เนื้อหาวันที่ : 2012-07-17 15:58:39 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 5498 views

มาตรฐานสีเขียว (Green Standard)

มาตรฐานสีเขียว (Green Standard)

มาตรฐานสีเขียว (Green Standard)

กิตติพงศ์ จิรวัสวงศ์
kitroj@yahoo.com

ในปัจจุบัน ประเด็นทางด้านสิ่งแวดล้อมได้มีการพัฒนาขึ้นจากความสนใจในบางองค์กร มาสู่ความรับผิดชอบขององค์กรส่วนใหญ่ในการดำเนินธุรกิจ และกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะต้องคำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม รวมถึงการพัฒนาสินค้าและการบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ ล้วนส่งผลกระทบอย่างมากต่อทุก ๆ ภาคส่วน รวมถึงทั่วทั้งโลกต่างก็ได้รับผลกระทบที่นับวันจะรุนแรงเพิ่มมากขึ้นด้วย


ความใส่ใจในสิ่งแวดล้อมได้สะท้อนออกมาในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ที่เป็นการแก้ไขปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อม การหาแนวทางในการชะลอปัญหาสิ่งแวดล้อมทั้งในระดับประเทศและระดับโลก การส่งเสริมให้มีการพัฒนาสินค้าและบริการที่เป็นมิตรและไม่ส่งผลกระทบในทางลบต่อสิ่งแวดล้อม การรณรงค์ในการดูแลรักษาและฟื้นฟูสภาพแวดล้อมให้ดีขึ้น รวมถึงการกำหนดมาตรฐานสากลในการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม


ในการพัฒนามาตรฐานสากลที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมได้เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่เป็นมาตรฐานในระดับองค์กร ระดับประเทศและระหว่างประเทศ รวมทั้งที่เป็นมาตรฐานด้านการบริหารจัดการ มาตรฐานเฉพาะด้าน มาตรฐานผลิตภัณฑ์ มาตรฐานการบริการ หรือจะเป็นมาตรฐานการดำเนินงานที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม


ถ้าหากพูดถึงมาตรฐานในระดับสากลระหว่างประเทศ มาตรฐานที่เป็นที่รู้จักและเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวาง ได้แก่ มาตรฐาน ISO ที่พัฒนาขึ้นโดยองค์กรด้านมาตรฐานระหว่างประเทศ ที่เรียกว่า International Organization for Standardization ซึ่งมีสมาชิกเป็นตัวแทนที่ดูแลด้านมาตรฐานของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย โดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เป็นตัวแทนทำหน้าที่สมาชิกในองค์กรแห่งนี้ด้วย

มาตรฐานที่มีการจัดพิมพ์แล้ว
มาตรฐาน ISO ที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่เป็นที่รู้จักกันดี และมีองค์กรจำนวนมากที่นำไปดำเนินการ รวมถึงได้รับการรับรองมาตรฐานนี้กันอย่างกว้างขวาง ได้แก่ มาตรฐาน ISO 14001 ซึ่งเป็นมาตรฐานด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม (Environmental Management Systems-Requirements with Guidance for Use) ที่อธิบายถึงข้อกำหนดต่าง ๆ สำหรับองค์กร เพื่อสร้างความมั่นใจได้ว่ากิจกรรม หรือการดำเนินการต่าง ๆ ขององค์กร ได้มีการพิจารณาถึงผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงมีมาตรการในการดำเนินการแก้ไขปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อม การป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น และการปรับปรุงความสามารถขององค์กรในการดูแลสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิผล


ปัจจุบัน มีองค์กรจำนวนมากที่มีการนำมาตรฐาน ISO 14001 นี้ไปดำเนินการ และได้รับการรับรอง ไม่เฉพาะในภาคอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงทั้งภาคบริการ ภาคการศึกษา ภาคขนส่ง ภาคสาธารณสุข รวมถึงองค์กรต่าง ๆ ในภาครัฐด้วย
มาตรฐาน ISO 14001 ได้รับการพัฒนาขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง โดยคณะทำงาน ISO/TC 207 ของ ISO นับตั้งแต่ฉบับแรกที่มีการประกาศใช้อย่างเป็นทางการ เมื่อปี 1996 จนมาถึงฉบับล่าสุดในปี 2004 โดยเนื้อหาหลัก ๆ ของมาตรฐานนี้ จะประกอบด้วย 5 ส่วนที่สำคัญ ได้แก่ การกำหนดนโยบายสิ่งแวดล้อม การวางแผน การนำไปปฏิบัติและดำเนินการ การตรวจสอบและแก้ไข และการทบทวนโดยฝ่ายบริหารขององค์กร


นอกเหนือจากมาตรฐาน ISO 14001 ที่อธิบายถึงข้อกำหนดของระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังมีมาตรฐานที่เป็นคู่กันได้ออกมาเสริมการดำเนินการตามมาตรฐาน ISO 14001 ได้แก่ มาตรฐาน ISO 14004 (Environmental Management Systems-General Guidelines on Principles, Systems and Support Techniques) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่อธิบายถึงหลักการพื้นฐาน ระบบงาน และเทคนิคที่สามารถนำมาใช้ร่วมกับระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐาน ISO 14001 ได้


ในขณะที่การตรวจประเมินระบบสิ่งแวดล้อม หรือ Environmental Audit จะเป็นเครื่องมือที่สำคัญของระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ที่จะช่วยในการประเมินถึงความเหมาะสม ความเพียงพอ และความมีประสิทธิผลของระบบที่มีการจัดทำขึ้น เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติการแก้ไข การป้องกัน และการปรับปรุงพัฒนาระบบให้ดีขึ้นต่อไป โดยได้มีการจัดทำขึ้นเป็นมาตรฐานสากลที่เรียกว่ามาตรฐาน ISO 19011 (Guidelines for Quality and/or Environmental Management Systems Auditing) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่อธิบายถึงกระบวนการในการตรวจประเมิน ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ทั้งในระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม และระบบบริหารคุณภาพ


ในปี 2009 ทางคณะทำงาน ISO/TC 207 ยังได้มีการออกมาตรฐาน ISO 14050 (Environmental Management-Vocabulary) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่จะอธิบายคำศัพท์ต่าง ๆ ทางด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดความชัดเจน และความเข้าใจที่ดีขึ้น ในการนำข้อกำหนดต่าง ๆ ของมาตรฐานทางด้านสิ่งแวดล้อม มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด


นอกจากมาตรฐาน ISO 14001 ที่มีการระบุถึงการกำหนดลักษณะปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Aspects) แล้ว ทาง ISO ยังได้มีการพัฒนามาตรฐานที่ช่วยในการกำหนดลักษณะปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติมขึ้นมาอีก โดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า การประเมินวัฏจักรชีวิต (Life Cycle Assessment-LCA) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการระบุ และประเมินลักษณะปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งของผลิตภัณฑ์และบริการ ซึ่งจะทำการวิเคราะห์ตั้งแต่เริ่มต้น

การออกแบบ การจัดทำ การนำไปใช้งาน และการทำลาย เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ทั้งนี้ มาตรฐานที่เกี่ยวกับการประเมินวัฏจักรชีวิต ได้มีการจัดทำขึ้นมาหลายมาตรฐานด้วยกัน ประกอบด้วย
• ISO 14040: 2006 (Environmental Management-Life Cycle Assessment-Principles and Framework) จะเป็นมาตรฐานที่อธิบายถึงหลักการพื้นฐาน และกรอบการดำเนินงานสำหรับการประเมินวัฏจักรชีวิต
• ISO 14044: 2006 (Environmental Management-Life Cycle Assessment-Requirements and Guidelines) จะเป็นมาตรฐานที่อธิบายข้อกำหนด และแนวทางดำเนินงานในการประเมินวัฏจักรชีวิต
• ISO/TR 14047: 2003 (Environmental Management-Life Cycle Impact Assessment-Example of Application of ISO 14042) จะเป็นมาตรฐานที่อธิบายตัวอย่างของการดำเนินงานตามข้อกำหนดในมาตรฐาน ISO 14042 (ยกเลิกการใช้งานแล้ว) ในการประเมินผลกระทบของวัฏจักรชีวิต
• ISO/TR 14048: 2002 (Environmental Management-Life Cycle Assessment-Data Documentation Format) จะเป็นมาตรฐานที่ระบุถึงรูปแบบของเอกสารในการประเมินวัฏจักรชีวิต
• ISO/TR 14049: 2000 (Environmental Management-Life Cycle Assessment-Example of Application of ISO 14041 to Goal and Scope Definition and Inventory Analysis) จะเป็นมาตรฐานที่อธิบายตัวอย่างของการดำเนินงานตามข้อกำหนดในมาตรฐาน ISO 14041 (ยกเลิกการใช้งานแล้ว) ในการประเมินวัฏจักรชีวิต

ในขณะที่มาตรฐาน ISO 14015: 2001 (Environmental Management-Environmental Assessment of Sites and Organization (EASO)) จะเป็นมาตรฐานการจัดการสิ่งแวดล้อมที่อธิบายถึงแนวทาง และกระบวนการในการตรวจประเมินสถานที่ และองค์กรในประเด็นทางด้านสิ่งแวดล้อม ส่วนมาตรฐาน ISO 14031: 1999 (Environmental Management-Environmental Performance Evaluation-Guidelines) จะเป็นมาตรฐานที่นำมาใช้ในการประเมินสมรรถนะทางด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Performance) ในรูปแบบต่าง ๆ

นอกจากนั้น ยังมีมาตรฐานที่เกี่ยวกับฉลากสิ่งแวดล้อม (Environmental Label) ซึ่งประกอบด้วย
• ISO 14020: 2000 (Environmental Labels and Declarations-General Principles) จะเป็นมาตรฐานเกี่ยวกับหลักการทั่วไปของฉลากสิ่งแวดล้อม และคำประกาศสิ่งแวดล้อม
• ISO 14021: 1999 (Environmental Labels and Declarations-Self-Declared Environmental Claims (Type II Environmental Labeling) จะเป็นมาตรฐานเกี่ยวกับหลักการและขั้นตอนการปฏิบัติ สำหรับฉลากสิ่งแวดล้อม ประเภทที่ 2 (การประกาศรับรองตนเองด้านสิ่งแวดล้อม)
• ISO 14024: 1999 (Environmental Labels and Declarations-Type I Environmental Labeling-Principles and Procedures) จะเป็นมาตรฐานเกี่ยวกับหลักการและขั้นตอนการปฏิบัติ สำหรับฉลากสิ่งแวดล้อม ประเภทที่ 1
• ISO 14025: 2006 (Environmental Labels and Declarations-Type III Environmental Declarations-Principles and Procedures) จะเป็นมาตรฐานเกี่ยวกับหลักการและขั้นตอนการปฏิบัติ สำหรับฉลากสิ่งแวดล้อม ประเภทที่ 3

รวมถึงยังมีการจัดทำมาตรฐาน ISO 14063: 2006 (Environmental Management-Environmental Communication-Guideline and Examples) ซึ่งเป็นมาตรฐานเกี่ยวกับแนวทางในการสื่อสารทางด้านสิ่งแวดล้อมให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
  นอกจากนั้น คณะทำงาน ISO/TC 207 ยังได้มีการจัดทำมาตรฐานที่เกี่ยวกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Green House Gas) เพื่อเป็นแนวทางสำหรับการดำเนินการควบคุม และลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมากในปัจจุบัน โดยกำหนดเป็นมาตรฐาน ISO 14064 ซึ่งมีการแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย
• ISO 14064-1: 2006 (Greenhouse Gases-Part 1: Specification with Guidance at the Organization Level for Quantification and Reporting of Greenhouse Gas Emissions and Removals) จะเป็นมาตรฐานที่อธิบายถึงข้อกำหนดเฉพาะและแนวปฏิบัติในระดับองค์กร สำหรับการวัดปริมาณ การติดตามตรวจสอบ และการจัดทำรายงานการปล่อยและการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก
• ISO 14064-2: 2006 (Greenhouse Gases-Part 2: Specification with Guidance at the Project Level for Quantification, Monitoring and Reporting of Greenhouse Gas Emission Reductions or Removal Enhancements) จะเป็นมาตรฐานที่อธิบายถึงข้อกำหนดเฉพาะและแนวปฏิบัติในระดับโครงการ สำหรับการวัดปริมาณ การติดตามตรวจสอบ และการจัดทำรายงานการปล่อยและการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก
• ISO 14064-3: 2006 (Greenhouse Gases-Part 3: Specification with Guidance for the Validation and Verification of Greenhouse Gas Assertions) จะเป็นมาตรฐานที่อธิบายถึงข้อกำหนด และแนวปฏิบัติสำหรับการทวนสอบและการยืนยันความถูกต้องของก๊าซเรือนกระจก

นอกจากนั้นยังมีการกำหนดมาตรฐานสำหรับผู้ทำหน้าที่ในการทวนสอบ และยืนยันความถูกต้องของก๊าซเรือนกระจกเพื่อการรับรอง ออกมาเป็นมาตรฐาน ISO 14065: 2007 (Greenhouse Gases-Requirements for Greenhouse Gas Validation and Verification Bodies for Use in Accreditation or Other Forms of Recognition)
ในส่วนของการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ยังได้มีการออกมาตรฐานทางด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องด้วย ได้แก่ มาตรฐาน ISO/TR 14062: 2002 (Environmental Management-Integrating Environmental Aspects into Product Design and Development) ซึ่งเป็นมาตรฐานการจัดการสิ่งแวดล้อม ในการบูรณาการลักษณะปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ และมาตรฐาน ISO Guide 64: 2008 (Guide for Addressing Environmental Issues in Product Standards) ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติในการกำหนดประเด็นทางด้านสิ่งแวดล้อมในมาตรฐานผลิตภัณฑ์

มาตรฐานอยู่ในระหว่างการจัดทำ
นอกเหนือจากมาตรฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่มีการประกาศใช้อย่างเป็นทางการตามที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น ยังมีอีกหลายมาตรฐานทางด้านสิ่งแวดล้อมที่อยู่ในระหว่างการจัดทำ และรอการประกาศใช้ในเร็ววันนี้ โดยคณะทำงาน ISO/TC 207 ซึ่งรับผิดชอบดูแลมาตรฐานทางด้านสิ่งแวดล้อม
ISO/DIS 14005 (Environmental Management Systems-Guidelines for the Phased Implementation of an Environmental Management System, Including the use of Environmental Performance Evaluation) จะเป็นมาตรฐานที่ระบุแนวทางสำหรับการดำเนินงานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม สำหรับองค์กรขนาดเล็กและขนาดกลาง รวมถึงแนวทางในการประเมินสมรรถนะทางด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Performance Evaluation)
ISO/AWI 14033 (Environmental Management-Quantitative Environmental Information-Guidelines and Examples) จะเป็นมาตรฐานการจัดการสิ่งแวดล้อมที่อธิบายถึงแนวทาง และตัวอย่างของข้อมูลสารสนเทศสิ่งแวดล้อมเชิงปริมาณ

ISO/CD 14006 (Environmental Management Systems-Guidelines on Eco-design) จะเป็นมาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ที่อธิบายถึงแนวทางสำหรับการออกแบบผลิตภัณฑ์เชิงนิเวศน์เศรษฐกิจ หรือ Eco-design
ISO/WD 14045 (Eco-efficiency Assessment-Principles and Requirements) โดยมาตรฐาน ISO 14045 จะอธิบายถึงหลักการพื้นฐาน และข้อกำหนดเกี่ยวกับการประเมินความมีประสิทธิภาพเชิงนิเวศน์เศรษฐกิจ (Eco-efficiency Assessment) โดยความมีประสิทธิภาพเชิงนิเวศน์เศรษฐกิจจะเกี่ยวกับสมรรถนะทางด้านสิ่งแวดล้อมในการสร้างสรรค์ให้เกิดคุณค่า ซึ่งมาตรฐานนี้ จะระบุแนวทางในการทำงานที่ชัดเจนและเข้าใจง่ายสำหรับการวัดความมีประสิทธิภาพเชิงนิเวศน์เศรษฐกิจ
ISO/CD 14051 (Environmental Management-Material Flow Cost Accounting-General Principles and Framework) โดยมาตรฐาน ISO 14051 จะเป็นแนวปฏิบัติ และกรอบการดำเนินงานสำหรับ Material Flow Cost Accounting (MFCA) โดย MFCA จะเป็นเครื่องมือในการบริหารงาน เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิผล โดยเน้นไปที่กระบวนการผลิตและการกระจายสินค้า เพื่อนำไปสู่การลดการใช้ทรัพยากร และต้นทุนวัสดุที่ใช้
ทั้งนี้ MFCA จะเป็นการวัดการไหลและการจัดเก็บวัตถุดิบ และพลังงานที่ใช้ภายในองค์กรจากหน่วยทางด้านกายภาพ (เช่น น้ำหนัก ขีดความสามารถ ปริมาณ และอื่น ๆ) รวมถึงทำการประเมินในรูปของต้นทุนการผลิต รวมถึง MFCA ยังใช้เป็นเครื่องมือหลักสำหรับการทำ Environmental Management Accounting (EMA) ด้วย

นอกจากนั้น ทาง ISO ยังได้มีการจัดทำมาตรฐานเกี่ยวกับคาร์บอน ฟุตปริ๊นต์ โดยอยู่ในระหว่างการร่างของคณะทำงาน ซึ่งประกอบด้วย
• ISO/WD 14067-1 (Carbon Footprint of Products-Part 1: Quantification) เป็นมาตรฐานคาร์บอนฟุตปริ๊นต์สำหรับผลิตภัณฑ์ ส่วนที่ 1 เกี่ยวกับการวัดปริมาณ
• ISO/WD 14067-2 (Carbon Footprint of Products-Part 2: Communication) มาตรฐานคาร์บอนฟุตปริ๊นต์สำหรับผลิตภัณฑ์ ส่วนที่ 2 เกี่ยวกับการสื่อสาร

ISO/AWI 14069 (GHG-Quantification and Reporting of GHG Emissions for Organizations (Carbon Footprint of Organization)-Guidance for the Application of ISO 14064-1) จะเป็นมาตรฐานสำหรับการวัดปริมาณ และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสำหรับองค์กร โดยจะแนวปฏิบัติสำหรับการประยุกต์ใช้งานมาตรฐาน ISO 14064

ISO/CD 14066 (Greenhouse Gases-Competency Requirements for Greenhouse Gas Validators and Verifiers Document) จะเป็นข้อกำหนดที่ระบุความสามารถที่จำเป็นสำหรับผู้ทำหน้าที่ทวนสอบ และยืนยันความถูกต้องของก๊าซเรือนกระจก
จากที่อธิบายมาทั้งหมด จะเห็นได้ว่ามาตรฐานทางด้านสิ่งแวดล้อมมีอยู่เป็นจำนวนมากทั้งที่ประกาศใช้แล้ว และจะประกาศใช้ในอนาคตอันใกล้ ครอบคลุมในทุก ๆ ส่วนที่องค์กรสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการได้ นอกจากนั้น ยังมีมาตรฐานในกลุ่มอื่น ๆ ที่ไม่ใช่มาตรฐาน ISO ที่มีการพัฒนาขึ้นมาอีกเป็นจำนวนมาก ทั้งในลักษณะของมาตรฐานระดับชาติ มาตรฐานในกลุ่มประเทศ หรือมาตรฐานท้องถิ่นที่มีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้น ซึ่งองค์กรต่าง ๆ สามารถนำมาศึกษา เพื่อพัฒนาเป็นแนวทางในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับองค์กร เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมต่อไป

 

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด