ในส่วนของความรับผิดชอบต่อสังคม การปฏิบัติอย่างเป็นธรรม จะคำนึงถึงแนวทางที่องค์กรใช้ในการสร้างความสัมพันธ์กับองค์กรอื่น เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ในทางที่ดี
กิตติพงศ์ จิรวัสวงศ์
5. การปฏิบัติอย่างเป็นธรรม
การปฏิบัติอย่างเป็นธรรม จะเป็นการดำเนินการอย่างมีจริยธรรมขององค์กรที่มีกับองค์กรอื่น ๆ โดยอาจจะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรกับหน่วยงานของรัฐ หรือระหว่างองค์กรกับคู่ความร่วมมือ ผู้ส่งมอบ ผู้รับจ้างช่วง ลูกค้า คู่แข่ง และสมาคมที่องค์กรเป็นสมาชิกอยู่ นอกจากนั้น การปฏิบัติอย่างเป็นธรรม ยังครอบคลุมไปถึง การต่อต้านการคอรัปชั่น การมีส่วนร่วมอย่างรับผิดชอบในขอบเขตสาธารณะ การแข่งขันอย่างเป็นธรรม พฤติกรรมที่รับผิดชอบต่อสังคม ความสัมพันธ์กับองค์กรอื่น และการเคารพในสิทธิมนุษยชน
ในส่วนของความรับผิดชอบต่อสังคม การปฏิบัติอย่างเป็นธรรม จะคำนึงถึงแนวทางที่องค์กรใช้ในการสร้างความสัมพันธ์กับองค์กรอื่น เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ในทางที่ดี ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ด้วยการนำองค์กร และการส่งเสริมให้เกิดความรับผิดชอบต่อสังคมในวงกว้างภายใต้ขอบเขตอิทธิพลและผลกระทบขององค์กร
การดำเนินการตามหัวข้อของการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมนี้ จะประกอบด้วยประเด็นที่สำคัญ ประกอบด้วย
1. การต่อต้านการคอรัปชั่น
2. การมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างรับผิดชอบ
3. การแข่งขันอย่างเป็นธรรม
4. การส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมในห่วงโซ่คุณค่า
5. การเคารพต่อสิทธิทรัพย์สิน
5.1 การต่อต้านการคอรัปชั่น
การคอรัปชั่น จะเป็นการใช้อำนาจในการดำเนินการในทางที่ผิดเพื่อประโยชน์ส่วนตน โดยการคอรัปชั่นจะมีอยู่หลากหลายรูปแบบ เช่น การติดสินบนกับหน่วยงานของรัฐ หรือบุคคลในหน่วยงานนั้น ๆ การมีผลประโยชน์ทับซ้อน การโกง การฟอกเงิน การยักยอก การปกปิด และการขัดขวางการปฏิบัติงานตามกฎหมาย
การคอรัปชั่น เป็นสิ่งที่บ่อนทำลายความมีประสิทธิผล และชื่อเสียงขององค์กร ทำให้เกิดการก่ออาชญากรรม รวมถึงทำให้เกิดการฝ่าฝืนสิทธิมนุษยชน ทำลายกระบวนการทางการเมือง สังคมเกิดความอ่อนแอ และทำลายสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้นยังทำให้เกิดการบิดเบือนต่อการเจริญเติบโตด้านเศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ที่ดีด้วย ดังนั้น ในการดำเนินการเพื่อต่อต้านการคอรัปชั่น องค์กรควรจะ
* ระบุถึงความเสี่ยงต่าง ๆ ของการคอรัปชั่น รวมถึงการใช้นโยบาย และวิธีการปฏิบัติงานในการต่อต้านการคอรัปชั่น และการข่มขู่บังคับ
* ดูแลการนำองค์กร และการเป็นต้นแบบในการต่อต้านการคอรัปชั่น และแสดงความมุ่งมั่น ส่งเสริมและไม่ละเลยในการดำเนินการตามนโยบายการต่อต้านการคอรัปชั่น
* สนับสนุนและฝึกอบรม ให้กับลูกจ้าง และผู้แทนต่าง ๆ ขององค์กร ในการขจัดการให้สินบน และการคอรัปชั่น รวมถึงการให้สิ่งจูงใจเพื่อให้ดำเนินการ
* ยกระดับความตระหนักของลูกจ้าง ผู้แทน ผู้รับเหมา และผู้ส่งมอบต่าง ๆ เกี่ยวกับการคอรัปชั่น รวมถึงแนวทางในการจัดการ
* ดูแลให้มีการจ่ายค่าตอบแทนกับลูกจ้าง และผู้แทนต่าง ๆ ขององค์กรอย่างเหมาะสม และมีการดำเนินการต่าง ๆ สอดคล้องตามข้อกฎหมาย
* จัดทำ และดูแลรักษาระบบในการจัดการคอรัปชั่นที่มีประสิทธิผล
* ส่งเสริมให้ลูกจ้าง คู่ค้า ผู้แทน และผู้ส่งมอบต่าง ๆ มีการรายงานเกี่ยวกับการฝ่าฝืนการปฏิบัติตามนโยบายขององค์กร และการปฏิบัติที่ไม่มีจริยธรรม โดยการจัดทำกลไกที่ช่วยให้การรายงาน และการติดตามผลการดำเนินการ ปราศจากซึ่งความกลัวการแก้แค้นในภายหลัง
* แจ้งให้ทราบเกี่ยวกับการละเมิดกฎหมายต่อหน่วยงานที่มีอำนาจในการบังคับใช้กฎหมาย ให้ได้รับทราบอย่างเหมาะสม
* ดำเนินการเพื่อต่อต้านการคอรัปชั่น โดยสนับสนุนให้หน่วยงานอื่น ๆ ที่องค์กรมีความสัมพันธ์ด้วยให้มีการนำแนวปฏิบัติในการต่อต้านการคอรัปชั่นที่คล้ายกันได้นำไปใช้
5.2 การมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างรับผิดชอบ
องค์กรสามารถให้การสนับสนุนต่อกระบวนการทางการเมืองสาธารณะ และส่งเสริมให้เกิดการพัฒนานโยบายสาธารณะ ที่มีประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม รวมถึงต่อต้านการใช้อิทธิพลที่ไม่ถูกต้อง และหลีกเลี่ยงพฤติกรรมต่าง ๆ ที่ไม่พึงประสงค์ เช่น การสั่งโยกย้าย การข่มขู่ หรือการบีบบังคับที่ส่งผลทำลายกระบวนการทางเมืองสาธารณะได้ ซึ่งในการมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างรับผิดชอบนี้ องค์กรควรจะ
* จัดฝึกอบรมให้กับลูกจ้าง และผู้แทนขององค์กร รวมถึงสร้างความตระหนักในการมีส่วนร่วม และสนับสนุนทางการเมืองอย่างรับผิดชอบ และวิธีจัดการกับผลประโยชน์ทับซ้อนที่เกิดขึ้น
* แสดงถึงความโปร่งใสในนโยบาย และการดำเนินการต่าง ๆ ขององค์กร เกี่ยวกับการโน้มน้าวชักจูง การสนับสนุน และการมีส่วนร่วมทางการเมือง
* กำหนด และดำเนินนโยบาย รวมถึงแนวทางต่าง ๆ ในการจัดการกับการดำเนินการของบุคคลที่ปฏิบัติงานในนามขององค์กร
* หลีกเลี่ยงการสนับสนุนทางการเมืองที่พยายามเข้าควบคุม หรือมีผลให้ได้รับรู้ถึงความพยายามกับนักการเมือง หรือผู้ที่กำหนดนโยบาย เพื่อให้เป็นไปตามแนวทางที่ต้องการ
* หลีกเลี่ยงการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ในการให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง บิดเบือนความจริง คุกคาม หรือบีบบังคับ
5.3 การแข่งขันอย่างเป็นธรรม
การแข่งขันอย่างเป็นธรรม และเปิดกว้าง จะมีส่วนช่วยกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรม และประสิทธิภาพในการลดค่าใช้จ่ายของสินค้าและบริการ รวมถึงช่วยสร้างความมั่นใจได้ว่าทุก ๆ องค์กรจะมีการแข่งขันที่เท่าเทียมกัน ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์และกระบวนการใหม่ ๆ ให้ดีขึ้น และส่งเสริมให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมถึงมาตรฐานความเป็นอยู่ที่ดี ทั้งนี้ ความเสี่ยงต่าง ๆ จากพฤติกรรมการต่อต้านการแข่งขันอย่างเป็นธรรม จะสร้างความเสียหายต่อชื่อเสียงขององค์กร จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และอาจมีปัญหาทางด้านกฎหมายด้วย
พฤติกรรมที่ต่อต้านการแข่งขันที่เป็นธรรม จะมีอยู่หลากหลายรูปแบบ เช่น การกำหนดราคาร่วมกัน โดยเกิดขึ้นจากการที่องค์กรที่ขายสินค้าหรือบริการชนิดเดียวกัน มีการสมรู้ร่วมคิดในการกำหนดให้มีราคาเดียวกัน หรือการฮั้วกันในการประมูล จากการที่องค์กรมีการสมรู้ร่วมคิดในการจัดการเกี่ยวกับการแข่งขันในการประมูล และการทุ่มตลาด จากการที่องค์กรจำหน่ายสินค้าหรือให้บริการในราคาที่ต่ำมาก โดยมีเจตนาที่จะไล่คู่แข่งออกไปจากตลาด และเป็นการแทรกแซงที่สร้างความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน
ในการส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม องค์กรควรจะ
* ดำเนินกิจกรรมต่างๆ สอดคล้องตามข้อกฎหมาย และระเบียบต่างๆ ในการแข่งขันอย่างเป็นธรรม รวมถึงให้ความร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐที่กำกับดูแลด้านกฎหมาย
* กำหนดขั้นตอนการดำเนินการ ในการป้องกันการเข้าร่วม หรือสมรู้ร่วมคิดในพฤติกรรมการต่อต้านการแข่งขันอย่างเป็นธรรม
* ส่งเสริมให้ลูกจ้างได้ตระหนักถึงความสำคัญของการปฏิบัติให้สอดคล้องตามข้อกฎหมายด้านการแข่งขัน และการแข่งขันที่เป็นธรรม
* สนับสนุนการดำเนินการในการต่อต้านการผูกขาด และการทุ่มตลาด รวมถึงสนับสนุนนโยบายสาธารณะที่ส่งเสริมการแข่งขันอย่างเป็นธรรม
* ให้ความสำคัญกับบริบทของสังคมที่องค์กรดำรงอยู่ และไม่แสวงหาผลประโยชน์จากสภาพของสังคม เพื่อให้ได้มาซึ่งความได้เปรียบในการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม เช่น จากสภาพของความยากจนของสังคม
5.4 การส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมในห่วงโซ่คุณค่า
องค์กรสามารถมีอิทธิพลต่อองค์กรอื่น ผ่านการตัดสินใจในการจัดหา และการจัดซื้อขององค์กร จากการนำองค์กร และการช่วยเหลือแนะนำตลอดห่วงโซ่คุณค่า โดยองค์กรสามารถส่งเสริมให้มีการใช้หลักการ รวมถึงวิธีปฏิบัติต่าง ๆ ของความรับผิดชอบต่อสังคมได้
ทั้งนี้ องค์กรควรมีการพิจารณาถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น หรือผลที่จะตามมา จากการตัดสินใจในการจัดหา และการจัดซื้อกับองค์กรอื่น ๆ โดยหลีกเลี่ยง หรือลดผลกระทบในทางลบให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด รวมถึงควรจะกระตุ้นให้เกิดความต้องการในผลิตภัณฑ์และการบริการที่รับผิดชอบต่อสังคม นอกจากนั้น ทุก ๆ องค์กรในห่วงโซ่คุณค่าที่มีผลกระทบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม จะมีหน้าที่ในการปฏิบัติตามข้อกฎหมาย และระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ในการส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมให้เกิดขึ้นในห่วงโซ่คุณค่า องค์กรควรจะ
* บูรณาการเกณฑ์ทางด้านจริยธรรม สังคม สิ่งแวดล้อม และความเท่าเทียมกันทางเพศ รวมถึงสุขภาพและความปลอดภัย เอาไว้ในนโยบายการจัดซื้อ การกระจายสินค้า และการจัดทำสัญญาขององค์กร เพื่อทำการปรับปรุงให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของความรับผิดชอบต่อสังคม
* สนับสนุนให้องค์กรอื่น ๆ ได้มีการนำนโยบาย และความรับผิดชอบต่อสังคมที่คล้าย ๆ กันมาใช้ โดยไม่ยอมให้เกิดพฤติกรรมการต่อต้านการแข่งขัน
* พิจารณา และเฝ้าติดตามองค์กรอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย เพื่อป้องกันการละเลยต่อความมุ่งมั่นในความรับผิดชอบต่อสังคม
* ให้การสนับสนุนต่อองค์กรขนาดกลางและขนาดเล็ก รวมถึงการสร้างความตระหนักในประเด็นต่างๆ ของความรับผิดชอบต่อสังคม รวมถึงให้ความช่วยเหลือในรูปแบบอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น ทางด้านเทคนิค การพัฒนาขีดความสามารถ หรือทรัพยากรในด้านอื่น ๆ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ด้านความรับผิดชอบต่อสังคม
* มีส่วนร่วมในการสร้างความตระหนักให้เกิดขึ้นกับองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย ในหลักการและประเด็นต่าง ๆ ที่สำคัญของความรับผิดชอบต่อสังคม
* ส่งเสริมให้เกิดการปฏิบัติที่เป็นธรรม และสามารถปฏิบัติได้ เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายและประโยชน์ที่ได้รับจากการปฏิบัติงานอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมตลอดห่วงโซ่คุณค่า การพัฒนาศักยภาพขององค์กรในห่วงโซ่คุณค่า เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ของความรับผิดชอบต่อสังคม รวมถึงวิธีปฏิบัติในการจัดซื้อ เช่น การสร้างความมั่นใจว่ามีการซื้อในราคาที่เป็นธรรม และมีการกำหนดระยะเวลาการส่งมอบที่เพียงพอ รวมถึงการทำสัญญาต่าง ๆ ที่มีเสถียรภาพ
5.5 การเคารพต่อสิทธิในทรัพย์สิน
สิทธิในการเป็นเจ้าของทรัพย์สิน จะเป็นสิทธิมนุษยชนที่เป็นที่ยอมรับในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน โดยสิทธิในทรัพย์สิน จะครอบคลุมทั้งทรัพย์สินทางกายภาพ และทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงประโยชน์จากที่ดินและทรัพย์สินทางกายภาพอื่น ๆ ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร สิทธิของตัวบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ กองทุน สิทธิทางศีลธรรม และสิทธิอื่น ๆ
นอกจากนั้น ยังครอบคลุมถึงการพิจารณากล่าวอ้างเกี่ยวกับทรัพย์สินที่กว้างขวางกว่า เช่น ความรู้ดั้งเดิมในกลุ่มเฉพาะ (ชนพื้นเมือง หรือทรัพย์สินทางปัญญาของลูกจ้าง หรือบุคคลอื่น ๆ) ิยโดยในการดำเนินการเพื่อแสดงถึงการเคารพต่อสิทธิในทรัพย์สิน องค์กรควรจะ
* กำหนดนโยบายและแนวทางในการส่งเสริมให้เกิดการเคารพต่อสิทธิในทรัพย์สิน และความรู้ดั้งเดิม
* ดำเนินการสอบสวนอย่างเหมาะสม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าได้มีการอนุญาตให้ใช้ หรือทำลายทรัพย์สินอย่างถูกต้องตามข้อกฎหมาย
* ไม่เข้าร่วมในกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นการละเมิดสิทธิในทรัพย์สิน รวมถึงการใช้งานที่ผิดไปจากอำนาจในการครอบครอง การปลอมแปลง และการละเมิดลิขสิทธิ์
* มีการจ่ายค่าชดเชยอย่างเป็นธรรม สำหรับทรัพย์สินที่ได้รับหรือมีการนำมาใช้ และ
* พิจารณาถึงความคาดหวังของสังคม สิทธิมนุษยชนและความต้องการพื้นฐานของแต่ละบุคคล เมื่อมีการดำเนินการ และการปกป้องสิทธิทรัพย์สินทั้งทางกายภาพและทางปัญญา
6. ความใส่ใจต่อผู้บริโภค
องค์กรต่าง ๆ ที่เป็นผู้ส่งมอบผลิตภัณฑ์ และบริการให้กับผู้บริโภค รวมถึงลูกค้าอื่น ๆ จะต้องมีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคและต่อลูกค้าเหล่านั้น โดยความรับผิดชอบที่สำคัญ จะประกอบด้วยการให้ความรู้ และข้อมูลสารสนเทศที่ถูกต้อง การใช้ข้อมูลสารสนเทศทางการตลาดและกระบวนการจัดทำข้อตกลงที่เป็นธรรม มีความโปร่งใสและเป็นประโยชน์ การส่งเสริมการบริโภคอย่างยั่งยืน และการออกแบบผลิตภัณฑ์และกระบวนการที่สามารถเข้าถึงได้จากทุกภาคส่วน รวมถึงการตอบสนองต่อผู้ที่ด้อยโอกาสและผู้ที่เสียเปรียบอย่างเหมาะสม
คำว่าผู้บริโภคนี้ จะหมายถึง ปัจเจกบุคคลหรือกลุ่มบุคคลต่างๆ ที่ใช้ประโยชน์จากผลลัพธ์ที่มาจากการตัดสินใจ และการดำเนินการขององค์กร โดยไม่จำเป็นที่จะต้องมีการจ่ายเงินเพื่อผลิตภัณฑ์ หรือบริการต่างๆ เท่านั้น ทั้งนี้ ความรับผิดชอบต่าง ๆ ยังรวมไปถึงการลดความเสี่ยงต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการใช้ผลิตภัณฑ์และการรับบริการให้เหลือน้อยที่สุด
ตลอดจนการออกแบบ การผลิต การแจกจ่าย การให้ข้อมูลสารสนเทศ การบริการสนับสนุน และการดำเนินการในการเรียกคืนผลิตภัณฑ์ หลาย ๆ องค์กรอาจจะมีการร้องขอ หรือรวบรวมข้อมูลที่เป็นส่วนบุคคล ก็ควรจะมีความรับผิดชอบในการปกป้องความปลอดภัยของข้อมูล และความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภคดังกล่าวด้วย
ในแนวทางสำหรับการคุ้มครองผู้บริโภคขององค์การสหประชาชาติ หรือ UN Guidelines for Consumer Protection รวมถึงกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม หรือ The International Covenant on Economic, Social and Cultural Rights ได้อธิบายถึงหลักการพื้นฐานที่จะใช้เป็นแนวทางของการปฏิบัติด้านความรับผิดชอบต่อสังคมโดยคำนึงถึงข้อกฎหมายของผู้บริโภคต่าง ๆ
รวมถึงความพึงพอใจต่อความต้องการขั้นพื้นฐาน และสิทธิของทุก ๆ คนในการมีมาตรฐานการดำรงชีวิตอย่างเพียงพอ การมีอาหาร เครื่องนุ่งห่ม และที่อยู่อาศัยที่เพียงพอ การปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่อย่างต่อเนื่อง และการมีอยู่ของผลิตภัณฑ์และการบริการที่จำเป็น รวมถึงทางด้านการเงินด้วย
นอกจากนั้น แนวทางและกติกาต่าง ๆ ยังรวมถึงสิทธิในการสนับสนุนความยุติธรรม ความเท่าเทียมกัน และความยั่งยืนของการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และสังคม และการปกป้องทางด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งประกอบด้วย
* ความปลอดภัย จะเป็นสิทธิในการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ที่ไม่เป็นอันตราย และการปกป้องผู้บริโภคจากอันตรายที่มีต่อสุขภาพ และความปลอดภัยที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิต ผลิตภัณฑ์และการบริการ
* การได้รับข้อมูล โดยเป็นการเข้าถึงสารสนเทศอย่างเพียงพอของผู้บริโภค เพื่อให้สามารถกำหนดทางเลือกที่เป็นไปตามความปรารถนาและความต้องการของปัจเจกบุคคล รวมถึงการได้รับการปกป้องจากความไม่ซื่อสัตย์ หรือการโฆษณาชักนำ หรือการใช้ฉลากแสดงที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้
* การตัดสินใจเลือก การส่งเสริมและการปกป้องผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจของผู้บริโภค ซึ่งจะรวมไปถึงความสามารถในการเลือกผลิตภัณฑ์ และการบริการที่มีความหลากหลาย การให้ข้อเสนอด้านราคาที่มีการแข่งขัน และมีการประกันคุณภาพของความพึงพอใจ
* การรับรู้ การมีอิสระในการก่อตั้งกลุ่มผู้บริโภค รวมถึงโอกาสขององค์กรต่าง ๆ ในการแสดงความคิดเห็นต่อกระบวนการตัดสินใจที่อาจส่งผลกระทบ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการกำหนด และการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล รวมถึงในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการบริการต่าง ๆ
* การแก้ไข โดยการมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวกับผู้บริโภคอย่างมีประสิทธิผล เช่น รูปแบบในการจัดการเมื่อมีการร้องเรียน รวมถึงการชดเชยที่เกิดจากการบิดเบือน ผลิตภัณฑ์ที่บกพร่อง หรือการบริการที่ไม่เป็นที่พอใจ
* การให้ความรู้ จะเป็นการให้ความรู้ในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภค รวมถึงความรู้ที่เกี่ยวกับผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ ที่เกิดจากการเลือกผลิตภัณฑ์และการบริการ ซึ่งจะช่วยให้ผู้บริโภคสามารถตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์และการบริการอย่างเป็นอิสระจากข้อมูลที่ได้รับ รวมถึงมีความตระหนักในสิทธิและความรับผิดชอบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย
* สิ่งแวดล้อมที่ดี ซึ่งจะเป็นสิ่งที่กำหนดความเป็นอยู่ที่ดีของคนทั้งในรุ่นปัจจุบัน และอนาคต การบริโภคอย่างยั่งยืน ยังหมายถึงการตอบสนองต่อความต้องการของคนทั้งในรุ่นปัจจุบัน และอนาคตสำหรับผลิตภัณฑ์ และการบริการที่มีความยั่งยืนทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม
นอกจากนั้น ยังมีหลักการพื้นฐานเพิ่มเติม ซึ่งประกอบด้วย
* การให้ความเคารพต่อสิทธิความเป็นส่วนตัว โดยหลักการนี้จะอ้างอิงจากปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน มาตราที่ 12 ซึ่งระบุว่า บุคคลใด ๆ จะถูกแทรกแซงโดยพลกาลในความเป็นอยู่ ความเป็นส่วนตัว ครอบครัว สถานที่พักอาศัย หรือการสื่อสาร หรือจะถูกลบหลู่ในเกียรติยศ และชื่อเสียงไม่ได้ และทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายต่อการแทรกแซง หรือการลบหลู่ดังกล่าว
* การดำเนินการในเชิงรุก เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น โดยหลักการนี้จะอ้างอิงจากประกาศปฏิญญาริโอว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา และประกาศปฏิญญาต่าง ๆ รวมถึงข้อตกลงอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีแนวคิดที่ว่า การก่อให้เกิดผลเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพมนุษย์อย่างใหญ่หลวง และไม่สามารถกู้คืนกลับมาได้
รวมถึงการขาดซึ่งความแน่นอนทางด้านวิทยาศาสตร์ จะไม่สามารถนำมาใช้เป็นข้ออ้างในการละเลยต่อการประเมินค่าใช้จ่ายของมาตรการป้องกันการเสื่อมสภาพของสิ่งแวดล้อม หรือการทำลายสุขภาพของมนุษย์ เมื่อมีการพิจารณาถึงประสิทธิผลของค่าใช้จ่าย ดังนั้น องค์กรควรคำนึงถึงค่าใช้จ่ายและผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในระยะยาวจากมาตรการนั้น ๆ ด้วย โดยไม่เป็นการพิจารณาเฉพาะค่าใช้จ่ายเชิงเศรษฐกิจแต่ในระยะสั้นขององค์กรเท่านั้น
* การส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ และการให้อำนาจแก่ผู้หญิง โดยหลักการนี้ถูกนำมาจากปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และเป้าประสงค์ของการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ
* การส่งเสริมการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับผู้บริโภค ซึ่งเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์และสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ที่สามารถใช้ได้กับทุกคน และใช้ประโยชน์ได้อย่างกว้างขวางที่สุด โดยไม่มีความจำเป็นในการปรับ หรือเป็นการออกแบบขึ้นเป็นการเฉพาะ ทั้งนี้ การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับผู้บริโภค จะประกอบด้วย 7 หลักการ ได้แก่
การออกแบบให้สามารถใช้ได้กับทุกคนอย่างเท่าเทียมเสมอกัน สามารถใช้ได้อย่างยืดหยุ่น สามารถใช้ได้โดยง่ายและใช้ได้โดยอาศัยความรู้สึก สามารถรับรู้สานสนเทศได้โดยง่าย มีการป้องกันการใช้งานที่ผิดพลาด ใช้กำลังด้านกายภาพน้อย มีขนาดและเหมาะสมกับพื้นที่ใช้งาน
นอกจากนั้น ในกลุ่มผู้ด้อยโอกาสต่าง ๆ ที่อยู่ในบทบาทของผู้บริโภค ซึ่งมีความสามารถที่แตกต่างกันออกไป จะมีความต้องการผลิตภัณฑ์และการบริการที่มีการจัดทำขึ้นเป็นการเฉพาะ ซึ่งความต้องการที่เป็นพิเศษนี้ เกิดขึ้นเนื่องจากคนกลุ่มนี้ไม่อาจทราบถึงสิทธิและบทบาทหน้าที่ต่าง ๆ ของตน หรืออาจไม่สามารถกระทำบนพื้นฐานของความรู้ที่มีอยู่ได้ ผู้บริโภคกลุ่มนี้อาจไม่ตระหนัก หรือไม่สามารถประเมินถึงความเสี่ยงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์และการบริการที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งจะช่วยในการพิจารณาตัดสินใจได้อย่างสมเหตุสมผลได้
ทั้งนี้ในหัวข้อความใส่ใจต่อผู้บริโภค จะประกอบด้วยประเด็นที่สำคัญ ได้แก่
1. การตลาดที่เป็นธรรม สารสนเทศที่เป็นจริงและไม่อคติ และการปฏิบัติตามข้อตกลงที่เป็นธรรม
2. การดูแลสุขภาพและความปลอดภัยของผู้บริโภค
3. การบริโภคอย่างยั่งยืน
4. การบริการ การสนับสนุน และการแก้ไขข้อร้องเรียนและข้อพิพาทแก่ผู้บริโภค
5. การปกป้องข้อมูล และความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภค
6. การเข้าถึงการบริการที่จำเป็น
7. การให้ความรู้ และการสร้างความตระหนัก
6.1 การตลาดที่เป็นธรรม สารสนเทศที่เป็นจริงและไม่อคติ และการปฏิบัติตามข้อตกลงที่เป็นธรรม
การตลาดอย่างเป็นธรรม สารสนเทศที่เป็นจริงและไม่อคติ รวมถึงข้อปฏิบัติตามสัญญาที่เป็นธรรม จะช่วยให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ และบริการในรูปแบบที่ผู้บริโภคสามารถเข้าใจได้ ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคทำการตัดสินใจจากข้อมูลสารสนเทศที่ได้รับเกี่ยวกับการบริโภค และการเลือกซื้อ รวมถึงเปรียบเทียบคุณลักษณะของผลิตภัณฑ์ และการบริการที่มีความแตกต่างกันได้
โดยกระบวนการเกี่ยวกับการตกลงที่เป็นธรรม จะมีเป้าหมายเพื่อปกป้องผลประโยชน์ที่เป็นธรรมของทั้งผู้ส่งมอบ และผู้บริโภค โดยการกำจัดอำนาจการต่อรองที่ไม่เป็นธรรมของทั้งสองฝ่าย นอกจากนั้น การตลาดที่มีความรับผิดชอบยังเกี่ยวข้องกับข้อมูลสารสนเทศของผลกระทบทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ตลอดทั้งวัฏจักรชีวิตและห่วงโซ่คุณค่า
ทั้งนี้ การตลาดและสารสนเทศที่ไม่เป็นธรรม ขาดความสมบูรณ์ครบถ้วน มีการชี้นำ หรือทำให้เกิดความเข้าใจผิด สามารถส่งผลต่อการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์และการบริการที่ไม่ตอบสนองต่อความต้องการต่างๆ ของผู้บริโภคได้ และส่งผลให้เกิดการสูญเสียเงินทอง ทรัพยากร และเวลา รวมถึงอาจทำให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค หรือต่อสิ่งแวดล้อมได้ การตลาดในลักษณะนี้ จะทำให้ความมั่นใจของผู้บริโภคลดลง ซึ่งจะส่งผลไม่ดีต่อการเจริญเติบโตของตลาด และความยั่งยืนของผลิตภัณฑ์และการบริการขององค์กร
ในการดำเนินการสื่อสารกับผู้บริโภค องค์กรควรจะ
* ไม่เข้าร่วมในการดำเนินการใด ๆ ที่เป็นการหลอกลวง การทำให้เข้าใจผิด การฉ้อโกงหรือการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม ไม่ชัดเจนหรือคลุมเครือ รวมไปถึงการละเลยการแจ้งข้อมูลสารสนเทศที่สำคัญ
* ยินยอมให้มีการแบ่งปันข้อมูลที่โปร่งใส ทำให้เกิดการเข้าถึง และการเปรียบเทียบตัวเลือกโดยผู้บริโภคที่ง่ายขึ้น
* ระบุถึงการโฆษณา และการตลาดอย่างชัดเจน
* เปิดเผยราคารวมสุทธิ และภาษี ข้อตกลงและเงื่อนไขของผลิตภัณฑ์และการบริการ รวมถึงค่าจัดส่ง เมื่อมีการเสนอสินเชื่อให้กับผู้บริโภค ควรให้รายละเอียดของอัตราดอกเบี้ยรายปีที่แท้จริง และอัตราค่าปรับกรณีชำระไม่ตรงเวลาที่กำหนด รวมไปถึงค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง จำนวนเงินที่ต้องชำระ จำนวนงวดที่ต้องชำระ และวันครบกำหนดของงวดการชำระเงิน
* ยืนยันหลักฐานข้อเท็จจริงตามที่มีการอ้างถึงของผลิตภัณฑ์และการบริการ โดยการให้ข้อมูลที่เป็นจริงตามที่ลูกค้าร้องขอ
* ไม่ใช้ข้อความ สื่อทางเสียง หรือรูปภาพ ที่เป็นการปลูกฝังความเชื่อที่ผิด ๆ เกี่ยวกับเพศ ศาสนา เชื้อชาติ การด้อยความสามารถ หรือความสัมพันธ์ส่วนบุคคล
* มีการพิจารณาถึงการโฆษณา และการตลาด เพื่อประโยชน์สูงสุดสำหรับผู้ด้อยโอกาส รวมถึงเด็ก และไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับกิจกรรมต่าง ๆ ที่เป็นการทำลายผลประโยชน์ของกลุ่มผู้ด้อยโอกาสดังกล่าว
* ให้ข้อมูลสารสนเทศที่ถูกต้อง สมบูรณ์ สามารถเข้าใจได้ง่าย และสามารถเปรียบเทียบอย่างเป็นทางการได้ หรือใช้ภาษาที่ใช้กันทั่วไป ณ จุดขาย และเป็นไปตามกฎระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ
o คุณลักษณะต่าง ๆ ที่สำคัญของผลิตภัณฑ์ และการบริการ รวมถึงผลิตภัณฑ์ด้านการเงิน และการลงทุน
o คุณลักษณะหลักต่าง ๆ ด้านคุณภาพของผลิตภัณฑ์ และการบริการ ที่ใช้วิธีทดสอบที่เป็นมาตรฐาน และมีการเปรียบเทียบ เช่น กับสมรรถนะโดยเฉลี่ย หรือแนวปฏิบัติที่ดีเลิศ
o คุณลักษณะต่าง ๆ ด้านสุขภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ และการบริการ เช่น การใช้ที่อาจก่อให้เกิดอันตราย วัสดุและสารเคมีอันตรายที่มีอยู่ในผลิตภัณฑ์ หรือที่ถูกปลดปล่อยออกมาจากผลิตภัณฑ์ในระหว่างวัฏจักรชีวิต
o สารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ และการบริการต่าง ๆ
o สถานที่ตั้งขององค์กร สถานที่ติดต่อทางไปรษณีย์ หมายเลขโทรศัพท์ และสถานที่ติดต่อทางสื่ออิเลคทรอนิคส์ (E-mail) เมื่อมีการขายภายในประเทศ หรือการขายข้ามเขตพรมแดน รวมถึงโดยวิธีการผ่านทางอินเตอร์เน็ต การทำธุรกรรมผ่านทางอินเตอร์เน็ต (E-commerce) หรือการสั่งซื้อทางไปรษณีย์
* มีการทำสัญญาที่
o เขียนด้วยภาษาที่ชัดเจน อ่านได้ง่าย และใช้ภาษาที่เข้าใจได้
o ไม่กำหนดเงื่อนไขไว้ในข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม เช่น การยกเว้นในการรับผิดที่ไม่เป็นธรรม สิทธิในการเปลี่ยนแปลงราคาและเงื่อนไขแต่เพียงผู้เดียว การผลักภาระความเสี่ยงของการล้มละลายไปยังผู้บริโภค หรือกำหนดระยะเวลาในข้อตกลงที่ยาวนานเกินไป และหลีกเลี่ยงพฤติกรรมการให้ยืมแบบเอาเปรียบ เช่น อัตราการให้เครดิตที่ไม่สมเหตุสมผล
o ให้สารสนเทศที่ชัดเจนและเพียงพอเกี่ยวกับราคา คุณสมบัติด้านการใช้งาน เงื่อนไข ข้อตกลง ค่าใช้จ่าย ระยะเวลาของสัญญา และระยะเวลาในการเลิกสัญญา
(โปรดอ่านต่อตอนถัดไป)
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด