เนื้อหาวันที่ : 2012-01-09 09:47:10 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 5876 views

ความรับผิดชอบต่อสังคมเพื่อผลิตภาพยั่งยืน (ตอนที่ 2)

การปฏิบัติและดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมตามมุมมองใหม่ แต่องค์กรควรระวังเพื่อไม่ทำให้กิจกรรมดังกล่าวดูเป็นการสร้างภาพมากกว่าความตั้งใจช่วยเหลือสังคมจริง ๆ

โกศล ดีศีลธรรม

          กูรูด้านการตลาดอย่าง ฟิลิป คอตเลอร์ แห่งมหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเทิร์น ร่วมกับ แนนซี่ ลี นักพัฒนาสังคม เสนอแนวคิดและแนวปฏิบัติเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ตีพิมพ์เนื้อหาในหนังสือ “Corporate Social Responsibility Doing the Most Good for Your Company and Your Cause” อธิบายเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคมที่ไม่ใช่เป็นเพียงการบริจาค ประเด็นที่ทั้ง 2 ท่านให้ความสำคัญ คือ เรื่องความสมัครใจดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบเป็นความสมัครใจ ไม่ได้ถูกควบคุมโดยกฎหมายหรือข้อบังคับ

ผู้เขียนศึกษาถึงความเปลี่ยนไปของรูปแบบกิจกรรมเพื่อสังคมในสหรัฐอเมริกาที่กำลังก้าวข้ามจากแนวปฏิบัติแบบเดิมที่มุ่งการบริจาคตามแบบฉบับของ "การทำดีที่ทำได้ง่ายที่สุด" มาสู่แนวปฏิบัติใหม่ในการทำกิจกรรมเพื่อสังคมที่สนับสนุนวัตถุประสงค์ขององค์กร

โดยองค์กรมุ่งที่จะเลือกเฉพาะประเด็นเชิงกลยุทธ์บางประการที่สอดคล้องกับมาตรฐานองค์กร โดยเลือกทำกิจกรรมเพื่อสังคมที่ตอบสนองเป้าหมายธุรกิจหรือเลือกประเด็นปัญหาทางสังคมที่สัมพันธ์กับสินค้าหลัก ทำให้การทำกิจกรรมเพื่อสังคมสู่รูปแบบการทำงานที่มีแบบแผน กลยุทธ์ และให้ความสำคัญกับการประเมินผลมากยิ่งขึ้น ผู้เขียนได้จำแนกกิจกรรมเพื่อสังคมไว้ ตั้งแต่แนวคิดที่มุ่งเน้นการตลาด เช่น การส่งเสริมประเด็นสังคมของบริษัท การตลาดที่เกี่ยวเนื่องกับประเด็นสังคม การตลาดเพื่อความรับผิดชอบต่อสังคม

แนวคิดที่อยู่นอกเหนือกิจกรรมฝ่ายการตลาดอย่างกิจกรรมอาสาสมัครพนักงาน แนวปฏิบัติทางธุรกิจเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งเป็นความรับผิดชอบภายในกระบวนการดำเนินธุรกิจขององค์กร ดังนั้นการปฏิบัติและดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมตามมุมมองใหม่นี้ แต่องค์กรควรระวังเพื่อไม่ทำให้กิจกรรมดังกล่าวดูเป็นการสร้างภาพมากกว่าความตั้งใจช่วยเหลือสังคมจริง ๆ

อย่างไรก็ดีใช่ว่าทุกคนจะเห็นพ้องกับสิ่งที่เรียกว่า CSR ของภาคเอกชนบนฐานความคิดว่าธุรกิจเอกชนเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่จำเป็นต้องตอบแทนสังคมหรือการคืนกำไรให้สังคมด้วยการเสียสละเงินทองและตอบแทนสิ่งดีงามคืนให้สังคมเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน

          ดังกรณีบริษัทพลังงานแห่งชาติอย่าง ปตท. ที่มุ่งมั่นสู่การเป็นบริษัทพลังงานไทยข้ามชาติชั้นนำ ปตท. ถือเป็นองค์กรตัวอย่างที่มีการจัดการเรื่อง CSR อย่างเป็นระบบ โดยระบุไว้ชัดเจนว่าประเด็นของ CSR จะอยู่บน CEO Forum ให้ CEO เป็นผู้กำกับดูแลทั้งยังมีคณะกรรมการรองรับแต่ละโครงการอย่างชัดเจน แต่ละปีใช้งบประมาณด้านนี้กว่า 250 ล้านบาท

โครงการ CSR ในองค์กร ปตท. เป็นเสมือนร่มใหญ่ (Umbrella) ครอบคลุมทุกเรื่องขององค์กร ปตท. มองว่า CSR ที่ดีจะต้องเริ่มจากกลุ่มแรกก่อน นั่นคือ ระบบปฎิบัติขององค์กรต้องสร้างความน่าเชื่อถือให้กับองค์กร ทั้งนี้ต้องมีระบบตรวจสอบ และแก้ไขอย่างถูกต้องเข้ามารองรับในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น เมื่อ CSR ของระบบปฎิบัติแข็งแรงแล้ว ปตท. จึงเริ่มเข้าไปสู่กลุ่มที่ 2 หรือการทำกิจกรรมเพื่อสังคม

ระยะแรกที่ ปตท.ทำยังจำกัดอยู่ในรูปการบริจาคเงิน แต่พอปี 2537 ได้ทำโครงการที่มีการดูแลกิจกรรมแบบบูรณาการอย่างจริงจัง เริ่มด้วยโครงการปลูกป่า และโครงการหมู่บ้าน ปตท. ที่อยู่รอบโครงการท่อส่งก๊าซไทย-สหภาพม่า โดยพัฒนาให้มีทั้งเรื่องกองทุน สร้างโรงเรียน และสร้างอาชีพ แนวความคิดดังกล่าวกำลังถูกพัฒนาขึ้นไปอีกขั้นหนึ่งเพื่อให้ชุมชนอยู่ได้ยั่งยืน และถูกกำหนดอยู่ใน Road Map การทำ CSR นั่นคือ การสร้างองค์ความรู้

โดยถอด DNA จากแผนธุรกิจ ตลอดระยะเวลากว่าสามทศวรรษของ ปตท. ที่สามารถสร้างองค์ความรู้จนพัฒนาให้องค์กรก้าวมาเป็นผู้นำอุตสาหกรรมพลังงาน อย่างการที่ ปตท. มีธุรกิจก๊าซธรรมชาตินั้นไม่ได้มองแค่เชื้อเพลิงอย่างเดียว แต่ยังตั้งโรงแยกก๊าซ และเริ่มธุรกิจปิโตรเคมีขึ้นมาเพื่อนำทรัพยากรมาใช้อย่างรู้คุณค่าและต่อยอดให้กับธุรกิจ

ทำให้ ปตท. วางแผนเน้นการสร้างองค์ความรู้ให้กับชุมชนเป็นหลักเพื่อให้คนในชุมชนสามารถนำความรู้มาต่อยอดในการทำมาหากิน จากนั้นจะแบ่งปันความรู้จากชุมชนสู่ชุมชนให้เติบโตออกมาเป็นลูกโซ่เกื้อกูลซึ่งกันและกัน เนื่องจากการทำธุรกิจของปตท.ขึ้นกับวิกฤติพลังงานโลก (World Energy Crisis) คู่แข่งขันมักเป็นบริษัทข้ามชาติในต่างประเทศ

อาทิ ธุรกิจโรงกลั่น คู่แข่งสำคัญ คือ จีน และอินเดีย แข่งขันกันในธุรกิจปิโตรเคมี รวมไปถึง ตะวันออกกลาง สิงคโปร์ ไต้หวัน เพราะเชื่อว่าธุรกิจอยู่รอดได้ขึ้นอยู่กับตัวเรา สิ่งที่ท้าทายต่อ ปตท. คือ การลงทุนสร้างคนและกระบวนการในอนาคต โดยมีแนวทางบริหารจัดการ 3 องค์ประกอบหลักเพื่อการขับเคลื่อนองค์กร นั่นคือ

องค์ประกอบเพื่อการขับเคลื่อนองค์กร

          1. High Performance Organization เป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพ สามารถแข่งขันและสร้างผลตอบแทนได้อย่างยั่งยืน
          2. ความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR)
          3. กำกับดูแลกิจการที่ดีในองค์กร (Corporate Governance)


           โดยทั้งการกำกับดูแลกิจการที่ดีในองค์กรและ CSR เป็นส่วนที่เข้าไปดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ประกอบด้วยสังคม, ผู้ถือหุ้น, คู่ค้าและพนักงานอย่างเป็นธรรม เป็นสิ่งที่ทาง ปตท. ดำเนินการมาในทิศทางนั้น โดยเฉพาะความเป็นองค์กรที่ดีต่อสังคม (Good Corporate Citizen) การดำเนินการต่าง ๆ ต้องปกป้องผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมและความมีส่วนร่วมพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีแก่สังคม

ขณะที่ผู้ถือหุ้นจะดำเนินธุรกิจในเชิงพาณิชย์ที่ให้ผลตอบแทนที่ดีต่อผู้ถือหุ้น แต่ไม่ใช่สร้างกำไรสูงสุด การทำธุรกิจโดยไม่ได้แสวงหากำไรสูงสุดถือเป็นปรัชญาของ ปตท.หากมุ่งเป้าไปที่การสร้างกำไรสูงสุด ดังนั้นต้องหาจุดสมดุลที่เหมาะสมที่เราให้ต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ลูกค้าต้องมีความพึงพอใจด้วยการมีผลิตภัณฑ์ที่ดี บริการมีคุณภาพ ตามมาตรฐานสากล ราคาที่เป็นธรรม รวมถึงการหาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

ส่วนคู่ค้าจะดำเนินธุรกิจร่วมกันอย่างเป็นธรรม ไม่มีการเอาเปรียบและสร้างความร่วมมือระยะยาว โดยมุ่งพัฒนาความสามารถพนักงานให้เกิดศักยภาพ ทำให้ ปตท.ได้รับรางวัลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะรางวัลด้าน CSR ประจำปี 2008 เป็นผลจากความมุ่งมั่นตั้งใจของ ปตท.ในการดำเนินการด้าน CSR อย่างจริงจังต่อเนื่อง เห็นได้จากการดำเนินโครงการด้านชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม  การพิจารณาคัดเลือกรางวัล SET Awards นั้นพิจารณาจากข้อมูลการปฏิบัติงานที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัททุกฝ่าย ทั้งพนักงาน ผู้บริโภค ผู้ถือหุ้น สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ไม่เพียงแต่ให้ความสำคัญเฉพาะกิจกรรมเพื่อสังคมหรือกิจกรรม CSR ภายนอกที่บริษัทช่วยเหลือสังคม แต่ยังให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบภายในกระบวนการธุรกิจ (CSR in Process) ควบคู่ไปด้วย เช่น การป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจ คุณภาพสังคมภายในองค์กร เป็นต้น

ส่วนรางวัล Shareholder Awards เป็นผลจากการที่ ปตท.ปฏิบัติตนต่อผู้ถือหุ้นตามหลักบรรษัทภิบาล โดยให้ความสำคัแก่ผู้ถือหุ้นในการใช้สิทธิและรับสิทธิประโยชน์เพื่อประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้นโดยรวม ทั้งนี้ ปตท.ได้ปรับโครงสร้างภายใน โดยจัดตั้งกรรมการชุดย่อยขึ้นมาดูแลงานด้าน CSR แบ่งเป็น CSR Committee ดูแลนโยบาย แผนงาน กลยุทธ์การทำกิจกรรม CSR ของ ปตท.

ขณะเดียวกัน ปตท. มีบริษัทในกลุ่มหลายบริษัท ทำให้การทำ CSR ที่ผ่านมามีลักษณะต่างคนต่างทำ ทำให้การใช้งบไม่มีประสิทธิภาพ ดังนั้นเพื่อให้เดินไปในทิศทางเดียวกันภายใต้กรอบที่กำหนดไว้ (Framework) จึงได้ตั้ง “PTT Group CSR Committee” กำกับโดย “PTT Group CEO Forum” ทาง CEO แต่ละกลุ่มของ ปตท.จะมาประชุม พูดคุยแลกเปลี่ยน รวมถึงวางแผนกิจกรรม CSR ร่วมกัน

แต่สิ่งสำคัญ คือ การเข้าไปให้ความรู้แก่ชุมชน ให้ทุกกระบวนการได้มีส่วนร่วม คิดไปด้วยกัน เรียนรู้ด้วยกัน ทำไปด้วยกัน และอยู่เป็นเพื่อนคู่คิดกับชุมชน เน้นให้ชาวบ้านคิดด้วยตนเอง มากกว่าการนำเงินไปให้หรือมุ่งเพียงบริจาคสิ่งของ โดยมุ่งการทำ CSR ตั้งแต่กระบวนการภายในสู่ภายนอกที่มุ่งเป้าหมายเป็นบริษัทข้ามชาติชั้นนำของโลก ทำให้ต้องกำหนดจุดยืนที่ชัดเจนว่าทำอะไร มีมาตรฐาน โดยวางยุทธศาสตร์ “2009 CSR Strategy” กำหนดกรอบการทำ CSR 10 เรื่อง ได้แก่

          1. การกำกับกิจการและผู้นำบริหารงานโดยให้การสนับสนุน รวมทั้งกำหนดทิศทางการปฏิบัติงานชัดเจนในกิจกรรมด้าน CSR และกำกับดูแลกิจการที่ดีในองค์กร

          2.  สิทธิมนุษยชน ต้องทำให้เกิดความมั่นใจว่าในทุกพื้นที่ ปตท. เข้าไปดำเนินธุรกิจ ต้องให้ความสำคัญ และดูแลชุมชน ท้องถิ่น

          3. สิทธิแรงงาน พนักงาน หรือแรงงานที่มาช่วยทำธุรกิจ ต้องได้รับการปฏิบัติตามกฎหมาย และตามมาตรฐานของ ปตท. สูงกว่ากฎหมายแรงงานในเรื่องการดูแลสิทธิของผู้ใช้แรงงาน

          4. การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาโรงงาน หรือพื้นที่แห่งใดก็ตาม ต้องมั่นใจว่า ปตท. เดินตามกรอบกติกาและมาตรฐานที่ภาครัฐกำหนด นอกจากนี้กลุ่ม ปตท. นำมาตรฐานระดับสากลมาพิจารณาประกอบในการรักษาสภาพแวดล้อมที่เข้าไปดำเนินการ

          5. การดำเนินธุรกิจที่เป็นธรรมกับผู้มีส่วนได้เสีย และคู่ค้า

          6. การพัฒนาสังคม และชุมชน เป็นการทำกิจกรรมกับสังคม-ชุมชน

          7. การบริหารห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Management) ที่ไม่ได้มุ่งเฉพากลุ่มธุรกิจภายใต้ ปตท.เท่านั้น แต่ให้ความสำคัญย้อนไปถึงต้นทาง (Upstream) แหล่งที่มาของวัตถุดิบ ไม่ว่าจะเป็นผู้จัดส่งวัตถุดิบ คู่ค้าขององค์กร ต้องมีการบริหารจัดการที่รับผิดชอบต่อสังคมเช่นเดียวกัน

          8. การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นเลิศและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งความปลอดภัยต่อผู้บริโภค

          9. การจัดทำรายงานความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR Report) องค์กรระดับโลกหลายแห่งให้ความสำคัญกับการจัดทำรายงาน CSR เพื่อแวดงการดำเนินกิจกรรมด้านต่าง ๆ อย่างครบถ้วน

          10. ความมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สิ่งที่ ปตท. ทำต้องได้รับความคิดเห็นและคำแนะนำจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง

กรอบการทำกิจกรรมซีเอสอาร์

          ส่วนกิจกรรมที่ดำเนินการรองรับ Framework ประกอบด้วย การสนับสนุน และพัฒนาเยาวชน นอกจากเน้นในพื้นที่เข้าไปดำเนินธุรกิจ และพื้นที่ทั่วไปแล้ว ทาง ปตท.วางเป้าหมายระยะยาวในการสนับสนุนพัฒนาเยาวชนระดับประเทศและสนับสนุนกิจกรรมระดับมหาวิทยาลัย การพัฒนาสังคม ชุมชน กิจกรรมต่อมา คือ ส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่มีความหลากหลายทางชีวภาพอยู่ร่วมกัน

การจัดการสิ่งแวดล้อมเมือง โดยให้ความสำคัญ 3 ด้านอย่างสมดุล ได้แก่ ความปลอดภัย (Safety) สุขภาวะ สุขลักษณะ (Health) และพื้นที่สีเขียว (Environment) สร้างจิตสำนึกภายในองค์กร ให้พนักงานมีส่วนร่วมกิจกรรมทางสังคมด้วยความสมัครใจและพัฒนาเครือข่ายทางสังคมที่จะเข้ามาร่วมมือทำกิจกรรม รวมถึงสนับสนุนศิลปะวัฒนธรรมของประเทศ สนับสนุนด้านกีฬา

เนื่องจาก ปตท. ดำเนินการสร้างความมั่นคงทางพลังงาน ควบคู่การดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม ทำให้กลยุทธ์กิจกรรมเพื่อสังคมนำพลังงานมาเป็นตัวหลักที่มีส่วนทำให้สังคมไทยยั่งยืนได้ ขณะเดียวกันผลักดันพลังงานทางเลือก เช่น แก๊สโซฮอล์ ไบโอดีเซล ก๊าซธรรมชาติ เพราะสามารถผลิตได้จากทรัพยากรภายในประเทศ แทนการนำเข้าน้ำมัน อีกทั้งยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและเป็นทางเลือกให้กับคนไทย

เส้นทางพัฒนากิจกรรมเพื่อสังคม (ที่มา: เอกสารงานสัมมนา CSR Thailand 2011)

          สำหรับ โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กำลังจะครบรอบการดำเนินงาน 50 ปี ในปี พ.ศ. 2555 โตโยต้าให้ความสำคัญกับการทำกิจกรรมส่งเสริมสังคม โดยเน้นความมีส่วนร่วมตั้งแต่พนักงานภายในองค์กร เครือข่ายธุรกิจและบริษัทในเครือ พร้อมส่งเสริมความมีส่วนร่วมของลูกค้า ชุมชน และสังคม เพื่อร่วมผลักดันสังคมไทยให้พัฒนาเติบโตอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้เป็นการเดินตามแนวทาง Global Vision 2020 ของบริษัทแม่โตโยต้า โดยมีหลักการว่า "วัฏจักรธรรมชาติกับวัฏจักรอุตสาหกรรมจะสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืนและยั่งยืนตลอดไป"

ส่วนโตโยต้า ประเทศไทย มีวิสัยทัศน์อยู่ 2 ข้อหลัก คือ ต้องเป็นผู้นำและแกนนำกลุ่มโตโยต้าของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกและเป็นบริษัทที่ได้รับคำชมเชยยกย่องมากที่สุดในประเทศไทย โดยมีพันธกิจ 4 ประการ คือ

          1.เสริมสร้างความแข็งแกร่งความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

          2.สร้างความพึงพอใจให้ลูกค้าเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายความมีส่วนแบ่งการตลาดสูงสุด

          3.การดูแลด้านความปลอดภัยมาเป็นอันดับหนึ่งทั้งพนักงานและลูกค้า

          4.ต้องสร้างคุณภาพของสังคมให้ดีขึ้น

วิสัยทัศน์โตโยต้า (Global Vision 2020)

          มร. เคียวอิจิ ทานาดะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ กล่าวว่า บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ได้ข้ามผ่านการเป็นธุรกิจสีเขียว (Green Business) ตลอดทั้งห่วงโซ่ธุรกิจ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ด้วยการผ่านมาตรฐาน ISO 14001 กำลังเดินหน้าต่อยอดสู่การปลูกฝัง “CSR DNA” ให้กับพนักงาน

ตลอดทั้งห่วงโซ่ธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำภายใต้ความร่วมมืออย่างดียิ่งของ “ชมรมความร่วมมือโตโยต้า” และ “ชมรมผู้แทนจำหน่ายโตโยต้า” มุ่งสู่การเป็นเครือข่ายธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมสูงสุด (Responsible Business Network) ภายใต้แนวคิด “Fully Integrated CSR Across Value Chain” ถือเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทุกส่วนงานในวงจรธุรกิจ โตโยต้า ทำให้เกิดความร่วมมือกันเพื่อทำกิจกรรม CSR ตลอดทั้งห่วงโซ่ธุรกิจ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริหารจัดการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมซึ่งผ่านมาตรฐาน ISO14001 สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 230,000 ตัน (นับจากเริ่มดำเนินโครงการในปี พ.ศ.2544 จนถึงปัจจุบัน) สิ่งที่แสดงถึง “CSR-DNA” ในเครือข่ายธุรกิจของโตโยต้า คือ “Toyota CSR Code of Conduct” เป็นแนวปฏิบัติหรือกิจกรรมที่พนักงานทุกแผนก ทุกฝ่าย ทุกระดับ ภายในครอบครัวโตโยต้าจะร่วมกันดำเนินการให้สัมฤทธิ์ผลอย่างจริงจัง โดยเดินหน้าปลูกฝัง “CSR DNA” ให้กับพนักงานทุกคน ทุกฝ่าย ทุกระดับ อย่างจริงจัง และต่อเนื่อง” โดยที่ “Toyota CSR Code of conduct” มีหลักการสำคัญ คือ 4 ลดหรือ 4 R (Reduce) ได้แก่

          • ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Reduce CO2) ภายใต้กระบวนการทำงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่ส่งผลกระทบต่อสังคม และชุมชนรอบข้าง

          • ลดการใช้พลังงาน (Reduce Energy) โดยมีส่วนช่วยลดปัญหาโลกร้อนที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้น

          • ลดการใช้น้ำ (Reduce Water) ด้วยการบริหารจัดการที่สามารถใช้น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด รวมทั้งนำน้ำที่ผ่านการใช้งานแล้ว มาผ่านกระบวนการบำบัดเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่

          • ลดปริมาณขยะ (Reduce Waste) โดยใช้วัตถุดิบที่นำมาใช้ในการผลิตอย่างคุ้มค่าสูงสุด รวมทั้งการนำกลับมาใช้ใหม่ผ่านกระบวนการรีไซเคิล

          รวมทั้งหลัการ 4 เพิ่ม หรือ 4 I (Improve) ได้แก่ เพิ่มความสุขและพื้นที่สีเขียวการทำงาน (Improve Green/Happy Workplace) เพื่อให้พนักงานมีคุณภาพชีวิตที่ดี นำมาซึ่งคุณภาพผลิตภัณฑ์ และการบริการที่ดี เพิ่มความพึงพอใจให้กับพนักงานและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในธุรกิจ (Improve Employees/Stakeholders Satisfaction) ด้วยการบริหารจัดการ การดูแลอย่างเต็มที่ ด้วยความโปร่งใสและเป็นธรรม

เพิ่มโอกาสในการทำกิจกรรมเพื่อสังคมให้กับพนักงาน (Improve Employee's Participation in Social Contribution) เพื่อให้พนักงานเกิดจิตอาสาทำความดีเพื่อสังคม และกลายเป็นเครือข่าย CSR ที่ทรงพลัง ตลอดห่วงโซ่ธุรกิจ เพื่อขยายเครือข่ายการทำความดีเพื่อสังคม (Improve CSR Network) จากเครือข่ายพนักงาน ขยายความร่วมมือสู่ชุมชน และสังคม เพื่อร่วมกันส่งเสริมพัฒนาการอย่างยั่งยืนของประเทศ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาโตโยต้าดำเนินกิจกรรมซีเอสอาร์เพื่อส่งเสริมสังคมไทยมาโดยตลอดเริ่มตั้งแต่จุดเริ่มต้นกระบวนการผลิตหรือกระบวนการต้นน้ำ

บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วน (Supplier) ด้วยการบริหารจัดการภายใต้หลักการ “Responsible Purchasing” ที่ส่งเสริมให้ทำการผลิตโดยรับผิดชอบต่อสังคมและไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และชุมชน เป็นหลักการสำคัญของการจัดซื้อชิ้นส่วนในการประกอบรถยนต์แบบ “Green Purchasing” ที่โตโยต้านำมาใช้อย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทำให้สามารถลดการการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากถึง 6,000 ตันต่อปี ขั้นตอนการขนส่งยังได้นำเชื้อเพลิงไบโอดีเซลมาใช้กับรถบรรทุก ทำให้สามารถลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 1,200 ตันต่อปี เข้าสู่กระบวนการผลิต

โรงงานประกอบรถยนต์โตโยต้าทั้ง 3 แห่ง มุ่งมั่นดำเนินการภายใต้หลักการ “Responsible Production” ทำการผลิตด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างเข้มข้นทุกกระบวนการด้วยการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เมื่อเข้าสู่ระบบการผลิตแบบโตโยต้า (Toyota Production System) หรือ TPS ที่เอาใจใส่ในเรื่องคุณภาพอย่างเข้มข้นทุกขั้นตอนการผลิตและใช้การควบคุมคุณภาพแบบ “Quality Built-in” รวมถึงกระบวนการผลิตที่ช่วยประหยัดพลังงาน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดของเสีย และไม่ปล่อยมลพิษ ตลอดจนบริหารงานและขนส่งสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงการดูแลเอาใจใส่คุณภาพชีวิตของพนักงาน

การมอบสวัสดิการที่ดีให้กับพนักงานเพื่อให้รู้สึกมีความสุข สนุกกับงานที่ทำและสามารถปฏิบัติงานอย่างมีคุณภาพ กระทั่งสิ้นสุดกระบวนการผลิต เข้าสู่ขั้นตอนการตลาด การขายและการบริการหลังการขาย โดยนำเทคโนโลยีลดการใช้พลังงานและการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่อากาศมาใช้อย่างต่อเนื่อง ทำให้สามารถลดคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 10,000 ตันต่อปี เช่น การใช้แผงโซล่าเซลส์เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้ภายในสำนักงาน การใช้สีสูตรน้ำ “Water Borne” รวมทั้งการบำบัดน้ำเสีย การใช้ทรัพยากรและวัตถุดิบการผลิตอย่างคุ้มค่า

สำหรับธุรกิจปลายน้ำได้ส่งเสริมให้ผู้แทนจำหน่าย ดำเนินธุรกิจภายใต้หลักการ “Responsible Operation” โดยมีความรับผิดชอบต่อลูกค้า สังคม และชุมชน พร้อมส่งต่อความรับผิดชอบ สู่ลูกค้าซึ่งมีความสำคัญสูงสุดของห่วงโซ่ธุรกิจอย่างสม่ำเสมอ ผลการสำรวจของ เจ.ดีพาวเวอร์ เอเชียแปซิฟิค โตโยต้าสามารถคว้ารางวัลอันดับ 1 ทั้งทางด้านผลิตภัณฑ์และบริการหลังการขายหลายรางวัลเช่นเดียวกัน

ขณะที่มีการบริหารจัดการทางด้านพลังงานเพื่อลดคาร์บอนไดออกไซด์ในเครือข่ายศูนย์บริการทั้งหมดได้ถึง 5,000 ตันต่อปี โดยทุกขั้นตอนการบริหารและรักษาสมดุลผลประโยชน์ที่ทุกภาคส่วนจะได้รับด้วยความใส่ใจทุกรายละเอียด นอกจากนี้ยังมุ่งกลยุทธ์ CSR เพื่อสิ่งแวดล้อมเต็มรูปแบบผ่านกิจกรรมและแคมเปญ รวมถึงการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อมภายในองค์กร ดังนี้

          1. โรงงานโตโยต้า บ้านโพธิ์  เป็นโรงงานแห่งเทคโนโลยีการผลิตและสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งมั่นที่จะพัฒนาวัฎจักรอุตสาหกรรมและธรรมชาติให้เติบโตควบคู่กันไปอย่างกลมกลืน ตามวิสัยทัศน์โตโยต้า 2020 หรือ Toyota Global Vision 2020 ได้ถูกบัญญัติขึ้นพร้อมกับการริเริ่มแนวคิดโรงงานแห่งความยั่งยืน (Sustainable Plant)

 โรงงานโตโยต้าบ้านโพธิ์ได้รับการคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 5 โรงงานโตโยต้าทั่วโลก ให้เป็นโรงงานต้นแบบของการดำเนินโครงการนี้ เพื่อให้บรรลุคุณสมบัติการเป็นโรงงานแห่งความยั่งยืน โครงการปลูกป่านิเวศในโรงงานจึงได้ถือกำเนิดขึ้นที่นี่

          2. การบริหารจัดการสภาพแวดล้อมในศูนย์บริการและบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วน

          3. การให้ความรู้เทคโนโลยียานยนต์เพื่อสิ่งแวดล้อมผ่านการสัมมนาเทคโนโลยีไฮบริด

          4. สัมมนาสิ่งแวดล้อมกับสถาบันการศึกษาในทุกภูมิภาค เพื่อร่วมระบุแนวทางแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมแต่ละภูมิภาค

          5. โครงการ "ลดเมืองร้อน ด้วยมือเรา" โดยมุ่งประเด็นปัญหาภาวะโลกร้อน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

          6. ร่วมปลูกป่าและฟื้นฟูระบบนิเวศวิทยา ศูนย์ศึกษาธรรมชาติกองทัพบก (บางปู)

          7. โครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติฯ ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

          8. โครงการประกวดภาพยนตร์โฆษณา เพื่อสร้างจิตสำนึกรักษาสิ่งแวดล้อม

          ช่วงที่ผ่านมาโตโยต้าเน้นดำเนินกิจกรรมส่งเสริมสังคมไทย 4 ด้านหลัก ได้แก่ โครงการส่งเสริมความปลอดภัยบนท้องถนนภายใต้โครงการ "ถนนสีขาว" เริ่มดำเนินโครงการครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2531 ส่งเสริมสิ่งแวดล้อมภายใต้โครงการ "ป่านิเวศในโรงงาน" (Eco-Forest) เมื่อปี พ.ศ. 2551 ส่งเสริมการศึกษาและถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่สังคมไทย

โดยนอกจากการสนับสนุนทุนการศึกษาให้แก่นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี ส่งเสริมคุณภาพชีวิตและการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนของชุมชนภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2535 ในวาระครบรอบ 30 ปี การดำเนินกิจการในประเทศไทย ด้วยเงินทุนจดทะเบียนเริ่มแรก 30 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นเป็น 400 ล้านบาทในปี พ.ศ. 2546 นอกจากการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมอย่างต่อเนื่องแล้วโตโยต้ายังได้ดำเนินงานภายใต้หลักบรรษัทภิบาล และหลัก 7 ประการของ CSR

          1) กำกับดูแลองค์กรอย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้ (Good Governance) โดยมีช่องทางในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารสำหรับพนักงาน

          2) เคารพในหลักสิทธิมนุษยชน (Human Rights) บูรณาการแนวปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนไว้ในระเบียบปฏิบัติของพนักงาน

          3) ปฏิบัติด้านแรงงานสัมพันธ์อย่างเท่าเทียมและเหมาะสม (Labor Practice) โดยได้รับการรับรองมาตรฐาน มรท./SA8001 และ OHSAS 18001

          4) ดูแลรักษาสภาพแวดล้อม ทั้งภายในและชุมชนรอบข้าง (Environment) ดำเนินงานสอดคล้องตามกฏหมายสิ่งแวดล้อมและระบบ ISO 14001

          5) ดำเนินงานอย่างเป็นธรรม (Fair Operation Practice) กำหนดแนวปฏิบัติเพื่อต่อต้านการคอร์รัปชั่น และปฏิบัติต่อคู่ค้าอย่างเป็นธรรม

          6) มุ่งมั่นนำเสนอสิ่งที่ดีที่สุดให้กับผู้บริโภค (Customer Issue) ให้ความสำคัญต่อคุณภาพผลิตภัณฑ์และการบริการ รวมทั้งให้ข้อมูลอย่างครบถ้วน

          7) มีส่วนร่วมในการพัฒนาชุม (Community Involvement and Development) เน้นด้านการศึกษา วัฒนธรรม สร้างรายได้ การจ้างงานในท้องถิ่น และการพัฒนาคุณภาพชีวิต

แนวทางปฏิบัติของโตโยต้า (ที่มา: http://www.toyota.co.jp)

          ปัจจุบันโตโยต้าเน้นการทำกิจกรรม CSR ทั้งที่อยู่ในกระบวนการทำงาน(CSR In-Process) และ CSR ที่อยู่นอกกระบวนการทำงาน (CSR After-Process)  การทำซีเอสอาร์ของโตโยต้า มอเตอร์ประเทศไทยกำลังขึ้นสู่ความเข้มข้นอีกระดับหนึ่ง ทำให้พนักงานและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกระดับเข้าใจร่วมกันว่า หน้าที่ บทบาทแต่ละคนในการทำซีเอสอาร์เป็นอย่างไร

โดยจะบูรณาการ 2 มิติ คือ กระบวนการธุรกิจโตโยต้า ตั้งแต่การคัดเลือกวัตถุดิบ การจัดหาจัดซื้อเข้าสู่การผลิต การส่งมอบสินค้า การตลาด การดูแลลูกค้า ทำเป็นซีเอสอาร์ที่อยู่ในทุกกระบวนการ ส่วนอีกมิติ คือ การขยายไปสู่คู่ค้าทางธุรกิจ ได้แก่ ตัวแทนจำหน่าย  ผู้ผลิตชิ้นส่วน มุ่งให้ทุกคนเข้าใจร่วมกันก่อนว่าซีเอสอาร์ไม่ใช่งานดูแลชุมชน การบริจาคสิ่งของหรือปลูกต้นไม้เท่านั้น

โตโยต้าเริ่มต้นทำเวิร์กช็อปกับผู้บริหารระดับสูงของบริษัทเพื่อปรับทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อนว่า ถ้าทำซีเอสอาร์ในองค์กรจะต้องทำอะไรและครอบคลุมประเด็นอะไรบ้าง ตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูงลงมาที่พนักงานระดับกลาง ในกลุ่มผู้อำนวยการฝ่ายที่ถือว่าเป็นผู้บริหารหลักที่กำกับดูแลฝ่ายงานที่ทำอยู่ทั้งหมด สิ่งเหล่านี้ต้องนำไปสู่การกำหนดเป็นนโยบายซีเอสอาร์ของฝ่ายและเขียนหัวข้อประเด็นแต่ละฝ่ายงาน นอกจากการสร้างความเข้าใจการทำซีเอสอาร์ร่วมกันในระดับผู้บริหารและผู้อำนวยการฝ่ายแล้ว

ขั้นต่อไป คือ การสร้างซีเอสอาร์ข้ามเครือข่ายโตโยต้าอย่าง ผู้แทนจำหน่าย และผู้ผลิตชิ้นส่วน  โดยตั้งเป้าว่าจะต้องเกิด CSR แบบบูรณาการห่วงโซ่คุณค่า(Integrated CSR Across Value Chain) หรือการบูรณาการซีเอสอาร์เครือข่าย โตโยต้า โดยมีการเดินสายออกไปพูดคุยกับผู้ผลิตชิ้นส่วนกว่า 180 แห่ง และผู้แทนจำหน่ายของโตโยต้าให้มั่นใจว่ากระบวนการผลิตและทุกหน่วยงานของบริษัทดำเนินการซีเอสอาร์แล้ว

โดยจะมีการประเมินตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอทุกขั้นตอน การสื่อสารซีเอสอาร์ที่ผ่านมาโตโยต้าใช้สโลแกนว่า“โตโยต้าภูมิใจที่ได้เติบโตคู่กับสังคมไทย” เพื่อสะท้อนกิจกรรมที่บริษัททำมาตลอด แต่โตโยต้ากำลังทบทวนบทบาทตัวเองและพบว่าการทำกิจกรรมซีเอสอาร์นอกจากเพื่อภาพลักษณ์องค์กรแล้วน่าจะได้เกิดผลดีอย่างยั่งยืน ด้วยการสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้บริโภคเห็นว่าการทำซีเอสอาร์จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมระยะยาว

วาระครบรอบ 50 ปีของโตโยต้า ประเทศไทย จึงเปลี่ยนสโลแกนเป็น “อนาคตสังคมไทย ความภูมิใจของเรา” เพื่อสะท้อนถึงกิจกรรมเพื่อสังคมที่โตโยต้าจะทำต่อไป ร่วมทั้งนโยบายสื่อสารทั้งภายในองค์กรและเครือข่ายธุรกิจ การสื่อสารต่อสาธารณชนจะมีการทำโฆษณามากขึ้นเพื่อสร้างจิตสำนึกและกระตุ้นให้ทุกคนเห็นความสำคัญของกิจกรรมเพื่อสังคม ซึ่งสะท้อนถึงความพยายามก้าวเคียงคู่กับพัฒนาการอันยั่งยืนของสังคมไทย

แนวคิดบูรณาการ CSR ของโตโยต้า

          เนื่องจากเป้าหมายทางธุรกิจไม่ใช่ตัวตั้ง ยิ่งทำยิ่งได้ สังคมได้รับการพัฒนา ทุกคนในสังคมได้รับความสุขจากการดำเนินงานเหล่านั้น หลายกิจกรรมจึงขยายไปไกลกว่าธุรกิจขององค์กร เพราะสามารถก้าวข้ามข้อจำกัดของ คน เวลาและทรัพยากรทุน รวมถึงกฎเกณฑ์การตลาดที่บางครั้งเป็นอุปสรรคของการอยู่ร่วมกันที่มีเป้าหมายหลักแตกต่างกัน

งาน CSR ไม่ต้องแสวงหาคำว่าสูงสุดหรือต่ำสุด แต่ CSR เป็นความสมดุลที่เพียงพอและมุ่งสู่ความจริงของธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็น CSR ภายในหรือภายนอกองค์กร รวมความไปถึงระดับเครือข่ายทั่วโลก (Global CSR) ทำให้โครงการทำดีทุกวันจากดีแทค (Do Good Deeds Every Day) สามารถเดินควบคู่ไปได้ เนื่องจากฐานโครงสร้างเริ่มต้น คือ ตนเอง รณรงค์ทำกิจกรรมเพื่อให้ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน

ต่อจากนั้นจึงขยายไปสู่ความปรารถนาที่จะให้คนในครอบครัวและขยายออกสู่สังคม ชุมชน จังหวัด และระดับประเทศ ทำให้กิจกรรม CSR กลายเป็นแนวทางหลักของการแก้ปัญหาด้านต่าง ๆ ที่เป็นเครือข่ายภายใต้บทบาทและกลยุทธ์การบริหารที่แบ่งออกเป็น การทำดีด้วยเทคโนโลยี ทำดีด้วยความรู้และด้วยใจภายใต้ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง

แต่รูปแบบกิจกรรมจะขยายกว้างเกิดความร่วมมือทั้งภายในองค์กรและองค์กรระหว่างประเทศมากขึ้น ซึ่งนำเทคโนโลยีใหม่เพื่อใช้เพื่อประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยพัฒนาตัวชี้วัดให้ชัดเจนทั้งรูปธรรม นามธรรม และนำเสนอเชิงวิชาการที่หลากหลายเพื่อการนำไปใช้อ้างอิงหรือประยุกต์ร่วมกันทั้งโลก การแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างกันด้วยเชื้อชาติ ภาษา หรือวัฒนธรรม สามารถเกิดการทำงานเป็นความพอดี การทำงานเป็นทีมของโลก ไม่แตกแยก หรือแบ่งกลุ่ม แบ่งพวก สีผิว เพศ อายุ ทำให้อุ่นใจไม่โดดเดี่ยวในการแก้ปัญหาโลกที่เป็นวิกฤตร่วม ไม่เลี่ยงหรือชะลอปัญหา การก้าวข้ามทรัพยากร ด้วยความรู้และประสบการณ์ที่แลกเปลี่ยนกัน

ส่วน Global CSR ภายใต้การดำเนินงานของโครงการทำดีทุกวันจากดีแทคน่าจะเน้นการสื่อสารและเพิ่มเนื้อหาของ *1677 ทางด่วนข้อมูลการเกษตร บริการฟรีของ SMS และการโทรปรึกษาเรื่องการเกษตรที่นำเทคโนโลยีสื่อสารเข้ามาแก้ปัญหาและนำความรู้สู่ท้องถิ่นได้เชื่อมต่อกับองค์กรสากลเพื่อนำความชำนาญเชื่อมเข้าหากันพร้อมการพัฒนารูปแบบเทคโนโลยีสื่อสารพื้นฐานที่ยังไม่ได้ประยุกต์มาพัฒนาใช้ เช่น MMS EDGE โดยวางโครงสร้างให้ง่ายในการนำไปใช้ยังพื้นที่อื่นของโลกต่อไปภายใต้ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง

นอกจากนั้นยังมีความร่วมมือในการเผยแพร่บทความชุด เศรษฐกิจพอเพียงในทัศนโลก (Sufficiency Economy in Global View) เพื่อสื่อผลของการทำงานจริงที่เกิดขึ้น พร้อมการบรรยายและอบรม ความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศ USAID สถานคีนันแห่งเอเชียเพื่อร่วมป้องกันไข้หวัดนกและไข้หวัดใหญ่ เป็นกิจกรรมที่ขยายตัวในปี 52 สู่ชุมชน พร้อมนำผลการปฏิบัติขยายสู่พื้นที่ในอาเซียนซึ่งมีความร่วมมือพัฒนาศักยภาพนอกสถานศึกษาของเยาวชน การเสริมสร้างและมอบโอกาสทางสุขภาพจะเป็นความร่วมมือกับมูลนิธิ Operation Smile ในการผ่าตัดเด็กปากแหว่งเพดานโหว่และความบกพร่องทางสายตา

นอกจากนั้นเดินหน้าต่อไปด้วย การมอบโอกาสให้นักศึกษาทั้งในและนอกประเทศจัดกิจกรรมค่ายอาสาพัฒนา แหล่งน้ำ อาคารเรียน หรือการประชุม การแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรมระหว่างกัน ด้วยความร่วมมือกับธนาคารโลก และอีก 7 องค์กรต้านภัยเอดส์ซึ่งเป็นกิจกรรมต่อเนื่องเพื่อให้เกิดผลในการป้องกัน โดยร่วมยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก ด้วยการออกบูทประชาสัมพันธ์กิจกรรมควบคู่ไปกับรณรงค์โครงการ UNIFEM Say NO to Violence against  Women ร่วมงานกับ World Diabetes Foundation, มูลนิธิเพื่อพัฒนาการบริบาลผู้ป่วยเบาหวานโรงพยาบาลเทพธารินทร์ อีกหลายหน่วยงานสร้างกรุงเทพเป็น “มหานครปลอดเบาหวาน” จัดเป็นรูปแบบ Active CSR

ส่วนกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวได้มีการร่วมงานกับ Tour de Thailandจัดกิจกรรมปั่นจักรยานเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และหารายได้เข้าการกุศล รวมทั้งจัดงานบริเวณจังหวัดชายแดนในรูปความร่วมมือและเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศโดยรอบ รวมถึงการสนับสนุนช่วยเหลือฉุกเฉินตามภาวะที่เกิดเหตุไม่ปกติ

ความร่วมมือกับองค์กรธุรกิจร่วมทุนระหว่างประเทศจะเป็นประเด็นการมอบโอกาสการฟื้นฟูธุรกิจ พัฒนาศักยภาพอาชีพเสริม รณรงค์รักษาสภาวะแวดล้อมที่เป็นมิตรกับมนุษย์ เป็นต้น ทั้งหมด คือ เส้นทางเดินในกิจกรรม Global CSR ภายใต้โครงการทำดีทุกวันจากดีแทคของสำนักงานสำนึกรักบ้านเกิด ปี 2552

          ส่วนบริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ “เครือซิเมนต์ไทย” เป็นบริษัทไทยแท้อยู่คู่กับสังคมไทยมานานกว่า 90 ปี ธุรกิจในเครือครอบคลุมธุรกิจหลากหลายประเภท ซึ่งเป็นบริษัทแรก ๆ ของไทยที่มีการทำกิจกรรมเพื่อสังคมอย่างจริงจัง โดยก่อตั้ง “มูลนิธิเครือซีเมนต์ไทย” เพื่อดำเนินธุรกิจตามอุดมการณ์ “คุณภาพและเป็นธรรม”

โดยสร้างสรรค์กิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างจริงจังต่อเนื่องเป็นเวลานาน มุ่งเน้นด้านสิ่งแวดล้อม การศึกษา กีฬา ชุมชน และสาธารณประโยชน์ โดยเฉพาะการจัดกิจกรรมประกวด การแข่งขันและมอบทุนสนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ ข้างต้นเป็นประจำทุกปีเรื่อยมา

อาทิ โครงการจัดระเบียบขยะ DO IT CLEAN เพื่อสร้างจิตสำนึกการคัดแยกขยะและการนำกลับมาใช้ประโยชน์ ให้แก่พนักงานในเครือซิเมนต์ไทย ชุมชนรอบโรงงาน นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วประเทศ ผ่านกิจกรรมหลากหลายทั่วทุกภูมิภาค อาทิ เปิดตัวโครงการที่โรงงานในเครือซิเมนต์ไทยโฆษณาทางวิทยุและสื่อสิ่งพิมพ์ ทอดผ้าป่าขยะ รีไซเคิล และกิจกรรมสาธารณประโยชน์อย่าง การมอบเงินสนับสนุนองค์กรสาธารณกุศลอย่างต่อเนื่อง

การช่วยเหลือผู้ประสบภัยทั่วประเทศ การจัดสร้างสาธารณสมบัติต่าง ๆ เพื่อชุมชน บริจาคเงินและสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบภัยช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติ โดยให้การช่วยเหลือทั้งระยะเร่งด่วนและฟื้นฟูระยะยาว ตลอดจนสนับสนุนปูนซีเมนต์และวัสดุก่อสร้างแก่นิสิต นักศึกษาที่ออกค่ายอาสาพัฒนาชนบทช่วงปิดภาคเรียนเพื่อสร้างอาคารเรียนให้ชุมชนท้องถิ่นในชนบท

          นอกจากนี้เครือซิเมนต์ไทยยังร่วมกิจกรรมชุมชนสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตชุมชนรอบบริเวณโรงงาน เช่น สนับสนุนการจัดกิจกรรมของศูนย์เยาวชนเตชะวณิชและจัดอบรมเสริมทักษะความรู้ด้านอาชีพให้แก่ชุมชนรอบโรงงาน โดยให้พนักงานมีส่วนร่วมกิจกรรมเพื่อสังคมอย่างต่อเนื่อง เครือซีเมนต์ไทยถือว่า “ความรับผิดชอบต่อสังคม” คือ ภารกิจของบริษัทในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยก็ควรจะมีส่วนพัฒนาสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมไทยให้เจริญก้าวหน้าไปพร้อมกัน

เอกสารอ้างอิง
          1.  Joel Makower, Strategies for the Green Economy: Opportunities and Challenges in the New World of Business, McGraw-Hill, 2009.

          2.  Philip Kotler, Nancy Lee, Corporate Social Responsibility, John Wiley & Sons, 2005.

          3.  Thorne, Debbie M., O.C. Ferrell, and Linda Ferrell, Business and Society: A Strategic Approach to Social Responsibility, Houghton Mifflin Company, 2008.

          4.  Toyota Motor Corporation, Green Purchasing Guideline, March 2006.

          5.  ดนัย จันทร์เจ้าฉาย, กลยุทธ์น่านน้ำสีขาว (White Ocean Strategy), สำนักพิมพ์ดีเอ็มจี, 2553.

          6.  บมจ. โทเทิล แอ็คเซส คอมมูนิเคชัน, เศรษฐกิจพอเพียงหมายถึงอะไร, สถาบันไทยพัฒน์, 2553.

          7.  วรัญญา ศรีเสวก, ถอดรหัส สร้างแบรนด์ให้ยั่งยืนด้วย CSR, สำนักพิมพ์มติชน, 2551.

          8.  http://www.bangkokbiznews.com

          9.  http://www.brandage.com

          10. http://www.businessthai.co.th

          11. http://www.csri.or.th

          12. http://www.csrthailand.net

          13. http://www.depthai.go.th

          14. http://www.green.in.th

          15. http://www.manager.co.th

          16. http://www.positioningmag.com

          17. http://www.prachachat.net

          18. http://www.scg.co.th

          19. http://www.thailca.com

          20. http://www.toyota.co.jp/en/csr/principle/policy.html

          21. http://www.toyota.co.jp/en/environment/vision/green/pdf/all.pdf

          22. http://www.toyota.co.th/sustainable_plant/sustainable.html

          23. http://www.toyotasupplier.com/

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด