การประยุกต์ใช้หลักการของการปิดผนึกหรือซีล (Seal) ซึ่งเป็นเทคนิคพื้นฐานง่าย ๆ อย่างหนึ่งที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนในระบบโลจิสติกส์ตั้งแต่ระดับจุลภาค
ดร.อัศม์เดช วานิชชินชัย (assadej_v@yahoo.com)
ผอ. หลักสูตร Ph.D. and MS. in
Logistics and Supply Chain Management ม. ศรีปทุม
ที่ปรึกษาตัวอย่าง สาขาบริหารจัดการ กระทรวงอุตสาหกรรม
โลจิสติกส์และโซ่อุปทานรอบ ๆ ตัวเรา
ผมเคยกล่าวในบทความที่ผ่าน ๆ มาหลายครั้งว่าเรื่องโลจิสติกส์และโซ่อุปทานไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัวเรา กลไกการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานเป็นเรื่องพื้นฐานที่แฝงอยู่ในศาสตร์ต่าง ๆ เช่น นิเทศศาสตร์ รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ ฯลฯ มากมายนอกเหนือจากวิศวกรรมศาสตร์หรือศาสตร์เดิม ๆ ในสาขาวิชานี้ และเทคนิคการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในด้านต่าง ๆ รอบตัวเราได้อย่างมากมายเพียงแต่ว่าเราจะมีความสามารถ “ใช้เป็นและเห็นได้” หรือไม่ [1], [2]
ในบทความนี้ผมจะกล่าวถึงการประยุกต์ใช้หลักการของการปิดผนึกหรือซีล (Seal) ซึ่งเป็นเทคนิคพื้นฐานง่าย ๆ อย่างหนึ่งที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนในระบบโลจิสติกส์ตั้งแต่ระดับจุลภาค และสุดท้ายจะเชื่อมโยงไปยังเรื่องซึ่งดูแล้วไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์และโซ่อุปทานนั่นคือการนำซีลมาประยุกต์ใช้ในระดับมหภาคอย่างง่าย ๆ เพื่อควบคุมการยิงปืนในที่สาธารณะหรือการยิงขึ้นฟ้าซึ่งเป็นบริบทของการบริหารรัฐกิจเพื่อความปลอดภัยและสวัสดิภาพของประชาชนในสังคม เนื่องจากปัญหานี้กำลังเป็นข่าวที่กล่าวถึงบ่อยขึ้นและดูจะมีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลต่าง ๆ ในขณะที่ผู้ที่เกี่ยวข้องกลับยังไม่ค่อยให้ความสำคัญในการแก้ปัญหานี้เท่าที่ควร แต่ผมให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากในบทความนี้
ซีล–คอนเทนเนอร์
ในการนำเข้าและส่งออกสินค้าด้วยตู้คอนเทนเนอร์ เรามักจะคุ้นเคยกับการใช้ซีลที่มีเลขทะเบียนกำกับคล้องปิดผนึกประตูตู้คอนเทนเนอร์เพื่อควบคุมไม่ให้มีการเปิดตู้คอนเทนเนอร์ระหว่างการขนส่งเพื่อป้องกันสินค้าสูญหาย เนื่องจากหากมีการเปิดตู้ก่อนถึงที่หมายปลายทางซีลจะต้องถูกตัดทำลายก่อน แต่หากเปิดตู้แล้วพบว่าสินค้าในตู้ไม่ครบถ้วนโดยที่ซีลยังคงอยู่ในสภาพปกติก็แสดงว่าต้นทางส่งสินค้ามาไม่ครบ หรือปลายทางทำสินค้าสูญหายเองไม่เกี่ยวกับผู้ขนส่งแต่อย่างใด
รูปที่ 1 การซีลตู้คอนเทนเนอร์
รูปที่ 2 ซีลตู้คอนเทนเนอร์แบบต่าง ๆ
ซีล–บรรจุภัณฑ์
ในการส่งสินค้าด้วยกล่องหรือบรรจุภัณฑ์ขนาดเล็กลงมา เช่น กล่องกระดาษลูกฟูกก็เช่นกัน หากใช้การปิดผนึกกล่องด้วยกาวธรรมดาก็มีความเป็นไปได้ที่ระหว่างการขนส่งกล่องอาจถูกแงะเปิดแล้วขโมย หรือสับเปลี่ยนสินค้าจำนวนหนึ่งจากกล่องและปิดผนึกฝากล่องด้วยกาวกลับไปใหม่โดยเฉพาะในกรณีของสินค้าที่มีราคาแพงหรือการผนึกกาวไม่แน่น เมื่อร้านค้ารับกล่องโดยไม่ได้เปิดตรวจสินค้าภายในก่อนก็จะไม่ทราบว่ามีสินค้าหายไป กว่าจะไปทราบอีกทีก็เมื่อเปิดกล่องสินค้าออกมาหลังจากรับสินค้าไปแล้วหลายสัปดาห์หรือหลายเดือนซึ่งร้านค้าอาจไม่สามารถตรวจสอบกลับ (Traceability) ได้ว่าสินค้ากล่องนั้นถูกส่งมาเมื่อไรโดยผู้ขนส่งรายใด
แต่หากเราใช้สก็อตเทปที่มีสัญลักษณ์เฉพาะเป็นซีลปิดผนึกฝากล่องก็จะช่วยแก้ปัญหาข้างต้นได้ เนื่องจากหากจะเปิดฝากล่องออกก็จะต้องฉีกทำลายซีลสก็อตเทปก่อนซึ่งก็จะปรากฏให้เห็นร่องรอยการฉีกทำลายได้มากกว่า และไม่สามารถปิดผนึกกลับเข้าไปเหมือนเดิมได้หากไม่มีสก็อตเทปที่มีสัญลักษณ์เฉพาะ
รูปที่ 3 ซีลบรรจุภัณฑ์
ซีล–คลังสินค้าในระบบกระจายสินค้าขนาดใหญ่
ในการส่งและตรวจรับสินค้าแบบทั่วไป โดยปกติแล้วผู้ส่งสินค้าและผู้รับสินค้าจะต้องตรวจนับสินค้าทีละรายการพร้อม ๆ กันเพื่อให้มั่นใจว่าผู้รับได้รับสินค้าครบถ้วนไม่สูญหายระหว่างขนส่ง ซึ่งการตรวจนับสินค้าร่วมกันนี้อาจทำให้เสียเวลามากโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นร้านค้าปลีกแบบแฟรนไชส์ที่มีเครือข่ายสาขาจำนวนมากซึ่งสาขาเกือบทั้งหมดจะตั้งอยู่ในชุมชนที่มีคนพลุกพล่าน แต่ละวันเมื่อรถขนส่งมาส่งสินค้าที่ร้าน นอกจากผู้ส่งจะต้องเสียเวลาหาที่จอดรถ (ซึ่งหายากเพราะอยู่ในที่ชุมชน) แล้วยังต้องเสียเวลารอพนักงานหน้าร้านให้ว่างจากการขายของให้ลูกค้า (ซึ่งก็อาจไม่ค่อยว่างเพราะขายดี) และค่อยมาตรวจนับสินค้าอย่างละเอียดทีละรายการร่วมกัน ทำให้การส่งสินค้าแต่ละร้านใช้เวลานาน
เวลาส่วนใหญ่สูญเสียไปกับการรอคอย (Idle) และการตรวจนับ (Inspection) ร่วมกันทั้งสองฝ่ายซึ่งถือเป็นความสูญเปล่าตามหลักของการศึกษาการทำงาน (Work Study) โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสินค้าที่มีการสั่งซื้อและจัดส่งในปริมาณน้อยเป็นจำนวนชิ้น (Piece) ไม่เต็มกล่อง (Display Box, Carton) ส่งผลให้จำนวนร้านในการขนส่งสินค้าของรถแต่ละคันในแต่ละวันน้อยกว่าที่ควรจะเป็น มีผลกระทบถึงทั้งระดับการบริการ (Service Level) และต้นทุน (Cost) ในระบบโลจิสติกส์ (นอกจากนี้ความสูญเปล่าและเสียเวลาจากการรอคอยและการตรวจนับคล้าย ๆ กันนี้ยังเกิดขึ้นในขั้นตอนก่อนหน้าที่พนักงานขนส่งต้องรอและนับสินค้าร่วมกับพนักงานคลังสินค้าตอนที่พนักงานขนส่งไปรับสินค้าจากคลังสินค้า และจะเกิดปัญหานี้ขึ้นทุก ๆ ครั้งเมื่อมีการส่งมอบสินค้าระหว่างบุคคลหรือระหว่างหน่วยงาน)
ในระบบการกระจายสินค้าในธุรกิจดังกล่าวโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสินค้าที่มีการจัดส่งไม่เต็มกล่องจึงมีการนำลังพลาสติกขนาดใหญ่ที่สามารถส่งคืนและนำกลับมาใช้ใหม่ได้ (Re-usable) มาใช้ให้พนักงานคลังสินค้าบรรจุสินค้าชิ้นเล็ก ๆ รวมลงไปในลังเดียวกันแล้วจึงปิดผนึกหรือซีลฝาลังให้มิดชิดก่อนส่งมอบลังให้กับพนักงานขนส่งนำไปส่งให้กับร้านค้า ซึ่งในขั้นตอนนี้พนักงานขนส่งก็เพียงแต่เซ็นต์ชื่อรับลังสินค้าตามหมายเลขลังจากพนักงานคลังสินค้าโดยไม่ต้องเสียเวลาในการตรวจนับสินค้าชิ้นเล็ก ๆ ทีละชิ้นที่อยู่ข้างในลัง
เมื่อถึงร้านค้าพนักงานหน้าร้านก็เพียงแต่ตรวจสอบสภาพลังว่าซีลยังอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์แล้วเซ็นต์ชื่อรับลังสินค้าตามหมายเลขที่ระบุในใบส่งสินค้าให้กับพนักงานขนส่ง และให้พนักงานขนส่งกลับไปได้เลยโดยไม่จำเป็นจะต้องเปิดลังตรวจนับสินค้าร่วมกับพนักงานขนส่ง วิธีการนี้จะช่วยให้พนักงานขนส่งไม่ต้องเสียเวลารอพนักงานขายและเสียเวลาตรวจนับสินค้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีลูกค้าเข้าร้านมากซึ่งพนักงานหน้าร้านมักจะต้องให้ความสำคัญกับการบริการลูกค้าก่อนการรับและตรวจนับสินค้าจากพนักงานขนส่ง ช่วยให้พนักงานขนส่งสามารถทำรอบในการขนส่งได้มากขึ้นและต้นทุนในการขนส่งต่ำลง
รูปที่ 4 ลังพลาสติกแบบปิดผนึกฝาได้
รูปที่ 5 การซีลฝาลังพลาสติก
เมื่อพนักงานหน้าร้านเริ่มมีเวลาว่างในช่วงที่มีลูกค้าน้อย (อาจเป็นในช่วงกลางคืน) พนักงานหน้าร้านก็ค่อยเปิดลังและตรวจนับสินค้า (และส่งคืนลังพลาสติกนี้ให้กับพนักงานขนส่งเมื่อพนักงานขนส่งมาส่งของในรอบถัดไป) ซึ่งหากสินค้าถูกต้องครบถ้วนก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่หากพบว่าสินค้าไม่ครบตรงกับที่ระบุไว้ในใบส่งสินค้าก็มีทางเป็นไปได้ 2 สาเหตุหลัก ๆ คือ
1) เกิดจากความผิดพลาดโดยสุจริตที่พนักงานคลังสินค้าบรรจุสินค้ามาไม่ครบแต่แรก ซึ่งในกรณีนี้สินค้ายังคงอยู่ที่คลังสินค้าไม่ได้สูญหายไป ความเสียหายที่เกิดขึ้นจึงมีเพียงโอกาสที่อาจจะมีสินค้าไม่พอขายเท่านั้น
2) เกิดจากการจงใจทุจริตโดยพนักงานคลังสินค้าบรรจุสินค้ามาครบ แต่พนักงานหน้าร้านยักยอกสินค้าไว้เองแต่อ้างว่าได้รับสินค้าไม่ครบ ความเสียหายที่เกิดขึ้นจึงมีทั้งด้านมูลค่าสินค้าและโอกาสที่มีสินค้าไม่พอขาย
ซึ่งทั้ง 2 กรณีล้วนไม่เกี่ยวข้องกับพนักงานขนส่งเพราะซีลยังคงอยู่ในสภาพสมบูรณ์ขณะตรวจรับลังสินค้า หากดูเพียงผิวเผินอาจเห็นว่าระบบการซีลลังสินค้าและจัดส่งด้วยวิธีการดังกล่าวยังคงมีช่องโหว่ที่อาจทำให้พนักงานคลังสินค้าใช้เป็นข้ออ้างในการไม่ระมัดระวังในการแพ็คลังสินค้าและโยนความผิดไปให้กับพนักงานหน้าร้านหากมีสินค้าสูญหาย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งพนักงานหน้าร้านก็มีช่องที่จะยักยอกสินค้าไว้เองและโยนความผิดให้กับพนักงานคลังสินค้าว่าบรรจุสินค้ามาไม่ครบได้เช่นกัน
ทั้งนี้ในทางปฏิบัติปัญหาความผิดพลาดทั้งที่โดยสุจริตของพนักงานคลังสินค้าและโดยทุจริตของพนักงานหน้าร้านดังข้างต้นไม่ค่อยน่าเป็นห่วงสักเท่าไร เนื่องจากสามารถตรวจสอบกลับเพื่อหาค่าเฉลี่ยความผิดพลาดได้ว่าลังสินค้าที่มีปัญหาเรื่องสินค้าไม่ครบมาจากพนักงานคลังสินค้าคนใด (Traceability) หรือเปรียบเทียบว่าร้านสาขาใดมีปัญหาสินค้าไม่ครบมากกว่าสาขาอื่น และสินค้าเหล่านี้ส่วนใหญ่ก็มีมูลค่าไม่มากจึงไม่ค่อยมีแรงจูงใจให้พนักงานหน้าร้านกล้าเสี่ยงทุจริต ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือประโยชน์ที่ได้รับการการลดความสูญเปล่าในการรอคอย (ทั้งคนและรถ) และการตรวจนับสินค้าของพนักงานขนส่งทั้งในขั้นตอนการรับสินค้าจากคลังสินค้าและขั้นตอนการส่งสินค้าให้กับร้านค้ามีมากกว่าโอกาสและความเสียหายจากการที่สินค้าจะสูญหายมาก หลายบริษัทที่มีระบบในการกระจายสินค้าเช่นนี้จึงนิยมใช้เทคนิคการซีลลังดังกล่าวเข้ามาช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนในการกระจายสินค้า
ซีล–ปิดปากปืน
หลายปีที่ผ่านมาเรามักได้ยินข่าวประชาชนผู้บริสุทธิ์ต้องสังเวยชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บจากกระสุนปืนที่อาชญากรมือสมัครเล่นยิงขึ้นฟ้าในเทศกาลต่าง ๆ แม้ว่าตำรวจจะได้ประชาสัมพันธ์ให้ทราบว่าการกระทำดังกล่าวมีความผิดตามกฎหมายแล้วแต่ปัญหานี้กลับดูทวีความถี่และรุนแรงขึ้น ไม่นับรวมถึงกรณียิงปืนขึ้นฟ้าแต่ไม่เป็นข่าวเพราะยังโชคดีหน่อยที่กระสุนไม่ตกมาโดนคน แต่ก็ยังทำให้ประชาชนทั่วไปต้องอยู่อย่างหวาดระแวงไม่รู้ว่าตนจะเป็นผู้โชคร้ายเมื่อไรโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อได้ยินเสียงปืนดังขึ้น
ซึ่งกรณีนี้น่าจะมีมากกว่ากรณีที่ตกเป็นข่าวหลายเท่าเพราะขนาดยิงกันมั่ว ๆ กระสุนยังหล่นมาโดนคนที่อยู่กันอย่างไม่หนาแน่นได้ ที่ผ่านมาตำรวจแทบไม่สามารถจับกุมผู้ก่อเหตุได้เลย ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะปัญหาดังกล่าวอาจดูเป็นเรื่องเล็กจนไม่มีผู้ใหญ่คนไหนใส่ใจแก้ไขอย่างจริงจัง (แต่จริง ๆ แล้วไม่เล็กสำหรับประชาชน) หรืออาจเป็นเพราะยากที่จะสืบและจับกุมผู้กระทำความผิด วัวหายและคนตายไปหลายศพแล้วแต่ก็ยังไม่มีมาตรการล้อมคอกที่เป็นรูปธรรมไปมากกว่าเพียงออกมาเตือนให้ได้เป็นข่าวกันเป็นครั้งคราวเท่านั้น ดังนั้นเราพอจะมีมาตรการใดบ้างที่สามารถช่วยป้องปรามให้ปัญหาดังกล่าวลดน้อยลง
คนที่ยิงปืนขึ้นฟ้าจำนวนมากไม่ใช่เป็นเพราะไม่รู้ว่าเป็นความผิดหรือไม่รู้ว่าผู้อื่นอาจได้รับความเสียหาย แต่เป็นเพราะคนมีอาวุธย่อมอยากลองใช้และอาจเพราะคิดว่ายิงแล้วก็ถูกสืบจับไม่ได้ ดังนั้นหากเรามีระบบตรวจสอบที่ช่วยให้ทราบได้ว่ามีการยิงปืนก็จะช่วยป้องปรามปัญหาดังกล่าวได้มาก ระบบดังกล่าวอาจทำได้ง่าย ๆ โดยใช้ซีล (Seal) ซึ่งอาจเป็นสติ๊กเกอร์ สก็อตเทป หรือถุงพลาสติกขนาดเล็กธรรมดา ๆ หุ้มห่อหรือปิดผนึกที่ปลายกระบอกปืน เมื่อมีการยิงปืน ซีลดังกล่าวจะขาดและมีเขม่าปรากฏที่ซีล ซึ่งหากใช้ซีลที่ทำด้วยวัสดุพิเศษก็อาจตรวจพิสูจน์ทางเคมีจากคราบเขม่าบนซีลเพิ่มเติมได้ด้วยซ้ำว่ายิงเมื่อไรแล้วยิงไปกี่นัด
เมื่อมีการยิงและซีลขาดไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม ผู้ยิงจะต้องรีบแจ้งให้หน่วยงานที่รับผิดชอบทราบ เพราะการยิงปืนไม่ว่าในกรณีใดก็ตามควรมีเหตุผลประกอบและเจ้าหน้าที่ก็ควรทราบว่ามีการใช้ปืนเกิดขึ้น จากนั้นก็ต้องนำปืนมาให้หน่วยงานที่รับผิดชอบทำการซีลปากกระบอกปืนใหม่ โดยซีลนั้นอาจตีตราหรือมีหมายเลขทะเบียนกำกับเพื่อป้องกันการปลอมแปลงซีล หรือแม้ไม่มีการยิงปืนเลยก็อาจต้องนำปืนมาให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบตามระยะเวลาที่กำหนด
การออกระเบียบหรือกฎหมายบังคับให้ผู้ครอบครองปืนจะต้องซีลปากกระบอกปืนและแจ้งทุกครั้งที่มีการยิง อาจเพิ่มความยุ่งยากและจำกัดสิทธิ์ส่วนหนึ่งของผู้ที่ได้รับสิทธิ์พิเศษกว่าคนอื่นเพียงไม่กี่คนในการครอบครองอาวุธร้าย แต่ก็เป็นการปกป้องสิทธิ์ของผู้บริสุทธิ์ทั้งสังคมไม่ให้ต้องเจ็บหรือตายจากการยิงปืนแบบไร้เหตุผล และหากจะอ้างว่าซีลดังกล่าวจะทำให้ปืนที่เป็นของสะสมของบางคนด้อยความสวยงามไป ก็คงไม่ใช่เหตุผลที่ฟังขึ้น เนื่องจากปืนไม่ใช่เครื่องประดับที่ควรนำมาอวดโชว์กันในที่สาธารณะแต่อย่างใด
แม้ว่าการซีลปากกระบอกปืนดังกล่าวอาจไม่สามารถป้องกันการยิงปืนเถื่อนที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องของโจรอาชีพได้ แต่ก็จะช่วยป้องปรามและให้สติกับผู้ที่ไม่ใช่โจรอาชีพแต่ชอบยิงปืนแบบไม่สมเหตุสมผลได้ว่าจะต้อง “คิดก่อนยิง” ให้มากขึ้น ไม่ใช่เพราะเกรงว่าคนอื่นจะเดือดร้อน แต่เป็นเพราะกลัวว่าตนเองจะเดือดร้อน เนื่องจากจะถูกตรวจและตามจับได้ง่ายขึ้นนั่นเอง การซีลปากกระบอกปืนนอกจากจะช่วยปรามการยิงปืนขึ้นฟ้าได้แล้ว ยังอาจช่วยปรามการยิงปืนในที่สาธารณะเล่นด้วยความคึกคะนองหรือด้วยอารมณ์ชั่ววูบของผู้ที่ครอบครองปืนโดยถูกกฎหมายได้
เช่น ยิงโชว์ ยิงขู่ ยิงสุนัข ยิงคนขับรถปาดหน้า ฯลฯ จนคนดี ๆ ส่วนหนึ่งของสังคมต้องกลายเป็นฆาตกรแบบไม่ตั้งใจ (ยิงก่อนคิด) หรือหากมีการยิงจริง ๆ ก็ยังช่วยให้ตรวจหาผู้ยิงได้ง่ายขึ้นด้วย แม้กระทั่งในกรณีของตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ที่ต้องพกพาปืนในการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ หรือในสถานการณ์พิเศษที่ต้องดูแลการชุมนุมทางการเมือง ฯลฯ หากปืนที่เจ้าหน้าที่ใช้มีการซีลและตรวจสอบได้แล้วก็จะช่วยให้เจ้าหน้าที่ใช้อาวุธปืนด้วยความระมัดระวังมากขึ้นได้
ซีล–ซองจดหมาย อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
จะเห็นได้ว่าการประยุกต์ใช้การปิดผนึกหรือซีลนั้นมีมากมาย สามารถทำได้ตั้งแต่ระดับจุลภาคในระดับธุรกิจ ไปจนถึงระดับมหภาคในระดับประเทศขึ้นอยู่กับลูกเล่น มุมมองและประยุกต์ใช้ ซึ่งหากย้อนกลับไปมองถึงพื้นฐานของการซีลหรือปิดผนึกในระดับบุคคลแล้วก็จะเห็นได้ว่าการที่เราปิดผนึกซองจดหมายก่อนส่งถึงกันก็มีพื้นฐานและหลักการเดียวกันคือเพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลอื่นเปิดซองจดหมายก่อนถึงมือผู้รับเช่นกัน หรือแม้กระทั่งสติ๊กเกอร์ที่เรามักเห็นติดอยู่ที่เคสอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์บางอย่าง เช่น โมเด็ม เครื่องเล่นดีวีดี ฯลฯ ก็ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ใช้แกะเคสออกเพราะอาจทำให้วงจรภายในได้รับความเสียหายในช่วงที่ยังอยู่ในระยะเวลารับประกันเช่นกัน
ข้อคิดท้ายเรื่อง
หลักการ เครื่องมือ หรือเทคนิคหนึ่ง ๆ จะเป็นโทษหรือเป็นคุณมากน้อยเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับทัศนคติและความสามารถในการ “ใช้เป็นและเห็นได้” ของผู้ใช้เป็นสำคัญ ในบริบทของการประยุกต์ใช้ซีลในการปิดผนึกปากกระบอกปืนอย่างง่าย ๆ เพื่อป้องปรามการยิงปืนในที่สาธารณะแบบไร้เหตุผลที่ผมเน้นเป็นหลักในบทความนี้ ผมเชื่อว่าคนจำนวนมากไม่ทำความผิด ไม่ใช่เพราะมีหิริหรือละอายที่จะทำความผิด แต่เป็นเพราะมีโอตัปปะหรือเกรงกลัวว่าจะถูกตรวจจับและถูกลงโทษได้มากกว่า สังคมได้พิสูจน์แล้วว่าการ “เปิดปากพูด” ขอความร่วมมือเพียงอย่างเดียวเช่นที่ผ่านมานั้นไม่สามารถแก้ปัญหาได้ การ “ปิดปากปืน” อย่างง่าย ๆ ด้วยซีลจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่อาจช่วยลดการยิงปืนในที่สาธารณะ ลดความเสี่ยงและสร้างความอุ่นใจให้กับสังคมโดยส่วนรวมได้มากขึ้น ถ้าไม่เริ่มเดี๋ยวนี้แล้วจะเริ่มเมื่อไร!
บทความอ่านเพิ่มเติม
[1] อัศม์เดช วานิชชินชัย (2554). “ดุลยภาพในเศรษฐศาสตร์โซ่อุปทาน”. Industrial Technology Review. 17 (217). 115-118
[2] อัศม์เดช วานิชชินชัย (2555). “การจัดการโซ่อุปทานกับการบรรเทาภัยพิบัติ”. Industrial Technology Review. 18 (230).
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด