เนื้อหาวันที่ : 2012-03-28 10:44:31 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3320 views

นโยบายพัฒนาสู่ผลิตภาพแบบยั่งยืน (ตอนที่ 1)

นับตั้งแต่ยุคสงครามเย็นสิ้นสุดลง โลกได้ก้าวสู่ความเป็นโลกาภิวัฒน์ ที่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้ส่งผลให้เกิดปัญหาต่าง ๆ มากมาย

โกศล ดีศีลธรรม

         นับตั้งแต่ยุคสงครามเย็นสิ้นสุดลง โลกได้ก้าวสู่ความเป็นโลกาภิวัฒน์ (Globalization) ที่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้ส่งผลให้เกิดปัญหาต่าง ๆ มากมาย โดยเฉพาะปัญหาสภาพอากาศของโลกเปลี่ยนแปลง การขาดแคลนพลังงาน น้ำ และทรัพยากรต่าง ๆ ปัญหาโรคระบาด และความไม่เสมอภาคทางสังคม ดังนั้นการรับมือกับปัญหาดังกล่าว ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์การบริหารธุรกิจ การบริหารนวัตกรรมทั้งระดับท้องถิ่นและระดับสากล

         โดยทาง Goldman Sachs ได้ประเมินมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประเทศต่าง ๆ ทุกภูมิภาคพบว่าประเทศจีนมีมูลค่า GDP สูงขึ้นทุกปี และมีแนวโน้มว่าจะมีมูลค่า GDP สูงกว่าประเทศสหรัฐอเมริกานับตั้งแต่ปี พ.ศ.2583 ทำให้ศตวรรษใหม่นี้นวัตกรรมเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาแนวนโยบายของประเทศสหรัฐอเมริกาที่มุ่งการแข่งขันกับคู่แข่งรายใหญ่อย่างจีนและอินเดีย โดยยึดนวัตกรรมและการตอบสนองความต้องการผู้ใช้เป็นตัวขับนำสู่การสร้างมูลค่าทางสังคมและเศรษฐกิจ ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตและสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ ดังนั้นสหรัฐอเมริกาให้ความสำคัญประเด็นหลัก คือ อำนาจเพื่อความมั่นคงโดยมุ่งอำนาจทางทหารและพลังทางเศรษฐกิจ

อำนาจทางวัฒนธรรม อาทิ คุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม สุขภาพ ความปลอดภัย การศึกษา วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เครือข่ายทางองค์ความรู้ และวิทยาศาสตร์การทูต เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2553 ทางองค์กรความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจ (Organization of Economic Cooperation and Development) หรือ OECD ได้ให้แนวทางการปฏิบัติเชิงนโยบายเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางนวัตกรรม ดังนี้

         * ขยายแนวนโยบายเพื่อสนับสนุนนวัตกรรมที่นอกเหนือจากวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยตระหนักว่านวัตกรรมเป็นสิ่งที่ครอบคลุมถึงการลงทุนในสินทรัพย์นามธรรมและการประยุกต์ใช้

         * นโยบายทางการศึกษาและฝึกอบรมที่ตอบสนองความต้องการสังคม เป็นการให้อำนาจแก่ประชาชนในการมีส่วนร่วมและได้รับผลประโยชน์จากนวัตกรรม

         * พัฒนากลยุทธ์เพื่อสนับสนุนการกระจายความรู้และการปฏิบัติ ผ่านเครือข่ายและตลาดที่ดำเนินการอย่างเหมาะสม

         * กำหนดบทบาทหน้าที่ภาครัฐในการวางแผนและสร้างนวัตกรรม

         * กำหนดกลไกการควบคุมและจัดการเทคโนโลยี โดยมุ่งความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อเตรียมรับมือกับปัญหาความเสี่ยงระหว่างประเทศ

         ขณะที่หลายประเทศกำลังจับจ้องจีนซึ่งเป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจโลกที่เศรษฐกิจกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น ทำให้ญี่ปุ่นรู้สึกถึงการเข้าสู่ช่วงขาลงของอำนาจเศรษฐกิจของตน ดังนั้นปัญหาทางเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่ท้าทายต่อรัฐบาลญี่ปุ่นมาก ทางรัฐบาลจึงได้วางยุทธศาสตร์ระดับชาติเพื่อฟื้นฟูให้เศรษฐกิจกลับมาเติบโต เรียกว่า “ยุทธศาสตร์เพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบใหม่ (New Growth Strategy)” โดยมุ่งให้ความสำคัญกับยุทธศาสตร์หลัก คือ นวัตกรรมสีเขียว (Green Innovation) นวัตกรรมเพื่อชีวิต (Life Innovation) เอเชีย การท่องเที่ยวและการพลิกฟื้นท้องถิ่น วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสารสนเทศ การจ้างงานและทรัพยากรบุคคล การเงิน

โดยยุทธศาสตร์ดังกล่าวมีความชัดเจนในทิศทางนโยบายเศรษฐกิจตามแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจของโลก Mr.Tateo Arimoto กล่าวถึงนโยบายทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของญี่ปุ่นซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ.2554 ถึง พ.ศ.2558 ในหัวข้อ “Japan’s New Science and Innovation Policy” เมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2554 โดยแสดงความคิดเห็นว่าศตวรรษที่ 21 แนวทางการพัฒนาของโลกมุ่งสู่การเปลี่ยนระบบสังคมจากที่เน้นการผลิตไปสู่สังคมการพัฒนาองค์ความรู้ สิ่งที่จะช่วยผลักดันให้ถึงเป้าหมาย คือ การพัฒนาทางด้านสินทรัพย์นามธรรม เช่น การวิจัยและพัฒนา ตราสินค้า การออกแบบ และระบบเครือข่าย เป็นต้น

ส่วนนโยบายด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมของญี่ปุ่นภายใต้การบริหารของอดีตนายกรัฐมนตรี นาโอโตะ คัง คณะกรรมการผู้มีอำนาจหน้าที่ในการตัดสินใจการวางแผนนโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สมาชิกคณะรัฐมนตรี 4 ท่าน สมาชิกฝ่ายบริหาร 8 ท่าน อธิบดีและพนักงานทั่วไปอีก 100 ท่าน

โดยกลุ่มผู้รับนำนโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปดำเนินการ คือ สถาบันการศึกษา  สถาบันวิจัยอิสระ หน่วยงานธุรกิจและภาคผลิต นโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศญี่ปุ่น แต่ละฉบับมีระยะเวลาบังคับใช้ 5 ปี นโยบายฉบับที่ 4  เป็นฉบับปัจจุบันจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2554 ถึง พ.ศ.2558 โดยมุ่งนวัตกรรมที่เป็นเสาหลักของการพัฒนาระดับชาติ คือ

         * นวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทน การประหยัดพลังงาน และการลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

         * นวัตกรรมเพื่อชีวิต โดยพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่สังคมผู้สูงอายุด้วยการสนับสนุนทางการแพทย์และเทคโนโลยีที่ช่วยเหลือผู้สูงอายุ รวมถึงผู้พิการ

         สำหรับนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมญี่ปุ่น คือ ผู้ที่มีบทบาทมากทางด้านการพัฒนาเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมชั้นนำของโลกและลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมสูงสุดแห่งหนึ่งของโลก โดยตั้งเป้าหมายในการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 25 เปอร์เซ็นต์จากฐานปี พ.ศ.2533 ภายในปี พ.ศ.2563 ตามที่ประกาศโดยอดีตนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น นายยูกิโอะ ฮาโตยามา โดยหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Japan Science and Technology Agency) ได้วางกลยุทธ์เพิ่มประสิทธิภาพพลังงานให้สูงขึ้น 3 เท่า เพิ่มการใช้พลังงานทดแทน 3 เท่าและจัดตั้งระบบการหมุนเวียนวัสดุ

ตามข้อมูลสถิติปี พ.ศ.2548 พบว่าประเทศญี่ปุ่นปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยที่สุดในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ดังนั้นนโยบายญี่ปุ่นเห็นควรที่จะจัดสรรการใช้เทคโนโลยีประหยัดพลังงานให้แก่ประเทศอื่น การศึกษาความเป็นไปได้ของรูปแบบธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม โดยพัฒนาแนวทางการนำทรัพยากรอย่างเหมาะสมและแนวปฏิบัติเพื่อให้ประชาชนคำนึงถึงการดำรงอยู่ในสังคมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งจัดตั้งระบบชุมชนระดับภูมิภาคที่มุ่งสู่ชุมชนที่ใช้พลังงานทดแทนและการศึกษานโยบายท้องถิ่นในการนำพลังงานกลับมาใช้ใหม่

         โดยเป้าหมายการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมของญี่ปุ่นไม่ได้จำกัดอยู่เพียงเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นเท่านั้น แต่เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นเป็นการสร้างโอกาสทางธุรกิจมหาศาลในตลาดต่างประเทศจากการขายสินค้าและเทคโนโลยี ดังจะเห็นได้จากการที่นโยบายความเป็นผู้นำของโลกด้านสิ่งแวดล้อมกลายเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักของยุทธศาสตร์การเติบโตรูปแบบใหม่ (New Growth Strategy) ของญี่ปุ่นที่ร่างขึ้นเพื่อเป็นแนวทางกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อปลายปี พ.ศ.2552

ด้วยเหตุนี้ญี่ปุ่นจึงมีบทบาทผลักดันให้ประเทศต่าง ๆ เกิดความร่วมมือกันในการลดภาวะโลกร้อน ทั้งนี้ภายในประเทศญี่ปุ่นเองทั้งทางภาครัฐ เอกชน และผู้บริโภคต่างมีบทบาทสำคัญภายใต้มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่รัฐบาลกำหนดขึ้น นโยบายและมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่ใช้อยู่ในญี่ปุ่นจำแนก ดังนี้

         1.  การควบคุมและกำกับดูแล ประกอบด้วย กำหนดมาตรฐานการปล่อยก๊าซ (Emission Standard) ของโรงงานและรถยนต์ การกำหนดมาตรฐานเทคโนโลยี (Technology Standard) ทางรัฐบาลท้องถิ่นโตเกียวได้กำหนดให้ผู้ประกอบการในกรุงโตเกียวที่มีการใช้พลังงานมากกว่า 1,500 กิโลลิตร ต้องวางมาตรการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยกำหนดอัตราการลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ตามประเภทธุรกิจ

รวมทั้งมาตรการทางกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่มุ่งหลักการ 3Rs คือ การลด (Reduce) การใช้ซ้ำ (Reuse) และการรีไซเคิล (Recycle) หรือ 3Rs กฎหมาย 3 ฉบับแรก ประกอบด้วย กฎหมายพื้นฐานเพื่อสร้างสังคมวัสดุหมุนเวียน โดยมุ่งส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ (Law for the Promotion of Effective Utilization of Resources) หรือ LPEUR และกฎหมายรีไซเคิลเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน (Home Appliances Recycling Law) หรือ HARL บนพื้นฐาน 3Rs ประยุกต์ใช้สำหรับการจัดซื้อภาคและการสร้างตลาดสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Market)

ปัจจัยสร้างความสูญเสียให้สิ่งแวดล้อม

         สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีการจัดซื้อโดยภาครัฐ สำหรับกลไกการส่งเสริมการจัดซื้อที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในญี่ปุ่นเริ่มดำเนินการ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2523 ซึ่งมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในปี พ.ศ.2530 ได้จัดตั้งระบบฉลากสิ่งแวดล้อมเพื่อพัฒนาเกณฑ์และให้การรับรองผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของญี่ปุ่น

ช่วงปี พ.ศ.2539 ถึง 2543 รัฐบาลญี่ปุ่นได้เริ่มแผนปฏิบัติการปรับปรุงการบริหารจัดการภาครัฐให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นนโยบายเชิงยุทธศาสตร์ โดยมีการพัฒนาเครือข่ายการจัดซื้อที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Japan Green Purchasing Network) หรือ JGPN ในปี พ.ศ.2543 รัฐบาลญี่ปุ่นได้ออกกฎหมายส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมภาครัฐ เพื่อการจัดซื้อสินค้าที่ลดภาระต่อสิ่งแวดล้อมขององค์กรภาครัฐที่นำไปสู่สังคมรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

กฎหมายฉบับนี้มอบอำนาจให้หน่วยงานรัฐบาลต้องดำเนินการจัดซื้อสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยต้องเผยแพร่นโยบายการจัดซื้อแต่ละปีและรายงานบันทึกการจัดซื้อ สินค้ามากกว่า 150 รายการอยู่ในรายการที่จัดซื้อ รวมทั้งเครื่องใช้สำนักงานและเครื่องไฟฟ้า

นโยบายพื้นฐานจะกำหนดรายการจัดซื้อและกำหนดเกณฑ์สมรรถนะทางสิ่งแวดล้อมเพื่อใช้เป็นข้อมูลออกข้อกำหนดการจัดซื้อ รวมทั้งกำหนดให้องค์กรต้องฝึกอบรมพนักงานองค์กรให้มีความรู้เกี่ยวกับการจัดซื้อสินค้ารักษ์สิ่งแวดล้อมและการใช้ประโยชน์จากข้อมูลสิ่งแวดล้อมทั้งฉลากสิ่งแวดล้อมและฐานข้อมูลสิ่งแวดล้อมในการออกข้อกำหนดและเกณฑ์ตัดสินใจซื้อ โดยทั่วไปประเด็นที่ประกอบการพิจารณา คือ

         * การออกแบบเพื่อยืดอายุการใช้งาน โดยคำนึงถึงการบำรุงรักษาและการเปลี่ยนชิ้นส่วนที่ชำรุด
         * การออกแบบให้ง่ายต่อการใช้ชิ้นส่วนซ้ำและง่ายต่อการถอดชิ้นส่วนเพื่อปรับปรุงหรือตบแต่ง (Refurbishment) และการรีไซเคิล หรือการแยกชิ้นส่วนที่หมดอายุไปทำลายอย่างถูกต้อง
         * บรรจุภัณฑ์ต้องคำนึงถึงความง่ายในการรีไซเคิลและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในช่วงกำจัด

         ดังนั้นกฎหมายนี้สนับสนุนการริเริ่มจัดซื้อด้วยความสมัครใจ เช่น เครือข่ายจัดซื้อสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2539 การออกกฎหมาย HARL ในปี พ.ศ.2544 โดยให้ผู้ผลิต หมายถึง ผู้ผลิตและผู้นำเข้า เครื่องใช้ไฟฟ้า ประกอบด้วย เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า โทรทัศน์ และตู้เย็น/ตู้แช่แข็ง รับผิดชอบในการจัดหาและนำสินค้าที่ใช้แล้วกลับคืน

การดำเนินการจัดซื้อสีเขียวของญี่ปุ่นส่งผลให้ทุกฝ่ายต้องดำเนินการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ ผู้ผลิตต้องเปิดเผยข้อมูลสมรรถนะสิ่งแวดล้อมของสินค้า หน่วยงานกลางที่ออกฉลากสิ่งแวดล้อมมีหน้าที่ประชาสัมพันธ์และส่งเสริมฉลากสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะการวิเคราะห์ประเด็นเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและดำเนินการให้สอดคล้องกับมาตรฐานฉลากสิ่งแวดล้อมระดับสากล

ตามรายงานประเมินผลการดำเนินงานในปี พ.ศ.2552 ของกระทรวงสิ่งแวดล้อมญี่ปุ่น พบว่าการจัดซื้อจัดจ้างหน่วยงานภาครัฐส่วนใหญ่สอดคล้องตามข้อกำหนด ทำให้ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมีส่วนแบ่งในตลาดญี่ปุ่นกว่าร้อยละ 50 รวมทั้งแนวโน้มราคาสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมลดลงต่อเนื่อง

กระบวนการนำกลับมาใช้ซ้ำและรีไซเคิล

         ด้วยการเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลของขยะอิเล็กทรอนิกส์และกากของเสียอุตสาหกรรม ทำให้ประเทศญี่ปุ่นหาวิธีการลดการพึ่งพาทั้งทรัพยากรธรรมชาติและพื้นที่การกำจัดหรือฝังกลบที่มีอยู่กำลังจะหมด ดังนั้นการจัดการของเสียอย่างยั่งยืนเป็นหนึ่งในปัจจัยขับเคลื่อนการดำเนินมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม

ทำให้รัฐบาลกำหนดแผนกลยุทธ์ตั้งแต่ทศวรรษที่ 90 ภายใต้หลักการพื้นฐาน 3Rs (Reduce, Reuse, Recycle) โดยเฉพาะกฎหมายการจัดการของเสีย (Waste Management Law) อย่างมีความรับผิดชอบ ญี่ปุ่นให้ความสำคัญในการรีไซเคิลเพื่อลดการใช้วัตถุดิบและพลังงานให้น้อยที่สุด กฎหมายพื้นฐานมีผลบังคับตั้งแต่เดือนมกราคม ปี พ.ศ.2544 และสร้างหลักการภายใต้การออกกฎหมายสิ่งแวดล้อมอื่น ที่คาดว่าจะนำมาบังคับใช้

โดยกฎหมายการจัดการของเสีย และ LPEUR อยู่ภายใต้กฎหมายพื้นฐานและมีผลบังคับใช้ในทางปฏิบัติ กฎหมายการจัดการของเสียอยู่บนหลักการกำจัด ขณะที่ PEUR ว่าด้วยหลักการ 3Rs มีความเกี่ยวข้องกับกฎหมายเฉพาะสารอันตรายในผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ที่ไม่ถูกครอบคลุมเป็นการเฉพาะภายในกรอบกฎหมายของเสียฉบับนี้

แต่ญี่ปุ่นได้ร่างกฎหมาย RoHS เป็นของตนเองที่มีผลบังคับในปี พ.ศ.2549 อย่างไรก็ตามนับจากปลายทศวรรษที่ 90 มีข้อตกลงเรื่องนี้ด้วยความสมัครใจ แม้ว่า LPEUR และ HARL อยู่บนพื้นฐานความรับผิดชอบของผู้ผลิต (Producer Responsibility) เป็นส่วนสำคัญของความรับผิดชอบของผู้บริโภค (Consumer Responsibility) เนื่องจากผู้บริโภคจ่ายเงินเพื่อแผนการนี้

         2.  มาตรการจูงใจทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการด้านสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย
         * มาตรการสนับสนุนการป้องกันโลกร้อนระดับท้องถิ่น (Local Global Warming Prevention Support Measure) เพื่อสนับสนุนเงินทุนส่วนหนึ่งในการพัฒนาเทคโนโลยีควบคุมปริมาณการปล่อยก๊าซ ทุกอุตสาหกรรมที่ใช้ก๊าซ CFC ในอุปกรณ์ทำความเย็น

         * ระบบการซื้อพลังงานแสงอาทิตย์แบบใหม่ (The New Purchase System for Photovoltaic Electricity) ตามคำสั่งกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม (METI) ของญี่ปุ่น ออกกฎหมายส่งเสริมการใช้พลังงานที่ไม่ใช่พลังงานฟอสซิลและการใช้พลังงานฟอสซิลอย่างเหมาะสมของบริษัทผู้ค้าพลังงาน ระบบนี้ผูกพันให้บริษัทผู้ผลิตและค้าพลังงานไฟฟ้า (Electric Utilities) ซื้อพลังงานนอกเหนือจากที่ผลิตได้จากแหล่งที่ผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ในราคาที่กำหนด

         * มาตรการจูงใจผู้ประกอบการ เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ภายใต้พิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) โดยรัฐบาลญี่ปุ่นให้เงินสนับสนุนผู้ประกอบการในการปรับปรุงอาคารสิ่งก่อสร้าง ด้วยการใช้เทคโนโลยีประหยัดพลังงานและพลังงานทางเลือกอื่นแทนน้ำมันปิโตรเลียม

         * กลไกการพัฒนาความสะอาด (Clean Development Mechanism) โดยรัฐบาลญี่ปุ่นส่งเสริมให้ภาคเอกชนลงทุนโครงการที่ลดการปล่อยก๊าซในประเทศกำลังพัฒนาเพื่อใช้ปริมาณก๊าซที่ลดได้ในการคำนวณให้ได้เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยรัฐบาลญี่ปุ่นสนับสนุนด้านการเงินและการซื้อสิทธิ์ (Emission Rights)

กลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism)

         * มาตรการจูงใจให้ผู้บริโภคเลือกใช้สินค้า โดยเฉพาะการใช้แต้มอนุรักษ์ (Eco-Point) ในการซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ได้มาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานตามที่รัฐบาลกำหนด ประสิทธิภาพด้านพลังงานของสินค้าจะกำหนดด้วยจำนวนดาว สินค้าที่มี 4 ดาวหรือมากกว่าจะได้รับ Eco-Point มีมูลค่าเป็นจำนวนเงินเท่ากับ 5 หรือ 10 เปอร์เซ็นต์ของราคาสินค้า ระบบ Eco-Point ขยายไปครอบคลุมถึงบ้านพักอาศัย ผู้บริโภคจะได้รับคะแนนจากการก่อสร้างบ้านพักหลังใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือปรับปรุงบ้านพักอาศัยที่ช่วยรักษาอุณหภูมิภายในห้อง เช่น การติดตั้งฉนวนกันความร้อนที่พื้นและผนัง เป็นต้น

มาตรการโดยใช้แต้มอนุรักษ์ เป็นส่วนหนึ่งของแผนงาน ชื่อว่า The Low Carbon Evolution อยู่ในส่วนแผนการพัฒนาและส่งเสริมการใช้รถยนต์และอุปกรณ์ประหยัดเชื้อเพลิง โดย Eco-Point ถูกนำมาใช้กับอุปกรณ์ไฟฟ้า ได้แก่ เครื่องปรับอากาศและตู้เย็นรุ่นที่ได้รับมาตรฐานประหยัดพลังงาน ระดับ 4 ดาว ต้องผ่านมาตรฐานประหยัดพลังงาน ระดับ 5 ดาว โทรทัศน์สัญญาณดิจิตอล ต้องผ่านมาตรฐานประหยัดพลังงานระดับ 4 ดาว และรุ่นที่มีมาตรฐานเทียบเท่า ทาง METI ได้ประกาศใช้มาตรการนี้ ตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ.2552 เนื่องจากยังไม่ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับมูลค่าของ Eco-Point เบื้องต้นคาดว่าจะมีมูลค่าแต้มละ 1 เยน

ระหว่างนั้นผู้ซื้อต้องเก็บใบรับประกัน ใบเสร็จรับเงิน และต้นขั้วใบรับรีไซเคิล เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการรับ Eco-Point ต่อไป ต่อมาเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ.2552 หลังจากที่งบกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งที่ 4 ได้รับอนุมัติแล้ว (29 พฤษภาคม พ.ศ.2552) METI ประกาศผลการคัดเลือกสินค้า/บริการที่จะสามารถนำแต้มอนุรักษ์ไปแลกได้ ครั้งที่ 1 มีมูลค่าแต้มละ 1 เยน แบ่งได้เป็น 3 ประเภท ดังนี้

         o คูปองแลกสินค้า/บัตร Pre-paid จำนวน 207 ชนิด เช่น บัตรโดยสารรถไฟ รถประจำทาง เรือเฟอรี่ คูปองแลกเบียร์ ซูชิ ข้าวสาร คูปองร้านซักรีด ร้านดอกไม้ คูปองทัวร์ ตั๋วเครื่องบิน คูปองขนส่งสินค้า เงินอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับใช้ในร้านสะดวกซื้อ Gift Card ของผู้ให้เครดิต เป็นต้น

         o สินค้าที่ผลิตในภูมิภาค จำนวน 55 ราย มีทั้งสินค้าที่ขายทั่วประเทศ เช่น คูปองอาหารของ Gurunabi แต้มแลกสินค้าของ Rakuten และสินค้าที่ขายเฉพาะในท้องถิ่นอย่าง เป็นต้น

         o ธุรกิจเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม จำนวน 9 ราย อย่าง โครงการ Mottainai ของ Itochu Trading Company ทั้งนี้จะมีการรับสมัครจากผู้ประกอบการรายอื่นอย่างต่อเนื่อง เพื่อปรับปรุงรายชื่อสินค้า/บริการดังกล่าวข้างต้น

         * มาตรการยกเว้นภาษีรถยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Eco-Friendly Cars) เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ.2552 จนถึงสิ้นเดือนมีนาคม พ.ศ.2555 ภายใต้มาตรการนี้ ภาษีน้ำหนักรถยนต์และภาษีสรรพสามิตจะลดลง 100%, 75% หรือ 50% ขึ้นอยู่กับระดับความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและประสิทธิภาพประหยัดพลังงานของรถยนต์ใหม่ที่ผู้บริโภคซื้อ ส่วนระดับท้องถิ่นยังมีนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่จูงใจผู้บริโภคและผู้ประกอบการในการซื้อพลังงานทางเลือก เครื่องใช้ไฟฟ้า และรถยนต์ที่ประหยัดพลังงาน

         นอกจากนี้ผลกระทบจากความเสียหายของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิชิ อันเนื่องจากเหตุภัยพิบัติสึนามิ ส่งผลให้ญี่ปุ่นเผชิญปัญหาขาดแคลนไฟฟ้าช่วงฤดูร้อน โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฮามาโอกะทางตอนกลางของประเทศที่ถูกปิดดำเนินการเนื่องจากกังวลเรื่องความปลอดภัยยิ่ง ทำให้วิกฤติพลังงานรุนแรงมากขึ้น วิกฤตดังกล่าวผลักดันให้รัฐบาลญี่ปุ่นทบทวนนโยบายด้านพลังงานใหม่ ทางรัฐบาลญี่ปุ่นได้ขอให้องค์กรทุกภาคส่วนลดการใช้ไฟฟ้าลง 15%

ส่วนบ้านเรือนประชาชนทางรัฐบาลขอความร่วมมือให้ตั้งอุณหภูมิห้องไว้ที่ 28 องศาเซลเซียส ใช้พัดลมแทนเครื่องปรับอากาศและถอดปลั๊กไฟเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ได้ใช้งาน ทางด้าน นายนาโอโตะ คัง นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นขณะนั้น ประกาศว่าญี่ปุ่นจะทำการปรับเปลี่ยนนโยบายพลังงานระยะยาว

ก่อนหน้านี้มีแผนเพิ่มการพึ่งพาพลังงานนิวเคลียร์จาก 30% เป็น 50% โดยรัฐบาลจะหันมาให้ความสำคัญกับพลังงานทดแทน อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ ลม และชีวมวล รวมถึงการประหยัดพลังงานให้มากขึ้น เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ.2554 ได้มีรายงานว่า กรีนพีชเรียกร้องให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติปฏิบัติตามการตัดสินใจของญี่ปุ่นที่ถอนแผนการก่อสร้างโรงฟ้านิวเคลียร์แห่งใหม่ทั้งหมดเพื่อมุ่งสู่การใช้พลังงานหมุนเวียน

การเรียกร้องนี้เกิดหลังจากที่นายนาโอะโตะ คังได้ประกาศยกเลิกแผนการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศทั้งหมด ทางกรีนพีชเห็นด้วยกับการตัดสินใจของรัฐบาลญี่ปุ่นที่ระงับแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งใหม่ เหตุการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้นในเมืองฟูกูชิมาเป็นวิกฤตนิวเคลียร์ร้ายแรงที่สุดในโลกนับตั้งแต่เหตุการณ์เชอร์โนบิล เมื่อปี พ.ศ.2529 แสดงให้เห็นว่าแม้จะมีการใช้เทคโนโลยีที่ก้าวหน้า แต่พลังงานนิวเคลียร์ยังคงเป็นอันตรายแก่มนุษย์

        ประสิทธิผลการดำเนินนโยบายและมาตรการข้างต้นจะต้องอาศัยความร่วมมือทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาครัฐต้องมีบทบาทอย่างมากทั้งในการกำกับดูแล การสร้างแรงจูงใจและจิตสำนึกให้ภาคธุรกิจเพื่อให้ผลิตสินค้าที่คำนึงถึงสภาวะแวดล้อมกลายเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งมีแนวโน้มต่อการกีดกันทางการค้าโลกมากขึ้น ทุกภาคส่วนในประเทศญี่ปุ่นต่างให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทำให้ผู้ประกอบการญี่ปุ่นมุ่งพัฒนาสินค้าให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อตอบสนองต่อมาตรการภาคบังคับของรัฐบาลและผู้บริโภคที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

เหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิด

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด