มาตรการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2555 ได้เกิดขึ้นใน 7 จังหวัดนำร่อง ประกอบด้วย กรุงเทพฯ สมุทรปราการ ปทุมธานี นครปฐม นนทบุรี สมุทรสาคร และภูเก็ต จาก
ผู้ประกอบการ SMEs…ได้อะไรบ้างจากการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทของภาครัฐ
(ตอนที่ 1)
ดร.อริยาพร สุรนาทยุทธ์
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
มาตรการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2555 ได้เกิดขึ้นใน 7 จังหวัดนำร่อง ประกอบด้วย กรุงเทพฯ สมุทรปราการ ปทุมธานี นครปฐม นนทบุรี สมุทรสาคร และภูเก็ต จากข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) พบว่า 7 จังหวัดนำร่องมีจำนวนกิจการ SMEs รวม 888,089 กิจการ มีจำนวนการจ้างงาน 4,981,358 คน ซึ่งผลกระทบของมาตรการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทำให้ต้นทุนค่าแรงงานปรับสูงขึ้นจากจากเดิมโดยเฉลี่ย 215 บาทต่อวัน เป็น 300 บาทต่อวัน เพิ่มขึ้น 85 บาทต่อวัน (คิดเป็นร้อยละ 39.5) และหากนำมาคิดเป็นสัดส่วนของต้นทุนการผลิตจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.4 จากจุดนี้ จะเห็นได้ว่าแม้ดูเหมือนต้นทุนค่าแรงจะปรับสูงขึ้นมากถึงร้อยละ 39.5 แต่หากพิจารณาถึงการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิตโดยรวมจะเท่ากับเพียงร้อยละ 6.4 เนื่องจากต้นทุนการผลิตไม่ได้ประกอบเพียงต้นทุนค่าแรงงานเพียงอย่างเดียว แต่ยังคงต้องรวมต้นทุนในส่วนอื่น ๆ เช่น วัตถุดิบ เครื่องจักร บริหารจัดการ โลจิสติกส์ แรงงาน ฯลฯ และตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2556 จะมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาท ในจังหวัดที่เหลือทั่วประเทศ ทำให้ภาครัฐจะต้องเตรียมตัวตั้งรับโดยจัดหามาตรการเยียวยาสำหรับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่จะเกิดขึ้นเพื่อลดผลกระทบให้น้อยที่สุด
นอกจากนี้ จากการสำรวจผลกระทบโดยกระทรวงอุตสาหกรรมพบว่า อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมาจากการปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท คืออุตสาหกรรมขนาดเล็ก หรือ ไซส์ ‘S’ โดยต้นทุนในการขายเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 4.88 และอุตสาหกรรมขนาดกลาง หรือ ไซส์ ‘M’ จะมีต้นทุนในการขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.69 แต่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ หรือ ไซส์ ‘L’ เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 3.45 ทั้งนี้ พบว่าอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานจำนวนมาก ได้แก่ อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม และอุตสาหกรรมพลอยเจียระไน ฯลฯ จะมีต้นทุนในการขายเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 5–10 รองลงมาคืออุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานและใช้เครื่องจักรทดแทนบางส่วน คือ อุตสาหกรรมพลาสติก ซึ่งจะมีการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการขายประมาณร้อยละ 3–4 และอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด คือ อุตสาหกรรมที่ใช้เครื่องจักรทดแทนแรงงานคน คือ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับโลหะ โดยจะได้รับผลกระทบที่ทำให้ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 1–2 เท่านั้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคงหนีไม่พ้นผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจในภาคบริการที่ใช้แรงงานเป็นหลักในการดำเนินกิจการ (Labor Intensive) คือ ภาคธุรกิจโรงแรม ซึ่งจะได้รับผลกระทบโดยตรงทำให้มีต้นทุนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 12 ส่วนธุรกิจภาคบริการอื่น ๆ เช่น ร้านอาหาร ร้านเสริมสวย ฯลฯ มีต้นทุนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.93
แต่จากการศึกษาในเชิงลึกของกระทรวงอุตสาหกรรมพบว่ามาตรการปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน จะส่งผลกระทบทั้งด้านบวกและจะมีปัจจัยเสี่ยง ดังนี้
ผลกระทบด้านบวก
* จะเป็นการส่งเสริมและขยายผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) ในภาคอุตสาหกรรมจากการขยายตัวของการบริโภค
* จะเป็นการสนับสนุนการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน (Increase Labor Productivity)
* ส่งผลต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้สูงขึ้น
ปัจจัยเสี่ยง
1.การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าทั้งสินค้าขั้นกลาง (Intermediate Goods) และสินค้าขั้นปลาย (Final Goods)
2.การปิดกิจการและปัญหาการเลิกจ้างแรงงาน
3.ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ในเขตที่ยังไม่มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ
4.ผลกระทบต่องบประมาณที่ต้องใช้สนับสนุนนโยบายการปรับข้นค่าจ้างขั้นต่ำ
5.ปัญหาการหลั่งไหลเข้ามาของแรงงานต่างชาติจากประเทศเพื่อนบ้านและการลักลอบใช้แรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมายจะมีมากขึ้น
สิ่งที่ผู้ประกอบการจำเป็นต้องรู้คือมาตรการช่วยเหลือในปัจจุบันที่ภาครัฐได้จัดให้ภาคเอกชนเพื่อเยียวยาการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน แบ่งออกได้เป็น 3 มาตรการหลัก กล่าวคือ
1. มาตรการทางด้านการเงิน
* มาตรการสินเชื่อเพื่อพัฒนาผลิตภาพการผลิต (Productivity Improvement Loan) สำหรับ ผู้ประกอบการ SMEs โดยให้กู้ภายใต้ชื่อ สินเชื่อเพื่อพัฒนาเครื่องจักร เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ต้องการปรับปรุงหรือพัฒนาเครื่องจักรเพื่อเพิ่มผลิตภาพในการผลิต และ สินเชื่อเพื่อพัฒนากระบวนการทำงาน โดยการลงทุน ขยาย ปรับปรุง หรือพัฒนากิจการในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านบุคลากร ด้านแรงงาน เป็นต้น วงเงินกู้ไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อราย ในมาตรการนี้วงเงินรวม 20,000 ล้านบาท ดำเนินการโดยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME Bank) ร่วมกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม
* มาตรการค้ำประกันสินเชื่อในลักษณะ Portfolio Guarantee Scheme ระยะที่ 4 เป็นความช่วยเหลือสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่ขาดหลักประกันในการขอสินเชื่อ โดยมีวงเงินค้ำประกันไม่เกิน 40 ล้านบาทต่อราย โดยในมาตรการนี้มีวงเงินรวม 24,000 ล้านบาท อายุการค้ำประกันโครงการ 5 ปี ค่าธรรมเนียมร้อยละ 1.75 ส่วนมาตรการนี้ผู้รับผิดชอบคือบรรษัทประกันสินเชื่อเพื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)
* มาตรการค้ำประกันสินเชื่อในลักษณะ Portfolio Guarantee Scheme สำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ โดยให้เงินค้ำประกันไม่เกินรายละ 2 ล้านบาทต่อรายต่อสถาบันการเงิน โดยวงเงินรวม 10,000 ล้านบาท อายุการค้ำประกัน 7 ปี ค่าธรรมเนียมร้อยละ 2.5 ต่อปี ซึ่งภาครัฐสนับสนุนค่าธรรมเนียมให้ SMEs ในปีแรก ดำเนินการโดยบรรษัทประกันสินเชื่อเพื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ร่วมกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม
* มาตรการให้กู้เงินในกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.1 วงเงินกู้สูงสุด 42,000 บาทต่อหลักสูตร ระยะเวลาการชำระ 4 ปี เพราะฉะนั้น ผู้ประกอบการหนึ่งรายสามารถยื่นขอเงินกู้ได้มากกว่า 1 หลักสูตรแต่หลักสูตรหนึ่งให้วงเงินกู้สูงสุด 42,000 บาท ผู้รับผิดชอบคือกระทรวงแรงงาน
* มาตรการให้สินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนในกิจการเสริมสร้างสภาพคล่องสถานประกอบการและเพิ่มผลผลิตแรงงาน โดยไม่เป็นการกู้เพื่อ Refinance วงเงินรวมในมาตรการนี้ 10,000 ล้านบาท ดำเนินการผ่านธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และธนาคารเกียรตินาคิน (มหาชน) โดยสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน
2. มาตรการทางด้านภาษี
โดยผู้ที่เข้าข่ายจะได้รับสิทธิประโยชน์ในมาตรการทางด้านภาษีคือผู้ประกอบการ SMEs ที่เป็นนิติบุคคลทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้จากการขายสินค้าและบริการไม่เกิน 30 ล้านบาทต่อปี ในมาตรการนี้ หน่วยงานรับผิดชอบหลักคือกรมสรรพากร กระทรวงการคลัง
* มาตรการลดหย่อนภาษีจากค่าใช้จ่ายในการอบรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้ 2 เท่า
* ตามพระราชกฤษฎีกา 530 เมื่อเดือนธันวาคม 2554 ได้มี การประกาศปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับ SMEs โดยได้ระบุว่าบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีทุนจดทะเบียนชำระในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 5 ล้านบาทและมีรายได้จากการขายสินค้าและให้บริการไม่เกิน 30 ล้านบาท ในรอบบัญชี จะได้การลดอัตราภาษีดังแสดงในตารางข้างล่างนี้
* มาตรการนำค่าใช้จ่ายในการปรับเพิ่มค่าจ้างมาหักค่าใช้จ่ายได้ 1.5 เท่าของส่วนต่างค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นจากเดิมเป็น 300 บาทต่อวัน ระยะเวลาการใช้สิทธิตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2555–31 ธันวาคม พ.ศ.2555
* มาตรการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจากการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในส่วนที่เป็นเงินได้ที่มาจากการขายเครื่องจักรเก่าเพื่อซื้อเครื่องจักรใหม่ มีระยะเวลาการให้สิทธิประโยชน์สำหรับการขายเครื่องจักรตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2555–31 ธันวาคม พ.ศ.2555
* มาตรการการหักค่าเสื่อมของเครื่องจักร ได้เต็มร้อยละ 100 ในปีแรก มีระยะเวลาการให้สิทธิประโยชน์สำหรับการขายเครื่องจักรตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2555–31 ธันวาคม พ.ศ.2555
3. มาตรการทางด้านแรงงาน
มาตรการยกระดับศักยภาพแรงงานไทย ให้มีศักยภาพสูงขึ้นด้วยการฝึกอบรมพัฒนาทักษะแรงงาน ดำเนินการโดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพให้แรงงานไทยโดยการฝึกอบรมพัฒนาทักษะฝีมือและปลูกฝังคุณลักษณะ ทัศนคติในการทำงาน เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการทำงานของลูกจ้างให้ตรงตามที่สถานประกอบกิจการต้องการ ซึ่งจะส่งผลต่อความก้าวหน้าในอาชีพแรงงานและความเจริญเติบโตของสถานประกอบกิจการ ซึ่งได้กาหนดกลุ่มเป้าหมายผู้เข้ารับการอบรม จำนวน 232,700 คน ดังนี้
(1) การฝึกอบรมแรงงานใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน จำนวน 22,700 คน ได้แก่ แรงงานที่สมัครเข้าทำงานและสถานประกอบกิจการพร้อมที่จะบรรจุเป็นลูกจ้าง หรือแรงงานที่เริ่มเข้าทำงานใหม่อยู่ระหว่างทดลองงานให้มีทักษะฝีมือ พร้อมทั้งปลูกฝังคุณลักษณะ ทัศนคติที่ดีในการทำงานให้ตรงตามที่สถานประกอบกิจการต้องการ โดยมีหลักสูตรการอบรม ได้แก่ หลักสูตร 9 พฤติกรรม 9 ความสำเร็จ ประกอบด้วย พฤติกรรมความซื่อสัตย์ ความรับผิดชอบ ความมีระเบียบวินัย ความขยันและความอดทน การทำงานเป็นทีม การคิดสร้างสรรค์ การใฝ่เรียนรู้ ความประหยัด และพฤติกรรมความปลอดภัย ซึ่งผู้เข้ารับการอบรมสามารถเลือกเข้าอบรมได้อย่างน้อย 1 พฤติกรม (แต่ละพฤติกรรมจะใช้เวลา การฝึกอบรม 6 ชั่วโมง) หลักสูตรความปลอดภัยในการทำงาน หลักสูตรการพัฒนาประสาทสัมผัสเพื่อป้องกันภัยในโรงงานอุตสาหกรรม หลักสูตรการยกและเคลื่อนย้ายสินค้าด้วยกาลังคน และหลักสูตรภาษาอังกฤษเพื่อการทำงาน เป็นต้น
(2) การฝึกอบรมยกระดับแรงงานที่มีรายได้ต่ำกว่า 300 บาท จำนวน 135,500 คน ทั้งในสถานประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และสถานประกอบกิจการ ขนาดใหญ่ให้มีทักษะฝีมือพร้อมทั้งปลูกฝังคุณลักษณะ ทัศนคติที่ดีในการทำงาน ให้ตรงตามที่สถานประกอบกิจการต้องการรองรับรายได้ที่เพิ่มขึ้น โดยมีหลักสูตร 9 พฤติกรรม 9 ความสำเร็จ หลักสูตรความปลอดภัยในการทำงาน หลักสูตรการพัฒนาประสาทสัมผัสเพื่อป้องกันภัยในโรงงานอุตสาหกรรม หลักสูตรเทคนิคการวิเคราะห์งาน (ผังก้างปลา) หลักสูตรการบริหารเวลา หลักสูตรการเพิ่มผลผลิต หลักสูตรการบำรุงรักษาเครื่องจักรกล และหลักสูตรภาษาอังกฤษเพื่อการทำงาน เป็นต้น
(3) การฝึกอบรมแรงงานนอกระบบ จำนวน 75,000 คน ได้แก่ กลุ่ม OTOP กลุ่มคนที่รับงาน ไปทำที่บ้าน กลุ่มคนที่รับจ้างในภาคเกษตร/เกษตรอุตสาหกรรม (เกษตรแปรรูป) และกลุ่มคนที่ทำอาชีพอิสระหรือรับจ้างทั่วไป ให้มีทักษะฝีมือ พร้อมทั้งปลูกฝังคุณลักษณะ ทัศนคติที่ดีในการทำงาน โดยมีหลักสูตร 9 พฤติกรรม 9 ความสำเร็จ หลักสูตรการบริหารการเงิน หลักสูตรการจัดทำบัญชีรายรับ–รายจ่าย หลักสูตร E-commerce (คอมพิวเตอร์ธุรกิจ) หลักสูตรการติดตั้งโฮมเน็ตเวิร์ก หลักสูตรผู้บริหารดูแลเว็บไซต์ หลักสูตรเศรษฐกิจพอเพียง หลักสูตรการบริการที่ประทับใจ (การรับโทรศัพท์/การต้อนรับ) เป็นต้น
* มาตรการจัดตั้ง “ศูนย์ตรีเทพเพื่อการจ้างงานและยกระดับรายได้ครบวงจร” ในการส่งเสริมการจ้างงานและพัฒนาระบบการจัดหางานโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนมีการทำงานอย่างยั่งยืนและพัฒนาอาชีพตลอดชีวิต หน่วยงานรับผิดชอบคือกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน โดยในปัจจุบันมีศูนย์นำร่องที่อยู่ในสำนักจัดหางานอยู่ 20 ศูนย์ ซึ่งอยู่ในศูนย์กลาง (กรุงเทพฯ) 3 ศูนย์ประกอบด้วยสำนักจัดหางานกรุงเทพเขตพื้นที่ 4, 6 และ 7 และ 17 ศูนย์ในภูมิภาคประกอบด้วยสำนักจัดหางานจังหวัดปทุมธานี สมุทรสาคร สมุทรปราการ พิษณุโลก ขอนแก่น หนองบัวลำภู เชียงใหม่ ภูเก็ต นราธิวาส นครปฐม ระยอง พระนครศรีอยุธยา นครราชสีมา อุบลราชธานี ลำพูน เชียงราย และสงขลา
* มาตรการจัดระบบนัดพบแรงงานด้วยระบบ IT การนำระบบ IT เข้าใช้เพื่อเป็นการลดขั้นตอนในการกรอกใบสมัครและเป็นการนัดพบระหว่างนายจ้างที่ต้องการหาคนเข้าทำงานและบุคคลที่ต้องการหางาน ทำในลักษณะการจับคู่ (Matching) ระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง โดยพิจารณาจากคุณสมบัติผ่านระบบ IT ในแต่ละศูนย์จะมีนักแนะแนวอาชีพที่จะทำหน้าที่วินิจฉัย คัดกรอง และเตรียมความพร้อมให้กับผู้สมัครงานจับคู่กับตำแหน่งที่งานว่างก็จะส่งให้เข้ารับการฝึกทักษะฝีมือแรงงานกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงานและมีการส่งเสริมการประกอบอาชีพอิสระให้ในกรณีที่ไม่สามารถบรรจุงานได้ หน่วยงานรับผิดชอบคือ กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน
* มาตรการคุ้มครองส่งเสริมสิทธิแรงงานให้มีรายได้ไม่น้อยกว่า 300 บาทต่อวัน ดำเนินการโดย กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงานเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจแก่นายจ้างลูกจ้างในสถานประกอบกิจการแรงงานในงานเกษตรกรรมและผู้ที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับแนวทางในการดำเนินการให้แรงงานทุกกลุ่มมีรายได้ไม่น้อยกว่าวันละ 300 บาท เพื่อให้การคุ้มครองดูแลแรงงานทุกกลุ่มทั้งในระบบและนอกระบบให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ตลอดจนเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือที่ดีต่อกันระหว่างนายจ้างและลูกจ้างในสถานประกอบกิจการและรัฐวิสาหกิจ และยังให้ความสำคัญในการนำระบบแรงงานสัมพันธ์ไปใช้จัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้น
* มาตรการการลดอัตราเงินสมทบประกันสังคมของฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง ในปี 2555 โดยแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 30 มิถุนายน พ.ศ.2555 (6 เดือนแรก) ลดอัตราเงินสมทบฝ่ายนายจ้างและผู้ประกันตนจากเดิมฝ่ายละร้อยละ 5 ของค่าจ้าง ลดลงฝ่ายละร้อยละ 2 คงเหลือฝ่ายละร้อยละ 3 และช่วงที่ 2 ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม - 31 ธันวาคม พ.ศ.2555 (6 เดือนหลัง) ลดอัตราเงินสมทบฝ่ายนายจ้างและผู้ประกันตนจากเดิมฝ่ายละร้อยละ5 ของค่าจ้าง ลดลงฝ่ายละร้อยละ 1 คงเหลือฝ่ายละร้อยละ 4
โดยในตอนต่อ ๆ ไป จะเป็นการแนะนำโครงการความช่วยเหลือ/ยกระดับผลิตภาพการผลิต/พัฒนาองค์กร ทั้งไม่มีค่าใช้จ่าย และค่าใช้บางส่วน (ภาครัฐออกส่วนหนึ่ง ภาคเอกชนออกส่วนหนึ่ง) เพื่อที่ผู้ประกอบการจะได้เก็บเกี่ยวผลประโยชน์ในการพัฒนาองค์กรได้อย่างเต็มที่
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด