เอกสารวิธีการปฏิบัติงาน จะหมายรวมถึงคำแนะนำที่เป็นการเฉพาะหรือรายละเอียดต่าง ๆ ในแต่ละขั้น ว่าจะปฏิบัติหรือกระทำอย่างไรเพื่อให้เป็นไปตามขั้นตอนที่ได้ระบุไว้
แผนการบริหารงานความปลอดภัยในกระบวนการ
(Process Safety Management Program: PSM) (ตอนที่ 2)
ศิริพร วันฟั่น
ในตอนแรกนั้น เราได้กล่าวถึงประวัติความเป็นมา ความหมาย และวัตถุประสงค์หลักของแผนการบริหารงานความปลอดภัยในกระบวนการ รวมถึงองค์ประกอบของแผนงานฯ ไปแล้ว ใน 3 หัวข้อแรก คือ การมีส่วนร่วมของผู้ปฏิบัติงาน (Employee Participation) ข้อมูลความปลอดภัยของกระบวนการ (Process Safety Information: PSI) และการวิเคราะห์อันตรายในกระบวนการ (Process Hazard Analysis: PHA) กันไปแล้ว ในตอนที่สองนี้ ก็จะขอกล่าวถึงเนื้อหาขององค์ประกอบในลำดับถัดมาดังนี้
4. เอกสารวิธีการปฏิบัติงาน (Operating Procedures)
องค์ประกอบนี้ จะเป็นการอธิบายถึงกิจกรรมหรือภารกิจที่จะถูกดำเนินการ ข้อมูลที่จะถูกบันทึก สภาพของปฏิบัติการที่จะคงรักษาไว้ ตัวอย่างที่จะถูกเก็บไปวิเคราะห์ และการเตรียมการป้องกันสำหรับปัญหาด้านความปลอดภัยและสุขภาพ ซึ่งเอกสารวิธีการปฏิบัติงานนี้จำเป็นต้องมีความแม่นยำในทางเทคนิค สามารถสร้างความเข้าใจให้กับผู้ปฏิบัติงานได้ และมีการทบทวนอยู่เป็นระยะเพื่อให้มั่นใจว่าเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงสภาพปัจจุบันของปฏิบัติการ
โดยข้อมูลความปลอดภัยในกระบวนการ (Process Safety Information: PSI) จะถูกใช้เป็นแหล่งข้อมูลอ้างอิงเพื่อที่จะรับประกันได้ว่าเอกสารวิธีการปฏิบัติงาน และการปฏิบัติงานจริงมีความสอดคล้องกับอันตรายต่าง ๆ ที่ได้ทำการชี้บ่งไว้แล้ว และมีการระบุตัวแปรสำคัญของปฏิบัติการ (Operating Parameters) ได้อย่างถูกต้อง โดยเอกสารวิธีการปฏิบัติงานควรที่จะถูกทบทวนโดยทีมวิศวกรและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ เพื่อให้มั่นใจได้ว่ามีความถูกต้อง และปฏิบัติได้จริง (Practical Instructions)
เอกสารวิธีการปฏิบัติงานนี้ จะหมายรวมถึงคำแนะนำที่เป็นการเฉพาะหรือรายละเอียดต่าง ๆ ในแต่ละขั้น (Steps) ว่าจะปฏิบัติหรือกระทำอย่างไรเพื่อให้เป็นไปตามขั้นตอนที่ได้ระบุไว้ ซึ่งคำแนะนำในทางปฏิบัติเหล่านี้ ควรที่จะรวมถึงการเตรียมการป้องกัน เพื่อความปลอดภัยที่สามารถใช้งานได้จริง และควรบรรจุข้อมูลที่ถูกต้องสำหรับการปฏิบัติอย่างปลอดภัย
ตัวอย่างเช่น เอกสารวิธีการปฏิบัติงานในส่วนที่มีการระบุถึงตัวแปรสำคัญของปฏิบัติการ ก็ควรจะมีคำแนะนำในทางปฏิบัติเกี่ยวกับขีดจำกัดของแรงดัน ช่วงของอุณหภูมิ อัตราการไหล ฯลฯ และบ่งบอกว่าต้องปฏิบัติอย่างไร เมื่อเกิดสถานการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ขึ้น รวมถึงลักษณะของสัญญาณเตือนภัยและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องใช้เพื่อระงับ หรือบรรเทาสถานการณ์เลวร้ายนั้น ๆ เป็นต้น
ตัวอย่างอื่น ๆ ของการให้คำแนะนำในทางปฏิบัติ เพื่อให้สามารถดำเนินการตามเอกสารวิธีการปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้องเหมาะสม เช่น คำแนะนำในช่วงของการเริ่มกระบวนการ (Starting Up) และการหยุดกระบวนการ (Shutting Down) ซึ่งสำหรับในกรณีนี้จะมีตัวแปรสำคัญหลายตัวที่มีความแตกต่างกันระหว่างช่วงเริ่มต้นกระบวนการ และสภาวะปกติของปฏิบัติการ (Normal Operation)
ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการระบุให้ชัดเจนถึงความแตกต่างนี้ไว้ในคำแนะนำเหล่านั้น เช่น ช่วงเวลาในการอุ่นเครื่องเพื่อให้อุณหภูมิถึงค่าที่กำหนดไว้ในสภาวะปกติของปฏิบัติการ โดยในคำแนะนำนี้ จะระบุถึงวิธีที่ถูกต้องของการเพิ่มอุณหภูมิในส่วนต่าง ๆ ของเครื่องยนต์ จนกระทั่งถึงค่าอุณหภูมิที่กำหนดไว้ในสภาวะปกติของปฏิบัติการ
สำหรับกรณีที่มีการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ในการควบคุมกระบวนการ ก็จะเพิ่มความสลับซับซ้อนของคำแนะนำในทางปฏิบัติ ซึ่งมีความจำเป็นที่ต้องอธิบายตรรกะของซอฟต์แวร์เช่นเดียวกับความสัมพันธ์ระหว่างอุปกรณ์และระบบควบคุม มิฉะนั้นอาจทำให้ผู้ปฏิบัติงานเกิดความสับสนได้
เอกสารวิธีการปฏิบัติงานและคำแนะนำในทางปฏิบัติ ถือได้ว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับวิทยากรฝึกอบรม โดยเอกสารวิธีการปฏิบัติงานจะเป็นเสมือนมาตรฐานในการปฏิบัติงาน (The Standard Operating Practices: SOPs) ซึ่งเจ้าหน้าที่ในห้องควบคุม และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการจำเป็นต้องมีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ โดยภาษาที่ใช้ในเอกสารเหล่านี้ ควรจะเข้าใจได้ง่าย ชัดเจน ไม่คลุมเครือ
กรณีที่จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงเอกสารวิธีการปฏิบัติงาน เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในกระบวนการ อันเป็นผลมาจากการบริหารความเปลี่ยนแปลง (Management of Changes) เราจำเป็นต้องมีการประเมินดูว่าความเปลี่ยนแปลงนั้น ๆ ส่งผลต่อวิธีการปฏิบัติงานหรือไม่ และส่งผ่านข้อมูลไปยังเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการต่อไป
เช่น กรณีการเปลี่ยนแปลงทางกลศาสตร์ (Mechanical) ในกระบวนการ ซึ่งกระทำโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายซ่อมบำรุง (เช่น การเปลี่ยนวาล์วจากวัสดุที่ทำจากโลหะไปเป็นทองเหลืองหรือการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ที่แทบจะสังเกตไม่เห็นความแตกต่าง) จำเป็นที่จะต้องได้รับการประเมิน เพื่อพิจารณาว่ามีความจำเป็นที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงวิธีการปฏิบัติงานหรือไม่ หากวิธีการปฏิบัติงานเปลี่ยน ก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนเอกสารวิธีการปฏิบัติงานตามไปด้วย
โดยปกติแล้วเอกสารวิธีการปฏิบัติงานฉบับปรับปรุงแก้ไข จะต้องแล้วเสร็จ และนำไปฝึกอบรมให้กับพนักงานก่อนที่เริ่มกระบวนการใหม่ ทั้งในเรื่องวิธีการปฏิบัติงานตามปกติ และวิธีปฏิบัติในสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น กรณีที่ ซีลของปั๊มหลุด หรือทางเดินของท่อมีการแตกร้าว เป็นต้น รวมถึงวิธีการสื่อสารระหว่างผู้ปฏิบัติการและเพื่อนร่วมงานคนอื่น ๆ ที่ทำงานอยู่ในละแวกเดียวกันด้วย นอกจากนี้ข้อมูลของอันตรายจากงานที่ทำควรจะถูกส่งผ่านไปยังผู้ปฏิบัติงานเพื่อความสอดคล้องกับเอกสารวิธีการปฏิบัติงานที่จัดทำขึ้น
ทีมงานที่รับผิดชอบในองค์ประกอบนี้ของแผนงานฯ จะต้องมั่นใจว่าเอกสารวิธีการปฏิบัติงานนั้น ๆ มีผลบังคับใช้ และสอดคล้องกับข้อมูลความปลอดภัยในกระบวนการ (Process Safety Information: PSI) ซึ่งจะช่วยให้คำแนะนำที่ชัดเจนสำหรับการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการได้อย่างปลอดภัย ซึ่งทีมงานฯ ต้องมั่นใจได้ว่าทุก ๆ กิจกรรมและเอกสารวิธีการปฏิบัติงานที่เชื่อมโยงกับกระบวนการนั้น ๆ มีความเหมาะสม ชัดเจน คงเส้นคงวา และสำคัญที่สุด ก็คือมีการสื่อสารที่ดีไปยังผู้ปฏิบัติงาน โดยอย่างน้อย ๆ เอกสารวิธีการปฏิบัติงานเหล่านี้ต้องสามารถที่จะระบุถึงส่วนประกอบสำคัญ ดังต่อไปนี้ คือ
วิธีปฏิบัติงานในแต่ละช่วงของปฏิบัติการ
- การเริ่มต้นกระบวนการ (Initial Startup)
- ปฏิบัติการในสภาวะปกติ (Normal Operations)
- ปฏิบัติการชั่วคราว (Temporary Operations)
- การหยุดฉุกเฉิน (Emergency Shutdown) operation) รวมถึงสภาวการณ์ใดที่จำเป็นต้องหยุดฉุกเฉิน และกำหนดตัวบุคคลและความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ในการหยุดฉุกเฉิน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าการหยุดฉุกเฉินนี้จะถูกดำเนินการได้อย่างปลอดภัยและทันท่วงที
- ปฏิบัติการในสภาวะฉุกเฉิน (Emergency Operations)
- การหยุดตามสภาวะปกติ (Normal Shutdown) และ
- การเริ่มกระบวนการหลังจากมีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ หรือหลังจากมีการหยุดฉุกเฉิน
ข้อจำกัดในการปฏิบัติงาน
- ข้อจำกัดของตัวแปรสำคัญต่าง ๆ เช่น ขีดจำกัดของแรงดัน อัตราการไหล ช่วงของอุณหภูมิ ฯลฯ
- ผลลัพธ์ของการเบี่ยงเบน (Deviation)
- ขั้นตอนที่จำเป็นสำหรับการแก้ไขหรือหลีกเลี่ยงการเบี่ยงเบน
ข้อควรพิจารณาในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยและสุขภาพ
- คุณลักษณะ และอันตรายที่ปรากฏของสารเคมีที่ใช้ในกระบวนการ
- ข้อควรระวังที่จำเป็นในการป้องกันการสัมผัส รวมถึงการควบคุมเชิงวิศวกรรม การควบคุมเชิงบริหารจัดการ และอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล
- มาตรการควบคุมที่จะถูกใช้ กรณีเกิดการสัมผัสทางร่างกาย หรือการปนเปื้อนในอากาศ
- การควบคุมคุณภาพสำหรับวัตถุดิบ และการควบคุมระดับสินค้าคงคลังของสารเคมีอันตราย
- อันตรายที่มีลักษณะพิเศษหรือเป็นเอกลักษณ์ และ
- ระบบความปลอดภัย (เช่น อินเตอร์ล็อก การตรวจจับ หรือการระงับ) และฟังก์ชั่นการใช้งาน
ทีมงานที่รับผิดชอบในองค์ประกอบนี้ของแผนงานฯ ต้องมั่นใจได้ว่าข้อมูลที่เตรียมไว้นั้น จะเป็นแหล่งอ้างอิงสำคัญที่ใช้ในการฝึกอบรมผู้ปฏิบัติงาน โดยผู้ปฏิบัติงานที่ทำงานในกระบวนการนั้น ๆ จะต้องสามารถเข้าถึงเอกสารวิธีการปฏิบัติงานได้ทุกเมื่อ
และจะต้องมีการทบทวนเอกสารวิธีการปฏิบัติงานเท่าที่จำเป็นเพื่อให้มั่นใจได้ว่า เอกสารดังกล่าว ได้สะท้อนถึงสภาวะปัจจุบันอย่างแท้จริงของกระบวนการ ไม่ว่าจะเป็น การเปลี่ยนแปลงใด ๆ ในสารเคมี เทคโนโลยี อุปกรณ์ และเครื่องมือ อาคาร ภาชนะบรรจุ และยังต้องมีการรับรองประจำปี (Annual Certification) ด้วยว่าเอกสารวิธีการปฏิบัติงานนี้มีความถูกต้องและทันต่อสภาวการณ์ปัจจุบันของกระบวนการ
นอกจากนี้ ทีมงานยังต้องดำเนินการเพื่อให้มั่นใจว่าเอกสารดังกล่าว มีผลบังคับใช้ในการนำไปปฏิบัติตามวิธีการปฏิบัติงานอย่างปลอดภัย (Safe Work Practices) ซึ่งจะทำให้สามารถจัดสรรวิธีการควบคุมอันตรายในระหว่างกิจกรรมการทำงานได้ เช่น การล็อกเอาต์/แท็กเอาต์ ระบบการขออนุญาตเข้าพื้นที่อับอากาศ วิธีการเปิดอุปกรณ์หรือท่อที่อยู่ในกระบวนการ และการควบคุมทางเข้าสู่พื้นที่งานที่มีกระบวนการอันตราย ฯลฯ ซึ่งวิธีการปฏิบัติงานอย่างปลอดภัยนี้จะใช้ทั้งกับผู้ปฏิบัติงาน ช่างซ่อมบำรุง และลูกจ้างของผู้รับเหมาด้วย
5. การฝึกอบรม (Training)
ผู้ปฏิบัติงานทุกคน ซึ่งจะรวมไปถึงช่างซ่อมบำรุงและลูกจ้างของผู้รับเหมาที่ปฏิบัติการเกี่ยวข้องกับกระบวนการที่มีสารเคมีอันตราย มีความจำเป็นที่จะต้องเข้าใจอย่างถ่องแท้ ถึงลักษณะและสาเหตุของอันตรายต่าง ๆ ทั้งจากสารเคมีและกระบวนการ ที่อาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยและสุขภาพ
ทั้งนี้เพื่อเพิ่มความตระหนักถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้น และรับทราบถึงวิธีป้องกันทั้งต่อตนเอง เพื่อนร่วมงานและผู้อยู่อาศัยในชุมชนละแวกใกล้เคียง โดยโปรแกรมการฝึกอบรมที่มีประสิทธิภาพนั้นจะมีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง ในการลดจำนวนและความรุนแรงของอุบัติการณ์ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการ และจะเป็นเครื่องมือในการช่วยป้องกันปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่จะลุกลามไปสู่หายนะอันยิ่งใหญ่ต่อไปได้
ซึ่งในการฝึกอบรมที่มีการสื่อสารให้รับทราบถึงอันตรายต่าง ๆ นั้น จะเป็นการช่วยผู้ปฏิบัติงานให้มีความเข้าใจมากยิ่งขึ้น เกี่ยวกับสารเคมีที่เขาเหล่านี้ต้องทำงานด้วย เช่นเดียวกับการทำความคุ้นเคยกับสารเคมีโดยการอ่านและทำความเข้าใจกับเอกสารข้อมูลความปลอดภัยสารเคมี (MSDS)
อย่างไรก็ตาม การฝึกอบรมเพิ่มเติมในประเด็นต่าง ๆ เช่น เอกสารวิธีการปฏิบัติงาน (Operating Procedures) วิธีปฏิบัติงานอย่างปลอดภัย (Safe Work Practices) การรับมือเหตุฉุกเฉิน (Emergency Response) ขั้นตอนขออนุญาตทำงานทั้งงานประจำและไม่ประจำ และประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในกระบวนการ ก็สมควรที่จะถูกบรรจุไว้ในโปรแกรมการฝึกอบรมด้วยเช่นกัน
ในการจัดตั้งโปรแกรมฝึกอบรม ทีมงานฝึกอบรมจะต้องระบุให้แน่ชัดว่า ผู้ปฏิบัติงานคนใดควรได้รับการฝึกอบรมในประเด็นใดบ้าง ซึ่งต้องมีการระบุถึงเป้าหมายและวัตถุประสงค์ในการฝึกอบรมด้วย ทั้งนี้ควรตั้งไว้ก่อนที่การฝึกอบรมจะเริ่มขึ้น
โดยเป้าหมายจะต้องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในการฝึกอบรม และสามารถวัดผลได้ รวมถึงปรับให้เข้ากับแต่ละรูปแบบหรือภาคส่วนของการฝึกอบรมที่มีลักษณะเฉพาะแตกต่างกัน โดยทีมงานฯ ควรอธิบายถึงการกระทำและสภาวการณ์ที่สำคัญ ซึ่งผู้ปฏิบัติงานจะได้แสดงออกถึงความสามารถหรือความรู้ที่ตนเองมีอยู่ เช่นเดียวกับรู้ว่าผลของการกระทำในระดับใดที่สามารถยอมรับได้
ควรที่จะเพิ่มเติมการเรียนรู้ในภาคปฏิบัติเข้าไปในการฝึกอบรมด้วย โดยผู้ปฏิบัติงานสามารถที่จะใช้ประสาทสัมผัส (Senses) ของตนเอง นอกเหนือไปจากการรับฟังภาคทฤษฎี ตัวอย่างเช่น เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในห้องควบคุม หรือแผงควบคุม (Control Panels) ควรได้รับการฝึกอบรมในห้องควบคุม หรืออบรมการใช้แผงควบคุมที่เป็นแบบจำลอง (Simulators) ซึ่งสามารถที่จะเลียนแบบ
หรือสร้างสถานการณ์จำลองฉุกเฉินในแบบต่าง ๆ ขึ้นมา เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานได้ใช้เอกสารวิธีการปฏิบัติงานที่เหมาะสม ในการนำพาให้กลับคืนสู่สภาวะปกติของปฏิบัติการ การฝึกอบรมในสภาพแวดล้อมเสมือนจริง จะช่วยให้ผู้เข้าอบรมได้สัมผัสสถานการณ์ต่าง ๆ ตามความเป็นจริงมากขึ้น
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องอยู่ในภาวะที่สามารถควบคุมสถานการณ์จำลองนั้นได้ ซึ่งการฝึกอบรมประเภทนี้ จะมีประสิทธิภาพมากในการสอนผู้ปฏิบัติงานให้รู้จักแก้ไขสถานการณ์ ขณะเดียวกันก็ทำให้เห็นถึงผลลัพธ์ที่อาจเกิดขึ้นถ้าไม่มีการปฏิบัติตามเอกสารวิธีการปฏิบัติงาน
ส่วนเทคนิคอื่น ๆ ในการฝึกอบรม ก็สามารถนำมาใช้ได้เช่นกัน เช่น การใช้วีดีโอเทปหรือการฝึกอบรมในสภาพงานจริง ก็จะมีประสิทธิภาพมากในการสอนให้เข้าใจถึงกิจกรรมในงาน หน้าที่รับผิดชอบ หรือรับทราบข้อมูลในส่วนที่สำคัญ เป็นต้น โดยโปรแกรมฝึกอบรมที่มีประสิทธิภาพนั้น จะต้องยินยอมให้ผู้ปฏิบัติงานได้เข้ามามีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ สามารถที่จะฝึกฝนและเพิ่มพูนทักษะและความรู้ของตนเองได้อย่างแท้จริงโดยไม่มีการปิดบัง
ทีมงานฝึกอบรมจำเป็นต้องมีการประเมินผลประสิทธิภาพและประสิทธิผลของโปรแกรมการฝึกอบรมอยู่เป็นระยะ เพื่อที่จะได้รับทราบว่าผู้ที่ผ่านการฝึกอบรม ได้นำเอาทักษะและความรู้ที่ได้จากการฝึกอบรมไปปฏิบัติจริงหรือไม่ และมีความเข้าใจในวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องตามที่ได้ฝึกอบรมมาหรือไม่ เพียงใด โดยเครื่องมือหรือกรรมวิธีในการประเมินนั้น ควรถูกพัฒนาไปพร้อมกับเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของโปรแกรมฝึกอบรม ซึ่งการประเมินโปรแกรมฝึกอบรมจะช่วยให้ทีมงานฯ สามารถพิจารณาถึงปริมาณหรือระดับความเข้าใจของผู้ปฏิบัติงาน ว่าเป็นไปตามที่คาดหวังไว้หรือไม่
หากประเมินแล้วพบว่าผู้ที่เข้าอบรมมีระดับความรู้และทักษะไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ ทีมงานฯ ก็มีความจำเป็นต้องทบทวนโปรแกรมฝึกอบรม หรือจัดฝึกอบรมซ้ำ หรือจัดให้มีการฝึกอบรมบ่อยครั้งขึ้น เพื่อกระตุ้นผู้ปฏิบัติงานให้สามารถรื้อฟื้นความเข้าใจในเนื้อหาของการฝึกอบรมจนกระทั่งข้อบกพร่องต่าง ๆ ได้รับการแก้ไขจนอยู่ในระดับที่น่าพอใจ
ซึ่งทีมงานฯ และผู้เข้าอบรมสามารถที่จะพูดคุยหรือปรึกษาหารือกัน เพื่อที่จะหาวิธีที่ดีที่สุดในการพัฒนากระบวนการฝึกอบรม เช่น ถ้ามีอุปสรรคในเรื่องของภาษาที่ใช้ในการฝึกอบรม ซึ่งอาจจะเป็นทางการหรือเป็นศัพท์เทคนิคที่เข้าใจยาก ก็ต้องมีการปรับรูปแบบของภาษาให้สามารถเข้าใจได้ง่าย หรือเป็นที่รู้จักของผู้ปฏิบัติงานมากขึ้น เพื่อเป็นการเสริมสร้างความเข้าใจในข้อความและข้อมูลของที่ส่งออกไปจากทีมงานฯ เป็นต้น
ควรมีการพิจารณาอย่างรอบคอบเพื่อให้มั่นใจได้ว่าผู้ปฏิบัติงาน รวมถึงช่างซ่อมบำรุงและลูกจ้างของผู้รับเหมาได้รับการฝึกอบรมในเนื้อหาปัจจุบันและทันต่อเหตุการณ์ ตัวอย่างเช่น ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ เกิดขึ้นกับกระบวนการ ผู้ปฏิบัติงานที่ได้รับผลกระทบต้องได้รับการฝึกอบรมเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงนั้น ๆ และต้องเข้าใจถึงผลกระทบของความเปลี่ยนแปลงที่มีต่อกิจกรรมในงานที่ตนเองรับผิดชอบด้วย
เช่น เอกสารวิธีการปฏิบัติงานใหม่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานที่ทำอยู่ และเมื่อมีการอภิปรายกันด้วยเหตุผลระหว่างทีมงานฯ ในเรื่องของการประเมินความเข้าใจในการฝึกอบรมของผู้ปฏิบัติงาน ก็สามารถที่จะระบุได้ถึงความจำเป็นสำหรับการฝึกอบรมได้อย่างแท้จริง
โปรแกรมการฝึกอบรมที่มีประสิทธิภาพ อย่างน้อยควรมีองค์ประกอบ ดังนี้ คือ
* การฝึกอบรมขั้นต้น (Initial Training) การดำเนินงานฝึกอบรมที่มีประสิทธิภาพ จะเป็นหนึ่งในก้าวย่างที่สำคัญที่สุดที่จะเพิ่มพูนความปลอดภัยให้กับผู้ปฏิบัติงาน ฉะนั้นแผนงานฯ จึงกำหนดให้ผู้ปฏิบัติงานแต่ละคนที่เกี่ยวข้องในกระบวนการ ต้องได้รับการฝึกอบรมในภาพรวมของกระบวนการ และเอกสารวิธีการปฏิบัติงานในกระบวนการนั้น ๆ ซึ่งการฝึกอบรมจะต้องมีการเน้นย้ำถึงลักษณะเฉพาะของอันตรายต่อความปลอดภัยและสุขภาพของผู้ปฏิบัติงาน และปฏิบัติการฉุกเฉิน รวมถึงวิธีปฏิบัติงานอย่างปลอดภัย
โดยผู้ปฏิบัติงานที่ทำงานเกี่ยวข้องกับกระบวนการนั้น ๆ อยู่แล้ว ในวันที่แผนงานฯ มีผลบังคับใช้ อาจไม่มีความจำเป็นที่จะได้รับการฝึกอบรมขั้นต้น (Initial Training) อีก แต่อย่างไรก็ตาม ทีมงานฝึกอบรมอาจจะต้องมีการประเมินความรู้ เพื่อการรับรองอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรว่าผู้ปฏิบัติงานมีความรู้ ทักษะและความสามารถตามที่กำหนด และสามารถดำเนินการตามภาระหน้าที่และความรับผิดชอบในเอกสารวิธีการปฏิบัติงานได้อย่างปลอดภัย
* การฝึกอบรมเพื่อรื้อฟื้นความเข้าใจในเนื้อหาของการฝึกอบรม (Refresher Training) ต้องมีการจัดขึ้นอย่างน้อยทุก ๆ 3 ปี หรือตามความจำเป็น เพื่อให้มั่นใจได้ว่าผู้ปฏิบัติงานมีความเข้าใจและปฏิบัติตามเอกสารวิธีการปฏิบัติงานฉบับปัจจุบันของกระบวนการได้อย่างเคร่งครัด โดยทีมงานฯ ต้องมีการประเมินถึงความจำเป็นของความถี่ในการฝึกอบรมในส่วนนี้
* จัดทำเอกสารเกี่ยวกับการฝึกอบรม (Training Documentation) โดยทีมงานฯ ต้องพิจารณาว่าผู้ปฏิบัติงานแต่ละคนที่ปฏิบัติการเกี่ยวข้องกับกระบวนการ ได้รับการฝึกอบรมและมีความเข้าใจในเนื้อหาที่กำหนดไว้ในแผนงานฯ แล้วหรือยัง โดยต้องมีการจดบันทึกเป็นเอกสารที่ระบุถึงรายละเอียดทั้งหมดของผู้เข้ารับการฝึกอบรมแต่ละคน วันที่ฝึกอบรม และเครื่องมือที่ใช้รับรองว่าผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีความเข้าใจในเนื้อหาของการฝึกอบรม
6. ผู้รับเหมา (Contractors)
กรณีที่มีความจำเป็นต้องเลือกใช้บริการจากผู้รับเหมา ที่จะเข้ามาทำงานในส่วนที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับกระบวนการที่มีสารเคมีอันตราย หรืออยู่ใกล้เคียงกับบริเวณพื้นที่งานอันตรายนั้น ทีมงานที่รับผิดชอบองค์ประกอบนี้มีความจำเป็นที่จะต้องจัดตั้งกระบวนการกลั่นกรอง (Screening Process) เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาสำหรับการจ้างและใช้บริการจากผู้รับเหมา ซึ่งจะเป็นผู้ที่ได้รับเลือกเข้ามาทำงานในส่วนที่ผู้ประกอบการได้กำหนดไว้ โดยไม่มีการประนีประนอม หรืออ่อนข้อในประเด็นของความปลอดภัยและสุขภาพ ที่จะส่งผลกระทบต่อลูกจ้างของผู้รับเหมาโดยเด็ดขาด
สำหรับผู้รับเหมารายใหม่ ซึ่งผลงานด้านความปลอดภัยในการทำงานยังไม่เป็นที่ปรากฏ หรือยังไม่เป็นที่รู้จักของผู้ประกอบการ ทีมงานฯ ก็มีความจำเป็นที่จะต้องขอข้อมูลจากผู้รับเหมาเกี่ยวกับอัตราการบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยของลูกจ้าง ประสบการณ์การทำงานในอดีต และแหล่งอ้างอิงที่น่าเชื่อถือของผู้รับเหมา
นอกจากนี้ทีมงานฯ ต้องมั่นใจได้ว่าผู้รับเหมาที่จะได้รับการคัดเลือกเป็นผู้ที่มีทักษะ ความรู้ ความชำนาญในการทำงานที่ถูกมอบหมายได้อย่างเหมาะสม และรับรองได้ถึงความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของตัวผู้ปฏิบัติงานของผู้รับเหมา (เช่น ช่างเชื่อมท่อส่งหรือถังแรงดัน) และทีมงานฯ ยังต้องมีการประเมินวิธีการปฏิบัติงานและประสบการณ์ทำงานของผู้รับเหมาด้วย เช่น ผู้รับเหมามีรูปแบบวิธีการทำงานที่เสี่ยงต่อการเกิดอันตรายขึ้นหรือไม่
การเก็บรักษาบันทึกรายงานเกี่ยวกับการบาดเจ็บ และการเจ็บป่วยในพื้นที่งานของผู้รับเหมา จะเป็นวิธีหนึ่งที่ทีมงานฯ สามารถใช้ในการเฝ้าติดตาม และประเมินความรู้ ความชำนาญในปัจจุบันของลูกจ้างของผู้รับเหมาที่ทำงานในส่วนที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับกระบวนการหรืออยู่ในบริเวณใกล้เคียง
ซึ่งรายงานบันทึกที่ว่านี้นอกจากจะเป็นประโยชน์ทั้งต่อลูกจ้างของผู้รับเหมา และผู้ปฏิบัติงานของผู้ประกอบการเองแล้ว ยังจะช่วยเพิ่มพูนความรู้ให้กับทีมงานฯ เกี่ยวกับลักษณะและสาเหตุของการบาดเจ็บ และการเจ็บป่วยอันเป็นผลจากการทำงานในกระบวนการนั้น ๆ ไปพร้อมกันด้วย และข้อมูลจากรายงานบันทึกนี้ยังจะถูกใช้ในการตรวจประเมินในการปฏิบัติตามข้อบังคับของแผนงานฯ (Compliance Audits) และการสอบสวนอุบัติการณ์ (Incident investigations) ได้อีกด้วย
ลูกจ้างของผู้รับเหมาจะต้องสามารถทำงานที่ได้รับมอบหมายได้อย่างปลอดภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในงานที่มีลักษณะพิเศษและมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดอันตรายขึ้น เช่น ที่อับอากาศ หรือการซ่อมบำรุงที่ไม่ใช่งานประจำ เป็นต้น ซึ่งงานประเภทนี้มีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องได้รับการควบคุมในขณะที่ปฏิบัติการกับกระบวนการหรืออยู่ในบริเวณใกล้เคียง
โดยควรจัดตั้งระบบอนุมัติการทำงาน (Permit System) ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ปฏิบัติงานทั้งหมดที่อาจได้รับผลกระทบนั้น และทำให้ทีมงานฯ ได้รับทราบถึงผลการปฏิบัติงานของพนักงานทั้งหมด และยังสามารถที่จะประสานงานและควบคุมการบริหารจัดการงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ที่เกี่ยวกับกระบวนการได้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย
กล่าวโดยสรุป สำหรับองค์ประกอบของแผนงานฯ ซึ่งเกี่ยวกับผู้รับเหมานี้ สามารถแบ่งความรับผิดชอบเป็น 2 ส่วนสำคัญ ดังนี้ คือ
(1) ความรับผิดชอบของทีมงานฯ
- โดยในการคัดเลือกผู้รับเหมาที่จะเข้ามาทำงานนั้น ทีมงานฯ ต้องได้รับข้อมูลจากผู้รับเหมา และประเมินข้อมูลที่เกี่ยวกับผลการทำงาน อันจะแสดงได้ว่ามีความปลอดภัยในการทำงาน รวมถึงรายละเอียดแผนการทำงานของผู้รับเหมา
- ทีมงานจะต้องแจ้งผู้รับเหมาให้รับทราบถึงอันตรายต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในกระบวนการที่ผู้รับเหมาได้ถูกว่าจ้างให้กระทำ เช่น การลุกไหม้ การระเบิด หรือก๊าซพิษที่อาจรั่วไหลออกมาได้ และอธิบายแผนรับเหตุฉุกเฉินให้ผู้รับเหมาทราบ
- ดำเนินการให้มีวิธีปฏิบัติงานอย่างปลอดภัย (Safe Work Practices) เพื่อใช้ควบคุมลูกจ้างของผู้รับเหมาทั้งในการตรวจสอบการเข้าและออกจากพื้นที่งานที่ได้รับมอบหมาย
- ประเมินผลการปฏิบัติตามข้อกำหนด/สัญญาของผู้รับเหมาอยู่เป็นระยะ และ
- เก็บรักษาบันทึกรายงานการบาดเจ็บและเจ็บป่วยในพื้นที่งานของผู้รับเหมา อันเป็นผลมาจากการทำงานในส่วนที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับกระบวนการหรืออยู่บริเวณใกล้เคียง
(2) ความรับผิดชอบของผู้รับเหมา
- มั่นใจได้ว่าผู้ปฏิบัติงานของตนได้ผ่านการฝึกอบรม และรับทราบถึงวิธีปฏิบัติงานที่มีความจำเป็นในการดำเนินงานตามที่ได้รับมอบหมายได้อย่างปลอดภัย
- มั่นใจได้ว่าผู้ปฏิบัติงานของตนได้รับคำแนะนำถึงอันตรายต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น การลุกไหม้ การระเบิด หรือก๊าซพิษที่อาจรั่วไหลออกมาจากงานหรือกระบวนการที่ได้รับมอบหมายให้กระทำ และรับทราบแผนรับเหตุฉุกเฉิน
- จัดเตรียมเอกสารที่ระบุได้ว่าผู้ปฏิบัติงานของตนแต่ละคนได้ผ่านการฝึกอบรม และมีความเข้าใจในเนื้อหาของการฝึกอบรม โดยจดบันทึกรายละเอียดทั้งหมดของผู้ปฏิบัติงานแต่ละคนที่เข้ารับการฝึกอบรม วันที่ฝึกอบรม และระบุเครื่องมือที่ใช้ในการรับรองว่าผู้เข้าอบรมคนนั้น ๆ มีความเข้าใจในเนื้อหาของการฝึกอบรมเป็นอย่างดี
- มั่นใจได้ว่าผู้ปฏิบัติงานของตนจะปฏิบัติตามกฎข้อบังคับด้านความปลอดภัยของพื้นที่งานที่ระบุไว้ ซึ่งรวมถึงวิธีการปฏิบัติงานอย่างปลอดภัย (Safe Work Practices) และ
- แจ้งหรือรายงานโดยตรงต่อทีมงานฯ ทันทีที่พบเจออันตรายต่าง ๆ อันเป็นผลจากการทำงานที่ได้รับมอบหมายมาของผู้รับเหมา
7. การทบทวนความปลอดภัยก่อนเริ่มต้นกระบวนการ (Pre–Startup Safety Review: PSSR)
เป็นเรื่องสำคัญมาก ที่จะต้องมีการทบทวนความปลอดภัยก่อนที่จะนำสารเคมีอันตรายใด ๆ เข้าสู่กระบวนการ ดังนั้นแผนงานฯ จึงกำหนดให้การนการนที่ระบุไว้ ได้อย่างปลอดภัย ทีมงานฯ ต้องดำเนินการทบทวนความปลอดภัยก่อนเริ่มกระบวนการไม่ว่าจะเป็นในส่วนของอาคาร ภาชนะบรรจุ หรืออุปกรณ์ใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการ ทั้งที่เป็นของใหม่และของที่มีการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงใด ๆ อันมีนัยสำคัญเพียงพอ ที่จะส่งผลให้ต้องเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญในข้อมูลความปลอดภัยของกระบวนการ (Process Safety Information: PSI)
ในการทบทวนความปลอดภัยก่อนเริ่มกระบวนการ ก่อนที่สารเคมีอันตรายใด ๆ จะถูกนำเข้าสู่กระบวนการนั้น การนการนที่ระบุไว้ ได้อย่างปลอดภัย ทีมงานฯ ต้องสามารถยืนยันถึงสิ่งเหล่านี้ได้
- การก่อสร้างและอุปกรณ์เป็นไปตามแบบ/คุณสมบัติที่ได้ระบุไว้
- มีขั้นตอนวิธีการปฏิบัติงาน และการซ่อมบำรุงอย่างปลอดภัย รวมถึงมีการเตรียมพร้อมรับเหตุฉุกเฉิน อย่างเพียงพอ
- มีการวิเคราะห์อันตรายในกระบวนการ (Process Hazard Analysis: PHA) สำหรับอาคาร ภาชนะบรรจุ หรืออุปกรณ์ใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการใหม่ และข้อเสนอแนะได้รับการแก้ไขหรือนำไปปฏิบัติก่อนที่จะเริ่มกระบวนการ และการปรับปรุงใด ๆ สำหรับอาคาร ภาชนะบรรจุ หรืออุปกรณ์ใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเป็นไปตามข้อบังคับของการบริหารความเปลี่ยนแปลง (Management of Change) และ
- มีการฝึกอบรมให้กับผู้ปฏิบัติงานทุกคนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับกระบวนการ ก่อนที่จะเริ่มกระบวนการ
สำหรับกระบวนการใหม่ มักพบว่าการวิเคราะห์อันตรายในกระบวนการ (PHA) จะมีประโยชน์มากในการพัฒนารูปแบบ และการสร้างกระบวนการขึ้นมาจากกระบวนทัศน์ที่มีความน่าเชื่อถือและได้คุณภาพ โดยที่ความปลอดภัยสำหรับปฏิบัติการในกระบวนการใหม่นั้น
สามารถเพิ่มพูนขึ้นได้โดยใช้ข้อแนะนำจากการวิเคราะห์อันตรายฯ ก่อนที่การติดตั้งในขั้นตอนสุดท้ายจะเสร็จสิ้น ซึ่งแผนภาพของท่อและเครื่องมือ (Piping & Instrumentation Diagrams: P&IDs) จะแล้วเสร็จ พร้อมกับขั้นตอนการปฏิบัติงาน และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานได้ผ่านการฝึกอบรมก่อนที่เริ่มกระบวนการ
โดยขั้นตอนสำหรับการเริ่มต้นกระบวนการ (Initial Startup) และปฏิบัติการในสภาวะปกติ (Normal Operating) นั้น จำเป็นต้องได้รับการประเมินอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการทบทวนความปลอดภัยก่อนเริ่มกระบวนการ เพื่อที่จะทำให้มั่นใจได้ว่าความปลอดภัยได้ถูกส่งผ่านไปยังโหมดปฏิบัติการในสภาวะปกติ และเป็นไปตามค่าตัวแปรสำคัญของกระบวนการที่ได้กำหนดไว้
สำหรับกระบวนการเดิมที่มีอยู่และได้หยุดปฏิบัติการชั่วคราวเพื่อทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ปรับปรุงหรือเคลื่อนย้าย ฯลฯ ทีมงานฯ ต้องมั่นใจว่าการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ที่กระทำต่อกระบวนการในระหว่างช่วงของการหยุดปฏิบัติการชั่วคราว ที่มากกว่าหรือนอกเหนือจากการแทนที่ตามคุณลักษณะที่กำหนดไว้ (Replacement in Kind) นั้น จะต้องผ่านขั้นตอนของการบริหารความเปลี่ยนแปลง (Management of Changes) ด้วย
ส่วนแผนภาพของท่อและเครื่องมือ (Piping & Instrumentation Diagrams: P&IDs) ก็อาจจะต้องได้รับการปรับปรุงเมื่อพิจารณาแล้วว่ามีความจำเป็นเช่นเดียวกับเอกสารวิธีการปฏิบัติงาน (Operating Procedures) และข้อแนะนำ
หากการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ที่เกิดขึ้นกับกระบวนการในระหว่างช่วงของการหยุดปฏิบัติการชั่วคราวมีนัยสำคัญและส่งผลกระทบต่อโปรแกรมการฝึกอบรม ผู้ปฏิบัติงาน (ทั้งงานประจำและไม่ประจำ) ที่ทำงานในพื้นที่งานของกระบวนการก็อาจมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับการฝึกอบรม เพื่อรื้อฟื้นความเข้าใจในเนื้อหาของการฝึกอบรม (Refresher Training) หรือฝึกอบรมเพิ่มเติมเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
ส่วนข้อแนะนำใด ๆ จากการสอบสวนอุบัติการณ์ การตรวจประเมินในการปฏิบัติตามข้อบังคับของแผนงานฯ หรือการวิเคราะห์อันตรายในกระบวนการก็มีความจำเป็นที่จะต้องมีการทบทวน เพื่อให้มองเห็นได้อย่างชัดเจนว่าสิ่งใดที่อาจส่งผลกระทบต่อกระบวนการ โดยจะต้องทำการทบทวนก่อนที่จะมีการเริ่มต้นกระบวนการ
8. ความเที่ยงตรงของกลไกการทำงาน (Mechanical Integrity)
อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ถูกใช้งานในกระบวนการจำเป็นต้องได้รับการออกแบบ สร้าง ติดตั้ง และบำรุงรักษาอย่างถูกต้อง เหมาะสมเพื่อที่จะสามารถลดความเสี่ยงที่จะเกิดการรั่วไหลของสารเคมีอันตราย ด้วยเหตุผลนี้จึงมีความจำเป็นที่โปรแกรมความเที่ยงตรงของกลไกการทำงาน (Mechanical Integrity Program: MIP) จะถูกนำมาใช้เพื่อให้มั่นใจได้ในความต่อเนื่อง เที่ยงตรงของกลไกการทำงานของอุปกรณ์ที่ใช้ในกระบวนการ
โดยทีมงานฯ ต้องจัดตั้งและคงไว้ซึ่งการดำเนินงานของโปรแกรมความเที่ยงตรงของกลไกการทำงานอย่างต่อเนื่อง โดยสมาชิกของทีมงานฯ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ต้องได้รับการฝึกอบรมในภาพรวมของกระบวนการ และอันตรายของกระบวนการ
โดยฝึกอบรมในขั้นตอนการนำไปประยุกต์ใช้ให้เข้ากับกิจกรรมในงานของผู้ปฏิบัติงานได้ และมีความจำเป็นที่ต้องทบทวนโปรแกรมบำรุงรักษา (Maintenance Program) และตารางเวลาบำรุงรักษา (Schedules) ยิ่งถ้าปรากฏว่าในพื้นที่งานมีการบำรุงรักษาหลังเกิดเหตุขัดข้อง (Breakdown Maintenance) มากกว่าการใช้โปรแกรมความเที่ยงตรงของกลไกการทำงาน
โดยโปรแกรมความเที่ยงตรงของกลไกการทำงานมีองค์ประกอบที่สำคัญ ดังนี้ คือ
- การชี้บ่งและจัดหมวดหมู่อุปกรณ์และเครื่องมือที่ใช้ในกระบวนการ
- การพัฒนาขั้นตอนการบำรุงรักษา (Maintenance)
- การฝึกอบรมในการบำรุงรักษา รวมถึงกำหนดตารางเวลา
- การตรวจสอบ ทดสอบ และการรับรอง
- ความถี่ในการตรวจสอบและทดสอบ
- การจัดตั้งเกณฑ์ในการยอมรับผลของการทดสอบ
- เอกสารบันทึกผลการตรวจสอบและทดสอบ และเอกสารระบุข้อแนะนำของผู้ผลิตในกรณีที่เกิดข้อบกพร่องในระหว่างการใช้งานอุปกรณ์
- การแก้ไขข้อบกพร่องในอุปกรณ์ที่อยู่นอกเหนือขอบเขตของขีดจำกัดที่ยอมรับได้ (ซึ่งถูกจำกัดความโดยข้อมูลความปลอดภัยของกระบวนการ:Process Safety Information)
- การพัฒนาโปรแกรมประกันคุณภาพ (A Quality Assurance Program) สำหรับอะไหล่ วัสดุและอุปกรณ์
ขั้นตอนแรกของโปรแกรมความเที่ยงตรงของกลไกการทำงานที่มีประสิทธิภาพ คือ เก็บรวบรวมและจัดหมวดหมู่ของบัญชีรายการ (Lists) อุปกรณ์ที่ใช้ในกระบวนการและเครื่องมือต่าง ๆ ที่ใช้ของแผนงานฯ ซึ่งบัญชีรายการควรที่จะรวมถึง ท่อส่งแรงดัน ถังเก็บบรรจุ ปั๊ม ระบบท่อ (ซึ่งรวมถึงส่วนประกอบต่าง ๆ ของท่อ เช่น วาล์ว) ระบบผ่อนและระบบระบาย อุปกรณ์ของระบบป้องกันเพลิงไหม้ ระบบหยุดฉุกเฉิน และระบบควบคุม (ซึ่งจะรวมถึงอุปกรณ์ตรวจติดตามและเซ็นเซอร์ อุปกรณ์เตือนภัยและอินเตอร์ล็อก)
สำหรับการจัดหมวดหมู่ของเครื่องมือและบัญชีรายการอุปกรณ์ที่ใช้ในกระบวนการนั้น ทีมงานฯ ควรที่จะจัดลำดับความสำคัญด้วยว่าอุปกรณ์ชิ้นไหนที่สมควรได้รับการพิจารณาอย่างใกล้ชิด และละเอียดถี่ถ้วนมากกว่าชิ้นอื่น ๆ โดยข้อบกพร่องต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับชิ้นส่วนใด ๆ ของเครื่องมือและอุปกรณ์นั้น ทีมงานฯ ก็ควรที่จะรับทราบได้จากการศึกษาเอกสารของผู้ผลิตหรือจากประสบการณ์และการฝึกอบรม
ซึ่งข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นนี้จะส่งผลกระทบไปถึงการพิจารณาความจำเป็นสำหรับความถี่ในการตรวจสอบและทดสอบ รวมถึงขั้นตอนปฏิบัติการที่มีความเกี่ยวเนื่องกันและระเบียบวิธีต่าง ๆ ที่จะเลือกใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์
ทีมงานฯ ควรศึกษาข้อกำหนดและมาตรฐาน ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประเด็นความปลอดภัยจากเอกสารของรัฐฯ ที่จะระบุถึงเกณฑ์ที่ใช้ในการตรวจสอบภายนอก (External inspections) สำหรับประเด็นเหล่านี้ เช่น ฐานรากและตัวค้ำ สลักเกลียวยึด ตัวค้ำที่เป็นคอนกรีตหรือเหล็กกล้า ลวดโยง หัวฉีดและสปริงเกอร์ ตัวแขวนท่อ ข้อต่อสายดิน ฉนวนและตัวเคลือบป้องกัน ผิวโลหะภายนอกของท่อและท่อส่ง ฯลฯ
ซึ่งข้อกำหนดและมาตรฐานนี้ก็ยังจะให้ข้อมูลสำหรับระเบียบวิธีในการตรวจสอบภายในและสูตรคำนวณความถี่ในการตรวจสอบ โดยทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอัตราการสึกกร่อน (Corrosion Rate) ของวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง รวมถึงการสึกกร่อนทั้งภายนอกและภายใน ที่จำเป็นต้องถูกพิจารณาไปตามผลกระทบของการสึกกร่อนที่มีต่อท่อและวาล์ว ในกรณีที่ไม่ทราบอัตราการสึกกร่อน ก็แนะนำให้เพิ่มความถี่ในการตรวจสอบให้มากขึ้น และศึกษาเรียนรู้วิธีในการคำนวณหาอัตราการสึกกร่อน
ส่วนการตรวจสอบภายใน (Internal Inspections) นั้น จำเป็นต้องครอบคลุมประเด็นเหล่านี้ด้วย เช่น เปลือกท่อ ส่วนหัวและส่วนท้ายของท่อ ตัวบุของท่อชนิดที่เป็นโลหะและไม่ใช่โลหะ การวัดความหนาของท่อส่งและท่อ รวมถึงสภาพการกัดกร่อน สึกกร่อน แตกร้าวและโป่งนูนออกมา รวมถึงข้อบกพร่องอื่น ๆ ของอุปกรณ์ที่อยู่ภายใน (เช่น ถาดรอง แผ่นโลหะกั้น ตัวเซนเซอร์ ตะแกรง ฯลฯ)
ซึ่งการตรวจสอบในบางประเด็นเหล่านี้ อาจจะถูกดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐฯ แต่อย่างไรก็ตาม ทีมงานฯ ก็ยังมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนากรรมวิธีที่จะทำให้มั่นใจได้ว่าการตรวจสอบและการทดสอบเหล่านั้น จะถูกดำเนินการได้อย่างถูกต้อง และรักษาความคงเส้นคงวาไว้ แม้ว่าจะมีความแตกต่างกันในตัวผู้ดำเนินการก็ตาม
สำหรับอุปกรณ์ในกระบวนการที่ถูกตรวจสอบและทดสอบนี้ ควรใช้ขั้นตอนดำเนินการที่เป็นไปตามวิธีปฏิบัติในเชิงวิศวกรรมที่เป็นที่รู้จักและยอบรับกันโดยทั่วไป ส่วนความถี่ในการตรวจสอบและการทดสอบของอุปกรณ์ในกระบวนการต้องสอดคล้องกับข้อแนะนำของผู้ผลิต และวิธีปฏิบัติในเชิงวิศวกรรมที่ดี หรืออาจมีความถี่ในการตรวจสอบมากขึ้น
ถ้าพิจารณาแล้วว่ามีความจำเป็น โดยในแต่ละการตรวจสอบและทดสอบของอุปกรณ์ในกระบวนการ ต้องมีการจดบันทึกเป็นเอกสาร มีการระบุวันที่ดำเนินการ ชื่อผู้ดำเนินการ หมายเลขเครื่อง (Serial Number) หรือสิ่งระบุได้ถึงอุปกรณ์ชิ้นนั้น รวมถึงคำอธิบายวิธีดำเนินการและผลของการดำเนินการ
นอกจากนี้ควรฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ซ่อมบำรุงอย่างเหมาะสม เพื่อให้มั่นใจว่าพวกเขาเหล่านี้มีความเข้าใจในขั้นตอนดำเนินการสำหรับโปรแกรมการบำรุงรักษาเชิงป้องกัน (The Preventive Maintenance Program) วิธีปฏิบัติงานอย่างปลอดภัย และการใช้งานอุปกรณ์พิเศษ ตลอดจนเครื่องมือเฉพาะได้อย่างเหมาะสมในยามที่จำเป็น ซึ่งถือได้ว่าการฝึกอบรมในประเด็นเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรมฝึกอบรมทั้งหมดที่จำเป็นต้องมีตามเกณฑ์มาตรฐาน
ความบกพร่องของอุปกรณ์ที่อยู่นอกเหนือขอบเขตของขีดจำกัดที่ยอมรับได้ ซึ่งถูกจำกัดความโดยข้อมูลความปลอดภัยของกระบวนการ (Process Safety Information: PSI) ต้องได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงทีและมีความปลอดภัยก่อนใช้งานในครั้งต่อไป และเมื่อมีความจำเป็นสำหรับขั้นตอนอื่นใดก็ต้องมั่นใจได้ว่าจะถูกดำเนินการอย่างปลอดภัยด้วย
ในการใช้อุปกรณ์ใหม่ ทีมงานฯ ต้องมั่นใจว่าอุปกรณ์ที่ใช้นั้นมีความเหมาะสมกับการใช้งานในกระบวนการนั้น ๆ มีการตรวจเช็ค (Checks) และตรวจสอบ (Inspections) เพื่อให้มั่นใจว่าอุปกรณ์เหล่านั้นได้ถูกติดตั้งอย่างเหมาะสมและเป็นไปตามคุณลักษณะที่กำหนดไว้ในแบบ (Design) และข้อแนะนำของผู้ผลิต และทีมงานฯ ยังต้องมั่นใจว่าวัสดุ อะไหล่ และอุปกรณ์ที่ใช้ในการซ่อมบำรุงมีความเหมาะสมกับการใช้งานในกระบวนการนั้น ๆ
ระบบประกันคุณภาพ (A Quality Assurance System) ก็เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องจัดให้มีขึ้น เพื่อช่วยให้มั่นใจว่าวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างนั้นมีคุณภาพ กรรมวิธีในการสร้างและตรวจสอบมีความถูกต้อง และมีการตระหนักถึงความปลอดภัยในการติดตั้ง
ซึ่งโปรแกรมระบบประกันคุณภาพนี้ถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งที่จำเป็นสำหรับโปรแกรมความเที่ยงตรงของกลไกการทำงาน และเมื่อมีการสร้างตัวแบบ (Design) พร้อมกับท่อส่งและอุปกรณ์อื่น ๆ และวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างที่รับรองว่าเป็นไปตามข้อบังคับแล้วนั้น ก็ต้องถูกพิสูจน์ยืนยัน (Verify) และจดบันทึกไว้ในเอกสารประกันคุณภาพ รวมถึงงานติดตั้งอุปกรณ์ ก็มีความจำเป็นต้องได้รับการตรวจสอบอย่างถูกต้องในแง่ของการใช้งานวัสดุ
และขั้นตอนที่เหมาะสม และประกันได้ว่ามีนายช่างผู้ชำนาญเป็นผู้ดำเนินการ เช่นเดียวกับการใช้ประเก็น วาล์ว สลักเกลียว น้ำมันหล่อลื่น และการเชื่อม รวมไปถึงกรรมวิธีในการติดตั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น แรงบิดที่มีต่อสลักเกลียวในการติดตั้งบนแผ่นโลหะที่แตกร้าวได้ แรงบิดที่เสมอกันบนแป้นสลักเกลียว การติดตั้งซีลปั๊มอย่างถูกต้อง ฯลฯ ก็ต้องได้รับการพิสูจน์ยืนยัน
และถ้าคุณภาพของชิ้นส่วนเหล่านี้เกิดปัญหาขึ้น ก็อาจมีความเหมาะสมที่จะดำเนินการตรวจประเมินคุณภาพของอุปกรณ์ของซับพลายเออร์ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าอุปกรณ์ที่สั่งซื้อนั้นเป็นไปตามคุณสมบัติที่ต้องการ และมีบริการหลังการขายตามที่ได้ตกลงกันไว้ ส่วนการเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุปกรณ์เหล่านี้ก็อาจมีความจำเป็นที่ต้องผ่านขั้นตอนบริหารความเปลี่ยนแปลง (Management of Changes) ด้วย
9. งานที่เกี่ยวข้องกับความร้อน (Hot Work)
งานที่เกี่ยวข้องกับความร้อน (Hot Work) และงานที่ไม่ประจำ (Non-routine Work) ที่ถูกดำเนินการในพื้นที่งานของกระบวนการ จำเป็นต้องถูกควบคุมโดยทีมงานฯ อย่างคงเส้นคงวาและเข้มงวด โดยอันตรายที่เกี่ยวข้องกับงานที่ถูกชี้บ่งแล้วต้องถูกสื่อสารไปยังผู้ปฏิบัติงานที่ทำงานนั้น ๆ รวมไปถึงผู้ปฏิบัติงานคนอื่น ๆ ที่อาจจะได้รับผลกระทบไปด้วย
ในการแจ้งหรืออนุญาตให้ทำงานนั้น ต้องมีกรรมวิธีที่จะอธิบายขั้นตอนที่หัวหน้างานซ่อมบำรุง ผู้รับเหมา หรือเจ้าหน้าที่อื่น ๆ ต้องปฏิบัติตามสิ่งที่ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนก่อนที่จะเริ่มงานนั้น ๆ ซึ่งขั้นตอนในการอนุญาตให้ทำงานจำเป็นต้องมีการอ้างอิงและประสานงานกันโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนของการล็อกเอาต์/แท็กเอาต์
การเข้าสู่พื้นที่อับอากาศ และการอนุญาตเข้าทำงานที่เกี่ยวข้องกับความร้อน และจำเป็นต้องมีการอธิบายอย่างชัดเจนด้วยว่าจะทำอะไร/อย่างไรเป็นลำดับถัดไป ทันทีที่งานของตนเองเสร็จสิ้นแล้ว และอุปกรณ์ต่าง ๆ พร้อมที่จะกลับคืนสู่สภาวะปกติเพื่อที่จะบ่งบอกให้ผู้ปฏิบัติงานคนอื่น ๆ ได้รับทราบ
โดยทีมงานฯ ควรจัดตั้งระบบอนุญาตเข้าทำงาน (A Permit System) ในงานที่เกี่ยวข้องกับความร้อน หรืออยู่ในบริเวณใกล้เคียง และต้องมีการจดบันทึกเป็นเอกสารยืนยันว่าการป้องกันเพลิงไหม้และการป้องกันอันตรายในส่วนอื่น ๆ ได้เป็นไปตามข้อกำหนดของแผนงานฯ และถูกดำเนินการก่อนเริ่มทำงานที่เกี่ยวข้องกับความร้อน โดยในเอกสารยังต้องระบุรายละเอียดเหล่านี้ เช่น วันที่อนุญาตให้เข้าทำงาน และลักษณะงานที่ถูกมอบหมายให้ทำ ฯลฯ ทั้งนี้เอกสารเหล่านี้ต้องถูกเก็บรักษาไว้จนกว่างานจะเสร็จสิ้นลงโดยสมบูรณ์
หมายเหตุ: งานที่เกี่ยวข้องกับความร้อน (Hot Work) ในที่นี้จะหมายถึง งานที่เกี่ยวข้องกับการใช้ไฟฟ้าหรือแก๊สในการเชื่อม การตัด การขัด หรือปฏิบัติการใด ๆ ที่ก่อให้เกิดประกายไฟหรือเปลวไฟขึ้นมาได้
10. การบริหารความเปลี่ยนแปลง (Management of Change: MOC)
การบริหารความเปลี่ยนแปลงได้อย่างเหมาะสมกับส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการ ไม่ว่าจะเป็นสารเคมี ภาชนะบรรจุ เทคโนโลยี อุปกรณ์ หรืออาคาร สิ่งหนึ่งที่ต้องจำกัดความก็คือ “การเปลี่ยนแปลง หมายถึงอะไร ?” สำหรับมาตรฐานของการบริหารความปลอดภัยในกระบวนการ (PSM) แล้ว
นิยามของการเปลี่ยนแปลงนั้นจะกินความถึง การปรับปรุงทั้งหมดที่กระทำต่ออุปกรณ์ ขั้นตอนการปฏิบัติงาน วัตถุดิบและสภาพของการผลิตมากกว่าการแทนที่ตามคุณลักษณะที่กำหนดไว้ (Replacement in Kind) ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้จำเป็นต้องมีการบริหารอย่างถูกต้องและเหมาะสม โดยอาศัยการชี้บ่งและการทบทวนก่อนที่จะเริ่มดำเนินการสำหรับการเปลี่ยนแปลงนั้นๆ
ตัวอย่างเช่น ตามปกติแล้ววิธีการปฏิบัติงาน (Operating Procedures) ที่มีตัวแปรสำคัญในปฏิบัติการ (The Operating Parameters) เช่น ขีดจำกัดแรงดัน ช่วงของอุณหภูมิ อัตราการไหล ฯลฯ ถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องปฏิบัติการให้อยู่ภายใต้ขีดจำกัดเหล่านี้
แต่ในสภาพความเป็นจริงตัวผู้ปฏิบัติการมักมีความยืดหยุ่นในการคงรักษาไว้ซึ่งความปลอดภัยในปฏิบัติการภายใต้ตัวแปรสำคัญที่มีการกำหนดค่าไว้ แต่ถ้ามีปฏิบัติการใด ๆ ที่กระทำการนอกเหนือค่าของตัวแปรสำคัญเหล่านี้ก็ต้องมีการทบทวนและอนุมัติโดยการเขียนขั้นตอนสำหรับการบริหารความเปลี่ยนแปลงนั้น ๆ
ส่วนการบริหารความเปลี่ยนแปลงในส่วนของเทคโนโลยีในกระบวนการ หรือการเปลี่ยนแปลงที่มีต่ออุปกรณ์และเครื่องมือนั้น เราอาจมองได้ว่าการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในกระบวนการ อาจเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงในอัตราการผลิต วัตถุดิบ การทดลอง อุปกรณ์ที่ใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่ อุปกรณ์ใหม่ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ การเปลี่ยนแปลงในตัวเร่งปฏิกิริยา (Catalyst) และการเปลี่ยนแปลงสภาพของปฏิบัติการที่จะพัฒนาผลผลิต (Yield) หรือคุณภาพ
ส่วนการเปลี่ยนแปลงของอุปกรณ์ในกระบวนการจะรวมถึงสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง คุณลักษณะของอุปกรณ์ รูปแบบการจัดเรียงระบบท่อ การทดลองอุปกรณ์ การแก้ไขโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และการเปลี่ยนแปลงในระบบสัญญาณเตือนภัยและอินเตอร์ล็อก เป็นต้น ซึ่งทีมงานฯ จำเป็นต้องจัดตั้งเครื่องมือและกรรมวิธีในการตรวจจับทั้งการเปลี่ยนแปลงในเชิงเทคนิคและเชิงกลไกทำงาน
การเปลี่ยนแปลงแบบชั่วขณะ (Temporary Changes) นั้น สามารถที่จะสร้างเหตุการณ์ที่เลวร้ายขึ้นได้ ดังนั้นทีมงานฯ ก็ต้องมีการค้นหาหนทางในการตรวจจับสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงแบบชั่วขณะเหล่านั้นเช่นเดียวกับการเปลี่ยนแปลงแบบถาวร (Permanent Changes) ซึ่งถือว่ามีความจำเป็นที่ต้องจำกัดช่วงเวลาและเฝ้าติดตามการเปลี่ยนแปลงแบบชั่วขณะ เพราะถ้าปราศจากการควบคุม
การเปลี่ยนแปลงแบบชั่วขณะนี้ก็มีแนวโน้มที่จะพัฒนาเป็นแบบถาวรได้ การเปลี่ยนแปลงแบบชั่วขณะนี้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของข้อกำหนดของการบริหารความเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะมีวิธีดำเนินการเพื่อที่จะทำให้มั่นใจได้ว่าอุปกรณ์และขั้นตอนปฏิบัติการจะกลับคืนสู่สภาพเดิมหรือสภาพที่ออกแบบไว้ เมื่อการเปลี่ยนแปลงชั่วขณะนั้นสิ้นสุดลง การจดบันทึกเป็นเอกสารและการทบทวนการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อย่างถูกต้อง จะมีค่ามากในการประกันว่าประเด็นความปลอดภัยและสุขภาพจะถูกพิจารณาผนวกเข้าไปในวิธีการปฏิบัติงานและกระบวนการ
ทีมงานฯ อาจจะใช้การพัฒนาแบบฟอร์มของการเปลี่ยนแปลง (A Change Form) เพื่ออำนวยความสะดวกในการประมวลการเปลี่ยนแปลงผ่านทางขั้นตอนของการบริหารความเปลี่ยนแปลง ซึ่งแบบฟอร์มของการเปลี่ยนแปลงอาจจะรวมถึงคำอธิบายและจุดมุ่งหมายของการเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงทางเทคนิคพื้นฐาน ประเด็นความปลอดภัยและสุขภาพที่นำมาพิจารณา
เอกสารบันทึกการเปลี่ยนแปลงสำหรับขั้นตอนปฏิบัติการ การบำรุงรักษา การตรวจสอบและทดสอบ แผนภาพของท่อและเครื่องมือ (Piping & Instrumentation Diagrams: P&IDs) ประเภทของระบบไฟฟ้า การฝึกอบรมและการสื่อสาร การตรวจสอบก่อนเริ่มกระบวนการ ช่วงระยะเวลา (ถ้าเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบชั่วขณะ) การอนุมัติและการอนุญาต
ส่วนในที่ซึ่งผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงมีน้อยและเข้าใจได้ง่ายนั้น การทบทวนรายการตรวจสอบ (A Check List) โดยบุคคลที่ได้รับอนุญาตดำเนินการ พร้อมกับการสื่อสารที่เหมาะสมไปยังผู้ปฏิบัติงานที่ได้รับผลกระทบนั้นก็อาจจะเพียงพอ
อย่างไรก็ตาม สำหรับการเปลี่ยนแปลงที่มีความซับซ้อนมากหรือเป็นการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบที่มีนัยสำคัญ การใช้ขั้นตอนประเมินอันตรายโดยบุคคลที่ได้รับอนุญาต เช่น เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ ช่างซ่อมบำรุง และเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยนั้นอาจจะมีความเหมาะสม
ส่วนการเปลี่ยนแปลงในเอกสาร เช่น แผนภาพของท่อและเครื่องมือ (Piping & Instrumentation Diagrams: P&IDs) วัตถุดิบ ขั้นตอนปฏิบัติการ โปรแกรมความเที่ยงตรงของกลไกทำงาน ประเภทของระบบไฟฟ้า ฯลฯ จำเป็นต้องบันทึกข้อสังเกตไว้ เพื่อที่ว่าการแก้ไขเหล่านี้สามารถถูกดำเนินการเป็นการถาวรได้ เมื่อภาพลายเส้น (Drawings) และคู่มือขั้นตอนปฏิบัติการได้รับการปรับปรุงให้ทันต่อสถานการณ์
นอกจากนี้แล้ว สำเนาเอกสารของกระบวนการเปลี่ยนแปลงนี้ จำเป็นที่จะถูกเก็บรักษาไว้ในสถานที่ซึ่งเข้าถึงได้เพื่อให้มั่นใจได้ว่ารูปแบบการเปลี่ยนแปลงนั้น จะมีประโยชน์ต่อเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการเช่นเดียวกับสมาชิกในทีมวิเคราะห์อันตรายในกระบวนการ (PHA) เมื่อมีความจำเป็นที่การวิเคราะห์อันตรายฯต้องถูกดำเนินการหรือต้องได้รับการปรับปรุงให้ทันต่อสถานการณ์
การเปลี่ยนแปลงใด ๆ ที่เกิดขึ้นกับกระบวนการต้องได้รับการประเมินอย่างละเอียด ถี่ถ้วนเพื่อที่จะเข้าถึงแก่นแท้ของผลกระทบทั้งหมด ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลง อันมีต่อความปลอดภัยและสุขภาพของผู้ปฏิบัติงาน โดยทีมงานฯ ต้องเขียนขั้นตอนและดำเนินการสำหรับการบริหารความเปลี่ยนแปลงที่มีต่อกระบวนการ (ยกเว้นการแทนที่ตามคุณลักษณะที่กำหนดไว้ -Replacement in Kind) ทั้งในส่วนของสารเคมี เทคโนโลยี อุปกรณ์ และขั้นตอนปฏิบัติการ รวมถึงอาคาร ภาชนะบรรจุ ที่ส่งผลกระทบทั้งหมดต่อกระบวนการ
ซึ่งทีมงานฯ ต้องมั่นใจว่าข้อควรพิจารณาเหล่านี้ได้ถูกระบุก่อนที่จะทำการเปลี่ยนแปลงใด ๆ
- ชนิดของการปรับปรุง (เพิ่มเติม/เปลี่ยนแปลง หรือการแทนที่ตามคุณลักษณะที่กำหนดไว้)
- เทคนิคพื้นฐานและความสมเหตุสมผลในการเปลี่ยนแปลงที่ถูกเสนอ
- ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงที่มีต่อความปลอดภัยและสุขภาพของผู้ปฏิบัติงาน
- การปรับปรุงที่มีต่อขั้นตอนปฏิบัติการ
- ช่วงเวลาที่จำเป็นสำหรับการเปลี่ยนแปลง เช่น การบริหารจัดการโครงการ (Project Management) และการประเมินผลจากการทดลอง (Trial Evaluation)
- ข้อกำหนดในการได้รับอนุญาตในการเปลี่ยนแปลงที่ถูกเสนอ
พนักงานที่ปฏิบัติการและบำรุงรักษากระบวนการ และลูกจ้างของผู้รับเหมาผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงในกระบวนการ ต้องได้รับการแจ้งและฝึกอบรมในการเปลี่ยนแปลงนั้นๆ ก่อนที่จะเริ่มต้นกระบวนการ หรือเริ่มต้นส่วนที่ได้รับผลกระทบของกระบวนการ
และถ้าการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ส่งผลกระทบต่อข้อมูลความปลอดภัยของกระบวนการ (Process Safety Information: PSI) ข้อมูลเหล่านี้ต้องได้รับการปรับปรุงให้ทันต่อสถานการณ์อย่างสมเหตุสมผล ในทำนองเดียวกันกับการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบต่อวิธีการปฏิบัติงานและวิธีปฏิบัติ ก็ต้องได้รับการปรับปรุงให้ทันต่อสถานการณ์อย่างสมเหตุสมผลเช่นกัน รวมไปถึงการวิเคราะห์อันตรายในกระบวนการ (Process Hazard Analysis: PHA) ด้วย
โปรดติดตามอ่านตอนจบได้ในฉบับหน้า
เอกสารอ้างอิง
* Process Safety Management, the Elements of PSM by Ken Bingham; June 2008.
* Making it Safe: Process Safety Management in Canada, May/June 2001.
* Process Safety Management; U.S.Department of Labor Occupational Safety & Health Administration (OSHA) 3132; 2000 (Reprinted).
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด