นำเสนอ 5 วิสัยทัศน์โดดเด่นเกี่ยวกับอนาคตของอุตสาหกรรมลอจิสติกส์และผลกระทบที่มีต่อการค้าและธุรกิจต่างๆ
* ผลการศึกษาภาพอนาคตผ่านสถานการณ์จำลองเรื่อง “Delivering Tomorrow : Logistics 2050” นำเสนอ 5 วิสัยทัศน์โดดเด่นเกี่ยวกับอนาคตของอุตสาหกรรมลอจิสติกส์และผลกระทบที่มีต่อการค้าและธุรกิจต่างๆ
* ข้อมูลที่ได้รับเป็นการรวบรวมจากความคาดหวังและการคาดการณ์ของ
42 สุดยอดผู้ชำนาญการในหลากหลายสาขา
* ซีอีโอแฟรงค์ แอพเพิล กล่าวว่า “ผู้ที่มีทางเลือกมากและหลากหลายสามารถวางกลยุทธ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
ดอยช์ โพสต์ ดีเอชแอล เผยผลการศึกษาเกี่ยวกับอนาคตของอุตสาหกรรม ลอจิสติกส์ภายใต้ชื่อว่า “Delivering Tomorrow: Logistics 2050” เจาะลึกวิสัยทัศน์อันกว้างไกลเกี่ยวกับอนาคตของการค้า ธุรกิจ และสังคม ทั้งนี้ การวิจัยดังกล่าว คือ การศึกษาภาพอนาคตผ่านสถานการณ์จำลองสภาวะการดำเนินชีวิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตรวม 5 ประเภท โดยใช้หลักการวิเคราะห์ปัจจัยที่มีความสำคัญที่สุด ได้แก่ รูปแบบการค้าและการบริโภค ทิศทางของสังคมและเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ และประมาณการผลกระทบที่มีต่อพฤติกรรมและค่านิยมของประชากรโลกในปี 2050
จุดเริ่มต้นของการวิจัย
มร. แฟรงค์ แอพเพิล ประธานคณะกรรมการฝ่ายบริหาร ดอยช์ โพสต์ ดีเอชแอล กล่าวในงานแถลงผลการวิจัยที่จัดขึ้นในกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ว่า “ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา โลกของเรามีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในหลากหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาพแวดล้อมทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมที่มีความซับซ้อนในปัจจุบัน การคาดการณ์แบบมิติเดียวในทางปฏิบัติเป็นสิ่งที่ทำได้ยากมาก เมื่อการพยากรณ์ทำได้ยากขึ้น เราจึงจำต้องมีการขยายกรอบความคิดของเรา โดยการคิดนอกกรอบ การหาทางเลือกใหม่ๆ การเข้าใจถึงความแตกต่างโดยมีมุมมองหลากหลายด้าน เพื่อให้เราสามารถวางกลยุทธ์ได้อย่างถูกต้องชัดเจนและกำหนดแนวทางการดำเนินงาน ได้อย่างเหมาะสม”
การดำเนินการวิจัยครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางรวม 42 ราย อาทิ มร. เคลาส์ เทิฟเฟอร์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศเยอรมนีและอดีตผู้อำนวยการโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Program: UNEP) มร. ฟาติห์ บิรอล ประธานนักเศรษฐศาสตร์ องค์การพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency) มร. ไมเคิล เทน ฮอมเพล กรรมการผู้จัดการสถาบัน Fraunhofer Institute for Material Flow and Logistics และผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ เวทีเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) สถาบัน Gesellschaft fur Konsumfrochung (GfK) สถาบันร็อคกี้ เมาน์เทน (Rocky Mountain Institute) สถาบันการศึกษาเรื่องอนาคตศาสตร์แห่งโคเปนเฮเกน (Copenhagen Institute for Futures Studies) สภาธุรกิจโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (World Business Council for Sustainable Development) และกรีนพีซสากล (Greenpeace International) เป็นต้น
วิสัยทัศน์แห่งอนาคต
ในการทำวิจัยดังกล่าว ดอยช์ โพสต์ ดีเอชแอลได้รวบรวมวิสัยทัศน์แห่งอนาคตรวม 5 ประเภท พร้อมทั้งเผยโฉม โลกยุคใหม่แห่งปี 2050 ที่แตกต่างจากยุคปัจจุบันทั้งทางด้านระดับของความเป็นโลกาภิวัฒน์ ขอบเขตการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม มาตรฐานทางเทคโนโลยีที่โดดเด่น และสภาวะทางสิ่งแวดล้อม ตลอดจนระบุถึงรูปแบบการดำเนินชีวิตที่มีการปรับเปลี่ยนในรูปแบบใหม่อย่างเด่นชัด 5 ประเภทในปี 2050
โดยทุกสถานการณ์จำลองที่นำมาใช้ในการวิจัยครั้งนี้จะมีการศึกษาเกี่ยวกับบทบาทของระบบลอจิสติกส์ที่มีการปรับเปลี่ยนอย่างมาก ขณะที่ความต้องการบริการด้านลอจิสติกส์โดยรวมพบว่า มีปริมาณเพิ่มขึ้นในเกือบทุกสถานการณ์จำลอง แต่ความต้องการเฉพาะด้านและความท้าทายพิเศษของผู้ให้บริการระบบลอจิสติกส์จะแตกต่างกันไปในแต่ละสถานการณ์
สำหรับการศึกษาเรื่อง “Delivering Tomorrow : Logistics 2050” ดังกล่าวเป็นการวิจัยเรื่องที่ 3 ในชุด “Delivering Tomorrow” ที่จัดทำโดยดอยซ์ โพสต์ ดีเอชแอล การวิจัยเรื่องใหม่นี้มาพร้อมกับรายงานเกี่ยวกับคุณลักษณะต่างๆ ของอนาคตกาล โดยมีการสัมภาษณ์พูดคุยกับบุคคลต่างๆ เกี่ยวกับปัจจัยสำคัญๆ ที่ช่วยกำหนดโลกในทศวรรษแห่งอนาคต ทั้งนี้ มร. แอพเพิลได้กล่าวถึงเหตุผลของการทำวิจัยครั้งนี้ว่า “ในฐานะผู้นำทางด้านบริการขนส่งและลอจิสติกส์ของโลก
ดีเอชแอลตระหนักดีว่า การทำวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของความรับผิดชอบของบริษัทที่มุ่งสำรวจหาปัจจัยทางสังคมและธุรกิจเพื่อนำมาใช้กำหนดอนาคตของธุรกิจลอจิสติกส์” สำหรับการวิจัยชุด “Delivering Tomorrow” เริ่มดำเนินการในปี 2552 โดยเป็นการศึกษาเกี่ยวกับความคาดหวังของลูกค้าในปี 2020 และอีก 1 ปีต่อมาในปี 2553 บริษัทได้มีการศึกษาเรื่องการปรับเปลี่ยนสู่ระบบลอจิสติกส์ที่มีความยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่สำคัญในอนาคต
แนวทางการพัฒนาและกำหนดอนาคตของอุตสาหกรรมลอจิสติกส์ในอีก 4 ทศวรรษข้างหน้า
ระเบียบวิธีวิจัยที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้เป็นการจัดทำสถานการณ์จำลองประเภทต่างๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งยังมีการศึกษาแบบเจาะลึกเกี่ยวกับปัจจัยสำคัญและความเชื่อมโยงกับเทรนด์ใหม่ๆ ที่ช่วยกำหนดโฉมหน้าของโลกแห่งลอจิสติกส์ในอีกหลากหลายทศวรรษข้างหน้า ทั้งนี้ การสร้างสถานการณ์จำลอง (Scenario) ที่นำมาใช้ในการวิจัยครั้งนี้ได้รับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญชั้นนำต่างๆ โดยเป็นเทคนิคการวิจัยที่แตกต่างจากเดิมซึ่งเน้นการวิเคราะห์และการคาดการณ์แบบแยกย่อย
แต่การวิจัยแบบใช้สถานการณ์จำลองจะมีการกำหนดทิศทางสำหรับตัวแปรที่เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดเพื่อนำมาใช้เชื่อมโยงกับสถานการณ์จำลองดังกล่าว จากนั้นจะมีการจัดเวิร์คช้อป เพื่อวิเคราะห์และประเมินทิศทางของตัวแปรที่กำหนดไว้ดังกล่าว ทำให้การศึกษาแนวทางการพัฒนาและกำหนดอนาคตอันซับซ้อนของอุตสาหกรรมลอจิสติกส์ในอีก 4 ทศวรรษข้างหน้ามีความชัดเจนอย่างเป็นระบบและสมบูรณ์แบบมากที่สุด
ภาพรวมสถานการณ์จำลอง 5 ประเภท
สถานการณ์จำลองที่ 1: เศรษฐกิจเติบโตอย่างไร้ทิศทาง และความเสียหายที่เกิดขึ้นตามมา
โลกมีคุณลักษณะเฉพาะที่ถูกกำหนดด้วยความนิยมทางวัตถุที่สูงขึ้นและการบริโภคที่เกินความจำเป็น รูปแบบ การดำเนินชีวิตอย่างไม่ยั่งยืนเกิดจากการใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง การพัฒนาที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศและส่งผลให้เกิดภัยธรรมชาติเพิ่มมากขึ้น ในสภาวะการเติบโตอย่างไร้ระเบียบดังกล่าว ความต้องการบริการลอจิสติกส์และการขนส่งจะพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้จำเป็นต้องมีระบบเครือข่ายการขนส่งทั่วโลกเพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างเมืองศูนย์กลางการบริโภคได้อย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม บริษัทผู้ให้บริการลอจิสติกส์ต้องเผชิญความท้าทายใหม่ๆ ที่เกิดจากการพัฒนาที่เกิดขึ้นทั้งยังได้รับผลกระทบจากสภาวะการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศที่มีอยู่อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ระบบซัพพลายเชนต้องหยุดชะงักบ่อยครั้ง
สถานการณ์จำลองที่ 2: สุดยอดประสิทธิภาพเหนือชั้นในเมืองขนาดใหญ่
“มหานครขนาดใหญ่” กลายเป็นศูนย์กลางมหาอำนาจของโลก ทั้งยังทำหน้าที่เป็นแรงขับเคลื่อนหลัก รวมไปถึงการเป็นผู้รับประโยชน์จากการปรับกระบวนทัศน์หรือการเปลี่ยนกรอบความคิด (Paradigm Shift) มุ่งสู่ยุทธศาสตร์การเติบโตแบบ “สีเขียว” (Green Growth) มหานครขนาดใหญ่เหล่านี้จะจับมือกันเป็นผู้นำในการจัดการสิ่งท้าทายจากการขยายโครงสร้างความเป็นเมือง อาทิเช่น ความแออัดและการแพร่กระจายของมลพิษ หุ่นยนต์จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการปฏิวัติพลิกโฉมอุตสาหกรรมการผลิตและธุรกิจบริการ ขณะเดียวกันผู้บริโภคมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่
โดยมุ่งเช่าซื้อผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ แทนการจัดซื้อ นอกจากนี้ ยังมีการนำหลักการจัดการจราจรประสิทธิภาพสูงมาใช้เพื่อลดปัญหาความแออัดของการจราจร การมีระบบเครือข่ายการขนส่งระดับโลกที่ใช้พาหนะขนส่งขนาดใหญ่ ทั้งรถบรรทุก เรือ และเครื่องบิน และระบบขนส่งด้วยยานอวกาศทำให้เกิดเครือข่ายการติดต่อสื่อสารทางการค้าระหว่างมหานครขนาดใหญ่ของโลก อุตสาหกรรมลอจิสติกส์จะได้รับมอบหมายให้จัดการระบบลอจิสติกส์ในเมือง สาธารณูปโภค และระบบต่างๆ ในสนามบิน โรงพยาบาล และศูนย์การค้าภายในเมืองต่างๆ
สถานการณ์จำลองที่ 3: วิถีชีวิตที่ปรับเปลี่ยนตามความต้องการของแต่ละบุคคล
สถานการณ์จำลองนี้กล่าวถึงโลกที่ความเป็นปัจเจกบุคคลและการบริโภคเฉพาะบุคคลพบเห็นได้ในทุกแห่งหน ผู้บริโภคจะสร้างสรรค์ ออกแบบ และทำผลิตภัณฑ์ของตนเอง เครื่องพรินเตอร์แบบ 3D ที่พัฒนาขึ้นใหม่จะมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ส่งผลให้เกิดการติดต่อการค้าระดับภูมิภาคเพิ่มมากขึ้น
โดยมีการไหลเวียนของวัตถุดิบและข้อมูลครอบคลุมทั่วโลก การปรับเปลี่ยนให้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภคและผลิตภัณฑ์ระดับภูมิภาคจะได้รับการเกื้อหนุนด้วยระบบพลังงานและระบบโครงสร้างพื้นฐานที่กระจายอยู่ในพื้นที่ต่างๆ สถานการณ์ดังกล่าวบ่งชี้ถึงอนาคตของอุตสาหกรรมลอจิสติกส์ในแง่ที่ว่าการขนส่งสินค้าสำเร็จรูปและกึ่งสำเร็จรูปจากระยะไกลจะลดน้อยลงเนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนระบบห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) มาใช้โครงสร้างพื้นฐานในแต่ละท้องถิ่นมากขึ้น ผู้ให้บริการลอจิสติกส์จะเป็นผู้จัดการระบบห่วงโซ่คุณค่าทางกายภาพทั้งระบบ พร้อมทั้งดูแลการไหลเวียนของรหัสข้อมูลสำหรับใช้ในการจัดส่งแบบแปลนการก่อสร้างและการออกแบบเพื่อพิมพ์ที่เครื่องพรินเตอร์แบบ 3D องค์กรที่มีระบบกระจายการผลิตสามารถนำจุดแข็งทางด้านระบบลอจิสติกส์ระดับภูมิภาคและระบบเครือข่ายปลายทางคุณภาพสูงมาใช้เป็นปัจจัยสร้างความสำเร็จที่โดดเด่น
สถานการณ์ที่ 4: ระบบการกีดกันต่างๆ เข้าสู่ภาวะหยุดชะงัก
สถานการณ์นี้คือการจำลองสภาวะโลกาภิวัฒน์ที่ถดถอย อันเป็นผลจากความตกต่ำทางเศรษฐกิจ และอุปสรรคทางด้านชาตินิยมและมาตรการกีดกันต่างๆ การพัฒนาทางเทคโนโลยีมีความล้าหลัง นอกจากนี้ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นและการขาดแคลนสินค้าจะก่อให้เกิดข้อพิพาทเกี่ยวกับแหล่งทรัพยากรทั่วโลก ในสถานการณ์ดังกล่าว อุตสาหกรรมลอจิสติกส์จะเผชิญสิ่งท้าทายจากการตกต่ำของเศรษฐกิจโลกและการพัฒนาระบบซัพพลายเชนระหว่างประเทศ รัฐบาลของประเทศต่างๆ มองระบบลอจิสติกส์เป็นอุตสาหกรรมเชิงกลยุทธ์ จากปัญหาความสัมพันธ์อันตึงเครียดระหว่างกลุ่มประเทศและประเทศต่างๆ ทำให้ผู้ให้บริการระบบลอจิสติกส์ในประเทศที่ไม่มีการรวมกลุ่ม (Bloc-Free Countries) ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการติดต่อการค้าระหว่างประเทศ
สถานการณ์จำลองที่ 5: ความยืดหยุ่นในการดำเนินงานทั่วโลก และการปรับตัวในแต่ละประเทศ
สถานการณ์จำลองนี้กล่าวถึงโลกที่มีการบริโภคอยู่ในระดับสูง ซึ่งเป็นผลจากการผลิตแบบประหยัดและอัตโนมัติ อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดภัยธรรมชาติบ่อยครั้ง ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบซัพพลายเชน รวมไปถึงโครงสร้างการผลิตแบบกระชับ (Lean Production Structures) (ซึ่งเป็นระบบที่มุ่งเน้นบริหารจัดการการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า
โดยกำจัดความสูญเสียและสิ่งที่ไม่เพิ่มคุณค่าในการผลิต ทั้งยังมีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างคุณค่าให้แก่ระบบการผลิตอยู่เสมอ) ส่งผลให้เกิดปัญหาต่อระบบซัพพลายเชนที่ซ้ำๆ กัน รูปแบบเศรษฐกิจแบบใหม่มีลักษณะโดดเด่นในการปรับเปลี่ยนจากแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพสูงสุดไปสู่การลดความเปราะบางและการสร้างความยืดหยุ่นในการดำเนินงาน การมุ่งพัฒนาระบบสำรองสำหรับการผลิตและการปรับเปลี่ยนจากระบบซัพพลายเชนระดับโลกเป็นระดับภูมิภาคจะช่วยเกื้อหนุนเศรษฐกิจโลกให้สามารถรับมือและจัดการกับสภาวะยากลำบากได้ดีขึ้น
โลกแห่งอนาคตปี 2050 จะมีความยืดหยุ่นมากขึ้น โดยระบบการค้าจะเป็นแบบระดับภูมิภาค และจะมีการพึ่งพาอุตสาหกรรมลอจิสติกส์ที่มุ่งให้ความสำคัญกับการรักษาความปลอดภัยของสินค้าสูงสุด ทั้งยังมีระบบโครงสร้างพื้นฐานรองรับเพื่อให้ความมั่นใจในเสถียรภาพของการขนส่งในภาวะที่ไม่มีความแน่นอนหรือมีอันตรายนานัปการ นอกจากนี้ โครงสร้างของระบบคลังสินค้าขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ใกล้กับแหล่งผลิตถือเป็นอาวุธสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง โดยจะมาแทนที่กระบวนการจัดส่งสินค้าแบบทันเวลาที่มีความซับซ้อนอย่างมาก
ดีเอชแอล ผู้ให้บริการลอจิสติกส์ระดับโลก
ดีเอชแอล เป็นผู้นำระดับโลกทางด้านอุตสาหกรรมลอจิสติกส์ และ ”ผู้ให้บริการลอจิสติกส์ระดับโลก” มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญพิเศษในด้านบริการขนส่งด่วนระหว่างประเทศ การขนส่งทางอากาศ ทางเรือ และทางบก ตลอดจนโซลูชั่นด้านลอจิสติสก์ต่างๆ และบริการไปรษณีย์ระหว่างประเทศ ปัจจุบัน ดีเอชแอลมีเครือข่ายเชื่อมโยงครอบคลุมมากกว่า 220 ประเทศ และอาณาเขตต่างๆ ทั่วโลก ด้วยบุคลากรกว่า 275,000 คนทั่วโลก ที่พร้อมมอบบริการที่รวดเร็ว วางใจได้ และเกินความคาดหวังของลูกค้า โดยได้รับการสนับสนุนจากทีมงานระดับท้องถิ่นที่มีความเชี่ยวชาญ ทั้งนี้ ดีเอชแอลได้แสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อสังคมโดยการสนับสนุนการปกป้องสภาพภูมิอากาศ การช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากภัยพิบัติ และการส่งเสริมด้านการศึกษา ดีเอชแอล เป็นส่วนหนึ่งของ ดอยช์ โพสท์ ดีเอชแอล โดยกลุ่มบริษัทมียอดรายได้กว่า 53,000 ล้านยูโร ในปี 2554
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด