เนื้อหาวันที่ : 2011-12-27 10:42:27 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 5229 views

แนวคิดและการจำแนกต้นทุน (ตอนที่ 5)

การควบคุมต้นทุนสามารถอธิบายได้ในลักษณะของการวิเคราะห์เปรียบเทียบต้นทุนจริงกับต้นทุนมาตรฐาน

ผศ.วิวัฒน์ อภิสิทธิ์ภิญโญ 
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน

การควบคุมต้นทุน
           การควบคุมต้นทุนสามารถอธิบายได้ในลักษณะของการวิเคราะห์เปรียบเทียบต้นทุนจริงกับต้นทุนมาตรฐาน หรืองบประมาณเพื่อการประเมินค่าผลงาน หรือการวัดค่าผลการปฏิบัติงานให้มีความถูกต้อง การควบคุมต้นทุนมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการให้ต้นทุนจริงที่ได้ใช้ไปในกระบวนการหนึ่งบรรลุผลตามต้นทุนมาตรฐาน หรืองบประมาณที่ตั้งไว้ การควบคุมต้นทุนจึงต้องการที่จำกัดจำนวนเงินของต้นทุนให้อยู่ในวงเงินที่กำหนดไว้ การควบคุมต้นทุนมีลักษณะดังต่อไปนี้

           1. ก่อให้เกิดความรับผิดชอบของศูนย์ที่มีอำนาจหน้าที่ในการอนุมัติ และรับผิดชอบต่อมูลค่าต้นทุนที่เกิดขึ้น

           2. ได้แนวทางในการกำหนดต้นทุนมาตรฐานและงบประมาณที่มีมุ่งไปยังเป้าหมายของความสำเร็จในทิศทางเดียวกัน

           3. จัดทำรายงานต้นทุนได้ทันเวลาตามต้องการ (รายงานตามความรับผิดชอบ) รวมถึงสามารถอธิบายถึงผลต่างที่เกิดขึ้นระหว่างงบประมาณและมาตรฐานและผลการดำเนินงานที่เกิดขึ้นจริง

           4. ได้แนวทางในการแก้ไขที่มีความถูกต้องเพื่อการกำจัด หรือลดค่าผลต่างที่ไม่น่าพอใจได้

           5. ก่อให้เกิดการวางแผนงานอย่างมีระบบและมีความเป็นธรรม ซึ่งเป็นการสร้างเสริมให้พนักงานทำงานให้บรรลุเป้าหมายตามแผนงบประมาณ

           6. มีการติดตามผลเพื่อให้แน่ใจได้ว่าแนวทางที่นำมาใช้ในการแก้ไขมีประสิทธิภาพ

           การควบคุมต้นทุนไม่จำเป็นว่าต้องทำการลดต้นทุน แต่มีจุดมุ่งหมายที่อรรถประโยชน์สูงสุดของต้นทุนที่เกิดขึ้น กล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า วัตถุประสงค์ของการควบคุมต้นทุนคือ ผลของงานอย่างเดียวกันที่ระดับต้นทุนที่ต่ำกว่า หรือผลของงานที่ดีกว่าที่ระดับต้นทุนที่เท่ากัน

การลดต้นทุน
* ความหมาย
           การลดต้นทุนอาจอธิบายได้ว่า เป็นการพยายามที่จะนำไปสู่การมีค่าใช้จ่ายในจำนวนที่ลดลง การลดต้นทุนมีความหมายโดยนัยที่ต้องการจะลดต้นทุนที่แท้จริงของต้นทุนต่อหน่วยของการผลิตสินค้าหรือการบริการที่จะส่งมอบให้กับลูกค้าให้ได้อย่างถาวร

เป้าหมายของการลดต้นทุนคือความสำเร็จสองประการคือ ประการแรก การลดลงของต้นทุนต่อหน่วย และประการที่สอง การเพิ่มขึ้นของผลผลิต ขั้นตอนการลดต้นทุนนั้นรวมความถึงการกำจัดต้นทุนของของเสีย การปรับปรุงการดำเนินงาน การเพิ่มขึ้นของผลผลิต การจัดหาวัตถุดิบที่มีราคาถูกกว่า การปรับปรุงมาตรฐานของคุณภาพ และการค้นหาแนวทางอื่นใดที่จะช่วยให้ต้นทุนต่อหน่วยมีจำนวนลดลง

* ความแตกต่างระหว่างการควบคุมต้นทุนและการลดต้นทุน
           การลดต้นทุนเป็นคำที่มีแนวคิดกว้างกว่าการควบคุมต้นทุน ตามที่ได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่า การควบคุมต้นทุนมีจุดมุ่งหมายที่การควบคุมต้นทุนให้มีจำนวนจำกัดตามที่ได้กำหนดไว้ตามแผนงบประมาณและต้นทุนมาตรฐาน ต่อไปนี้เป็นการสรุปเปรียบเทียบให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างการควบคุมต้นทุนและการลดต้นทุน    

* เครื่องมือและเทคนิคของการลดต้นทุน
           ต่อไปนี้เป็นเครื่องมือและเทคนิควิธีการที่ใช้กันโดยทั่วไปโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการลดต้นทุน
           1. การวิเคราะห์คุณค่า หรือวิศวกรรมคุณค่า
           2. การศึกษาการทำงาน
           3. การวิเคราะห์งานและการให้คะแนนงานแต่ละงาน
           4. การวางแผนและการควบคุมการผลิต
           5. การอธิบายด้วยหลักแห่งเหตุและผล
           6. การควบคุมต้นทุน
           7. ปริมาณคำสั่งซื้ออย่างประหยัด
           8. การใช้เทคโนโลยีที่ดีกว่า
           9. การเปลี่ยนไปใช้เครื่องจักรและการทำงานโดยอัตโนมัติ
           10. การทำงานให้ได้ตามมาตรฐาน
           11. การทำให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น
           12. การจัดหมวดหมู่และประมวลผลอย่างเป็นระบบ
           13. การลดความหลากหลาย
           14. การปรับและการออกแบบผลิตภัณฑ์
           15. การวิจัยตลาด
           16. การบริหารและการควบคุมสินค้าคงคลัง

*  ขอบเขตของการลดต้นทุน
           ขอบเขตสำคัญของการลดต้นทุน มีดังต่อไปนี้
           1. การปรับปรุงผลิตภัณฑ์ การปรับปรุงผลิตภัณฑ์และระดับประสิทธิภาพการตรวจสอบต้นทุนที่เกิดขึ้นจริง ปัจจัยสำคัญในการปรับปรุงผลิตภัณฑ์คือ คุณภาพของผลิตภัณฑ์ วัตถุดิบ เครื่องจักร หรือแรงงานในการดำเนินการส่วนที่ไม่จำเป็น ลดการสูญเสียและเศษซาก รวมถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์อย่างเหมาะสม

           2. วิธีการและการจัดวางผังการผลิต ขอบเขตของวิธีการผลิตและการจัดองค์กรเป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อความต้องการที่จะลดต้นทุน มีกิจกรรมที่สำคัญหลายอย่างที่มีความเกี่ยวข้องกับการผลิตและการวางแผนการผลิต โดยจะต้องมีการวางแผนงานร่วมกันเพื่อการลดต้นทุนทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมวัตถุดิบ แรงงาน

การจัดวางผังการผลิต การวิเคราะห์ระบบ การศึกษาเวลาและการเคลื่อนไหวในกระบวนการ การวัดค่าของงาน วิธีการกำหนดมาตรฐาน การออกแบบเครื่องมือ เครื่องจักรและอุปกรณ์ เทคโนโลยีในการผลิต ความทันสมัยของเครื่องมือ เครื่องจักร การสร้างแรงจูงใจ และอื่น ๆ

           3. ขอบเขตด้านการตลาด ในด้านของการตลาดนั้นการลดต้นทุนมีขอบเขตครอบคลุมถึง ช่องทางการจัดจำหน่าย รูปแบบการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย การวางแผนการวิจัยตลาด ความรับผิดชอบแต่ละเขตการขาย รูปแบบค่าตอบแทนพนักงานขาย วิธีการโฆษณา ต้นทุนการบริการหลังการขาย วิธีการหรือรูปแบบบรรจุภัณฑ์ การจัดการขนส่ง

           4. ขอบเขตการบริหารงาน หน้าที่งานของฝ่ายบริหารในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการลดต้นทุนมีความหมายครอบคลุมถึง การบริหารงานบุคคล การจัดซื้อ และการบริหารงานทั่วไป

           เป้าหมายของการลดต้นทุนเพื่อต้องการให้การบริหารงานมีประสิทธิภาพ การจัดซื้อเกิดประสิทธิผล และนโยบายในการบริหารงานบุคคล การจ่ายค่าตอบแทนที่มีความโปร่งใสและยุติธรรม โดยเฉพาะของขอบเขตงานบางส่วนมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการลดต้นทุน ได้แก่ การวางแผนการลงทุน นโยบายการให้ส่วนลด การใช้โปรแกรมสำเร็จรูปทางบัญชี แรงงานสัมพันธ์ การจัดการสวัสดิการแรงงาน ความพร้อมของสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานในการทำงาน

            ฝ่ายบริหารจะต้องพยายามที่จะขจัดปัญหา ความยุ่งยากที่มักจะพบได้โดยทั่วไปเมื่อองค์กรต้องการทำการลดต้นทุน เช่น
           * พนักงานไม่เห็นด้วยและอาจทำการต่อต้าน
           * โดยทั่วไปโครงการลดต้นทุนส่วนใหญ่ทำขึ้นแบบเฉพาะกิจ
           * รูปแบบการลดต้นทุนประยุกต์ใช้ได้ในบางพื้นที่ซึ่งไม่ครอบคลุมกิจกรรมทั้งหมดที่มีความเกี่ยวข้อง
           * ความต้องการลดต้นทุนมีการดำเนินงานแบบเร่งรีบ ซึ่งในความเป็นจริงทุกฝ่ายควรจะต้องมีการวางแผนงานร่วมกันด้วยความระมัดระวังและรอบคอบในทุกด้าน

การบริหารต้นทุน
           การบริหารต้นทุนสามารถอธิบายได้ว่าเป็นการรวบรวม การวัดค่า การจัดหมวดหมู่และการรายงายข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อฝ่ายบริหารและผู้ใช้ข้อมูลภายนอกองค์กร ซึ่งให้ความสนใจเกี่ยวกับต้นทุน หรือค่าใช้จ่ายขององค์กร ข้อมูลวางแผนงาน การควบคุมงานและการตัดสินใจ ดังนั้น การบริหารต้นทุนจึงมีจุดมุ่งหมายที่การได้ข้อมูลที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้บริหารงานในทุกระดับขั้นภายในองค์กรและพนักงานทุกคนที่ทำงานภายในองค์กรนั้น

           การพัฒนาข้อมูลเพื่อการบริหารต้นทุนนั้นจำเป็นต้องทราบถึงรายละเอียดเกี่ยวกับโครงสร้างต้นทุนขององค์กร ผู้บริหารจะต้องทราบถึงวิธีการที่จะทำการตรวจสอบให้ทราบถึงรายละเอียดเกี่ยวกับต้นทุนที่แตกต่างกันของแต่ละกิจกรรม กระบวนการ กลุ่มลูกค้า สินค้า การบริการ หรือหน่วยต้นทุนในลักษณะอื่นใด การบัญชีการเงินไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับต้นทุนในลักษณะดังกล่าวข้างต้นและต้นทุนดังกล่าวไม่สามารถจะพบได้ในรายงานทางการเงินของระบบการบัญชีการเงิน

อย่างไรก็ตาม ความรู้เกี่ยวกับต้นทุนเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นต่อการบริหารงานของผู้บริหารเป็นอย่างยิ่งในการที่จะบริหารงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิต การวางแผนและการจัดการ การบริหารคุณภาพโดยรวม การควบคุมการบริหารงานให้บรรลุผลตามเป้าหมายที่ต้องการ ลักษณะโดยธรรมชาติของการบริหารต้นทุนมีความหมายรวมทั้งระบบข้อมูลการบัญชีเพื่อการบริหารและการบัญชีต้นทุน

           ตัวอย่างที่ 1
           กิจการแห่งหนึ่งทำการผลิตและจำหน่ายเสื้อผ้าสำเร็จรูป มีรายการต้นทุนในการดำเนินงานทั้งหมด 20 รายการ ต้องการทำการจัดจำแนกต้นทุนในการดำเนินงานออกเป็นกลุ่มต่าง ๆ แสดงรายการต้นทุนที่เกิดขึ้นและการจัดกลุ่มต้นทุนได้ดังนี้

โปรดติดตามอ่านตอนต่อไป

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด