ค่าใช้จ่ายประเภทนี้สามารถจำแนกได้เป็น

 .
a)ค่าโสหุ้ยโรงงงาน หรืออาจเรียกว่าค่าโสหุ้ยการผลิต ค่าใช้จ่ายเหล่านี้จะครอบคลุมตั้งแต่ค่าใช้จ่ายทางอ้อมที่เกิดขึ้นตั้งแต่การรับคำสั่งซื้อจนกระทั่งการผลิตเสร็จสิ้นและเตรียมพร้อมที่จะจัดส่ง เช่น ค่าประกันภัย เงินเดือนโฟร์แมน เงินเดือนผู้จัดการโรงงาน ค่าเสื่อมราคา ค่าพลังงาน ค่าขนย้ายอุปกรณ์ภายในโรงงาน เป็นต้นตามแนวทางระบบต้นทุนแบบเดิมที่มุ่งจัดสรรค่าโสหุ้ยในสัดส่วนตามค่าใช้จ่ายแรงงานทางตรง ค่าวัสดุทางตรง หรือชั่วโมงการเดินเครื่อง (Machine Hours) ที่แสดงด้วยความสัมพันธ์ดังนี้
.

 .

ปัจจุบันแนวทางคิดค่าใช้จ่ายดังกล่าว ที่มุ่งจัดสรรตามสัดส่วนตามแรงงานทางตรงอาจไม่สอดคล้องกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงและมักเกิดการบิดเบือนขึ้น จึงมีการนำแนวคิดการจัดสรรค่าใช้จ่ายตามกิจกรรมที่เกิดขึ้น  ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีนั่นคือ ต้นทุนตามฐานกิจกรรรม (Activity Based Costing) หรือ ABC ที่จะกล่าวในตอนท้ายของบทความ

.

b) ค่าใช้จ่ายบริหาร ซึ่งรวมถึงค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากหน่วยงานสนับสนุน เช่น เงินเดือนเจ้าหน้าที่ธุรการ  เงินเดือนผู้บริหาร ค่าโทรศัพท์ ค่าน้ำค่าไฟ ค่าตกแต่งสำนักงาน ค่าอุปกรณ์สำนักงานอัตโนมัติ เป็นต้น

.

c) ค่าใช้จ่ายในการขาย ประกอบด้วยค่าใช้จ่ายเพื่อการจำหน่ายสินค้าและรักษาส่วนแบ่งตลาด เช่น ค่าโฆษณา เงินเดือนพนักงานขาย ค่าเดินทาง ค่าแผ่นปลิวโฆษณา ค่าการจัดเตรียมสัญญาการประมูล เป็นต้น

.

d) ค่าใช้จ่ายกระจายสินค้าที่รวมถึง ค่าจัดเก็บสินค้าสำเร็จรูป ค่าบรรจุหีบห่อ ค่าการขนย้ายและขนส่งสินค้าให้กับลูกค้า เงินเดือนพนักงานคลังสินค้า  

 .

 

รูปที่ 4 แสดงความสัมพันธ์ของโครงสร้างต้นทุน

.

แนวคิดการบริหารต้นทุนสมัยใหม่

.

แนวทางระบบต้นทุนแบบเดิมที่มุ่งจัดสรรค่าโสหุ้ยบนฐานปริมาณ (Volume-oriented Base) เช่น ชั่วโมงแรงงานทางตรง หรือค่าวัสดุทางตรง ซึ่งแนวทางจัดสรรค่าใช้จ่ายดังกล่าวจะเกิดประสิทธิผลก็ต่อเมื่อค่าแรงงานหรือวัสดุทางตรง เป็นปัจจัยหลักของต้นทุนโดยรวม แม้ว่าระบบต้นทุนมาตรฐาน (Standard Cost) จะมีประสิทธิผลในอดีตที่ผ่านมาก็ตาม แต่เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีการผลิตในช่วงปลายของศตวรรษที่แล้ว เช่น หุ่นยนต์อุตสาหกรรม (Industrial Robotics) ระบบการผลิตแบบยืดหยุ่น (FMS)คอมพิวเตอร์ช่วยการผลิต (CAD) หรือแม้แต่ปรัชญาการผลิตแบบทันเวลาพอดี (JIT) ได้ส่งผลให้แนวทางบริหารต้นทุนแบบเดิมล้าสมัย และทำให้เกิดการปรับโครงสร้างรูปแบบต้นทุนการผลิตอย่างสิ้นเชิง ดังเช่น องค์ประกอบของค่าแรงงานทางตรงและสินค้าคงคลังมีสัดส่วนที่ลดลงเมื่อเทียบกับต้นทุนโดยรวม ขณะที่ค่าใช้จ่ายทางเทคโนโลยีและการประมวลผลข้อมูล (Data Processing) มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น โดยความจริงแล้วค่าแรงงานทางตรงซึ่งเป็นองค์ประกอบของต้นทุนผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนเพียง 5% ของต้นทุนโดยรวม แต่ค่าโสหุ้ยที่เกิดขึ้นอาจสูงกว่าแรงงานทางตรงถึง 5 เท่า ถ้านำแนวทางดังกล่าวมาใช้ในสภาพแวดล้อมการผลิตอัตโนมัติ (Automated Environments) ที่มุ่งจัดสรรตามปริมาณวัสดุหรือแรงงานทางตรง ก็จะส่งผลให้เกิดการบิดเบือนต้นทุน (Product Cost Distortion) เนื่องจากมีค่าโสหุ้ยที่ซ่อนเร้นแฝงกับกิจกรรมต่าง ๆ ที่ไม่สามารถติดตามได้ เช่น การขนย้าย การออกคำสั่งซื้อ การวางแผน และการประกันคุณภาพ เป็นต้น ดังนั้นจึงมีการพัฒนาแนวคิดการจัดสรรต้นทุนตามกิจกรรมที่เกิดขึ้น ที่เรียกว่า ระบบการบริหารต้นทุนตามฐานกิจกรรม (Activity Based Cost Management System) เพื่อติดตามค่าโสหุ้ยที่ซ่อนเร้นกับกิจกรรมที่ก่อให้เกิดต้นทุน ทำให้สามารถจัดสรรต้นทุนได้อย่างแม่นยำ โดยมีแนวคิดที่แตกต่างจากระบบบัญชีต้นทุนทั่วไป ดังนี้

.

1. การบัญชีกิจกรรม (Activity Accounting) ต้นทุนผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นจะเป็นผลรวมของค่าใช้จ่ายการผลิตและส่งมอบผลิตภัณฑ์ ซึ่งค่าใช้จ่ายจะเกิดขึ้นจากการจัดสรรทรัพยากรให้กับกิจกรรม โดยมีแนวทางดังนี้

- ประเมินกิจกรรมพื้นฐาน (Fundamental Activities) ที่เป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จ (Critical Success Factors) ตามเป้าหมายขององค์กรและระบุแนวทางจัดสรรทรัพยากร

- จัดสรรต้นทุนหรือทรัพยากรตามปริมาณกิจกรรม (Activity Volume) ที่เกิดขึ้น เช่น จำนวนครั้งการตั้งเครื่อง ความซับซ้อนของการออกแบบ เป็นต้น

- ติดตามกิจกรรมที่เกี่ยวข้องให้กับผลิตภัณฑ์และแสดงด้วยโครงสร้างต้นทุนที่เรียกว่า ใบแสดงกิจกรรมที่ใช้อธิบายปริมาณกิจกรรมที่ถูกใช้ในแต่ละผลิตภัณฑ์

- ประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลหรือผลิตภาพที่เกิดขึ้น สำหรับการตัดสินใจในทางเลือกต่าง ๆ ในการลงทุนในรูปของต้นทุนกิจกรรม ซึ่งเป็นสัดส่วนของทรัพยากรที่ถูกใช้ในกิจกรรมเทียบกับผลิตผลที่เกิดจากกิจกรรม

.

2. การใช้ตัวผลักดันต้นทุน (Cost Drivers)เป็นการวัดการใช้ทรัพยากรและแสดงในสัดส่วนของต้นทุนรวมสำหรับกิจกรรม โดยมีองค์ประกอบหลักก็คือ ตัวผลักดันทรัพยากร (Resource Driver) ที่เป็นกลไกทางบัญชีในการกำหนดทรัพยากรให้แต่ละกิจกรรม และตัวผลักดันกิจกรรม (Activity Driver) เป็นกลไกในการจัดสรรต้นทุนกิจกรรมให้กับผลิตภัณฑ์ ตามสัดส่วนของปริมาณกิจกรรม ซึ่ง Cost Driver สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ

- ตัวผลักดันเชิงปริมาณ ดังเช่น วัสดุที่ถูกใช้เป็นสัดส่วนโดยตรงกับปริมาณการผลิตหรือปริมาณงานที่เกิดขึ้น

- ตัวผลักดันในกิจกรรมสนับสนุน ได้แก่ การออกแบบ การทดสอบ การขนย้ายและการวางแผนการผลิต เป็นต้น ซึ่งกิจกรรมสนับสนุนในระบบต้นทุนทั่วไป อาจพิจารณาเป็นต้นทุนส่วนกลางหรือต้นทุนในการดำเนินการ

.
ตัวอย่าง ใบแสดงรายการกิจกรรม (Bill of Activities)
 .

 

 .

3. การสอบกลับค่าใช้จ่ายของการใช้ทรัพยากรที่ถูกใช้กับผลิตภัณฑ์หรือกระบวนการ ทำให้เกิดประสิทธิผลต่อการติดตามค่าโสหุ้ยที่แฝงกับกิจกรรมและประเมินต้นทุนผลิตภัณฑ์ได้อย่างแม่นยำ

4. แสดงค่าใช้จ่ายที่ไม่สร้างมูลค่าเพิ่ม (Non Value Added Costs) ให้กับผลิตภัณฑ์หรือลูกค้า โดยระบุประเภทค่าใช้จ่ายที่สูญเปล่า (Unnecessary Costs) เพื่อเป็นสารสนเทศสำหรับปรับปรุงการจัดสรรทรัพยากรในแต่ละกิจกรรม  

.

รูปที่ 5 แสดงการจำแนกประเภทค่าใช้จ่ายที่สร้างมูลค่าเพิ่มและค่าใช้จ่ายที่สูญเปล่า

.
บทสรุป

เนื้อหาที่ได้นำเสนอในบทความนี้ก็เป็นภาพรวมของระบบต้นทุนที่ถูกใช้ในงานอุตสาหกรรมและแสดงโครงสร้างองค์ประกอบของต้นทุนที่สัมพันธ์กับระบบบัญชีต้นทุน รวมทั้งการเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างแนวคิดระบบต้นทุนแบบเดิมกับการบริหารต้นทุนสมัยใหม่ซึ่งมีการจัดสรรต้นทุนได้อย่างถูกต้องและเที่ยงตรง

.

เอกสารอ้างอิง

1. Don R. Hansen & Maryanne M.Mowen, Management Accounting, South- Western College Publishing, 1997.

2. Warren , Reeve, Fess, Financial & Managerial Accounting, South-Western, 7th ed., 2002.
3. โกศล  ดีศีลธรรม, Industrial Management Techniques for Executive, . ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน), 2546.

4. โกศล  ดีศีลธรรม, การบริหารต้นทุนสำหรับนักบริหารยุคใหม่, .อินฟอร์มีเดีย อินเตอร์เนชันแนล จำกัด, 2547.

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด