เนื้อหาวันที่ : 2012-01-06 10:19:28 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 30494 views

มารู้จักกับโปรโตคอล ICMP

ICMP (Internet Control Message Protocol) คือโปรโตคอลตัวหนึ่งในชุดของ TCP/IP ซึ่งมักถูกใช้งานโดยผู้ดูแลระบบเครือข่าย

 การสื่อสารข้อมูลในงานอุตสาหกรรม
 ตอนที่ 13 มารู้จักกับโปรโตคอล ICMP

พิชิต จินตโกศลวิทย์  

          บทความนี้จะกล่าวถึงโปรโตคอลตัวหนึ่งในชุดของ TCP/IP นั้นคือ ICMP (Internet Control Message Protocol) ซึ่งมักถูกใช้งานโดยผู้ดูแลระบบเครือข่าย รวมทั้งยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการตรวจสอบการทำงานผิดพลาดของระบบเครือข่าย รวมถึงการตรวจสอบการถดถอยของประสิทธิภาพของอุปกรณ์หรือโหนด ซึ่งอาจจะเป็นตัว PLC หรือ รีเลย์ป้องกันในระบบควบคุมระบบไฟฟ้าก็ได้ สืบเนื่องจากโปรโตคอล ICMP เป็นโปรโตคอลขนาดเล็กดังนั้นสามารถนำมาใช้สะท้อนประสิทธิภาพการสื่อสารของตัวโหนดได้โดยการตรวจวัดเวลาการตอบสนองของ ICMP

          การเกิดมีข้อผิดพลาดในเครือข่าย เช่น อุปกรณ์เครือข่ายชำรุด นั้นอาจทำให้โหนดปลายทางนั้นเกิดการล้มเหลวในการติดต่อ เป็นได้ทั้งแบบถาวรหรือชั่วขณะ ซึ่งอาจเกิดจากเส้นทางที่ส่งข้อมูลมีการใช้งานหนาแน่นจนเกินไป ดังนั้นจึงได้มีกลไกที่ได้ออกแบบใช้งานบนโปรโตคอล ICMP เพื่อรายงานความผิดพลาด หรือรายงานสภาวะของเครือข่าย และนำไปปรับปรุงประสิทธิภาพและการทำงานของเครือข่ายได้โดยระบบจัดการเครือข่ายหรือผู้ดูแลระบบ

รูปที่ 1 ICMP กับ โมเดลการสื่อสาร

โครงสร้างของเมสเซจ ICMP
          การสื่อสารของโปรโตคอล ICMP จะดำเนินการที่ชั้นอินเทอร์เน็ตเลเยอร์ (Internet Layer) หรือเน็ตเวิร์กเลเยอร์ถ้าเทียบกับโมเดล OSI ซึ่งระหว่างการติดต่อของโหนดสองโหนดจะมีตัวเราเตอร์คั่นกลางในทางกายภาพหรือไม่ก็ได้ จากการพิจารณาโมเดลการสื่อสารจะเห็นว่า ICMP มีศักย์เทียบเท่ากับโปรโตคอล IP

แต่ความจริงแล้วในการทำงาน ICMP จะทำงานโดยใช้ IP ดาต้าแกรม เช่น การส่งข้ามเครือข่ายหลาย ๆ เครือข่าย ลักษณะเดียวกับ (TCP และ UDP ซึ่งอยู่บนทรานสปอร์ตเลเยอร์) ดังนั้นฟิลด์ที่ระบุชนิดโปรโตคอลของ IP ดาต้าแกรมจะถูกระบุค่าเป็น 0x1 เพื่อบ่งบอกว่า IP ดาต้าแกรมนั้นกำลังบรรจุเมสเซจ ICMP

          ก็เพื่อความง่ายนั้นเอง ถึงแม้ตัว ICMP จะอยู่ในชั้นอินเทอร์เน็ตเลเยอร์แต่มันก็ไม่มีหมายเลข IP ที่ส่วนของเฮดเดอร์ (Header) ของตัวเองรวมทั้งข้อมูลในการเราติ้งเส้นทาง ดังนั้น ICMP ต้องพึ่งพา IP ดาต้าแกรมในการนำส่งข้อมูล

รูปที่ 2 ICMP กับ IP

          โดยทั่วไป ICMP ถูกใช้ในลักษณะงาน ดังต่อไปนี้ 
          * การแลกเปลี่ยนเมสเซจระหว่างโฮสต์เพื่อเข้าจังหวะเวลา
          * การแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับซับเน็ตมาสก์ (Subnet Mask)
          * การรายงานโหนดที่ส่งเมสเซจว่าเมสเซจที่ส่งได้ถูกหยุดหรือทิ้ง เนื่องจากการหมดเวลาของ TTL
          * การตรวจสอบว่าโหนด (โฮสต์ หรือ เราท์เตอร์) สามารถส่งเมสเซจไปถึงได้
          * ใช้ในการตรวจสอบและแนะนำตัวเราเตอร์ในการหาเส้นทางข้อมูลที่ดีกว่า
          * การแจ้งโฮสต์ที่ส่งข้อมูลว่าเมสเซจส่งเร็วเกินไป และควรหน่วงชะลอการส่ง

          เมสเซจของ ICMP มีหลายประเภทโดยแต่ละประเภทมีฟอร์แมตที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตามแต่ละประเภทจะมีสามฟิลด์แรกที่เหมือนกันที่ใช้พื้นที่ในเมสเซจจำนวนสี่ไบต์หรือ “Long Word” ส่วนฟิลด์ที่เหลือแล้วแต่ชนิดของเมสเซจ ดังแสดงในรูปที่ 3

รูปที่ 3 เมสเซจมาตรฐานของ ICMP

          ลำดับสามฟิลด์แรกที่ใช้เหมือนกันมีดังต่อไปนี้ 
          * ICMP เมสเซจไทป์ (ICMP Message Type)
             เป็นรหัสที่บ่งบอกชนิดของเมสเซจ ICMP
          * รหัสโค้ด (Code) 
             เป็นรหัสที่มีความหมายพิเศษแต่ต่างกันตามชนิดของเมสเซจไทป์
          * เช็คซัม (Checksum)
             เช็คซัม มีขนาด 16 บิต ที่ถูกคำนวณเพื่อตรวจสอบความผิดพลาดจากข้อมูลทั้งเมสเซจ

รูปที่ 4 เมสเซจและไทป์ที่สำคัญ

          เมสเซจ ICMP สามารถแบ่งเป็นสองกลุ่มหลักนั้นคือ เมสเซจรายงานความผิดพลาด (ICMP Error Message) และ เมสเซจร้องขอ หรือ คิวรี (ICMP Query Message) ดังต่อไปนี้

รูปที่ 5 แสดงกลุ่มเมสเซจ ICMP

          เมสเซจรายงานความผิดพลาด (ICMP Error Message) ซึ่งใช้รายงานเหตุการณ์ดังต่อไปนี้
          * ไม่สามารถเข้าถึงจุดหมายได้ (Destination Unreachable)
          * หมดเวลาในการส่ง (Time Exceeded) 
          * พารามิเตอร์ที่ใช้ไม่ถูกต้อง (Invalid Parameter)
          * ระงับหรือชะลอการส่งของต้นทาง (Source Quench)
          * มีการเปลี่ยนแปลงเส้นทาง (Redirect)

รูปที่ 6 แสดงเหตุการณ์ที่ต้องรายงาน

          เมสเซจคิวรี หรือ ร้องขอ (ICMP Query Message) มีเป็นคู่ดังต่อไปนี้
          * เมสเซจร้องขอให้ทำการแอคโคและเมสเซจตอบกลับ (Echo Request and Reply Message)

          * เมสเซจร้องขอให้ประทับเวลารับและเมสเซจตอบกลับ (Time-Stamp Request and Reply Message)

          * เมสเซจร้องขอซับเน็ตมาสก์และเมสเซจตอบกลับ (Subnet Mask  Request and Reply Message)

          * เมสเซจร้องขอเราเตอร์ให้รายงานตัว และเมสเซจโฆษณา (Router Solicitation and advertisement)

รูปที่ 7 แสดงเมสเซจคิวรี

          สืบเนื่องจากอาจมีเมสเซจรายงานความผิดพลาดจำนวนมากเกินไปในกรณีที่ระบบเครือข่ายเกิดปัญหา นั้นอาจทำให้ทราฟิกหรือระบบเครือข่ายยิ่งมีปัญหามากขึ้นไปอีก ดังนั้นจึงมีการกำหนดเงื่อนไขที่ต้องนำมาประยุกต์ใช้เพื่อลดปัญหาดังกล่าว
          * ไม่มีเมสเซจรายงานความผิดพลาดสำหรับเมสเซจ ICMP เอง
          * ไม่มีเมสเซจรายงานความผิดพลาดสำหรับเฟรมที่เป็นมัลติคาสต์หรือบรอดคาสต์
          * เมสเซจรายงานความผิดพลาดจะถูกสร้างแจกเฉพาะเฟรมแรมของแต่ละเซกเมนต์เท่านั้น
          * ไม่มีเมสเซจรายงานความผิดพลาดสำหรับหมายเลข IP พิเศษ เช่น 127.0.0.1 หรือ 0.0.0.0

ซอร์สเคว็นช์ (Source Quench)
          ถ้าเกตเวย์ หรือเราเตอร์ได้รับดาต้าแกรม หรือเมสเซจข้อมูลที่มีอัตราการส่งเร็วมากจนไม่สามารถประมวลผลได้จากแหล่งที่มาแหล่งเดียวกัน ตัวเราเตอร์จะส่งเมสเซจซอร์สเคว็นช์ สำหรับทุกดาต้าแกรมที่ถูกเพิกเฉย หรือถูกทิ้ง โหนดต้นทางเมื่อได้รับเมสเซจซอร์สเคว็นช์ จะทำการชะลอความเร็วในการส่งจนกระทั่งเมสเซจซอร์สเคว็นช์ ถูกหยุดส่งหรือไม่ได้รับ ที่ขั้นตอนนี้ตัวส่งจะทำการเพิ่มความเร็วทีละเล็กทีละน้อยอีกครั้งจนความเร็วสูงสุด

รูปที่ 8 แสดงฟอร์แมตเมสเซจซอร์สเคว็นช์

          นอกจากสามฟิลด์แรกที่ได้กล่าวถึงเรียบร้อยในส่วนเฮดเดอร์สำหรับ เมสเซจซอร์สเคว็นช์ ยังมีฟิลด์เพิ่มเติมอีกดังต่อไปนี้
          * Original IP Datagram Header
             เฮดเดอร์ IP ขอดาต้าแกรมที่นำไปสู่การสร้างเมสเซจ ICMP นี้
          * Original IP Datagram Data
          แปดไบต์แรกของส่วนดาต้าของดาต้าแกรมที่นำไปสู่การสร้างเมสเซจ ICMP นี้ จุดประสงค์เพื่อการระบุตัวตนของดาต้าแกรมให้ชัดเจน

เมสเซจแนะนำเปลี่ยนทิศทาง (Redirection Message)
          เมื่อเกตเวย์หรือเราเตอร์ตรวจพบว่าโหนดต้นทางไม่ได้กำลังใช้เส้นทางที่ดีที่สุดในการส่งดาต้าแกรม ตัวเราเตอร์จะส่งเมสเซจนี้ไปยังโหนดดังกล่าว เพื่อแนะนำเส้นทางที่ดีกว่าให้พิจารณา โดยส่วนใหญ่มักจะทำหลังที่โหนดต้นทางเริ่มเข้าใช้ระบบเครือข่าย

รูปที่ 9 แสดงฟอร์แมตเมสเซจแนะนำเปลี่ยนทิศทาง

          นอกจากสามฟิลด์แรกแล้ว ในส่วนของเฮดเดอร์สำหรับ เมสเซจแนะนำเปลี่ยนทิศทาง ยังมีฟิลด์เพิ่มเติมดังต่อไปนี้
          * Router Internet Address
             หมายเลข IP ของเราเตอร์ที่ต้องการปรับปรุงข้อมูลในตารางการทำเราติ้ง
          * Original IP Datagram header
             เฮดเดอร์ IP ขอดาต้าแกรมที่นำไปสู่การสร้างเมสเซจ ICMP นี้
          * Original IP Datagram Data
          แปดไบต์แรกของส่วนดาต้าของดาต้าแกรมที่นำไปสู่การสร้างเมสเซจ ICMP นี้ จุดประสงค์เพื่อการระบุตัวตนของดาต้าแกรมให้ชัดเจน

รูปที่ 10 แสดงเราเตอร์ R1 แนะนำให้ปรับปรุงตารางเราติ้งในโหนด A

ในส่วนรหัสโค้ดจะมีความหมายตามตารางข้างล่าง

รูปที่ 11 แสดงตารางรหัสโค้ดของเมสเซจแนะนำเปลี่ยนทิศทาง

เมสเซจแจ้งเกินเวลากำหนด (Time Exceeded Message)
          ถ้าดาต้าแกรมได้เดินทางผ่านหลาย ๆ เราเตอร์จำนวนมาก ตัวค่า TTL (Time to Live) ซึ่งทำงานในลักษณะตัวนับจะถูกลดจนถึงศูนย์ในที่สุด เมื่อเวลาหรือค่าดังกล่าวหมด เมสเซจแจ้งเกินเวลากำหนด จะถูกสร้างและถูกส่งไปยังโหนดต้นทางของดาต้าแกรม เมสเซจแจ้งเกินเวลากำหนดจะถูกสร้างเมื่อมีหนึ่งในแฟรกเมนต์ของดาต้าแกรมที่อาจถูกแฟรกเมนต์เป็นหลายแฟรกเมนต์ไม่สามารถถึงปลายทางได้ในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งเป็นผลให้ดาต้าแกรมนั้นไม่สามารถประกอบกลับได้สมบูรณ์

รูปที่ 12 แสดงฟอร์แมตเมสเซจแจ้งเกินเวลากำหนด

ฟิลด์โค้ดที่เป็นไปได้มีดังนี้

รูปที่ 13 แสดงตารางรหัสโค้ดของเมสเซจแจ้งเกินเวลากำหนด

          รหัสโค้ด 1 บ่งบอกถึงสถานการณ์ที่เกตเวย์หรือโหนดปลายทางรอการรวมแฟรกเมนต์และมีแฟรกเมนต์หนึ่งไม่มาถึงเกตเวย์ภายในเวลาที่กำหนด

เมสเซจแจ้งพารามิเตอร์มีปัญหา (Parameter Problem Message)
          เมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับเนื้อหาภายในดาต้าแกรม เมสเซจแจ้งพารามิเตอร์มีปัญหาจะถูกส่งไปยังแหล่งกำเนิดของดาต้าแกรมนั้น ฟิลด์พอยเตอร์ (Pointer Field) จะชี้ไปยังไบต์ที่มีปัญหา (รหัสโค้ดเท่ากับ 1 จะใช้เฉพาะบ่งบอกฟิลด์พอยเตอร์จะไม่ถูกใช้ในกรณีนี้ เนื่องจากขาดข้อมูลบางส่วน)

รูปที่ 14 แสดงฟอร์แมตเมสเซจแจ้งพารามิเตอร์มีปัญหา

เมสเซจแจ้งไม่สามารถเข้าถึงปลายทาง (Unreachable Destination)
          เมื่อเกตเวย์ไม่สามารถส่งดาต้าแกรมถึงปลายทาง ตัวเกตเวย์จะส่งกลับเพื่อแจ้งไปยังโหนดต้นทางด้วยเมสเซจนี้ และ ดาต้าแกรมนั้นก็จะถูกดรอป (Drop) ทิ้งไป (ลบทิ้ง) 
     
    

     รูปที่ 15 แสดงฟอร์แมตเมสเซจแจ้งไม่สามารถเข้าถึงปลายทาง

ในส่วนรหัสโค้ดจะมีความหมายตามตารางข้างล่าง

รูปที่ 16 แสดงตารางรหัสโค้ดของเมสเซจแจ้งไม่สามารถเข้าถึงปลายทาง

เมสเซจคิวรีของ ICMP (ICMP Query Message)
          เพื่อเพิ่มเติมความสามารถในรายงานข้อผิดพลาด และสภาวะการทำงานของเครือข่าย ดังนั้นจึงมีชุดเมสเซจ ICMP ที่สามารถทำการร้องขอหรือคิวรีข้อมูลและตอบกลับการร้องขอนั้น ๆ
    
เมสเซจร้องขอให้ทำเอคโคและเมสเซจตอบกลับ (Echo Request and Reply)
          การร้องขอให้ทำเอคโคหรือส่งกลับชุดข้อมูลที่ได้รับและการตอบกลับ เมสเซจเอคโครีเคว็สท์จะถูกส่งไปยังโหนดปลายทาง สิ่งสำคัญของเมสเซจนั้นเปรียบเสมือนการสอบถาม (คุณยังอยู่หรือไม่ โดยมากจะใช้คำสั่ง Ping) ถ้ามีการตอบกลับจะเป็นตัวบ่งชี้ว่าเส้นทางรวมถึงอุปกรณ์ระหว่างทางเช่น เกตเวย์และอุปกรณ์ปลายทางทุกอย่างทำงานถูกต้อง โครงสร้างของเมสเซจเอคโครีเคว็สท์ และตอบกลับมีดังต่อไปนี้

รูปที่ 17 แสดงฟอร์แมตเมสเซจเอคโครีเคว็สท์ และรีพลาย

          สามฟิลด์แรกได้กล่าวไปแล้วข้างต้น ส่วนฟิลด์ที่เพิ่มมีดังต่อไปนี้
          * ไทป์ หรือชนิด (Type) 
             มีค่าเท่ากับแปดสำหรับการร้องขอการทำเอคโค และมีค่าเป็นศูนย์สำหรับการตอบกลับโดยเอคโคเนื้อหา
          * ไอเดนติไฟเออร์ (Identifier)
             หมายเลขขนาด 16 บิต ที่ได้จากการสุ่มเป็นตัวแยกแยะใช้เพื่อจับคู่ระหว่างเมสเซจร้องขอและเมสเซจตอบกลับ
          * ซีเควนซ์นัมเบอร์ หรือหมายเลขลำดับ (Sequence Number)
            ใช้เพื่อแยกแยะแต่ละการร้องขอหรือตอบกลับในส่วนขอลำดับการร้องขอและตอบกลับระหว่างต้นทางและปลายทางเดียวกัน
          * ดาต้า (Data)
             สร้างโดยตัวส่ง และ เอคโคกลับจากตัวรับ ฟิลด์นี้จะมีความยาวไม่คงที่ ความยาวและข้อมูลที่บรรจุภายในจะถูกตั้งค่าด้วยตัวส่งโดยปกติจะใช้รหัสแอสกี้ (ASCII) เช่น a, b, c เพื่อสะดวกในการตรวจสอบ

รูปที่ 18  คำสั่ง Ping ใช้เมสเซจเอคโครีเคว็สท์ และรีพลาย

การร้องขอการประทับเวลาและตอบกลับ (Time-stamp Request and Reply) 
          เมสเซจนี้สามารถถูกใช้ประเมินการเข้าจังหวะเวลาระหว่างนาฬิกาของโฮสต์ด้วยไทม์เซิร์ฟเวอร์ (Time Server) หรือตัวบริการเวลาอื่น ๆ

รูปที่ 19 แสดงฟอร์แมตเมสเซจการร้องขอการประทับเวลาและตอบกลับ

          * ไทป์ หรือชนิด (Type) 
             จะมีค่าเป็น 13 สำหรับการร้องขอประทับเวลา และเป็น 14 สำหรับการตอบกลับ
          * ออริจิเนตไทม์แสตมป์ หรือ ประทับเวลาเริ่มร้องขอ (Originate Time–stamp)
             ถูกสร้างโดยตัวส่ง และ บรรจุค่าเวลาเพื่อทำการระบุเวลาการเริ่มร้องขอ
          * รีซีฟไทม์แสตมป์ หรือประทับเวลาการรับ (Receive Time–stamp)
             สร้างโดยตัวรับหรือตัวตอบกลับและบรรจุค่าเวลาที่เมสเซจร้องขอนั้นถูกรับ
          * ทรานสมิตไทม์แสตมป์ หรือ ประทับเวลาส่ง (Transmit Time–stamp)
             สร้างโดยตัวตอบกลับและถูกบรรจุเวลาที่เมสเซจตอบกลับนั้นถูกตอบกลับ

          การร้องขอประทับเวลาและตอบกลับสามารถทำให้ไคลเอนต์สามารถปรับเวลาให้ตรงกับเซิร์ฟเวอร์ได้ ค่าเวลาจะบรรจุโดยใช้เลขจำนวนเต็มขนาด 32 บิต ซึ่งจะวัดเป็นหน่วยวินาทีนับตั้งแต่เที่ยงคืนของค่าอ้างอิง UCT (Co-ordinate Universal Time)

          การปรับค่าเวลาจะเริ่มที่ไคลเอนต์ลงค่าเวลาในฟิลด์ออริจิเนตไทม์แสตมป์ และส่งเมสเซจนั้นไปยังเซิร์ฟเวอร์ หลังจากนั้นเซิร์ฟเวอร์จะรับเมสเซจดังกล่าว และลงเวลาที่รับเมสเซจลงในฟิลด์รีซีฟไทม์แสตมป์ แล้วเซิร์ฟเวอร์ยังคงลงเวลาปัจจุบันในฟิลด์ทรานสมิตไทม์แสตมป์ แล้วส่งเมสเซจตอบกลับไปยังไคลเอนต์

          หลังจากนั้นไคลเอนต์จะรับเมสเซจที่ตอบกลับมาและบันทึกเวลาปัจจุบันที่มากับเมสเซจ และจะดำเนินการหักลบเวลาออริจิเนตไทม์ จากเวลาปัจจุบัน โดยมีสมมุติฐานว่าไม่มีการหน่วงเนื่องจากการประมวลผลในเซิร์ฟเวอร์ ดังนั้นเวลาที่ได้คือเวลาที่ดาต้าแกรมใช้ไปในการเดินทางไปและกลับระหว่างเซิร์ฟเวอร์ หรือ RTT (Round Trip Time) ดังนั้นสรุปได้ว่า เวลาเดินทางขาเดียวจะเป็นครึ่งหนึ่งของเวลา RTT

          เวลาที่ถูกต้องที่ไคลเอนต์จะตั้งค่าจะมาจากการคำนวณโดยการลบเวลา RTT จากเวลาทรานสมิตที่สร้างด้วยตัวเซิร์ฟเวอร์ ไคลเอนต์ยังสามารถคำนวณเวลาที่ผิดพลาดจากเวลาออริจิเนต และเวลาจริง และปรับเวลาให้ตรงกับเวลาจริงโดยการปรับตั้งเวลาระหว่างโฮสต์บนเครือข่ายโดยการทำหลาย ๆ ครั้ง จนสามารถรักษาเวลาของนาฬิกาให้มีความแตกต่างน้อยกว่า 1 มิลลิวินาทีได้

การร้องขอซับเน็ตมาสก์และตอบกลับ (Subnet Mask Request and Reply)
          เมสเซจนี้ถูกใช้ในโปรโตคอลแบบไคลเอนต์-เซิร์ฟเวอร์แบบง่าย ๆ โดยที่สามารถใช้เพื่อตั้งให้ค่าซับเน็ตมาสก์ให้ถูกต้องโดยที่สามารถติดตั้งบนโฮสต์ตัวเดียวหรือมากกว่าก็ได้ โดยในเครือข่ายโฮสต์ตัวนั้นจะถูกกำหนดให้เป็นซับเน็ตมาสก์เซิร์ฟเวอร์ (Subnet Mask Server) และทำหน้าที่คอยตอบกลับการร้องขอซับเน็ตมาสก์จากโหนด โดยมักดำเนินการพร้อม RARP

รูปที่ 20 แสดงฟอร์แมตเมสเซจร้องขอซับเน็ตมาสก์และตอบกลับ

เมสเซจร้องขอเราเตอร์ให้รายงานตัว และเมสเซจโฆษณา (Router Solicitation and Advertisement)
          เมื่อโฮสต์บูต หรือเพิ่งต่อเข้าระบบเครือข่าย ถ้าโฮสต์ดังกล่าวไม่ได้ตั้งค่าดีฟอลต์เกตเวย์ (Default Gateway) โฮสต์ยังสามารถค้นหาเราเตอร์ หรือเกตเวย์โดยใช้ ICMP กระบวนการนี้จะเริ่มที่โฮสต์จะส่งเมสเซจเราเตอร์ให้รายงานตัวไปยังทุกเราเตอร์โดยใช้หมายเลขมัลติคาสต์ (Multicast) เท่ากับ 224.0.0.2 เป็นหมายเลขปลายทาง หรือจะใช้หมายเลขบรอดคาสต์ (Broadcast) ก็ได้ และเมื่อเราเตอร์ที่สนับสนุนการร้องขอดังกล่าวมันจะรายงานตัวเองกลับหรือโฆษณากับด้วยเมสเซจโฆษณา ซึ่งเมสเซจนี้อาจจะส่งเป็นคาบเวลาก็ได้โดยไม่ต้องมีการร้องขอ

รูปที่ 21 แสดงฟอร์แมตเมสเซจร้องขอเราเตอร์ให้รายงานตัว และเมสเซจโฆษณา

สรุป
          ICMP มีคุณสมบัติมากมาย และยังมีขนาดเล็ก ดำเนินการได้รวดเร็ว ดังนั้นการที่สามารถนำ ICMP มาประยุกต์ใช้ได้จะมีประโยชน์ต่อระบบงานเป็นอย่างมาก เช่น การตรวจสอบระบบในเครือข่ายเพื่อบำรุงรักษาก่อนที่อุปกรณ์นั้นจะทำงานล้มเหลวเป็นต้น

เอกสารอ้างอิง
          1. J.E Goldman and P.T Rawles, Applied Data Communications. Addison-Wesley, New York,2001

          2. J. Fulcher, An Introduction to Microcomputer Systems: Architecture and Interfacing. Addison-Wesley, Sydney,1989

          3. S. Mackay, E. Wright, D.Reynders and .J Park, Practical Industrial Data Network: Design, Installation and Troubleshooting. IDC Technologies, Perth,2004

          4. J.R. Vacca, High-speed Cisco Networks: Planning, Design, and Implemention. CRC Press LLC, Florida,2001   

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด