เนื้อหาวันที่ : 2012-01-09 16:39:20 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 10649 views

ทำความรู้จักกับโซ่อุปทานของกล้วย เรื่องที่ไม่กล้วยเหมือนชื่อ

ปัจจุบันกล้วยเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญ จนหลายประเทศจัดตั้งเป็นองค์กรเพื่อทำการศึกษาวิจัย และเก็บรักษาสายพันธุ์เดิม รวมทั้งพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ของกล้วย

ทำความรู้จักกับโซ่อุปทานของกล้วย
เรื่องที่ไม่กล้วยเหมือนชื่อ

กฤติกา  จินาชาญ
น.ศ.หลักสูตร MS. in Logistics and Supply Chain Management ม.ศรีปทุม

          กล้วยเป็นผลไม้พื้นบ้าน ให้ผลง่าย เลี้ยงดูง่าย และหารับประทานได้ง่าย กล้วยเป็นผลไม้ที่คนไทยคุ้นเคยจนเรียกได้ว่าเกิดมาก็กินกล้วย โตจนแก่เฒ่าก็ยังกินกล้วย กล้วยปลูกที่ไหนก็ขึ้น ดูแลรักษาง่าย ต้นทุนการปลูกต่ำ ปลูกได้ทั่วไปโดยเฉพาะในพื้นที่เขตร้อนชื้น

นอกจากนี้ ปัจจุบันกล้วยยังเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญ จนหลายประเทศจัดตั้งเป็นองค์กรเพื่อทำการศึกษาวิจัย และเก็บรักษาสายพันธุ์เดิม รวมทั้งพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ของกล้วยอีกด้วย กล้วยมีดีอย่างไรจนต้องรับประทานกันตลอดชีวิต หรือเมื่อนึกถึงกล้วยก็ต้องนึกถึงคำพูดที่ว่า “โห! แค่นี้เองเรื่องกล้วย..กล้วย” หรือ “ง่ายเหมือนปอกกล้วยเข้าปาก” เชื่อว่าหลายท่านคงจะเคยพูดและเคยได้ยินมาบ้าง

เมื่อรู้สึกว่าสิ่งที่ทำหรือสิ่งที่เห็นนั้นสามารถทำได้ง่าย ๆ หรือทำได้ไม่ยากลำบาก ทำให้ทั้งสองคำพูดนี้เป็นคำพูดที่ติดปากหลายท่านไปโดยปริยาย และเรื่องกล้วย...กล้วย นี้เองที่น่าสนใจว่าจะกล้วยจริงหรือไม่

มารู้จักกล้วยกันก่อน
          กล้วยเป็นผลไม้จากพื้นที่ร้อนชื้นในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมักปลูกกล้วยไว้ในบริเวณที่อยู่อาศัยเพื่อใช้ประโยชน์ และเป็นผลไม้ที่ทานง่ายให้พลังงานเร็วเนื่องจากอุดมด้วยน้ำตาลซูโครส ฟรุคโทส และกลูโคส ทำให้เพิ่มพลังงานให้กับร่างกายแบบทันทีทันใด ปัจจุบันกล้วยมีอยู่หลายร้อยพันธุ์แต่ที่นิยมปลูกเป็นการค้าคือ กล้วยน้ำว้า  กล้วยหอมทอง กล้วยหอมเขียว กล้วยหอมค่อม และกล้วยไข่ เป็นต้น

กว่าจะกลายเป็นกล้วย
          กว่าจะกลายเป็นกล้วย 1 หวีให้เราได้ทานกันนั้นต้องผ่านขั้นตอนต่าง ๆ เริ่มตั้งแต่การวางแผนการผลิต การเพาะปลูก การเก็บเกี่ยว และส่งไปยังตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ จนถึงมือผู้บริโภคให้ได้ลิ้มลองความอร่อย ซึ่งแต่ละขั้นตอนจะมีเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้และความชำนาญ เข้าไปช่วยเกษตรกรดูแลตั้งแต่การเตรียมดินสำหรับการเพาะปลูก จนถึงการเก็บผลผลิต หากทำการส่งออกไปต่างประเทศต้องทำตามมาตรฐานที่ประเทศนั้น ๆ กำหนดไว้ เจ้าหน้าที่จะเข้าไปให้ความรู้แก่เกษตรกรเพื่อให้ผลผลิตตรงตามความต้องการ ดังรูปที่ 1

รูปที่ 1 ขั้นตอนการปลูกกล้วย

ระบบโซ่อุปทานของกล้วย
          เมื่อเราทราบขั้นตอนการปลูกกล้วยแล้ว ลองมาดูระบบโซ่อุปทานโดยรวมของกล้วยบ้างโดยเริ่มตั้งแต่การไหลของวัตถุดิบ เช่น ปุ๋ย และต้นกล้า ส่งมาให้เกษตรกรซึ่งได้วางแผนเตรียมการเพาะปลูก จนถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิตโดยมีพ่อค้าคนกลางเป็นผู้กระจายสินค้าไปสู่ผู้บริโภค โดยมีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 4 กิจกรรม คือ การซื้อ การผลิต การเคลื่อนย้าย และการขาย ซึ่งกิจกรรมจะดำเนินได้ดีก็ต้องมีการไหลของข้อมูลในทุกกิจกรรมทุกฝ่ายทำให้เกิดความรวดเร็วในกระบวนการทำงานและตรงตามความต้องการของลูกค้าดังรูปที่ 2

รูปที่ 2 ระบบโซ่อุปทานของกล้วย

กล้วยไทยโกอินเตอร์
          สถานการณ์การส่งออกกล้วยไทยไปญี่ปุ่น ในปี 2550-2552 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากปริมาณการส่งออก 1,134 ตัน คิดเป็นมูลค่า 29.95 ล้านบาท ในปี 2550 เพิ่มเป็น 2,309 ตัน คิดเป็นมูลค่า 72.59 ล้านบาท ในปี 2552 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 42.69 และ 55.68 ต่อปี ตามลำดับ

โดยการส่งออกกล้วยหอมสดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 46.65 และ 57.01 ต่อปี ด้านการส่งออกกล้วยไข่และกล้วยอื่น ๆ มีแนวโน้มลดลง โดยมีปริมาณและมูลค่าการส่งออก คิดเป็นร้อยละ 9.67 และ 30.37 เมื่อเทียบกับการส่งออกกล้วยทั้งหมดของประเทศไทย (ที่มา: กระทรวงเกษตรและสหกรณ์) จากตัวเลขข้างต้นพบว่าชาวญี่ปุ่นจะนิยมบริโภคกล้วยหอมสดมากกว่ากล้วยชนิดอื่น ๆ ดังนั้นระบบโซ่อุทานของการส่งออกกล้วยจะเป็นดังแผนภาพด้านล่าง

     รูปที่ 3 ระบบโซ่อุปทานของการส่งออกกล้วยไปประเทศญี่ปุ่น

          จากรูปที่ 3 แสดงภาพรวมของระบบโซ่อุปทานกล้วยหอมสดส่งออกไปประเทศญี่ปุ่น โดยเริ่มต้นตั้งแต่เกษตรกรผู้ปลูกกล้วยหอมซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่มีความสำคัญของกระบวนการ เกษตรกรจะทำการเตรียมดินเพาะปลูก จนได้ขนาดของผลผลิตที่มีขนาดและสีผิวของกล้วยที่ไม่ช้ำ เพื่อให้เป็นไปตามความต้องการของผู้บริโภคประเทศญี่ปุ่น อีกทั้งจะต้องไม่สุกก่อนที่ส่งไปถึงประเทศญี่ปุ่น ถ้ากล้วยสุกจะถูกห้ามนำเข้าและต้องนำไปทิ้ง ซึ่งเป็นมาตรการในการป้องกันศัตรูพืชของประเทศญี่ปุ่น

เมื่อกล้วยออกผล เกษตรกรตัดส่งสหกรณ์ทำการตกแต่งและผ่านกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability System) ซึ่งเป็นระบบการตรวจสอบย้อนกลับยังฐานข้อมูลที่เป็นรายละเอียดของสินค้าตั้งแต่แหล่งผลิตหรือแหล่งที่มาของสินค้าและผลการวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ (Lab) ของผลิตภัณฑ์ จึงทำให้สามารถออกใบรับรองสุขอนามัยได้รวดเร็วขึ้น

ส่งผลให้ผู้ผลิตสามารถส่งออกสินค้าได้มากขึ้น ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันโดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยสำหรับการวางแผน การควบคุม และการดำเนินงานในระบบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและช่วยพัฒนาการควบคุมคุณภาพสินค้า ตั้งแต่กระบวนการผลิตระดับเกษตร จนถึงโรงงานและการส่งออกที่สำคัญ จากนั้นบรรจุกล้วยหอมลงกล่อง ด้วยการรองด้วยโฟมอ่อนก่อนบรรจุลงกล่องกระดาษลูกฟูก แล้วขนย้ายเข้าห้องเย็นที่อุณหภูมิ 15 oC รอการขนส่ง

โดยรถขนส่งนั้นเป็นรถห้องเย็นเพื่อรักษาอุณหภูมิ จากนั้นทำการขนส่งไปยังสนามบินหรือท่าเรือพร้อมกับเอกสารประกอบ คือ ใบรับรองมาตรฐานต่าง ๆ ของเกษตรกร/สหกรณ์/กระทรวงเกษตร จากนั้นนำเอกสารและผลผลิตไปยังพิธีการศุลกากรเพื่อทำการตรวจสอบแล้วบรรจุตู้คอนเทนเนอร์ นำขึ้นเรือเพื่อทำการจัดส่ง เมื่อผลผลิตไปถึงท่าเรือจะมีผู้นำเข้าเป็นผู้นำผลผลิตออกจากท่าเรือและทำการกระจายสินค้าไปยังลูกค้าตามที่ได้ตกลงกัน ซึ่งกระบวนการต่าง ๆ ต้องเป็นไปตามกฎและระเบียบขั้นตอนอย่างเคร่งครัด

การเพิ่มคุณค่า 
          เนื่องจากการปลูกกล้วยเพื่อการส่งออกมีจำนวนมาก ปริมาณกล้วยที่เหลือจากการส่งออกจึงมีมากด้วย เพราะในการส่งออกนั้นจะต้องคัดเลือกผลที่ได้ขนาดมาตรฐาน ผิวดีไม่มีตำหนิ ดังนั้นผลกล้วยที่ไม่ได้มาตรฐาน จึงส่งขายตลาดในประเทศ หรืออาจจะมาเพิ่มมูลค่าในการส่งออก โดยการแปรรูปได้ เช่น

          กล้วยแปรรูปอย่างง่าย เช่น กล้วยกวน กล้วยตาก และกล้วยอบกรอบ (Banana Chip) ปัจจุบัน มีการควบคุมความสะอาดในการผลิต และคุณภาพของสินค้าอย่างเคร่งครัด เพื่อให้สินค้าได้มาตรฐานตามที่ตลาดต้องการ ตลาดส่งออกของกล้วยแปรรูปอย่างง่าย ที่สำคัญของไทย ได้แก่ สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย

          กล้วยกระป๋อง วัตถุดิบที่ใช้ส่วนใหญ่ ได้แก่ กล้วยน้ำว้า และกล้วยไข่ที่สุกแล้ว นำมาปอกเปลือก ฝานเป็นชิ้นบาง ๆ หรือใช้ทั้งผลแช่ลงในน้ำเชื่อม แล้วนำไปบรรจุกระป๋องพร้อมรับประทาน ตลาดส่งออกกล้วยกระป๋อง ที่สำคัญของไทย ได้แก่ สหรัฐอเมริกา แคนาดา และฝรั่งเศส

          สารปรุงแต่งรสและกลิ่นกล้วย ใช้สำหรับปรุงแต่งอาหาร ที่ต้องการให้มีรสหรือกลิ่นกล้วย เช่น ไอศกรีม ขนมปัง เค้ก แยม เครื่องดื่ม ขนมขบเคี้ยวต่าง ๆ ฯลฯ ตลาดส่งออกสำคัญ คือ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส อิตาลี ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น

          การเพิ่มคุณค่าให้กับผลิตภัณฑ์จะขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาด เราสามารถทำการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์  ดังรูปที่ 4

รูปที่ 4 การเพิ่มคุณค่าผลิตภัณฑ์จากกล้วย

ปัญหามีทางออก
          กล้วยเป็นผลไม้ที่ช้ำง่าย มีการตกกระของผิวเร็ว จึงดูไม่สวย ไม่น่ารับประทาน และหากบรรจุไม่ดีกล้วยจะเกิดความเสียหายไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด หากทำการส่งออกแต่ละประเทศจะมีมาตรฐานในการส่งออกที่แตกต่างกันออกไป เช่น ขนาดน้ำหนักของแต่ละผลจะต้องเป็นไปตามที่ตั้งมาตรฐานไว้ แต่หลาย ๆ ประเทศเข้มงวดเรื่องการใช้ปุ๋ยเคมี การฉีดพ่นสารเคมี ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องห้ามโดยเด็ดขาด

สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นปัจจัยในการกำหนดราคาจึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม เมื่อรู้ปัญหาที่เกิดขึ้นทางรัฐบาลจึงได้ให้ความช่วยเหลือในระยะเริ่มแรกแก่เกษตรกรโดยช่วยลงทุนและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต เริ่มตั้งแต่การพัฒนาพันธุ์พืชเพื่อให้ได้ผลผลิตที่สูงขึ้น ดูแลน้อยลง คุณภาพตรงตามที่ตลาดต้องการ ทำให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุน มีอำนาจในการต่อรองด้านราคาและคุณภาพให้สูงขึ้น

นอกจากนั้นยังมีการพัฒนาเทคโนโลยีการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว (Post Harvest Technology) เช่น การเก็บในห้องเย็นที่ควบคุมสภาวะอากาศโดยการลด ออกซิเจน เป็นการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยในการเก็บรักษาให้คงความสดใหม่ได้นานขึ้น นอกจากนี้แล้วบรรจุภัณฑ์ก็มีความสำคัญ เนื่องจากการขนส่งต้องใช้เวลาหากมีบรรจุภัณฑ์ที่ดีจะช่วยรักษาคุณภาพของผลผลิตและประหยัดเนื้อที่ในการขนส่ง ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนลงไปได้อีก

บางครั้งอุปสรรคในการส่งออกกล้วยหอมสดนั้น มีกฎระเบียบมากทำให้ผลผลิตบางส่วนไม่ตรงตามมาตรฐาน ดังนั้นการนำมาแปรรูปเพื่อเพิ่มคุณค่าให้กับผลผลิตก็เป็นอีกทางเลือกให้กับเกษตรกร  แต่การแปรรูปนั้นต้องมีการควบคุมกระบวนการผลิตให้ได้คุณภาพ และมีความสะอาด การคัดผลผลิตจึงต้องควบคุมดูแล

          จากบทความข้างต้นนี้ทำให้ทราบว่าเรื่องกล้วย กล้วยที่หลายคนพูดกันจนติดปากนั้นมันไม่กล้วยอย่างที่คิด  ดังนั้นการที่จะส่งเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจใด ๆ ก็ตาม จำเป็นต้องมีระบบการจัดการที่มีประสิทธิภาพไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ในกระบวนการสั่งซื้อวัตถุดิบ  กระบวนการผลิต กระบวนการเคลื่อนย้าย และกระบวนการขาย การไหลของข้อมูลที่ดี  สินค้าหรือผลผลิตก็จะไหลตามไปได้ด้วยดี หากเกิดความผิดพลาดในกระบวนการใดกระบวนการหนึ่ง นั่นหมายถึงต้นทุนที่สูงขึ้น กำไรที่หดหายหรืออาจเกิดการขาดทุนก็เป็นได้

จึงกล่าวได้ว่าการประกอบธุรกิจใด ๆ ก็ตามต้องมีการดูแลเอาใจใส่ทุก ๆ ขั้นตอน ต้องรู้และเอาใจใส่กับความต้องการของลูกค้า นำการจัดการโซ่อุปทานและระบบโลจิสติกส์เข้ามาใช้ให้สามารถตอบสนองได้ตรงตามความต้องการของลูกค้า ทั้งทางด้านเวลา ต้นทุนและการจัดส่ง ดังนั้นในการทำธุรกิจอาจมองว่าง่าย แต่แท้จริงแล้วหากเราไม่ศึกษาอย่างถ่องแท้มันก็อาจจะไม่กล้วยอย่างที่เราคิดก็เป็นได้
     

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด