บริษัท ไอ.อี.เทคโนโลยี่ จำกัด หรือ IET เป็นบริษัทหนึ่งที่เชี่ยวชาญด้านระบบ RFID
ดร.นัยวุฒิ วงษ์โคเมท
กรรมการผู้จัดการ
บริษัท ไอ.อี.เทคโนโลยี จำกัด
บริษัท ไอ.อี.เทคโนโลยี่ จำกัด หรือ IET เป็นบริษัทหนึ่งที่เชี่ยวชาญด้านระบบ RFID โดยให้บริการด้านคำปรึกษา ออกแบบ ติดตั้ง และจัดจำหน่ายอุปกรณ์ในระบบ RFID โดยเริ่มธุรกิจ RFIDแต่แต่ปี พ.ศ.2547 ด้วยการเล็งเห็นถึงความสำคัญของเทคโนโลยีต่อการพัฒนาของประเทศ และความต้องการที่จะสร้างสรรค์เทคโนโลยีประสิทธิภาพเพื่อคนไทยของ ดร.นัยวุฒิ วงษ์โคเมท ผู้เชี่ยวชาญและที่ปรึกษาด้านการออกแบบระบบอาร์เอฟไอดี ไมโครชิป แท็ก เครื่องอ่าน มิดเดิลแวร์ และซอฟต์แวร์ ในทุกย่านความถี่
ระบบ RFID เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการในภารกิจต่าง ๆ ทั้งในภาคการผลิต การขนส่ง และในแวดวงอุตสาหกรรมต่าง ๆ ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้ดำเนินการมาแล้วกว่า 60 โครงการ จนได้รับการกล่าวขานและตีพิมพ์เผยแพร่ข้อมูลกรณีศึกษาและผลงานความสำเร็จจากสื่อมวลชนทั้งในประเทศ และต่างประเทศ อาทิ:
- เป็นบริษัทแรกในโลกที่ประสบความสำเร็จในการติดตั้งระบบตรวจสอบย้อนกลับอุตสาหกรรมอาหารในโรงงานกุ้งของ CP จนได้รับรางวัลนวัตกรรมดีเด่นแห่งชาติ เมื่อปี 2005 ซึ่งปัจจุบันได้ขยายการติดตั้งระบบไปถึงโรงงานไก่ และ โรงงานหมูในเครือ CP
- เป็นบริษัทแรกในเอเซียที่ประสบความสำเร็จในการติดตั้งใช้งาน RFID ในโรงงานผลิตเหล็ก จนได้รับเชิญให้นำเสนอเป็นกรณีศึกษาใน งานประชุม Conference เทคโนโลยี RFID ที่ฮ่องกง เมื่อปี 2006
- เป็นบริษัทแรกที่ติดตั้งระบบ RFID ให้กับบริษัท Supplier ของ Wal-Mart ในประเทศไทย ตามพันธกรณีที่สินค้าที่ส่งเข้าไปขายที่ Wall Mart จะต้องติด RFID
Q: บริษัท IET (I.E. Technology) เริ่มต้นจากอะไร และเพราะเหตุใดถึงจับธุรกิจ RFID เป็น Core Business ?
A: บริษัท IET มีจุดเริ่มต้นมาเมื่อประมาณ 7-8 ปีที่แล้ว มาจากเหตุ 2 ประการ ประการที่หนึ่ง บริษัทแม่คือ บริษัทไฟฟ้าอุตสาหกรรม อยู่กับการทำธุรกิจออโตเมชั่น ระบบอัตโนมัติในโรงงาน ซึ่งทำให้เรามีความเชี่ยวชาญในด้านนี้ และเริ่มมองเห็นว่าทิศทางของ RFID เริ่มมีความสำคัญมากขึ้น ประการที่สอง ผมมองเห็นความต้องการของตลาด RFID
และตัวผมเองก็เคยทำงานในส่วนของการออกแบบไมโครชิป RFID มาก่อนด้วย จึงเป็นที่มาของการตั้งบริษัท IET เพื่อรองรับการใช้งาน RFID ในโรงงานอุตสาหกรรม โดยงานของบริษัท IET เกือบทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ จะเป็นงานที่เกี่ยวกับ RFID ทั้งหมด ซึ่งผมแบ่งขอบข่ายการบริการของงานไว้ 3 ส่วนคือ 1. การให้คำปรึกษา 2. การออกแบบ ซึ่งจะครอบคลุมทั้งส่วนที่เป็นฮาร์ดแวร์เช่นพวก RFID Reader และส่วนที่เป็นซอฟต์แวร์จะเป็น Middleware หรือแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ และ 3. การ Implement ระบบ หลังจากออกแบบแล้ว มีอุปกรณ์แล้วก็ต้องมาจัดการให้มันทำงานเป็นระบบได้
Q: บุคคลากรของบริษัท IET ต้องมีความสามารถด้านใดเป็นพิเศษหรือไม่ ?
A: เราสร้างบุคลากรเองใหม่ทั้งหมด ส่วนมากก็จะเป็นสายวิศวฯ พวกที่ออกแบบด้านฮาร์ดแวร์ก็จะมาจากสายอิเล็กทรอนิกส์ พวกที่ออกแบบซอฟต์แวร์ก็จะมาทางคอมพิวเตอร์โปรแกรมมิ่ง แม้กระทั่งสายธุรกิจเองก็จะมีแบ็คกราวน์เป็นวิศวฯ ที่ไปเรียนต่อด้าน MBA มา
แต่ทั้งหมดเป็นพวกที่มีประสบการณ์ในการทำงานทั้งนั้น แบ็คกราวน์ค่อนข้างแข็ง มีงาน Back Office บางส่วนที่เรายังต้องพึ่งพาบริษัทแม่ (ไฟฟ้าอุตสาหกรรม) อยู่บ้าง และเรามีบริษัทที่เป็นพาร์ทเนอร์ เช่น พวกพัฒนาซอฟต์แวร์ ส่วนที่มากที่สุดคือพาร์ทเนอร์ทางด้านการขาย
Q: บริษัท IET เริ่มต้นนำระบบ RFID ไปใช้ในอุตสาหกรรมอย่างไร ?
A: บริษัทเริ่มนำระบบ RFID ไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหารก่อน ในช่วงแรกเป็นโรงงานแปรรูปกุ้ง โรงงานแปรรูปผัก การติดแท็ก RFID อาจทำได้ 2 วิธี คือติดที่ตัวผลิตภัณฑ์เอง หรือติดที่ภาชนะที่บรรจุหลังแปรรูป อาจจะเกิดความสงสัยว่าเราแท็ก RFID ที่อาหารทำไม ?
ในอุตสาหกรรมอาหารข้อกำหนดหนึ่งที่ต้องการคือเรื่อง Traceability หรือการตรวจสอบย้อนกลับได้ว่าที่มาที่ไปของอาหารแพ็คสำเร็จรูปนี้มาจากแหล่งใด ฟาร์มใด ระบบ RFID จึงถูกนำมาใช้ในจุดนี้ เช่น ผมเกิดรับประทานอาหารชุดนี้ไปแล้วป่วย ระบบมันต้องพาย้อนกลับไปได้ว่าต้นตอของอาหารมาจากที่ใด ฟาร์มไหน โรงงานใดและต้องสามารถ Trace Forward หรือการตรวจเช็คไปข้างหน้า ว่าถูกกระจายไปแหล่งใดบ้าง เพื่อการเรียกสินค้าคืนกลับในวงจำกัด
หากไม่สามารถรู้ว่าสินค้าไหน ลอตใด การเรียกสินค้าคืนทั้งหมดเป็นเรื่องที่เสียหายมากกว่า จากอุตสาหกรรมอาหารในยุคเริ่มแรก ต่อมาเราก็ได้เริ่มนำระบบ RFID มาใช้ในเรื่องการผลิต ลอจิสติกส์และซัพพลายเชน ในปัจจุบันส่วนที่ทำมากที่สุดคือระบบ RFID ที่ติดกับยานพาหนะ เช่น รถบรรทุก เพื่อช่วยในการจัดคิวไปรับสินค้า เพื่อความถูกต้องแม่นยำ มีลำดับชัดเจนในแต่ละคัน ลดกระบวนการและความสูญเสียได้อย่างมหาศาล
Q: ลูกค้าของบริษัท IET คือใคร ? ลูกค้าต้องเตรียมตัวอย่างไร ?
A: เดิมอุตสาหกรรมเคยแท็กสินค้าด้วยกระดาษ เช่น การใช้บาร์โค้ด ถามว่ายังใช้ได้หรือไม่ ก็ต้องตอบว่า RFID จะนำเข้ามาเสริม Barcode ส่วนการจะนำแอพพลิเคชั่น RFID ไปใช้ทดแทนทั้งหมด มันก็ยังไม่ถึงขั้นนั้น ทุกวันนี้เราได้ลูกค้ามาจาก 2 ทาง ทางแรกมาจากการตลาดที่ทำให้ลูกค้ารู้จักเรา เช่น การลงโฆษณาประชาสัมพันธ์ในแมกกาซีน ในเว็บ ใน Google ออกบูธแสดงสินค้า การสัมภาษณ์ลงสื่อต่าง ๆ ฯลฯ
ทางที่สองก็มาจากพาร์ทเนอร์ทางด้านไอทีของเรา ซึ่งเมื่อพาร์ทเนอร์ของเราเข้าไปพบเห็นความต้องการของลูกค้าในเรื่องของ RFID ก็จะบอกต่อเรามา ซึ่งในวงการ RFID ที่ทำจริงจังเป็นระบบตั้งแต่ให้คำปรึกษา ออกแบบ ไปจนถึง Implement ระบบก็มีไม่กี่ราย บริษัท IET ของเราก็เป็นหนึ่งในนั้น
ในการ Implement RFID ระบบหนึ่งให้กับลูกค้า 1.เราต้องเข้าไปทำการเก็บข้อมูลความต้องการของลูกค้า 2.กลับมาก็เลือกตัวผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสม ทำการ Customize ซอฟต์แวร์ให้ 3.เอาฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์กลับไปติดตั้ง และก็มีการฝึกอบรมการใช้งาน ซึ่งกว่าจะมาถึงขั้นตอนเหล่านี้ เราต้องพูดคุยกับลูกค้าก่อนว่าพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงมาใช้เทคโนโลยี RFID มากน้อยแค่ไหน
อย่างน้อยที่สุดคือต้องดู 2 เรื่อง ประการแรกต้องดูว่าไอทีของเขาพร้อมแค่ไหน ประการที่สองคือในเรื่องของบุคลากรและระบบการทำงาน เช่น ถ้าระบบการทำงานยังไม่เป็นระบบเลย หรือมีบุคลากรที่มีความรู้ทางด้านไอทีน้อยก็จะเป็นเรื่องลำบาก เพราะระบบ RFID มันจะไปเชื่อมโยงกับไอทีขององค์กร ลูกค้าต้องมีทีมไอทีที่เชี่ยวชาญระดับหนึ่ง
ส่วนใหญ่หน่วยงานไอทีขององค์กรทั่วไปมักจะเป็นหน่วยงานกลาง ที่ต้องไปยุ่งเกี่ยวกับส่วนงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นส่วน Production ส่วน QC หรือส่วน Logistic Warehouse ในแต่ละองค์กรมีจุดเริ่มของการเอาระบบ RFID ไปใช้ต่างกัน บางองค์กรถูกเริ่มจากหน่วยงานไอที บางองค์กรถูกเริ่มจากผู้ใช้งาน คือส่วนไหนพร้อมก่อนใช้ก่อนโดยไอทีเป็นฝ่ายซัพพอร์ต เช่น มีความต้องการลดแรงงานคน ลดการใช้กระดาษ ซึ่งแน่นอนการทำงานต้องเปลี่ยนแปลงไป คนทำงานสามารถรับมันได้หรือไม่ บางองค์กรที่พร้อมก็สามารถจะเปลี่ยนจาก 0-100% ได้ในเวลาไม่นาน บางองค์กรอาจจะขอทำแค่บางส่วน 0-30 % ก่อน อีก 4-5 เดือนค่อยกลับมาทำส่วนที่เหลือ
Q: ทิศทางของบริษัท IET เป็นอย่างไร ?
A: ในเชิงกลยุทธ์ในปีนี้ เราจะออกเป็น Package Solutions เป็นโซลูชั่นสำเร็จ เดิมที่ผ่านมาเราทำแบบ Almost Fully Custom จนถึง Fully Custom คือทำแบบตรงตามความต้องการของลูกค้าตั้งแต่ต้นจนจบ ซึ่งมันก็มีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง และในแต่ละโปรเจ็กต์ก็ค่อนข้างใช้เวลานาน ดังนั้นกลยุทธ์หลักของเราในปีนี้เราจึงหันมาจับโซลูชั่นสำเร็จ โดยจะนำตัว Access Tracking มาเป็นตัวหลักในปีนี้ และกำลังเตรียมการทางด้านการประชาสัมพันธ์ซึ่งจะออกสู่ตลาดเร็ว ๆ นี้
อุตสาหกรรมที่เราจะเข้าไปก็ค่อนข้างจะหลากหลาย ก็มีตั้งแต่อุตสาหกรรมเหล็ก อาหาร ปิโตรเคมี อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ วัสดุก่อสร้าง โรงพยาบาล ฯลฯ ซึ่งค่อนข้างจะครอบคลุม ส่วนหนึ่งคือเรามีพื้นฐานในงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ จากบริษัทไฟฟ้าอุตสาหกรรมมา อุตสาหกรรมอาหารที่เราค่อนข้างจะเข้าไปลึกหน่อยถึงกระบวนการซึ่งเป็น Know how ของเราที่ออกแบบใช้แบบหนึ่งต่อหนึ่ง ในขณะที่อุตสาหกรรมอื่น ๆ เรานำ RFID เข้าไปใช้จะเป็นเรื่องของโลจิสติกส์เสียมากกว่า เป็นเรื่องของการส่งของ รับของ จ่ายของ เรามองเป็นแอพพลิเคชั่น เช่น Vehicle Tracking, Access Tracking, People Tracking ที่ไปใช้กับที่ไหนก็ได้
Q: จุดแข็งของบริษัท IET คือเรื่องใด ?
A: จุดแข็งของเรามีหลายด้าน จุดแข็งประการแรกของเราคือเราจับ RFID เป็นหลัก ซึ่งหากมองในเมืองไทยมีน้อยบริษัทมากที่จับเรื่อง RFID แบบครบวงจรอย่างที่เราเป็น และประการที่สองคือเรื่องของประสบการณ์ที่มีมากว่า 7-8 ปีในด้านนี้โดยเฉพาะ เรามี Know How เกี่ยวกับ RFID ค่อนข้างลึกมาก ตั้งแต่เรื่องการออกแบบซึ่งเป็นมูลค่าส่วนที่สำคัญที่สุด เรามี Resource ด้านอุปกรณ์หลากหลาย
ในส่วนของฮาร์ดแวร์เราออกแบบเองแล้วจัดจ้างผลิตประมาณครึ่งหนึ่ง เราจะเลือกเฉพาะอุปกรณ์ที่ไม่มีในตลาดหรือว่ามันแพงเกินไป หรือว่ามี Hi-end ไม่มี Low-end หรือในทางกลับกัน ยกตัวอย่างเช่น Low Frequency Reader หรือ High Frequency Reader เราก็จะออกแบบให้ตัว Reader มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อม สามารถกันน้ำได้ เพื่อไปใช้ในบางอุตสาหกรรม
เช่น อุตสาหกรรมอาหาร ฯลฯ หรือการออกแบบ Middleware ซึ่งเป็นตัวที่ทำให้เรา Deploy Project ง่ายขึ้น คนใช้งานทำงานง่ายไม่ต้องลงมาถึงระดับฮาร์ดแวร์ลึก ๆ เป็นต้น ส่วนฮาร์ดแวร์ที่เหลืออีกครึ่งหนึ่งก็ใช้ของที่มีอยู่ในตลาด ทำให้เรายืดหยุ่นในการ Implement ค่อนข้างมาก
งานของเราคือพยายามออกแบบระบบให้ลูกค้า เราไม่ได้ออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ทุกครั้ง เพราะการออกแบบใหม่จะกระทบไปถึงเรื่องต้นทุนโครงการและระยะเวลา ส่วนใหญ่ก็จะใช้วิธี Customize จากผลิตภัณฑ์ที่ได้ออกแบบไว้แล้ว
Q: ประโยชน์ที่ลูกค้าจะได้รับจากบริษัท IET?
A: เมื่อเราขายโซลูชั่นให้ลูกค้า ประการแรกที่เราคำนึงถึงคือโซลูชั่นมันต้อง Deliver Value เป็น Return ทุกการลงทุนย่อมต้องการผลตอบแทน อาจจะเป็นในรูปของความมั่นใจ ความปลอดภัย ความสะดวก หรือตอบแทนกลับมาในรูปของเงิน ประการที่สอง เมื่อลูกค้าใช้โซลูชั่นของเราแล้วต้องมีความสุข มีการขยายผลออกไป การขายของให้กับลูกค้าแล้วไม่มีการขยายผลไปหรือเป็นเชิงลบกลับมา มันก็ทำให้เรารู้สึกไม่ดี บางโครงการหากเราดูแนวโน้มแล้วถ้าลูกค้าลงทุนไปแล้วไม่เหมาะเราก็จะบอกกับลูกค้าอย่างตรงไปตรงมา
Q: Position ของบริษัท IET ในวงการ RFID อยู่ตรงไหน ?
A: ในวงการ RFID เองก็มีผู้เล่นหลัก ๆ ไม่กี่ราย บริษัทที่โฟกัสเรื่อง RFID ที่ใกล้เคียงกับเรามีอยู่ไม่เกิน 5 ราย เราก็เป็นอันดับต้น ๆ ใน 5 รายนี้ ทางเนคเทค (NECTEC) เองเคยประเมินมูลค่าทางการตลาดของอุตสาหกรรม RFID ไว้ประมาณ 1,000 ล้านบาทแต่เป็นการประเมินรวมพวก Access Control ที่ใช้ในทางด่วน รถไฟฟ้าด้วย ทำให้มูลค่าที่ตกอยู่ทางอุตสาหกรรมจริง ๆ น่าจะอยู่ราว ๆ หลักไม่กี่ร้อยล้านบาท
เรามองว่าตลาด RFID ยังเป็นตลาดที่โตไปเรื่อย ๆ แต่ไม่ได้โตแบบหวือหวา ด้านหนึ่งก็อาจด้วยที่มันยังคงมีความซับซ้อนหากต้องการระบบ RFID ที่ใช้งานได้อย่างสมบูรณ์จริง ๆ แต่ก็เป็นเรื่องดีที่หลายปีที่ผ่านมา การเติบโตทางด้านการเรียนรู้และความเข้าใจการทำงานของระบบ RFID มีมากขึ้น สังเกตจากช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาลูกค้ามาในโจทย์ที่สมเหตุสมผลมากขึ้น ประกอบกับเทคโนโลยีที่ดีขึ้น
ในขณะที่ตลาด RFID บ้านเราอยู่ไม่กี่ร้อยล้านบาท หากเทียบกับตลาด RFID ในจีน ตามสเกลซึ่งน่าจะโตกว่าเราราว ๆ 20 เท่า แต่กลับมีมูลค่าตลาดที่สูงกว่าเราเป็นร้อยเท่า ประการหนึ่งน่าจะมาจากการส่งเสริมจากรัฐบาลจีนที่มีความชัดเจนมาก ๆ สังเกตได้จากงบประมาณในรอบ 5 ปี ที่ผ่านมาของรัฐบาลจีนสนับสนุนในเรื่อง RFID เป็นมูลค่ากว่าแสนล้านบาท เทียบไม่ได้เลยกับบ้านเราซึ่งแทบจะไม่มี ซึ่งเมื่อหลายปีก่อนยังมีหน่วยงานของภาครัฐให้การส่งเสริมอยู่บ้าง ทั้งนี้อาจจะเห็นว่ามันเริ่มไปได้แล้ว ประการที่สองผู้ใช้ในเมืองจีนน่าจะมีความ Aggressive มากกว่าผู้ใช้ในเมืองไทยที่มีความระมัดระวังตัวในการใช้
Q: ยกตัวอย่างงานที่สร้างความภาคภูมิใจให้กับบริษัท IET
A: ตัวอย่างหนึ่งที่นำโซลูชั่น RFID ของเราไปของเราไปใช้ เป็นด้านโลจิสติกส์ของบริษัทหนึ่ง ใช้แท็กรถบรรทุก เพื่อที่จะจัดคิวการรับส่งสินค้า เป็นกรณีที่เราค่อนข้างภูมิใจ เพราะมันถูกเอาไปอินทิเกรตเข้ากับหลายระบบของลูกค้ามาก ตั้งแต่ ระบบ ERP, ระบบขาย, ระบบการผลิต, ระบบกล้องวงจรปิดที่มี Image Processing คือไม่ใช่แค่เก็บรูป มีการอ่านป้ายทะเบียน อ่านความยาว จำนวนล้อ ซึ่งถือว่าครอบคลุมมาก ๆ ซึ่งเป็นการเชื่อมทางด้านไอทีกับระบบออโตเมชั่น ที่มีความสมบูรณ์และน่าสนใจ
อีกตัวอย่างหนึ่งที่เราภูมิใจ เราได้พัฒนาโซลูชั่น RFID ของเราไปใช้ในอุตสาหกรรมแปรรูปกุ้ง ในปัจจุบันมีการขยายผลไปยังอุตสาหกรรมอาหารทะเลไม่ต่ำกว่า 10 โรงงานได้ เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่เราพัฒนาเองที่ทำแล้วขยายผลต่อไปได้ ทั้งนี้ต้องขอขอบคุณสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติที่ให้ทุนสนับสนุนการวิจัยในลักษณะความร่วมมือของระหว่างผู้ให้บริการภาครัฐ และผู้ประกอบการ
Q: RFID มีความสำคัญกับโลจิสติกส์อย่างไร ?
A: จากประสบการณ์แอพพลิเคชั่นที่น่าสนใจสำหรับวงการโลจิสติกส์ที่ผมเกี่ยวข้องอยู่คือ การแท็กรถบรรทุกที่มารับส่งสินค้า ปัญหาคือโรงงานขนาดใหญ่รถบรรทุกที่ขนส่งสินค้ามีเป็นร้อยเป็นพันคัน หากไม่มีการแท็กจัดคิวรถ รับรองได้ว่ายุ่งแน่ ว่าคันนี้มารับ หรือมาส่ง หรือมาทำอะไร ไปผิดที่หรือไม่ RFID จะเข้ามาช่วยในเรื่องของความถูกต้อง ลดต้นทุนขนส่ง ลดความสูญเสียเรื่องต่าง ๆ
อีกแอพพลิเคชั่นหนึ่งที่น่าสนใจในวงการลอจิสติกส์คือเรื่องของการควบคุม Returnable Asset ซึ่งผมก็ประหลาดใจว่าอุตสาหกรรมยังให้ความสำคัญไม่มากนัก ทั้งที่มีความสำคัญมากเหมือนกัน Returnable Asset ก็เช่นพวกตะกร้า พาลเล็ต ที่ใช้เป็นภาชนะขนส่งสินค้า ซึ่งปี ๆ หนึ่งทรัพย์สินบริษัทเหล่านี้หายไปไม่ต่ำกว่า 25% ในอุตสาหกรรมรถยนต์ แร็กที่ใช้เป็นโลหะซึ่งมีมูลค่าสูง เสี่ยงต่อการหายมาก การนำ RFID มาใช้ก็ทำให้สามารถตรวจสอบที่มีมาที่ไปได้ ลดความสูญเสีย ในอีกมุมหนึ่งเราอาจนำประโยชน์จากการติดแท็กที่ตะกร้า พาเล็ต หรือแร็ก มาติดตามสินค้าที่มากับตะกร้า พาลเล็ตเหล่านี้ ได้
Q: อยากฝากอะไรถึงอุตสาหกรรม RFID ของไทย
A: ในแง่มุมของภาครัฐเราอยากเห็นภาครัฐมีการสร้างงานที่มีการนำ RFID ไปใช้ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อภาครัฐ ต่อส่วนรวม และเกิดประสิทธิภาพ โดยให้มีความโปร่งใสในการสร้างโครงการต่าง ๆ และการนำไปใช้ สำหรับในภาคเอกชนเราอยากให้เอกชนมีความกล้าที่จะนำ RFID ไปใช้มากขึ้น โครงการทุกอย่างที่เป็นเทคโนโลยีใหม่นั้นก็มีความเสี่ยงอยู่บ้าง
ดังนั้นการนำไปใช้ต้องมีการประเมินความเสี่ยงของผลสำเร็จเมื่อเทียบกับต้นทุนว่ามีความคุ้มมันก็น่าจะเดินไปข้างหน้าได้หรือไม่ เช่น โครงการเป็นพันล้าน ต้นทุนเรื่อง RFID สัก2-3 ล้าน แต่มีโอกาสสำเร็จผลถึง 80 เปอร์เซ็นต์ก็คุ้มที่จะเดินไปข้างหน้า บางทีการรอให้สำเร็จ 100 เปอร์เซ็นต์ อาจจะต้องรอไปนาน บวกกับต้นทุนที่แพงขึ้นอีกหลายเท่าตัว
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด