โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยี ของอุตสาหกรรมไทย (iTAP)
หนึ่งเดียวในไทย ผู้บุกเบิกร่มบ่อสร้าง
โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยี
ของอุตสาหกรรมไทย (iTAP)
จากภูมิปัญญาของชาวบ่อสร้างที่มีตำนานเล่าขานมานานนับร้อยปีว่า มีพระภิกษุสงฆ์รูปหนึ่งชื่อพระอินถา แห่งสำนักวัดบ่อสร้าง ได้ศึกษาวิชาการทำร่มพร้อมนำกลับมาถ่ายทอดที่บ้านบ่อสร้าง จนเกิดเป็นสถานที่เรียนรู้ ฝึกสอนวิธีการทำร่มให้กับชาวบ้านในละแวกกว่า 7 หมู่บ้าน จนกลายมาเป็นอาชีพของคนบ่อสร้างมาจนทุกวันนี้
ปัจจุบัน “ร่มบ่อสร้าง” ยังมีการนำเทคโนโลยีมาประสานกับภูมิปัญญา สร้างหัตถกรรมให้มีความรู้ในกระบวนการผลิตโดย บริษัท ศูนย์ทำร่ม (1978) จำกัด เป็นส่วนหนึ่งซึ่งสืบทอดการทำร่มมาถึงรุ่นลูก
นางสาวกัณณิกา บัวจีน ผู้จัดการ บริษัท ศูนย์ทำร่ม (1978) จำกัด กล่าวว่า “ได้สืบทอดธุรกิจการทำร่มไม้ไผ่มาจากคุณพ่อ คือ คุณถวิล บัวจีน อดีตเป็นมัคคุเทศก์พานักท่องเที่ยวชมการทำร่มไม้ไผ่แถบ อ.สันกำแพง และ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ เมื่อนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเห็นหัตถกรรมฝีมือไทยจึงเกิดความประทับใจ คุณพ่อจึงมีแนวคิดที่จะนำวิธีการทำร่มมารวมไว้แห่งเดียวกันแบบครบวงจร
โดยไม่ต้องตระเวนดูการทำชิ้นส่วนร่มกว่า 7 หมู่บ้าน และได้นำมาไว้ที่เดียวกัน สามารถเผยแผ่กรรมวิธีการทำร่มให้เข้าใจง่าย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521 จนกลายเป็น “บริษัท ศูนย์ทำร่ม (1978) จำกัด” ทำให้เป็นจุดเชื่อมต่อและฟื้นชีวิตร่มบ่อสร้าง ซึ่งขณะนั้นเริ่มเลือนหายไปจากความนิยม เนื่องจากมีร่มสมัยใหม่เข้ามาแทนที่ และบริษัทฯ ยังเปิดพื้นที่ให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าชมกระบวนการผลิตร่มไม้ไผ่ได้ครบทุกขั้นตอน ทำให้เกิดการจ้างแรงงานเพิ่มขึ้น และไม่ใช่การทำหัตถกรรมใต้ถุนบ้านเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่จะเป็นการสร้างอุตสาหกรรมให้สามารถเลี้ยงตัวเองได้และเป็นที่รู้จักในนามศูนย์อุตสาหกรรมร่มมาจนถึงทุกวันนี้”
ผู้จัดการ บริษัทศูนย์ทำร่มฯ กล่าวอีกว่า “ร่มบ่อสร้าง นอกจากจะมีลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์อันเลื่องชื่อแล้ว ชื่อเสียงอีกประการหนึ่งคือ ความทนทาน เนื่องจากสามารถกันแดดและฝนได้ขึ้นอยู่กับวัสดุที่นำมาใช้ โดยขั้นตอนการทำร่มหนึ่งคันจะประกอบด้วย ผ้าหรือกระดาษสา สำหรับทำตัวร่ม ส่วนหัวร่มทำจากไม้เนื้ออ่อน เช่น ไม้กระท้อน ส่วนโครงร่มและก้านร่มใช้ไม้ไผ่ ซึ่งถือเป็นส่วนประกอบหลักในการทำร่ม ด้านกระบวนการผลิตร่ม ใช้แป้งเปียกผสมน้ำตะโกหรือน้ำยางมะค่าในการติดผ้าหรือกระดาษเข้ากับร่ม ทำให้ติดทนทานไม่หลุดได้ง่าย อีกทั้งเวลาลงสีน้ำมันมะมื้อหรือน้ำมันตังอิ๊วลงไปด้วยเพื่อให้เกิดสีเงางามและยังทำให้ร่มทนแดดทนฝน
ซึ่งจะเห็นได้ว่ากระบวนการเหล่านี้เป็นงานฝีมือที่ต้องอาศัยความพิถีพิถันในทุกขั้นตอน สำหรับหัวและโครงร่มจะใช้ไม้เนื้ออ่อน และไม้ไผ่เป็นวัตถุดิบหลัก ซึ่งที่ผ่านมาพบปัญหาการบิดงอแตกหัก หรือเกิดการหดตัวของเนื้อไม้เมื่อมีการส่งออกไปต่างประเทศ เนื่องจากอากาศของไทยที่ค่อนข้างร้อนชื้นกว่าประเทศในแถบยุโรป ส่วนหนึ่งมาจากกระบวนการผลิตที่ยังไม่ได้มาตรฐานเฉพาะในขั้นตอนการตากแดดเพื่อไล่ความชื้นในเนื้อไม้ที่ต้องพึ่งพาแสงแดด และใช้เวลาในการตากนาน 2-3 วัน ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ”
นางสาวกัณณิกา กล่าวว่า “ปัญหาที่เกิดขึ้นจากเดิมที่ไม่รู้สาเหตุที่ชัดเจน และเพื่อให้การทำงานร่วมกับพนักงานกว่า 145 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพนักงานอาวุโสในชุมชน ได้ตระหนักถึงปัญหาและเพื่อนำไปสู่การแก้ไข บริษัทฯ จึงมีแนวคิดสนับสนุนให้พนักงานแจ้งปัญหาที่พบในกระบวนการผลิตของตนเอง ซึ่งเป็นวิธีที่จะช่วยให้เกิดการสร้างกระบวนการคิด และกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกเหมือนตนเองเป็นเจ้าของ กล้าคิด กล้านำเสนอ และเกิดการยอมรับสิ่งใหม่ ๆ นำไปสู่การปรับปรุงพัฒนาตนเองให้ดีขึ้นในที่สุด จากที่ไม่เคยคิดว่าต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในกระบวนการผลิต แต่ด้วยโจทย์จากพนักงานและลูกค้า จึงทำให้บริษัทฯ เข้าไปขอรับการปรึกษากับทางโครงการ iTAP (โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย) จนเกิดเป็น โครงการการทำเตาอบไม้ไผ่”
โดย iTAP ได้เชิญคณะอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ จากภาควิชาวนผลิตภัณฑ์ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เข้ามาเป็นที่ปรึกษาแนะนำการสร้างเตาอบไม้ไผ่ที่มีประสิทธิภาพ และแนะนำเทคนิคการอบไม้ไผ่ตามหลักวิชาการ จนสามารถอบไม้ไผ่ด้วยวิธีการที่ถูกต้องเหมาะสม เหมือนเรามีครูมาสอน ทำให้ประหยัดเวลาในการทำงานลงได้ อีกทั้งวิธีการยังเป็นที่ยอมรับกันแบบสากลอีกด้วย ทำให้บริษัทฯ ได้ไม้ไผ่ที่มีคุณภาพดี ลดการสูญเสียจากการบิด งอ ของไม้ไผ่ลงได้
“นอกจากนี้ การทำงานของบริษัทฯ จะเน้นเหมือนการเป็นครอบครัวใหญ่ พนักงานบางคนมีอายุมากและเห็นเรามาตั้งแต่เด็ก ๆ ทำให้การเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ นั้นจำเป็นต้องใช้เวลา ดังนั้นเคล็ดลับในการทำงานคือ เริ่มต้นจากการพัฒนาคนก่อน เพื่อให้คนเปิดใจให้กว้าง เนื่องจากการทำร่มเป็นหัตถกรรมที่มีมานาน อีกทั้งเป็นงานฝีมือ พนักงานอาจไม่ยอมรับกับเทคโนโลยีหรือวิธีการใหม่ ๆ แต่เราก็ให้เขาบอกเล่าถึงปัญหาในการทำงานต่าง ๆ ก่อนที่จะนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ทำให้เปิดใจรับได้ง่ายขึ้นและสร้างการมีส่วนร่วม การทำงานจึงเป็นไปอย่างน่าพึงพอใจ โดยขณะนี้ใช้เวลาอบไม้ลดลงเหลือเพียง 5-7 ชั่วโมงต่อไม้ 300 ชิ้นในกระบวนการผลิตต่อวัน จากเดิมใช้เวลากว่า 3 วัน” นางสาวกัณณิกากล่าว
ผู้จัดการ บริษัทศูนย์ทำร่มฯ กล่าวอีกว่า “เมื่อเล็งเห็นถึงความสำคัญของการนำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการผลิต จึงได้มีการทำงานอย่างต่อเนื่องกับ iTAP ใน “โครงการการทำเตาเผาถ่านไม้ไผ่” โดยโครงการนี้เกิดจากกระบวนการผลิตร่ม ในอดีตมีเศษไม้ไผ่เหลือทิ้งเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะข้อไม้ไผ่ที่ต้องตัดทิ้งก่อนนำมาผ่าเป็นโครงร่ม ซึ่งหากปล่อยไว้หรือเผาทิ้งอาจทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ บริษัทฯ จึงมีแนวคิดจะนำเศษไม้ไผ่เหล่านี้กลับมาใช้ประโยชน์โดยนำมาทำเป็น “ถ่าน” จึงได้ขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ iTAP ในการสร้างเตาเผาถ่านไม้ไผ่ที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ได้เทคนิคในการเผาถ่านไม้ไผ่ที่มีคุณภาพ และสามารถลดควันที่เกิดจากการเผาถ่าน”
ผลพลอยได้จากโครงการนี้ยังได้ “น้ำส้มควันไม้ไผ่” ที่สามารถนำไปแช่ทดแทนการนำสารเคมีมาใช้เพื่อป้องกันแมลง ส่วนที่เหลือยังได้แจกจ่ายให้กับพนักงานไปใช้ในการเกษตร ด้านผลิตภัณฑ์ถ่านไม้ไผ่ที่เผาได้ นอกจากจะแจกจ่ายให้กับพนักงาน ยังนำมาเป็นของที่ระลึกจำหน่ายเป็นถ่านดูดความชื้นและกำจัดกลิ่น ซึ่งรายได้ส่วนหนึ่งจากการจำหน่ายถ่านไม้ไผ่นี้ยังกลับคืนเป็นเงินปันผลให้กับพนักงานอีกด้วย
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังต่อยอดไปสู่ “โครงการเครื่องจักรโครงพัดไม้ไผ่” เกิดจากปัญหาแรงงานที่วันนี้ค่อนข้างขาดตลาด เพราะการทำร่มและพัดไม้ไผ่เป็นอาชีพเฉพาะ และเป็นงานหัตถกรรมที่ต้องใช้ฝีมือที่มีความละเอียดอ่อน หากไม่เชี่ยวชาญอาจทำให้ซี่ไม้ไผ่ของพัดแต่ละชิ้นหัก ทำให้ต้องสูญเสียวัตถุดิบ ดังนั้น การนำเครื่องจักรมาใช้เหลาและแต่งลายพัด เชื่อว่าจะทำให้ได้พัดไม้ไผ่มีคุณภาพมาตรฐานมากขึ้น ซึ่งโครงการดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างขั้นตอนการพัฒนา
ด้านทีมผู้เชี่ยวชาญ iTAP ประกอบด้วย ผศ.อำไพ เปี่ยมอรุณ, รศ.ดร.ธีระ วีณิน และ รศ.ทรงกลด จารุสมบัติ ภาควิชาวนผลิตภัณฑ์ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้วิเคราะห์โจทย์ของบริษัท ศูนย์ทำร่ม (1978) จำกัด ว่ามีปัญหาเรื่องกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่ และเมื่อเข้าร่วมกับ iTAP ในโครงการต่าง ๆ ผลที่ได้รับคือ ทำให้สามารถเพิ่มผลผลิตและส่งมอบงานให้ลูกค้าได้ตามกำหนดเวลา และสามารถนำของเหลือทิ้งจากไม้ไผ่มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ล่าสุด บริษัทฯ ยังมีแนวคิดนำ “ขุยไม้ไผ่” ซึ่งเป็นของเหลือทิ้งและไม่สามารถใช้ประโยชน์ใด ๆ ได้อีก กลับมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น แผ่นไม้อัด ถาดผลไม้ ฯลฯ ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการพัฒนาเช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังจุดประกายความคิดในการนำเทคโนโลยีมาสานต่อภูมิปัญญาเพื่อทำงานหัตถกรรมไม่หยุดยั้ง โดยนำผลงานวิจัยเกี่ยวกับการทำ “กระดาษสาทนไฟ” สนับสนุนโดย สวทช. เครือข่ายภาคเหนือ มาใช้ประโยชน์ซึ่งบริษัทฯ มีแนวคิดในการนำผลงานวิจัยดังกล่าวมาต่อยอดทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น โคมไฟกระดาษสา เพื่อให้มีคุณสมบัติทนต่อความร้อนและเพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์
สำหรับตลาดของผลิตภัณฑ์ร่มไม้ไผ่ ผู้จัดการบริษัทฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า “บริษัทฯ จะแข่งขันด้วยคุณภาพ โดยเฉพาะสินค้าที่ส่งออกไปต่างประเทศ มีคู่แข่งขันคือ จีน, เวียดนาม และอินโดนีเซีย สินค้าของเราจะต้องเน้นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ลดการนำสารเคมีมาใช้ในกระบวนการผลิต ทำให้ไม่เกิดสารพิษตกค้าง สร้างความแตกต่างให้สินค้า โดยลูกค้าเป้าหมายเน้นกลุ่มการท่องเที่ยว เช่น โรงแรม รีสอร์ท สปา ฯลฯ”
นอกจากนี้ สินค้าของบริษัทฯ ยังได้รับการยอมรับจาก UNESCO (The Seal of Excellence in Southeast Asia Award ปี 2007 และ 2008) ในการเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมโดยประชาสัมพันธ์ผ่านเว็บไซต์ขององค์กรทำให้ได้รับความไว้วางใจในตลาดต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น
อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนการประชาสัมพันธ์จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยที่นำเอาร่มบ่อสร้างไปสาธิตการวาดร่มทั่วโลก เพื่อประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ และเมื่อเดือนมิถุนายน 2552 ร่มบ่อสร้างได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา ให้เขตพื้นที่อำเภอดอยสะเก็ด และสันกำแพงเป็นสถานที่ผลิตร่มบ่อสร้างไว้เพื่อเป็นมรดกทางภูมิปัญญาให้กับชุมชน
นางสาวกัณณิกา กล่าวเพิ่มเติมว่า “จากการทำงานที่ผ่านมาได้ตั้งเป้าผลประกอบการในปี 2553 เพิ่มขึ้น 30% โดยเน้นจุดขายของผลิตภัณฑ์ร่มบ่อสร้างที่มีคุณภาพ ลดการใช้สารเคมีให้เหลือน้อยที่สุด และอนาคตได้วางแผนไว้ว่า อยากเปิดเป็น “ศูนย์การเรียนรู้การทำร่ม” ให้ที่นี่กลายเป็นโรงเรียนในโรงงาน สอนคนรุ่นหลังในการทำร่มไม้ไผ่ ซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของคนไทย และเพื่อไม่ให้สัญลักษณ์ของร่มบ่อสร้างต้องสูญหายไป”
สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจขอรับการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีจากโครงการ iTAP ติดต่อได้ที่ (ส่วนกลาง) โทร. 02-564-7000 ต่อ โครงการ iTAP, (เครือข่าย สวทช. ภาคเหนือ) โทร. 053-226-264 หรือที่เว็บไซต์ www.tmc.nstda.or.th/itap
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ โครงการ iTAP
โทร. 02-270-1350-4 ต่อ 114, 115
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด