บจก. กิตติรัตนพรรณ เพิ่มมูลค่าใบมันสำปะหลัง ผลิตสารแทนนินจากใบมันฯ รายแรกของไทย แก้ปัญหาการระบาดของเพลี้ยแป้ง โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP)
บจก. กิตติรัตนพรรณ เพิ่มมูลค่าใบมันสำปะหลัง
ผลิตสารแทนนินจากใบมันฯ รายแรกของไทย แก้ปัญหาการระบาดของเพลี้ยแป้ง
โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP)
บจก. กิตติรัตนพรรณ เพิ่มมูลค่าของเหลือทิ้งจากภาคเกษตร ผลิต “สารแทนนินจากใบมันสำปะหลัง” นวัตกรรมจากฝีมือคนไทยรายแรก แก้ปัญหาการระบาดของเพลี้ยแป้งด้วยวิธีธรรมชาติ ลดอัตราความเสี่ยงจากการใช้สารเคมี ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ช่วยลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร ระบุ ผลสำเร็จที่ได้เกิดจากการวิจัยและพัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ภายใต้การสนับสนุนของโครงการ iTAP
มันปะหลังเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจหลักของประเทศมีมูลค่าการส่งออกปีละหลายหมื่นล้านบาทมากว่า 40 ปี เป็นพืชที่ปลูกได้ดีในดิร่วนและดินทราย แม้แต่บริเวณที่แห้งแล้งไม่สามารถปลูกพืชอื่นได้ มันสำปะหลังก็สามารถเจริญเติบโตได้ ผลผลิตจากหัวมันสำปะหลังนำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำซึ่งหลายคนอาจไม่รู้ ส่วนใบมันสำปะหลังซึ่งเป็นส่วนที่เหลือจากการผลิตในไร่ นอกจากใช้เป็นอาหารสัตว์แล้ว ล่าสุดมีการนำไปใช้ประโยชน์ด้านอื่นอีก โดยมีเอกชนไทยเห็นความสำคัญถึงประโยชน์นำมาสู่งานวิจัยและพัฒนาวิธีการสกัดสารแทนนินจากใบมันสำปะหลัง เพื่อลดการระบาดของเพลี้ยแป้งในไร่มันสำปะหลัง นอกจากเพิ่มมูลค่าแล้วยังสร้างรายได้เสริมให้กับเกษตรกรอีกด้วย
แทนนิน (Tannin) เป็นสารที่มีโมเลกุลใหญ่และโครงสร้างซับซ้อน มีสถานะเป็นกรดอ่อน รสฝาด มีอยู่ในต้นพืชหลายชนิด ซึ่งสารนี้จะมีอยู่ทั้งในใบ, ลำต้น, เปลือก, ราก และฝัก โดยแทนนินมีด้วยกัน 2 ชนิด คือ คอนเดนส์แทนนิน (Condensed Tannin) และ ไฮโดรไลซ์แทนนิน (Hydrolysable Tannin) ประโยชน์ของแทนนินที่นิยมนำมาใช้กันในอุตสาหกรรมฟอกหนัง เพราะมีคุณสมบัติตกตะกอนโปรตีนทำให้หนังสัตว์ไม่เน่าเปื่อย นอกจากนี้ ยังนำมาใช้ในการยับยั้งการเจริญโตเติบของจุลินทรีย์, ย้อมผ้า, บำบัดน้ำเสีย, กาว, ปุ๋ย, ยารักษาโรค และธุรกิจปลาสวยงาม เป็นต้น แต่แทนนินที่สกัดได้ส่วนใหญ่สกัดมาจากพืชชนิดอื่นที่ไม่ใช่ใบมันสำปะหลัง
บริษัท กิตติรัตนพรรณ จำกัด เป็นบริษัทของคนไทยรายแรกและรายเดียวที่สามารถพัฒนาสารแทนนินที่สกัดจากใบมันสำปะหลังออกจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ได้ ถือเป็นนวัตกรรมฝีมือคนไทยที่ร่วมกับอาจารย์จากภาควิชาพฤษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิจัยและพัฒนาขึ้น ภายใต้การสนับสนุนของ โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
นายสุดชาย กำเนินมณี รองประธานกรรมการ บริษัท กิตติรัตนพรรณ จำกัด ในฐานะผู้ที่ศึกษาวิจัยเรื่องมันสำปะหลังมานานกว่า 14 ปี และเป็นอาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยถึงจุดเริ่มต้นว่า “ตนเองนั้นจบการศึกษาจากคณะเกษตร สาขาปฐพีวิทยา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงมีความสนใจเรื่องมันสำปะหลังมานานแล้ว จนเมื่อมีการจัดทำปัญหาพิเศษของนิสิตจากภาควิชาพฤษศาสตร์ ที่ต้องการศึกษาวิจัยเรื่องปริมาณของสารแทนนินในใบมันสำปะหลังเมื่อปี 2549 จึงให้เข้าใช้พื้นที่แปลงทดลองของตนที่ อ. สีคิ้ว เพื่อทำการศึกษาดังกล่าว จากการคลุกคลีกับเรื่องดังกล่าวมานาน นำมาสู่การทำธุรกิจ โดยเริ่มก่อตั้งบริษัทฯ ขึ้นเมื่อประมาณปี 2548 เน้นจำหน่ายท่อนพันธุ์ และผลิตใบมันสำปะหลังบดคัดพิเศษบรรจุกระสอบจำหน่ายเป็นอาหารสัตว์ให้กับฟาร์มโคนม โคเนื้อ และฟาร์มปลาสวยงาม และจากปัญหาพิเศษฉบับดังกล่าว จึงเกิดแนวคิดใหม่ในการเพิ่มมูลค่าใบมันฯ”
การพัฒนาสารสกัดแทนนินจากใบมันสำปะหลัง โดยทดลองทั้งในห้องปฏิบัติการและในไร่มันสำปะหลัง พบว่า การใช้สารสกัดแทนนินนี้ช่วยให้ต้นมันสำปะหลังสะอาด ไล่เพลี้ยแป้ง แตกยอดใหม่ได้ดี ไม่หงิกงอ ลำต้นยืดยาวได้เป็นปกติและมีการแตกทรงพุ่มได้ดี เนื่องจากแทนนินมีคุณสมบัติ ช่วยยับยั้งการเข้าทำลายของเพลี้ยแป้ง (ป้องกันการระบาดของเพลี้ยแป้ง) นอกจากนนี้ยังช่วยส่งเสริมการดูดซึมธาตุอาหาร ทำให้ต้นมันสำปะหลังเจริญเติบโตสมบูรณ์พ้อมที่จะลงหัวได้อย่างเต็มที่
“ผลการศึกษาปริมาณของแทนนินในใบมันสำปะหลัง จากรายงานปัญหาพิเศษฉบับดังกล่าว เป็นที่มาของการเข้ารับการสนับสนุนจาก โครงการ iTAP เครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) โดยมี รศ.ดร. วัลลภ อารีรบ อาจารย์ประจำภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญ โดยเริ่มโครงการแรกปี 2552 เพื่อศึกษาวิธีการสกัดสารแทนนินจากใบมันสำปะหลังในเชิงพาณิชย์ จนประสบผลสำเร็จเมื่อเดือนสิงหาคม 2553 รวมทั้งสิ้น 4 โครงการ ประกอบด้วยโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากใบมันสำปะหลัง เพื่อศึกษาวิธีการและชนิดของสารที่ใช้ในการสกัดสารแทนนินในระดับห้องปฏิบัติการ
ซึ่งปริมาณที่ได้ยังไม่เพียงพอที่นำไปใช้ประโยชน์ได้ จึงเกิดเป็นโครงการพัฒนาประสิทธิภาพการสกัดแทนนินจากใบมันสำปะหลังตามมา เพื่อพัฒนาเครื่องสกัดต้นแบบขนาด 10 ลิตร จากนั้นยังได้ดำเนินการต่อในโครงการพัฒนาสกัดแทนนินจากใบมันสำปะหลังเพื่อการควบคุมแมลงศัตรูพืช ซึ่งโครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้สารสกัดแทนนินจากใบมันสำปะหลัง สำหรับควบคุมการเข้าทำลายของเพลี้ยแป้งอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังปลอดภัยกับเกษตรกร และยังช่วยปรับปรุงบำรุงดินอีกทางหนึ่ง” นายสุดชายกล่าว
จากผลวิจัยและทดลองนำสารแทนนินที่สกัดได้ไปฉีดพ่นในไร่มันสำปะหลัง พบว่า มีผลในการลดจำนวนการเข้ามากัดกินทำลายต้นมันสำปะหลังของเพลี้ยแป้งได้กว่า 75% หรือจากความรุนแรงระดับ 5 เหลือระดับ 1 ซึ่งสาเหตุที่เพลี้ยแป้งลดลงเพราะคุณสมบัติของสารแทนนินนั้น มีรสฝาด เมื่อแมลงเจาะเข้าไปเพื่อดูดน้ำเลี้ยงในลำต้นของมันสำปะหลังก็จะขม แมลงจะไม่ชอบ ทำให้ไม่อยากดูด เกิดอาการท้องอืดและเบื่ออาหาร เพลี้ยก็จะค่อย ๆ หายไป
เป็นการไล่เพลี้ย ช่วยลดการระบาดของเพลี้ยแป้งที่กำลังเป็นปัญหาอย่างมากของเกษตรกรและโรงงานผลิตแป้งมัน เพราะปัจจุบันยังไม่มีวิธีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้อย่างแท้จริง แม้ที่ผ่านมาหลายหน่วยงานได้มีความพยายามหาวิธีการควบคุมการระบาดของเพลี้ยแป้งแทนการใช้สารเคมีก็ยังไม่สามารถควบคุมได้ แต่ผลงานวิจัยชิ้นนี้ เป็นการยืนยันถึงความปลอดภัยในการใช้สารแทนนินแทนการใช้สารเคมีในการไล่เพลี้ยแป้งได้จริง บริษัทฯ จึงสนใจพัฒนาสารแทนนินบริสุทธิ์เพื่อจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ต่อไป
นายสุดชาย กล่าวว่า “แทนนินในประเทศไทยยังไม่มีใครทำ บริษัทฯ จึงถือเป็นรายแรกที่ผลิตและจำหน่ายสารแทนนินสกัดจากใบมันสำปะหลัง ส่วนที่มีจำหน่ายอยู่ในตลาดขณะนี้เป็นแทนนินที่นำเข้าจากต่างประเทศ โดยแทนนินที่สกัดจากเปลือกไม้โกงกางมีเพียง 2 ประเทศ คือ บราซิลและนิวซีแลนด์ ส่วนผลิตภัณฑ์ Back Water ที่นิยมใช้กันในธุรกิจปลาสวยงามนั้นนำเข้าจากเยอรมนีซึ่งสกัดจากพีสมอส มีราคาแพง ลิตรละ 1,200 บาท ส่วนของไทยราคาเพียง 500 บาท เพราะนอกจากความได้เปรียบเรื่องของต้นทุนการผลิตแล้ว วัตถุดิบที่ใช้ คือ ใบมันสำปะหลัง ยังเป็นการช่วยเพิ่มมูลค่า และสร้างรายได้เพิ่มให้กับเกษตรกรชาวไร่มันสำปะหลัง
โดยใช้เวลาว่างเก็บใบในช่วงเช้าและเย็น นำใบตากแห้งมาขาย ปัจจุบันบริษัทรับซื้ออยู่กิโลกรัมละ 5-10 บาท (การเก็บใบจะเริ่มเก็บได้เมื่อมันสำปะหลังมีอายุตั้งแต่ 5 เดือนขึ้นไป จนถึงฤดูการเก็บเกี่ยว โดยเก็บเพียงต้นละ 5-10 ใบเอาเฉพาะใบที่โตเต็มที่เท่านั้น ซึ่งเกษตรกรจะต้องมีวิธีการเก็บใบและการตากแห้งที่ถูกต้อง เพราะหากเก็บใบออกจนหมดจะทำให้ผลผลิตของหัวมันลดลง) เชื่อว่าผลิตภัณฑ์นี้จะเข้ามาเป็นทางเลือกในการแก้ปัญหาดังกล่าวได้อีกทางหนึ่ง หากได้รับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมการเกษตร สนใจนำสารแทนนินจากใบมันสำปะหลังไปใช้กำจัดเพลี้ยแป้ง จะช่วยลดความเสี่ยงจากการใช้สารเคมีอันตรายให้กับเกษตรกรได้”
นายสุดชาย กำเนินมณี รองประธานกรรมการ บริษัท กิตติรัตนพรรณ จำกัด (ซ้าย)
รศ.ดร. วัลลภ อารีรบ ผู้เชี่ยวชาญ ม.เกษตร (ขวา)
ที่สำคัญสารแทนนินที่สกัดจากใบมันสำปะหลังนี้เป็นการเอาของเหลือจากภาคเกษตรคือ “ใบ” ปกติจะตกหล่นอยู่ในไร่หรือถูกเผาทิ้ง การนำมาสกัดสารแทนนินโดยกากที่เหลือจากการสกัด ยังสามารถพัฒนาต่อยอดเป็นปุ๋ยอินทรีย์เพราะในใบมันฯ จะให้ธาตุอาหารสูงกว่าปุ๋ยอินทรีย์ปกติ จึงเป็นที่มาของโครงการที่ 4 ซึ่งผลการศึกษายังพบว่า การใช้ปุ๋ยอินทรีย์จะช่วยลดต้นทุนของเกษตรกรในเขตภาคอีสานได้ 30% สำหรับดินทราย และ 32% สำหรับดินร่วนปนทราย ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการสร้างโรงงานผลิต คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2554 ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ของบริษัทได้มีการทดลองตลาดและออกวางจำหน่ายบ้างแล้ว ทั้งที่ตลาดนัดสวนจตุจักร และร้านขายผลิตภัณฑ์สัตว์เลี้ยงบางแห่ง หรือสั่งซื้อโดยตรงกับทางบริษัท
“การพัฒนาผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นการพัฒนาซึ่งแสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม ทั้งหมดทุกขั้นตอนของการดำเนินงานผลิตภัณฑ์ที่ได้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปลอดภัยกับเกษตรกรผู้ใช้ ไม่เป็นพิษ ไม่มีผลตกค้างต่อผู้ใช้ ไม่ทำลายระบบนิเวศวิทยาเหมือนสารเคมี และกากที่เหลือยังสามารถนำไปใช้ได้หมดไม่เหลือทิ้งให้สูญเปล่า การนำมาต่อยอดเพิ่มมูลค่ายังสร้างงานและสร้างรายได้เพิ่มให้กับเกษตรกร เพราะเป็นการรับซื้อของที่ไม่มีราคาจากเกษตรกรโดยตรง นำมาพัฒนาสร้างนวัตกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ บริษัทยังได้ศึกษาพัฒนาต่อยอดในอีกหลายด้าน เช่น การบำบัดน้ำเสีย การใช้ดับกลิ่นสัตว์เลี้ยง การช่วยติดสีในผ้าไหมย้อมธรรมชาติ และกาวไม้อัดที่ปราศจากสารก่อมะเร็ง เพราะประโยชน์ของแทนนินนั้นยังมีอยู่มาก” รองประธานกรรมการ บจก. กิตติรัตนพรรณ กล่าว
สารแทนนินที่สกัดได้
สำหรับความเห็นต่อโครงการ iTAP นายสุดชาย กล่าวว่า “เป็นโครงการที่ดี เพราะเป็นจุดเริ่มต้นที่ช่วยลดภาระด้านต้นทุนในการวิจัยให้กับผู้ประกอบการ เพราะงานวิจัยบางอย่างต้องทำอย่างต่อเนื่องกว่าจะเห็นผล เช่น กรณีของบริษัทที่ต้องทำวิจัยอย่างต่อเนื่องถึง 4 โครงการจึงจะได้ผลผลิตออกมา เพื่อพัฒนาออกมาให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ และมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น ซึ่งทางบริษัทฯ จะยังคงพัฒนาต่อไป”
สำหรับผู้สนใจขอรับการสนับสนุนจากโครงการ iTAP ติดต่อได้ที่
โครงการ iTAP โทร. 2-564-7000 ต่อ โครงการ iTAP
หรือที่เครือข่าย iTAP-มทส. โทร. 044-224-921 และ 044-224-818
หรือข้าดูผลงานที่ผ่านมาและสาระความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ที่เว็บไซต์
www.creativeenterprise.in.th
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ โครงการ iTAP โทร. 02-270-1350-4 ต่อ 115,114
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด