ทำไมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีจะต้องมุ่งเป้าไปสู่การเกษตรด้วย มาช่วยกันทำให้อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเกษตรของประเทศไทยเราให้ก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น
เหตุผลของการนำเทคโนโลยีเข้าสู่ภาคการเกษตร
คงพันธ์ รุ่งประทีปถาวร
หลายท่านอาจสงสัยว่า “ทำไมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีจะต้องมุ่งเป้าไปสู่การเกษตรด้วย” เหตุผลมีอยู่ด้วยกันหลายประการครับ ในบทความนี้จะเล่าเรื่องราวเหล่านี้ พร้อมกับขอเชิญชวนเหล่านักอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลาย มาช่วยกันนำความรู้ที่เรามี มาช่วยกันทำให้อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเกษตรของประเทศไทยเราให้ก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น
ความโดดเด่นและศักยภาพที่สำคัญของประเทศไทย
เหตุผลประการแรกที่จะต้องกล่าวถึง คือ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง แม้ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมที่ทำรายได้ให้แก่ประเทศของเราในลำดับต้นๆก็ตาม แต่มูลค่าเพิ่มส่วนใหญ่ที่เกิดจากผลิตภัณฑ์เหล่านี้กลับไม่ได้อยู่ในประเทศไทย สาเหตุสำคัญนั้นเป็นเพราะว่า เรามิได้เป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์เหล่านั้น เราเป็นเพียงผู้ผลิตและประกอบผลิตภัณฑ์เป็นส่วนใหญ่ แนวทางที่เราจะได้เป็นเจ้าของกำไรส่วนใหญ่ที่มาจากผลิตภัณฑ์เหล่านั้นก็คือเราจะต้องเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์เหล่านั้นด้วย
สถานีตรวจวัดอากาศในนาข้าว
ย้อนกลับมาดูสิ่งที่เป็นรากฐานของไทย ประเทศไทยมีอาชีพเกษตรกรรมเป็นพื้นฐานกันมายาวนานมาจนถึงปัจจุบัน เป็นแหล่งผลิตพืชผลทางการเกษตรที่สำคัญของโลก อีกทั้งรัฐบาลก็มีนโยบายในการนำประเทศไทยให้เป็นครัวของโลกในอนาคตอันใกล้ แต่ในขณะเดียวกันเรากลับพบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่
ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ในประเทศกำลังเป็นหนี้ อายุเฉลี่ยของเกษตรกรสูงขึ้นในอัตราที่มากกว่าอายุเฉลี่ยของประชากรไทย มีข้อมูลจากงานสัมมนาแห่งหนึ่งกล่าวไว้ว่า อายุเฉลี่ยของชาวนาไทยปัจจุบันอยู่ที่ 60 ปี ลูกหลานเกษตรกรทิ้งอาชีพดั้งเดิมของบรรพบุรุษม่งสู่อุตสาหกรรมกันมากขึ้น
แต่การที่ลูกหลานเกษตรกรเหล่านี้ละทิ้งอาชีพดั้งเดิมของพ่อแม่บรรพบุรุษก็ไม่ใช่สิ่งผิดแต่อย่างใด เนื่องจากการทำเกษตรนั้น ถือเป็นงานหนัก รายได้น้อย อัตราเสี่ยงสูง ต้องอาศัยความเอาใจใส่และตั้งใจดูแลอย่างมาก ยิ่งไปกว่านั้นสภาพดินฟ้าอากาศก็ยังเปลี่ยนแปลงไปอย่างที่คาดเดาได้ยาก ก่อให้เกิดปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม อากาศร้อนจัด ภัยจากโรคและแมลง ซึ่งปัจจุบันเชื่อกันว่ามาจากภาวะโลกร้อนที่มาจากการอุปโภคบริโภคที่เกินขอบเขตของมนุษย์เรา
สถานีตรวจวัดคุณภาพน้ำสำหรับระบบการเลี้ยงสัตว์น้ำในกระชัง
อย่างไรก็ตามมนุษย์เรายังคงต้องบริโภค (แถมมากขึ้นเรื่อยๆ) ต่อไปในอนาคตแหล่งพลังงานที่โลกเราได้สะสมไว้จากยุคโบราณกำลังจะหมดลง พลังงานที่เก็บเกี่ยวในโลกปัจจุบันโดยเฉพาะพลังงานที่ได้จากการเพาะปลูก เพาะเลี้ยง การทำเกษตรกรรมจึงยิ่งทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้น
ณ จุดนี้เทคโนโลยีสมัยใหม่ทั้งหลายสามารถมีส่วนเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาข้างต้นในภาคเกษตรกรรมได้ เทคโนโลยีด้านอิเล็กทรอนิกส์และสารสนเทศก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยแก้ไขและพัฒนาการทำเกษตรกรรมได้เช่นกัน และนี่ถือว่าเป็นโอกาสของภาคอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของไทยที่จะก้าวไปสู่การมีผลิตภัณฑ์เป็นของตนเอง เนื่องจากมีตลาดภายในประเทศเป็นฐานขนาดใหญ่ รวมทั้งตลาดต่างประเทศที่มีลักษณะสภาพแวดล้อมและดินฟ้าอากาศ ที่ใกล้เคียงกับบ้านเรา
ในอีกมุมหนึ่งเราเองเป็นประเทศที่มีเกษตรเป็นพื้นฐาน และมีองค์ความรู้ในแง่ของการปลูกเลี้ยงผลิตผลทางการเกษตรบางชนิดเป็นอันดับต้นๆ ของโลก หากผลิตภัณฑ์เหล่านี้สามารถประสบความสำเร็จในประเทศได้ ก็ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้สำหรับการก้าวไปสู่การเป็นผลิตภัณฑ์ ในระดับโลก การนำเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาร่วมพัฒนาในภาคเกษตรกรรม
ตัวอย่างของการที่เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และสารสนเทศ จะเข้ามาช่วยในงานด้านการเกษตรนั้นมีอยู่มากมายเกินกว่าความรู้ที่ผู้เขียนเองมี ดังนั้นผู้เขียนขอทิ้งท้ายด้วยคำถามเปิดเหล่านี้ เพื่อเป็นตัวอย่าง และตัวกระตุ้นแนวคิดให้กับผู้ที่สนใจ สำหรับช่าง นักวิจัย และนักพัฒนาในประเทศไทย สำหรับประเด็นการพัฒนาเทคโนโลยีสู่ภาคเกษตรกรรม
- จะดีหรือไม่ ถ้าเราสามารถรู้ล่วงหน้าได้ว่าฝนจะตกอย่างแม่นยำแม้ว่าจะแค่สักวันเดียวก็ตาม
- จะดีหรือไม่ ถ้าเราสามารถควบคุมสภาพบรรยากาศให้เหมาะสมกับการเพาะปลูกในโรงเรือนตลอดเวลา
- จะดีหรือไม่ ถ้าเราสามารถให้น้ำเท่าที่พืชจำเป็นต้องใช้ พร้อมคำนึงถึงปริมาณน้ำทั้งหมดที่เรามีด้วย
- จะดีหรือไม่ ถ้าเรารู้ล่วงหน้าว่าโรคและแมลงจะระบาดเข้ามาในสวนของเราแล้ว
- จะดีหรือไม่ ถ้าเรามีผู้เชี่ยวชาญที่ช่วยให้คำปรึกษากับเราได้อย่างละเอียด แม้ว่าเราจะไปหาเขาไม่ได้ หรือเขามาหาเราไม่ได้ แต่เรามีข้อมูลที่พอเพียงให้กับผู้เชี่ยวชาญ
- จะดีหรือไม่ ถ้ามีอุปกรณ์หรือเครื่องมือสำหรับช่วยในการบอกว่าต้นไม้ต้องการธาตุอาหารอะไรเพิ่มเติม
- จะดีหรือไม่ ถ้าการปลูกพืช หรือ เลี้ยงสัตว์ มีความสะดวกสบายมากขึ้นใช้แรงงานน้อยลง
- จะดีหรือไม่ ถ้าเราสามารถคาดการณ์ปริมาณผลผลิตล่วงหน้าได้
- จะดีหรือไม่ ถ้าเรามีเซ็นเซอร์ที่ช่วยให้รู้ว่าสัตว์ที่เราเลี้ยงไม่ว่าจะเป็นสัตว์บก หรือ สัตว์น้ำอิ่มแล้วหรือยัง
หากท่านผู้อ่านยังคงมีความสงสงัสยและสนใจในตัวคำถามเหล่านี้ ลองเข้ามาค้นพบคำตอบร่วมกันในวงานสัมมนาวิชาการเกษตรอัจฉริยะ 2012 วันที่ 24-25 พฤษภาคม 2555 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ห้องโลตัส ดาวน์โหลดใบสมัครเข้าร่วมงานสัมมนาได้แล้วที่ www.thailandindustry.com/smartfarmtechnology2012
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด