เนื้อหาวันที่ : 2012-01-30 17:38:36 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 6633 views

เอสโตเนีย เสือเศรษฐกิจตัวใหม่จากทะเลบอลติก

เอสโตเนีย อดีตเคยเป็นส่วนหนึ่งของ สหภาพโซเวียต แต่ปัจจุบันได้กลายมาเป็นสมาชิกของ สหภาพยุโรป

รอบโลกเศรษฐกิจ (Around the World Economy)
“เอสโตเนีย” เสือเศรษฐกิจตัวใหม่จากทะเลบอลติก

สุทธิ สุนทรานุรักษ์
นักวิชาการตรวจเงินแผ่นดิน 6 สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน, Ph.d. (Candidate) of School of Development Economics, National Institute Development Administration (NIDA)

          หากย้อนมองกลับไปถึงพัฒนาการเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกนับแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ดูเหมือนว่าการเปลี่ยนแปลงที่มีผลต่ออนาคตของเศรษฐกิจโลกมีอยู่สองเหตุการณ์สำคัญนะครับคือ การรวมกลุ่มประเทศในทวีปยุโรปภายใต้ชื่อว่า สหภาพยุโรป (European Union) หรือที่เรารู้จักกันในชื่อของ EU และอีกเหตุการณ์หนึ่งคือ การล่มสลายของสหภาพโซเวียต (Soviet Union: USSR)

          น่าคิดนะครับ! ที่แบบหนึ่งเลือกที่จะ “รวม” แต่อีกแบบหนึ่งเลือกที่จะ “ล่ม” อย่างไรก็ดีมีอยู่ประเทศหนึ่งครับที่เข้าไปอยู่ในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ทั้งล่มและรวม ประเทศที่ว่านี้ คือ เอสโตเนีย ครับ เพราะอดีตเคยเป็นส่วนหนึ่งของ “สหภาพโซเวียต” แต่ปัจจุบันได้กลายมาเป็นสมาชิกของ “สหภาพยุโรป”

          เอสโตเนียจึงนับเป็นตัวอย่างที่ดีตัวอย่างหนึ่งของการเปลี่ยนผ่านทาง “ลัทธิเศรษฐกิจ” จากระบบสังคมนิยมที่เดิมมีรัฐบาลกลางเป็นผู้วางแผน เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแบบตลาดที่เน้นกลไกราคาเป็นตัวจัดสรรทรัพยากร

          ก่อนที่เราจะเข้าเรื่องของเอสโตเนีย ผมขออนุญาตเล่าถึงเหตุการณ์สำคัญทั้ง “รวม” ของสหภาพยุโรปและ “ล่ม”ของสหภาพโซเวียตก่อนนะครับ

“สหภาพยุโรป” รวมกันเราอยู่ และ “สหภาพโซเวียต” แยกหมู่เรารอด
          นับแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ประเทศในยุโรปต่างได้รับความ “บอบช้ำ” จากจักรวรรดินาซี ด้วยเหตุที่เข็ดขยาดกับการก่อสงครามจึงทำให้เกิดแนวคิดการรวมกลุ่มประเทศขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1952 ในรูปของ “ประชาคมถ่านหินและเหล็กกล้าแห่งยุโรป” หรือ European Coal and Steel Community- ECSC โดยมีกลุ่มประเทศสมาชิกนำร่องก่อน 6 ประเทศ คือ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี เนเธอร์แลนด์ เบลเยี่ยมและลักเซมเบิร์ก

          การรวมกลุ่มดังกล่าวพัฒนารูปแบบไปสู่การจัดตั้งประชาคมพลังงานปรมาณูหรือและประชาคมเศรษฐกิจยุโรปหรือ European Economic Community-EEC ในเวลาต่อมาครับ

โรบิร์ต ชูมานน์ (Robert Schuman)
อดีตนายกรัฐมนตรีฝรั่งเศสต้นกำเนิดแนวคิดเรื่องยุโรปเป็นหนึ่งเดียว

          จนกระทั่งปี 1968 EEC ได้พัฒนารูปแบบสู่การเป็น “สหภาพศุลกากร” (Custom Union) และก้าวเข้าสู่การเป็น “ตลาดร่วม” (Common Market) ซึ่งตลาดร่วมนี้เองที่ทำให้เกิดภาพของประชาคมยุโรป (European Community) ชัดเจนมากขึ้น จนกระทั่งถึงปี 1992 จุดเปลี่ยนสำคัญของยุโรปคือ การลงนามในสนธิสัญญา มาสทริชท์ (Treaty of Maastricht) ที่เนเธอร์แลนด์โดยเปลี่ยนชื่อประชาคมยุโรปใหม่เป็น “สหภาพยุโรป” หรือ European Union (EU) ที่เรารู้จักกันดีในทุกวันนี้

          ปัจจุบัน EU มีประเทศสมาชิกทั้งหมด 27 ประเทศ ครับ ทั้งนี้สาระสำคัญของการรวมกลุ่มกันนั้นอยู่ภายใต้เสาหลัก 3 ประการ (The Three Pillars of the European Union) โดยเสาหลักต้นแรกเป็นการรวมตัวด้านเศรษฐกิจ (Economic Integration) ขณะที่เสาหลักต้นที่สองเป็นการดำเนินนโยบายการต่างประเทศและความมั่นคงการป้องกันประเทศร่วมกัน ส่วนเสาหลักต้นสุดท้าย คือ การสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือทางด้านกระบวนการยุติธรรมและกิจการภายในร่วมกัน

สัญลักษณ์ธงอียูเมื่อยุโรปรวมกันเป็นหนึ่งเดียว

          ทั้งสามเสาหลักนี้ดูเหมือนว่าเสาหลักเรื่องการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจจะสำคัญที่สุดนะครับ โดยวัตถุประสงค์ของการรวมกลุ่มดังกล่าวก็เพื่อให้ยุโรปนั้นมีลักษณะเป็น “ตลาดเดียว” หรือ Single Market ที่เน้นให้มีปัจจัย 4 ประการเคลื่อนที่โดยเสรี ได้แก่ แรงงาน สินค้า บริการ และทุน

แนวคิดตลาดเดียวนี้แหละครับที่ทำให้กลุ่ม EU กลายเป็นตัวอย่างหนึ่งของความพยายามเชื่อมโลกเศรษฐกิจให้เข้าหากันภายใต้การค้าและการลงทุนซึ่งหากคนเรากินดีอยู่ดีเมื่อไหร่แล้ว โอกาสที่จะไปรุกรานทำสงครามกับชาวบ้านก็จะไม่เกิดขึ้น เว้นแต่รัฐบาลบางประเทศที่ “กระหาย” สงครามและพร้อมจะส่งกองกำลังเข้าไปทำสงครามได้ทุกเมื่อ

          นอกจากนโยบายเรื่องตลาดเดียวแล้ว การมีนโยบายร่วมกันในด้านการค้า พลังงาน สิ่งแวดล้อม ประมงและด้านสังคมก็นับเป็นกลไกในการสนับสนุนให้การรวมตัวทางเศรษฐกิจประสบผลสำเร็จเช่นเดียวกันครับ และสุดท้ายเรื่องของการใช้เงินสกุลเดียวกัน หรือ เงินยูโร (Euro) นับว่าเป็นขั้นตอนสำคัญที่สุดของการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจเลยก็ว่าได้

          “เงินยูโร” เป็นรูปแบบของการสร้างสหภาพเศรษฐกิจและการเงินให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมที่สุด ทั้งนี้การที่ประเทศสมาชิกใช้เงินยูโรสกุลเดียวพร้อม ๆ กันนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลยนะครับ เพราะต้องมีการตั้งธนาคารกลางของสหภาพ ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เพราะเอาเข้าจริง ๆ ทุกประเทศต้องยอมเสียความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายการเงินให้สอดคล้องกับสภาพยุโรป

          ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ “อังกฤษ” ที่ไม่ยอมใช้เงินสกุลยูโรเพราะยังต้องการให้เงินปอนด์ของตนเองเป็นเงินสกุลหลักของประเทศอยู่ หรือแม้แต่เอสโตเนียเองก็เพิ่งจะเปลี่ยนจากเงินสกุล Estonia Kroon มาเป็นยูโรเมื่อต้นปีที่ผ่านมา

          ขณะที่การพัฒนาเศรษฐกิจในยุโรปภายใต้แนวคิดตลาดเดียวได้สะท้อนให้เห็นภาพที่ว่า “รวมกันเราอยู่” ในโลกทุนนิยมสมัยใหม่แล้ว แต่ในมุมกลับกันการล่มสลายของสหภาพโซเวียต (Soviet Union: Union of Soviet Socialist Republics) กลับทำให้มองเห็นภาวะที่ว่า “แยกหมู่เรารอด” ครับ ซึ่งเมื่อศึกษาประวัติศาสตร์เศรษฐกิจให้ดีแล้วจะพบว่าการแตกสลายของสหภาพโซเวียตนั้นอยู่ภายใต้เหตุผลสำคัญ คือ การปรับตัวทางเศรษฐกิจให้ทันกับโลกสมัยใหม่ในช่วงปลายศตวรรษที่ 20

          สหภาพโซเวียตมีจุดเริ่มต้นจากการโค่นล้มราชวงศ์โรมานอฟภายใต้ระบอบซาร์ โดยพรรคบอลเชวิกของเลนินนำแนวคิดสังคมนิยมและมีรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์เป็นผู้ปกครอง

          ความเข้มแข็งของสหภาพโซเวียตอยู่ในยุคของ “โจเซฟ สตาลิน” ครับ เพราะในยุคนี้สตาลินได้แผ่จักรวรรดิคอมมิวนิสต์ไปยังดินแดนต่าง ๆ ไม่ว่าจะในยุโรปตะวันออก อัฟริกา อเมริกากลาง เอเชียกลาง รวมไปถึง “จีน” ที่สหภาพโซเวียตได้วางตัวให้เป็น “พี่รอง”ของโลกคอมมิวนิสต์

          นับจากยุคสตาลินเป็นต้นมาสงครามเย็นได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว แนวคิดสังคมนิยมในสหภาพโซเวียตส่งไม้ต่อมาถึงครุสชอฟและเบรสเนฟ พร้อมกันนั้นสหภาพโซเวียตได้ขับเคี่ยวกับรัฐบาลโลกเสรีของรัฐบาลอเมริกันตั้งแต่สมัยของประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคนเนดี้ มาจนถึงประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน

          อย่างไรก็ตามเมื่อสหภาพโซเวียตในสมัยผู้นำพรรครุ่นใหม่อย่างนายมิคาฮิล กอร์บาเชฟ (Mikhail Gorbachev) โดยกอร์บาชอฟได้ชูแผนปฏิรูปการเมืองและเศรษฐกิจขึ้นมาใหม่ที่เรียกว่า แผนเปเรสตรอยกา (Perestroika) ซึ่งแผนปฏิรูปนี้เองที่ทำให้ประชาชนสามารถถือครองทรัพย์สินส่วนบุคคลได้รวมไปถึงการให้เอกชนสามารถดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ด้วยเช่นกัน

มิคาฮิล กอร์บาชอฟ
ผู้นำคนสุดท้ายของสหภาพโซเวียต ผู้ทำให้โลกยุคใหม่เปลี่ยนโฉมหน้า

          ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในช่วงปลายทศวรรษที่ 80 พร้อม ๆ กับแผนเปเรสตรอยกาบวกกับความรู้สึกชาตินิยมภายในรัฐต่าง ๆ ของสหภาพโซเวียตทำให้เกิด “แรงระเบิด” ออกมาอย่างรวดเร็ว จนเพียงไม่กี่ปีสหภาพโซเวียตที่เคยแข็งแกร่งก็ต้องล่มสลายลงเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 1991 โดยมีรัฐที่แยกตัวและประกาศเอกราชเป็นประเทศทั้งหมด 15 ประเทศ ได้แก่

สามประเทศจากคาบสมุทรบอลติก คือ เอสโตเนีย, ลัตเวีย, และ ลิทัวเนีย ห้าประเทศจากแถบเอเชียกลาง คือ คาซัคสถาน, คีร์กีซสถาน, เติร์กเมนิสถาน, ทาจิกกิสถาน, อุซเบกิสถาน และที่เหลืออยู่ในยุโรป คือ เบรารุส, ยูเครน, จอร์เจีย, รัสเซีย, อาร์มาเนีย, อาร์เซอร์ไบจาน


          ทั้ง 15 ประเทศที่แยกตัวออกไปจากสหภาพโซเวียตเดิมนั้นล้วนแล้วแต่ต้องปฏิรูปเศรษฐกิจกันใหม่หมดนะครับ หรือที่ฝรั่งเขาเรียกว่า Transition Economy โดยระบบเศรษฐกิจที่ปฏิรูปใหม่นี้ได้เดินตามแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจแบบตลาด ซึ่งใช้กลไกราคาเป็นตัวจัดสรรทรัพยากรพร้อม ๆ กับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจบางอย่างที่รัฐเคยถือหุ้นอยู่ เช่นเดียวกับ “เอสโตเนีย” ที่ต้องปรับตัวกันขนานใหญ่หลังจากแยกตัวออกมาจากสหภาพโซเวียตแล้ว

          “รอบโลกเศรษฐกิจ” ฉบับนี้จะพาท่านผู้อ่านไปทำความรู้จักกับประเทศเล็ก ๆ แห่งนี้กันครับ เราจะไปดูกันว่าเอสโตเนียพัฒนาตัวเองได้อย่างไรจนถูกจับตามองว่าจะเป็นเสือเศรษฐกิจตัวใหม่ในอนาคต

เอสโตเนีย: เสือเศรษฐกิจตัวใหม่จากทะเลบอลติก
          ชื่อชั้นของ “เอสโตเนีย” ดูจะไม่เป็นที่รู้จักกันเท่าไหร่นักในเวทีระหว่างประเทศ ด้วยเหตุที่เอสโตเนียไม่ใช่ประเทศที่มีจุดเด่นอะไรมากมายนัก อย่างไรก็ตามความน่าสนใจของ “เอสโตเนีย” กลับอยู่ที่การเติบโตและรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจได้ดีที่สุดประเทศหนึ่งในโลกปัจจุบัน

          เอสโตเนีย ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของยุโรปตะวันออกติดกับชายฝั่งทะเลบอลติกครับ จัดเป็นประเทศที่เล็กที่สุดในกลุ่มประเทศที่เรียกตัวเองว่า “Baltic Tiger” ซึ่งประกอบไปด้วย เอสโตเนีย, ลัตเวีย และลิทัวเนีย ซึ่งในทั้งสามแยกตัวออกจากสหภาพโซเวียตและเข้าเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปพร้อมกันนับว่าทั้งสามประเทศนี้เปรียบได้ดั่ง “พี่น้องท้องเดียว” กันเลยล่ะครับ

          อย่างไรก็ดี “เอสโตเนีย” ในฐานะน้องเล็ก นับว่าเป็นประเทศที่เจริญเติบโตมากที่สุดในกลุ่มแม้ว่าจะมีประชากรเพียงล้านกว่าคนก็ตาม

          ภูมิหลังของเอสโตเนียนั้น เคยถูกสหภาพโซเวียตยึดครองก่อนจะประกาศเอกราชเมื่อปี 1991 หลังจากที่สหภาพโซเวียตล่มสลาย และในปี 2004 เอสโตเนียเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป นับเป็นประเทศจากยุโรปตะวันออกที่ได้รับการยอมรับจากกลุ่ม EU ภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปีหลังจากที่แยกประเทศออกมาแล้ว

          ปัจจุบัน ทาลลินน์ (Tallinn) เป็นเมืองหลวงของเอสโตเนีย ครับ ชาวเอสโตเนี่ยน (Estonian) ส่วนใหญ่มีเชื้อสายปน ๆ กับชาวรัสเซี่ยน (Russian) กับพวกนอร์ดิกหรือสแกนดิเนเวี่ยน (Scandinavian) ซึ่งทำให้เอสโตเนียดูจะมีกลิ่นอายของความเป็นรัสเซียและสแกนดิเนเวียอยู่ไม่น้อย

          กลับมาที่เรื่องเศรษฐกิจกันบ้างครับ ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าสนใจของเอสโตเนีย คือ ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อหัว หรือ GDP per capita ที่สูงถึง 18,518 ดอลลาร์ นับว่าสูงมากเมื่อเทียบกับหลายประเทศในยุโรปตะวันออกที่เพิ่งจะปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่

          ทั้งนี้รัฐบาลเอสโตเนียได้เริ่มปฏิรูปโครงสร้างระบบเศรษฐกิจของประเทศก่อนนับแต่แยกตัวออกมาจากสหภาพโซเวียต โดยการมีระบบเศรษฐกิจแบบตลาดนับเป็นเงื่อนไขสำคัญที่สุดหากจะเข้าไปร่วมเป็นสมาชิกในกลุ่ม EU
 

Mart Laar (1992-1994, 1999-2002)
นายกรัฐมนตรีของเอสโตเนียคนแรกที่ได้รับเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ
ยุคของ Mart Larr เป็นยุคของการปฏิรูปเศรษฐกิจเอสโตเนียให้เข้าสู่การเป็นระบบเศรษฐกิจแบบตลาด

          อย่างไรก็ดีเอสโตเนียใช้ความได้เปรียบทางด้านภูมิศาสตร์เศรษฐกิจเข้ามามีส่วนช่วยในการพัฒนาประเทศโดยเอสโตเนียเป็นประเทศที่อยู่ใจกลางของกลุ่มประเทศแถบทะเลบอลติก ซึ่งได้แก่ เดนมาร์ก สวีเดน ฟินแลนด์ นอร์เวย์ ภาคเหนือของเยอรมนี โปแลนด์ ลิทัวเนีย ลัตเวีย ภาคตะวันตกเฉียงเหนือของรัสเซีย ด้วยเหตุนี้การที่เอสโตเนียเป็นศูนย์กลางทำให้กลายเป็นเมืองท่าสำคัญที่ใช้เป็นเส้นทางคมนาคมขนส่งสินค้าบริเวณทะเลบอลติก

นาย Tiit Vähi อดีตนายกรัฐมนตรีสามสมัยของเอสโตเนีย (1995-1997)
รัฐบาลของนาย V?hi มีส่วนสำคัญในการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจของเอสโตเนีย
จนสามารถสมัครเข้าเป็นสมาชิก EU ได้ภายในระยะเวลาไม่กี่ปีหลังจากแยกตัวออกมาจากรัสเซีย

          ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจเลยนะครับ หากเศรษฐกิจเอสโตเนียจะเติบโตอย่างรวดเร็วเปรียบเทียบกับประเทศที่แยกตัวออกมาจากสหภาพโซเวียตเดิม นอกจากสภาพความได้เปรียบทางภูมิประเทศแล้ว เอสโตเนียยังเต็มไปด้วยแหล่งพลังงานทางเลือกอย่าง “หินน้ำมัน” หรือ Oilshale ซึ่งในเอสโตเนียมีการทำเหมืองหินน้ำมันติดอันดับโลกเลยทีเดียวครับ

เอสโตเนียกับความได้เปรียบเรื่องภูมิศาสตร์เศรษฐกิจ
ใจกลางของคาบสมุทรบอลติก

Tornimñe ย่านเศรษฐกิจการค้าสำคัญในทาลลินล์
เมืองหลวงของเอสโตเนีย

          การเข้าเป็นสมาชิกใหม่ของกลุ่มประเทศ EU ทำให้เอสโตเนียกลายเป็นแหล่งการค้าและการลงทุนแห่งใหม่ในยุโรป โดยเอสโตเนียมีข้อตกลงทางการค้าจัดตั้งเขตการค้าเสรีกับสวีเดน นอร์เวย์ ฟินแลนด์ ลัตเวีย สวิตเซอร์แลนด์ เช็ก สโลวัก ตุรกี โปแลนด์ ฮังการี สโลเวเนีย และหมู่เกาะฟาโร

ขณะเดียวกันเอสโตเนียยังได้รับสิทธิพิเศษทางการค้าจากสหรัฐอเมริกา แคนาดา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประเทศเล็ก ๆ แห่งนี้มีความน่าสนใจที่จะทำการค้าขายด้วยอยู่ไม่น้อย นอกจากนี้กลุ่มประเทศที่อยู่ในสหภาพโซเวียตเดิม อย่าง ยูเครน อาร์มาเนีย จอร์เจีย มอลโดว่าและคีร์กีสถานนั้น เอสโตเนียได้ทำข้อตกลงทางเศรษฐกิจการค้าร่วมด้วยโดยเฉพาะกับ “ยูเครน” แล้วเอสโตเนียจัดว่าเป็นมิตรแท้ที่ใกล้ชิดมากที่สุด

          ในแง่ของการลงทุนนั้น เอสโตเนีย เป็นประเทศที่เปิดรับนักลงทุนจากทั่วโลกและในปัจจุบันกลุ่มนักลงทุนจากนอร์เวย์และฟินแลนด์ เป็นกลุ่มนักลงทุนสำคัญที่เข้าไปลงทุนในเอสโตเนียมากที่สุดโดยกิจการที่นักลงทุนต่างชาติเข้าไปลงทุน ได้แก่ ภาคการเงิน อุตสาหกรรมก่อสร้างและสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน นอกจากนี้ยังมีนักลงทุนจากตะวันออกไกลอย่างสิงค์โปร์ที่เข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมสิ่งทอและกระดาษ เป็นต้น

          เหตุผลที่นักลงทุนส่วนใหญ่เลือกเข้าไปลงทุนในเอสโตเนีย ก็เพราะ การที่เอสโตเนียมีทรัพยากรที่สมบูรณ์มากที่สุดแห่งหนึ่งครับ ประกอบกับค่าจ้างแรงงานค่อนข้างถูก และที่สำคัญมีโครงข่ายการขนส่งที่ดีครอบคลุมตั้งแต่ทางรถไฟ ท่าเรือน้ำลึกที่ปลอดน้ำแข็งหรือ Ice free port

Port of Tallinn หรือท่าเรือน้ำลึกในเมืองทาลลินน์
ที่ได้กลายเป็นศูนย์กลางการขนส่งในแถบทะเลบอลติก

          ความน่าสนใจของเอสโตเนียนอกจากเรื่องภูมิศาสตร์เศรษฐกิจแล้ว เอสโตเนียยังเป็นประเทศที่รักษาเสถียรภาพของค่าเงิน Kroon ได้เป็นอย่างดีอย่างไรก็ตามเมื่อต้นปีที่ผ่านมาเอสโตเนียได้เปลี่ยนมาใช้เงินสกุลยูโรแล้วหลังจากที่ใช้เงินสกุลของตัวเองมากว่า 20 ปี

          แม้ว่าเศรษฐกิจเอสโตเนียจะได้รับผลกระทบในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจในยุโรปเมื่อปี 2009 จนทำให้เศรษฐกิจหดตัวไปถึง 13.9% แต่รัฐบาลเอสโตเนียภายใต้การนำของ นายอันดรูส อันซิป (Andrus Ansip) ได้ฟื้นเศรษฐกิจเอสโตเนียให้กลับคืนมาได้อย่างรวดเร็วครับ โดยเอสโตเนียเป็นประเทศหนึ่งที่บริจาคเงินเข้า IMF เพื่อช่วยเหลือเศรษฐกิจบ้านพี่อย่าง “ลัตเวีย” ในช่วงเกิดวิกฤตเศรษฐกิจทั่วยุโรป

          นอกจากนี้เอสโตเนียยังเป็นประเทศที่รักษาวินัยทางการคลังเป็นเยี่ยมนะครับเพราะอัตราส่วนหนี้สาธารณะที่รัฐบาลไปก่อไว้มีไม่ถึง 10% ของ GDP รัฐบาลเอสโตเนียก่อหนี้สาธารณะน้อยมาก ทั้งนี้ส่วนหนึ่งมาจากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้ภาคเอกชนเข้าไปเป็นเจ้าของกิจการอุตสาหกรรมการค้าที่รัฐเคยถือหุ้นไว้ ยกเว้นกิจการสาธารณูปโภคที่รัฐยังต้องดำเนินการเองอยู่

          ผลของการพัฒนาเศรษฐกิจที่ไปในทิศทางบวกตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมานั้น ทำให้ปี 2010 เอสโตเนียได้รับการตอบรับเข้าเป็นสมาชิกของ กลุ่มประเทศ OECD หรือ Organization for Economic Co-Operation and Development ซึ่งว่ากันว่าเป็นกลุ่มประเทศคนรวยที่มีรายได้ประชากรต่อหัวสูง

          เรื่องที่น่าสนใจอีกประการหนึ่ง คือ วิสัยทัศน์ของผู้นำเอสโตเนียคนปัจจุบัน คือ นายอันซิป ที่มาจากพรรค Estonian Reform Party อันซิปมีวิชั่นว่าภายในปี 2022 เอสโตเนียจะต้องติดหนึ่งในห้าของประเทศที่มี GDP per capita สูงที่สุดในยุโรป ตรงนี้สะท้อนให้เห็นว่าก้าวต่อไปของเอสโตเนีย คือ การพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตเร็วขึ้นกว่าเดิมโดยอาศัยความได้เปรียบทางชัยภูมิเป็นสำคัญ

สนามบิน Lennart Meri Tallinn Airport ในเมืองทาลลินน์ ตั้งชื่อให้เป็นเกียรติกับ
อดีตประธานาธิบดี Lennart Meri ผู้มีส่วนในการเรียกร้องเอกราชให้เอสโตเนีย

นายอันดรูส อันซิป (Andrus Ansip)
นายกรัฐมนตรีเอสโตเนียคนปัจจุบัน
โดยอันซิปครองตำแหน่งนี้มาแล้ว 3 สมัยตั้งแต่ปี 2005 ถึงปัจจุบัน

          เอสโตเนียนับเป็นประเทศน้องใหม่ที่เพิ่งได้รับเอกราชเมื่อยี่สิบปีที่แล้วนะครับ รัฐเกิดใหม่ทั้งหลายที่แยกตัวมาจากสหภาพโซเวียตเดิมนั้น ต่างต้องปรับตัวดิ้นรนด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นรัสเซียพี่ใหญ่ที่เป็นแกนหลักของสหภาพโซเวียต หรือแม้แต่ “ยูเครน” ที่ว่ากันว่าเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของสหภาพโซเวียต ขณะที่เอสโตเนียดูจะเป็นประเทศเล็ก ๆ ที่ไม่น่าจะมีอะไรโดดเด่นนัก แต่เวลาผ่านไปเอสโตเนียกลับเป็นประเทศแรกที่เคยอยู่กับสหภาพโซเวียตแต่สามารถทะยานตัวเองไปสู่ประเทศในกลุ่มร่ำรวยได้

          ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นชัยชนะของระบบเศรษฐกิจทุนนิยม ระบบเศรษฐกิจแบบตลาดในโลกยุคใหม่ที่เราเรียกมันว่า “โลกาภิวัตน์” ผ่านมุมมองการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเล็ก ๆ อย่างเอสโตเนีย

          แล้วพบกันใหม่ฉบับหน้าครับ……

เอกสารและภาพประกอบการเขียน
          1. http://en.wikipedia.org/wiki/Estonia
          2. http://en.wikipedia.org/wiki/Economy_of_Estonia

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด