เนื้อหาวันที่ : 2012-03-27 10:25:29 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 7960 views

9 QC Tools (ตอนที่ 1)

เมื่อพูดถึงเครื่องมือที่นิยมใช้ในการแก้ปัญหาโดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาด้านคุณภาพ เรามักจะนึกถึงเครื่องมือกลุ่มหนึ่งที่เรียกกันว่า เครื่องมือคุณภาพ 7 ชนิด

9 QC Tools (ตอนที่ 1)
เครื่องมือที่ 8 ตารางเปรียบเทียบเพื่อตัดสินใจ

ดร.อัศม์เดช วานิชชินชัย
ผู้อำนวยการหลักสูตร Ph.D. และ MS.สาขา
Logistics and Supply Chain Management ม.ศรีปทุม
ที่ปรึกษาตัวอย่างแห่งปี 2553 กระทรวงอุตสาหกรรม

กำเนิด 7 QC Tools
            เมื่อพูดถึงเครื่องมือที่นิยมใช้ในการแก้ปัญหาโดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาด้านคุณภาพ เรามักจะนึกถึงเครื่องมือกลุ่มหนึ่งที่เรียกกันว่า “เครื่องมือคุณภาพ 7 ชนิด” หรือมักเรียกทับศัพท์ว่า “7 QC Tools (7 Quality Control Tools)” หรือหากแปลจากภาษาอังกฤษแบบตรง ๆ ตัว จะต้องเป็นเครื่องมือควบคุมคุณภาพ 7 ชนิด (แต่ที่จริงแล้วเน้นการแก้ปัญหาคุณภาพมากกว่า) ซึ่งประกอบไปด้วย
            1. ใบตรวจสอบ (Check Sheet)
            2. กราฟ (Graph)
            3. แผนภูมิพาเรโต้ (Pareto Chart) 
            4. ผังก้างปลา (Fishbone Diagram)
            5. ผังการกระจาย (Scatter Diagram)
            6. ฮีสโตแกรม (Histogram)
            7. แผนภูมิควบคุม (Control Chart)

            หรือในบางตำราโดยเฉพาะอย่างยิ่งตำราฝั่งฝรั่งอาจใช้ การจำแนกข้อมูล (Stratification) หรือ ผังการไหล (Flow Chart) เข้ามาแทนที่กราฟ โดยไม่เพิ่มเครื่องมือทั้ง 2 นี้เข้าไปเฉย ๆ เป็นเครื่องมือชนิดที่ 8 หรือ 9 เพื่อยังคงให้มีเครื่องมือรวมกันแค่ 7 ชนิดตามชื่อแบบดั้งเดิมของกลุ่มเครื่องมือคุณภาพนี้ [2]

            7 QC Tools นั้นมีกำเนิดจากประเทศญี่ปุ่นโดยได้รับแรงบันดาลใจจากเบ็งเคย์ (ไซโต มุซะชิโบ เบ็งเคอิ) นักรบนามในอุโฆษประวัติศาสตร์กึ่งตำนานของญี่ปุ่น เดิมนั้นเบ็งเคย์เป็นโจรหรือนักรบในคราบนักบวชร่างยักษ์สูงตั้ง 2 เมตร (6.6 ฟุต) คอยดักประลอง ปล้นและริบอาวุธเหล่าซามูไรที่สะพานโกะโจจนยึดดาบของคู่ต่อสู้ได้ถึง 999 เล่ม แต่กลับต้องพ่ายให้กับโยชิซึเนะ (มินาโมโตะ โนะ โยชิซึเนะ) ซามูไรหนุ่มวัยกระเตาะเพียง 14 ปี จนฝันสลายไม่สามารถสะสมอาวุธได้ครบ 1,000 เล่ม

การปราชัยในครั้งนั้นทำให้เบ็งเคย์ยอมมอบกายถวายชีวิตเป็นขุนศึกเอกที่ซื่อสัตย์ต่อโยชิซึเนะจนตัวตายเพื่อโยชิชึเนะในเวลาต่อมา คล้ายกับเรื่องของพระพุทธเจ้ากับจอมโจรองคุลีมาลที่ฆ่าเพื่อสะสมมาลัยนิ้วโป้งมนุษย์ให้ได้ 1,000 นิ้ว (องคุลี แปลว่า นิ้ว คำว่า มาล ก็คือ มาลัย ไม่ใช่มาร หรือมารร้ายอย่างที่หลายคนเข้าใจ) แต่ท้ายที่สุดสามารถหยุดการทำชั่วได้เช่นพระพุทธองค์ ยอมวางดาบกลับตัวกลับใจสังคมให้อภัยจนท้ายที่สุดได้เป็นพระอรหันต์

            เบ็งเคย์เป็นนักรบที่ยิ่งใหญ่และมีชื่อเสียงในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านความซื่อสัตย์ต่อโยชิชึเนะ คล้ายกับกวนอูที่ซื่อสัตย์ต่อเล่าปี่ จนชาวจีนยกย่องให้เป็นเทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์ วีรกรรมของเบ็งเคย์ถูกบันทึกเป็นภาพยนตร์ การ์ตูน หรือแม้กระทั่งวีดิโอเกมในปัจจุบัน

เบ็งเคย์มีอาวุธประจำกาย 7 ชนิด ซึ่งกลายเป็นที่มาของแรงบันดาลใจให้ อิชิกาวา (Kaoru Ishikawa) แห่งสหพันธ์นักวิทยาศาสตร์และวิศวกรญี่ปุ่น หรือ JUSE (Union of Japanese Scientists and Engineers) คัดเลือกและรวบรวมอาวุธหรือเครื่องมือที่สำคัญในการปรับปรุงคุณภาพ 7 อย่างเข้าด้วยกันแล้วเรียกว่าเครื่องมือคุณภาพ 7 ชนิด หรือ 7 QC Tools ว่ากันว่าอาวุธทั้ง 7 นี้ทรงอานุภาพขนาดสามารถแก้ปัญหาคุณภาพที่พบได้มากกว่า 95 เปอร์เซ็นต์เลยที่เดียว [4], [5], [6]

            ผมเชื่อว่าส่วนหนึ่งที่อิชิกาวาผูกโยง 7 QC Tools เป็นเรื่องราว สร้างเป็น Story เข้าให้กับอาวุธประจำกายทั้ง 7 ของเบ็งเคย์ผู้ยิ่งใหญ่นั้นส่วนหนึ่งก็น่าจะเป็นกุศโลบายทางการตลาดเพื่อสร้างความน่าสนใจ และดึงดูดให้คนเข้ามาทำความรู้สึกและศึกษา 7 QC Tools ให้มากขึ้นตามที่ผมได้กล่าวไว้ในบทความเรื่อง “ความสูญเปล่าที่ไม่ได้มีแค่เจ็ด กับ เลขเด็ดเครื่องมือเพิ่มผลผลิต” [1] และการที่ผมสาธยายถึงที่มาที่ไปของ 7 QC Tools นี้ก็ด้วยเหตุผลเช่นเดียวกัน

7 QC Tools กับ QCC และเครื่องมือดี ๆ ที่โลกลืม
            เครื่องมือคุณภาพทั้ง 7 มักถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือร่วมในการทำและนำเสนอกิจกรรมกลุ่มคุณภาพ (Quality Control Circle: QCC) แบบขายแพ็คคู่ไปด้วยกันเหมือนช้อนกับส้อม ถ้าทำกิจกรรมกลุ่ม QCC ก็ต้องพยายามใช้ 7 QC Tools เป็นหลัก (ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากไม่รู้จักเครื่องมืออื่น และการที่ไม่รู้จักเครื่องมืออื่นหรือคิดถึงเครื่องมืออื่นไม่ออกก็อาจเนื่องมาจากยังยึดติดและสอนกันแต่ 7 QC Tools โดยไม่ได้สอนเครื่องมืออื่นกันสักเท่าไร) หรือถ้าจะใช้ QC Tools มักต้องทำในรูปกิจกรรมกลุ่ม QCC

            แม้ว่า 7 QC Tools จะเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังในการแก้ปัญหาคุณภาพตามที่ได้กล่าวอ้างกันในข้างต้นก็ตาม แต่ก็ยังมีเครื่องมืออื่น ๆ อีกที่ไม่อยู่ในกลุ่มนี้แต่อาจมีความเหมาะสมกว่าในการวิเคราะห์และแก้ปัญหาคุณภาพในบางสถานการณ์ แต่คนจำนวนมากนักยึดติดกับกรอบความคิดที่ถูกปลูกฝังกันมา หรือกับเลขเด็ดเครื่องมือเพิ่มผลผลิต เช่น คนที่ผ่านการอบรมเรื่องความสูญเปล่า 7 ประการ (หรือมักเรียกทับศัพท์ว่า 7 Wastes) แบบผิวเผินก็อาจคิดว่าความสูญเปล่ามีเพียงแค่ 7 ประการ [1]

คนที่ผ่านการอบรมเรื่องการแก้ปัญหาคนภาพแบบผิว ๆ ก็มักจะวนเวียนใช้เพียง 7 QC Tools ในการแก้ปัญหาคุณภาพ โดยไม่ค่อยได้พยายามหาเครื่องมืออื่นเข้ามาช่วยในการวิเคราะห์ ตัดสินใจและแก้ปัญหา ตามที่ผมได้กล่าวใน [1]

            จากประสบการณ์การเป็นที่ปรึกษา วิทยากร และกรรมการประเมินผลกิจกรรมกลุ่ม QCC ที่ผ่าน ๆ มา ผมสังเกตเห็นว่ามีเครื่องมืออยู่ 2-3 ตัวที่นิยมนำมาประยุกต์ใช้ในการทำกิจกรรมกลุ่ม QCC แต่กลับถูกโลกลืมไม่ได้รับการกล่าวถึงหรือให้ความสำคัญกันอย่างเป็นทางการมากนักทำให้เครื่องมือเหล่านี้ยังไม่เป็นที่รู้จักกันเท่าที่ควร ทั้ง ๆ เครื่องมือเหล่านี้เป็นเครื่องมือที่ทรงพลัง มีความสำคัญ และมีโอกาสที่จะใช้ได้บ่อยในวาระต่าง ๆ ไม่น้อยกว่าหรือผมคิดว่าอาจมากกว่าเครื่องมือในกลุ่ม 7 QC Tools หลายตัวด้วยซ้ำ

แต่การที่เครื่องมือที่โลกลืมเหล่านี้ไม่ได้ถูกรวมอยู่ในกลุ่ม 7 QC Tools จึงทำให้พวกมันไม่ได้ถูกกล่าวถึง ไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร รวมถึงไม่ได้ถูกประชาสัมพันธ์เผยแพร่ให้มีการประยุกต์ใช้กันอย่างกว้างขวางมากขึ้น ดังนั้นในบทความชุดนี้ผมจึงขอตีฆ้องร้องป่าวดันดาราให้เครื่องมือเหล่านี้ได้แจ้งเกิดเพิ่มอีกสัก 2 ชนิด เพื่อเป็นอีกทางเลือกให้นักเพิ่มผลิตภาพได้หยิบสอยมาใช้ในการปรับปรุงงานของตน

            เนื่องจากเครื่องมือเหล่านี้ถูกโลกลืมดังที่ได้กล่าวมาในข้างต้น ทำให้ยังไม่มีชื่อเรียกเครื่องมือเหล่านี้แบบที่เข้าใจตรงกันอย่างเป็นทางการ ผมจึงขอเรียกเครื่องมือเหล่านี้เป็นชื่อทั่วไปตามลักษณะการใช้งาน ดังนี้   
            1. ตารางเปรียบเทียบเพื่อตัดสินใจ (Decision Table)
            2. ตารางวางแผนและควบคุม (Planning and Control Table)
    
ตารางเปรียบเทียบเพื่อตัดสินใจ (Decision Table)
            การเลือกหัวข้อที่เหมาะสมที่สุดขึ้นมาทำการปรับปรุงเป็นขั้นตอนเริ่มต้นที่สำคัญยิ่งของกิจกรรม QCC โดยใน 7 QC Tools มีผังพาเรโต้เป็นเครื่องมือหลักในการคัดเลือกปัญหาจากการจัดลำดับความรุนแรงของปัญหาอยู่แล้ว แต่ผังพาเรโต้ก็ยังมีข้อจำกัดบางประการที่ทำให้ไม่สามารถประยุกต์ใช้ได้ในบางสถานการณ์ เช่น

            1. ผังพาเรโต้จัดลำดับปัญหาตามความสำคัญหรือความรุนแรงเป็นหลัก แต่ปัญหาที่เหมาะสมในการปรับปรุงกิจกรรม QCC นั้นไม่จำเป็นจะต้องเป็นปัญหาที่รุนแรงเพียงอย่างเดียวเสมอไป แต่หากต้องพิจารณาถึงเกณฑ์หรือองค์ประกอบอื่น ๆ ด้วย เช่น ความยากง่ายหรือโอกาสในการทำโครงการให้สำเร็จได้ภายในระยะเวลาหรือทรัพยากรที่จำกัด ความน่าสนใจหรือสิ่งที่จะเรียนรู้ได้จากการปรับปรุงในโครงการนั้น ๆ นโยบายของบริษัทหรือความต้องการของลูกค้าในการปรับปรุง ฯลฯ

            2. ในการเปรียบเทียบปัญหาด้วยผังพาเรโต้นั้น แต่ละปัญหาต้องเป็นปัญหาในกลุ่มเดียวกัน หรือมีลักษณะเดียวกัน หรือมีหน่วยวัดเดียวกัน เช่น เปรียบเทียบปัญหาคุณภาพเป็นเปอร์เซ็นต์ของเสียจากแต่ละลักษณะของเสียว่าของเสียแบบไหนมีความรุนแรงมากที่สุด หรือเปรียบเทียบปัญหาเครื่องจักรเสียจากแต่ละลักษณะการเสียว่าแบบใดมีความถี่มากที่สุด แต่ไม่สามารถเปรียบเทียบปัญหาที่มีลักษณะต่างกันหรือเป็นคนละเรื่องได้ เช่น เปรียบเทียบระหว่างปัญหาคุณภาพกับเครื่องจักรเสียว่าปัญหาไหนรุนแรงกว่ากัน

            3. ผังพาเรโต้มีจุดเด่นคือการใช้ข้อมูลเชิงปริมาณในการตัดสินใจ แต่จุดเด่นนี้ก็กลายเป็นจุดด้อยที่ไม่สามารถพิจารณาองค์ประกอบหรือข้อมูลเชิงคุณภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ ข้อมูลเชิงคุณภาพในที่นี้ หมายถึง ข้อมูลจากประสบการณ์ ความรู้สึก ที่ไม่สามารถวัดเป็นตัวเลขเช่นปกติได้ เช่น ความรู้สึกไม่พึงพอใจของลูกค้าว่ามากน้อยแค่ไหน (ในทางปฏิบัติอาจสามารถประเมินเป็นตัวเลขได้ แต่การประเมินก็ยังคงมาจากฐานของความรู้สึกอยู่ดี และอาจต้องเสียเวลาในการเก็บข้อมูลหรือประเมินมาก)

            แต่ตารางเปรียบเทียบเพื่อตัดสินใจสามารถแก้ข้อจำกัดต่าง ๆ ของผังพาเรโต้ตามที่กล่าวมาในข้างต้นได้ นอกจากนี้ยังสามารถประยุกต์ใช้ในการตัดสินใจในบริบทอื่น ๆ นอกเหนือจากใช้เลือกหัวข้อปัญหาคุณภาพเพื่อการปรับปรุงได้อีกด้วย (ซึ่งผมจะกล่าวถึงในตอนต่อไป)

การสร้างตารางเปรียบเทียบเพื่อตัดสินใจ
            แนวคิดพื้นฐานของตารางเปรียบเทียบเพื่อตัดสินใจก็คือการคิดคะแนนรวมของหัวข้อต่าง ๆ ที่ต้องการตัดสินใจตามเกณฑ์ที่เราเลือกมาใช้พิจารณาโดยต้องถ่วงน้ำหนักตามความสำคัญของเกณฑ์นั้น ๆ ด้วย (คล้ายกับการคิดเกรดในการเรียนที่โรงเรียนที่ให้ความสำคัญของแต่ละวิชาไม่เท่ากัน วิชาที่สำคัญมากก็ให้หน่วยกิตมาก สำคัญน้อยก็หน่วยกิตน้อย) จากตัวอย่างในตารางที่ 1

            1. เขียนเกณฑ์ที่น่าจะใช้ในการตัดสินใจในแต่ละแถว (หากเทียบกับการคิดเกรดก็คล้ายกับวิชาต่าง ๆ ในการเรียน)
            จากตัวอย่างใช้ความรุนแรงของปัญหา (ยิ่งปัญหาก่อให้เกิดความเสียหายมากคะแนนยิ่งสูง) กับโอกาสในการแก้ปัญหาให้สำเร็จได้ (ยิ่งเป็นปัญหาที่แก้ได้ง่ายและมีโอกาสสำเร็จสูงคะแนนยิ่งสูง)

            2. กำหนดน้ำหนักในแต่ละเกณฑ์ (คล้ายกับจำนวนหน่วยกิตในการเรียนหนังสือ วิชาที่สำคัญมากหน่วยกิตก็มาก สำคัญน้อยหน่วยกิตก็น้อย)
            หากเกณฑ์ไหนเราให้ความสำคัญมากก็ให้น้ำหนักมาก เกณฑ์ไหนให้ความสำคัญน้อยก็ให้คะแนนน้อย โดยน้ำหนักอาจจะให้เต็มเท่าไรก็ได้ โดยทั่วไปก็จะให้เต็ม 4, 5 หรือ 10 เพราะเป็นสเกลที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคย และใช้กันบ่อย (แต่หากให้น้ำหนักทุกเกณฑ์เท่ากันก็ไม่ต้องมีช่องนี้ก็ได้) จากตัวอย่างให้น้ำหนักเต็มเท่ากับ 5 โดยให้น้ำหนักเกณฑ์ความรุนแรงท่ากับ 4 และเกณฑ์โอกาสความสำเร็จมากกว่าเท่ากับ 5 เนื่องจากโครงการมีระยะเวลาสั้นจึงต้องการเลือกเรื่องที่มีโอกาสสำเร็จได้ในเวลาอันสั้นมากกว่า

            3. กำหนดคะแนนเต็มในแต่ละเกณฑ์ (คล้ายกับเกรดที่ไล่จาก 0 ถึง 4) 
            คะแนนเต็มจะเป็นเท่าไรก็ได้ โดยทั่วไปจะให้เต็ม 4, 5 หรือ 10 เนื่องจากเป็นสเกลที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคยและใช้กันบ่อยเช่นกัน จากตัวอย่างให้คะแนนเต็มในแต่ละเกณฑ์เท่ากับ 10

            4. เขียนหัวข้อปัญหาที่ต้องการตัดสินใจในแต่ละคอลัมน์ (คล้ายกับชื่อนักเรียนแต่ละคน)
            จากตัวอย่างมี 5 ปัญหา ได้แก่ 1) ลดของเสียจากปัญหาจุดดำ 2) ลดของเสียจากปัญหารอยขีดข่วน 3) ลดอัตราเครื่องจักรเสีย 4) ลดเวลาการปรับตั้งเครื่องจักร และ 5) เพิ่มประสิทธิภาพการประกอบ

            5. ให้คะแนนแต่ละหัวข้อปัญหาตามแต่ละเกณฑ์ (คล้ายกับการให้เกรดนักเรียนแต่ละคน)
            จากตัวอย่างหัวข้อลดของเสียจากปัญหาจุดดำมีความรุนแรงระดับ 9 คะแนน และมีโอกาสสำเร็จระดับ 8 คะแนน

            6. รวมคะแนนที่ได้จากแต่ละปัญหาในแต่ละแถว (คล้ายกับการนำเกรดที่ได้ในแต่ละวิชามาคูณหน่วยกิตและรวมเข้าด้วยกัน แต่ไม่ต้องหารจำนวนหน่วยกิตรวม)
            โดยคูณคะแนนที่ได้ในแต่ละเกณฑ์กับน้ำหนักของแต่ละเกณฑ์ของแต่ละหัวข้อปัญหา แล้วเอาค่าทั้งหมดมาบวกกัน จากตัวอย่างคะแนนรวมของหัวข้อลดของเสียจากปัญหาจุดดำ (4 x 9) + (5 x 8) = 76

            7. หัวข้อปัญหาที่ได้คะแนนสูงสุดเป็นปัญหาสำคัญที่สุดที่ควรได้รับการปรับปรุงเป็นอันดับแรกเมื่อพิจารณาจากเกณฑ์ต่าง ๆ ตามน้ำหนักความสำคัญแล้ว (คล้ายกับนักเรียนที่ได้คะแนนสูงสุดในชั้น)
            จากตัวอย่างคือหัวข้อปัญหา ลดเวลาการปรับตั้งเครื่องจักร ซึ่งได้คะแนน รวม 82 คะแนน

ตารางที่ 1 ตัวอย่างตารางเปรียบเทียบเพื่อตัดสินใจ
 

จุดเด่นและด้อยของตารางเปรียบเทียบเพื่อตัดสินใจ
            จากตัวอย่างข้างต้นจะเห็นได้ว่าหากเราใช้ผังพาเรโต้จัดลำดับความสำคัญของหัวข้อปัญหา เราอาจเปรียบเทียบระหว่างหัวข้อลดของเสียจากปัญหาจุดดำ กับลดของเสียจากปัญหารอยขีดข่วนเฉพาะในประเด็นของความรุนแรงของปัญหาได้ เพราะทั้ง 2 หัวข้อเป็นปัญหาในกลุ่มเดียวกันคือปัญหาคุณภาพและมีหน่วยนับเหมือนกันคือจำนวนชิ้นงานเสียหรือเปอร์เซ็นต์ของเสีย

ซึ่งเมื่อดูจากคะแนนความรุนแรงแล้วปัญหาของเสียจากรอยขีดข่วนจะมีความรุนแรงมากกว่า แต่ผังพาเรโต้ก็ไม่ได้พิจารณาถึงโอกาสสำเร็จในการแก้ปัญหานี้ประกอบด้วย นอกจากนั้นผังพาเรโต้ก็ไม่สามารถเปรียบเทียบและจัดลำดับความสำคัญของหัวข้อปัญหาทั้ง 5 เรื่องได้ เนื่องจากแต่ละหัวข้อปัญหาเป็นคนละเรื่องกันมีหน่วยนับที่ไม่เหมือนกัน

            ในขณะที่ตารางเปรียบเทียบเพื่อตัดสินใจสามารถพิจารณาเกณฑ์ต่าง ๆ ได้มากกว่า และพิจารณาหัวข้อที่แตกต่างกันได้มากกว่า ดังนั้นเราจึงสามารถใช้ตารางนี้เป็นเครื่องมือช่วยเปรียบเทียบและตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ได้อีกมาก เช่น เลือกงานใหม่ เลือกสถาบันการศึกษาที่จะเรียน เลือกยี่ห้อหรือรุ่นรถที่จะซื้อ เลือกซื้อบ้าน เลือกสถานที่ที่จะไปเที่ยว เลือกนางงามหรือผู้ชนะในการประกวดต่าง ๆ ประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงาน ฯลฯ ซึ่งผมจะกล่าวถึงการประยุกต์ใช้ตารางเปรียบเทียบเพื่อตัดสินใจในบริบทต่าง ๆ ในตอนต่อไป

อย่างไรก็ตามตารางเปรียบเทียบเพื่อตัดสินใจนี้ก็ยังมีข้อจำกัดในด้านการใช้ความรู้สึกของผู้ประเมินเป็นหลัก (หรือใช้ข้อมูลเชิงคุณภาพ ซึ่งต่างจากผังพาเรโต้ที่ใช้ตัวเลขข้อมูลเชิงปริมาณจริง) ซึ่งแน่นอนว่าอาจทำให้เกิดอคติในการประเมินได้ แต่การใช้เกณฑ์และคำนวณแบบค่อนข้างมีหลักการด้วยตารางนี้ก็ยังดีกว่าใช้ความรู้สึกล้วน ๆ ในการตัดสินใจโดยปราศจากความพยายามในการหาเกณฑ์ทั้งหมดมาถ่วงน้ำหนักแล้วค่อยประเมิน

            โปรดติดตามตอนต่อไป การประยุกต์ตารางเปรียบเทียบเพื่อตัดสินใจในบริบทอื่น และ “เครื่องมือคุณภาพ 9 ชนิด (ตอนที่ 2): ตารางวางแผนและควบคุม”

เอกสารอ้างอิง
            [1] อัศม์เดช วานิชชินชัย (2554). ความสูญเปล่าที่ไม่ได้มีแค่เจ็ดกับ เลขเด็ดเครื่องมือเพิ่มผลผลิต. QM For Quality Management. 18 (165). 31-35

            [2] http://en.wikipedia.org/wiki/Seven_Basic_Tools_of_Quality

            [3] http://www.scribd.com/doc/22193487/Seven-Basic-Tools

            [4] http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A1%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B9%82%E0%B8%A1%E0%B9%82%E0%B8%95%E0%B8%B0_%E0%B9%82%E0%B8%99%E0%B8%B0_%E0%B9%82%E0%B8%A2%E0%B8%8A%E0%B8%B4%E0%B8%8B%E0%B8%B6%E0%B9%80%E0%B8%99%E0%B8%B0

            [5] http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A1%E0%B8%B8%E0%B8%8B%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%B4%E0%B9%82%E0%B8%9A%E0%B8%B0_%E0%B9%80%E0%B8%9A%E0%B9%87%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%A2%E0%B9%8C

            [6] http://www.mytrainingprovider.com/courses/7qct.html

 

 

 

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด