กาตาร์ ดินแดนเล็ก ๆ ที่ได้ชื่อว่าเป็น เศรษฐีใหม่ อีกประเทศหนึ่ง และชื่อของกาตาร์ในวันนี้ได้ก้าวไปไกลจนกระทั่งได้รับคัดเลือกจาก FIFA ให้เป็นเจ้าภาพจัด ฟุตบอลโลกปี 2022
รอบโลกเศรษฐกิจ (Around the World Economy)
“กาตาร์” ก้าวต่อไปที่น่าจับตา
สุทธิ สุนทรานุรักษ์
นักวิชาการตรวจเงินแผ่นดิน 6 สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน
Ph.d. (Candidate) of School of Development Economics,
National Institute Development Administration (NIDA)
ก่อนเริ่มต้นบทความเรื่อง กาตาร์ ก้าวต่อไปที่น่าจับตา ผมต้องขออนุญาตนอกเรื่องสักเล็กน้อยนะครับ เนื่องจากที่หายหน้าจากคอลัมน์นี้ไปประมาณสองเดือน ก็ด้วยต้องเดินทางออกไปตามต่างจังหวัดเพื่อทำการตรวจสอบความคุ้มค่าของการใช้เงินจ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจภายใต้นโยบายไทยเข้มแข็งของรัฐบาลที่ผ่านมา
ปัจจุบันผู้เขียนรับราชการอยู่ที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งทำหน้าที่ในการตรวจสอบความถูกต้องของการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดิน รวมไปถึงตรวจสอบความคุ้มค่าของเงินงบประมาณที่ถูกใช้ไปในโครงการลงทุนต่าง ๆ ของรัฐบาลทั้งส่วนกลางและท้องถิ่น
มีเรื่องที่อยากนำมา “เล่าสู่กันฟัง” ในฐานะที่ท่านผู้อ่านเป็นเจ้าของเงินภาษีอากรและเงินงบประมาณแผ่นดินที่ควรรับทราบข้อมูล ความเป็นมา เป็นไปเกี่ยวกับกระบวนการ “ตรวจเงินแผ่นดิน” ว่าที่ผ่านมาองค์กรแห่งนี้ได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มแข็ง แม้ว่าจะมีหลายครั้งที่กระบวนการตรวจสอบของบ้านเราอาจก้าวล่วงไปไม่ถึงการจับคนกระทำการทุจริตได้ แต่อย่างน้อยที่สุดกระบวนการตรวจสอบสามารถป้องปรามคนที่มีเจตนาจะกระทำการทุจริตได้
ในทัศนะของผู้เขียนแล้ว ปัญหาการทุจรติคอร์รัปชั่นเป็น “ปัญหาเชิงโครงสร้าง” ที่ไม่สามารถแก้ไขด้วยกระบวนการตรวจสอบได้เพียงอย่างเดียวนะครับ หากแต่ต้องอาศัยจิตสำนึกของทั้งผู้มีอำนาจรัฐ ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง ผู้ใช้อำนาจรัฐ อย่างข้าราชการ รวมไปถึงพ่อค้านักธุรกิจที่ต้องเกี่ยวดองหนองยุ่งขายสินค้า บริการรวมทั้งเสียภาษีให้กับรัฐ กลุ่มบุคคลที่ว่ามานี้ควรถือคติ “ผลประโยชน์ส่วนรวม” มากกว่าผลประโยชน์ส่วนตัวหรือพวกพ้อง
อย่างไรก็ตามปัญหาเชิงโครงสร้างดังกล่าวนั้นมิได้แก้ไขได้ภายในปีเดียว ห้าปี หรือสิบปี หรอกครับหากแต่มันเป็นการปลูกฝังความคิดและทัศนคติที่เรียกว่า “โตไปแล้วต้องไม่โกง” ทั้งเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ในชีวิตประจำวันไปจนกระทั่งเรื่องใหญ่ ๆ ที่ต้องเกี่ยวพันกับผลประโยชน์ของคนส่วนรวม เพราะหากเราสามารถสร้างเยาวชนให้เกิด “หิริและโอตัปปะ” ในเรื่องนี้ได้ อย่างน้อยที่สุดผมเชื่อว่าประเทศไทยอันเป็นที่รักของพวกเราคงพัฒนาไปได้ไกลกว่าที่เป็นอยู่นะครับ
ขออนุญาตกลับเข้าเรื่องที่ผมได้เขียนถึงในตอนนี้ คือ เรื่องของประเทศ “กาตาร์” ดินแดนเล็ก ๆ ที่ได้ชื่อว่าเป็น “เศรษฐีใหม่” อีกประเทศหนึ่ง และชื่อของกาตาร์ในวันนี้ได้ก้าวไปไกลจนกระทั่งได้รับคัดเลือกจาก FIFAให้เป็นเจ้าภาพจัด “ฟุตบอลโลกปี 2022” แล้วนะครับ
รู้จัก “กาตาร์” ก้าวต่อไปที่น่าจับตา
ณ แหลมที่ยื่นออกไปจากชายฝั่งด้านตะวันออกของคาบสมุทรอาระเบีย มีนครเล็ก ๆ นครหนึ่งที่มีพรมแดนติดต่อกับซาอุดิอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ สองยักษ์ใหญ่แห่งคาบสมุทรอาระเบีย นครเล็ก ๆ ที่ว่านี้กำลังค่อย ๆ เติบโตอย่างช้า ๆ แต่มั่นคง เต็มไปด้วยความทันสมัยของตึกรามบ้านช่องรวมทั้งได้กลายเป็นเมืองท่าทางการค้า ศูนย์กลางทางการลงทุน และในอนาคตจะกลายเป็นเมืองที่เจริญเติบโตมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ใช่แล้วครับ ประเทศที่เรากำลังจะกล่าวถึงนี้ คือ “กาตาร์”
กาตาร์เป็นประเทศเล็ก ๆ มีขนาดพื้นที่ประมาณ 11,400 ตารางกิโลเมตร ขณะที่มีประชากรเพียง 1.6 ล้านคน โดยประชากรส่วนใหญ่สืบเชื้อสายมาจากชนเผ่าเบดูอิน ที่เคยเร่ร่อนอยู่ท่ามกลางทะเลทรายเมื่อครั้งอดีต นอกจากนี้กาตาร์ได้กลายเป็นดินแดนหรือสวรรค์ของพ่อค้าขายแรงงานเนื่องจากมีความต้องการแรงงานจากเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อพยพเข้าประเทศเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของกาตาร์
มีตัวเลขที่น่าสนใจตัวหนึ่งนะครับว่า ณ วันนี้ GDP per Capita หรือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติของกาตาร์ต่อหัว หรือจะมองว่าเป็นรายได้ประชาชาติต่อหัวของกาตาร์นั้นสูงที่สุดในโลกแล้วนะครับ กล่าวคือ มีตัวเลขสูงถึง 88,559 ดอลลาร์ต่อปี สูงกว่าประเทศไทยเกือบสิบเท่า (อ้างอิงจากข้อมูลของ IMF ปี 2010)
แน่นอนที่สุดครับว่า ความร่ำรวยดังกล่าวมาจากการภาคธุรกิจพลังงาน เพราะนับตั้งแต่ปี 1973 อันเป็นปีที่เกิดวิกฤตการณ์น้ำมันครั้งแรก หรือ Oil Shock นั้น กาตาร์จากเดิมที่เคยเป็นประเทศที่ถูกจัดอันดับว่ายากจนที่สุดในโลกนั้น ทุกวันนี้พวกเขาค่อยขยับฐานะขึ้นมาเรื่อย ๆ จนกระทั่ง กลายเป็นหนึ่งในประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในโลกไปแล้ว
ทุกวันนี้กาตาร์ได้พัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานไปได้อย่างรวดเร็ว โดยส่งออกก๊าซ LNG (Liquefied Natural Gas) มากที่สุดของโลก ด้วยชัยภูมิที่อยู่ติดกับคาบสมุทร ทำให้กาตาร์สามารถสร้างท่าเรือสำหรับส่งก๊าซดังกล่าวได้ นอกจาก LNG แล้ว กาตาร์ยังเป็นผู้ส่งออกก๊าซ GTL (Gas to Liquids) รายใหญ่ที่สุดของโลกอีกเช่นกันนะครับ และผลของการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานทำให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีในประเทศขยายตัวไปพร้อมกันด้วย ทุกวันนี้กาตาร์กลายเป็นประเทศรายใหญ่ที่ผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีจำพวก Polyethylene, Polypropylene รวมไปถึง Vinyl เป็นต้น
ปัจจุบันกาตาร์มีปริมาณก๊าซสำรองมากที่สุดอันดับสามของโลก รองจากรัสเซียและอิหร่าน และทั้งสามประเทศได้ร่วมมือกันกำหนดโครงสร้างของราคาก๊าซขึ้นมาใหม่หรือที่เรียกว่า Gas Troika โดยพยายามที่จะรักษาเสถียรภาพของการผลิตก๊าซที่วันนี้ได้กลายเป็นพลังงานทางเลือกที่สำคัญ
แม้ว่าจะมีผู้วิจารณ์ว่า Gas Troika ก็ไม่ได้มีความแตกต่างจากการรวมตัวของกลุ่มโอเปกสักเท่าใดนัก เนื่องจากอยู่ในรูปของการผูกขาดการผลิตพลังงานเช่นเดียวกัน แต่อย่างไรก็ตามประเทศทั้งสามได้ให้เหตุผลไว้ว่าต้องการแยกราคาก๊าซออกจากตลาดการค้าน้ำมันซึ่งทุกวันนี้ก็มีความผันผวนไปตามปัจจัยการเมืองระหว่างประเทศอยู่แล้ว
QATARGAS และ Qatar Petroleum
สององค์กรด้านพลังงานของกาตาร์ที่มีบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจของกาตาร์ให้เจริญเติบโตได้
QATARGAS เป็นบริษัทก๊าซผู้ผลิตก๊าซ LNG รายใหญ่ที่สุดในโลก
ขณะที่ Qatar Petroleum มีรัฐบาลกาตาร์ถือหุ้นใหญ่
กาตาร์เป็นประเทศที่ได้เปรียบทางด้านทรัพยากรพลังงานโดยเฉพาะก๊าซธรรมชาตินะครับ ขณะนี้กาตาร์ได้ขยายปริมาณการส่งออกก๊าซ LNG ไปยังประเทศจีน โดยในเบื้องต้นเจรจาตกลงกันแล้วว่าจะส่งก๊าซ LNG ไปให้จีนถึงปีละ 12 ล้านเมตริกตันเลยทีเดียวครับ
Abdulla bin Hamad al-Attiyah
อดีตรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมและพลังงาน (Ministry of Industry and Energy)
ผู้วางรากฐานของนโยบายด้านการผลิต การค้าและการลงทุนด้านพลังงานให้กับกาตาร์จนมั่นคงมาถึงวันนี้
จะเห็นได้ว่ารัฐบาลกาตาร์ให้ความสำคัญกับการผลิตก๊าซธรรมชาติเป็นหลักนะครับ แม้ว่าทุกวันนี้กาตาร์จะเป็นสมาชิกของกลุ่ม OPEC โดยสามารถผลิตน้ำมันได้ประมาณวันละ 1 ล้านบาร์เรล รวมทั้งมีปริมาณน้ำมันสำรองอยู่ 27.5 พันล้านบาร์เรล แต่รัฐบาลกาตาร์ได้เน้นไปที่การเร่งขยายการผลิตและส่งออกก๊าซ LNG เป็นหลักก่อน โดยล่าสุดกาตาร์แผนการขยายท่อส่งก๊าซที่เรียกว่าโครงการ Dolphin Gas Project เพื่อเชื่อมโยงการส่งก๊าซไปยังประเทศคู่ค้าอย่างสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ คูเวตและโอมาน
รัฐบาลกาตาร์นับว่าเป็นรัฐบาลที่มี “วิสัยทัศน์” ยาวไกลนะครับ ในการที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานที่ตนเองได้เปรียบอยู่แล้วให้มีความได้เปรียบมากขึ้นไปอีก ไม่ว่าการเน้นไปที่ภาคการผลิตก๊าซ LNG และ GTL มากกว่าที่จะไปทุ่มลงทุนด้านน้ำมัน นอกจากนี้ยังแสวงหาพันธมิตรอย่างรัสเซีย อิหร่าน เพื่อมาตั้งองค์กรกำหนดราคาก๊าซคล้าย ๆ กับแนวทางของ OPEC รวมถึงการขยายท่อส่งก๊าซทางทะเลเพื่อขยายตลาด
Dolphin Gas Project
โครงการขยายท่อส่งก๊าซทางทะเลไปยังประเทศคู่ค้าในตะวันออกกลาง
(ภาพจาก http://www.qp.com.qa/en/homepage/qpactivities/epsa_dpsa/30-3244215334.aspx)
การพัฒนาเศรษฐกิจของกาตาร์เริ่มต้นจากการขายทรัพยากรธรรมชาติเป็นหลักก่อนนะครับ แต่อย่างไรก็ดีรัฐบาลกาตาร์เรียนรู้ที่จะใช้และจัดการทรัพยากรเหล่านั้นให้เป็นระบบจนมีรายได้เป็นกอบเป็นกำ ทุกวันนี้รัฐบาลกาตาร์ใช้นโยบายรัฐสวัสดิการ (Welfare State) โดยให้เงินสงเคราะห์กับประชาชนทั้งค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา ก๊าซหุงต้มรวมไปถึงการตรึงราคาน้ำมัน ด้วยเหตุนี้ชาวกาตาร์จึงมีคุณภาพชีวิตที่ดีมาก
รัฐบาลกาตาร์ภายใต้การนำของเจ้าผู้ครองนคร Sheik Hamad Bin Khalifa Al Thani ได้สร้างให้กาตาร์กลายเป็นรัฐสมัยใหม่ แม้ว่าจะมีการปกครองแบบ “ราชาธิปไตย”ภายใต้ราชวงศ์ Al-Thani แต่เจ้านครรัฐกาตาร์ซึ่งอยู่ในฐานะประมุขนั้นยังต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญของประเทศโดย เจ้านครรัฐมีอำนาจสูงสุดในด้านการบริหารราชการแผ่นดิน
รัฐบาลกาตาร์ได้ดำเนินนโยบายที่เรียกว่า Qatar National Vision 2030 ซึ่งเน้นในเรื่องการพัฒนาชีวิต ความเป็นอยู่ของประชากรในประเทศในทุก ๆ ด้าน โดยพยายามสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนเพื่อไม่ให้เกิดความไม่เท่าเทียมหรือช่องว่างทางรายได้มากจนเกินไป ซึ่งการเป็นรัฐสวัสดิการนี้เองที่ทำให้กาตาร์ไม่ประสบปัญหาการลุกขึ้นมาประท้วงของประชาชนเช่นเดียวกับประเทศรอบข้างในแถบอัฟริกาเหนือและตะวันออกกลาง
Sheik Hamad Bin Khalifa Al Thani
เจ้าผู้ครองนครรัฐ (Emir) กาตาร์คนที่ 7 ผู้ได้รับการขนานนามว่าเป็น A Modern day Metternich1
ภายใต้นโยบาย Qatar National Vision 2030 กาตาร์มีโครงการที่จะสร้าง World Class Infrastructure ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มูลค่ารวมประมาณ 130 พันล้านดอลลาร์ โดยโครงการสำคัญได้แก่ การขยายการก่อสร้างโครงการอุตสาหกรรมด้านน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติและปิโตรเคมี การก่อสร้างสนามบินใหม่ การพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ที่เรียกว่า Pearl Qatar โดยถมทะเลเพื่อสร้างเกาะเทียมที่ชื่อ Pearl Island มีการก่อสร้าง Energy City, Education City, Science and Technology Park, Hamad Medical City, The Sport City และ The Entertainment City
โครงการดังกล่าวจะทำให้เมืองอย่าง โดฮา (Doha) เมืองหลวงของกาตาร์กลายเป็นมหานครสำคัญต่อไปในอนาคต รูปแบบการพัฒนาเมืองของกาตาร์นั้นคล้ายกับการพัฒนาเมืองของสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์นะครับ ประเทศอาหรับเหล่านี้มีทั้ง “สติปัญญา” และ “วิสัยทัศน์” ในการพัฒนาประเทศโดยรู้ว่าควรจะจัดการและใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างไรให้เกิดคุณค่าและประโยชน์กับประชาชนตัวเองให้มากที่สุด
Sheik Hamad bin Jassim bin Jaber Al Thani
นายกรัฐมนตรีกาตาร์คนปัจจุบันที่มาจากเชื้อพระวงศ์ Al-Thani
โครงการ World Class Infrastructure ในกาตาร์ ยังมีส่วนให้ผู้รับเหมาก่อสร้างไทยสามารถได้งานก่อสร้างอีกด้วย เนื่องจากผู้รับเหมาไทยและแรงงานไทยมีฝีมือดีมาก จึงทำให้แรงงานไทยเหล่านี้มีโอกาสได้ไปหาเงินในตะวันออกลางอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่เราถูกซาอุดิอาระเบียลดชั้นความสัมพันธ์ทางการทูต อันเนื่องมาจากคดีเพชรซาอุ
Pearl Qatar หรือ Pearl Island
เกาะเทียมที่เกิดจากการถมทะเล ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการ World Class Infrastructure
นอกจากการลงทุนทางด้านพลังงานแล้ว กาตาร์ยังมีการลงทุนในตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลกอีกด้วยนะครับ โดยกาตาร์มีกองทุนที่ชื่อ Sovereign Wealth Fund หรือ SWF ซึ่งเป็นกองทุนที่ใหญ่ติดอันดับ 13 ของโลก กองทุนดังกล่าวมีองค์กรที่ชื่อ Qatar Investment Authority หรือ QIA เป็นองค์กรหลักที่ทำหน้าที่หาธุรกิจลงทุนและกระจายการลงทุนไปในธุรกิจต่าง ๆ ที่น่าสนใจ
ยกตัวอย่างเช่น QIA ลงทุนในตลาดหุ้นในลอนดอน London Stock Exchange ถึง 15% ขณะที่เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาได้ถือครองหุ้นใหญ่ของสโมสรฟุตบอลปารีส แซงแชร์แมง (Paris St Germain) ในฝรั่งเศสเรียบร้อยแล้ว
QIA อีกหนึ่งองค์กรลงทุนข้ามชาติที่มีอิทธิพลในยุคโลกาภิวัฒน์
ในช่วงสิบปีที่ผ่านมาชื่อเสียงของกาตาร์เป็นไปในทางที่ดีมาตลอดนะครับ มีสายการบินดัง ๆ อย่าง Qatar Airways ที่กำลังโตวันโตคืน มีสำนักข่าวต่างประเทศอย่าง Aljazeera ที่เริ่มมาโด่งดังหลังเหตุการณ์ 9/11 สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นการปรับตัวของกาตาร์ในโลกยุคใหม่ที่แข่งขันกันทางด้านการค้า การลงทุน และเน้นการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเฉพาะกาตาร์ทุกวันนี้มีโครงการที่เรียกว่า Crop per Drop ที่พยายามใช้พลังงานแสงอาทิตย์กลั่นน้ำทะเลออกมาและแยกส่วนที่เป็นเกลือออก เพื่อให้ได้น้ำจืดใช้สำหรับชลประทาน
Aljazeera และQatar Airways ได้กลายเป็น Global Brand ของกาตาร์ไปแล้ว
ล่าสุดกาตาร์ได้รับคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกในปี 2022 นับเป็นประเทศที่สามของเอเชียต่อจากญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ที่ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพ ผลพวงดังกล่าวทำให้กาตาร์มีโครงการสร้างสนามฟุตบอลใหม่จำนวน 9 แห่ง อีกทั้งปรับปรุงสนามที่มีอยู่เดิมซึ่งคิดเป็นเงินถึง 4 พันล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ยังมีการลงทุนในสาธารณูปโภคอื่น ๆ ต่อเนื่องอีกด้วย ซึ่งคาดกันว่าเมื่อถึงวันนั้นกาตาร์จะมีศักยภาพรองรับแฟนบอลและนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกซึ่งจะยิ่งทำให้กาตาร์กลายเป็น “มหาอำนาจทางเศรษฐกิจ” รายใหม่อีกในไม่ช้า
สัญลักษณ์ Qatar 2022 เจ้าภาพฟุตบอลโลก กับ
การก้าวขึ้นสู่มหาอำนาจทางเศรษฐกิจอีกหนึ่งรายที่มาจากตะวันออกกลาง
เขียนมาถึงตรงนี้ ผู้เขียนรู้สึกสะท้อนใจอะไรหลายอย่างนะครับ น่าสนใจว่าทำไมประเทศเล็ก ๆ หรือนครเล็ก ๆ อย่าง กาตาร์จึงสามารถถีบตัวเองให้กลายมาเป็นประเทศระดับมหาเศรษฐีได้ ทั้งที่ประเทศของพวกเขาก็มีแค่ก๊าซธรรมชาติกับน้ำมัน แต่เมื่อวันเวลาเปลี่ยนไปการพัฒนาเศรษฐกิจให้ก้าวทันกับกระแสโลกาภิวัฒน์นั้นทำให้กาตาร์กลายเป็นประเทศที่เติบโตอย่างรวดเร็วและดูจะมั่นคงมีเสถียรภาพ ก็ด้วยส่วนหนึ่งพวกเขาอาจจะไม่มีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทางรายได้มาก เพราะทุกคนล้วนมีอันจะกินกันหมด
หันกลับมามองดูที่บ้านเรา…หลังเลือกตั้งวันที่ 3 กรกฎาคม การเมืองไทยคงยังไม่มีอะไรดีขึ้นหรอกครับ เราคงได้เห็นภาพนักธุรกิจการเมืองที่มุ่งแต่จะหาประโยชน์ใส่ตัวเองและพวกพ้องโดยลืมคำนึงกันไปว่า โลกเราทุกวันนี้ไม่ได้อยู่แค่กะลาใบเล็ก ๆ อย่างที่หลายคนเข้าใจกันอีกแล้ว
พบกันใหม่ฉบับหน้าครับ….
เอกสารและภาพประกอบการเขียน
1. www.wikipedia.org
2. ภาพประจำคอลัมน์ Globe-Earth-Boy จาก http://www.businessinsider.com/imf-world-rebound-2010-4
1 คำว่า Metternich มาจากชื่อของเจ้าชาย Metternich อัครมหาเสนาบดีของออสเตรียซึ่งมีส่วนในการสร้างระบอบอนุรักษ์นิยมภายใต้การปกครองแบบกษัตริย์ให้เข้มแข็งในยุโรป
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด