เนื้อหาวันที่ : 2012-11-20 15:38:18 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 23117 views

10 คำถาม Operations & Supply Chain Management (ตอนที่ 1)

พัฒนาการของศาสตร์อันจะเป็นประโยชน์ในการวิจัยเชิงวิชาการ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการประยุกต์เชิงปฏิบัติการและของศาสตร์ทั้ง 2 กลุ่มแบบบูรณาการด้วยกันต่อไป

ดร.อัศม์เดช วานิชชินชัย (assadej_v@yahoo.com)
ผอ.หลักสูตร Ph.D. in Logistics and Supply Chain Management ม.ศรีปทุม
ที่ปรึกษาตัวอย่างแห่งปี (สาขาบริหารจัดการ) กระทรวงอุตสาหกรรม

ศาสตร์ด้าน Production Management (การจัดการการผลิต) Operations Management (การจัดการปฏิบัติการ) Logistics Management (การจัดการโลจิสติกส์) และ Supply Chain Management (การจัดการโซ่อุปทาน) มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดจนแทบจะกล่าวว่าเป็นเรื่องเดียวกันก็ได้ เดิมศาสตร์ด้านนี้เน้น Production Management จากนั้นจึงพัฒนาสู่ความเป็น Production & Operations Management และสุดท้ายเหลือเพียง Operations Management เนื่องจาก Operations Management ครอบคลุม Production Management ด้วย ในขณะที่ Logistics ก็พัฒนาสู่ความเป็น Logistics & Supply Chain Management และผมเชื่อว่าในที่สุดก็จะเหลือเพียงแค่ Supply Chain Management เพราะขอบเขตของ Supply Chain Management ครอบคลุม Logistics Management ด้วยเช่นกัน

กลางปีที่ผ่านมาผมได้รับ Text Book ชื่อ Operations and Supply Chain Management แต่งโดย Jacobs, F.R., Chase, R.B. and Lummus, R.R.(2011) จากสำนักพิมพ์  McGraw Hill หนังสือเล่มนี้เป็น Text Book ยอดนิยมอีกเล่มในสาขาวิชานี้จนได้รับการตีพิมพ์ และปรับปรุงต่อเนื่องจากจนถึง Edition 13 (International Edition) ในปี 2011 ใน Edition ก่อนหน้าหนังสือเล่มนี้ใช้ชื่อ Operations Management เฉย ๆ ใน Edition ที่ 12 จึงเริ่มเปลี่ยนมาใช้คำว่า Operations and Supply Management และ Operations and Supply Chain Management ใน Edition 13 ซึ่งเป็น Edition ล่าสุด ซึ่งน่าจะสื่อ และแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มในระดับนานาชาติของการบูรณาการศาสตร์เหล่านี้เข้าด้วยกันได้เป็นอย่างดี

ผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชานี้บางท่านอาจมองว่า Operations Management ใหญ่กว่า และครอบคลุม Supply Chain Management ด้วยเพราะเดิมเนื้อหาเรื่อง Supply Chain Management ก็เป็นเพียงบท ๆ หนึ่งในหนังสือ Operations Management ในขณะที่บางท่านอาจมองต่างกันไปตามกระแสความแรงและพัฒนาการของ Supply Chain Management ว่า Supply Chain Management ใหญ่กว่า Operations Management เนื่องจากเน้นการบูรณาการผู้ที่เกี่ยวข้องและกิจกรรมทั้งหมดในการส่งมอบคุณค่าให้กับลูกค้าซึ่งก็ครอบคลุมกิจกรรมด้าน Operations Management ด้วย

โดยส่วนตัวผมคิดว่าศาสตร์ทั้งสองมีความเหมือนและความแตกต่างกันบางประการ โดยทั่วไปแล้ว Operations Management ยังเน้นการบูรณาการกิจกรรมต่าง ๆ ภายในองค์กรเป็นหลักมากกว่าการบูรณาการภายนอกองค์กรร่วมกันลูกค้าและซัพพลายเออร์ (ซึ่งก็มีอยู่บ้างแต่ไม่เน้นมากนัก) ในขณะที่ Supply Chain Management นั้นเน้นการบูรณาการภายนอกร่วมกับลูกค้าและซัพพลายเออร์เป็นหลัก (บูรณาการภายในองค์กรก็ต้องมีเป็นพื้นฐานแต่ไม่เน้นมาก) บทความวิชาการระดับนานาชาติในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ (International Journal) บางฉบับเน้นว่า Supply Chain Management ของแท้จะต้องมีการทำงานร่วมกันระหว่างซัพพลายเออร์ องค์กร และลูกค้าด้วย หากเป็นเพียงการบูรณาการกิจกรรมต่าง ๆ ภายในองค์กรกันเองโดยไม่พูดถึงซัพพลายเออร์ และลูกค้าก็ยังไม่ถือเป็น Supply Chain Management อย่างแท้จริง

ในบทความนี้ผมมุ่งอธิบายถึงความสำคัญ และความสัมพันธ์ของศาสตร์เหล่านี้ว่ามีที่มาอย่างไร พร้อมทั้งมีและจะมีที่ไปอย่างไรเพื่อให้เห็นถึงความสำคัญ และพัฒนาการของศาสตร์เหล่านี้อันจะเป็นประโยชน์ในการวิจัยเชิงวิชาการ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการประยุกต์เชิงปฏิบัติการและของศาสตร์ทั้ง 2 กลุ่มแบบบูรณาการด้วยกันต่อไป

ถาม 1 การจัดการการผลิตและปฏิบัติการ (Production and Operations Management) หมายถึงอะไร
ตอบ 1 การจัดการการผลิตและปฏิบัติการ (Production and Operations Management)
เป็นศาสตร์หรือวิธีในการบริหารจัดการเพื่อให้ได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์ (Product) ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งสินค้า (Goods) หรือบริการ (Service) ที่ตรงตามความต้องการของลูกค้าอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ผลิตภัณฑ์ต้องมีคุณภาพดี (Quality) การส่งมอบรวดเร็วตรงเวลา (Delivery) และต้นทุนต่ำ (Cost) ฯลฯ หรือเรียกรวม ๆ ว่า QDC ซึ่งการจะให้ได้สินค้าหรือบริการ (หรือ Output) ที่ตรงตามความต้องการของลูกค้าอย่างมีประสิทธิภาพนั้นต้องการการบริหารจัดการทรัพยากรต่าง ๆ ที่มีอยู่อย่างจำกัดในองค์กร (หรือ Input) เช่น แรงงาน (Man) เครื่องจักร (Machine) วัตถุดิบ (Material) และวิธีการทำงาน (Method) หรือเรียกรวม ๆ ว่า 4M (ในบางบริบทอาจมี M อื่น ๆ เช่น Money, Measurement เพิ่มเติมเป็น 5M หรือ 6M ตามความเหมาะสม) อย่างสอดคล้องกันเพื่อให้เกิดการเสริมประสานกัน (Synergy) ในการสร้าง และส่งมอบคุณค่าสูงสุด (Value) ให้กับลูกค้าได้ ดังรูปที่ 1


ดังนั้นศาสตร์ของ Production and Operations Management จึงเป็นสหวิชาที่ครอบคลุมกระบวนการหรือหน่วยงานทั้งหมดในองค์กรที่มีบทบาทตั้งแต่การสรรหาทรัพยากรต่าง ๆ เข้ามาทำการแปรสภาพเป็นสินค้าหรือบริการและส่งมอบไปยังลูกค้า เช่น การออกแบบ การจัดซื้อ การจัดการสินค้าคงคลัง การจัดการคลังสินค้า การวางแผนและควบคุมการผลิต การผลิตและการบริการ การตรวจสอบและประกันคุณภาพ การจัดส่งและกระจายสินค้า การบริการหลังการขาย การซ่อมบำรุง เทคโนโลยีและเทคโนโลยีสารสนเทศที่ ฯลฯ เกี่ยวข้องกับการสร้าง และส่งมอบคุณค่าในตัวสินค้า หรือบริการไปยังลูกค้า

ถาม 2 การจัดการปฏิบัติการ (Operations Management) ต่างกับการจัดการการผลิต (Production Management) อย่างไร
ตอบ 2 พัฒนาการทางเศรษฐกิจของโลกนั้นเริ่มจากยุคสังคมเกษตรสู่ยุคอุตสาหกรรมซึ่งเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม
เนื่องจากมีการนำเครื่องจักรเข้ามาช่วยในการผลิตสินค้าให้ได้ในปริมาณที่มากขึ้นในขณะที่ต้นทุนต่ำลง อุตสาหกรรมการผลิตเติบโตอย่างมากอีกครั้งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากต้องมีการผลิตสินค้าทดแทนการขาดสินค้าในช่วงสงคราม ธุรกิจในสมัยก่อนจึงให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าเป็นหลัก ศาสตร์ในการบริการจัดการด้านนี้จึงเรียกว่าการจัดการการผลิต (Production Management) ในช่วงหลังเมื่อภาคธุรกิจสามารถผลิตสินค้าที่ตอบสนองความพึงพอใจทางกายภาพ (Physical Need) ของลูกค้าได้มากเพียงพอหรืออุตสาหกรรมการผลิตสินค้าเริ่มอิ่มตัวแล้ว ธุรกิจจึงต้องนำบริการ (Service) เข้ามาช่วยเสริมสร้างมูลค่าเพิ่มในการตอบสนองความต้องการทางจิตใจ (Mental Need) ของลูกค้าให้มากขึ้น เศรษฐกิจโลกในปัจจุบันจึงได้เปลี่ยนจากเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไปสู่เศรษฐกิจบริการ การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้มีการใช้คำว่า Operations Management (การจัดการปฏิบัติการ) เข้ามาใช้แทนคำว่า Production Management มากขึ้น เนื่องจากดั้งเดิมนั้น Production Management จะครอบคลุมเพียงการผลิตสินค้าเป็นหลัก แต่คำว่า Operations Management นั้นครอบคลุมได้ทั้งการผลิตสินค้าและผลิตบริการ เช่น ฝ่ายที่ดูแลเกี่ยวกับระบบการให้บริการและการบริหารร้านอาหารในบริษัทที่เป็นเจ้าของแฟรนไชส์ร้านอาหารมักใช้ชื่อฝ่ายว่าฝ่ายปฏิบัติการ ฝ่ายที่ดูแลเกี่ยวกับเรื่องการบินของสายการบินก็เรียกฝ่ายปฏิบัติการการบิน ฯลฯ นอกจากนี้คำว่า Operations ยังครอบคลุมกระบวนการอื่น ๆ ที่สนับสนุนการผลิตด้วย เช่น การจัดซื้อ การออกแบบ การซ่อมบำรุง ฯลฯ และยังสามารถครอบคลุมการทำงานหรือส่งมอบงานภายในหน่วยงานหรือในสำนักงาน (Office) ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการผลิตในโรงงาน (Factory) เลยได้อีกด้วย เช่น กระบวนการรับวางบิล อนุมัติและจ่ายเช็คให้กับซัพพลายเออร์ของฝ่ายบัญชีและการเงิน กระบวนการคิวและจัดการโรงอาหารภายในโรงงาน เป็นต้น

ทั้งนี้คำว่า Operations ต้องมี s ต่อท้ายเสมอเนื่องจากเป็นชื่อศาสตร์ ไม่ใช่เติม s เพราะเป็นพหูพจน์ หรือเป็นวิชาสำคัญที่มีมากกว่า 1 หน่วยกิตแต่อย่างใด (เช่นเดียวกับคำว่า Logistics ที่ต้องลงท้ายด้วย s เสมอด้วยเหตุผลเดียวกัน)

ถาม 3 Production and Operations Management ใช้ได้และเหมาะสมเฉพาะกับอุตสาหกรรมการผลิตและผู้ที่ทำงานในหน่วยงานเกี่ยวกับการผลิตเท่านั้นใช่หรือไม่
ตอบ 3 ตามที่ได้กล่าวในข้างต้น Operations Management สมัย
ใหม่มิได้ครอบคลุมเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงธุรกิจบริการทั้งบริการในภาคเอกชนและในภาครัฐด้วย ตัวอย่างด้านล่างถือเป็น Operations Management ทั้งหมด ตัวอย่างเช่น

* ร้านอาหาร เช่น ระบบการจัดคิว รับออเดอร์ เสิร์ฟ และเก็บเงินในร้านสุกี้ ระบบการรับออเดอร์และส่งสินค้าของร้านพิซซ่าภายใน 30 นาที การมีสคริปต์ (Service Script) ในการพูดเพื่อความสุภาพและลดความผิดพลาดในการรับออเดอร์ ฯลฯ


* โรงพยาบาล เช่น ระบบการนัดหมาย การจัดคิว จัดเตรียมและส่งเวชระเบียนหรือเอกสารต่าง ๆ ระหว่างหน่วยตรวจ ห้องยา และการเงินเพื่อให้เกิดความรวดเร็วและถูกต้อง การจัดเก็บและจ่ายยาที่มีการทวนชื่อผู้ป่วยและสคริปต์ในการพูดเพื่อความถูกต้อง การจัดและเสิร์ฟอาหารสำหรับผู้ป่วยใน ฯลฯ


* ซูเปอร์สโตร์และร้านสะดวกซื้อ เช่น การควบคุมและจัดการปริมาณสินค้าคงคลังในร้าน การจัดผังพื้นที่ร้านและการวางสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้วางสินค้าได้มากที่สุด เทคนิคในการกระตุ้นการซื้อสินค้าของลูกค้า การลดสินค้าสูญหาย การปิดเคาน์เตอร์จ่ายเงินบางเคาน์เตอร์ในช่วงที่มีลูกค้าน้อยเพื่อลดต้นทุน การใช้สายพานช่วยเลื่อนสินค้าและไม้คั่นสินค้าของลูกค้าแต่ละรายเพื่อป้องกันความผิดพลาดในการเก็บเงินที่เคาน์เตอร์ ฯลฯ

ในบริการภาครัฐในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เราจะเห็นพัฒนาการอย่างก้าวกระโดดของหน่วยงานในภาครัฐจำนวนมาก เช่น การทำบัตรประชาชน หรือต่อทะเบียนรถยนต์ภายในเวลาไม่กี่นาที การให้บริการของโรงพยาบาลของรัฐบาลที่มีความสุภาพ สะอาด และรวดเร็วกว่าเดิมมาก การยื่นคำร้องหรือขอใบอนุญาตต่าง ๆ ผ่านระบบอินเตอร์เน็ตที่มีความสะดวก และรวดเร็วมากขึ้น (เช่น การขอคืนภาษี) ฯลฯ พัฒนาการเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีพื้นฐานมาจากการปรับปรุง Operations Management ในการส่งมอบบริการของหน่วยงานนั้น ๆ ปัจจุบันหลักสูตรการบริหารงานภาครัฐหลายหลักสูตร เช่น หลักสูตรการบริหารรัฐกิจ (Public Administration: PA) ก็บรรจุ Operations Management เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรด้วย

นอกจากนี้เทคนิคใน Operations Management ยังสามารถประยุกต์ใช้ได้กับทุกหน่วยงาน ภายในองค์กรที่ทำงานบริการให้กับลูกค้าภายใน (Internal Customer) ซึ่งก็หมายถึงเพื่อนพนักงานจากแผนกอื่นในบริษัทเดียวกันได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่น ฝ่ายบุคคลปรับปรุงกระบวนการขออนุมัติ บันทึกเวลาทำงาน ตรวจสอบ และจ่ายค่าแรงล่วงเวลาให้กับพนักงานได้อย่างรวดเร็วและไม่มีความผิดพลาด ฝ่ายธุรการปรับปรุงกระบวนการจัดซื้อ จัดเก็บ ควบคุมและเบิกจ่ายครุภัณฑ์ไปยังฝ่ายต่าง ๆ เพื่อลดการสูญหายและใช้ฟุ่มเฟือย เป็นต้น
    
ถาม 4 Operations Management มีความสำคัญต่อธุรกิจอย่างไร
ตอบ 4 ธุรกิจนั้นอยู่รอดได้ด้วยการตอบสนองความพึงพอใจของลูกค้า
และการตอบสนองความพึงพอใจของลูกค้าได้นั้นต้องการการสร้างและส่งมอบคุณค่าที่แท้จริง (Real Value) ไปยังลูกค้าผ่านสินค้าหรือบริการที่มีคุณภาพดี การส่งมอบตรงเวลา และต้นทุนต่ำ ธุรกิจที่สร้างแต่คุณค่าเทียมให้กับลูกค้าผ่านเพียงพลังทางการโฆษณาประชาสัมพันธ์ด้วยเทคนิคทางการขายและการตลาด โดยที่สินค้าและบริการไม่ได้มีคุณค่าที่แท้จริง (คุณภาพไม่ดี ส่งมอบไม่ตรงเวลา ราคาแพง) นั้นอาจขายสินค้าได้และมีกำไรในระยะเวลาสั้น ๆ เนื่องจากลูกค้าหลงเชื่อการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ต้องการทดลองของใหม่ หรือยังไม่มีคู่แข่งในตลาด แต่เมื่อลูกค้าได้ลองใช้สินค้าไปสักระยะแล้วพบว่าสินค้าไม่ได้มีคุณค่าที่แท้จริงคุ้มค่ากับเงินที่ตนจ่ายไป หรือเริ่มมีคู่แข่งที่สามารถส่งมอบคุณค่าได้มากกว่า ลูกค้าก็จะค่อย ๆ หายไป ปรากฏการณ์นี้มักเกิดกับธุรกิจจำนวนมาก เช่น ร้านอาหารเปิดใหม่ที่มักขายดีในช่วงเดือนแรกแต่ยอดขายกลับค่อย ๆ ลดลงจนก็ต้องปิดร้านไปในที่สุด หรือร้านกาแฟของคนไทยที่เคยโด่งดังตามกระแสบริโภคกาแฟเมื่อสิบปีที่ผ่านมาแต่ปัจจุบันแทบไม่มีใครกล่าวถึง


สาเหตุของความล้มเหลวทางธุรกิจนี้เป็นเพราะลูกค้าซื้อสินค้าและบริการจากร้านเหล่านี้เพราะกระแสหรือต้องการทดลองของใหม่ แต่ร้านเหล่านี้กลับไม่ได้ส่งมอบคุณค่าที่คุ้มค่าให้กับลูกค้าจนลูกค้าค่อย ๆ หายไปและตนเองต้องล้มหายตายจากธุรกิจตามไปในที่สุด ในทางตรงกันข้ามหากองค์กรสามารถส่งมอบคุณค่าที่คุ้มค่าจริง ๆ (ดีจริง เร็วจริง และถูกจริง) ผ่าน กระบวนการของ Operations Management อย่างมีประสิทธิภาพให้กับลูกค้าได้แล้ว แม้องค์กรจะไม่ได้มีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ตนเองหรือสินค้ามากนัก แต่ลูกค้าเก่าที่ได้รับรู้ถึงคู่ค่าแท้ของสินค้าและบริการก็จะซื้อซ้ำอย่างต่อเนื่อง และมีการบอกต่อไปยังลูกค้าใหม่ ทำให้แม้ว่าช่วงแรกยอดขายของกิจการอาจไม่มากนัก แต่จะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดได้แก่ ธุรกิจรับจ้างผลิต หรือ OEM (Original Equipment Manufacturer) ที่แม้ว่าจะไม่การโฆษณาประชาสัมพันธ์ แต่หากมีสินค้าที่ดีจริง ส่งมอบได้ตรงเวลาจริง และราคาถูกจริง ลูกค้าที่เป็นโรงงานหรือเอเย่นต์สมัยใหม่ก็จะเป็นผู้ไปเสาะหาผู้รับจ้างผลิตเหล่านี้จนพบและติดต่อขอซื้อสินค้าเองตามกระแสของการเอาต์ซอร์ส (Outsourcing) เองด้วยซ้ำ


ทั้งนี้มิได้หมายความว่าการโฆษณาประชาสัมพันธ์นั้นไม่มีความสำคัญแต่อย่างใด แต่พื้นฐานของสินค้าหรือบริการที่จะใช้การโฆษณาประชาสัมพันธ์มาช่วยส่งเสริมการขายได้นั้น ต้องมีพื้นฐานมาจาก Operations Management ที่สามารถส่งมอบสินค้าที่ดีกว่า เร็วกว่า และถูกกว่าได้เสียก่อน หากองค์กรมี Operations Management ที่ดีก็จะเปรียบเสมือน “หญิงสาวที่งามอย่างมีคุณค่าหรือช้างเผือกที่อยู่ในป่า" ซึ่งลูกค้าจะต้องค้นพบเข้าสักวัน ในทางตรงกันข้ามหากองค์กรมี Operations Management ที่ไม่ดี แม้ว่าจะใช้การโฆษณาประชาสัมพันธ์มากก็จะเป็นได้เพียงแค่ “หญิงสาวที่สวยแต่รูปแต่กลับจูบไม่หอม หรือคนที่ข้างนอกสุกใสแต่ข้างในกลับตะติ๊งโหน่ง” ที่อาจหลอกให้ลูกค้าซื้อครั้งแรกได้ แต่ไม่สามารถหลอกให้ลูกค้าซื้อซ้ำและบอกต่อตลอดไปได้ โดยสรุปคือหากสินค้าและบริการไม่ดีจริงหรือ Operations Management ยังไม่ดีจริงแล้วก็อย่าไปเสียเงินเสียเวลาโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้เปล่าประโยชน์
     
ถาม 5 Operations Management มีความสำคัญต่อนักศึกษาด้านการจัดการอย่างไร
ตอบ 5 Operations Management นั้นมีความสำคัญต่อนักศึกษาด้านการจัดการในหลายมิติ
ประการแรก Operations Management จะสอนและฝึกผู้เรียนให้มีตรรกะในการคิดเชิงเหตุเชิงผลอย่างเป็นระบบ เนื่องจากการวิเคราะห์และตัดสินใจใน Operations Management ด้านหนึ่งจะมีผลกระทบใน Operations Management ด้านอื่น ๆ เช่น การจัดซื้อในปริมาณมากเพื่อให้ต้นทุนจัดซื้อต่อหน่วยต่ำจะทำให้ต้องจัดเก็บสต็อกมากและเกิดต้นทุนในการจัดเก็บสต็อกมาก การต้องการผลิตในขนาดรุ่นการผลิต (Lot/Batch) ที่เล็กเพื่อไม่ต้องการจัดเก็บสต็อกมาก จะทำให้ต้องมีการปรับตั้งเครื่องจักรบ่อย (Setup) หรือสินค้าอาจขาดสต็อกได้ ฯลฯ นอกจากนี้การศึกษาและตัดสินใจใน Operations Management ยังมีความเป็นทั้งศาสตร์ (Science) ที่ต้องมีการคิดวิเคราะห์คำนวณด้วยตรรกะต่าง ๆ และเป็นทั้งศิลป์ (Art) ที่ต้องพิจารณาถึงการจัดการ การกระตุ้นและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์หรือแรงงานที่เป็นทรัพยากรสำคัญหนึ่งในการผลิตสินค้าหรือบริการด้วย


ด้านมิติของความต้องการของตลาดแรงงานและความก้าวหน้าในวิชาชีพนั้น เนื่องจาก Operations Management ครอบคลุมหน่วยงานหลัก ๆ ในองค์กรจำนวนมาก (ไม่ใช่เฉพาะฝ่ายผลิตเท่านั้น) เช่น การออกแบบ การจัดซื้อ การจัดการสินค้าคงคลัง การจัดการคลังสินค้า การวางแผนและควบคุมการผลิต การผลิต การบริการ การตรวจสอบและประกันคุณภาพ การจัดส่งและกระจายสินค้า การบริการหลังการขาย การซ่อมบำรุง งานบริการ ฯลฯ   ดังนั้นบุคลากรส่วนใหญ่ในองค์กรมากกว่า 60-70% จึงทำงานในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับงาน Operations ส่งผลให้ผู้ที่ศึกษาในสาขาวิชานี้มีโอกาสในการหางานทำได้มากกว่า และสามารถเลือกงานได้ค่อนข้างกว้างขวางกว่าสาขาอื่น ๆ

นอกจากนี้สายงาน Operations มักถือเป็นสายงานหลักหรือหน่วยรบขององค์กรจำนวนมาก เนื่องจากเป็นสายงานหลักในการสร้าง และส่งมอบสินค้าหรือบริการที่มีมูลค่าเพิ่มที่แท้จริงให้ได้ตรงตามความต้องการของลูกค้า ดังนั้นองค์กรจึงมักให้ความสำคัญกับสายงาน Operations และผู้ที่ทำงานในสายงาน Operations มักได้รับความสนับสนุนส่งเสริมให้เป็นผู้บริหารสูงสุดขององค์กรโดยเฉพาะอย่างยิ่งในองค์กรที่มีจุดขายหรือแข่งขันในด้านการผลิตสินค้าหรือบริการให้ได้มาตรฐาน คุณภาพดี ต้นทุนต่ำ (สินค้าอุตสาหกรรม หรือ Industrial Product) เช่น บริษัทที่รับจ้างผลิต (OEM) หรือบริษัทที่ผลิตสินค้าอุตสาหกรรม  (เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์) เป็นต้น
    
หมายเหตุ ตอน 2 ข้อ 6-10 ต่อ

   6) จำเป็นหรือไม่ที่ผู้ที่สนใจศึกษาในสาขาวิชา Operations Management จะต้องเก่งการคำนวณหรือเป็นวิศวกรเท่านั้น
   7) การจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน (Logistics and Supply Chain Management) คืออะไร
   8) Operations Management เกี่ยวข้องกับ Logistics and Supply Chain Management หรือไม่ อย่างไร
   9) ระบบการผลิตแบบลีน (Lean Manufacturing) คืออะไร
   10) การบริหารคุณภาพโดยรวม (Total Quality Management) คืออะไร

บทความอ่านเพิ่มเติม
     [1] อัศม์เดช วานิชชินชัย (2553). “สนศัพท์ไม่สับสน ในแวดวงโลจิสติกส์ (รู้ไว้ ใช้เป็น)”.  Industrial Technology Review. 16(205). 129-134

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด