เนื้อหาวันที่ : 2012-10-31 18:08:00 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 4745 views

เริ่มต้นทำธุรกิจในรูปแบบของห้างหุ้นส่วน

การจัดตั้งรูปแบบขององค์กรเพื่อการดำเนินธุรกิจสามารถทำได้หลายลักษณะ ไม่ว่าจะเป็นกิจการเจ้าของคนเดียว ห้างหุ้นส่วน หรือบริษัทจำกัด

เริ่มต้นทำธุรกิจในรูปแบบของห้างหุ้นส่วน
ผศ.วิวัฒน์ อภิสิทธิ์ภิญโญ
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน

การจัดตั้งรูปแบบขององค์กรเพื่อการดำเนินธุรกิจสามารถทำได้หลายลักษณะ ไม่ว่าจะเป็นกิจการเจ้าของคนเดียว ห้างหุ้นส่วน หรือบริษัทจำกัด ซึ่งการดำเนินธุรกิจในรูปแบบใด ๆ ก็ตามจะมีผลต่อการบริหารการดำเนินงานงาน ในลักษณะที่มีความแตกต่างกันไปด้วย สำหรับในที่นี้จะได้กล่าวถึงการดำเนินธุรกิจในรูปแบบของการจัดตั้งองค์กรในลักษณะที่เป็นห้างหุ้นส่วน

ความหมายและลักษณะสำคัญของห้างหุ้นส่วน
ความหมายของห้างหุ้นส่วน
ห้างหุ้นส่วน หมายถึง องค์กรธุรกิจใด ๆ ที่มีการจัดตั้งขึ้นโดยบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปตกลงทำธุรกิจร่วมกัน เรียกบุคคลที่ตัดสินใจทำธุรกิจร่วมกันว่า ผู้เป็นหุ้นส่วน ผู้เป็นหุ้นส่วนแต่ละคนจะต้องมีการลงทุนร่วมกัน เพื่อนำทุนที่ได้มาใช้เพื่อการดำเนินงานของห้างหุ้นส่วน และต้องการแบ่งผลกำไรให้ผู้เป็นหุ้นส่วนแต่ละคนด้วย

ลักษณะสำคัญของห้างหุ้นส่วน
 ตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1012 สามารถสรุปลักษณะที่สำคัญของห้างหุ้นส่วนได้ดังนี้
1. ต้องเป็นสัญญาการตกลงร่วมกันระหว่างบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป
2. ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนต้องมีการนำสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาลงทุนร่วมกัน โดยอาจจะเป็นเงิน ทอง หรือทรัพย์สินใด ๆ หรือแรงงานก็ได้
3. การตกลงกระทำการร่วมกันต้องเป็นการกระทำอย่างเดียวกันที่ชอบด้วยกฎหมาย
4. ผลของการกระทำร่วมกันมีวัตถุประสงค์ที่ต้องการจะแบ่งปันผลกำไรอันพึงได้

การจัดตั้งห้างหุ้นส่วน
ทำความตกลงกับผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนในเรื่องสัญญาการจัดตั้ง
 การตกลงที่จะดำเนินธุรกิจด้วยกันในลักษณะที่เป็นห้างหุ้นส่วนจำเป็นต้องมีการจัดทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความชัดเจนในเรื่องของสิทธิ หน้าที่ ทุนที่นำมาลง และอื่น ๆ ที่มีสาระสำคัญต่อการสร้างความเข้าใจที่ตรงกัน โดยทั่วไปสาระสำคัญในสัญญาการจัดตั้งห้างหุ้นส่วน มีดังนี้
1. ชื่อและสถานที่ในการดำเนินงานของห้างหุ้นส่วน ชื่อ–นามสกุล อายุ ที่อยู่ของผู้เป็นหุ้นส่วนแต่ละคน ตราประทับเอกสารของห้างหุ้นส่วน
2. ขอบเขตหรือกรอบการดำเนินงาน ซึ่งมักจะกำหนดวัตถุประสงค์ไว้หลายประการ เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่น คล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ
3. ทุนที่ผู้เป็นหุ้นส่วนแต่ละคนนำมาลงทุน บทบาท อำนาจหน้าที่ของผู้เป็นหุ้นส่วนแต่ละคน การแต่งตั้งหุ้นส่วนผู้จัดการ
4. ข้อตกลงเกี่ยวกับดอกเบี้ยเงินทุน เงินเดือน ผลตอบแทนอื่น และการแบ่งผลกำไรให้ผู้เป็นหุ้นส่วน
5. วิธีการบัญชีของห้างหุ้นส่วน
6. การลงทุนเพิ่ม การถอนเงินทุน และเงินถอน รวมถึงการรับหุ้นส่วนใหม่ การจ่ายคืนทุน รวมถึงสิทธิส่วนได้เสียเมื่อผู้เป็นหุ้นส่วนลาออก หรือถึงแก่กรรม
7. เรื่องอื่น ๆ เช่น ข้อตกลงเมื่อมีการขัดแย้งกันระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วน ข้อตกลงเมื่อต้องการเลิกห้างหุ้นส่วน


การจดทะเบียน
 เมื่อบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปตกลงที่จะทำธุรกิจร่วมกันแล้ว หุ้นส่วนแต่ละคนต้องร่วมกันแต่งตั้งผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ โดยบุคคลที่อยู่ในฐานะเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ คือผู้ที่มีหน้าที่ต้องดำเนินการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วน ซึ่งในปัจจุบันมีกิจการที่ดำเนินงานในรูปแบบองค์กรห้างหุ้นส่วนเป็นจำนวนมาก กรมพัฒนาธุรกิจจึงกำหนดให้ต้องทำการตรวจสอบและจองชื่อห้างหุ้นส่วนเสียก่อน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาความสับสนในภายหลัง เมื่อได้ชื่อห้างหุ้นส่วนที่ไม่ซ้ำกับกิจการที่ได้จดไว้ก่อนหน้านี้แล้วจึงยื่นจดทะเบียนได้ โดยให้ซื้อคำขอจดทะเบียนและเอกสารประกอบได้ที่หน่วยงานกรมพัฒนาธุรกิจทุกแห่ง หรือดาวน์โหลดได้ที่ www.dbd.go.th
     การยื่นจดทะเบียน ทำได้ 2 วิธี คือ
1. หุ้นส่วนผู้จัดการหรือผู้รับมอบอำนาจยื่นจดทะเบียนด้วยตนเองกับนายทะเบียน โดยถ้าสำนักงานใหญ่ตั้งในเขตกรุงเทพ สามารถยื่นจดทะเบียนได้ที่ส่วนจดทะเบียนธุรกิจกลาง กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ชั้น 9 ถ.นนทบุรี จ.นนทบุรี แต่ถ้าสำนักงานใหญ่อยู่จังหวัดอื่น ยื่นจดทะเบียนได้ที่สำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าจังหวัดใด ๆ ที่สำนักงานใหญ่ของห้างหุ้นส่วนตั้งอยู่
2.ยื่นขอจดทะเบียนทางอินเทอร์เน็ต ที่ www.dbd.go.th

ประเภทของห้างหุ้นส่วน
 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แบ่งห้างหุ้นส่วนเป็น 2 ประเภท คือห้างหุ้นส่วนสามัญ (Ordinary Partnership) และห้างหุ้นส่วนจำกัด (Limited Partnership)
1. ห้างหุ้นส่วนสามัญ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1025 กล่าวว่าเป็นห้างหุ้นส่วนที่มีผู้เป็นหุ้นส่วนประเภทเดียว คือหุ้นส่วนที่ต้องรับผิดชอบต่อภาระหนี้สินใด ๆ ที่เกิดขึ้นโดยไม่จำกัดจำนวน ห้างหุ้นส่วนสามัญนี้จะจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลหรือไม่ก็ได้ ด้วยเหตุนี้จึงจำแนกห้างหุ้นส่วนสามัญได้เป็น 2 ประเภทคือ
1.1 ห้างหุ้นส่วนสามัญที่ไม่ได้จดทะเบียน ไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย ชื่อเรียกห้างหุ้นส่วนไม่จดทะเบียนจะใช้ว่า "ห้างหุ้นส่วนสามัญ........"
1.2 ห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน มีสภาพเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย ชื่อเรียกห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนจะใช้ว่า "ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล........"

2. ห้างหุ้นส่วนจำกัด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1077 กล่าวว่าเป็นห้างหุ้นส่วนที่มีผู้เป็นหุ้นส่วน 2 ประเภท คือหุ้นส่วนที่รับผิดชอบต่อภาระหนี้สินใด ๆ ที่เกิดขึ้นโดยไม่จำกัดจำนวน ซึ่งต้องมีอย่างน้อย 1 คนและหุ้นส่วนที่รับผิดชอบต่อภาระหนี้สินแบบจำกัดจำนวน จะมีจำนวนกี่คนก็ได้ สำหรับการลงทุนของหุ้นส่วนที่รับผิดต่อภาระหนี้สินแบบจำกัดจำนวนนี้จะต้องเป็นทรัพย์สินใด ๆ เท่านั้น เช่น เงิน ทองคำ เครื่องจักร ที่ดิน แต่ไม่สามารถลงทุนในรูปของแรงงานได้ ห้างหุ้นส่วนจำกัดมีสภาพเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย ชื่อเรียกห้างหุ้นส่วนจะใช้ว่า "ห้างหุ้นส่วนจำกัด........" ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1078

ข้อแตกต่างของห้างหุ้นส่วนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
จากที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นว่า ห้างหุ้นส่วนจำแนกได้เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญและห้างหุ้นส่วนจำกัด ถ้าพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ สามารถนำมาสรุปข้อแตกต่างของห้างหุ้นส่วนทั้งสองประเภทได้ดังนี้

 

ประเด็น
ห้างหุ้นส่วนสามัญ
ห้างหุ้นส่วนจำกัด
1. ประเภทผู้เป็นหุ้นส่วน
มีเพียงประเภทเดียว คือหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิด มีผู้เป็นหุ้นส่วน 2 ประเภทคือ หุ้นส่วนที่ไม่จำกัดความรับผิดและหุ้นส่วนที่จำกัดความรับผิด

2. สิ่งที่นำมาลงทุน
เงิน หรือทรัพย์สินอื่น ๆ หรือแรงงานขึ้นอยู่กับประเภทของผู้เป็นหุ้นส่วน ถ้าเป็นหุ้นส่วนที่ไม่จำกัดความรับผิด สามารถใช้เงิน หรือทรัพย์สินอื่น ๆ หรือแรงงานได้ แต่ถ้าเป็นหุ้นส่วนที่จำกัดความรับผิดลงทุนในรูปของแรงงานไม่ได้

3. การจดทะเบียน
จดทะเบียนหรือไม่ก็ได้ต้องจดทะเบียน

4. สิทธิการบริหารจัดการห้างหุ้นส่วน
ถ้าไม่ได้ระบุสิทธิที่ชัดเจนไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญาการจัดตั้ง ให้ถือว่าผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนมีสิทธิเท่ากัน ถ้าไม่ได้ระบุสิทธิที่ชัดเจนไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญาการจัดตั้ง ให้ถือว่าผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนมีสิทธิเท่ากัน ยกเว้นหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิดที่ไม่มีสิทธิเข้าบริหารจัดการห้างหุ้นส่วนแต่อย่างใด

5. การเลิกกิจการ
ผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดตาย หรือลาออก หรือล้มละลาย หรือไร้ความสามารถ ห้างหุ้นส่วนต้องเลิกกิจการ ผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดตาย ลาออก ล้มละลาย หรือไร้ความสามารถ ห้างหุ้นส่วนไม่ต้องเลิกกิจการ เว้นแต่มีข้อกำหนดอื่นในสัญญาการจัดตั้ง


6. สิทธิเรียกร้องของผู้เป็นเจ้าหนี้
เจ้าหนี้สามารถเรียกร้องสิทธิจากสินทรัพย์ส่วนตัวของผู้เป็นหุ้นส่วนได้
เจ้าหนี้สามารถเรียกร้องสิทธิจากสินทรัพย์ส่วนตัวของผู้เป็นหุ้นส่วนได้ ยกเว้นหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิด

กฎหมายเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วน
กฎหมายเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนสามารถแยกพิจารณาได้ 2 ลักษณะ คือ กฎหมายที่เป็นแนวปฏิบัติทั่วไป และกฎหมายที่เป็นแนวปฏิบัติทางบัญชี

กฎหมายที่เป็นแนวปฏิบัติทั่วไป
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กำหนดให้ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จดทะเบียน ต้องปฏิบัติดังนี้
1. การจดทะเบียน กฎหมายได้กำหนดรายการสำคัญที่ต้องมีประกอบการจดทะเบียน แยกพิจารณาเป็น 2 กรณี คือ

กรณีเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ
กรณีเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด
1. ชื่อห้างหุ้นส่วน ระบุว่าเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ
1. ชื่อห้างหุ้นส่วน ระบุว่าเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด
2. วัตถุประสงค์การดำเนินงานของห้างหุ้นส่วน
2. วัตถุประสงค์การดำเนินงานของห้างหุ้นส่วน
3. ที่ตั้งสำนักงานใหญ่และสาขา (ถ้ามี)
3. ที่ตั้งสำนักงานใหญ่ และสาขา (ถ้ามี)
4. ชื่อ– สกุล อาชีพ ที่อยู่ ของผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน ในกรณีที่คนใดมีชื่อยี่ห้อ ให้ลงทะเบียนชื่อยี่ห้อของบุคคลนั้นด้วย
4. ชื่อ–สกุล อาชีพ ที่อยู่ ของผู้เป็นหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิด โดยระบุจำนวนเงิน และสินทรัพย์ที่นำมาลงทุนด้วย
5. ชื่อผู้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ กรณีที่ได้รับแต่งตั้งเพียงบางคน
5. ชื่อผู้เป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิด และชื่อผู้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการที่ได้รับการแต่งตั้ง
6. ข้อจำกัดเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของผู้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ (ถ้ามี)
6. ข้อจำกัดเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของผู้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ (ถ้ามี)
7. ตราประทับของห้างหุ้นส่วน
7. ตราประทับของห้างหุ้นส่วน
     
ข้อความที่นำมาจดทะเบียนนั้น จะต้องลงลายมือชื่อผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนและประทับตราสัญลักษณ์ของห้างหุ้นส่วนด้วย และเมื่อดำเนินการจดทะเบียนแล้ว นายทะเบียนจะต้องทำในสำคัญแสดงการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนส่งมอบให้ห้างหุ้นส่วนเก็บไว้เป็นหลักฐานด้วยฉบับหนึ่ง
2. การเปลี่ยนแปลงรายการที่จดทะเบียนไว้ เช่น การเปลี่ยนแปลงหุ้นส่วนผู้จัดการ หรืออำนาจของผู้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ต้องมีลายมือชื่อผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนในเอกสารสัญญาเพิ่มเติมที่ใช้ยื่นเป็นหลักฐานขอทำการเปลี่ยนแปลงรายการ รวมถึงกำหนดเวลาที่ต้องการให้ข้อตกลงในสัญญาเพิ่มเติมมีผลบังคับใช้ด้วย
3. การยื่นงบการเงิน ต้องยื่นงบการเงินต่อสำนักบริการข้อมูลธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจ หรือที่สำนักพัฒนาธุรกิจการค้าจังหวัด ภายใน 5 เดือนนับแต่วันปิดบัญชี ทั้งนี้รวมถึงห้างหุ้นส่วนที่ยังมิได้ประกอบกิจการด้วย
4. การเลิกห้าง ต้องทำสัญญา หรือการประชุมระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนเพื่อตกลงว่าจะเลิกห้างหุ้นส่วน กำหนดวันที่ที่จะเลิกห้าง แต่งตั้งผู้ทำหน้าที่ชำระบัญชี ผู้สอบบัญชี รวมถึงค่าจ้างที่ต้องจ่ายให้แก่ผู้สอบบัญชี และต้องยื่นขอจดทะเบียนภายใน 14 วัน นับแต่วันที่เลิกห้างหุ้นส่วน

กฎหมายที่เป็นแนวปฏิบัติทางบัญชี
 กฎหมายได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ให้องค์กรธุรกิจต่าง ๆ ต้องมีการปฏิบัติทางการบัญชีให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติการบัญชี 2543 ในประเด็นต่อไปนี้
1. จัดให้มีผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีที่มีคุณสมบัติถูกต้อง ครบถ้วนตามพระราชบัญญัติวิชาชีพการบัญชี 2547 หมวด 6 เรื่องการควบคุมการประกอบวิชาชีพผู้ทำบัญชี
2. จัดทำบัญชีตามกฎหมาย หรือตามมาตรฐานการบัญชี นับตั้งแต่วันที่ได้รับจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล
3. ส่งมอบเอกสารประกอบการลงบัญชีให้แก่ผู้ทำบัญชี อย่างถูกต้องและครบถ้วน
4. จัดให้มีการปิดบัญชี ครั้งแรกภายใน 12 เดือน และปิดบัญชีทุกรอบ 12 เดือน นับแต่วันปิดบัญชีครั้งก่อน
5. การจัดทำงบการเงินจะต้องมีรายการย่อครบถ้วนตามที่อธิบดีกำหนด
ุ6. งบการเงินต้องได้รับการตรวจสอบและรับรองจากผู้สอบบัญชี โดยถ้าเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดที่มีขนาดเล็ก กล่าวคือ ห้างหุ้นส่วนที่มีเงินทุนไม่เกิน 5 ล้านบาท สินทรัพย์รวมไม่เกิน 30 ล้านบาทและรายได้รวมไม่เกิน 30 ล้านบาท ผู้สอบบัญชีที่ตรวจสอบและรับรองงบสามารถใช้ผู้สอบบัญชีภาษีอากรได้ แต่ถ้ามีเงินทุน สินทรัพย์และรายได้เกินกว่าที่ได้กล่าวมาให้ใช้ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต โดยเริ่มมีผลบังคับใช้กับงบการเงินสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีสิ้นสุดในหรือหลังวันที่ 31 ธันวาคม 2545 เป็นต้นไป
7. ต้องยื่นงบการเงินต่อสำนักบริการข้อมูลธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจ หรือที่สำนักพัฒนาธุรกิจการค้าจังหวัด ภายใน 5 เดือนนับแต่วันปิดบัญชี ทั้งนี้รวมถึงห้างหุ้นส่วนที่ยังมิได้ประกอบกิจการด้วย
8. เก็บรักษาบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชี โดยเก็บรักษาไว้ไม่น้อยกว่า 5 ปี นับแต่วันปิดบัญชี ซึ่งอาจจะเป็นสถานที่ที่ใช้เป็นสำนักงานประจำ สถานที่ที่ทำการผลิตหรือคลังสินค้า ซึ่งมีความปลอดภัย หากเอกสารประกอบการลงบัญชีสูญหายต้องแจ้งสารวัตรใหญ่บัญชีภายใน 3 วัน
9. ต้องยื่นภาษีและเสียภาษีต่อกรมสรรพากร ซึ่งถ้าเป็นห้างหุ้นส่วนที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภพ.30) ต้องยื่นภาษีมูลค่าเพิ่มทุกสิ้นเดือนไม่เกินวันที่ 15 ของเดือนถัดไป และยื่นเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลปลายปี (ภ.ง.ด. 50) ภายใน 150 วัน นับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี


ที่กล่าวมาทั้งหมด หลายท่านที่กำลังวางแผนจะเริ่มต้นทำธุรกิจ หรือกำลังธุรกิจอยู่แล้วในรูปแบบของการจัดตั้งองค์กรในลักษณะใด ๆ ก็ตาม คงพอจะทราบถึงข้อดีข้อเสีย หรือแนวทางในการวางแผนการจัดตั้งองค์กรให้เหมาะสมกับกิจการของตนเอง เพื่อประโยชน์ในด้านการบริหาร หรือการระดมเงินทุน หรือการวางแผนภาษีได้

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด