แนวทางการวัดผลการดำเนินงานด้านสุขภาพและความปลอดภัย (ตอนที่ 1)
แนวทางการวัดผลการดำเนินงานด้านสุขภาพและความปลอดภัย (ตอนที่ 1)
(A Guide To Measuring Health & Safety Performance)
ศิริพร วันฟั่น
“การวัดผล (Measurement)” เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของกระบวนการจัดการ (Management Process) และเป็นพื้นฐานสำคัญของการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง (Continual Improvement) ซึ่งถ้าการวัดผลมีการดำเนินการอย่างไม่ถูกต้อง ก็จะกลับกลายเป็นการบั่นทอนประสิทธิภาพของระบบการจัดการนั้น ๆ ไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบการจัดการด้านสุขภาพและความปลอดภัย (Health & Safety Management System) ที่หากว่าได้รับการวัดผลด้วยวิธีการที่ไม่เหมาะสม ก็จะทำให้ผู้บริหารขาดข้อมูลที่เชื่อถือได้ในการพิจารณาว่า การควบคุมความเสี่ยงที่มีต่อสุขภาพและความปลอดภัยนั้น ได้ผลเป็นอย่างไรบ้าง
โดยปกติแล้ว เมื่อกรรมการผู้จัดการหรือผู้บริหารสูงสุดขององค์กรถูกถามว่า “ผลลัพธ์ของการวัดผลการดำเนินงานของบริษัทเป็นอย่างไรบ้าง” ก็อาจจะตอบโดยดูข้อมูลการวัดผลที่ให้ความสำคัญไปที่ เปอร์เซ็นต์ผลกำไร ผลตอบแทนจากการลงทุนหรือส่วนแบ่งตลาด ซึ่งลักษณะทั่วไปของข้อมูลการวัดผลที่ถูกเสนอขึ้นมา ก็จะเป็นไปในทำนองที่แสดงให้เห็นถึงผลลัพธ์ในเชิงบวก หรือที่เรียกว่าผลสะท้อนของความสำเร็จ (Reflecting Achievement) มากกว่าการที่จะแสดงให้เห็นถึงผลลัพธ์ในเชิงลบ หรือที่เรียกว่าผลสะท้อนของความล้มเหลว (Reflecting Failure) และถ้าถูกถามอีกว่า “ผลลัพธ์ของการวัดผลการดำเนินงานด้านสุขภาพและความปลอดภัยของบริษัทเป็นอย่างไรบ้าง” ก็มีแนวโน้มว่าข้อมูลการวัดผลที่ถูกนำเสนอขึ้นมาก็จะเป็นไปในรูปแบบของสถิติการบาดเจ็บเท่านั้น
ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ในขณะที่การวัดผลการดำเนินงานของธุรกิจโดยทั่วไปขององค์กร จะมุ่งความสนใจไปที่การวัดผลในเชิงบวก (Positive Measures) แต่สำหรับการวัดผลการดำเนินงานด้านสุขภาพและความปลอดภัยนั้น กลับพุ่งเป้าไปที่การวัดผลในเชิงลบ (Negative Measures) โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถิติการบาดเจ็บและการเจ็บป่วย หรือที่เรียกว่า “การวัดผลความล้มเหลว (Measures of Failures)”
นอกจากนี้แล้ว การวัดผลการดำเนินงานด้านสุขภาพและความปลอดภัยในแต่ละพื้นที่ก็มีความแตกต่างกัน เพราะว่าผลของความสำเร็จ ก็คือ การไม่ปรากฏผลลัพธ์ (การบาดเจ็บและการเจ็บป่วย) มากกว่าการปรากฏ แต่การที่มีอัตราการบาดเจ็บและการเจ็บป่วยอยู่ในระดับต่ำนั้น ก็ไม่ได้เป็นการรับประกันว่า ความเสี่ยงที่มีอยู่นั้นยังคงอยู่ภายใต้การควบคุมและจะไม่นำไปสู่การบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยในอนาคต โดยเฉพาะสิ่งที่ว่านี้จะกลายเป็นจริงในองค์กรที่พบว่ามีความน่าจะเป็นที่จะเกิดอุบัติเหตุอยู่ในระดับต่ำ แต่ก็ยังคงปรากฏอันตรายหลัก ๆ ให้เห็นอยู่ดี รวมถึงสถิติการบาดเจ็บและการเจ็บป่วยก็เพียงแต่สะท้อนให้เห็นถึงผลลัพธ์ไม่ใช่สาเหตุ ดังนั้นข้อมูลบันทึกประวัติการบาดเจ็บและการเจ็บป่วยที่ผ่านมา ก็อาจจะเป็นตัวชี้วัดถึงประสิทธิภาพด้านสุขภาพและความปลอดภัยที่ลวงตาได้ และเมื่อประสบปัญหาว่ามีข้อด้อยบางประการในการวัดผลโดยพิจารณาจากสถิติการบาดเจ็บและการเจ็บป่วยแต่เพียงอย่างเดียว บางองค์กรเลยหันไปมองที่การวัดผลประเด็นอื่น ๆ ที่ง่ายต่อการนับจำนวนแทน เช่น จำนวนหลักสูตรฝึกอบรม หรือจำนวนครั้งในการตรวจสอบ
สิ่งที่ขาดหายไปในการวัดผลที่มักประสบอยู่บ่อยครั้ง ก็คือ “วิธีการวัดผลอย่างเป็นระบบ (Systematic Approach) และการเชื่อมโยงเข้ากับกระบวนการควบคุมความเสี่ยง” ซึ่งมักจะเกิดปัญหาในลักษณะที่คล้ายคลึงกันในช่วงก่อนที่องค์กรจะมีรูปแบบ (Model) ของระบบสุขภาพและความปลอดภัยที่ชัดเจน โดยเมื่อมีกิจกรรมเกี่ยวกับสุขภาพและความปลอดภัยแต่มีความเข้าใจเพียงเล็กน้อยว่า กิจกรรมเหล่านี้ควรจะอยู่ที่ตำแหน่งใดที่เหมาะสมภายในโครงงาน (Framework) ของการจัดการด้านสุขภาพและความปลอดภัยโดยรวมทั้งหมด นอกจากนี้แล้ว สิ่งสำคัญประการหนึ่ง ก็คือ ไม่เพียงเฉพาะการมั่นใจว่าการวัดผลนั้นมีประสิทธิภาพเท่านั้น แต่ต้องรวมถึงการมั่นใจว่าสามารถใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ในการวัดผลการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยเช่นกัน ทั้งนี้เมื่อระบบการจัดการด้านสุขภาพและความปลอดภัยมีการพัฒนาก็ต้องมีการพัฒนาวิธีการวัดผลให้มีความเป็นระเบียบวินัยมากยิ่งขึ้นตามไปด้วย
การวัดผลการดำเนินงานด้านสุขภาพและความปลอดภัยไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่มีคำตอบที่ได้มาโดยง่าย ดังนั้นองค์กรต่าง ๆ พึงระลึกเสมอว่า ไม่มีวิธีวัดผลการดำเนินงานด้านสุขภาพและความปลอดภัยเพียงลำพังเดี่ยว ๆ ที่จะเชื่อถือได้หรือถูกต้องทั้งหมด ดังนั้นสิ่งที่ต้องการ ก็คือ ควรพิจารณาวิธีการวัดผลหลาย ๆ แบบประกอบกันตามความเหมาะสมกับสภาพขององค์กร เช่นเดียวกับดัชนีชี้วัดผลการดำเนินงานด้านสุขภาพและความปลอดภัย (Health & Safety
Performance Indicators) เพื่อที่จะสามารถให้ข้อมูลวัดผลการดำเนินงานด้านสุขภาพและความปลอดภัยของกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยมีคำถามหลัก ๆ ที่ผู้บริหารระดับอาวุโสสูงสุดขององค์กร ควรจะตั้งคำถามกับตัวเองว่า ข้อมูลอะไรที่จะทำให้มั่นใจว่า การจัดแจงสำหรับการควบคุมความเสี่ยงตลอดทั่วทั้งองค์กรนั้น “ได้ถูกนำมาใช้ มีการปฏิบัติตามกฎหมายเป็นอย่างน้อย และปฏิบัติการได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
วิธีการดั้งเดิม (Traditional Approaches) ที่ใช้ในการวัดผลการดำเนินงานด้านสุขภาพและความปลอดภัยนั้น จะอยู่บนพื้นฐานของการพิจารณาที่ให้น้ำหนักความสำคัญมุ่งตรงไปที่บทบัญญัติตามกฎหมาย (Legislatives) และกฏเกณฑ์ข้อบังคับทางการบริหารจัดการ (Administrative Regulations) เป็นประเด็นหลัก แต่ครั้นเวลาผ่านมา การวัดผลการดำเนินงานด้านสุขภาพและความปลอดภัยก็ได้มีการให้ความสำคัญกับประเด็นอื่น ๆ เพิ่มมากขึ้น เช่น พัฒนาการของมาตรฐานระบบการจัดการ (Management System Standards) สภาวะสุขภาพและความปลอดภัย ณ จุดทำงาน องค์รวมของกระบวนการจัดการ การดำเนินการของระบบที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมในการทำงาน (Working Behaviours) รวมถึงวัฒนธรรมความปลอดภัย (Safety Culture) เป็นต้น
นอกจากนี้ แต่เดิมแล้ววิธีการวัดผลจะเป็นการพิจารณาที่อยู่บนการเก็บรวบรวม “ข้อมูลหลังเหตุการณ์ (After-incident Data)” โดยตัวชี้วัดก็จะเป็นดัชนีความถี่หรือระดับความรุนแรงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หรือที่รวมเรียกว่า “การวัดผลในเชิงปริมาณ (Quantitative Measurements)” แต่ต่อมาก็ได้มีกระบวนการพิจารณาเพิ่มเติมในส่วนของ “ข้อมูลก่อนเกิดเหตุ (Pre-incident Data)” โดยอาศัยข้อมูลจากการตรวจสอบความปลอดภัย (Safety Inspections) การสังเกตพฤติกรรมการทำงานที่ปลอดภัยและไม่ปลอดภัย (Working Safe & Unsafe Behaviours Observation) การสังเกตทัศนคติของผู้ปฏิบัติงานที่มีต่อความปลอดภัย (Employees’ Attitude Towards Safety Observation) การตรวจประเมินความปลอดภัย (Safety Audits) การเฝ้าติดตามพฤติกรรมปลอดภัยหรือไม่ปลอดภัย (Monitoring of Safe & Unsafe Behaviors) หรือการสอบสวนบรรยากาศความปลอดภัย (Investigation of the Safety Climate) เหล่านี้เป็นต้น หรือที่รวมเรียกว่า “การวัดผลในเชิงคุณภาพ (Qualitative Measurements)”
1. ทำไมต้องวัดผลการดำเนินงานด้านสุขภาพและความปลอดภัย
(Why Measure Health & Safety Performance ?)
การวัดผล (Measurement) เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการจัดการในส่วนของ “Plan-Do-Check-Act” และ “การวัดผลการดำเนินงาน (Measuring Performance)” ก็เป็นส่วนสำคัญประการหนึ่งของระบบการจัดการด้านสุขภาพและความปลอดภัยโดยรวมทั้งหมด (The Overall Health & Safety Management System) เช่นเดียวกันกับของระบบการเงิน ระบบการผลิต และระบบอื่น ๆ
รูปที่ 1 การวัดผลการดำเนินงาน (Measuring Performance) เป็นส่วนที่สำคัญประการหนึ่งที่อยู่ภายในระบบการจัดการด้านสุขภาพและความปลอดภัยโดยรวมทั้งหมด (The Overall Health & Safety Management System)
1.1 เป็นการให้ข้อมูล (Providing Information) โดยวัตถุประสงค์แรกเริ่มของการวัดผลการดำเนินงานด้านสุขภาพและความปลอดภัย ก็คือ การให้ข้อมูลสภาวะปัจจุบันและความก้าวหน้าของยุทธศาสตร์ กระบวนการ และกิจกรรมต่าง ๆ ที่องค์กรได้ใช้ดำเนินการเพื่อควบคุมความเสี่ยงต่าง ๆ ที่มีต่อสุขภาพและความปลอดภัย ซึ่งข้อมูลจากการวัดผลนี้ จะเสมือนเป็นการช่วยคงรักษาไว้ซึ่งปฏิบัติการและการพัฒนาระบบการจัดการด้านสุขภาพและความปลอดภัย และรวมถึงการควบคุมความเสี่ยง โดยใช้เป็นข้อมูลในการพิจารณาว่าระบบมีการดำเนินการในทางปฏิบัติเป็นอย่างไรบ้าง มีการบ่งชี้ว่ามีพื้นที่ใดที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขปัญหา และเป็นพื้นฐานสำหรับการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง รวมถึงให้ข้อมูลป้อนกลับ (Feedback) และเป็นเสมือนแรงจูงใจอีกทางหนึ่งด้วย โดยการวัดผลการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพนั้น จะเป็นการให้ข้อมูลให้ทราบได้ทั้งในส่วนของระดับของผลการดำเนินงาน (The Level of Performance) และเหตุผลว่าทำไมถึงอยู่ในระดับนั้น
1.2 เป็นการตอบข้อสงสัย (Answering Questions) โดยการวัดผลการดำเนินงานด้านสุขภาพและความปลอดภัย ควรที่จะเสาะแสวงหาคำตอบสำหรับคำถามต่าง ๆ เหล่านี้ เช่น สภาวะปัจจุบันนี้เราอยู่ที่ตรงไหนเมื่อเทียบกับจุดมุ่งหมายโดยรวมของสุขภาพและความปลอดภัยและรวมถึงวัตถุประสงค์ด้วย สภาวะปัจจุบันนี้เราอยู่ที่ตรงไหนในการควบคุมอันตรายและความเสี่ยง เมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งแล้วเป็นอย่างไรบ้าง ทำไมเราถึงมาอยู่ที่จุดนี้ ตลอดเวลาที่ผ่านมานี้เราดีขึ้นหรือแย่ลง การจัดการด้านสุขภาพและความปลอดภัยของเรามีประสิทธิภาพ มีประสิทธิผล และน่าเชื่อถือหรือไม่ มีการนำระบบการจัดการด้านสุขภาพและความปลอดภัยที่มีประสิทธิภาพมาใช้ทั่วทั้งองค์กรหรือไม่ วัฒนธรรมองค์กรของเราช่วยส่งเสริมสุขภาพและความปลอดภัยได้บ้างหรือไม่ โดยเฉพาะในยามที่ต้องเผชิญกับสภาวะการแข่งขันสูง และการจัดการด้านสุขภาพและความปลอดภัยได้สัดส่วนกับอันตรายและความเสี่ยงหรือไม่ เป็นต้น ซึ่งคำถามต่าง ๆ เหล่านี้ควรที่จะถูกถามไม่เพียงแต่เฉพาะผู้บริหารระดับสูงเท่านั้น แต่รวมไปถึงผู้บริหารในระดับต่าง ๆ ด้วย ตลอดจนบุคลากรทั่วทั้งองค์กร ทั้งนี้จุดมุ่งหมายหลักควรที่จะเป็นการให้ภาพรวมที่สมบูรณ์ของผลการดำเนินงานด้านสุขภาพและความปลอดภัย
1.3 เป็นตัวช่วยสำหรับกระบวนการตัดสินใจ (Decision Making) โดยข้อมูลการวัดผลจะช่วยในการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ เช่น สภาวะที่เป็นอยู่เทียบกับสภาวะที่ต้องการจะเป็น ความก้าวหน้าอะไรที่มีความจำเป็นและมีเหตุมีผล ต้องทำอย่างไรเพื่อให้ความก้าวหน้านี้บรรลุผลในเมื่อยังมีสิ่งที่เหนี่ยวรั้งไว้อยู่ (เช่น ข้อจำกัดด้านทรัพยากร หรือเวลา) หนทางใดที่คิดว่าความก้าวหน้านี้จะประสบผลสำเร็จได้ รวมไปจนถึง ลำดับความสำคัญและประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร เป็นต้น
1.4 เป็นการระบุถึงความจำเป็นสำหรับข้อมูลที่มีความแตกต่างกัน (Addressing Different Information Needs) ข้อมูลจากการวัดผลการดำเนินงานด้านสุขภาพและความปลอดภัยถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับบุคลากรในองค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ที่รับผิดชอบในระบบการจัดการด้านสุขภาพและความปลอดภัย ซึ่งจะรวมถึงผู้อำนวยการ ผู้จัดการอาวุโส ผู้จัดการในสายงาน หัวหน้างาน เจ้าหน้าที่อาชีวอนามัยและความปลอดภัย และตัวแทนลูกจ้าง/ความปลอดภัย โดยแต่ละคนก็จะจำเป็นต้องใช้ข้อมูลที่เหมาะสมกับตำแหน่งและความรับผิดชอบภายในระบบการจัดการด้านสุขภาพและความปลอดภัย ตัวอย่างเช่น ข้อมูลที่จำเป็นสำหรับผู้บริหารสูงสุด (CEO) ขององค์กรข้ามชาติ (Multinational Organization) ที่ต้องการทราบจากระบบการวัดผลการดำเนินงาน ก็จะมีความแตกต่างกันในรายละเอียดและลักษณะ เมื่อเทียบกับข้อมูลที่จำเป็นสำหรับผู้จัดการในพื้นที่งานเฉพาะ และข้อมูลนี้ยังอาจมีความแตกต่างกันในรายละเอียดได้อีกสำหรับผู้จัดการฝ่ายในพื้นที่งานเดียวกันนี้อีกด้วย
ความจำเป็นสำหรับข้อมูลต่าง ๆ ที่ว่านี้ จะถูกรวมเข้าปะติดปะต่อกัน เพื่อที่ว่าการวัดผลในแต่ละกิจกรรมจะสามารถเชื่อมโยงเข้ากันได้กับโครงงานของการวัดผลการดำเนินงานโดยรวมทั้งหมด ซึ่งผลลัพธ์ที่แสดงออกมาจะเป็นสิ่งที่ช่วยสะท้อนผลกระทบที่มีต่อโครงสร้างขององค์กรได้เป็นอย่างดี และถึงแม้ว่าจุดสนใจแรกเริ่มของการวัดผลการดำเนินงานจะเป็นการสนองตอบต่อความจำเป็นของข้อมูลภายใน (Internal Needs) ขององค์กร แต่ก็ยังมีความจำเป็นที่เพิ่มขึ้นของข้อมูลที่จะแสดงต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอก (External Stakeholders) ด้วยเช่นกัน เช่น เจ้าหน้าที่รัฐฯ บริษัทประกัน ผู้ถือหุ้น ผู้จัดหา-จัดส่ง ผู้รับเหมา สาธารณชน เป็นต้น
ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะอธิบายให้รับทราบถึงการจัดแจงสำหรับการควบคุมความเสี่ยงที่มีต่อสุขภาพและความปลอดภัยว่า ได้นำมาใช้ รวมถึงมีการดำเนินการที่ถูกต้องและมีประสิทธิภาพ ในขณะที่อุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงสูงนั้น อาจมีกระบวนการในการได้รับใบอนุญาตในการดำเนินการ (License to Operate) ที่ระบุไว้ว่าต้องรับฟังข้อคิดเห็นและผลกระทบที่มีต่อชุมชนนั้น ๆ เสียก่อน ซึ่งจะเป็นแรงกดดันให้ผู้ประกอบการมีความรับผิดชอบมากยิ่งขึ้น โดยความรับผิดชอบที่ว่านี้อาจอาศัยกระบวนการที่รู้จักกันดีก็คือ ความรับผิดชอบร่วมที่มีต่อสังคม (Corporate Social Responsibility: CSR) ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า ความท้าทายอย่างหนึ่งขององค์กร ก็คือ การสื่อสารถึงผลการดำเนินงานในวิถีทางที่มีความสำคัญและมีสาระไปยังผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเหล่านั้นได้รับทราบและเข้าใจ
2. อะไรบ้างที่ควรวัดผล (What To Measure)
การที่จะบรรลุผลลัพธ์ในเรื่องที่ไม่มีการบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยจากการทำงาน และความพึงพอใจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้นั้น ความเสี่ยงที่มีต่อสุขภาพและความปลอดภัยจำเป็นต้องได้รับการควบคุม โดยการควบคุมความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพนั้นต้องถูกระบุไว้ในระบบการจัดการด้านสุขภาพและความปลอดภัยที่มีประสิทธิภาพ (ดังปรากฏในรูปที่ 2)
รูปที่ 2 การควบคุมความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ (Effective Risk Control) จะอยู่ในระบบการจัดการด้านสุขภาพและความปลอดภัยที่มีประสิทธิภาพ (Effective Health & Safety Management System)
ระบบการจัดการด้านสุขภาพและความปลอดภัยประกอบด้วยระดับของการควบคุม (Levels of Control) ใน 3 ระดับด้วยกัน คือ
• ระดับ 3 (Level 3) – การระมัดระวังป้องกันในสถานที่ปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพ (Effective Workplace Precautions) ได้ถูกจัดสรรและคงรักษาไว้ซึ่งการป้องกันการบาดเจ็บที่จะเกิดขึ้นกับผู้ปฏิบัติงาน ณ จุดที่มีความเสี่ยง
• ระดับ 2 (Level 2) – ระบบควบคุมความเสี่ยง (Risk Control Systems: RCSs) เป็นพื้นฐานที่จะทำให้มั่นใจว่าการระมัดระวังป้องกันในสถานที่ปฏิบัติงานอย่างเพียงพอ ได้ถูกจัดสรรและคงรักษาไว้
• ระดับ 1 (Level 1) – องค์ประกอบที่สำคัญของระบบการจัดการด้านสุขภาพและความปลอดภัย ก็คือ การจัดแจงการจัดการ (Management Arrangements) ซึ่งจะรวมถึง แผนงานและวัตถุประสงค์ที่จำเป็นต่อการจัดระเบียบ วางแผน ควบคุม และติดตามตรวจสอบการออกแบบและการนำไปปฏิบัติของระบบควบคุมความเสี่ยง
นอกเหนือจากนี้แล้ว ก็ยังมีวัฒนธรรมด้านสุขภาพและความปลอดภัยในเชิงบวก (Positive Health & Safety Culture) ที่จะช่วยส่งเสริมในแต่ละระดับของการควบคุมอีกด้วย
เพื่อที่จะตอบคำถามที่ว่า “ผลการดำเนินงานด้านสุขภาพและความปลอดภัยของเราคืออะไร (What is our Health and Safety Performance?)” ได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น การวัดผลการดำเนินงานควรที่จะคลอบคลุมองค์ประกอบทั้งหมด (ดังที่ปรากฏในรูปที่ 2) โดยควรตั้งอยู่บนพื้นฐานของวิธีการที่สมดุล (Balanced Approach) ที่สอดประสานกันไว้ด้วย
• ข้อมูลป้อนเข้า (Input): เป็นการเฝ้าติดตาม (Monitoring) ขนาด ลักษณะ และการกระจายตัวของอันตรายที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กร โดยส่วนนี้จะเรียกว่า “การวัดอันตรายในส่วนที่เป็นกังวลมาก (Measures of the Hazard Burden)”
• กระบวนการ (Process): เป็นการเฝ้าติดตามในเชิงรุก (Active Monitoring) ถึงความเพียงพอ การพัฒนา การนำไปปฏิบัติและขอบข่ายการใช้งานของระบบการจัดการด้านสุขภาพและความปลอดภัย รวมถึงกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะช่วยส่งเสริมวัฒนธรรมด้านสุขภาพและความปลอดภัยในเชิงบวก โดยส่วนนี้จะเรียกว่า “การวัดความสำเร็จ (Measures of Success)”
• ผลลัพธ์ (Outcomes): เป็นการเฝ้าติดตามในเชิงรับ (Reactive Monitoring) ของผลลัพธ์ที่เลวร้ายอันแสดงให้เห็นในรูปแบบของการบาดเจ็บ เจ็บป่วย สูญเสีย และอุบัติเหตุที่มีศักยภาพในการที่จะก่อให้เกิดการบาดเจ็บ เจ็บป่วย หรือสูญเสีย โดยส่วนนี้จะเรียกว่า “การวัดความล้มเหลว (Measures of Failures)”
2.1 การวัดอันตรายในส่วนที่เป็นกังวลมาก (Measuring the Hazard Burden) กิจกรรมต่าง ๆ ที่ถูกดำเนินการโดยองค์กรย่อมมีโอกาสที่ก่อให้เกิดอันตรายขึ้นมา ซึ่งอันตรายเหล่านี้จะมีความแตกต่างกันในลักษณะและนัยสำคัญ ทั้งนี้ความหลากหลาย ลักษณะ การกระจายตัว และนัยสำคัญของอันตรายในส่วนที่เป็น “อันตรายในส่วนที่เป็นกังวลมาก (The Hazard Burden)” จะช่วยในการพิจารณาความเสี่ยงที่จำเป็นต้องได้รับการควบคุม ซึ่งในทางอุดมคติแล้ว อันตรายควรที่จะได้รับการขจัดด้วยกันทั้งหมด ไม่ว่าจะด้วยการแนะนำกระบวนการที่มีความปลอดภัยกว่าที่มีอยู่เดิม หรือโดยการดำเนินการในช่วงระยะเวลาที่ไม่นานนักสำหรับกิจกรรมลักษณะเฉพาะที่มีอันตราย แต่สิ่งเหล่านี้มักจะไม่ค่อยเกิดขึ้นในทางปฏิบัติได้มากนัก
ถ้าอันตรายในส่วนที่เป็นกังวลมากได้ถูกลดลงและถ้าตัวแปรต่าง ๆ คงที่ รวมถึงมีความสม่ำเสมอของการดำเนินการของระบบการจัดการด้านสุขภาพและความปลอดภัยที่มีประสิทธิภาพ ก็จะทำให้เกิดผลในการลดต่ำลงของความเสี่ยงโดยรวม และลดระดับความรุนแรงของผลลัพธ์ในการบาดเจ็บและการเจ็บป่วยจากการทำงาน ตัวอย่างเช่น คลังสินค้าวัตถุอันตรายอาจจะถูกลดจำนวนลงเพื่อที่ความเสี่ยงที่เชื่อมโยงจะลดลงตามไปด้วย และในทางกลับกัน อันตรายในส่วนที่เป็นกังวลมากอาจจะเพิ่มขึ้นเมื่อองค์กรได้นำเอากิจกรรมใหม่เข้ามาหรือเปลี่ยนแปลงสิ่งที่มีอยู่เดิม ตัวอย่างเช่น การเพิ่มขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของท่อส่งสารอันตรายก็อาจยังผลให้มีโอกาสที่สารอันตรายในท่อเกิดการรั่วไหลออกมาในปริมาณที่มากขึ้น เป็นต้น ทั้งนี้การวัดอันตรายในส่วนที่เป็นกังวลมากจะตอบคำถามเหล่านี้ เช่น อะไรคืออันตรายที่เชื่อมโยงกับกิจกรรมของเรา อะไรคือนัยสำคัญของอันตราย (สูง/ต่ำ) ลักษณะและนัยสำคัญของอันตรายมีการแปรเปลี่ยนทั่วทั้งส่วนต่าง ๆ ขององค์กรได้อย่างไร หรือลักษณะและนัยสำคัญของอันตรายมีการแปรเปลี่ยนตลอดเวลาได้อย่างไร เรามีความสำเร็จในการขจัดหรือลดอันตรายหรือไม่ ผลกระทบอะไรที่เปลี่ยนแปลงธุรกิจของเราอันเนื่องมาจากลักษณะและนัยสำคัญของอันตราย เป็นต้น
โดยข้อมูลเหล่านี้ จะเป็นสิ่งสำคัญที่จะป้อนเข้าไปในส่วนของการวางแผนและทบทวนกระบวนการ เพื่อที่จะมั่นใจได้ว่า ความพยายาม การจัดลำดับความสำคัญ และการเน้นย้ำที่ให้กับการควบคุมความเสี่ยง จะมีสัดส่วนที่ทัดเทียมกัน
2.2 การวัดระบบการจัดการด้านสุขภาพและความปลอดภัย (Measuring the Health and Safety Management System) ระบบการจัดการด้านสุขภาพและความปลอดภัยนั้น ถือได้ว่าเป็นกระบวนการที่จะเปลี่ยนทิศทางของอันตรายที่ไม่ถูกควบคุมให้กลับมาเป็นความเสี่ยงที่ถูกควบคุม ทั้งนี้องค์ประกอบทั้งหมดของการวัดผลการดำเนินงาน (Performance Measurement) (ตามรูปที่ 1) มีความจำเป็นที่ต้องนำมาใช้เพื่อที่จะควบคุมความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีองค์ประกอบที่สำคัญ ดังนี้คือ
• นโยบาย (Policy): กระบวนการวัดผลควรที่จะจัดตั้งขึ้นเพื่อตรวจสอบถ้อยแถลงตามลายลักษณ์อักษรที่ระบุอยู่ในนโยบายด้านสุขภาพและความปลอดภัยว่า “ยังคงมีอยู่จริง – เป็นไปตามข้อกำหนดตามกฎหมาย (Legal Requirements) และการปฏิบัติที่ดีเยี่ยม (Best Practice) – ทันต่อสภาวการณ์ปัจจุบัน – มีการนำไปปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ” หรือไม่ ทั้งนี้ข้อมูลที่จะแสดงให้เห็นว่านโยบายนั้นได้มีการนำไปปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ ควรที่จะมีการเก็บข้อมูลตลอดทั่วทั้งกระบวนการของการวัดผลการดำเนินงานด้านสุขภาพและความปลอดภัย และจากกระบวนการตรวจประเมิน
• การจัดระเบียบ (Organizing): กระบวนการวัดผลควรที่จะใช้เป็นเครื่องชี้วัดถึง “การมีอยู่จริง ความเพียงพอ และการนำไปปฏิบัติของการจัดแจง (Arrangements)” เพื่อที่จะจัดตั้งและคงไว้ซึ่งการจัดการในการควบคุมด้านสุขภาพและความปลอดภัยขององค์กร, การส่งเสริมประสิทธิภาพของความร่วมมือและการมีส่วนร่วมของแต่ละบุคคล ตัวแทนด้านความปลอดภัยและกลุ่มที่เกี่ยวข้อง เพื่อที่ว่าประเด็นสุขภาพและความปลอดภัยจะได้เป็นความพยายามร่วมกัน, ความมั่นใจในประสิทธิภาพของการสื่อสารทั่วทั้งองค์กร และการรักษาไว้ซึ่งความสามารถของผู้ปฏิบัติงานขององค์กร
• การวางแผนและการนำไปปฏิบัติ (Planning and Implementation): กระบวนการวัดผลควรที่จะใช้เป็นเครื่องชี้วัดถึง “การมีอยู่จริง ความเพียงพอ และการนำไปปฏิบัติของระบบการวางแผน” ทั้งนี้ ระบบการวางแผน (Planning System) ควรจะสามารถทำสิ่งเหล่านี้ คือ นำส่งแผนงานที่มีวัตถุประสงค์เพื่อคงไว้ซึ่งการพัฒนาและปรับปรุงระบบการจัดการด้านสุขภาพและความปลอดภัย, ออกแบบ พัฒนา ติดตั้งและดำเนินการจัดการอย่างเหมาะสม ระบบการควบคุมความเสี่ยง และการระมัดระวังป้องกันในสถานที่ปฏิบัติงาน ที่มีสัดส่วนเดียวกันกับความจำเป็น อันตราย และความเสี่ยงขององค์กร, การจัดลำดับความสำคัญของกิจกรรมที่มีประสิทธิภาพที่อยู่บนพื้นฐานของการประเมินความเสี่ยง, มั่นใจในความถูกต้องของความสมดุลของทรัพยากรและความพยายามที่ถูกใช้อย่างมีสัดส่วนอันมีเป้าหมายที่สอดคล้องกับอันตรายหรือความเสี่ยงที่สำคัญทั่วทั้งองค์กร (ตัวอย่างเช่น มีการใช้ความพยายามอย่างไม่มีสัดส่วนหรือไม่ ในการป้องกันการลื่นล้ม/สะดุดเมื่อเปรียบเทียบกับการควบคุมอันตรายจากอุบัติเหตุหลัก ๆ หรือการป้องกันเพลิงไหม้), การดำเนินการ การคงรักษาไว้ และการปรับปรุงระบบมีความเหมาะสมกับความจำเป็นของการเปลี่ยนแปลง และกระบวนการของอันตรายหรือความเสี่ยง, และการส่งเสริมวัฒนธรรมด้านสุขภาพและความปลอดภัยในเชิงบวก
ทั้งนี้ ตลอดช่วงเวลาที่ได้รับข้อมูลจากการวัดผลกิจกรรมอันหลากหลายและจากแหล่งอื่น ๆ (เช่น การตรวจประเมินประเด็นที่สำคัญ ๆ) ควรที่จะชี้ให้เห็นได้ว่า ระบบการวางแผนได้นำส่งการจัดการ และระบบการควบคุมความเสี่ยงที่มีความเหมาะสม โดยควรที่จะมีประสิทธิผล (Effective-ทำในสิ่งที่ถูกต้อง ถูกที่ ถูกเวลา) มีประสิทธิภาพ (Efficient-ทำได้ตามที่คาดหวัง) และน่าเชื่อถือ (Reliable-ความคงเส้นคงวาในการใช้งาน)
• การวัดผลการดำเนินงาน (Measuring Performance): โดยตัวของกระบวนการวัดผลเองนั้น ถือได้ว่าเป็นองค์ประกอบที่จำเป็นของระบบการจัดการด้านสุขภาพและความปลอดภัย ดังนั้นวิธีการวัดผลก็มีความจำเป็นที่ต้องได้รับการเฝ้าติดตามด้วยเช่นกัน
• การตรวจประเมินและทบทวน (Audit and Review): ทั้งนี้การตรวจประเมินและทบทวนจากขั้นตอนสุดท้ายของวงรอบการควบคุม (Control Loop) ของการจัดการด้านสุขภาพและความปลอดภัย ควรที่จะยืนยันได้ถึงการมีอยู่จริง มีความเพียงพอ และนำไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งถือว่ามีความจำเป็นต้องถูกรวมเข้าไปอยู่ในกระบวนการวัดผลด้วย
2.3 การวัดความล้มเหลว-การเฝ้าติดตามเชิงรับ (Measuring Failure-reactive Monitoring): เมื่อเราได้จัดการกับการวัดผลกิจกรรมต่าง ๆ ที่ถูกออกแบบมาเพื่อการป้องกันเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยจากการทำงาน ที่เรียกว่า “การเฝ้าติดตามเชิงรุก (Active Monitoring)” แล้ว สำหรับความล้มเหลวในการควบคุมความเสี่ยงก็มีความจำเป็นต้องถูกวัดผลด้วยเช่นกัน ที่เรียกว่า “การเฝ้าติดตามเชิงรับ (Reactive Monitoring)” เพื่อที่จะสร้างโอกาสให้องค์กรในการตรวจสอบผลการดำเนินงาน ได้เรียนรู้จากความล้มเหลวและปรับปรุงระบบการจัดการด้านสุขภาพและความปลอดภัย
ซึ่งการเฝ้าติดตามเชิงรับนี้ จะรวมระบบต่าง ๆ เพื่อชี้บ่งและรายงานถึงการบาดเจ็บและการเจ็บป่วยจากการทำงาน, ความสูญเสียอื่น ๆ (เช่น ความเสียหายของทรัพย์สิน), อุบัติการณ์ รวมถึงเหตุการณ์ที่มีโอกาสที่จะก่อให้เกิดการบาดเจ็บ เจ็บป่วยหรือสูญเสีย, อันตรายและความผิดพลาด รวมไปจนถึงจุดอ่อนหรือการละเลยมาตรฐานในการปฏิบัติงานและระบบต่าง ๆ ซึ่งโดยมากแล้วมักนิยมใช้วิธีสอบสวนเหตุการณ์ต่าง ๆ (Investigations) ที่เกิดขึ้น
ทั้งนี้ ระบบเฝ้าติดตามเชิงรับควรที่จะสามารถตอบคำถามเหล่านี้ได้ เช่น มีการเกิดความล้มเหลวขึ้นหรือไม่ (การบาดเจ็บ/เจ็บป่วย/สูญเสีย/อุบัติการณ์), ความล้มเหลวเหล่านั้นเกิดขึ้นที่ไหน, ลักษณะของความล้มเหลวเป็นอย่างไร, ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร, เหตุผลของความล้มเหลวคืออะไร, ต้องปรับปรุงอะไรบ้างที่จำเป็นสำหรับระบบการจัดการด้านสุขภาพและความปลอดภัย เป็นต้น
2.4 การวัดผลทางวัฒนธรรมด้านสุขภาพและความปลอดภัย (Measuring the Health and Safety Culture): วัฒนธรรมด้านสุขภาพและความปลอดภัยถือได้ว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้มั่นใจได้ว่าการควบคุมอันตรายมีประสิทธิภาพ โดยระบบการจัดการด้านสุขภาพและความปลอดภัยเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมความปลอดภัย ซึ่งก็จะย้อนกลับมาส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพของระบบการจัดการด้านสุขภาพและความปลอดภัยในที่สุด ดังนั้นการวัดผลในแง่มุมของวัฒนธรรมด้านสุขภาพและความปลอดภัย จึงถือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทั้งหมดของการวัดผลดำเนินงานด้านสุขภาพและความปลอดภัย ทั้งนี้มีหลาย ๆ กิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมการพัฒนาวัฒนธรรมความปลอดภัยในเชิงบวกที่ควรจะได้รับการวัดผลด้วย ซึ่งจะรวมอยู่ภายใต้หัวข้อ “การควบคุม (Control)-การสื่อสาร (Communication)-ความร่วมมือ (Co-operation) และความสามารถ (Competence)”
คำว่า “บรรยากาศของสุขภาพและความปลอดภัย (Health and Safety Climate)” ได้ถูกใช้เพื่ออธิบายความชัดเจนของผลที่ออกมา (Outputs) ของวัฒนธรรมด้านสุขภาพและความปลอดภัยขององค์กร ซึ่งสังเกตเห็นและรับรู้โดยตัวบุคคลหรือกลุ่มบุคคล ณ ช่วงเวลาหนึ่ง โดยใช้วิธีการสำรวจ (Survey) เพื่อที่จะได้รับทราบความคิดเห็นของผู้ปฏิบัติงานในแง่มุมที่สำคัญ ๆ เกี่ยวกับสุขภาพและความปลอดภัยภายในองค์กรของตนเอง
สุขภาพและความปลอดภัยที่เชื่อมโยงกับพฤติกรรมของแต่ละบุคคลในทุกระดับขององค์กรนั้น จะได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมด้านสุขภาพและความปลอดภัย และในขณะเดียวกันพฤติกรรมของบุคลากรก็จะย้อนกลับมาส่งผลกระทบต่อลักษณะของวัฒนธรรมองค์กรด้วยเช่นกัน ทั้งนี้พฤติกรรมที่ส่งเสริมและสนับสนุนวัฒนธรรมด้านสุขภาพและความปลอดภัยในแง่บวกและระบบการจัดการด้านสุขภาพและความปลอดภัยที่มีประสิทธิภาพนั้น จำเป็นที่จะถูกรวมเข้าอยู่ภายในกระบวนการวัดผลด้วย
2.5 การวัดความก้าวหน้าด้วยแผนงานและวัตถุประสงค์ (Measuring Progress with Plans and Objectives): หนึ่งในผลที่ออกมา (Outputs) ที่สำคัญของกระบวนการวางแผนก็คือ แผนงานและวัตถุประสงค์ที่จะใช้ในการพัฒนา ดำรงรักษาไว้ และปรับปรุงระบบการจัดการด้านสุขภาพและความปลอดภัย โดยแผนงานต่าง ๆ ที่ใช้ดำเนินการในแต่ละส่วนนั้น จำเป็นต้องอยู่ในแนวทางที่เป็นไปตามจุดมุ่งหมายโดยรวมขององค์กร และเป็นวิธีที่ปะติดปะต่อกันในการควบคุมความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเป้าหมายทั้งหมดที่ตั้งไว้ที่ระดับสูงสุดขององค์กรนั้น จำเป็นต้องเริ่มเห็นผลหลังจากใช้แผนงานและวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงกัน ซึ่งสิ่งที่ว่านี้ควรที่จะคลอบคลุมในทุกระดับทั่วทั้งองค์กร
โดยแผนงานด้านสุขภาพและความปลอดภัยและวัตถุประสงค์ จะต้อง SMART ซึ่งย่อมาจาก S = Specific (เป็นการเฉพาะ), M = Measurable (สามารถวัดผลได้), A = Attainable (สามารถบรรลุผลได้), R = Realistic (มีความเป็นจริง)/Relevant (ตรงประเด็น) และ T = Timebound (มีขอบเขตระยะเวลาดำเนินการ)
ดังนั้น สิ่งแรกที่ควรตรวจสอบในกระบวนการวัดผล คือ แผนงานและวัตถุประสงค์เป็นไปตามหลักการของ SMART หรือไม่ กระบวนการวัดผลด้วยแผนงานและวัตถุประสงค์สามารถถูกทำให้ง่ายขึ้นโดยการระบุว่า “ใครเป็นผู้ดำเนินการ (Who), ทำอะไร (What), ทำเมื่อไหร่ (When) และด้วยผลเช่นไร (With What Result)” และควรมีการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอในช่วงระยะเวลาที่เหมาะสม เพื่อให้เห็นถึงความก้าวหน้าเมื่อเทียบกับมาตรฐานของผลการดำเนินงานที่กำหนดไว้ ซึ่งการตรวจสอบจำเป็นต้องดำเนินการในทุกระดับทั่วทั้งองค์กร จึงจะสามารถสะท้อนให้เห็นถึงผลการดำเนินงานที่แท้จริงได้ โดยถ้าเป็นที่ระดับตัวบุคคล อาจจะวัดผลจากความรับผิดชอบของตนเองที่มีต่อระบบสุขภาพและความปลอดภัย และควรมีการให้รางวัลตอบแทนบุคคลเหล่านี้อย่างเหมาะสม นอกจากนี้แล้ว กระบวนการวัดผลด้วยแผนงานและวัตถุประสงค์ยังจะให้ข้อมูลป้อนเข้า (Input) ที่เป็นประโยชน์ต่อการรายงานผลการดำเนินงานด้านสุขภาพและความปลอดภัยในทุกระดับขององค์กรอีกด้วย
ส่วนสำคัญอีกประการหนึ่งของกระบวนการวัดผล ก็คือ การเฝ้าติดตามปฏิบัติการแก้ไข (Remedial Actions) ของพื้นที่ที่ได้รับการชี้บ่งว่าต้องการการปรับปรุง โดยปฏิบัติการแก้ไขเหล่านี้สามารถที่จะเพิ่มจำนวนขึ้นได้จากการตรวจประเมิน (Audits) เช่นเดียวกับการเฝ้าติดตามเชิงรุกและเชิงรับนั่นเอง
2.6 การวัดผลการดำเนินการจัดการและระบบควบคุมความเสี่ยง (Measuring Management Arrangement and Risk Control Systems): การวัดผลการดำเนินการจัดการและระบบควบคุมความเสี่ยง (ระดับที่ 1 และระดับที่ 2 ตามรูปที่ 2) ควรที่จะคลอบคลุมใน 3 ประเด็น ดังนี้ คือ
• ความสามารถ (Capability): ในหลาย ๆ องค์กรพบว่า ระบบการจัดการด้านสุขภาพและความปลอดภัยจะได้รับการเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปตลอดเวลา มากกว่าการออกแบบอย่างมีหลักการแต่แรกเริ่ม ซึ่งจะผิดแผกแตกต่างกับองค์กรที่มีกระบวนการผลิตที่ผ่านการคิดพิจารณาอย่างระมัดระวังและเป็นระบบ ซึ่งจะช่วยให้มั่นใจได้ว่าจะได้รับการออกแบบมาเพื่อที่จะสามารถส่งมอบผลลัพธ์ (Outcomes) ที่พึงปรารถนาได้
ระเบียบวินัย (Discipline) ก็มีความจำเป็นในการประยุกต์ใช้กับการดำเนินการจัดการและระบบควบคุมความเสี่ยง โดยระบบวัดผลการดำเนินงานต้องรวมถึงการตรวจสอบว่า มีการดำเนินการจัดการในลักษณะเฉพาะหรือไม่ (เช่น ระบบการสวบสวนอุบัติเหตุ) หรือการควบคุมความเสี่ยง (เช่น ระบบควบคุมผู้รับเหมา) มีความสามารถในการส่งมอบผลลัพธ์ที่ต้องการและเหมาะสมสำหรับจุดประสงค์หรือไม่ ซึ่งในทางปฏิบัติแล้ว ข้อมูลเหล่านี้อาจจะเก็บรวบรวมมาจากการตรวจประเมิน หรือทบทวนการดำเนินงานและระบบที่มีการใช้งานอยู่
ถ้าระบบวัดผลการดำเนินงานไม่คลอบคลุมถึงการตรวจสอบในเรื่องที่ว่านี้แล้ว ก็จะเป็นข้อจำกัดในการวัดผลการดำเนินงานของระบบการจัดการด้านสุขภาพและความปลอดภัย และยิ่งถ้ามีข้อจำกัดในการออกแบบแต่ดั้งเดิมก็จะทำให้ไม่มีสิ่งใดมารับประกันได้ว่าผลลัพธ์ที่ต้องการจะบรรลุผลสำเร็จได้ ทั้งนี้มี 2 แง่มุมที่จำเป็นในการพิจารณา คือ (a) มีการนำ “ระบบ (System)” มาใช้งานหรือไม่ และ (b) ระบบเป็นไปใน “เชิงเทคนิคที่เพียงพอ (Technically Adequate)” หรือไม่สำหรับการประยุกต์ใช้งานที่ต้องการ
(a) ในการจัดตั้งระบบเช่นที่ว่านี้ในการใช้งาน หมายถึง เป็นการตรวจสอบว่า “ระบบ (System)” นั้น มีกระบวนการ PCDA (Plan-Do-Check-Act) เพื่อที่ว่า
- ขอบข่ายและวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนจะถูกกำหนดขึ้นมา เช่น อะไรคือสิ่งที่ระบบตั้งใจส่งมอบ
- ความรับผิดชอบที่ชัดเจนได้ถูกกำหนดให้แต่ละตัวบุคคลภายในระบบ และสามารถที่จะทำการตรวจสอบได้ด้วย
- มีการระบุความสามารถของบุคคลที่ดำเนินการระบบ
- บุคคลผู้ถูกคาดหวังที่จะเป็นผู้ดำเนินการระบบ ได้มีโอกาสที่จะให้ข้อมูลกับระบบที่ได้ออกแบบ
- มีขั้นตอนดำเนินการที่ระบุว่า ระบบจะถูกนำมาปฏิบัติได้อย่างไร และมีการกำหนดมาตรฐานผลการดำเนินงานที่คาดหวัง
- มีการระบุวิธีในการเฝ้าติดตามการปฏิบัติงานและประสิทธิภาพของระบบ
- มีกระบวนการทบทวนการออกแบบและปฏิบัติการของระบบ และนำเอาแนวปฏิบัติที่เหมาะสมมาใช้แก้ไขข้อบกพร่องและการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง
- ทรัพยากรที่เหมาะสมได้ถูกจัดสรรเพื่อดำเนินการระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ
(b) ลำพังแค่องค์ประกอบของ PCDA ยังถือว่าไม่เพียงพอ โดยระบบจำเป็นต้องมี “เทคนิคที่เพียงพอ (Technically Adequate)” หรือเหมาะสมกับวัตถุประสงค์ ตัวอย่างเช่น การดำเนินการสอบสวนอุบัติเหตุจะมีคุณค่าที่จำกัด ถ้าระบบสอบสวนไม่ได้บ่งชี้สาเหตุที่แท้จริงของอุบัติเหตุ ในทำนองเดียวกัน ระบบที่มีเป้าหมายที่จะควบคุมความเสี่ยงที่เชื่อมโยงกับการจัดการความเปลี่ยนแปลงของโรงงานสารเคมี จะไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ถ้าการเปลี่ยนแปลงนั้นมีเพียงเฉพาะทางวิศวกรรมหรือวัสดุ แต่ไม่รวมถึงบุคลากร โครงสร้างองค์กร เครื่องมือ หรือวิธีการ เป็นต้น
เกณฑ์มาตรฐาน (Yardsticks) สำหรับการตรวจสอบ “ความเพียงพอทางด้านเทคนิค” มีความเกี่ยวข้องกับข้อกำหนดทางกฎหมาย (Legal Requirements) และการปฏิบัติที่ดีเยี่ยม (Best Practice) รวมถึงการพิจารณาประเด็นปัจจัยส่วนบุคคล (Human Factors) ซึ่งองค์กรต้องศึกษาแนวทางการลดข้อผิดพลาดและพฤติกรรมที่สร้างผลกระทบ (Reducing Error and Influencing Behavior) และข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติที่ดีเยี่ยม ซึ่งก็อาจเรียนรู้ผ่านทางเอกสารตีพิมพ์ที่ระบุถึงแนวทางปฏิบัติที่ดีเยี่ยม หรือผ่านทางการเปรียบเทียบมาตรฐาน (Benchmarking) กับผู้อื่น
ขั้นตอนสำหรับการดำเนินการระบบ ควรที่จะมีความเป็นจริงและสามารถบรรลุผลได้ในสิ่งที่ต้องการซึ่งขึ้นอยู่กับตัวบุคคลที่เป็นคนดำเนินการ ตัวอย่างเช่น บุคคลที่ดำเนินการสามารถที่จะกระทำได้อย่างแท้จริงหรือไม่ ในสิ่งที่องค์กรต้องการให้พวกเขากระทำตามมาตรฐานที่วางไว้ ณ ช่วงระยะเวลาที่ดำเนินการนั้น เป็นต้น ทั้งนี้ขั้นตอนดำเนินการนี้ควรที่จะรวมถึงการเข้ากันได้ (Compatible) กับขั้นตอนดำเนินการอื่น ๆ ในองค์กรที่นำมาใช้จัดการกับแง่มุมอื่น ๆ ของธุรกิจ
• การปฏิบัติตาม (Compliance): ไม่สำคัญว่า การดำเนินการจัดการและระบบควบคุมความเสี่ยงได้ถูกออกแบบได้ดีเพียงใด ผู้ดำเนินการจะไม่สามารถบรรลุผลลัพธ์ที่ปรารถนาได้เลยถ้าไม่มีการดำเนินการหรือปฏิบัติตาม การวัดผลดำเนินการต้องจัดสรรข้อมูลเพื่อพิจารณาถึงระดับของการปฏิบัติตามของการดำเนินการจัดการและระบบการควบคุมความเสี่ยง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งยวดถ้าผู้ปฏิบัติงานเหล่านั้นเข้าใจว่า การดำเนินการจัดการหรือระบบควบคุมความเสี่ยงได้ถูกคาดหวังถึงปฏิบัติการไว้อย่างไร และจะถือว่าเป็นประโยชน์ถ้าสามารถยึดถือและปฏิบัติงานได้ตามที่ออกแบบและแสดงไว้ในแผนภูมิลำดับขั้นตอนปฏิบัติงาน (Flowchart) ซึ่งสามารถที่จะใช้เพื่อตัดสินใจว่า แง่มุมอะไรของกระบวนการที่จำเป็นต้องได้รับการวัดผล เพื่อที่จะได้ตรวจสอบว่ากระบวนการเหล่านี้ได้ถูกนำไปปฏิบัติตามที่ตั้งใจไว้หรือไม่ ทั้งนี้ พื้นฐานสำหรับการเฝ้าติดตามเชิงรุกของการปฏิบัติตาม คือ มาตรฐานการดำเนินงาน (Performance Standards) ที่จำกัดความว่า “ใครเป็นผู้ดำเนินการ (Who), ทำอะไร (What), ทำเมื่อไหร่ (When) และ ด้วยผลเช่นไร (With What Result)”
• ขอบข่ายการใช้งานภายในองค์กร (Deployment): ในองค์กรขนาดใหญ่ ผู้จัดการอาวุโสจะมีความจำเป็นต้องใช้ข้อมูลเพื่อพิจารณาองค์ประกอบต่าง ๆ ของระบบสุขภาพและความปลอดภัยโดยรวมที่นำมาใช้ และการปฏิบัติการอย่างมีประสิทธิภาพทั่วทั้งองค์กร มากกว่าที่จะแยกส่วนพิจารณา ดังนั้นการวัดผลขอบข่ายการใช้งานภายในองค์กรจึงเป็นสิ่งที่ต้องการ ซึ่งควรจะรวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับระดับต่าง ๆ ของการปฏิบัติตามการจัดการในลักษณะเฉพาะหรือระบบควบคุมความเสี่ยงตลอดทั่วทั้งองค์กร
การผูกรวมเข้าด้วยกันของการวัดผลด้านความสามารถ (Capability) การปฏิบัติตาม (Compliance) และขอบข่ายการใช้งานภายในองค์กร (Deployment) ได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น จะให้ข้อมูลในรูปแบบ 3 มิติของการจัดการหรือระบบควบคุมความเสี่ยง (ดังแสดงในรูปที่ 3) โดยจุดมุ่งหมายจะอยู่ที่พื้นที่แรเงาเข้มในส่วนที่แสดงถึง มีความสามารถสูง (High Capability) และมีการปฏิบัติตามสูง (High Compliance) รวมถึงมีขอบข่ายการใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ (Effectively Deployed) ตลอดทั่วทั้งองค์กร
วิธีนี้จะดำเนินการจัดการด้วยวิถีทางที่จะใช้วัดผลการดำเนินงานที่จะสามารถประยุกต์ใช้ในแต่ละระดับที่แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น การมองไปที่การดำเนินการจัดการในลักษณะเฉพาะ (เช่น ความสามารถ) หรือระบบควบคุมความเสี่ยง (เช่น การเข้าสู่ที่อับอากาศ) หรือการมองไปที่การดำเนินการจัดการและระบบควบคุมความเสี่ยงในพื้นที่งานที่มีลักษณะเฉพาะหรือตลอดทั่วทั้งองค์กร
รูปที่ 3 แสดงการวัดผลในเชิง 3 มิติ (Three Dimensions of Measurement)
2.7 การวัดผลการระมัดระวังป้องกันในสถานที่ปฏิบัติงาน (Measuring Workplace Precautions): ผลที่ออกมา (Output) ของการออกแบบระบบควบคุมความเสี่ยง คือ การที่มีความระมัดระวังป้องกันในสถานที่ปฏิบัติงานที่เหมาะสม (ดังแสดงในรูปที่ 2 ในส่วนของระดับที่ 3) ที่นำมาใช้ ณ จุดที่มีความเสี่ยงต่ออันตราย และความเสี่ยงที่เชื่อมโยงกับกิจกรรมของงาน โดยส่วนที่สำคัญที่สุด (Core) ก็คือ กระบวนการประเมินความเสี่ยง (Risk Assessment Process) เพราะว่าเมื่อกระทำอย่างถูกต้อง จะช่วยให้สามารถระบุข้อควรระวังที่จำเป็นต่อการควบคุมความเสี่ยงที่มีลักษณะเฉพาะได้
การวัดผลการปฏิบัติตาม (Compliance Measurement) ควรที่จะให้ข้อมูลเพื่อพิจารณาว่าการระมัดระวังป้องกันในสถานที่ปฏิบัติงานได้มีสิ่งเหล่านี้ หรือไม่ คือ “การนำมาใช้ (In Place) ดำเนินการ (Operating) และมีประสิทธิผล (Effective)” โดยการวัดผลนั้น หมายความถึง การเปรียบเทียบสิ่งที่เป็นอยู่กับมาตรฐานที่ระบุไว้ (Defined Standard) หรือกับเกณฑ์มาตรฐาน (Yardsticks) โดยคำจำกัดความของการระมัดระวังป้องกันในสถานที่ปฏิบัติงาน ก็คือ เป็นไปเพื่อที่จะควบคุมความเสี่ยงที่มีลักษณะเฉพาะนั้น และจะเป็นการสร้างพื้นฐานของการวัดผลการดำเนินงานในการควบคุมความเสี่ยงเหล่านั้นนั่นเอง ทั้งนี้จะทำให้เกิดประโยชน์มากยิ่งขึ้นถ้าการระมัดระวังป้องกันในสถานที่ปฏิบัติงานอยู่ภายใต้ประเด็น “4 P” อันประกอบไปด้วย “ที่ทำการ (Premises) โรงงานและวัสดุ (Plant and Materials) ขั้นตอนดำเนินการ (Procedures) และผู้ดำเนินการ (Peoples)” ดังแสดงในรูปที่ 4
รูปที่ 4 การระมัดระวังป้องกันในสถานที่ปฏิบัติงาน (Workplace Precautions)
ตัวอย่างเช่น สถานที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการขนส่ง (Transportation) สามารถนำการระมัดระวังป้องกันในสถานที่ปฏิบัติงานมาใช้ โดยพิจารณาอยู่บนหลัก “4 P” ดังนี้คือ ที่ทำการ (Premises) ได้แก่ การกำหนดมาตรฐานการขับขี่ให้เป็นแบบระบบวิ่งทางเดียว (One Way Systems)-การขจัดหรือการลดความจำเป็นในการถอยหลัง-ถนนทางวิ่งอยู่ในสภาพที่ดี-มีลูกระนาดลดความเร็ว โรงงาน (Plant) ได้แก่ การเลือกยานพาหนะที่เหมาะสม-ยานพาหนะถูกบำรุงรักษาให้อยู่ในสภาพดี-มีสายรัดนิรภัยอยู่ในสภาพดี-มีอุปกรณ์ช่วยเวลาถอยหลัง ขั้นตอนดำเนินการ (Procedures) ได้แก่ ความเร็วจำกัดที่ตั้งไว้สำหรับยานพาหนะ-โช็คอัพยานพาหนะอยู่ในสภาพที่เหมาะสม-การถอยหลังได้รับการควบคุม-พนักงานขับได้รับอนุญาต-พนักงานขับอยู่ในตำแหน่งที่ปลอดภัยในระหว่างการขนถ่ายสินค้า ผู้ดำเนินการ (Peoples) ได้แก่ พนักงานขับมีความสามารถ-พนักงานขับปฏิบัติตามความเร็วที่จำกัดไว้-คนเดินเท้าใช้เส้นทางเดินที่กำหนดไว้ เหล่านี้เป็นต้น
ทั้งนี้ ในแต่ละประเด็นของการระมัดระวังป้องกันในสถานที่ปฏิบัติงานที่ถูกกำหนดไว้นั้น จะอยู่ภายในขอบข่ายของ “อะไรที่ควรวัดผล (What to Measure)” โดยการเฝ้าติดตามการปฏิบัติตามข้อควรระวังในสถานที่ปฏิบัติงานนี้ ถือว่าเป็นองค์ประกอบหลักในกิจกรรมวัดผลที่ควรทำเป็นกิจวัตรด้วย
เอกสารอ้างอิง
- The Measurement of Health & Safety Conditions at Work, International Research Journal of Finance & Economics; Nikolaos Giovanis, 2010.
- A Guide To Measuring Health & Safety Performance, Health & Safety Executive (HSE); Dec 2001.
- Health & Safety Benchmarking, Health & Safety Executive (HSE); Dec 2001.
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด