ในปัจจุบัน การดำเนินงานขององค์กรโดยส่วนใหญ่ ล้วนแล้วแต่มีความเกี่ยวข้องกับชุมชนที่องค์กรตั้งอยู่ ซึ่งความเกี่ยวข้องนี้ ควรจะอยู่ในรูปแบบของการมีส่วนร่วมกับชุมชน
กิตติพงศ์ จิรวัสวงศ์
7. การมีส่วนร่วมของชุมชนและการพัฒนาชุมชน
ในปัจจุบัน การดำเนินงานขององค์กรโดยส่วนใหญ่ ล้วนแล้วแต่มีความเกี่ยวข้องกับชุมชนที่องค์กรตั้งอยู่ ซึ่งความเกี่ยวข้องนี้ ควรจะอยู่ในรูปแบบของการมีส่วนร่วมกับชุมชน ที่จะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาชุมชนให้ดีขึ้น ทั้งนี้ การมีส่วนร่วมกับชุมชนทั้งในระดับปัจเจกบุคคล หรือระดับสมาคมต่าง ๆ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของชุมชนเป็นที่ตั้ง จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับภาคประชาสังคมได้ด้วย
คำว่า ชุมชน ตามหัวข้อนี้ จะหมายถึงแหล่งที่อยู่อาศัย หรือสถานที่ตั้งของชุมชนในพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ต่าง ๆ รวมทั้งในบริเวณใกล้เคียงของสถานที่ตั้งขององค์กร หรืออยู่ในบริเวณที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินกิจกรรมขององค์กร นอกจากนั้น ยังรวมไปถึงกลุ่มของประชาชนที่มีความสนใจเฉพาะที่เหมือน ๆ กัน เช่น ชุมชนที่มีข้อกังวลในประเด็นใด ๆ เป็นการเฉพาะ
ทั้งการมีส่วนร่วมกับชุมชน และการพัฒนาชุมชน ต่างมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์กร โดยการมีส่วนร่วมกับชุมชน จะเป็นการระบุ และการสานสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากกการดำเนินการต่าง ๆ ขององค์กร รวมไปถึงการให้การสนับสนุน และการสร้างความสัมพันธ์ภายในชุมชนด้วย ดังนั้นการมีส่วนร่วมกับชุมชนขององค์กร จึงควรเกิดขึ้นจากการที่องค์กรเองก็คือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของชุมชน และร่วมรับผลประโยชน์กับชุมชนด้วย
ส่วนการที่องค์กรได้มีส่วนช่วยในการพัฒนาชุมชน จะเป็นการยกระดับสภาพความเป็นอยู่ของชุมชนให้ดียิ่งขึ้น รวมถึงเป็นการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชากรด้วย ทั้งนี้ การพัฒนาชุมชนจะเป็นกระบวนการที่ทำเป็นระยะยาวที่อาจให้ผลที่แตกต่างกัน หรือขัดแย้งกันกับผลประโยชน์ก็ได้ ดังนั้น การพัฒนาชุมชน จึงเป็นผลของลักษณะต่าง ๆ ทางด้านสังคม การเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม
รวมถึงขึ้นอยู่กับคุณลักษณะของแรงผลักดันต่าง ๆ ทางสังคมที่เกี่ยวข้องด้วย ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในชุมชนอาจมีผลประโยชน์ที่แตกต่างกัน รวมถึงอาจมีความขัดแย้งในผลประโยชน์ต่าง ๆ ด้วย การมีความรับผิดชอบร่วมกัน จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการส่งเสริมให้เกิดความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของชุมชนซึ่งเป็นวัตถุประสงค์ร่วมกัน
การพัฒนาชุมชน ที่องค์กรสามารถมีส่วนช่วยสนับสนุนได้ โดยการสร้างให้เกิดการจ้างงาน โดยการขยายและสร้างความหลากหลายในกิจกรรมในเชิงเศรษฐกิจ รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีด้วย นอกจากนั้น ยังสามารถส่งเสริมผ่านทางการลงทุนด้านสังคม เพื่อทำให้เกิดการอยู่ดีมีสุข และการสร้างรายได้โดยผ่านการริเริ่มในการพัฒนาเศรษฐกิจในท้องถิ่นต่าง ๆ เช่นโครงการขยายการศึกษาและการพัฒนาทักษะ
การส่งเสริมและการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม การส่งเสริมและการสนับสนุนการบริการด้านสุขภาพของชุมชน นอกจากนั้น ยังรวมไปถึงการทำให้เกิดความเข้มแข็งของหน่วยงานต่าง ๆ ในชุมชน กลุ่ม ชมรม และโครงการต่าง ๆ ทางด้านวัฒนธรรม สังคมและสิ่งแวดล้อม
การพัฒนาชุมชน จะมีความก้าวหน้า หากมีแรงผลักดันต่าง ๆ ทางสังคมในชุมชน มาทำการขับเคลื่อนให้เกิดการเข้ามามีส่วนร่วมจากสาธารณะ และการผลักดันสิทธิต่าง ๆ ของความเท่าเทียมกัน รวมถึงการมีมาตรฐานการครองชีพที่ดีของประชาชน โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติ นั่นคือ การพัฒนาชุมชนเป็นกระบวนการที่มีอยู่ภายในชุมชนที่จะคำนึงถึงความสัมพันธ์ต่าง ๆ ที่มีอยู่ และการขจัดสิ่งกีดขวางต่อสิทธิที่จะรับความสุข การพัฒนาชุมชนจะช่วยทำให้การปฏิบัติอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมได้ดียิ่งขึ้น
ทั้งนี้ หลักการที่สำคัญในการนำไปประยุกต์ใช้กับการมีส่วนร่วมของชุมชน และการพัฒนาชุมชน โดยองค์กร ควรจะ
* พิจารณาว่าองค์กร เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนที่ไม่สามารถแบ่งแยกออกได้ ตามแนวคิดของการมีส่วนร่วมกับชุมชนและการพัฒนาชุมชน
* ให้ความสำคัญ และคำนึงถึงสิทธิของสมาชิกในชุมชนต่อการตัดสินใจที่เกี่ยวข้องกับชุมชน และมีการติดตามแนวทางการใช้ทรัพยากร และโอกาสที่จะทำให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ตามแนวทางที่สมาชิกได้เลือกไว้
* ให้ความสำคัญและคำนึงถึงคุณลักษณะต่าง ๆ ของชุมชน และสร้างปฏิสัมพันธ์กับสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้น เช่น วัฒนธรรม ศาสนา ประเพณี ประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง
* ให้ความสำคัญกับคุณค่าของการทำงานแบบหุ้นส่วน การส่งเสริมการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ทรัพยากร และความพยายามทุ่มเทต่าง ๆ
ในปฏิญญาโคเปนเฮเกน ได้ให้ความสำคัญกับ ความจำเป็นเร่งด่วนในการดำเนินการกับความท้าทายทางสังคมที่ถูกละเลยไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่เกี่ยวกับความยากจน การว่างงาน และการแบ่งแยกทางสังคม โดยปฏิญญาดังกล่าว ได้กำหนดให้ประชาคมระหว่างประเทศร่วมกันเอาชนะปัญหาความยากจน บรรลุเป้าประสงค์การผลิตอย่างเต็มที่ การให้ค่าตอบแทนที่เหมาะสม ความเป็นอิสระในการเลือกงาน และการตอกย้ำเกี่ยวกับการบูรณาการด้านสังคม เพื่อให้สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของการพัฒนา
นอกจากนั้น ในคำประกาศสหัสวรรษขององค์การสหประชาชาติ ได้มีการกำหนดเป้าประสงค์ไว้ ซึ่งหากสามารถบรรลุได้ จะช่วยแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวกับความท้าทายของการพัฒนาหลักของโลก โดยคำประกาศดังกล่าว ได้เน้นย้ำว่า ในการพัฒนาควรได้รับการชี้นำ และผลักดันโดยใช้นโยบายสาธารณะเป็นหลัก แต่กระบวนการในการพัฒนาก็ยังขึ้นอยู่กับการได้รับการสนับสนุนจากองค์กรต่าง ๆ ทั้งหมดด้วย ดังนั้น การมีส่วนร่วมกับชุมชน จะช่วยสนับสนุนให้สามารถบรรลุเป้าประสงค์ต่าง ๆ เหล่านี้ในระดับท้องถิ่นได้อีกด้วย
ในการกำหนดแผนต่าง ๆ สำหรับการมีส่วนร่วมกับชุมชน และการพัฒนาชุมชน องค์กรควรจะหาโอกาสในการสานสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ อย่างกว้างขวางด้วย นอกจากนั้น ควรให้ความสำคัญกับการปรึกษาหารือกับกลุ่มของผู้ด้อยโอกาส กลุ่มที่ถูกมองว่าไม่สำคัญ กลุ่มที่ถูกเลือกปฏิบัติ หรือกลุ่มที่ไม่สามารถแสดงความเห็นเองได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับการมีส่วนร่วมกับชุมชนและการพัฒนาชุมชน
ทั้งนี้ การบูรณาการแนวคิดเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมกับชุมชนเข้ากับการตัดสินใจ และการดำเนินการต่าง ๆ ขององค์กร จะช่วยลด หรือหลีกเลี่ยงผลกระทบที่ไม่ดีให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด และสร้างผลประโยชน์ที่จะได้จากการดำเนินการต่าง ๆ ให้เกิดขึ้นได้มากที่สุด รวมถึงก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนภายในชุมชนอีกด้วย
นอกจากนั้น องค์กรอาจจะเผชิญกับภัยพิบัติต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของชุมชน ทำให้ปัญหาด้านสังคมและเศรษฐกิจของชุมชนเลวร้ายลง และอาจส่งผลให้ความเสี่ยงเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนให้สูงขึ้นด้วย ตัวอย่างเช่น ภาวะฉุกเฉินที่เกี่ยวกับความมั่นคงของอาหาร ภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม ความแห้งแล้ง สึนามิ แผ่นดินไหว การย้ายถิ่นฐานของประชากร และความขัดแย้งด้านอาวุธ
ดังนั้น องค์กรต่าง ๆ ควรจะมีการดำเนินการ ในการช่วยเหลือ และบรรเทาทุกข์ในสถานการณ์ต่าง ๆ เหล่านั้น หรือ อาจแสดงออกถึงความเห็นอกเห็นใจต่อเพื่อนมนุษย์ ตั้งแต่การเข้าไปบรรเทาสาธารณภัย จนถึงการช่วยเหลือฟื้นฟู โดยในทุก ๆ กรณี ควรให้ความสำคัญกับความทุกข์ทรมานของมนุษย์ ใส่ใจกับกลุ่มผู้ด้อยโอกาส รวมถึงกลุ่มสตรีและเด็ก รวมถึงให้ความเคารพต่อเกียรติยศ ศักดิ์ศรีและสิทธิต่าง ๆ ทั้งหมดของเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายด้วย
ในหัวข้อของการมีส่วนร่วมของชุมชน และการพัฒนาชุมชน จะประกอบด้วยประเด็นสำคัญ ได้แก่
1. การมีส่วนร่วมกับชุมชน
2. การศึกษาและวัฒนธรรม
3. การจ้างงาน และการพัฒนาทักษะ
4. การพัฒนา และการเข้าถึงเทคโนโลยี
5. การสร้างความมั่งคั่ง และรายได้
6. สุขภาพ
7. การลงทุนทางสังคม
7.1 การมีส่วนร่วมกับชุมชน
การมีส่วนร่วมของชุมชน จะเป็นการดำเนินการเชิงรุกออกไปสู่ชุมชนขององค์กร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกัน และแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ทั้งที่อาจจะเกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้ว โดยจะเป็นการสร้างความสัมพันธ์ในลักษณะของหุ้นส่วนกับองค์กรท้องถิ่นต่าง ๆ รวมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และการเป็นสมาชิกที่ดีของชุมชน ทั้งนี้ การมีส่วนร่วมกับชุมชนจะไม่สามารถแทนที่ความรับผิดชอบต่อผลกระทบกับสังคมและสิ่งแวดล้อมได้ ซึ่งในการสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชน องค์กรควรจะ
* ร่วมปรึกษาหารือกับกลุ่มตัวแทนของชุมชน ในการพิจารณาลำดับความสำคัญสำหรับการลงทุนด้านสังคม และกิจกรรมต่าง ๆ ของการพัฒนาชุมชน โดยให้ความสนใจเป็นพิเศษกับกลุ่มตัวแทนกลุ่มผู้ด้อยโอกาส กลุ่มที่ถูกเลือกปฏิบัติ กลุ่มที่ถูกมองว่าไม่มีความสำคัญ และกลุ่มที่ไม่สามารถแสดงความเห็นได้เอง ให้มีโอกาสได้เข้ามาร่วม ซึ่งจะช่วยขยายทางเลือกต่าง ๆ และแสดงถึงการเคารพต่อสิทธิต่าง ๆ ของกลุ่มคนเหล่านี้
* ร่วมปรึกษา และทำความคุ้นเคยกับชุมชนต่าง ๆ รวมถึงชนพื้นเมืองในเรื่องที่เกี่ยวกับข้อตกลง และเงื่อนไขต่าง ๆ ของการพัฒนาที่อาจมีผลกระทบต่อชุมชน การปรึกษาหารือควรเกิดขึ้นก่อนการพัฒนา และควรอยู่บนพื้นฐานของสารสนเทศที่สมบูรณ์ ถูกต้อง และสามารถเข้าถึงได้
* เข้าร่วมในองค์กรส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ หากทำได้ และทำอย่างเหมาะสม โดยมีจุดประสงค์เพื่อการส่งเสริมสนับสนุนต่อประโยชน์ของส่วนรวม และเป้าประสงค์การพัฒนาของชุมชน
* รักษาความสัมพันธ์กับองค์กรของรัฐ และนักการเมืองท้องถิ่นด้วยความโปร่งใส โดยปราศจากการติดสินบน หรือชักจูงในทางที่ไม่เหมาะสม
* ส่งเสริมและสนับสนุนบุคลากรในการเป็นอาสาสมัครของงานบริการชุมชน
* ส่งเสริมและสนับสนุนการกำหนดนโยบาย การจัดทำ การดำเนินการ การเฝ้าติดตาม และการประเมินผลโปรแกรมการพัฒนาต่าง ๆ โดยการดำเนินการข้างต้น องค์กรควรให้ความเคารพกับสิทธิ และให้ความสำคัญต่อมุมมองของผู้อื่นในการแสดงออก และปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง
7.2 การศึกษาและวัฒนธรรม
การศึกษาและวัฒนธรรม จะเป็นพื้นฐานสำหรับการพัฒนาสังคม และเศรษฐกิจ และเป็นส่วนหนึ่งของเอกลักษณ์ของชุมชน การอนุรักษ์และการส่งเสริมวัฒนธรรม รวมถึงการส่งเสริมการศึกษาให้สอดรับกับการเคารพต่อสิทธิต่าง ๆ ของมนุษยชน จะสร้างผลกระทบที่ดีในการอยู่ร่วมกันของสังคม และการพัฒนาสังคม ทั้งนี้ ในประเด็นด้านการศึกษา และวัฒนธรรม องค์กรควรจะ
* ส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาในทุก ๆ ระดับ และดำเนินการต่าง ๆ เพื่อปรับปรุงคุณภาพ และการเข้าถึงการศึกษา การส่งเสริมความรู้ท้องถิ่น และช่วยขจัดภาวการณ์ไม่รู้หนังสือ
* สร้างโอกาสในการเรียนรู้ให้กับกลุ่มผู้ด้อยโอกาส และกลุ่มที่ถูกเลือกปฏิบัติ
* สนับสนุนให้เด็กได้รับการศึกษาอย่างเป็นทางการ และไม่สนับสนุนการกีดกันที่จะไม่ให้เด็กได้รับการศึกษา เช่น การใช้แรงงานเด็ก
* สนับสนุนกิจกรรมทางวัฒนธรรม โดยให้ความสำคัญและเห็นคุณค่าของวัฒนธรรม และขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ ของท้องถิ่นที่สอดคล้องกับหลักการของการเคารพต่อสิทธิมนุษยชน ในการดำเนินการต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมกิจกรรมต่าง ๆ ทางวัฒนธรรมที่ให้อำนาจแก่กลุ่มผู้ด้อยโอกาสที่ถูกละเลย จะมีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากเป็นวิธีการหนึ่งที่ใช้ในการต่อสู้กับการเลือกปฏิบัติได้
* ส่งเสริมการศึกษาเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ และยกระดับความตระหนักด้านสิทธิมนุษยชนให้สูงขึ้น
* ช่วยอนุรักษ์และปกป้องมรดกทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากการดำเนินการต่าง ๆ ขององค์กรมีผลกระทบกับเรื่องดังกล่าว
* ส่งเสริมการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น และเทคโนโลยีดั้งเดิมของชุมชนต่าง ๆ
7.3 การจ้างงาน และการพัฒนาทักษะ
การจ้างงาน จะเป็นสิ่งที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลว่า มีความสัมพันธ์กับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งในการสร้างให้เกิดการจ้างงาน องค์กรทั้งหมดไม่ว่าจะมีขนาดใหญ่และเล็ก ล้วนสามารถช่วยส่งเสริม และสนับสนุนการลดภาวะความยากจน และการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมได้ โดยในการจ้างงาน นายจ้างควรจะพิจารณาถึงแนวทางเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน และการปฏิบัติด้านแรงงานด้วย รวมถึงองค์กรควรจะ
* วิเคราะห์ถึงผลกระทบของการตัดสินใจในการลงทุนขององค์กร ในการสร้างให้เกิดการจ้างงาน และการลงทุนต่าง ๆ โดยตรงที่จะช่วยในการบรรเทาความยากจน
* พิจารณาถึงผลกระทบของการเลือกใช้เทคโนโลยีที่มีต่อการจ้างงาน โดยเลือกใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดโอกาสในการจ้างงานให้มากที่สุด ในขณะที่มีความคุ้มค่าเชิงเศรษฐกิจในระยะยาวด้วย
* พิจารณาถึงผลกระทบของการตัดสินใจในการจ้างงาน ในกรณีที่ให้องค์กรอื่นดำเนินการแทน ทั้งที่เป็นการตัดสินใจภายในองค์กรเอง และจากองค์กรภายนอก
* พิจารณาถึงประโยชน์ของการจ้างงานโดยตรง มากกว่าการจ้างงานชั่วคราว
* มีส่วนร่วมในโปรแกรมการพัฒนาทักษะทั้งในระดับท้องถิ่น และระดับประเทศ รวมถึงโปรแกรมการฝึกงาน โปรแกรมที่เน้นเฉพาะสำหรับกลุ่มผู้ด้อยโอกาส โปรแกรมการเรียนรู้ตลอดชีวิต และการยืนยันทักษะและรูปแบบของการรับรอง
* ให้การช่วยเหลือ เพื่อพัฒนาหรือปรับปรุงโปรแกรมการพัฒนาทักษะต่าง ๆ ในชุมชนที่มีความขาดแคลนทักษะต่าง ๆ เหล่านี้
* ให้ความสนใจเป็นพิเศษกับกลุ่มด้อยโอกาสในการจ้างงาน และการพัฒนาขีดความสามารถ
* ให้ความช่วยเหลือ เพื่อการส่งเสริมกรอบเงื่อนไขต่าง ๆ ที่จำเป็นสำหรับการสร้างการจ้างงาน
7.4 การพัฒนา และการเข้าถึงเทคโนโลยี
ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้เกิดความก้าวหน้า ชุมชนและสมาชิกต่าง ๆ ควรจะมีโอกาสและความสามารถในการเข้าถึงเทคโนโลยีที่ทันสมัยได้อย่างเต็มที่ และมีความปลอดภัยด้วย ดังนั้นองค์กรต่าง ๆ ควรจะส่งเสริมในการพัฒนาชุมชนที่องค์กรตั้งอยู่ โดยการใช้ความรู้ ทักษะ และเทคโนโลยีที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการเผยแพร่เทคโนโลยี ทั้งนี้ ในการพัฒนาและการเข้าถึงเทคโนโลยี องค์กรควรจะ
* ให้การสนับสนุนในการพัฒนา สร้างนวัตกรรมทางเทคโนโลยี ที่ช่วยแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ทางด้านสังคม และสิ่งแวดล้อมในชุมชนท้องถิ่น
* ช่วยเหลือในการพัฒนาเทคโนโลยีที่ใช้การลงทุนต่ำ ซึ่งสามารถทำซ้ำได้ง่ายและส่งผลกระทบที่ดีในการขจัดความยากจนและความหิวโหย
* มีส่วนร่วมในการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมถึงความรู้และเทคโนโลยีดั้งเดิม พร้อม ๆ กับการปกป้องสิทธิของชุมชนต่อความรู้ และเทคโนโลยีของชุมชน
* ดำเนินการในการสานสัมพันธ์สร้างความร่วมมือกับองค์กรต่าง ๆ เช่น มหาวิทยาลัย หรือห้องปฏิบัติการวิจัย เพื่อการพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับหุ้นส่วนต่าง ๆ จากชุมชน รวมถึงมีการจ้างคนในท้องถิ่นในการทำงานดังกล่าว
* ยอมรับแนวทางปฏิบัติงานต่าง ๆ ที่ยินยอมให้มีการถ่ายทอด และเผยแพร่เทคโนโลยีที่มีความคุ้มค่าในเชิงเศรษฐกิจ ซึ่งองค์กรควรกำหนดกรอบระยะเวลาที่เหมาะสมและเงื่อนไขต่าง ๆ สำหรับลิขสิทธิ์หรือการถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อส่งเสริมการพัฒนาท้องถิ่น
7.5 การสร้างความมั่งคั่ง และรายได้
การแข่งขัน และความหลากหลายขององค์กรต่าง ๆ ล้วนมีส่วนสำคัญในการสร้างความมั่งคั่งให้กับชุมชน ซึ่งองค์กรต่าง ๆ จะสามารถช่วยสร้างให้เกิดบรรยากาศที่จะทำให้ผู้ประกอบการใหม่สามารถประสบผลสำเร็จ และนำผลประโยชน์ในระยะยาวมาสู่ชุมชนได้ โดยผ่านทางโปรแกรมต่าง ๆ ของผู้ประกอบการใหม่ การพัฒนาผู้ส่งมอบในท้องถิ่น และการจ้างงานสมาชิกในชุมชน ตลอดจนความพยายามที่จะทำให้เศรษฐกิจในชุมชน และความสัมพันธ์ต่าง ๆ ในชุมชน ช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจ และสวัสดิการสังคม หรือก่อให้เกิดสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ในชุมชนให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น
นอกจากนั้น องค์กรต่าง ๆ ยังสามารถสนับสนุนการพัฒนาได้ โดยการปฏิบัติตามกรอบของกฎหมาย และกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ ในกรณีที่กลุ่มต่าง ๆ ในชุมชนไม่สามารถปฏิบัติได้ตามกรอบของกฎหมายได้ อันเป็นผลมาจากความยากจน หรือเงื่อนไขต่าง ๆ ในกรณีนี้ องค์กรควรหาแนวทางในการสร้างโอกาสที่จะช่วยให้กลุ่มต่าง ๆ เหล่านี้สามารถที่จะปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกลุ่มต่าง ๆ ที่องค์กรมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจด้วย
ในการสร้างความมั่งคั่ง และรายได้ องค์กรควรจะ
* พิจารณาถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจ และสังคม ในการเข้าไปหรือการออกมาจากชุมชน รวมทั้งผลกระทบของทรัพยากรพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน
* สนับสนุนการริเริ่มต่าง ๆ ที่จะกระตุ้นให้เกิดความหลากหลายของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีอยู่ในชุมชนอย่างเหมาะสม
* ให้สิทธิพิเศษแก่ผู้ส่งมอบสินค้า และการบริการต่าง ๆ ที่มีในท้องถิ่น และส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาผู้ส่งมอบท้องถิ่นเท่าที่จะทำได้
* ริเริ่มสิ่งต่าง ๆ ที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ส่งมอบในท้องถิ่น เพื่อที่จะสนับสนุนห่วงโซ่คุณค่า และให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อกลุ่มผู้ด้อยโอกาสต่าง ๆ ในชุมชน
* ช่วยเหลือองค์กรต่าง ๆ ให้ดำเนินงานภายใต้กรอบที่กฎหมายกำหนด
* ร่วมดำเนินกิจกรรมเชิงเศรษฐกิจกับองค์กรต่าง ๆ ที่มีความยากลำบากในการดำเนินการตามกฎหมาย เนื่องจากมีระดับของการพัฒนาที่ต่ำ ในกรณีองค์กรเหล่านั้น มีจุดประสงค์ที่จะช่วยบรรเทาความยากจน หรือมีกิจกรรมต่างๆ ที่แสดงถึงการเคารพต่อสิทธิมนุษยชน และมีความคาดหวังว่าองค์กรจะขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างสม่ำเสมอ ในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ภายใต้กรอบของกฎหมายอย่างเหมาะสม
* ส่งเสริมโปรแกรมในการช่วยเหลือสมาชิกชุมชน โดยเฉพาะกลุ่มสตรี และกลุ่มด้อยโอกาสอื่นๆ ในการจัดตั้งธุรกิจและสหกรณ์ต่าง ๆ ในการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต การส่งเสริมการเป็นเจ้าของกิจการ ตัวอย่างเช่น การจัดฝึกอบรมเกี่ยวกับการวางแผนธุรกิจ การตลาด มาตรฐานคุณภาพที่กำหนดขึ้นเพื่อเป็นการส่งมอบ การให้ความช่วยเหลือด้านการจัดการและเทคนิคต่าง ๆ รวมทั้งการเข้าถึงแหล่งทุน และการเอื้ออำนวยให้เกิดการลงทุนร่วมกัน
* สนับสนุนการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ
* พิจารณาแนวทางต่าง ๆ ที่เหมาะสม เพื่อเปิดโอกาสให้กับองค์กรชุมชนให้สามารถเข้าถึงกระบวนการจัดหาได้ง่ายขึ้น รวมถึงการสร้างความสามารถในการบรรลุข้อกำหนดเชิงเทคนิค และจัดให้มีสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับโอกาสต่าง ๆ ในกระบวนการจัดหาด้วย
* สนับสนุนองค์กร หรือบุคคลต่าง ๆ ซึ่งนำผลิตภัณฑ์และการบริการที่มีความจำเป็นเข้ามาสู่ชุมชน โดยการจ้างงานในชุมชนพร้อมกับการเชื่อมโยงกับตลาดของท้องถิ่น ภูมิภาค และเขตเมือง ซึ่งทำให้เกิดผลประโยชน์สำหรับสวัสดิการของชุมชน
* ส่งเสริมแนวทาง ที่จะช่วยในการพัฒนาผู้ประกอบการซึ่งเป็นสมาชิกในชุมชน
* เติมเต็มความรับผิดชอบเกี่ยวกับภาษีขององค์กร และให้ข้อมูลที่จำเป็นต่อการพิจารณาภาษีอย่างถูกต้องต่อหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้อง
* ส่งเสริมสนับสนุนเกี่ยวกับการเกษียณอายุ และเงินบำนาญสำหรับลูกจ้าง
7.6 สุขภาพ
สุขภาพ จะเป็นองค์ประกอบที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตในสังคม ดังนั้นภัยคุกคามต่าง ๆ ที่มีต่อสุขภาพของชุมชน จะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อสังคมด้วยเช่นเดียวกัน รวมถึงทำให้การพัฒนาเกิดการหยุดชะงักได้ ดังนั้น ทุก ๆ องค์กรไม่ว่าจะมีขนาดใหญ่และเล็ก ควรให้ความเคารพต่อสิทธิด้านสุขภาพ และให้การสนับสนุนเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพอย่างเหมาะสมตามวิธีการต่าง ๆ ที่มีในองค์กร
ทั้งนี้ ถึงแม้ว่ารัฐจะมีบทบาทในการดูแลระบบสุขภาพอยู่แล้ว แต่องค์กรต่าง ๆ ก็ยังสามารถที่จะให้ความช่วยเหลือในด้านสุขภาพแก่ชุมชนได้ ซึ่งการที่ชุมชนมีสุขภาพที่ดี ก็จะช่วยลดภาระในด้านสาธารณสุข และช่วยสนับสนุนองค์กรให้มีการผลิตและสภาพแวดล้อมของสังคมที่ดีขึ้น รวมทั้งมีความใส่ใจต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย ดังนั้นในการดำเนินการทางด้านสุขภาพ องค์กรควรจะ
* หาวิธีการในการลด หรือขจัดผลกระทบด้านลบที่มีต่อสุขภาพ จากกระบวนการผลิต ผลิตภัณฑ์ หรือการบริการขององค์กร
* สนับสนุนการมีสุขภาพที่ดี เช่น การส่งเสริมสนับสนุนให้สามารถเข้าถึงยาต่าง ๆ และการฉีดวัคซีน และให้กำลังใจต่อการดำเนินชีวิตด้านสุขภาพ รวมถึงการออกกำลังกายและการมีโภชนาการที่ดี โดยการตรวจพบก่อนที่จะเกิดโรค และการไม่สนับสนุนการบริโภคผลิตภัณฑ์ และสารต่าง ๆ ที่ไม่ดีต่อสุขภาพ รวมถึงควรให้ความใส่ใจพิเศษในเรื่องโภชนาการของเด็ก
* ส่งเสริมความตระหนักเกี่ยวกับภัยคุกคามต่อสุขภาพ และโรคสำคัญต่าง ๆ และการป้องกัน เช่น โรคเอดส์ (HIV/AIDS) โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคไข้มาเลเรีย โรควัณโรค และโรคอ้วน
* สนับสนุนการเข้าถึงบริการสุขภาพพื้นฐานที่จำเป็น การจัดหาน้ำสะอาด และสุขอนามัยที่เหมาะสม เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย
7.7 การลงทุนทางสังคม
การลงทุนทางสังคม จะเกิดขึ้นเมื่อองค์กรต่าง ๆ มีการลงทุนกับการริเริ่มและโปรแกรมต่าง ๆ ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อการปรับปรุงในประเด็นต่าง ๆ ทางด้านสังคมต่อสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชน โดยการลงทุนทางสังคม อาจรวมไปถึงโครงการที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา การฝึกอบรม วัฒนธรรม การดูแลสุขภาพ การสร้างรายได้ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การปรับปรุง การสามารถเข้าถึงสารสนเทศ หรือกิจกรรมอื่น ๆ ที่จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคม
ทั้งนี้ องค์กรควรมีการวางแนวทางในการส่งเสริมการลงทุนทางสังคมให้สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนตามลำดับความสำคัญ โดยการแลกเปลี่ยนสารสนเทศ การปรึกษาหารือ และการเจรจา จะเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์อย่ามากในการดำเนินการที่เกี่ยวกับการลงทุนทางสังคม
นอกจากนั้น องค์กรควรส่งเสริมให้ชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนด และการปฏิบัติตามโครงการต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยให้โครงการสามารถดำเนินการต่อไปได้ แม้ว่าองค์กรอาจจะไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องแล้วก็ตาม โดยในการดำเนินการด้านการลงทุนทางสังคม องค์กรควรจะ
* คำนึงถึงการส่งเสริมการพัฒนาชุมชน ในการวางแผนโครงการลงทุนทางสังคม โดยการดำเนินการต่าง ๆ ทั้งหมดควรเปิดโอกาสให้กับคนในชุมชนได้มีส่วนร่วม เช่น การเพิ่มการจัดซื้อจากท้องถิ่น และการจ้างงานให้หน่วยงานอื่นมาดำเนินการแทน เพื่อสนับสนุนการพัฒนาท้องถิ่น
* หลีกเลี่ยงการดำเนินการต่าง ๆ ที่เป็นการขยายเวลาการพึ่งพาอาศัยกิจกรรมการกุศลต่าง ๆ ขององค์กรที่กำลังดำเนินการอยู่ หรือมีส่วนสนับสนุน
* ประเมินผลข้อริเริ่มต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับชุมชนขององค์กรที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน และรายงานต่อชุมชนรวมถึงประชาชนที่อยู่ภายในองค์กร
* พิจารณาการเป็นพันธมิตรกับองค์กรอื่น ๆ รวมถึง ภาคราชการ ภาคธุรกิจ หรือองค์กรพัฒนาเอกชน เพื่อให้เกิดการรวมพลังอย่างเต็มที่ รวมถึงการใช้ประโยชน์จากทรัพยากร ความรู้ และทักษะต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ
* สนับสนุนโปรแกรมต่าง ๆ ซึ่งจัดให้มีการเข้าถึงอาหารและผลิตภัณฑ์ที่จำเป็น สำหรับกลุ่มคนที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ หรือกลุ่มคนผู้ถูกเลือกปฏิบัติและผู้มีรายได้ต่ำ รวมถึงการให้ความสำคัญต่อการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาศักยภาพ การเข้าถึงทรัพยากร และโอกาสของคนกลุ่มดังกล่าวด้วย
(อ่านต่อตอนถัดไป)
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด