มองโกเลีย ประเทศที่เคยมีอดีตที่รุ่งเรืองถึงขนาดยึดครองแผ่นดินจีนและสถาปนาราชวงศ์ หยวน ไปจนกระทั่งครอบครองดินแดนต่าง ๆ ตั้งแต่เอเชียอาคเนย์ไปจนถึงทวีปยุโรป
รอบโลกเศรษฐกิจ (Around the World Economy)
“มองโกเลีย” หมาป่าผยองแห่งเอเชียบูรพา
สุทธิ สุนทรานุรักษ์
นักวิชาการตรวจเงินแผ่นดิน 6 สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน, Ph.d. (Candidate) of School of Development Economics, National Institute Development Administration (NIDA)
ถ้าว่ากันตามภูมิศาสตร์เศรษฐกิจโลกสมัยใหม่แล้ว ภาคพื้นเอเชียตะวันออก (Eastern Asia) หรือที่เราเรียกกันว่า “เอเชียบูรพา” นับได้ว่าเป็นดินแดนที่มีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจแห่งหนึ่งของโลกเลยก็ว่าได้นะครับ
เอเชียตะวันออกประกอบไปด้วย 6 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ ไต้หวัน และมองโกเลีย รวมอีก 2 ดินแดนที่เป็นส่วนหนึ่งของจีน คือ เกาะฮ่องกงและมาเก๊า
อย่างที่ทราบ ๆ กันดีนะครับว่า จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน คือ กลุ่มผู้นำทางเศรษฐกิจในศตวรรษนี้ เฉพาะ “จีน” ประเทศเดียวก็มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลกแล้ว ขณะที่ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวันได้ก้าวข้ามไปสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างเต็มภาคภูมิ
อย่างไรก็ตามอีกสองประเทศที่เหลือในเอเชียบูรพาทั้ง “เกาหลีเหนือ” และ “มองโกเลีย” นั้นกลับถูกมองข้ามและไม่มีใครสนใจมากนัก
“เกาหลีเหนือ” กลายเป็น “เด็กดื้อ” ในสายตาชาวโลก ด้วยความที่ปิดตัวเองไม่ยอมคบค้าสมาคมกับใครแถมยังสร้างความกังวลใจให้กับคนทั้งโลกด้วยการสะสมอาวุธนิวเคลียร์อีกต่างหาก
แต่สำหรับ “มองโกเลีย” ประเทศที่เคยมีอดีตที่รุ่งเรืองถึงขนาดยึดครองแผ่นดินจีนและสถาปนาราชวงศ์ “หยวน” ไปจนกระทั่งครอบครองดินแดนต่าง ๆ ตั้งแต่เอเชียอาคเนย์ไปจนถึงทวีปยุโรป ความน่าสนใจเหล่านี้แหละครับที่ทำให้เราต้องหันกลับมาดูกันว่ามองโกเลียยุคนี้จะมีศักยภาพมากพอที่จะเทียบเคียงบรรพบุรุษของพวกเขาได้หรือไม่
รู้จักมองโกเลีย: หมาป่าผยองแห่งเอเชียบูรพา
เมื่อเอ่ยถึงชื่อ “มองโกล” (Mongol) ชื่อแรกที่เรานึกถึง คือ “เจงกิส ข่าน” ที่พาไพร่พลกองทัพม้ามองโกลบุกทะยานไปยึดครองดินแดนต่าง ๆ กว่าครึ่งค่อนโลก เช่นเดียวกับผู้นำรุ่นต่อมาอย่าง “กุบไล ข่าน” ที่เข้ากรีธาทัพเข้ายึดครองแผ่นดินจีนได้และสถาปนาราชวงศ์หยวนได้สำเร็จ
เจงกีส ข่าน (ซ้าย) และกุบไล ข่าน
ข่านผู้เป็นสัญลักษณ์ของชาวมองโกลทั้งปวง
แม้ว่าความยิ่งใหญ่ของชาวมองโกลในยุคนั้นจะทำให้มองโกล คือ ชาติมหาอำนาจในศตวรรษที่ 13-14 แต่ดูเหมือนว่านับจากผ่านยุครุ่งเรืองไปแล้วลูกหลานชาวมองโกลกลับไม่โดดเด่นเหมือนเช่นอดีต
หลังจากที่มองโกลหมดยุครุ่งเรืองเฟื่องฟู มองโกลกลายเป็นเพียงเมืองขึ้นของจีนในสมัยราชวงศ์หมิงและชิง ก่อนจะได้รับเอกราชกลายเป็นรัฐสมัยใหม่เมื่อปี 1921 และตั้งชื่อประเทศตัวเองใหม่ว่า “มองโกเลีย”
“มองโกเลีย” ประเทศที่ไม่มีทางออกทะเล
แต่อุดมไปด้วยทรัพยากรแร่ธาตุโดยเฉพาะทองแดงและทองคำ
ประเทศมองโกเลีย (Mongolia) เป็นประเทศที่ไม่มีทางออกทะเล (Land Locked Country) มีพรมแดนทางเหนือติดกับรัสเซีย ส่วนทางใต้ติดกับจีน ด้วยเหตุนี้เองมองโกเลียจึงมักถูกประเทศทั้งสองแทรกแซงคล้ายว่าเป็น “รัฐอารักขา” เนื่องจากความไม่เข้มแข็งของกองทัพมองโกลเองประกอบกับพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นทะเลทราย การรวบรวมกำลังคนเพื่อต่อสู้หรือปกป้องเอกราชตนเองนั้นจึงทำได้ยาก
ในช่วงทศวรรษที่ 20 สถานการณ์ภายในประเทศมองโกเลียดูเหมือนจะระส่ำระสายครับ จนเปิดทางให้กองทัพแดงจากสหภาพโซเวียตเข้ายึดครองและบีบให้มองโกเลียเปลี่ยนระบอบการปกครองมาเป็นคอมมิวนิสต์ภายใต้การปกครองของพรรค Mongolian People’s Revolutionary Party หรือ MPRP ซึ่งเป็นพรรคการเมืองพรรคแรกของมองโกเลีย
สัญลักษณ์พรรค Mongolian People’s Revolutionary Party
พรรคการเมืองแรกของมองโกเลียที่ยึดปรัชญาสังคมนิยม
นับแต่นั้นมามองโกเลียจึงกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการปกครองแบบสังคมนิยมโดยยึดเอาสหภาพโซเวียตเป็นต้นแบบครับ
การพัฒนาเศรษฐกิจจะวางแผนจากรัฐบาลกลางในอูลานบานตอร์ (Ulaanbaatar) ซึ่งเป็นเมืองหลวง
การวางแผนเศรษฐกิจจากส่วนกลางได้รับคำแนะนำและความช่วยเหลือทางการเงินจากสหภาพโซเวียตทำให้มองโกเลียกลายเป็น “สาวก” ของลัทธิคอมมิวนิสต์อย่างเต็มตัว
ทั้งนี้ในช่วงทศวรรษที่ 20-90 มองโกเลียพัฒนาเศรษฐกิจไปอย่างเชื่องช้าครับ รูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจส่วนใหญ่ไม่ต่างกับประเทศในยุโรปตะวันออกที่เป็นคอมมิวนิสต์และเน้นการวางแผนเศรษฐกิจจากส่วนกลาง
ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์มองโกเลียส่วนใหญ่มักได้รับการศึกษาจากสหภาพโซเวียต
น่าสังเกตเหมือนกันครับว่า สาเหตุที่มองโกเลียเลือกที่จะผูกมิตรสนิทสนมกับสหภาพโซเวียตมากกว่าจีนนั้น ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งมาจากภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ที่มองโกเลียเคยตกเป็นเมืองขึ้นของจีนมานาน ดังนั้น เมื่อพวกเขาได้รับเอกราชแล้ว ผู้นำมองโกลจึงเลือกที่จะสนิทกับพี่ใหญ่ที่อยู่ศูนย์อำนาจในมอสโคว์มากกว่าในปักกิ่ง
ยกตัวอย่างเช่น นาย Khorloogiin Choibalsan อดีตผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ของมองโกลซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็น “วีรบุรุษของชาวมองโกลยุคใหม่” ก็มีลักษณะคล้าย “โจเซฟ สตาลิน” อดีตผู้นำสหภาพโซเวียต โดยเฉพาะความเด็ดขาดในการกวาดล้างศัตรูทางการเมืองที่ไม่เห็นด้วยหรือต่อต้านการปกครองแบบคอมมิวนิสต์
สองผู้นำมองโกเลียที่ครองอำนาจติดต่อกันยาวนานมากที่สุดในช่วงที่มองโกเลียยังเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ โดย Choibalsan ได้ถูกยกย่องว่าเป็นวีรบุรุษแห่งมองโกเลียยุคใหม่ ส่วนTsedenbal ครองอำนาจในพรรคคอมมิวนิสต์ของมองโกเลียมาอย่างยาวนานถึง 28 ปี
อย่างไรก็ตามจุดเปลี่ยนของมองโกเลียเกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลาย ในปี 1990 ครับ
ความพ่ายแพ้ของลัทธิคอมมิวนิสต์ทำให้มองโกเลียเลือกระบอบการปกครองเป็นประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาโดยมีประธานาธิบดีเป็นประมุขและมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้บริหารประเทศ
การเปลี่ยนผ่านระบอบการปกครองในครั้งนั้นเรียกกันว่า 1990 Peaceful Democratic Revolution เป็นการปฏิวัติโดยประชาชนชาวมองโกลต่างต้องการ “ประชาธิปไตย” เหมือนที่ประเทศส่วนใหญ่ปกครองกัน
1990 Peaceful Democratic Revolution
การปฏิวัติโดยประชาชนชาวมองโกลในปี 1990 ที่จัตุรัส Sukhbaatar Square
ระบอบประชาธิปไตยของมองโกเลียนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจเหมือนดังประเทศที่เคยมีการปกครองแบบสังคมนิยมทั้งหลายที่ต้องเปลี่ยนผ่านหรือ Transition ปรับตัวไปสู่ความเป็นทุนนิยมเสรี ที่ใช้กลไกราคาในการจัดสรรทรัพยากร
เหตุที่ผู้เขียนต้องเล่าถึงพัฒนาการทางการเมืองของมองโกเลียประกอบไปด้วยนั้นก็เพื่อต้องการชี้ให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองล้วนส่งผลกระทบต่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปด้วยครับ
มองโกเลียจัดเป็นหนึ่งในหลายสิบประเทศที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า Transition Economy ครับ
การเปลี่ยนผ่านจากระบบเศรษฐกิจแบบวางแผนจากส่วนกลางสู่ระบบเศรษฐกิจแบบตลาด (Market Economy) ของมองโกเลียในช่วงแรก ๆ นับว่ามีปัญหารุมเร้ามากมาย เช่น อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงถึงสามหลัก อัตราการว่างงานสูงขึ้น
ภูมิศาสตร์การทำมาหากินของประเทศมองโกเลียนั้นไม่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกมากเท่าใดนักเนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นทุ่งหญ้าและทะเลทราย
แต่อุปสรรคดังกล่าวกลับทำให้มองโกเลียมีความได้เปรียบเรื่องเป็นแหล่งแร่ธาตุโดยเฉพาะการทำอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทองแดงซึ่งเป็นสินค้าออกอันดับต้น ๆ ที่ทำรายได้เข้าประเทศ
ความที่มองโกเลียเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจเล็ก ประชากรมีเพียง 2 ล้านคน ทำให้เศรษฐกิจมองโกเลียได้รับผลกระทบจากวิฤตเศรษฐกิจอยู่เสมอ ๆ นะครับเพราะต้องพึ่งพาตลาดโลก เช่น วิกฤตเศรษฐกิจในเอเชียเมื่อปี 1997 และวิกฤตค่าเงินรูเบิลในรัสเซียปี 1998 ผลกระทบเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่ามองโกเลียนั้นยังต้องใช้เวลาในการสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจของตัวเองอย่างค่อยเป็นค่อยไป
นาย Tsakhiagiin Elbegdorj
นายกรัฐมนตรี 2 สมัยของมองโกเลีย
Elbegdorj เคยเป็นอดีตผู้นำในการปฏิวัติประชาชนเมื่อปี 1990 เขาจบการศึกษาด้านสื่อสารมวลชนในสหภาพโซเวียตและหลังจากที่เขาลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยแรกเขาเลือกที่จะเรียนต่อทางด้านเศรษฐศาสตร์ที่สหรัฐอเมริกา นับได้ว่าเป็นคนหนุ่มที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลมาก
มองโกเลียในวันนี้เดินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเต็มตัวแล้วนะครับ มีการเจรจาเป็นพันธมิตรทางการค้ากับจีน ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าหลักของมองโกเลีย โดยเฉพาะการทำเหมืองทองแดงและทองคำ
นาย Sukhbaataryn Batbold
นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของมองโกเลียจากพรรค MPRP
กล่าวกันว่าวันนี้นักลงทุนจีนไปลงทุนทำเหมืองทองคำในมองโกเลียจนมีคนเปรียบเปรยว่าMongolia ได้กลายเป็น “Minegolia” ไปแล้ว
สภาพการทำเหมืองทองคำในมองโกเลีย
นอกจากนี้มองโกเลียยังมีการจัดตั้งตลาดหุ้นหรือ Mongolia Stock Exchange ซึ่งว่ากันว่าเป็นตลาดหุ้นที่มีมูลค่าตลาดน้อยที่สุดในโลก (Market Capitalization)
นอกจากนี้มองโกเลียยังมีการจัดตั้งตลาดหุ้นหรือ Mongolia Stock Exchange ซึ่งว่ากันว่าเป็นตลาดหุ้นที่มีมูลค่าตลาดน้อยที่สุดในโลก (Market Capitalization)แต่ก็น่าคิดเหมือนกันนะครับว่าประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างมองโกเลียนั้นก็เห็นความสำคัญของการพัฒนาตลาดทุนเช่นกัน
ตลาดหุ้นในอูลานบานตอร์
เมืองหลวงที่เป็นทุกอย่างของชาวมองโกล
ด้วยความที่เป็นพันธมิตรทางการค้ากับจีนและเริ่มฉายแววให้เห็นถึงศักยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจทำให้มองโกเลียได้รับการจัดอันดับจากนักวิเคราะห์เศรษฐกิจที่ใช้ดัชนีที่เรียกว่า 3G index หรือ Global Growth Generator
โดยนักวิเคราะห์มองว่านับแต่ปี 2010 ถึงปี 2050 นั้นจะมี 11 ประเทศที่มีอัตราการจำเริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงจนสามารถไล่กวดกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วได้ทัน
11 ประเทศที่ว่ามานี้มีมาจากแอฟริกา 2 ประเทศ คือ ไนจีเรีย และอียิปต์ ครับ มาจากเอเชีย 9 ประเทศ ได้แก่ บังคลาเทศ จีน อินเดีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม อิรัก ศรีลังกาและมองโกเลีย
จะเห็นได้ว่ามองโกเลียกลายเป็นม้ามืดที่นักวิเคราะห์หลายสำนักเริ่มจับตาดูแล้วจนนักวิเคราะห์ขนานนามมองโกเลียในยุคนี้ว่าเป็น Mongolian Wolf โดยจุดแข็งของมองโกเลียอยู่ที่อุตสาหกรรมเหมืองแร่นั่นเองครับ
ในอนาคตคำว่า Mongolia กับ Minegolia คงไม่ใช่เรื่องที่ห่างไกลกันมากนัก
สุดท้ายการพัฒนาเศรษฐกิจของแต่ละประเทศจำเป็นยิ่งที่ต้องหาจุดแข็งหรือจุดเด่นของตนเองให้เจอ แล้วมุ่งมั่นพัฒนาจุดนั้นให้ดีที่สุดครับ
เอกสารและภาพประกอบการเขียน
1. http://en.wikipedia.org/wiki/Mongolia
2. Second wave of Chinese invasion. The Sydney Morning Herald. August 13, 2007.
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด